พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์
เห็นแล้วทุกคนก็คงคิดว่า หมอเอกบ้าหรือเปล่าจะมีใครซื้อเครื่อง External Video Processor ในระดับราคาห้าแสนเพื่อมาต่อกับโปรเจคเตอร์ที่มีราคาหกหมื่นบาท มันจะคุ้มเหรอ เอาเงินค่า processor ลงทุนไปกับเครื่องโปรเจคเตอร์ในระดับ High End ทีเดียวน่าจะดีกว่าไหม?
นั่นแหละครับผมก็คิดเหมือนกันว่ามันจะมีใครเขาทำอย่างนี้กัน แต่ปรากฏว่าผมพบหลายคนที่ inbox เข้ามาถามผมว่าเครื่อง Video Processor ใหม่ๆเหล่านี้เอามาต่อกับโปรเจคเตอร์ตัวเก่าที่ใช้อยู่จะได้ไหม พอดีตอนนี้ยังไม่อยากเปลี่ยนโปรเจคเตอร์ใหม่ อาจจะด้วยกำลังรอรุ่นใหม่ที่กำลังจะออก หรือก็ยังชอบภาพของโปรเจคเตอร์ตัวเดิมอยู่ หรือภรรยายังไม่อนุมัติ (ฮา) แต่ก็ยังอยากจะซื้อเจ้าตัว video processor มาลองเล่นก่อนเพื่อรอโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ และอีกหลายๆเหตุผลก็ว่ากันไป
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผมได้รับคำถามทำนองนี้มาเยอะเลย และด้วยตัวผมเองก็อยากรู้ด้วยว่าการทำแบบนี้จะทำให้ภาพที่ออกมาดีขึ้นมากไหม หรือภาพที่ออกมาก็จะถูกจำกัดด้วยประสิทธิภาพของเครื่องทำให้ภาพที่ได้ไม่ต่างจากเดิมเท่าไร ไม่คุ้มที่จะทำการเพิ่มตัว Video Processor เข้าไป ใครสงสัยเหมือนผม วันนี้ลองติดตามอ่านผลการทดสอบได้เลย
โปรเจคเตอร์ที่จะร่วมใช้ทดสอบในครั้งนี้เป็นของ BenQ รุ่น W5700 ราคาอยู่ที่ประมาณ 69,000 บาทซึ่งถือว่าเป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้ประสิทธิภาพคุ้มค่ามาก และผมเคยได้ทดสอบละเอียดไว้แล้วเมื่อตอนต้นปี ใครสนใจรายละเอียดต่างๆของโปรเจคเตอร์ตัวนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความตาม link นี้ได้เลยครับ
โดยตัวที่ใช้ทดสอบนี้ไม่ใช่โปรเจคเตอร์ตัวใหม่ แต่เป็นตัวที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 600 ชั่วโมง การใช้งานต่างๆก็เป็นปกติดี
แน่นอน External Video Processor ตัวที่เอามาทดสอบก็เป็น MadVR Envy Extreme ตัวใหม่กำลังร้อนแรง ที่มีประสิทธิภาพการทำงานด้านประมวลผลภาพแบบสุดจัด(ปลัดเคยบอก) ใครสนใจข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของ Video Processor ตัวนี้ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความ Review ตามนี้ครับ
อุปกรณ์ใช้ในการวัดก็ใช้ชุดเดิมได้แก่ Meter ทดสอบมีสองตั วKlein K10 (Colorimeter) และ JETI Spectraval1511 (Spectroradiometer) ,Pattern Generator ของ Murideo Six-G, จอภาพใช้จอของ Stewart รุ่น FireHawk G5
เมื่อทำการต่อสายต่างๆก็ทำการ Full Calibrationโดยทำการปรับค่าพื้นฐานต่างๆที่ BenQ W5700 ก่อน แล้วค่อยทำ 3D LUT ใน MadVR อีกที จากกราฟแสดงการปรับค่าพื้นฐานต่างๆก่อนการทำ 3D LUT จะเห็นว่าค่าต่างๆก็มีความใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานดีอยู่แล้ว ทำให้ตอนแรกก็คิดในใจอยู่ว่าการทำ 3D LUTก็อาจจะไม่ส่งผลมากเท่าไหร่แต่เดี๋ยวลองตามดูผลอีกที
ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าค่า Gamma ที่ใช้ตอนนี้จะเป็น 2.2 ซึ่งทาง MadVR แนะนำว่าค่าเริ่มต้นของการทำ LUT สำหรับเครื่อง MadVR ต้องตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ 2.2 เพราะค่าที่ใช้ในการคิดคำนวณของ MadVR นั้นจะใช้ค่า Gamma 2.2 เป็นตัวคำนวณ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่ตั้งค่า Gammaไว้ที่ 2.4, 2.6 หรือ BT.1886 อย่างที่นิยมกัน ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วไม่ต้องเป็นห่วงเพราะค่าความสว่างของภาพที่ออกมาก็จะพอดีตามที่ MadVR คำนวณไว้และสามารถปรับเปลี่ยนความสว่างความมืดเพิ่มเติมได้อีก
ส่วนข้อแนะนำอีกเรื่องก็คือการตั้งค่า colorspace เพื่อทำการทำ LUT 3D นั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้กว้างที่สุด ให้ทำเฉพาะที่แน่ใจจริงๆว่าจอภาพไปถึง จากประสบการณ์ที่เคยทำมาถ้า colorspace ของจอไปไม่ถึง DCI P-3 หรือได้แค่ใกล้เคียง แล้วเราไป Set ให้โปรแกรม Calman ทำไปกว้างถึงระดับ DCI-P3 สิ่งที่จะเจอก็คือการเกิด posterization หรือการคั่งของสีบริเวณขอบของ gamut ทำให้เราเห็นสีเป็นปื้นๆหรือเป็น banding ของสีใดสีหนึ่งในส่วนที่เข้มที่สุดของสีนั้นๆ
โดยในเครื่องของ BenQ W5700 ผมก็ทำ LUT ไว้ที่ Rec.709 โดยเลือกเมนูภาพเป็น Cinema(Rec.709) แต่ไม่ใช่เพราะว่าเครื่องไม่สามารถทำ DCI-P3 ได้นะครับ ตามที่เคยวัดได้ในโหมดภาพ D. Cinema นั้นเครื่อง BenQ W5700 สามารถทำ DCI-P3 ได้ แต่เวลาทำให้เครื่องสามารถรองรับสีที่ DCI-P3 นั้นเครื่องต้องมีการใส่ filter ทำให้ความสว่างของเครื่องลดลงจากเดิม
ซึ่งอย่างที่ผมเคยพูดอยู่ประจำว่าการทำ Tone Mapping ของภาพ 4K HDR นั้น ความมืดความสว่างของภาพมีความสำคัญกว่าค่าความถูกต้องและความกว้างของสี ดังนั้นในการ Calibration ครั้งนี้ผมจึงให้เครื่อง MadVR ทำ 3D LUT ไว้ที่ Rec.709 เพื่อคงค่าความสว่างของโปรเจคเตอร์ไว้ ส่วนสีที่เกินค่า Rec.709 ตัวเครื่อง MadVR ก็จำทำการคำนวณและนำไปไว้ในส่วนที่เหมาะสมตาม Colorspace ของโปรเจคเตอร์เองอัตโนมัติ
หรือถ้าใครอยากทำแล้วลองเปรียบเทียบผลของ Colorspace แบบต่างๆก็ทำได้ไม่ยากเพราะ MadVR สามารถ Save การตั้งค่าของเครื่องได้มากมายหลายสิบค่า แถมเจ๋งกว่าโดยการ save ข้อมูลการตั้งค่าไว้ที่ cloud ไม่ได้เก็บอยู่ในเครื่องจึงไม่ต้องกังวลว่าถ้าเครื่องเสียแล้วค่าต่างๆที่ตั้งไว้จะหายไปกับเครื่อง
ทำการ Calibrate 3D LUT โดยใช้โปรแกรม Calman Video Pro
เมื่อทำการ Calibration เสร็จเรียบร้อยสิ่งแรกที่ผมขอเปิดดูคือในเรื่องของ Tone Mapping เนื่องจากว่าเครื่องที่ใช้การ Tone Mapping แบบ Static Tone Mapping จะมีการตั้งค่าความสว่างของภาพไว้ตั้งแต่ต้นและจะใช้ค่านี้ไปตลอดทุกฉากในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆหรือไฟล์วิดีโอนั้นๆ
