“…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…” Episode 2 : แหล่งโปรแกรม เราสั่งมันหรือมันสั่งเรา?

0

Garoonchart  Bukkavesa

สวัสดีครับ มาต่อใน ep นี้ ผมจะมาอธิบายถึงแหล่งโปรแกรมกันนะครับ

แหล่งโปรแกรมในบ้าน คือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ เพราะจุดต้นทางในการส่งเสียงออกไปนั่นเอง มีหลายรูปแบบตั้งแต่จูนเนอร์ (วิทยุ) เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นแผ่นเสียง โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นไฟล์เพลงหรือระบบสตรีมมิ่ง (ฟังเพลงออนไลน์) ไล่ไปจนถึงเทปรีล ใครรักชอบ ถนัดอะไรก็ว่ากันไป มีความแตกต่างในรายละเอียด / วิธีการเล่น ราคาขาย ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนง่าย ๆ แต่การมีตัวแปรมากมาย ทำให้กลายเป็นด่านแรกแห่งความปวดสมองกันเลย

ก่อนที่จะเข้าเรื่องการจะเลือกแหล่งโปรแกรมเป็นอะไร ผมคิดว่าควรระลึกถึงหลัก 2 ข้อ ดังนี้

ข้อแรก   อย่าพยายามหาคำตอบว่าฟอร์แมทอะไรดีที่สุด เพราะจะเถียงกันไม่จบครับ แต่ละฟอร์แมทต่างมีข้อดีข้อด้อยที่ต่างกันไป ขึ้นกับคุณจะ “เลือกอะไรหรือเน้นจุดใด” เป็นสำคัญ มีตัวแปรอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด แต่ละคนไม่เหมือนกัน ย่อมจะทำให้กลายเป็นหนึ่งในตัวแปรของการเลือกที่แตกต่างกันไปครับ

ข้อสอง   ทุกอย่างให้คิดว่า ของแพงย่อมดีกว่าเสมอ ทุกอย่างเป็นไปตามระดับราคาในตัว เครื่องหลักหมื่นย่อมสู้เครื่องเล่นเป็นแสน ๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเราหาเจอ ถือว่าโชคดี ได้เครื่องที่คุ้มค่าราคามิตรภาพ

เดี๋ยวมาเริ่มกันเลยครับ ถ้าคุณเป็นมือใหม่เพิ่งเริ่มเล่น “เครื่องเสียง” ไม่มีมรดกซอฟ์ทแวร์ใด ๆ ตกทอดมา จุดนี้คุณสามารถเลือกได้ตามสะดวก แล้วแต่ชอบ เช่น ซีดี / แผ่นเสียง / สตรีมเมอร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนต่างกัน เช่น สตรีมเมอร์, ไฟล์ คุณไม่สามารถมีเป็น “แผ่น” ให้จับต้อง ทั้งหมดจะอยู่ในคอมพ์หรือผู้ให้บริการที่คุณเป็นสมาชิก เช่น Tidal อาจใช้เงินไม่มาก เดือนละไม่กี่ร้อย ดังนั้น ถ้าคุณฟังเพลงมากวันละ 5-6 ชั่วโมงแต่งบน้อยน่าจะเริ่มจากสตรีม เพราะถ้าคุณต้องซื้อซีดีเป็นโหล ๆ เพื่อฟังไม่ซ้ำ แต่งบน้อยแบบเดือนละพัน จะซื้อซีดีได้แต่กี่แผ่น

ไม่นับแผ่นเสียงที่ต้องใช้เงินไปอีกหลายช่วงตัว หรือถ้าขึ้นไปถึงเทปรีล อัลบั้มละ 2 หมื่น เก็บเงินปีนึงยังซื้อไม่ได้เลย และคุณจะฟังอัลบั้มเดียวทั้งปีคงไม่ใช่ละ แต่ถ้าคุณมาพร้อมกำลังทรัพย์มหาศาลอาจเลือกเล่นเทปรีลเพื่อความเป็นที่สุดได้เลย

แต่ถ้าคุณมีมรดกเป็นซีดี / แผ่นเสียง อย่างละ 200 / 200 แผ่น แบบนี้ คุณน่าจะมองหาเครื่องเล่นซีดี และเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นด่านแรก  อาจแบ่งซื้อระดับเริ่มต้นทีเดียวทั้ง 2 ฟอร์แมทเพื่อมาลองศึกษาวิธีการเล่น เพราะยังไม่รู้ว่าตัวคุณถนัดอะไร

นี่เป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นให้เห็นทิศทางว่าจะเดินทางบนถนนสายไฮไฟอย่างไรดี? เดี๋ยวผมจะไล่เรียงแหล่งโปรแกรมแต่ละชนิดให้ทราบกัน

