รีวิว Cambridge Audio EDGE A Integrated Amplifier

0

สุดขอบเทคโนโลยีจากแคมบริดจ์ ออดิโอ

DAWN NATHONG

การตลาดของแบรนด์เครื่องเสียงมักจะมีให้เห็นบ่อย ๆ อยู่สองลักษณะ อย่างแรกคือออกแบบเครื่องรุ่นที่ดีที่สุดแบบไม่มีข้อจำกัดในระดับไฮเอ็นด์ แล้วค่อยขยายไลน์สินค้าเป็นรุ่นรองลงมาให้กับนักเล่นในราคาที่จับต้องง่ายขึ้น อย่างหลังคือเริ่มจากกลุ่มสินค้าระดับเริ่มต้นถึงกลาง มีความคุ้มค่าต่อราคาสูง เมื่อความพร้อมถึงจึงขยายไลน์สินค้าขึ้นไปยังกลุ่มไฮเอ็นด์ภายหลัง

        สำหรับ Cambridge Audio แบรนด์เครื่องเสียงเก่าแก่จากประเทศอังกฤษ ที่มีประสบการณ์งานวิศวกรรมด้านเสียงมาเป็นเวลากว่า 50 ปี และสร้างชื่อมาจากเครื่องเสียงที่ให้ประสิทธิภาพต่อราคาสูงจนติดตลาดมาช้านานรวมทั้งในบ้านเรา จนช่วงปีที่แล้ว ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวไลน์สินค้าระดับไฮเอ็นด์อย่างอนุกรม EDGE ซีรียส์ ที่ใช้ทีมวิศวกร 9 คนกับเวลาออกแบบนานถึง 3 ปี ประกอบด้วย EDGE NQ ปรีแอมปลิฟายเออร์พร้อมเน็ตเวิร์คในตัว, EDGE W เพาเวอร์แอมปลิฟายเออร์ และ EDGE A อินทิเกรตแอมปลิฟายเออร์

        ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการขยายตลาดสินค้าจากกลุ่มระดับเริ่มต้นไปสู่ไฮเอ็นด์นั้น มีความท้าทายอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะในเรื่องของคุณภาพที่ต้องพิสูจน์ว่าเทียบชั้นหรือเหนือกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันที่มีอยู่มากมาย และภาพลักษณ์ของสินค้าที่ต้องดูโดดเด่นเพื่อสร้างภาพจำใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าอีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นมีอยู่ในตัวของ EDGE ซีรี่ยส์อย่างครบถ้วน รวมถึง EDGE A ที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ เพราะหลังจากเปิดตัวไม่นานก็ทยอยกวาดรางวัลจากหลายสำนักมามากมายทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา

รายละเอียดที่น่าสนใจ

CLASS XA AMPLIFICATION

อนุกรม EDGE ซีรียส์นั้นออกแบบไร้ซึ่งการประณีประนอม เรียกว่ามีอะไรดีก็ใส่มาให้หมด คีย์เทคโนโลยีสำคัญที่ทาง Cambridge Audio พัฒนาเพื่อนำมาใช้กับอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ อันดับแรกที่ต้องพูดถึงคือ Class XA Amplification ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก Class XD เดิมในรุ่น 851 ซีรียส์ เป็นการจัดวงจรขยายแบบใหม่ นำเอาข้อดีของคลาส A และ AB มารวมกัน

        ปกติแอมป์คลาส AB มักจะใช้ทรานซิสเตอร์สองตัวขยายสัญญาณแบบพุช-พูล (Push-Pull) แบ่งกันทำงานคนละครึ่งคลื่นบวก-ลบ และมีการป้อนกระแสไฟเลี้ยง (ไบอัส) ปริมาณน้อย ๆ ไหลผ่านทรานซิสเตอร์แม้ไม่มีสัญาณอินพุตเข้ามา ปัญหาคือ ณ รอยต่อรูปคลื่นสัญญาณซีกบวก-ลบบริเวณจุดตัดศูนย์ (Zero Crossing Point) จะสามารถได้ยินและวัดค่าความเพี้ยนได้

        เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับ EDGE ซีรียส์ ทางวิศวกรของ Cambridge Audio จึงเพิ่มการจัดกระแสไฟเลี้ยง (ไบอัส) การทำงานของทรานซิสเตอร์ทั้งสองตัวใหม่ เพื่อขยับจุดตัดสัญญาณไปยังที่หูมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้แทน เราจึงไม่ได้ยินถึงความเพี้ยนดังกล่าว วิธีนี้ทำให้แอมป์ขณะทำงานร้อนขึ้นกว่าคลาส AB ปกติบ้าง แต่ให้คุณภาพเสียงเข้าใกล้แอมป์คลาส A แท้ ๆ

TWIN TOROIDAL TRANSFORMERS

        Cambridge Audio นั้น เป็นบริษัทผลิตแอมป์ที่บุกเบิกการนำหม้อแปลงเทอรอยด์มาใช้กับโปรดัคท์ของตัวเองตั้งแต่ยุคแรก ๆ อย่าง P40 ในปี 1968 ดังนั้น จึงรู้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของการใช้หม้อแปลงเทอรอยด์เป็นอย่างดี

เห็นเป็นอินทิเกรตแอมป์แบบนี้ แต่น้ำหนักตัวเกือบ 25 กิโลกรัม เพราะภาคจ่ายไฟของ EDGE A ใช้เทคนิคการวางหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดเขื่องสองตัวแบบหันหลังชนกัน (Opposing Symmetry) เพื่อให้สนามแม่เหล็กภายในของหม้อแปลงทั้งสองหักล้างกันเอง ผลคือลดอาการฮัมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และถ่ายทอดรายละเอียดเสียงได้ชัดเจนในทุกระดับความดัง

HIGH-PERFORMANCE USB DAC

      นอกจากนี้ยังแยกหม้อแปลงเทอรอย์ลูกเล็กอีกหนึ่งตัวสำหรับวงจรดิจิทัลต่างหาก ภาคถอดรหัสใช้ชิป ESS Sabre เบอร์ ES9018K2M ที่รองรับการเล่นไฟล์เพลงไฮเรสความละเอียด PCM 32-bit / 384 kHz และ DSD 11.2 MHz (แบบ DoP) ผ่านช่อง USB 2.0 รองรับการเชื่อมต่อทุกรูปแบบ รวมถึงให้ช่อง HDMI แบบ Audio Return Channel (ARC) สำหรับเชื่อมต่อกับทีวีรุ่นใหม่ที่มีช่องนี้มาด้วย รองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายความละเอียด 24-bit / 48 kHz ผ่าน aptX HD บลูทูธ (มีเสามาให้) คุณภาพเสียงดีกว่าบลูทูธทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

หมายเหตุ สำหรับท่านที่เชื่อมต่อ EDGE A กับ PC ทางสาย USB ให้เข้าไปดาวน์โหลดไดร์เวอร์ USB Audio ตัวล่าสุด v4.47 ได้ที่ https://techsupport.cambridgeaudio.com/hc/en-us/sections/200295012-Cambridge-Audio-USB-Audio-2-0-Windows-driver

DC SERVO

        ออกแบบ PCB บอร์ดเอง แยกบอร์ดวงจรภาคขยายซ้ายขวาแบบดูอัลโมโน ภาคปรีแอมป์เน้นทางเดินสัญญาณที่สั้นและใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นมากที่สุด มีระบบ DC Servo ประสิทธิภาพสูงที่คอยตรวจสอบและหักล้างไฟดีซีจาก op-amp แทนการใช้คาปาซิเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงสีสันปนเปื้อนในน้ำเสียง ทำให้สัญญาณเอาท์พุตยังคงเหมือนต้นฉบับมากที่สุด ตามคอนเซ็ปการออกแบบของ Cambridge Audio

