อธิบายคำศัพท์นักวิจารณ์ด้วยการฟังเสียงเพลงจริง

0

ช.ชิดชล


กล่าวกันว่า จะอธิบายให้คนที่ไม่เคยกินเกลือนั้น ได้รู้ซึ้งถึงรสชาติของเกลือ ด้วยการบรรยายและชักแม่น้ำทั้ง 5 สาย ก็จะมีคนเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หรือบางคนก็ยังไม่เข้าใจแบบแก่นแท้ วิธีที่ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องบรรยายให้มากความคือ จับปากอ้าออก ล้วงเกลือจากโหลแล้วป้ายไปที่ลิ้น เป็นอันรับรู้ถึงแก้นแท้ชนิด หมดสิ้นกระบวนความ!

ศัพท์ที่ใช้เป็นคำขยายคำว่าเสียง หรืออธิบายเพิ่มเติมถึงเสียงนั้นว่าเป็นอย่างไร มักเป็นศัพท์เฉพาะ ที่ไม่ได้มีความหมายบัญญัติเอาไว้ แต่ก็พอรู้พอเข้าใจโดยทั่วกันว่า มีความหมายถึงเสียงแบบที่บรรยายนั้น แต่ผู้อ่านบางท่าน ก็ยังสงสัยว่า เสียงในคำศัพท์นั้น เป็นอย่างไร อยากเข้าใจถึงแก่นแท้ ก็จะมีตัวอย่างบทเพลง ที่พอเทียบเคียงได้กับคำศัพท์ที่มักนิยมใช้กัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพื่อการรับรู้ที่เข้าใจ ในการอ่านบทความ

1. บรรยากาศ

เรียกง่ายๆก็คือ เสียงรอบๆ ที่ไม่ใช่เสียงหลัก เป็นเสียงรองลงไปจากเสียงหลัก อาจเป็นเสียงที่แผ่วเบาก่อนจางหายไป หรือเป็นเสียงที่ทำให้เรารับรู้และเข้าใจเสียงหลักมากขึ้น อาจจะเป็นเสียงที่ก้องสะท้อนกับห้องบันทึก หรือจะเป็นเสียงที่บ่งบอกถึง สถานที่ หรือเสียงที่รายล้อมอยู่ ไม่ใช่โน้ตเสียงที่นำออกมา ไม่ใช่เสียงแรกที่ได้ยินอย่างคมชัด คลิปเพลงที่นำเสนอนี้ ล้วนมีบรรยากาศของเครื่องดนตรี เสียงร้อง เสียงผสาน และเสียงที่กำทอนมาจากฮอลล์ที่บันทึก เชิญรับฟังครับ


2. ความต่อเนื่องลื่นไหล

เสียงที่ได้สมดุลของเสียงทุ้ม กลาง แหลม เสียงที่มีความเชื่อมโยงไม่ขาดหยุดสะดุดลง เสียงที่พาเพลินให้อารมณ์ไหลลื่น ราวกับสายน้ำแห่งดนตรี ที่มีโน้ตเสียงแต่ละโน้ต พรั่งพรูออกมาอย่างมิได้ขาดช่วง สายน้ำไม่สะดุดหยุดลง มีความโยงจากเสียงหลักไปยังเสียงที่กังวานก่อนจางหาย กับบทเพลงที่ให้รับฟังนี้ ด้วยเสียงไวโอลินและวงดุริยางค์ สอดคล้อง สอดผสาน ทำให้เสียงมีความต่อเนื่องลื่นไหล อารมณ์สุนทรีไม่มีสะดุด แม้ช่วงเงียบ เราก็เติมท่วงทำนองให้ต่อเนื่องได้ในใจเรา