จูนเนอร์  

สมัยก่อนนิยมเล่น “จูนเนอร์” หรือวิทยุกันด้วย ไม่ว่าแบรนด์อะไรจะผลิตจูนเนอร์มาจำหน่ายด้วย เพราะเป็นแหล่งโปรแกรมฟังเพลงแบบฟรีในสมัยยังไม่มี Youtube ต่าง ๆ คุณจะเสียเงินแค่ค่าเครื่อง จากนั้นก็ฟังเพลงได้ฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าแผ่นใด ๆ คุณภาพเสียงถือว่าใช้ได้ เพราะขึ้นกับแต่ละสถานีส่งมาเน้นมากเพียงใด บางสถานทีก็ดีมาก บางสถานทีส่งเสียงแค่ฟังได้ แต่เลือกเพลงไม่ได้ ต้องฟังตามที่ดีเจเปิด รวมทั้งมีช่วงพูดคุย ช่วงโฆษณา หรือข่าวสั้น ข่าวยาว คุณต้องปรับตัวเข้าหารายการนั้น ๆ คุณภาพเสียงยังต้องยอมรับว่าไม่ได้ดีมากนัก จะมีบางสถานีเท่านั้นที่ออกอากาศด้วยเพลงที่มีคุณภาพ นอกจากนี้การออกอากาศมีพื้นที่จำกัด จุดที่ห่างไกลหรือพื้นที่อับจะรับสัญญาณไม่ดีนัก ไม่นับรวมเครื่องจูนเนอร์ของคุณว่าไฮเอนด์มากน้อยแค่ไหน เพราะมีตั้งแต่หลักพันยันหลักหลายหมื่น นั่นทำให้ไม่เหมาะกับการใช้อ้างอิงหรือการฟังที่เน้นคุณภาพเสียงอันสุดยอด  

จูนเนอร์ยี่ห้อยอดนิยมน่าจะเป็น Onkyo ที่ทำราคามาดี การรับชัดเจน ขณะที่แบรนด์ไฮเอนด์ก็มี เช่น Accuphase แต่คงมีไม่กี่คนที่จะครอบครอง

จากนั้นคนที่เล่นจริงฟังจริงจะรับรู้ข้อจำกัดได้ง่าย และเริ่มไม่สนใจจูนเนอร์กันอีกแล้ว ทำให้ผู้ผลิตเครื่องแต่ละราย ไม่ผลิตจูนเนอร์แยกชิ้นมาจำหน่ายอีกต่อไป

เครื่องเล่นเทป  

ชื่อเต็ม ๆ เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท ถือว่าเป็นแหล่งโปรแกรมยอดนิยมของยุควัยรุ่น 90 มาสานต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียง เน้นความเป็นอนาลอก เล่นง่ายกว่า ราคาถูกกว่าทั้งเครื่องและแผ่น ไม่ต้องเซ็ทอัพหัวเข็ม หรือค่า Anti-skate ใด ๆ รวมถึงไม่ต้องระวังหัวเข็มหัก ฯลฯ อย่างที่ต้องกระทำเมื่อเล่นแผ่นเสียง

ตัวตลัปเป็นพลาสติกจับง่าย ๆ ยัดใส่เครื่องแล้วกด Play ก็มีเสียงละ ไม่ต้องล้างหัวเข็มหรือปัดฝุ่น กดกรอข้ามไปได้เมื่อไม่ต้องการฟัง ถ้าฟังจนยืดนำมาแช่ตู้เย็นก็ฟังได้ใหม่ ทำให้เข้ามาแทนแผ่นเสียงอย่างรวดเร็ว ไม่นับการใช้ปากกาควงเพื่อกรอเทปให้กลับมาเพลงแรกใหม่ที่กลายเป็นแฟชั่นสุดฮิตในยุคนั้น

ตัวเครื่องเล่นมีจำหน่ายหลายหลายแบรนด์ นิยมสุดบ้านเราคือ Teac มีหลายรุ่นให้เลือกตามระดับราคา แบบ 3 พันกว่าบาทขึ้นไป ขึ้นกับว่าฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่มี เช่น กลไกหัวอ่านนั้น รองรับเทปแบบธรรมดา หรือเนื้อโลหะ มีกี่หัวเทป บางแบรนด์มีแผ่นไม้ประกบข้างดูหรูหรา หน้าปัดสีทอง เช่น Denon เพื่อให้ดีไซน์เดียวกับเครื่องเล่นซีดี, แอมป์, จูนเนอร์ที่ออกมาในซีรีส์นั้น ๆ

ปัจจุบันนี้ เครื่องเล่นเทปจะมีคนขายเครื่องมือ 2 นำมาปัดฝุ่นขาย มีทั้งเกรดธรรมดา เกรดสตูดิโอ เกรดโปรเฟสชั่นแนล ก็ว่ากันไป

ขณะที่ม้วนเทป ปัจจุบันเป็นแบบนำเข้า ทำให้ราคาเฉลี่ยเกือบม้วนละ 700 บาท แพงกว่าซีดีเสียอีก… มีทั้งเพลงไทยใหม่ ๆ ที่ผลิต หรือเพลงสากลต่าง ๆ เช่น 007 No Time To Die ยังมีกลับมาทำตอบสนองตลาด?

