“…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…” (4)

0

Garoonchart  Bukkavesa

Episode 4 : ไล่ล่าหาลำโพงที่ “ต๊าช”

สวัสดีครับ หวังว่า 3 ep.ก่อนน่าจะพอช่วยให้เข้าใจการเล่นเครื่องเสียงมากขึ้นบ้างนะครับ สำหรับ ep นี้จะมาอธิบายถึง “การเลือกลำโพง” กันครับ

การเลือกลำโพง ถือเป็น ep.สุดหิน เพราะเป็นตัวสุดท้ายปลายทางของซิสเต็ม ต้นทางหรือแอมป์จะไม่มีเสียงออกมาเลยถ้าไม่มีลำโพง! จึงมีรายละเอียดมากมาย สไตล์เสียงที่เลือกมาจะผ่านมายังลำโพง-เสียงจะเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่? สนุกแน่นอนครับ ผมพยายามจะเขียนให้กระชับเข้าใจง่ายมากที่สุด ไม่เช่นนั้นผมว่ามือใหม่จะสับสนแน่นอนครับ

ลำโพงคืออุปกรณ์ที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าให้กลายเป็นสัญญาณเสียง นั่นเอง และจะบอกว่าการเลือกลำโพงคู่ใจนั้น จะว่า “ง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก” แล้วแต่มุมมอง ไม่ได้แบ่งเป็นแค่เพียง ลำโพงวางหิ้ง (ขาตั้ง) กับลำโพงตั้งพื้น แบบที่เขียนไว้ใน “…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…”   ep. 1 นะครับ

การเลือกลำโพงจำแนกแยกย่อยได้หลายชนิด หลายรูปแบบ สรุปคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

  1. แบ่งตามเรนจ์การทำงาน เช่น ลำโพงฟลูเรนจ์ ลำโพง 2/3/4/5 ทาง
  2. แบ่งเป็นลำโพงวางหิ้ง (ขาตั้ง) กับลำโพงตั้งพื้น
  3. แบ่งตามระบบการทำงานว่าลำโพงตู้ปิดหรือตู้เปิด

ข้อ 1-3 ล้วนสัมพันธ์กันโดยตรง ทั้งหมดล้วนมีตัวแปรมากมาก ไม่มีคำตอบว่าฟลูเรน์ต้องดีที่สุด หรือ 3 ทางต้องเยี่ยมยอดสุด ๆ ไม่สามารถสรุปได้ว่าระบบตู้ปิดดีกว่าตู้เปิด ฯลฯ ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ลำโพงบางแบรนด์ไม่ได้มีเสียงแหลมแค่ดอกเดียว มีตั้งแต่ 1-3X ดอกขึ้นกับการออกแบบ นอกจากนี้ยังติดตั้งในทิศทางต่างกันไป วิธีการต่อด้วย

เสียงกลางก็เช่นกัน บางตู้มีดอกเดียว บางตู้มี 2-4 ดอก แถมมียิงออกหลังอีก แล้วแต่ว่าพวกเขาต้องการอะไรนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีความต่างของดอกตัวขับชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ วัสดุทำเสียงกลาง / ทุ้มที่ต่างกันไป เพราะดอกลำโพงนั้นมีเป็นร้อย ๆ รุ่น เมื่อนำมาผสมรวมกันในแต่ละแบรนด์ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้บุคลิกเสียงนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งอยู่ที่คุณว่าจะซื้อลำโพงเสียงถูกใจแต่แบรนด์ไม่ดังหรือลำโพงที่แบรนด์ดีติดตลาดแต่เสียงไม่โดนใจ