3. ไดนามิคคอนทราสต์

ไดนามิคคือ พลังหรือระดับความดัง คอนทราสต์คือความแตกต่างหรือระดับความแตกต่าง ศัพท์ในหัวข้อนี้หมายถึงพลังความดังของเสียงโดยมีความแตกต่างในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เสียงที่ดังและเสียงที่เบา จากแผ่วเบาเร่งโหมแรงดังขึ้น ยังมีรายละเอียด ยังมีความแตกต่างในระดับการดังที่เร่งขึ้นไปหรือไม่ เสียงเพลงที่เปิดให้รับฟังนี้ เน้นเสียงกลางโดยเฉพาะ เพราะเป็นเสียงที่ฟังง่าย เสียงจากนักร้อง เป็นเสียงที่เราฟังชัดและเข้าใจ รวมถึงรับรู้ได้ง่ายสุด เพราะได้ยินเสียงผู้คนอยู่ทุกวัน คลิปที่ฟังนี้เป็นโอเปร่าดูโอกันระหว่างนักร้องสุภาพสตรี 2 ท่าน ที่พลังเสียง รายละเอียด บ่งบอกถึงไดนามิคคอนทราสต์ได้เป็นอย่างดี


4. ความหวาน

คงต้องอธิบายศัพท์ในหัวข้อนี้ด้วยบทเพลงขับร้อง เสียงสุภาพสตรีอีกเช่นเดิม เสียงหวานคือเสียงที่น่าฟัง ไร้ความกระด้างหยาบ ไร้อาการโด่ง สด คม เป็นเสียงที่ราบรื่น ไหลไปตามท่วงทำนองอย่างกลมกล่อม ไม่ว่าเสียงนั้นจะใส กระจายเสียงได้ดี หรือเสียงจะอมขุ่นติดเนื้อ แสดงโฟกัสที่ชัดเจนก็ตาม ล้วนเป็นความหวานได้ทั้งสิ้น ความหวานนี้ยังหมายถึงเสียงที่น่าฟัง ฟังแล้วอยากฟังอีก ฟังแล้วไม่เบื่อ ฟังแล้วมีความสุข ฟังแล้วรักในบทเพลง


5. อารมณ์ของบทเพลง

ท่านผู้อ่านเคยฟังเพลงแล้วนึกถึงเหตุการณ์ หรือเจอเหตุการณ์แล้วนึกไปถึงบทเพลงไหมครับ มันมีบางสิ่งบางอย่าง เชื่องโยงอารมณ์นั้นกับบทเพลงอยู่ คือ อารมณ์ของบทเพลง ฟังเพลงอกหักแล้วให้หดหู่อยากไปโดดน้ำตาย ฟังเพลงรักหวานซึ้งแล้วนึกถึงจับมือคนรักครั้งแรก ฟังเพลงจังหวะที่รุกเร้าแล้วทำให้อารณ์ฮึกเหิม หรือบทเพลงที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของเราให้คล้อยตามเนื้อ คล้อยตามท่วงทำนองในบทเพลงนั้นๆได้ เครื่องเสียงที่ดี ต้องถ่ายทอดให้เราเข้าถึง อารมณ์ของบทเพลง ครับ เฉกเช่นเพลงนี้ ที่ทำให้เราคล้อยตามเสียงนักร้อง ปรับโทนอารมณ์เราไปตามท่วงทำนอง เชิญฟังครับ

คำบรรยายรวมถึงบทเพลงที่ยกตัวอย่างมาประกอบให้ฟังได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายคำศัพท์ทางเสียง ที่ให้เข้าใจ รับรู้อยากลึกซึ้ง เพื่อการอ่านบทความวิจารณ์ให้เข้าใจมากขึ้น เพื่อการฟังเพลง การเลือกชุดเครื่องเสียง การปรับจูนเสียง ให้คุณภาพที่ดีขึ้น และเพื่อความสุขในการเล่นเครื่องเสียงและการฟังเพลง

สุดท้ายอยากจะฝากทุกท่านว่า เล่นเครื่องเสียง เข้าใจ เพื่อให้เข้าถึง แล้วท่านจะหลงรักในการ ฟังเพลง ครับผม