รีวิว SCANSONIC: M5 BTL มินิมอนิเตอร์บลูทูธ

0

DAWN NATHONG

หลังจากที่เคยได้ทดสอบลำโพงรุ่น S5 BTL ซึ่งเป็นรุ่นน้องเล็กไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ต้องจดชื่อของ Scansonic แบรนด์จากเดนมาร์คนี้ไว้ในลิสต์เครื่องเสียงคุ้มค่าคุ้มราคา เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สามารถแนะนำใครต่อใครได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คราวนี้เป็นทีของรุ่นพี่ที่ขยับขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็บแต่ราคายังอยู่ระดับคุ้มราคาเหมือนเดิม ความแตกต่างอันดับแรกคือซีรี่ยส์นี้จะถูกจัดไว้ในกลุ่มของ Scansonic HD ซึ่งมีรุ่นระดับไฮเอ็นด์ในกลุ่มคือ MB ซีรี่ยส์ บ่งบอกเป็นนัยถึงคุณภาพเสียงที่ก้าวกระโดดจากรุ่นน้องมากพอสมควร อีกอย่างที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือการใช้ริบบ้อนทวีตเตอร์แทนซอฟท์โดมเหมือนรุ่น S รวมทั้งขนาดตัวตู้ที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

รายละเอียดที่น่าสนใจ

M5 BTL จัดอยู่ในกลุ่มของลำโพงขนาดเล็กหรือเรียกว่ามินิมอนิเตอร์ เหมาะสำหรับห้องฟังขนาดเล็กไปถึงกลาง เป็นลำโพงวางหิ้งแบบสองทางที่มีแอมป์ภาคขยาย Class AB 50 วัตต์ พร้อมภาครับบลูทูธ aptX 2.4 GHz ซึ่งรองรับความละเอียดเทียบเท่าซีดีหรือ Lossless และช่องอนาล็อคอินพุต ดิจิทัลอินพุตออพติคอล, โคแอ็คเชี่ยลบรรจุอยู่ในลำโพงข้างซ้าย ส่วนลำโพงข้างขวาจะเป็นลำโพงปกติ

ความพิเศษของ M5 BTL คือผลิตไดร์เวอร์เองทั้งหมด ริบบ้อนทวีตเตอร์ผลิตจากวัสดุ Kapton/aluminum Sandwich ซีลแยกตู้อิสระ ข้อดีคือมีมวลต่ำและเบากว่าทวีตเตอร์โดมทั่วไปหลายเท่า ทำให้มีความฉับพลันและรายละเอียดสูง ไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์กรวยกระดาษผสมโพลีโพรไพลีนสานขนาด 4.5 นิ้ว พร้อมแม่เหล็กขนาดใหญ่พิเศษ

จุดตัดครอสโอเวอร์ที่ 3.5 KHz แบบ 2nd Order ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ตัวขับเสียงต่ำจะทำหน้าที่เกือบเป็นฟลูเรนจ์แล้วริบบ้อนทวีตเตอร์จะรับหน้าที่ความถี่สูงที่เหนือขึ้นไป บริเวณด้านล่างจะเป็นท่อเบสรีเฟล็กแนวนอนขนาดเกือบเท่าหน้ากว้างของลำโพง ภายในทำเป็นช่องผายออกเหมือนปากแตรซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณเสียงต่ำให้มากขึ้น โครงสร้างตู้คาดโครงคร่าวอย่างแน่นหนาแข็งแรงมาก ตัวตู้ทำผิวสีดำเปียโนเงางาม งานประกอบเก็บรายละเอียดได้เรียบร้อย ด้านบนของลำโพงข้างซ้ายจะเป็นแผงควบคุมเอาไว้เลือกอินพุต, ปรับระดับเสียง, และควบคุมการเล่น คล้ายกับปุ่มสัมผัสแบบคลิกวีลของไอพอด พร้อมรีโมทคอนโทรลที่สามารถโปรแกรมได้