ELEGANT DESIGN

        ตัวเครื่องออกแบบมาในสไตล์เรียบง่ายแบบมินนิมอล ตัวถังอลูมิเนียมอโนไดซ์มีฮีตซิ้งค์ระบายความร้อนขนาดใหญ่ด้านข้าง ด้านบนปิดด้วยแผ่นอลูมิเนียมหนา ด้านหน้าเครื่องมีปุ่มสแตนด์บายอยู่ด้านซ้าย ด้านขวาเป็นช่องเสียงหูฟัง ตรงกลางจะมีปุ่มโวลุ่มคอนโทรลและซีเล็คเตอร์ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแบบ Dual-dial ปุ่มข้างหน้าจะเป็นโวลุ่มและปุ่มวงรอบนอกจะเป็นซีเล็คเตอร์ ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนกว่า 31 ชิ้น ใช้วัสดุเกรดสูงระดับอากาศยาน ให้ความรู้สึกเวลาใช้งานที่ดีเลยทีเดียว แถมมีเมมโมรี่จำตำแหน่งของโวลุ่มตอนใช้ช่องหูฟังโดยอัตโนมัติ แผงหน้ารอบปุ่มโวลุ่มจะระบุช่องอินพุตต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด 9 ช่องพร้อมไฟแอลอีดี น่าเสียดายที่รุ่นนี้ไม่มีหน้าจอแสดงผลเหมือนปรีแอมป์รุ่น EDGE NQ ถ้ามองในห้องที่แสงน้อยอาจสังเกตสัญลักษณ์ช่องอินพุตได้ยากสักหน่อย ต้องอาศัยการจำตำแหน่งของไฟแอลอีดี

        ผู้เขียนชอบแผงขั้วต่อด้านหลังเป็นพิเศษ นอกจากจะให้ช่องอินพุต เอาท์พุตมาอย่างเพียงพอ ทั้งแบบบาล้านซ์ XLR และอันบาล้านซ์ RCA แล้วยังใช้ขั้วต่อเกรดดีชุบทองทั้งหมดทุกช่องจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ช่องเสียบสายไฟเอซีหรือช่อง USB อินพุต (เครื่องไฮเอ็นด์หลายเครื่องยังไม่ชุบทองทุกช่องขนาดนี้) ขั้วต่อสายลำโพงมีขนาดใหญ่แข็งแรง ทนทานต่อการใช้งานสูงสมกับเป็นเครื่องระดับพรีเมี่ยม และยังมีฟังก์ชั่นสวิตช์ Auto Power Down (APD) ที่พร้อมจะปิดตัวเองเพื่อโหมดสแตนด์บายโดยอัตโนมัติให้ด้วย (สามารถเลือกปิด-เปิดฟังก์ชั่นนี้ได้) รีโมทที่แถมมาให้ก็มีความพรีเมี่ยมเช่นเดียวกัน เพราะใช้บอดี้อลูมิเนียมสกัดที่แข็งแรงมาก มีน้ำหนักพอสมควร

ผลการลองฟัง

ผู้เขียนทดสอบ EDGE A ด้วยการใช้งานสามลักษณะ หนึ่งคือเชื่อมต่อกับตัว Network Bridge ของ dCS และ PC เพื่อทดสอบภาค DAC ไปด้วยในตัว สองคือเชื่อมต่อสายอนาล็อคจากเครื่องเล่นซีดีเพื่อทดสอบภาคขยายในรูปแบบอินทิเกรตแอมป์โดยตรง และสุดท้ายใช้ภาคปรีเอาท์ของ EDGE A เชื่อมต่อไปยังเพาเวอร์แอมป์ภายนอกเพื่อเปรียบเทียบและสรุปผลอีกครั้ง

        น้ำเสียงของ EDGE A เป็นสไตล์แบบเครื่องเสียงอังกฤษโดยแท้ มีความกลมกลืนราบเรียบของย่านทุ้มกลางแหลม โดดเด่นด้วยความโปร่งใสไร้ม่านหมอกที่ทำให้ทะลุลงไปยังรายละเอียดของเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม เนื้อเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลา มีความต่อเนื่องลื่นไหลที่ถ่ายทอดมาให้สัมผัสได้ตลอดการรับฟัง จะเรียกว่าทั้งใสและหวานในคราเดียวกันก็ว่าได้

มีความเป็นลิเนียร์ในการขยายสัญญาณสูงมาก พิสูจน์ได้จากการฟังในระดับโวลุ่มเบา ๆ ไปจนถึงระดับโวลุ่มสูง ๆ น้ำเสียงและรายละเอียดจะแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเลย สิ่งที่เปลี่ยนไปมีเพียงระดับความกว้างของไดนามิกที่รับรู้ได้ชัดเจนขึ้นตามระดับของโวลุ่ม แถมไม่มีอาการอั้นตื้อหรือสะบัดจัดจ้านออกมาให้เห็นแม้แต่นิดเดียวตลอดการรับฟัง ไม่ว่าจะป้อนอะไรเข้าไป EDGE A ก็จะถ่ายทอดออกมาด้วยความสะอาดของน้ำเสียงและรายละเอียดที่ชัดเจนเป็นธรรมชาติเอามาก ๆ ท่านสามารถบิดโวลุ่มเพิ่มเพื่อเสพอรรถรสของดนตรีได้สูงเท่าที่ต้องการโดยไม่รู้สึกระคายหู

