เซียนคีย์บอร์ด เซียนเครื่องเสียง นักวิจารณ์ เลือกเชื่ออย่างไร?

0

ช.ชิดชล

     ยุคสมัยที่การติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็วผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ ความก้าวหน้ารวดเร็วในการรับรู้ข่าวสาร พัฒนาไปมาก แต่ความแน่นอน ความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ จากข้อมูลข่าวสาร รวมถึงคำวิจารณ์เหล่านั้น กลับสวนทาง เพราะเมื่อใครก็สามารถสื่อสาร วิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่ทุกการสื่อสารจะเชื่อถือได้ หรือทุกบทวิจารณ์จะเป็นจริงเสมอไป แน่นอนว่าอาจจะมีความจริงส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายส่วน อาจจะแฝงไปด้วยผลประโยชน์ พวกพ้อง หรือความ ไม่รู้จริง อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตามสามัญสำนึกของนักสื่อสารหรือนักวิจารณ์ที่ดี ควรจะมี

     สมัยก่อน จะสื่อสาร กล่าวถึง หรือให้เหตุผลส่วนตัว ก็มักจะทำกันในวงแคบ ในกลุ่มเพื่อนสนิท ในกลุ่มเพื่อนร่วมฟังเพลงกัน หรือทันสมัยหน่อยก็มีตามเว็ปบอร์ด ที่ต้องมีการยืนยันตัวตนในการสมัครเป็นสมาชิก หรือนักวิจารณ์เครื่องเสียง กว่าจะเอาเครื่องมาต่อฟัง เบิร์นอิน ทีละขั้นตอนการลองฟัง สลับปรับแต่ง ลองฟังในหลายประเด็น จวบจนเป็นบทความ ส่งไปให้กองบรรณาธิการตรวจทาน มีเวลาให้คิดตัดสินใจ ในข้อผิดพลาด สำรวจถึงความถูกต้อง เรียกว่ามีการคัดกรองการสื่อสารและบทความ ทำให้มีความน่าเชื่อถือ ความผิดพลาดน้อย แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น…

เหตุผลที่มาที่ไป

ด้วยความสะดวกของโซเชี่ยล ที่มีช่องทางให้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นหลายช่องทาง หลายท่านแสดงความคิดเห็นออกไปด้วยความไม่รู้จริง ไม่เชี่ยวชาญ ลองไม่ครบถ้วนกระบวนความ หรืออีกประเภทคือ ช่วยเชียร์ของพรรคพวกกัน มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ความคิดเห็นเหล่านี้มักมาในรูปแบบข้อความสั้นๆ ไม่มีเหตุผล ไม่มีรายละเอียด ไม่มีที่มาที่ไป มักเรียกความคิดเห็นแบบนั้นว่า เซียนคียบอร์ด และมักมีคำที่มักใช้ป้องกันตนเองคือ ความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือ ความชอบส่วนบุคคล

    เซียนเครื่องเสียง นักเล่นนักฟังที่มีประสบการณ์ ทั้งการเล่นเครื่องเสียงรวมถึงผ่านการลองฟังมาหลายชุด หลายสถานที่ หลายงานแสดง ท่านเหล่านี้จะมีความความรู้ความเข้าใจในการเล่นเครื่องเสียงระดับหนึ่งเลยทีเดียว สามารถบอกได้ถึงแนวเสียง บุคลิกเสียงและเทคนิคการเล่นเครื่องเสียงในรูปแบบต่างๆได้ รวมถึงให้คำแนะนำและคำแนะนำเหล่านั้น สามารถเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เรียกว่าออกมาจากการลองฟัง ลองใช้งาน ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรในการให้คำแนะนำ แต่จะเชื่อถือได้ขนาดไหน อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ในการเล่นเครื่องเสียงมา บางท่านลองมาเยอะ มีความละเอียด ก็เชื่อถือได้ บางท่านลองมาน้อย หรือการเล่นเครื่องเสียงอาจไม่ได้ละเอียดลงลึก แบบนี้ก็ฟังหูไว้หูก่อนเป็นอันดี

     นักวิจารณ์ เป็นผู้ที่ผ่านการลองเล่นเครื่องเสียง ลองฟัง มามากกว่าเซียนเครื่องเสียง และบอกกล่าวหรือเขียนเป็นบทความสู่สาธารณะ บทความเหล่านั้นมักได้รับการตรวจสอบ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน มากน้อยขึ้นกับคุณภาพของนักวิจารณ์นั้น หากสั่งสมประสบการณ์มามาก ก็มักมีความละเอียด มีความหลากหลายในการนำเสนอ สามารถเชื่อถือได้ นำคำวิจารณ์ไปใช้เป็นแนวทางในการเล่นเครื่องเสียงได้ สำหรับนักวิจารณ์ที่ประสบการณ์ไม่มาก หรือขาดความจริงใจกับนักเล่น โดยอิงกับผลประโยชน์มากกว่านำเสนอข้อเท็จ อันนี้ก็ควรเลือกพิจารณาในการเชื่อถือ ยุคสมัยนี้ การสื่อสารรวดเร็วและขยายวงกว้าง นักเล่นสามารถรู้ถึงแก่นแท้หรือตัวตนของนักวิจารณ์ได้ไม่ยากนัก

เซียนคีย์บอร์ด เซียนเครื่องเสียง นักวิจารณ์ เลือกเชื่ออย่างไร?