บางคนอาจจะแบ่งการเล่นตามสัญชาติ นั่นคือ แบ่งตามแบรนด์เนมหรือไทยทำหรือโคลนนิ่ง บางคนจะนิยมเล่นแบรนด์นอกล้วน ๆ ก็จะมีทัศนคติ / แนวคิดอีกแบบหนึ่ง ส่วนคนที่ลำโพงไทยทำหรือเล่นโคลนนิ่ง จะมีแนวการเล่นไปอีกแบบ เช่น คิดว่าได้ดอกชั้นเลิศดุจที่ใช้ในลำโพงราคาเป็นแสนแต่จ่ายราคาเบา ๆ หลักไม่กี่หมื่นบาท เสียงไม่ต่างแน่ พวกเขาว่านี่คือ คุ้มค่า แต่หารู้ไม่จุดต่างคือ บางอย่างที่มองไม่เห็น เช่น ตู้ ส่วนการโคลนนิ่งคือ เลียนแบบให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด แต่สำหรับบางคนยังไงก็คือไม่ใช่ ของโคลนก็คือของโคลน

ซึ่งลำโพงไทยทำหรือโคลนนิ่งล้วนมีตัวแปรมากมาย เน้นแบบเคล๊ดลับก็จะมีเช่น ปริมาตร วงจรตัดความถี่ วัสดุซับเสียง ฯลฯ ที่ไม่เปิดเผยกัน คนสร้างจะต้องช่างสังเกต ตลอดจนมีความรู้ในเรื่องราวการสร้างลำโพงด้วย และรู้ว่าเสียงดีคืออะไร จึงจะสามารถสร้างลำโพงออกมาให้นักเล่นยอมรับได้

แต่ดูเหมือนมีข้อจำกัด ผมเคยถามผู้ผลิตไทยว่าจะสร้างลำโพงดี ๆ เริ่มต้นต้องจ่ายเท่าไหร่ เขาบอกว่า “เกินหมื่น” ขณะที่ลำโพงแบรนด์นอกเสียงดี ๆ ราคาเริ่มต้น 5-6 พันบาท!! แล้วมือใหม่เจอ 2 ตัวเลือกนี้ เดาคำตอบได้เลยว่าพวกเขากว่า 90% จะเลือกเล่นแบรนด์นอก เพราะถูกกว่า เสียงวางใจได้ ขณะที่ของไทย “อยากสนับสนุน” แต่ราคาแพงกว่า เสียงก็ยังไม่รู้ว่าจะดีจริงไหม?

ชัดเลยครับ เจอดอกนี้

สำหรับบางกลุ่ม โดยเฉพาะมือใหม่ ต้นทางจะเป็นคอมพ์ พวกเขาไม่มีความรู้ในการเลือกแอมป์+สายเชื่อมต่อ ฯลฯ พวกเขาอาจเล่นลำโพงที่มี “แอมป์ในตัว” หรือลำโพงแอคทีฟแทน เพื่อลดปัญหาความวุ่นวาย รวมทั้งใช้เป็นชุด desktop ไม่มีห้องใด ๆ

ส่วนคนเล่นเครื่องเสียงปกติมักไม่นิยมใช้ลำโพงที่มีแอมป์ในตัวมากนัก เนื่องจากว่า ราคาในยุคแรกที่มีผลิต ราคาสูงมาก แพงกว่าการเล่นลำโพงทั่วไป+แอมป์แยกชิ้นไปเยอะ ทำให้ลำโพงประเภทนี้ค่อย ๆ ถูกลบไปจากสารบบ

แล้วลำโพงแอคทีฟในตอนนี้ควรเลือกไหม? ถ้าเป็นสำหรับชุดตั้งโต๊ะ ผมว่าน่าสนใจกว่าครับ ไม่ต้องวุ่นวายหาแอมป์มาต่อให้เกะกะ ทั้งหมดอยู่ในตู้ลำโพงแล้ว ประหยัดเนื้อที่กว่า ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีด้านแอมป์ดีขึ้น มักเป็นดิจิตอลแอมป์ มีขนาดเล็ก วัตต์สูง ความร้อนต่ำ เหมาะกับการใส่ในลำโพงแบบตั้งโต๊ะมาก

มาถึงตอนนี้ ถ้าจะเอาจริงจัง ผมแนะนำเล่นลำโพงพาสซีฟปกติครับ

เท่ากับว่าตอนนี้ควรเล่น 2.0 แชนแนล ซึ่งมาตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่าแล้วระบบ 2.1 แชนแนลละควรเล่นไหม? ผมแนะนำว่า ควรหาลำโพงคู่ใจให้ได้ก่อนว่าจะเป็นแบบไหน อย่างไร ฯลฯ แล้วจากนั้นค่อยพิจารณาเรื่องอัพเกรดเป็น 2.1 แชนแนล

ต้องยอมรับว่าระบบ 2.1 แชนแนลสมัยนึงฮิตมาก จนต่อมาดอกลำโพงเองมีความสามารถด้านความถี่ต่ำได้ดีขึ้นเลยทำให้ ระบบ 2.1 ลดลง แต่ไม่ใช่เลิก!  