        กับบางเพลง แรกฟังก็รู้สึกว่าจะอ่อนน้ำหนักย่านทุ้มไปบ้างรึเปล่า แต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะกับเพลงที่มีย่านเสียงทุ้ม อินทิเกรตแอมป์เครื่องนี้ก็ถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำหนักทิ้งตัวที่หนักหน่วงและมีความฉับไวที่ยอดเยี่ยมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แสดงให้เห็นถึงการรักษาสมดุลเสียงที่ราบเรียบและเป็นกลางพอสมควรเลยทีเดียว อีกอย่างเพราะความสามารถในการแจกแจงรายละเอียดชั้นยอด ทำให้หูเราไปโฟกัสที่ย่านกลางแหลมมากเป็นพิเศษ เมื่อฟังกับหลากหลายแนวเพลงไปสักพักจนชินหูแล้วจะพบว่าย่านทุ้มก็มีรายละเอียดที่น่าทึ่งทัดเทียมกับย่านกลางแหลมไม่ต่างกัน

        ผู้เขียนรู้สึกเพลิดเพลินกับการฟังอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้มากเป็นพิเศษ เพราะความใสสะอาดราบเรียบและต่อเนื่องลื่นไหลของมัน ทำให้การฟังแต่ละเพลงที่ผ่านไปมีอรรถรส และมีอะไรออกมาให้สังเกตุและน่าติดตามอยู่ตลอด ด้วยกำลังขับ 100 วัตต์ต่อเนื่องที่ 8 โอห์มนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล เพราะ EDGE A สามารถเบิ้ลกำลังขับสองเท่าเป็น 200 วัตต์ต่อเนื่องที่ 4 โอห์มได้สบาย ๆ ขับลำโพงตู้ปิดความไวต่ำเพียง 85 ดีบีอย่าง NHT ให้มิติชิ้นดนตรีกระเด็นหลุดลอยออกไปรอบด้านกว่าชุดปรี-เพาเวอร์แอมป์ตัวเก่งของผู้เขียนเสียอีก แถมมีรายละเอียดที่ระยิบระยับมากกว่าที่เคยฟัง พอเปลี่ยนลำโพง ก็จะแสดงความโดดเด่นของลำโพงคู่นั้น ๆ ออกมาให้รับรู้อย่างชัดเจน

ทางผู้ผลิตให้นิยามเครื่องเสียงของตัวเองว่าไร้การปรุงแต่ง ให้เสียงที่ตรงตามต้นฉบับไม่บิดเบือน ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงเสียทีเดียว เพราะตลอดการรับฟัง EDGE A ก็ถ่ายทอดสีสันของดนตรีที่แตกต่างกันไปออกมาได้ชัดเจนดีมาก มีไดนามิกของเสียงที่ดี ไม่ว่าจะดุดันหรืออ่อนหวานนุ่มนวล เฉลี่ยน้ำหนักกันไปได้อย่างเท่าเทียม อันนี้ต้องขอชื่นชมฝีมือและหูของคนจูนเสียงด้วยส่วนหนึ่ง

        สิ่งที่ทำให้ EDGE A ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ครบชัดเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งมาจากแบ็คกราวด์น้อยที่เงียบและสงัดมากเป็นพิเศษ รวมถึงความแนบเนียนในการถ่ายทอดระดับเสียงจากเบาไปหาหนักได้อย่างราบรื่นไร้รอยขยัก ทั้งสองอย่างนี้ทำให้รายละเอียดแผ่วเบาที่สุดซึ่งถูกบันทึกมาก็จะไม่ตกหล่นและติดตามได้ตลอด พื้นหลังที่เงียบสนิทก็เหมือนความืดที่ขับเด่นให้ตัวเสียงลอยเด่นออกมาจากพื้นหลังเองอย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าดนตรีจะสลับซับซ้อนเพียงไร ถ้ามีการบันทึกมาได้ดีพอ ก็จะสามารถฟังแยกแยะชิ้นดนตรีที่ถูกมิกซ์ทับซ้อนกันในแต่ละเลเยอร์ออกมาได้อย่างเด็ดขาดจะแจ้ง