ในการเลือกเชื่อข้อมูล ความคิดเห็น หรือคำวิจารณ์จากท่านเหล่านั้น มีข้อควรคำนึงถึงไม่มากนัก พอยกตัวอย่างและอธิบายความให้เห็นได้ เพื่อเป็นการคัดกรองและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ในการพิจารณาหาอ่านความรู้ มาใช้สำหรับการเล่นเครื่องเสียง หรือการเลือกซื้อเครื่องเสียง

     ความละเอียดในการนำเสนอ ประการแรกที่เป็นด่านคัดกรองในการเลือกเสพย์บทความ ให้พิจารณาไปที่ ความละเอียดในการนำเสนอ มีขั้นตอนอย่างไร มีที่มาที่ไปแบบไหน เช่น หากบอกกล่าวถึงเครื่องเสียงชิ้นนี้ดี ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจด้วยว่า ดีอย่างไร ลองด้วยชุดแบบใด มีเงื่อนไขในการลองอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ลดข้อผิดพลาด และมีความเป็นมาตรฐาน หากขาดรายละเอียดเหล่านี้ไป ก็ให้ผ่านไปก่อนอย่าไปให้น้ำหนักมากนัก เพราะขาดความละเอียดในการลองแล้ว จะมีความละเอียดในการบอกกล่าวผู้อื่นได้อย่างไร หากถามกลับไปก็ไม่สามารถตอบได้ หรือไม่สามารถอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆได้

     ความเข้าใจ การจะเข้าใจอะไรได้ ต้องผ่านประสบการณ์ที่มาก ลองผิดลองถูก จนความรู้ตกผลึก กลั่นกรองจนเข้าใจในเนื้อแท้ของสิ่งนั้นสามารถแยกสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ขาดข้อเท็จจริง อันมาจากอารมณ์เป็นที่ตั้งได้ เมื่อเข้าใจแล้ว การบอกกล่าว นำเสนอ จะเหมือนกันในทุกครั้ง คำแนะนำสอดคล้องในทำนองเดียวกัน ทั้งการเลือกชุดเครื่องเสียง แนวทางในการเล่นเครื่องเสียง แต่หากขาดความเข้าใจให้ลึกซึ่ง ไม่ได้ลองให้เข้าถึง การบอกกล่าวก็จะขาดความแน่นอน วันนี้บอกอย่าง วันหน้าบอกอีกอย่าง เป็นคำพูดหรือคำแนะนำที่ขาดน้ำหนัก เรียกว่า ขาดความเข้าใจ ก็ขาดความรู้จริง   

    มุมมองที่หลากหลาย ประเด็นนี้สำคัญ ลองฟังให้มาก ลองฟังให้หลากหลาย สลับปรับเปลี่ยน ให้รับรู้ถึงความแตกต่าง ในแต่ละอุปกรณ์ ในแต่ละชุดเครื่องเสียง เพื่อที่ความคิดจะได้แตกฉานอย่างรู้จริง รู้ถึงมูลเหตุ ที่มาที่ไป และผลลัพธ์ ว่าเสียงหรือการลองแบบนั้น เป็นผลมาจากสิ่งนั้นจริงๆไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะแค่ชุดหรือการลองที่ขาดความหลากหลาย เพราะหากวันใดได้ลองมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น ความคิดคำแนะนำอาจเปลี่ยนไป ตรงนี้ก็จะขาดความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าลองในมุมมองที่หลากหลายแล้ว คำแนะนำจะมีความน่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการเวลา

    อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ผู้ที่ไปถึงสถานที่นั้น หรือได้ลองชิมลองกินลองฟังสิ่งนั้นแล้ว มักจะบอกกล่าวบอกสอนถึงสิ่งเหล่านั้นได้อย่างละเอียด ชัดเจนในประเด็นต่างๆ สามารถตอบคำถามให้คลายสงสัยได้ ยกให้เห็นถึงตัวอย่าง อธิบายให้รับรู้ราวกับผู้ฟังไปสัมผัสรับรู้ได้ด้วยตนเอง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า หากมีความละเอียด มีความเข้าใจ มีความหลากหลายแล้ว การที่จะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ผู้ฟังมักรับทราบถึงสิ่งเหล่านั้น ดุจเห็นภาพด้วยตนเอง หากแต่อธิบายไม่เห็นภาพ ก็เพราะขาดองค์ประกอบสำคัญๆเหล่านั้นไป เมื่ออธิบายได้เข้าใจ ก็จะเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา หากอธิบายไม่เข้าใจ ไม่ชัดเจน ก็จะเสื่อมความน่าเชื่อถือ และหมดศรัทธาได้

     อยากฝากถึงนักเล่นเครื่องเสียง ทั้งเริ่มต้น เก่าหรือใหม่ หากจะพิจารณาเลือกเชื่อถือบทความ คำกล่าว ความคิดเห็น จากที่ใดก็ตาม ขอให้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆในบทความนี้ให้ถ้วนถี่ ท่านจะได้ชื่อว่าเสพย์สื่ออย่างมีสติ ทิศทางการเล่นเครื่องเสียงจะถูกต้องสวยงาม ป้องกันการหลงทางไปกับผู้ไม่รู้จริง ผู้อิงผลประโยชน์ เพราะหากเลือกเชื่อถือแบบนั้นไปแล้วไซร์ การเล่นเครื่องเสียงอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่สวยงาม และไม่มีความสุขในการฟังเพลงครับผม