ยังมีการเล่นกันอยู่ สังเกตดี ๆ ในรูปของหลาย ๆ ซิสเต็มถึงแม้ลำโพงเมนจะมีความใหญ่โต ลงได้ลึกต่ำกว่าระดับ 20-30 Hz น่าจะเพียงพอแล้ว…แต่ความจริงอาจ “ไม่เพียงพอ” จึงต้องเพิ่มซับ .1 เข้าไป เพียงแต่ราคาของซับ .1 เหล่านี้ เพื่อให้เสริมกับลำโพงเมนราคาหลักล้าน ราคาก็จะสุด ๆ เช่นกัน ไม่ใช่ลูกละ 2-3 หมื่น นิยมใช้แบบซับ 2 ตัว วางซ้าย และขวา เพื่อเสริมมิติสเตอริโอให้สมบูรณ์แบบกว่าใช้ซับตัวเดียว

ไกด์ไลน์หาลำโพงดี ๆ ลองมาไล่ดูว่าจะพิจารณาอะไรบ้าง

  1. เลือกลำโพงว่าจะวางหิ้ง หรือตั้งพื้น ถ้าเป็นไปได้แนะนำลำโพงตั้งพื้นครับได้ย่านความถี่ต่ำครบครันว่า
  2. เน้นให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ถ้าห้องเล็กควรใช้ลำโพงวางหิ้งเท่านั้น เพื่อลดการบวมหรือล้นของเสียงเบสที่คับห้อง เสียงอื้ออึงครางกระพือจนกลบรายละเอียดไปหมด
  3. ถ้ามีแอมป์อยู่ก่อน ควรพิจารณาด้วย เพราะลำโพงบางคู่อาจกินกำลัง กินกระแสมากจนเกินกว่าแอมป์ที่มีจะขับได้ อาจพบว่าเสียงเครียด หรือตัดการทำงานไปเลย ถ้าเป็นแบบนี้ทางเลือกมี 2 ทาง ใช้ชั่วคราวก่อนได้แล้วรอเปลี่ยนแอมป์ใหม่อีกที กับอีกวิธีคือหาลำโพงที่เหมาะสมกับแอมป์เดิม

ขอขยายความอีกนิด บางคนเมื่อกำหนดคร่าว ๆ ได้แล้วว่าเป็นวางหิ้ง หรือตั้งพื้น อาจมีตัวเลือก 4-5 ตัว ค่อยมาเจาะลึกค้นหาลำโพงในฝันกัน โดยคราวนี้จะมาพิจารณาจาก “วัสดุ” ที่ทำตัวขับชนิดต่าง ๆ ซึ่งล้วนส่งผลต่อบุคลิกเสียงด้วยเช่นกัน

ดอกเสียงแหลม ถ้าเป็นโดมผ้าเสียงจะนุ่มนวล ฟังสบาย ไม่ล้าหู   โดมอลูมิเนียมจะเปิดโปร่งกว่า ถ้าออกแบบไม่ดี จะบาดหู โดมเบอร์ริเลี่ยม / โดมเพชร พวกนี้จะใสกระจ่าง แต่ไม่บาดหู ต้นทุนของการผลิตสูงกว่า มักติดตั้งในลำโพงรุ่นสูง ๆ  โดมริบบ้อน / AMT หลัก ๆ ใช้การขยับตัว เสียงจะหวาน เนียน สะอาด  อาจต้องฟังหลาย ๆ ยี่ห้อที่ใช้ดอกชนิดที่ต้องการเพื่อประมวลผลโดยรวม อย่าฟังยี่ห้อเดียวเพราะจะมีไบอัสได้เนื่องจากคุณมีความชอบเป็นทุนเดิม