หรือกับอัลบั้มที่เป็นบันทึกการแสดงสด ก็จะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศแอมเบี้ยนที่เชื่อมโยงแต่ละชิ้นดนตรีเข้าหากันได้อย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเป็นไฟล์ระดับไฮเรสแต่เพียงอย่างเดียว กับไฟล์มาตรฐานซีดีเร้ดบุ๊คทั่วไปก็รับรู้ตรงนี้ได้เช่นเดียวกัน

        ไม่เสียแรงที่ใช้เทคโนโลยีวงจรขยาย Class XA นี่เป็นแอมป์ยุคใหม่ที่ให้ความต่อเนื่องลื่นไหลชนิดไร้รอยขยักตั้งแต่ย่านทุ้มไปจรดย่านสูง ใกล้เคียงการฟังแอมป์คลาส A แท้ ๆ มากทีเดียว ในทุกช่วงระดับความดังเสียด้วย ถามว่าจะให้ถึงขั้นเทียบชั้นแอมป์เพียวคลาส A ระดับพระกาฬไหมคงไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็โดดเด่นเป็นอันดับต้น ๆ ในเรตระดับราคานี้

ยกตัวอย่างเสียงกลางเช่นนักร้องหญิงมีความนุ่มนวลใสหวาน เสียงนักร้องชายมีความทุ้มนุ่มมีพลัง จับรายละเอียดทักษะการร้องได้ง่าย ยิ่งฟังพวกเครื่องสายแล้วมีทั้งความสดและลื่นไหลชวนติดตาม คนที่คุ้นกับแอมป์เสียงอิ่มหนาอาจจะไม่ถูกใจเมื่อแรกฟัง แต่หากฟังจนชินแล้วกลับไปฟังแอมป์ตัวเดิมจะรู้สึกเหมือนมีม่านหมอกบาง ๆ มาบดบังรายละเอียดจนขุ่นทึบ ย่านเสียงแหลมมีเสน่ห์มาก มีทั้งความกังวานพลิ้ว และควบแน่นกลมกลึง ทอดประกายหางเสียงเป็นระลอกและค่อย ๆ จางหายไปในเวลาที่เหมาะสม เก็บปลายเสียงได้ดีไม่ปล่อยให้ปลายแหลมฟุ้งจนเกินงาม ส่วนย่านทุ้มก็เช่นกันแม้จะไม่มากปริมาณ แต่อัดแน่นด้วยมวลเสียงที่กระชับแน่น ให้น้ำหนักทิ้งตัวได้ตามที่ควรจะเป็นและคุมจังหวะได้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเสียงทุ้มที่เน้นความต่อเนื่องหรือเน้นความหนักแน่น EDGE A ก็ควบคุมได้อยู่หมัดทั้งสองทาง ยิ่งฟังในระดับโวลุ่มที่สูงขึ้นคุณสมบัตินี้ก็ยิ่งชัดเจน

        มิติเวทีเสียงแผ่กว้างออกไปเอาเรื่องทีเดียวทั้งด้านกว้างและด้านลึก มีความโดดเด่นมากและมีอาณาเขตที่ชัดเจน ช่องว่างช่องไฟมีความโปร่งโล่งเป็นอิสระดีมาก ให้เลเยอร์ของชิ้นดนตรีที่ลดหลั่นกันไปได้ดี ไม่รู้สึกว่าชิ้นดนตรีเบียดเสียดกันจนอึดอัดเลย ตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีชัดเจนและนิ่ง แม้ชิ้นที่อยู่ซ้อนทับกันก็มีรายละเอียดไม่ฟุ้งหรือสับสน เวลาฟังอัลบั้มที่บันทึกมาแยกชิ้นดนตรีชัด ๆ หรือเล่นกับทิศทางของเสียงจะให้ความชัดเจนที่น่าตื่นเต้นมาก Cambridge Audio EDGE A ตัวนี้ น่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์ที่ให้เวทีเสียงโอ่อ่าอลังการที่สุดตัวหนึ่งที่ผู้เขียนเคยทดสอบมา