ส่วนเทปมือ 2 ก็ปั่นกันหน้ามืด ทั้งที่ไม่รู้แช่ตู้เย็นมากี่รอบ เนื้อเทปสึกจากการกรอไปเท่าไหร่ อัลบั้มศิลปินดัง ๆ นี่แพงกว่าราคาปก! ส่วนตัวผมเคยเล่นมาแล้ว และเลิกเล่นไปแล้ว เทปที่มีก็ขายโละ ๆ ไปม้วนละ 20 บาท ถึงจุดนี้บอกเลยใครจะกลับก็กลับไป แต่ผมไม่คิดจะกลับไปเล่นอีกแล้วครับ 

เครื่องเล่นซีดี

ปัจจุบันมี 2 แบบ แบบแรกซีดีเพลเยอร์ รวมภาคอ่านแผ่นและถอดรหัสในตัว ซึ่งเป็นเครื่องเล่นยอดนิยมมาจนปัจจุบัน ซื้อชิ้นเดียวแล้วเล่นได้เลย ไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่ม มีให้เลือกตามเม็ดเงินแต่ละท่าน

พื้นฐานส่วนมากจะออกแบบให้คุณสามารถซื้อตัวถอดรหัส “แยกชิ้น” ภายนอก (DAC) มาต่อเพื่ออัพเกรดเสียงได้อีก ผ่านช่อง Coaxial / Optical กรณีเครื่องเกรดสูงอาจจะมีช่อง AES มาให้ 

ตัว DAC มีตั้งแต่ยุคนั้นถูกสุด ห้าพัน บวก / ลบไปจนเป็นล้าน!! ถ้าบอกว่า 0,1 ต้องเหมือนกัน…ทำไมบางเครื่องราคาหลักล้าน และมีคนซื้อ? คนซื้อโง่ / โดนหลอก / คิดไปเอง ฯลฯ กระนั้นหรือ คำตอบคือไม่ใช่แน่ ไม่งั้นก็โดนหลอกกันทั้งโลก 55 ซึ่งในตัว DAC เองจะมีองค์ประกอบที่คล้ายกับซีดีนั่นเอง คือ มีภาคจ่ายไฟ มีภาคถอดรหัส แต่ไม่มีกาคกลไกอ่านแผ่นละครับ เพราะหน้าที่คือ “ถอดรหัส” เท่านั้น

“งบประมาณ” คือตัวแปรสำคัญ คุณจะซื้อซีดีตัวละล้านก็ได้ เลือกจับคู่กับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ระดับล้านเช่นกัน เพราะการเลือกจับคู่ 2 ชิ้นที่ราคาห่างกันมาก อันนั้นมีโอกาสผิดพลาดสูง แต่ถ้างบน้อยอันนี้ก็ว่ากันตามจริง

ยี่ห้อของซีดีเพลเยอร์มีมากมาย ทั้งญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ ฯลฯ อยู่ที่ว่าคุณชอบเสียงแบบไหน ชอบหน้าตาอย่างไร เพราะทั้งหมดจะต่างกันไป ถึงแม้ในกลุ่มระดับราคาเดียวกันอาจจะมีความต่างที่คุณจำต้องเลือก

ซีดีอีกแบบคือ ซีดีทรานสปอร์ต คือ มีเฉพาะชุดอ่านข้อมูล ไม่มีภาคถอดรหัสให้มา คุณจะต้องหาซื้อตัวถอดรหัสภายนอก (DAC) เข้ามาเพิ่ม ราคาเริ่มต้น 3 พันยันเป็นล้าน (งบคือตัวแปรอีกแล้ว) มาเพื่อเชื่อมต่อกันด้วยสายดิจิตอล 1 เส้น ให้ถอดรหัส ก่อนส่งต่อไปเข้าภาคขยาย

ซึ่งจะว่าเป็นถ้ายึดมั่น 0,1 ต้องไม่แตกต่าง ขอเชิญข้ามไปอ่านเรื่องอื่นครับ บทความของผมคงไม่มีประโยชน์อันใด เพราะถ้าคิดว่าแค่อ่านแผ่นใช้อะไรก็เหมือน ๆ กันหมด แค่นี้ก็คุยกันยาวแล้วครับ

เราจะเห็นว่าตัวทรานสปอร์ตนั่น แม้บางแบรนด์จะใช้หัวอ่านชนิดเดียวกัน แต่แค่ฐาน / จุดยึด / การชีลด์ครอบ ฯลฯ แค่นี้ก็แตกต่างแล้ว ไม่นับวงจรบอร์ด ภาคจ่ายไฟ ตัวถัง ซึ่งมีรายละเอียด “มหาศาล”

ไม่มีทางเหมือนกันแน่นอนครับ

สมัย 4-5 ปีก่อน อาจมีให้เลือกหลายรุ่น หลายยี่ห้อ เนื่องจากต้องการขายให้คนที่มีความต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดนั่นเอง แต่ปัจจุบันมีตัวเลือกไม่มาก ส่วนมากจะมีแต่ซีดีเพลเยอร์เพื่อให้สะดวกใช้งาน ซื้อเครื่องเดียวพร้อมเล่นได้ทันทีเลย

ถ้าจะซื้อซีดีเพลเยอร์+ซื้อตัวถอดรหัสภายนอก (DAC) มาพร้อมกันทำให้เกิดซ้ำซ้อน ภาคถอดรหัสในเครื่องเล่นจะไม่ได้ทำงาน อาจไม่ใช่เสียงดีที่สุดเสมอไป ขึ้นกับตัวแปรต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณด้วย เมื่อตั้งใจเล่นแยกชิ้นแบบนี้ซื้อซีดีทรานสปอร์ตจะเหมาะสมกว่านั่นเอง

แต่ปัจจุบันอย่างที่บอกมีแต่ซีดีเพลเยอร์ เราคงต้องซื้อมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วถ้าต้องการอัพเกรดเสียงค่อยหาซื้อ DAC ในภายหลัง