นอกจากนี้ยังมีลำโพงแบบที่ใช้ตัวขับนอกจากที่กล่าวมาคือ อิเลคโตรสแตติกส์ เช่น Martin Logan / พลาน่าแมกนิติกส์ เช่น Magneplan ซึ่งจะให้ลักษณะของเสียงที่ต่างกันไป

เสียงกลาง วัสดุยอดนิยมกรวยกระดาษ ซึ่งก็จะมีแบบปั๊ม แบบปั่น มีแดมป์สารบางอย่างเข้าไปแล้วแต่สูตรลับ เซียนเขาว่าเสียงจะเป็นธรรมชาติกว่ากรวยที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งสำหรับผมประเด็นนี้ไม่ตายตัวเสมอไป เราฟังเสียงจากภาพรวมอยู่แล้วกรณีใช้ลำโพงแบรนด์นอก แล้วยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่สามารถเฉพาะเจาะจงลงไปได้ กรวยแบบโพลีโพรไพลีน กรวยคาร์บอนไพเบอร์ ฯลฯ ล้วนมีความดีไม่แพ้กรวยกระดาษนะครับ อย่าไปติดกับภาพลักษณ์เดิม ๆ ในอดีตดีกว่าครับ “โลกเราไปไกลแล้ว”

เสียงทุ้ม ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าวัสดุของดอกเสียงทุ้มจะไม่ใช่กระดาษแบบที่ใครบางคนเชื่อแล้ว บางยี่ห้อพวกเขาใช้วัสดุอื่นเช่น อลูมิเนียม คาร์บอน หรืออื่น ๆ เข้าไปเสริมเพื่อให้เหมาะสมแล้วปรับจูนเสียงให้ลงตัว มีเครื่องมือดี ๆ ไม่ยากเลยครับ ดูผ่านกราฟเชื่อว่าเกลี่ยเสียงให้กลืนกันได้ 

ทั้งหมดเชื่อมผ่านวงจรตัดแบ่งความถี่แล้วเมื่อนำมาประกอบลงตู้ก็จะให้คุณภาพเสียงที่แท้จริงได้ ถึงบอกว่าลำโพงแบรนด์เนมคือฟังภาพรวม ถ้าคุณอยากกำหนดพารามิเตอร์ทุกอย่าง อาจต้องเล่นลำโพง DIY เอง แต่ถึงแม้ควบคุมบางอย่างได้ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ การไฟน์จูนให้ออกมาลงตัวพอดี ถ้าเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์อ้างอิงไม่ดีพอ อย่าคาดหวังอะไรมาก ไม่เช่นนั้น ทำไมลำโพงดัง ๆ สุดท้ายจะต้องมาทำการวัดค่าในห้อง “ไร้เสียงสะท้อน” ก่อนผลิตขาย!!

ลำโพง DIY จะเป็นทำเอง หรือซื้อจากผู้ผลิตของไทยบางราย จะขึ้นกับตัวแปรไม่กี่อย่าง เช่น ตัวขับคุณจะเลือกแบบใดตามใจคุณ จะแบรนด์เดียวกันหรือต่างแบรนด์ก็ว่ากันไป จากนั้นจะต้องไปลงตู้ ซึ่งต้องสั่งทำ มีทั้งแบบสำเร็จ แบบตามใจ แบบโคลนแบรนด์ดัง เมื่อได้แล้วหาค่าจุดตัดความถี่ให้เหมาะสม…ก็ไม่น่ายาก แต่จุดนี้ถ้าเลือกตัวขับที่ “ต่างสเปค” กันมาก ไม่ว่าจะเป็นความไว อิมพิแดนซ์ หรือตู้พิศดารมาก ๆ อาจทำครอสโอเวอร์ได้ยาก (ปรับยังไงก็ไม่ลงตัว)