สรุป

เทคโนโลยีด้านเครื่องเสียงยังคงมีความก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ แม้ในปัจจุบันกระแสของโมดูลแอมป์คลาส D จะเป็นที่แพร่หลายกันมากขึ้นตั้งแต่ระดับกลุ่มเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับไฮเอ็นด์ แต่ Cambridge Audio ก็ยังเลือกที่จะนำเทคโนโลยีภาคขยายคลาสสิคอย่างคลาส AB มาพัฒนาต่อยอดและได้ผลลัพท์ที่น่าพึงพอใจ โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนที่หลาย ๆ แบรนด์ทำ  การทำแบบนี้ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า มันมีส่วนช่วยรักษาจิตวิญญาณของแบรนด์เครื่องเสียงเก่าแก่เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

        Cambridge Audio EDGE A เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่ตอบโจทย์ระหว่างประสิทธิภาพกำลังขับและความเพี้ยนที่ต่ำได้ดีมาก มีความป็นกลางไร้สีสันในอัตราส่วนค่อนข้างสูง เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นบริสุทธิ์นิยม มีรายละเอียดและความโปร่งใสสะอาดที่โดดเด่นผสานความต่อเนื่องลื่นไหล ชอบฟังเพลงหลากหลายหรือกระทั่งการชมภาพยนตร์จากลำโพงคู่เดียว รวมทั้งมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบถ้วนหลากหลาย อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้เป็นตัวเลือกเดียวที่ดูจะชัดเจนในแนวทางมากที่สุดในระดับราคาเดียวกัน

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • แหล่งโปรแกรม – PC + Roon, dCS Network Bridge, เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2
  • ภาคขยายอินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
  • ลำโพงลำโพงวางหิ้ง Totem Signature One, Canton Vento 836, KEF Q Compact
  • สายเชื่อมต่อสายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อก Taralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, Cardas: Crosslink 1s, Kimber: Powerkord, Audience AU 24 SX, สายลำโพง Furukawa FS-2T30F, PAD: Aqueous Aureus
  • อุปกรณ์เสริมปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, iFi Audio: iDefender 3.0, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, บานาน่าปลั๊ก Monster X-Terminator, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Art

รายละเอียดเชิงเทคนิค

Cambridge Audio EDGE A

  • CONTINUOUS POWER OUTPUT 100W RMS into 8 Ohms; 200W RMS into 4 Ohms
  • THD (UNWEIGHTED) <0.002% 1kHz at rated power (8 Ohms); <0.02% 20Hz – 20kHz at rated power (8 Ohms)
  • FREQUENCY RESPONSE <3Hz – >80kHz +/-1dB
  • S/N RATIO (REF FULL POWER) >103 dB
  • CROSSTALK @ 1KHZ < -100dB
  • INPUT SENSITIVITY Input A1-A2 (unbalanced) 380mV RMS
  • INPUT IMPEDANCES Input A3 (balanced) 47k Ohm; Input A1-A2 (unbalanced) 47k Ohm
  • INPUTS Balanced, Coax S/PDIF, TOSLINK, USB Audio, Unbalanced, Bluetooth, Audio Return Channel (ARC)
  • OUTPUTS Speakers, Preamplifier, Headphones (impedance of between 12 and 600 ohms are recommended)
  • USB AUDIO INPUT USB Audio Class 2.0 supporting up to 32-bit 384kHz PCM, or up to DSD256
  • BLUETOOTH 4.1 (Smart/BLE enabled) A2DP/AVRCP supporting formats up to aptX HD
  • TOSLINK INPUT 16/24 bits, 32-96kHz
  • COAX S/PDIF INPUT 16/24 bits, 32-192kHz
  • MAX POWER CONSUMPTION 1000W
  • STANDBY POWER CONSUMPTION <0.5W
  • DIMENSIONS 150 x 460 x 405mm (5.9 x 18.1 x 15.9″)
  • WEIGHT 24.4kg (53.7lbs)
  • IN THE BOX Edge A Integrated Amplifier; 1.5M Power Lead; Edge Remote Control; 3 x AAA Batteries; Bluetooth Antenna; Edge Link Cable; Edge A User Manual

ขอขอบคุณบริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้