ติดตั้งเข้าระบบ

ผู้เขียนทำการยกลำโพง NHT 1.5 ลงจากขาตั้งลำโพง Atacama จากนั้นนำ M5 BTL วางลงไปโดยทียังไม่ได้ขยับตำแหน่งลำโพงแต่อย่างใดก็ค่อนข้างให้น้ำเสียงที่ได้สมดุลและลงตัวแล้วทีเดียว แม้จะมีระยะห่างระหว่างลำโพงเกือบสองเมตรก็ไม่พบว่าเสียงตรงกลางโห่วหรือบอบบางแต่อย่างใด แสดงว่า M5 BTL ไม่จุกจิกกับการจัดวางมากนัก รวมทั้งมีมุมกระจายเสียงที่กว้างมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว ซึ่งขัดแย้งกับสายลำโพงที่แถมมาในกล่องเสียเหลือเกินเพราะสั้นเอามาก ๆ ไม่เกิน 1.5 ม. อยากให้ทางผู้ผลิตแถมสายลำโพงที่ยาวสัก 2 เมตรจะดีมาก หากผู้ใช้งานไม่มีสายลำโพงที่ยาวกว่ามาใช้คงไม่ทราบคุณงามความดีในแง่นี้ของลำโพงเป็นแน่แท้ ผู้เขียนใช้สายลำโพง Audioquest Type-2 ราคาไม่แพงมาเปลี่ยนแทนก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิมแบบชัดเจน แนะนำให้ลองหาสายลำโพงคุณภาพดี ราคาไม่ต้องสูงมากสักเมตรละไม่เกินหนึ่งพันกำลังสวยเพราะใช้แค่เส้นเดียว ส่วนสายไฟเอซีเป็นหัวแบบ C-8 มาตรฐานจึงไม่ได้เปลี่ยนแต่อย่างใด

TIPS: สายไฟเอซีของ M5 BTL เป็นแบบสองขาควรเสียบไฟให้ถูกขั้วเพื่อคุณภาพเสียงที่ถูกต้อง ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟตรวจสอบ ด้านที่เสียบปลั๊กถูกขั้วเมื่อเสียบปลั๊กแต่ยังไม่เปิดสวิตช์จะต้องไม่มีไฟรั่วออกมาหรือมีเพียงเล็กน้อย

        หลังจากขยับตำแหน่งลำโพงเพื่อไฟน์จูนเพิ่มอีกเล็กน้อยก็ลงตัว ระยะห่างระหว่างลำโพงอยู่ที่ประมาณ 187 ซม. เอียงหน้าลำโพงโทอินเข้าหากันเล็กน้อยไม่เกิน 10 องศา จากการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างการใส่หน้ากากลำโพงกับไม่ใส่ การถอดหน้ากากจะได้เสียงที่โปร่ง มีรายละเอียดระยิบระยับ มีความกังวานที่ดีกว่า ส่วนการใส่หน้ากากปลายเสียงจะไม่ทอดตัวไปจนสุด รายละเอียดหยุมหยิมลดลงเล็กน้อย แต่ให้ความรู้สึกว่าเสียงมีความกลมกล่อมฟังสบายกว่าเล็กน้อยเช่นกัน โดยในการทดสอบนี้จะถอดหน้ากากออก

ความสะดวกง่ายดายของการฟังลำโพงแบบแอ็คทีฟคือไม่ต้องเสียเวลาจัดชุดให้วุ่นวาย มีแค่เหล่งโปรแกรมไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นหรือมือถือสักเครื่องก็สามารถใช้งานได้ทันที เมื่อติดตั้งเรียบร้อยทำการเปิดสวิตช์ที่แผงด้านหลังลำโพงข้างซ้าย ไฟสีเขียบบริเวณด้ายหน้าลำโพงจะสว่างขึ้น และอินพุตที่แสดงบนหน้าจอด้านบนลำโพงจะถูกปรับไปอยู่ที่บลูทูธโดยอัตโนมัติ หากไม่มีสัญญาณป้อนเข้ามาช่วงระยะเวลาหนึ่งลำโพงจะเข้าสู่โหมดสแตนบายเพื่อประหยัดพลังงาน ชั่วโมงแรก ๆ ของการใช้งานเสียงจะทึบเล็กน้อยหลังเปิดเบิร์นอินไปเรื่อย ๆ อาการดังกล่าวก็หายไป