แต่ก็ใช่ว่าไม่มีซีดีทรานสปอร์ตให้เลือก ยังมี…แต่มาแบบแรง ๆ ทั้งนั้น โดยที่พัฒนาฟีเจอร์การส่งสัญญาณ DSD จากแผ่น SACD ออกไปได้อีกด้วย จะเรียกว่า SACD Transport นั่นเอง (สมัยก่อนจะมีข้อจำกัดบางอย่างจึงไม่สามารถส่งสัญญาณ DSD ออกไป DAC ภายนอกต่างยี่ห้อได้ ต้องใช้ยี่ห้อเดียวกันจึงจะสามารถเล่นได้ ด้วยสายแบบไฮสปีด ไม่ใช่หัว Coaxial / Optical (แต่ละยี่ห้ออาจจะดีไซน์หัวให้ต่างกันไป) การเล่นจึงมีข้อจำกัดสำหรับคนที่ต้องการความสุดยอด) ดังนั้นยุคนี้การมาของ SACD Transport น่าจะสร้างความฮือฮาได้

เท่าที่ผมเห็นเริ่มโปรโมท คือ Accuphase DP-1000 SACD / CD Transport เรือธงอันสูงสุด มาพร้อม DAC แยกชิ้น Accuphase DC-1000 ออกแบบมาสำหรับการเล่นคู่กัน เพื่อความเป็นที่สุด ร้านไฮเอนด์สั่งมาขายแล้ว สนนราคาตกตัวละ 560,000 บาทเท่ากัน ใครซื้อคู่กัน 2 ชิ้นก็ล้านกว่า ๆ ครับ ที่สำคัญใครสนใจสามารถซื้อแยกได้เลยไม่ต้องซื้อคู่กัน  ทราบวงในว่ามีคนสนใจ 2-3 คนแล้ว!! ถ้าอ่านแล้วคัน ยกหูกริ๊งไปสั่งกับทางร้านได้เลยครับ

ตัวที่เข้ามาสด ๆ ร้อน ๆ จับต้องได้แล้วคือ PS Audio : PerfectWave SACD Transport ซึ่งตอนผมเห็นที่ร้าน Image ตอนไปถ่ายรายการ แอบไปส่องด้านหลังถือว่าน่าสนใจมาก ปกติเครื่องทั่วไปจะมี Coaxial Out เพียง 1 ช่อง จะเป็น RCA / AES ก็ว่ากันไป แต่เครื่องนี้ด้านหลังมีขั้ว Coaxial Out ถึง 2 ช่อง!! นั่นหมายความว่าสามารถสั่งแยกเป็นสัญญาณซ้าย และขวาได้ สัญญาณจะแยกมาอิสระจากต้นทางเลย ตัว DAC ของ PS Audio ที่จะทำออกมาในอนาคต จะมีขั้ว Coaxial In (RCA/AES) 2 ช่องแน่นอนเพื่อรองรับสัญญาณอิสระของซ้าย และขวา หรืออาจจะมี 2 ตัวถัง!! คงต้องติดตามข่าวอีกที แต่ที่แน่ ๆ คือ เม็ดเงินมหาศาลที่ต้องจากไปถ้าคุณต้องการ 

ล่าสุดเริ่มทำตลาดในบ้านเรา คือ CH Precision ของดีจากสวิตเซอร์แลนด์ นำเสนอ D1.5 SACD/CD Transport ที่ใช้เวลาออกแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี มาพร้อมกับชุดขับเคลื่อนใหม่ล่าสุด Mechanically Optimized Reading System (MORSe) เพื่อลดแรงสั่นสะเทือน และ สัญญาณรบกวนต่างๆ ลงอย่างสิ้นเชิง จึงได้สัญญาณที่ดีเยี่ยม หนัก 22 กิโลกรัมสำหรับการเป็นทรานสปอร์ตถือว่า ไม่ธรรมดา และแบรนด์นี้ก็ไม่ธรรมดา บ้านเรามีนักเล่นที่ผมรู้จักซื้อจริง 2 คนแล้ว ลองแล้วน่าจะติดใจนั่นเอง

กลับมาสู่โลกความจริง สุดท้ายควรหลีกเลี่ยงเครื่องเล่นซีดีแบบที่เราเองไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะไม่รู้ว่าภายในใส่อะไรมาให้เราฟัง ลองดูจากแบรนด์ NAD, Marantz, Rotel เหล่านี้ถือว่าพอมั่นใจได้มากกว่า นอกนั้นจะมี ๆ หยุด ๆ ไปตามกลไกตลาด ถ้างบไหวไต่ระดับไฮเอนด์ก็ Accuphase, Esoteric ที่นำเสนอเครื่องเล่นซีดีอยู่เรื่อย ๆ ไม่ผลุบ ๆ โผล่ ๆ แบบบางยี่ห้อ มั่นใจได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางแบรนด์ได้ใส่ภาคถอดรหัส DAC In นี้มาในเครื่องเล่นซีดีบ้าง อินทิเกรตแอมป์บ้าง โดยบางยี่ห้ออาจจะเป็นออปชั่น ฯลฯ เพื่อให้ใช้ถอดสำหรับฟังไฟล์เพลงนั่นเอง หรือใช้เป็นการอัพเกรดชิพถอดรหัส โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเฉพาะตัว DAC อีกต่อไป แล้วแต่เลือกเลยครับ