การคัดเลือกทุกสิ่งอย่างได้ตามต้องการนั้นถือว่าเป็นข้อดี คุณจะใช้อุปกรณ์เทพ สายเงินเกรดอากาศยาน ขั้วสุดหรู WBT รุ่นท๊อป พ่นสีเกรดรถยนต์ ฯลฯ ทั้งหมดที่ใจปรารถนา

สเปคลำโพงสำคัญไฉน

บอกเลยสำคัญไม่น้อย หลัก ๆ ผมเน้น 4 ค่า การตอบสนองความถี่ / ความไว / ความต้านทาน / น้ำหนัก ดังนี้

การตอบสนองความถี่ บอกว่าลำโพงคุณมีคุณภาพเพียงใด เช่นวางหิ้ง 2 ทาง ระดับ 2 หมื่นบาท ระบุ 50-25 KHz กับอีกตัว 45-40 KHz คือ ตัวแรกเสียงทุ้มลงได้ 50 Hz ย่านเสียงแหลมขึ้นไปได้ 25 KHz ส่วนตัวหลังลงได้ต่ำกว่า รวมทั้งเสียงแหลมที่ขึ้นไปสุดกว่า น่าจะได้ยินรายละเอียดของทุ้มและแหลมที่มากกว่า

ความไว บอกความต้องการวัตต์ของลำโพง เช่น วางหิ้ง 2 ทาง ระดับ 2 หมื่นบาท ระบุ 88dB กับ 84dB ตัวแรกความไวสูงกว่า ใช้แอมป์ 40 วัตต์ก็ขับได้ดังแล้ว ส่วนตัวหลัง กินวัตต์กว่า จำต้องใช้แอมป์ถึง 100 วัตต์ในการสร้างความดังให้เทียบเท่ากับคู่แรก คุณจะรู้เลยว่าแอมป์ที่มีไหวหรือไม่? หรือต้องซื้อใหม่

ความต้านทาน ตัวเลขสูง เช่น 8 โอห์มจะขับง่ายกว่าที่ระบุ 4 โอห์ม แต่จะให้ดีต้องดูความต้านทานรวมด้วยว่าต่ำสุดอยู่ที่ค่าไหน (ขณะกำลังทำงานความต้านทานของลำโพงจะขยับขึ้นลงไปมา) ถ้าลำโพงที่เล็งไว้ระบุ 4 โอห์ม คุณจะต้องระวังในการเลือกแอมป์เป็นพิเศษ เน้นรองรับ 4 โอห์มในกำลังขับที่เบิ้ลเท่าตัวจะดีที่สุด

น้ำหนัก อาจจะมีส่วนในการตัดสินใจน้อยที่สุด แต่ถ้าคุณทำอะไรทั้งหมดแล้วยังตัดสินใจไม่ได้ อาจเลือกจากน้ำหนักตัวที่น่าจะพอบ่งบอกชิ้นส่วนภายในหรือตู้ที่หนักกว่า ทำให้เสียงนิ่งสนิทกว่านั่นเอง

วัสดุของตู้ VS คุณภาพเสียง

ต้องบอกว่าพอมีวัสดุหลากหลาย ไม่ได้มีเพียง “ไม้” อีกแล้ว มีทั้ง MDF ตู้หินชนวน ตู้อลูมิเนียม หรือตู้คาร์บอนเคฟล่าร์ ฯลฯ ทั้งหมดจึงมีเสียงที่ “ต่างกัน” อยู่แล้ว และถึงแม้จะใช้วัสดุเดียวกันแต่สูตรการผลิตต่างกันไป เช่น ความหนาต่างกัน ตู้ตรงหรือตู้โค้ง มีเอียงผนังหรือไม่เอียง ฯลฯ ล้วนทำให้ “เสียง” นั้นไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในส่วนลำโพงแบรนด์นอกคุณคงจะเลือกอะไรไม่ได้มาก ถ้าตู้ลำโพงเป้าหมายเป็น MDF ก็เป็นไปตามนั้น ต้องเป็นรุ่นสูง ๆ จะเป็นตู้อลูมิเนียม เลือกเปลี่ยนไม่ได้