ผลการลองฟัง

อันดับแรกลองฟังในลักษณะลำลองด้วยบลูทูธดูก่อน โดยการใช้มือถือโซนี่ Xperia Z3 เป็นตัวส่งสัญญาณ ด้วยประสิทธิภาพของ apt-X® Audio Codec ที่ใช้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณ 2.4 GHz ผ่านสัญญานบลูทูธ สามารถสตรีมไฟล์ความละเอียดสุงสุด 44.1kHz/16bit  ซึ่งเทียบเท่าความละเอียดของฟอร์แมตซีดีได้ คุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมากเลยทีเดียว แน่นอนเมื่อเทียบกับฟอรแม็ตซีดีแท้ ๆ ยังด้อยกว่าในแง่ของไดนามิกเร้นจ์ ความเปิดโปร่งและรายละเอียด แต่หากเทียบคุณภาพเสียงกับคู่แข่งที่ใช้บลูทูธเหมือนกันถือว่าไม่เป็นสองรองใครแน่นอน ทดลองฟังจากไฟล์เพลง Lossless หลายแนวที่เก็บไว้บนมือถือผ่านแอพฟังเพลงอย่าง HibyMusic รวมทั้งสตรีมมิ่งเซอร์วิสอย่าง TIDAL และฟังเพลงบน Youtube เนื้อเสียงมีความนุ่มนวลที่ดีน่าฟัง ไม่บอบบางแห้งแล้งหรือแข็งกระด้างแต่อย่างใด แถมเบสมีน้ำมีนวลและลงน้ำหนักได้ไม่เลวเลย ให้สเกลของเสียงที่ใหญ่เกินตัว ถือว่าภาค DAC ถอดรหัสภาย M5 BTL ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

        จากนั้นเข้าสู่การทดสอบคุณภาพเสียงที่แท้จริงของ M5 BTL ผู้เขียนใช้เน็ตเวิร์คโมดูล Poly เชื่อมต่อกับ DAC Chord Mojo ผ่านสายสัญญาณอนาล็อค Audio Quest: Big Sur เข้าสู่ช่องอนาล็อค RCA อินพุตของ M5 BTL โดยทดสอบด้วยการฟังไฟล์เพลงเป็นหลัก ข้อดีของทวีตเตอร์แบบริบบ้อนคือสามารถรีดให้บางมาก ๆ จนมีมวลและน้ำหนักที่เบาจึงสามารถขยับตัวได้อย่างฉับไวกว่าทวีตเตอร์โดมโลหะทั่วไป ทำให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้อย่างหมดจด และมีความฉับพลันสมจริง

ข้อเสียคือหากออกแบบได้ไม่ดีก็จะมีเนื้อเสียงที่บาง ขาดมวลและบรรยากาศล้อมรอบตัวเสียง เหมือนกับเสียงที่ดังโพล่งออกมาแต่ไร้น้ำหนัก ส่วน M5 BTL สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหานี้มาได้อย่างหมดจด ด้วยการออกแบบจุดตัดความถี่ให้ไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์เป็นตัวหลักในการทำงานในช่วงความถี่หลักเกือบทั้งหมด ส่วนริบบ้อนทวีตเตอร์จะทำหน้าที่ในช่วงความถี่สูงที่ไม่กว้างมากนัก บวกกับขนาดของไดร์เวอร์เบสมิดเรนจ์ขนาด 4.5 นิ้วและการใช้แม่เห็ลกขนาดใหญ่ ทำให้ฉับไวพอที่จะตามริบบ้อนทวีตเตอร์ทัน ผลคือทำให้มีความกลมกลืนระหว่างไดร์เวอร์ทั้งสองได้อย่างแนบเนียน

สังเกตว่า Scansonic ใช้แนวทางการออกแบบในลักษณะนี้กับลำโพงรุ่นใหญ่ของเขาเช่นเดียวกัน เสียงแหลมที่ได้ยินจาก M5 BTL จึงทั้งโปร่งกระจ่าง ฉับไว มีรายละเอียดหยุมหยิมแต่ไม่บอบบางขาดน้ำหนัก จุดนี้ต้องขอปรบมือให้กับผู้ออกแบบด้วยจริง ๆ ที่สามารถจูนเสียงไดร์เวอร์ทั้งสองประเภทให้มีความกลมกลืนได้ขนาดนี้