ปัจจุบันซอฟท์แวร์เองยังมีจำหน่ายมากมาย หลายช่องทาง สนนราคาไม่แรงเกินไป ราวพันต้น ๆ สำหรับแผ่น audiophile ทั้งหลาย ยกเว้นแผ่นบางค่ายที่ราคาจะเปิดมาสูงกว่า เช่น ค่าย Esoteric จะเป็น 2 พันกลาง ๆ ขณะที่แผ่นมือ 2 มีราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ทำให้ซื้อมาฟังได้ง่าย

บางคนถึงกับบอกว่าซีดีกำลังจะตาย…ไม่มีอนาคต ไว้รอดูกันครับ ส่วนตัวผมยังเชื่อว่าไปได้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของวันนี้ครับ

เครื่องเล่นแผ่นเสียง

แต่ถ้าเทียบ 2 ฟอร์แมทสำหรับมือใหม่ ซีดีเป็นอะไรที่เล่นง่ายกว่าเยอะ มีเครื่องมีแผ่นก็เล่นได้แล้วไม่ต้องปวดหัวกับองค์ประกอบอื่นตามพ่วงมาเหมือนแผ่นเสียง เนื่องจากต้องมีปรีโฟโน / สายสัญญาณอีกชุด (กรณีแอมป์ / ปรีแอมป์ไม่มีช่องต่อ จะเห็นว่าถ้าต้องการเล่นง่ายสุด ๆ จะต้องหาซื้อแอมป์ / ปรีแอมป์ที่มีโฟโนในตัว) ไม่นับชั้นวาง สายไฟเอซี ไหนจะอุปกรณ์จุกจิก เช่น แปรงปัดฝุ่น, น้ำยาล้างแผ่น-ล้างหัวเข็ม, ซองใส่ ฯลฯ

ไม่นับกับเรื่องที่ว่าคุณอาจจะทำ “หัวเข็ม” หักได้ง่าย ๆ เมื่อยังไม่ชำนาญเวลาเล่นแผ่นเสียง

เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีแบบแมนน่วลคือต้องทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ กับแบบเซมิออโต้ และออโต้ คือ เล่นเพลงหมดหยุดเองยกหัวเข็มให้เอง 

ในที่นี้จะกล่าวถึงแบบแมนน่วลนะครับ ซึ่งมีแบบประกอบสำเร็จ คือ มีแท่น มีอาร์ม ขาดแค่ “หัวเข็ม” ซึ่งให้คุณเลือกได้ มักเป็นเครื่องกลุ่มไฮเอนด์ คุณแค่หาหัวเข็มที่ต้องการ จึงจะพร้อมเล่นจะเลือกหัว MM, MC ก็สุดแท้แต่ ขณะที่ถ้าเป็นเครื่องกลุ่มมิดเอนด์จะมีครบหมดรวมทั้ง “หัวเข็ม” ด้วย ผู้ผลิตจะดีไซน์มาเป็นกรุ๊ป ๆ ขึ้นกับระดับราคา ยี่ห้อยอดนิยมเช่น  Rega, Project, Thorens เป็นต้น

บางยี่ห้อที่เป็นกลุ่มเริ่มต้น / กลุ่มมือใหม่ อาจมีภาคโฟโนในตัว สามารถต่อกับแอมป์ได้เลยกรณีคุณไม่มีปรีโฟโน โดยมีสวิตช์เลือกเปิด/ปิด วันหน้าอยากอัพเกรดปรีโฟโนก็ซื้อมาเล่นได้ รวมถึงอาจมีฟีเจอร์ริปเพลงจากแผ่นเสียงให้เป็น “ไฟล์” ลงคอมพ์ฯ ได้อีกด้วย  เช่น Denon : DP-450USB

เรียกว่า ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร เช่น สปีดการเล่น, ระบบขับเคลื่อน (สายพาน / Direct Drive) ระบบกันสะเทือน ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นพิเศษ เช่น เป็นการร่วมผลิตกับศิลปินดัง การผลิตวาระพิเศษครบรอบ xx ปี อันนี้ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี ดูมีคุณค่ามากกว่าเครื่องเวอร์ชั่นปกติ ใครหาอยู่แล้วมีเครื่องพิเศษออกจำหน่าย น่าพิจารณาเป็นพิเศษครับ

คนไม่คุ้นเคยอาจจะเลือกลำบากเอาการ ว่าจะเล่นแบบไหน อย่างไร? ขอแนะนำแบรนด์ที่กำลังมาแรงแซงทางโค้งเขย่าบัลลังค์เจ้าตลาดเต็มกำลัง นั่นคือค่าย Edward Audio แบรนด์เก่าแก่จากอังกฤษ นำเสนอเทิร์นเทเบิ้ลชื่อว่า Talk Electronic มี 3 รุ่น TT4, TT5, TT6 บอกเลยตัวจริง “สวยมาก” ครับ มีหลายสีให้เลือก แต่ละรุ่นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด Made in Britain ทำในอังกฤษแท้ ๆ ไม่ใช่จีน แถมตั้งราคาเริ่มต้น 2 หมื่นเศษ ๆ เท่านั้น เร้าใจเห็นแล้วยังอยากได้เพิ่มครับ