ลวดลายตัวตู้

สีมาตรฐานมีสีดำ ลายไม้วอลนัท จะมีลำโพงบางรุ่นที่จะมีลายไม้สีบีช หรืออื่น ๆ ให้เลือก ลำโพงรุ่นแพงมักจะใช้ลายไม้สีพิเศษ เช่น มะฮอกกานี เมเปิ้ล ฯลฯ หรือบางคู่ที่แพงมากอาจจะเป็นสีพ่นรถยนต์เลย มีสีมาตรฐาน 3-5 สี และสั่งพ่นสีพิเศษได้ แต่ต้องจ่ายเพิ่มอีกราว 5 หมื่นอัพแล้วแต่รุ่น ถ้าผมมีโอกาสครอบครองลำโพงแบบสั่งสีตู้ได้ ผมจะยอมจ่ายครับ แสดงความเป็นยูนีคที่ดีกว่า ไม่ซ้ำใคร รวมถึงบ่งบอกความต้องการ / เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

เมื่อค้นหารวมถึงคาดเดาบุคลิกจากชนิดของตัวขับต่าง ๆ ที่ประกอบแล้ว น่าจะพอจำลองสไตล์เสียงได้ไม่ต่ำกว่า 60% ว่าควรจะเป็นแบบที่ต้องการ อาจทำให้ตัวเลือกในใจเหลือเพียง 1-2 ยี่ห้อให้เลือกก็เป็นได้ ซึ่งนั่นจะทำให้งาน “ง่าย” ขึ้นเยอะ

นอกจากนี้ จุดสำคัญที่ควรคำนึง 3 ประเด็น ดังนี้

ตู้ปิด สำหรับการวางในพื้นที่จำกัด ห้องแคบ ๆ จะมีผลต่อเสียงน้อยที่สุด มีปัญหาเรื่องเบสบวมน้อยกว่าลำโพงตู้เปิด

ตู้เปิด ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องขนาดของห้อง สามารถเลือกได้เลย เสียงเบสจะใหญ่ กินวัตต์น้อย เปิดได้ดัง ซึ่งยังมีแยกย่อยไปในเรื่องของท่อระบายว่ายิงออกหน้า (จะต้องมีห้องที่ใหญ่จริง ๆ) ขณะที่ยิงออกหลัง เสียงจะบูมได้ง่ายกว่า แต่ถ้าวางห่างผนังหลังอาการบูมจะแทบไม่มี ส่วนแบบยิงลงพื้นเสียงจะลงตัวกว่า จัดวางง่ายกว่า เบสที่ยิงลงมีการคำนวนทิศทางไว้ ลดผลกระทบกับผนังห้องได้มากกว่านั่นเอง 

ไบไวร์ ฮิตอยู่ช่วงนึงพีค ๆ ต้องมี ทำเอาลำโพงที่มีเพียงขั้วซิงเกิ้ลไวร์ถูกลืม จนตอนหลังมีการรับรู้มากขึ้น ไบไวร์ไม่ได้การันตีว่าลำโพงนั้นเสียงจะดีกว่าคู่แข่งที่ไม่มีครับ

แต่ไม่ควรให้ “น้ำหนัก” ใน 3 ประเด็นนี้มากเกินไป ถ้าไม่เป็นตู้ปิดไม่ซื้อ ถ้าไม่มีไบไวร์ไม่ซื้อ อย่างนี้เป็นต้น ลำโพงไม่ได้เสียงดีจากประเด็นนี้ ลำโพงตู้เปิดเสียงดีมีมากมาย ลำโพงดี ๆ เน้นขั้วต่อซิงเกิ้ลไวร์….