คนที่ชอบรายละเอียดกรุ้งกริ้งน่าจะถูกโฉลกกับ M5 BTL เป็นพิเศษ กับเพลงเดิม ๆ ที่คุ้นเคย หากได้ฟังผ่าน M5-BTL แล้วท่านจะแปลกใจกับรายละเอียดระยิบระยับที่ไม่เคยได้ยินชัดเจนขนาดนี้มาก่อน แม้จะอ่อนมวลบรรยากาศของปลายเสียงแหลมย่านบนสุดไปบ้างแต่เท่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเสียงแหลมที่หาฟังได้ยากในลำโพงระดับราคานี้แล้ว เมื่อไดร์เวอร์ทั้งสองทำงานผสานกันได้อย่างกลมกลืนทำให้เสียงกลางของ M5 BTL มีความน่าฟังเป็นพิเศษในแง่ของความสดฉับพลันและรายละเอียด ทำให้เราติดตามอากัปกิริยาการเปล่งเสียงของนักร้องได้ตลอด ในขณะที่รักษาความต่อเนื่องลื่นไหลเอาไว้ได้อย่างน่าพอใจ เนื้อเสียงแม้จะไม่เนียนละเอียดสุด ๆ แต่ให้มวลเสียงนักร้องที่อิ่มเอิบมีฐานเสียงรองรับและปราศจากความหยาบสากกร้านให้ระคายโสตประสาท

        จุดเด่นอีกอย่างของ M5 BTL คือให้ความชัดเจนของหัวโน็ตที่ดี ไม่ว่าเสียงเครื่องดนตรีประเภทไหนก็จะรับรู้ได้ถึงอิมแพ็คหัวเสียงที่ส่งออกมาอย่างฉับไว ทำให้เรารับรู้ถึงความสดของเครื่องดนตรี ฟังแล้วมีชีวิตชีวา ฟังสนุก ไม่รู้สึกว่าอับทึบ อย่างเสียงเคาะแฉเบา ๆ ก็ยังรับรู้ถึงน้ำหนักการเคาะได้ชัดเจน ส่งผลไปยังเสียงทุ้มต้นที่มีแรงปะทะหัวเสียงและมีมวลเนื้อที่เข้มข้นดีทีเดียว ผสานการทำงานกับท่อเปิดด้านหน้าทำให้ M5 BTL มีเสียงเบสเบสที่ใหญ่ ฉับไว ไม่รุ่มร่าม และลงได้ลึกเกินตัวไม่เบา

ลองฟังเสียงเดี่ยวเชลโล่จาก Tsuyoshi Yamamoto Trio แทร็ค What A Wonderful World ให้ขนาดชิ้นดนตรีที่สมส่วนไม่หดเล็กตามขนาดตู้และมีมวลเนื้อเสียงที่ดี เก็บรายละเอียดเสียงสั่นเครือของเชลโล่ได้ชัดเจน ช่วงครึ่งหลังเสียงเปียโนก็มีน้ำหนักความพริ้วกังวานเป็นประกาย แต่แน่นอนว่าอย่างไรก็หนีกฎของฟิสิกส์ไม่พ้น ในส่วนของทุ้มกลางต่อเนื่องไปถึงทุ้มลึกนั้นไม่สามารถแผ่ขยายมวลเสียงออกมาให้สัมผัสได้มากพอ แต่ก็จะค่อย ๆ ลาดลงอย่างนุ่มนวลจนไม่รู้สึกว่าทุ้มจางหายเร็วเกินไปนัก หากวัดกับลำโพงในระดับราคาและปริมาตรไล่เลี่ยกันคุณภาพทุ้มของ M5 BTL ก็ถือว่ายืนอยู่แถวหน้าได้อย่างไม่ขัดเขิน

ดุลเสียงของ M5 BTL จะจูนเสียงมาทางกลางต่ำนิด ๆ มีเบสต้นที่เด่นเล็กน้อยซึ่งเป็นสไตล์ของลำโพงขนาดเล็กระดับเริ่มต้นส่วนใหญ่ เมื่อรวมกับความฉับพลัน โปร่งกระจ่างของริบบ้อนทวีตเตอร์จึงเกิดเป็นความลงตัวที่น่าฟังอีกแบบหนึ่ง เหมาะกับดนตรีหลากหลายแนวโดยเฉพาะแนวเพลงป็อบ ร็อค อาร์แอนด์บีสมัยใหม่จะฟังสนุกมาก ในขณะเดียวกันเมื่อทดลองฟังเพลงคลาสสิควงใหญ่ก็สามารถถ่ายทอดความโอ่อ่าอลังการของเวทีเสียงออกมาได้เกินกว่าที่คาดไว้ เพราะให้สเกลของเสียงที่ใหญ่กว่าขนาดตัว สามารถกระจายตำแหน่งของเครื่องตรีทั้งหลายหลุดลอยออกมาเป็นที่เป็นทางได้ดี มีช่องว่างช่องไฟที่พอเหมาะ และรองรับกับไดนามิกกว้าง ๆ ได้เกินตัวเลยทีเดียว เพราะผู้เขียนลองเร่งระดับความดังสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ตำแหน่งชิ้นคนตรีจะเริ่มมีอาการสับสนคลุมเครือบ้างแต่ก็ยังสามารถควบคุมเอาไว้ได้ดี ไม่มีอาการแกว่งของเสียงหรือสะบัดจัดจ้านแต่อย่างใด ยังตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีเอาไว้ได้นิ่ง แสดงว่าไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์ 4.5 นิ้วของ Scansonic ตัวนี้ก็คุณภาพไม่ธรรมดาเช่นเดียวกัน