ตัวเครื่องมีหลายระดับราคา ไม่น่ากังวลมาก แต่สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมนอกจากการเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้วคือ งบประมาณในการซื้อแผ่นละครับ แผ่นใหม่ดี ๆ เฉลี่ย 4-8 พันบาท ส่วนเพลงไทยสตาร์ทที่ 2 พัน +/- ไม่นับรวมแผ่นเก่าดี ๆ หายากที่ราคาพุ่งปรอทแตกหลายเท่าตัวนับจากตอนที่วางจำหน่าย ทั้งนี้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ตามความหายาก ฯลฯ ทำให้เล่นแค่แผ่นซีดีจะประหยัดกว่าละครับ 

ถ้าใครยังไม่เริ่มเล่น และมีงบน้อย ขอให้ข้ามไปเลยครับ ซื้อไม่ไหวแน่นอน เล่นแล้วเหนื่อย ฟังเพลงจะไม่สนุกครับ หยุดที่แผ่นซีดีดีกว่า แต่ถ้าอยากลิ้มลองบ้าง ซื้อเท่าที่ไหว…เชิญครับ 

แต่ถ้ามีมรดกเก่าตกทอดมาแบบเกินกว่า 100 แผ่น อันนี้น่าลุ้น ลองเล่นครับ อย่างน้อยถ้ามีแผ่นดี ๆ จะช่วยประหยัดไปได้เยอะ เพราะวันนี้แผ่นเสียงเก่าทั้งไทยหรือสากล ล้วนปรับราคากราฟเชิดหัวขึ้นจากการที่ “กลับมา” ได้รับความนิยมอีกครั้ง รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นแบบ 18-20 ปีต่างมีความสนใจฟอร์แมทนี้เพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งเหมือนทวีคูณเข้าไปอีก

จะได้เห็นได้จาก อะไรที่ไม่เคยออกจะมีฟอร์แมทแผ่นเสียงให้เลือกด้วย รวมถึงอะไรที่หมดสต๊อกไปแต่ยังมีความต้องการที่มาก จะมีแผ่น “รีอิชชู่” ทยอยออกมาเรื่อย ๆ รวมถึงวิธีการตลาดแบบแปลก ๆ เช่น จ่ายเงินจองข้ามปี การผลิตตามยอดสั่ง การจับคู่แบบเซ็ทพิเศษ Bundle 

เทปรีล

สมัยก่อนอยู่ในสตูดิโอเป็นหลัก ในมาตรฐานของเทปรีลถือว่าเป็นห่วงโซ่บนสุด มีความเป็นอนาลอกเป็นที่สุด แต่ก็ใช่ว่าทุกตัวจะดี เทปรีลตัวถูก ๆ หลักหมื่นอาจสู้เครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาใกล้เคียงกันไม่ได้ ยี่ห้อสำหรับกลุ่ม Consumer จะมี Akai, Aiwa, Teac, Pioneer, Sony ฯลฯ

เครื่องเล่นเทปรีลยังถูกแบ่งเป็น Studio Grade / Professioal Grade อีกด้วย นั่นหมายถึงคุณภาพสูงกว่า Consumer Grade นั่นเอง มีเพียงไม่กี่แบรนด์ เช่น Studer ต้องว่ากันเป็นรุ่น ๆ ด้วยเช่นกัน ตอนหลังมีหลุดมาบ้านคนเล่นทั่วไป แต่ต้องมาครบ ไม่ซ่อม มีที่มาจริง ๆ จะถือว่าที่สุด Studer, Ampex ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีบางรุ่นที่ “ผลิตใหม่” เพื่อรองรับตลาดอัลตร้าไฮเอนด์ เช่น Ballfinger รุ่น M 002 P ออกแบบให้มีความแบนบางจนสามารถวางแนวนอนได้ เพื่อไม่ให้เกะกะสายตาได้ด้วย หรือ แบรนด์ Metaxas ที่ในมุมมองของผมต้องบอกว่าดีไซน์ไฮเทคอลังการราวกับมาจากต่างดาว ลองดูรูปแล้วจะทราบว่าเป็นแบบที่ผมเขียนไหมครับ?

เทปรีลบางรุ่นออกแบบให้ “เล่น” อย่างเดียว ไม่สามารถบันทึกได้ น่าจะง่ายและดีที่สุด

ผมไม่นำเสนอมากเนื่องจาก “ซอฟท์แวร์” คือตัวแปรสำคัญไม่แพ้เครื่องเล่น เพราะเทปรีลสามารถถ่ายเทปได้ ถ่ายจากอะไรก็ได้หรือถ่ายจากเทปรีลด้วยกัน โดยที่ว่ากันว่าคุณภาพไม่ดร๊อปเลยทีเดียว ทำให้แต่ละคนกลัวเรื่องการยืมไปก๊อปปี๊มาก ๆ กันมากหรือคืนม้วนเทปที่ไม่ใช่ต้นฉบับ!!