ลำโพงวาระพิเศษ Limited Edition

ลำโพงทุกตัว พอในช่วงครบรอบปีต่าง ๆ หรือวาระพิเศษอื่น ๆ มักจะมีตัวที่ผลิตเป็นพิเศษขึ้นมา ทั้งหมดจะเป็นช่วงสั้น ๆ หรือมีจำนวนจำกัด เช่น ไม่กี่สิบกี่ร้อยตู้ พวกนี้คุณงามความดีไม่ได้อยู่ที่ “เสียง” แต่อยู่ที่วาระในการผลิตนั้น ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ ยิ่งมีจุด “พิเศษ” กว่าตัวปกติมากเท่าไหร่จะยิ่งดีขึ้นเป็นลำกับ เช่น สีใหม่ไม่มีในรุ่นมาตรฐาน มีเพลทระบุหมายเลข มีป้ายวาระพิเศษกำกับ ตัวขับแบบใหม่ วงจรภายในพิเศษ สายไวริ่งใหม่ ฯลฯ

บอกส้ั้น ๆ ว่าตังค์ ไม่เดือดร้อน ซื้อไว้เถิดครับ ว่าจะรอวาระพิเศษรอบหน้าอาจต้องรออีก 5 หรือ 10 ปี 

ทั้งหลายทั้งมวลนี้ ผมต้องการ “สะท้อน” ให้เห็นว่า บางทีการเน้นเจาะจงสเปคบางอย่างลงไป อาจทำให้เลือกลำบาก เช่น ถ้าเน้นต้องการตั้งพื้น และเป็นตู้ปิดเท่านั้น อาจมีให้เลือกไม่กี่ยี่ห้อ และเมื่อกำหนดงบอาจไม่เหลือตัวเลือกเลยก็เป็นได้ ดังนั้น คงจะดูกว้าง ๆ จากนั้นกำหนดงบประมาณที่มี เชื่อว่าจะเหลือตัวเลือกราว 3-5 ยี่ห้อ แล้วค่อยไปลองฟัง ๆ ดู เผื่อได้ไอเดีย ซึ่งน่าจะทำให้เหลือตัวเลือกเพียง 2 ตัวให้เลือก ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ผิดหวังไม่ว่าคุณจะเลือกตัวใดก็ตามครับ

เมื่อมาใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์นี้ จะเป็นเรื่องงบประมาณ สำหรับผม ผมให้ความสำคัญของลำโพงมากที่สุด เมื่อเทียบกับแอมป์ หรือต้นทาง ดังนั้นการกำหนดงบประมาณ ใน 100% ผมแนะนำว่าควรทุ่มงบลำโพงไปราว 60-70% แล้วที่เหลือค่อยแบ่งเป็นแอมป์กับต้นทาง ถ้าลำโพงที่เฟ้นหาอยู่ในงบประมาณพอดีก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก เดินหน้าเล่นเลยครับ 

เมื่อเลือกได้แล้ว ลองจัดเข้าชุดกับแอมป์หรือต้นทางที่แนะนำกันไป ตอนนี้คุณจะได้ซิสเต็มมาหนึ่งชุดแล้ว เบิร์นอินให้เข้าที่ด้วยสายธรรมดาไปก่อน ฟังดูว่าขาดเกิดอะไร ชอบหรือยัง เพื่อที่ว่าคราวหน้าของ ep ถัด ๆ ไปหลังจากนี้ จะมาว่าด้วยเรื่องราวของ “อุปกรณ์เสริม” ต่าง ๆ เพื่อไฟน์จูนให้ดีขึ้น โดนใจขึ้น ฟังแล้วตามต้องการนั่นเองครับ

หวังว่าบทความนี้น่าจะพอใช้เป็นไกด์ไลน์การเลือกเฟ้นลำโพงแบบกว้าง ๆ สำหรับมือใหม่ได้ จากนั้นสเตปต่อไปคือไปลองฟังกันให้มาก ๆ จากหลากหลายสถานที่เพื่อวิเคราะห์คุณภาพโดยรวมนั่นเอง ขอให้ได้ลำโพงในฝันกันนะครับ อ่านแล้วยังไม่มั่นใจ ทักในกระทู้หรืออีเมล์มาเจาะจงเป็นรุ่น ๆ ไปได้ครับ

ep ต่อไปคือ ep.5 ว่าด้วยเรื่อง “สายไฟเอซี” ซึ่งส่วนตัวผมให้ความสำคัญ “มากที่สุด” ในบรรดาเส้นสาย รับประกันว่า “ต๊าช” แน่นอน โปรดอดใจรอครับ