        นอกจากนี้ด้วยบุคลิกของ M5 BTL ผู้เขียนจึงขอเอาไปทดลองชมคอนเสิร์ทและภาพยนตร์แบบสองแชนแนลดูสักหน่อย พบว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยรายละเอียดหยุมหยิมพรั่งพรูที่ถ่ายทอดออกมา เวทีเสียงที่กว้างรวมทั้งตัวเสียงที่หลุดลอยออกมาได้ดี มีความอิ่มใหญ่เกินตัวก็ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมได้มาก ท่านจะรับรู้ได้ว่าเสียงจากภาพยนตร์หรือคอนเสิร์ทที่รับชมรับฟังมีรายละเอียดน่าตื่นใจมากมายให้ค้นหาขึ้นอีกมากมาย คนที่หาลำโพงไปอัพเกรดเสียงจากทีวีนอกจากซาวด์บาร์แล้วหากคุณไม่ซีเรียสกับระบบเสียงเซอร์ราวด์เท่าไรนัก การใช้ M5 BTL มาเสริมก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

สรุป

ตลาดของลำโพงวางหิ้งแอ็คทีฟพร้อมบลูทูธในระดับราคาไม่เกินสองหมื่นมีตัวเลือกไม่มากนัก M5 BTL เข้ามาวางตำแหน่งในตลาดกลุ่มนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เมื่อได้ทดลองฟังคุณภาพเสียงแล้วยิ่งเพิ่มความคุ้มค่าเป็นทวีคูณ ด้วย Know-how ของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการฟังแบบลำลองสำหรับมิวสิคเลิฟเวอร์ทั่วไป หรือผู้ที่ซีเรียสจริงจังกับคุณภาพเสียงแบบออดิโอฟายด์ก็ถือว่าสอบผ่าน เล่นง่ายและตอบโจทย์การฟังได้หลากหลาย เสียงแหลมและทุ้มทำได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับดียวกัน แม้จะมีสีสีนเจืออยู่บ้างก็เป็นสีสันที่น่าฟังและเสริมความไพเราะได้อย่างลงตัว

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • แหล่งโปรแกรม: แด็คแอมป์พกพา Chord: Mojo, เน็ตเวิร์คโมดูล Poly, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, มือถือ Sony: Xperia Z3
  • สายเชื่อมต่อ: สายดิจิตอล QED Reference SR75, สาย USB Furutech: Formula 2, สายอนาล็อกAudio Quest: Big Sur, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, สายลำโพงAudioquest: Type 2
  • อุปกรณ์เสริม: ปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ USB Audio Quest: Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts

รายละเอียดเชิงเทคนิค

  • ขนาด: (WxHxD) 151 x 265 x 151 mm
  • น้ำหนัก: 5,4 kg
  • ตอบสนองความถี่: 55 Hz – 30 kHz
  • ความต้านทาน: > 6 ohm
  • ครอสโอเวอร์: 3.5 KHz 2. order acoustic slope
  • โครงสร้างตู้: Heavily braced, ventilated box design with front loaded port
  • ตัวขับเสียง: 1 sealed ribbon tweeter with kapton/aluminum sandwich membrane, 1 paper-polypropylene coned 4,5” bass/mid driver with underhung magnet system
  • ทำผิว: Black-piano or White-piano
  • ภาคขยาย: 50 W Class A-B
  • ภาครับสัญญาณขาเข้า: Wireless: 2.4GHz aptX, Optical: Toslink optical inputs, Wired: 2 RCA PCM inputs
  • รีโมทคอนโทรล: Learning function

ขอขอบคุณร้าน Audio Absolute โทร. 02-489-8954 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