ตอนนี้ม้วนเทปรีลราคาสตาร์ทราว 2 หมื่นบาทขึ้นไป นั่นแม้คุณมีเงินซื้อเครื่องหลักหมื่นหรือหลักแสนมาเล่นได้ แต่ควรถามก่อนว่ามีเงินพอจะซื้อม้วนเทปรีลไหม เพราะม้วนแท้ราคาดังกล่าวเป็นเพียงราคาเริ่มต้น แค่นี้ซื้อ 5 อัลบั้มก็แสนนึงเกินราคาเครื่องไปแล้ว

และถึงแม้คุณจะบอกว่ามีตังค์….แต่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ ตัวม้วนเทปรีลมีผลิตจำกัด ต้อง “แย่ง” กัน ถ้าคุณแย่งไม่ทัน ไม่สู้ราคา จะมีฟังไม่กี่ม้วน หรือต้องไปต่อเข้าคิวเรียงลำดับความเป็น VIP สมมุติเป็นลำดับที่ 20 ถ้าม้วนเทปบางอัลบั้มได้มาเยอะกว่า 20 ม้วนคุณจะได้เสียเงินแน่ แต่ถ้าอัลบั้มนั้นได้เพียง 15 ม้วน…คุณจะ “อด” นะครับ

รวมทั้งอาจพบปัญญาโดนลักไก่ ครั้งนึงผมเคยฟังม้วนเทปรีล Teresa Teng เจ้าของสั่งจากฮ่องกง ราคาตามที่บอก เสียงมันแข็งกระด้าง เสียดายเงินจริง ๆ ครับ

ดังนั้น ฟอร์แมทเทปรีลผมยกให้เป็นแหล่งโปรแกรมสุดท้ายที่คุณจะเล่น ต้องมาพร้อมกำลังทรัพย์ “มหาศาล” จริง ๆ แต่ถ้าใครพร้อมก็จัดไปครับ และนั่นหมายถึงองค์ประกอบของซิสเต็มคุณต้องเสียงดีด้วยจึงจะคุ้มค่ายิ่งขึ้นครับ  

สตรีมเมอร์

แหล่งโปรแกรมที่มาแรงด้วยการวิ่งบนท่อระบายน้ำแซงวงในแบบ Initial D ปาดหน้าทุกฟอร์แมท รวมถึง “ไฟล์เพลง” ด้วย เพราะการจะมีไฟล์ในคอมพ์ฯ นั้น คุณจะต้องมีแผ่นซีดี / แผ่นเสียงต้นฉบับเสียก่อน ค่อยมาแปลงเป็นไฟล์จึงจะฟังเพลงได้ หรือขอไฟล์สำเร็จจากเพื่อน ซื้อจากคนขาย โหลดจากที่ต่าง ๆ ฯลฯ ไม่งั้นจะยังฟังไม่ได้ ถ้ามี 10 เพลงแล้วไม่หาเพิ่มคุณจะฟังได้อยู่แค่นั้น

ไม่เหมือนการสตรีมที่อาศัยการมีเพลงจำนวน “มหาศาล” จากผู้ให้บริการ เช่น Tidal ไม่ต้องพูดถึงผู้ให้บริการรายอื่น ๆ แค่นี้ก็ฟังกันชนิดไม่ซ้ำเพลงเป็นสิบปีแล้ว คุณไม่ต้องไปดิ้นรนหาไฟล์ ทางค่ายผู้ให้บริการเขาจะเติมเพลงเข้ามาเรื่อย ๆ

คุณแค่เสียค่าบริการรายเดือน / รายปี จากนั้นจะเปิดประตูสู่คลังเพลงจากทุกมุมโลก คุณลองฟังเพลงต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ จุดนี้สำหรับคนชอบฟังเพลงจะตอบโจทย์ที่สุด

ไม่ต้องเสียเงินซื้อแผ่นซีดีราคา 500 บาทมาฟัง ถ้าไม่ชอบแบงค์ม่วงก็มลายหายวับไปแล้ว เก็บขึ้นหิ้งหรือขายต่อให้เพื่อนไป หรือให้ฟรีก็วัดใจกัน แต่วัดบ่อย ๆ คงไม่ไหวนะ

ไม่ต้องรอดีเจเปิดเพลงที่รอคอย บางทีคอยเป็นอาทิตย์ยังไม่ได้ฟัง 55

เล่นง่าย ไม่ชอบก็กดเปลี่ยนเพลง ข้ามแทรคได้ทันที ไม่มีส่วนเคลื่อนไหวใด ๆ ที่จะต้องบำรุงรักษาหรือระวังใด ๆ แบบแหล่งโปรแกรมอื่น ๆ เช่น ลิ้นชัก หัวอ่าน หัวเข็ม มอเตอร์ สายพาน ฯลฯ ทั้งสิ้น ตลอดจนน้ำยาเช๊ดแผ่นพวกนี้ไม่ต้องมี เพราะการสตรีมนั้นคุณไม่สามารถจับต้องตัวอัลบั้มใด ๆ ได้เลย

เครื่องสตรีมเมอร์มีหลายรูปแบบ มีทั้งสตรีมอย่างเดียว ซึ่งมีตัวเลือกน้อยยี่ห้อ (จะต้องมาผ่าน DAC ภายนอก) กับแบบที่มี DAC มาให้เลยซึ่งเกือบทั้งหมดในตลาดเป็นแบบนี้ และจะนิยมมีฟังก์ชั่น “ปรีแอมป์” ติดมาด้วย ถ้าคุณยังไม่มีปรีแอมป์จะได้ประโยชน์นี้ไป สามารถซื้อแค่เพาเวอร์แอมป์มาก็พร้อมขับลำโพงเลย คุณภาพเสียงรวม ๆ ถือว่ารับได้ บางยี่ห้อก็ดีเลย จุดนี้ขึ้นกับคุณแล้ว

ถ้ามองมุมกลับ คนที่มี DAC มีอินทิเกรตแอมป์หรือมีปรี/เพาเวอร์อยู่แล้วจะไม่อยากได้สตรีมเมอร์แบบนี้ เพราะฟีเจอร์ปรีแอมป์ / DAC ที่ให้มาจะไม่ได้ใช้ เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แน่นอน ต้องเลือกตัวที่มีเฉพาะฟังก์ชั่น “สตรีม” เท่านั้น จะคุ้มค่ากว่า

การสตรีมจากเครื่องสตรีมเมอร์นั้น ผู้ผลิตมักจะร่วมกับผู้ให้บริการเพลงอยู่แล้ว เพียงเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน๊ตด้วย Wifi หรือสาย Lan ก็เตรียมพร้อมสตรีมได้แล้ว

หลายยี่ห้อมีแอปฯ ควบคุมผ่านมือถือได้ด้วย ทำให้การสั่งงานง่ายขึ้น มีรูปปกขึ้นมาให้เลือก อย่างตัวผมแม้ปกติจะฟังจากแผ่นซีดี / แผ่นเสียง พอได้ลองฟังสตรีมบ้าง เป็น Nuprime : Omnia A300 ที่ออฟฟิศ ตัวนี้ออกแบบเป็น All in One นอกจากสตรีมแล้ว ยังมีภาค DAC ภาคแอมป์ขนาด 150 วัตต์ในตัว ฯลฯ ขอให้มีลำโพงดี ๆ แค่นี้ก็พร้อมฟังเพลงแล้ว เล่น ๆ ไปยังแอบติดใจเลยครับ

ถ้าใครมี DAC ที่ดี ๆ มีอินทิเกรตแอมป์เจ๋ง ๆ หรือมีปรี/เพาเวอร์เทพ ๆ อยู่อยากลองเฉพาะฟีเจอร์ “สตรีม” ทาง Nuprime ยังมีตัวที่เรียกว่า Stream 9 สำหรับสตรีมอย่างเดียว ไม่มีแอมป์ใด ๆ การถอดรหัส การขยายสัญญาณ การขับลำโพงจะเป็นซิสเต็มเดิมของคุณ ไม่เสียเงินซ้ำซ้อนละครับ

แน่นอนว่าปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องเล่นต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้เล่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มมือใหม่ หรือคนที่ต้องการความเรียบง่าย ปกติจากยูทูปหรือบูลทูธยังฟังได้เลย ตรงนี้ถ้ายังไม่มีเครื่องจะได้เปรียบ เพราะฟีเจอร์สตรีมนี้ บางรุ่นผู้ผลิตใส่มาในเครื่องเล่นซีดีบ้าง อินทิเกรตแอมป์บ้าง โดยบางยี่ห้ออาจจะเป็นออฟชั่นให้เลือกได้ ฯลฯ ทำให้คุณซื้อเครื่องนั้น ๆ มาก็อาจจะสามารถสตรีมเพลงได้ทันที ไม่ใช่ใส่แค่ตัว DAC อย่างที่คุ้นชินอีกต่อไป

ทั้งนี้อาจสงสัยว่าทำไมมันดูวุ่นวาย ไม่มีกฏเกณฑ์ใด ๆ เลยกระนั้นหรือ…ขอตอบเลยว่าไม่มี ใครที่ใส่มาแล้วโดนใจอาจแจ้งเกิดได้ทันที การไปยึดติดว่าฟีเจอร์สตรีมต้องมาควบคู่กับ DAC นั่นจะกลายเป็นตัดตัวเองออกไปเลย ยุคนี้ขอให้ “มี” ไว้ก่อน ใช้หรือไม่ก็ว่ากันไป  ส่วนมีแล้วดีหรือไม่ดีเป็นประเด็นที่จะต้องพิสูจน์กันอีกทีละครับ 

ถึงจุดนี้ เมื่อคุณต้องการความเป็นที่สุดอาจจะต้องมองหาสตรีมเมอร์แยกชิ้นดี ๆ สักตัวเพื่อตอบโจทย์นี้ จุดนี้แล้วแต่คุณเลย…

ใครไม่มีงบมากพอสำหรับไล่ซื้อซอฟ์ทแวร์ เพราะซื้อเครื่องเสียงก็หมดงบแล้ว ลองเริ่มจากการสตรีมนี้ละครับ โดยเลือกเครื่องที่สตรีมเพลงได้ (จะอยู่ที่ต้นทางหรืออินทิเกรตก็สุดแท้แต่) อย่างน้อยทำให้คุณสามารถฟังเพลงผ่านชุดเครื่องเสียงได้นั่นเอง คุณจะได้ยินสิ่งที่ไม่เหมือนกับการฟังหูฟัง ถือเป็นประสบการณ์ถนนสายไฮไฟได้อย่างเต็มภาคภูมิกว่า แล้วคุณจะค่อย ๆ พบคำตอบว่าอะไรคือไฮไฟ…ไฮไฟคืออะไร


มาถึงช่วงสุดท้าย เบื้องต้นไม่ว่าจะเลือกแหล่งโปรแกรมอะไร แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป มีสเน่ห์ไม่เหมือนกัน ถ้าคุณตอบตัวเองว่าต้องการอะไร ผมว่าจะได้คำตอบ ลองค่อย ๆ พิจารณาไป ถ้าไม่นับเรื่อง “คุณภาพเสียง” นะครับ อันนี้ดูตามตัวแปรที่มี…

แต่ถ้างบไม่อั้นจะซื้อทุกฟอร์แมทมาลองเล่น..คงไม่มีใครว่าครับ