ทำให้ไม่ว่าสถานการณ์ความมืดความสว่างของภาพเป็นอย่างไร Tone Mapping ก็ยังจะเป็นอันเดิมเป็น curve เดิมอยู่ เช่นตัวอย่างภาพคนกระโดดบนบอร์ดที่ผมนำมาให้ดูจะเห็นได้ว่าเมื่อพยายามปรับให้ภาพที่ออกมาในฉากใดฉากหนึ่งแสดงในส่วนมืดได้พอดีก็จะทำให้บริเวณของของสีที่ตัดกันมีสีเพี้ยนแต่ถ้าพยายามปรับให้มืดมากขึ้นเพื่อลดความเพี้ยนก็จะทำให้ฉากที่อื่นๆของเรื่องมีความมืดมากเกินไป
อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ Dynamic Tone Mapping ของ MadVR คำนวณภาพ HDR ในโปรเจคเตอร์ BenQ ที่ตั้งค่าไว้เป็น SDR Gamma 2.2 ก็จะพบว่ามีการคำนวณความมืดความสว่าง และความกว้างของ colorspace ภาพในทุกฉากแบบ frame by frame ทำให้ artifact ที่มักจะพบในเครื่องที่ใช้ Static tone mapping มีความถูกต้อง ภาพที่ออกมาจึงไม่พบ artifact แบบนี้ และในฉากอื่นของวิดีโอก็มีความสว่างที่ดีอยู่ทั้งเรื่อง
ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือความสว่างโดยรวมของภาพ เพราะเมื่อผมได้ลองเปรียบเทียบภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ BenQ W5700 ที่มีความสว่างของ Spec แจ้งไว้ที่ 1800Lumens กับเครื่องโปรเจคเตอร์รุ่นเก่ากว่าคือ BenQ 11000H ที่มีความสว่างของ Spec ที่ 2200Lumens พบว่าโทนของภาพ HDR จากเครื่อง BenQ W5700+MadVR มีความสว่างสดใสของภาพมากกว่าBenQ 11000H อย่างเดียว
สำหรับในฉากที่มีความต่างของแสงมากการใช้ Dynamic Tone Mapping (DTM) ทำให้ส่วนที่สว่างมากๆหรือ nits ของภาพสูงๆถูกดึงลงมาให้สามารถแสดงรายละเอียดในส่วนนั้นได้ในขณะที่รายละเอียดในส่วนมืดของภาพก็ถูกแสดงออกมาโดยที่ยังมีความดำของภาพอยู่ ลักษณะคล้ายๆเพิ่ม contrast ของภาพทั้งๆที่ความสว่างสูงสุดกับความมืดต่ำสุดของภาพยังอยู่เท่าเดิม อันนี้เป็นข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนอีกข้อหนึ่งของการใช้ DTM
รายละเอียดของภาพที่ออกมาทำได้ดีทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง โดยที่ไม่พบ Artifact ของภาพเช่นพวก Halo Effects เมื่อเร่ง sharpness ของภาพสูงเกินไป
Tone สีของภาพก็ทำได้ดีเนื่องจากว่าในตัวของโปรเจคเตอร์ BenQ W5700 ทำได้ดีอยู่แล้ว การทำ 3D LUT ไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้มากนัก แต่จะไปปรับปรุงในส่วนของมิติของภาพ ความตื้นลึกของภาพ เนื่องจากมีการปรับปรุงในส่วนของ EOTF หรือ GAMMA Curve จาก HDR เป็น SDR in HDR container มากกว่า
สรุป
สำหรับผมถ้ามีคนถามว่าการใช้ External Video Processor จะทำให้ภาพดีขึ้นไหมถ้าโปรเจคเตอร์ไม่ได้เป็นรุ่นที่อยู่ในระดับ Hi End ผมตอบตรงนี้ได้เลยว่าทำให้ภาพดีขึ้นแน่นอนถ้ามีการ Calibration ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาพ HDR ที่จะทำให้ความมืดความสว่างของภาพมีความเหมาะสมกับความมืดความสว่างของโปรเจคเตอร์ตัวที่ใช้อยู่ ทำให้โปรเจคเตอร์ตัวเก่าหรือรุ่นเดิมที่มีความสว่างไม่มากให้ภาพ 4K HDR ที่ดูสว่างสดใสสวยงามมากขึ้น (รีวิวในต่างประเทศถึงกับบอกว่าเหมือนได้โปรเจคเตอร์ใหม่) รวมถึงจะได้ประโยชน์ในแง่ปรับค่าสี ปรับความคมชัดของภาพ ความลื่นไหลของภาพได้มากขึ้นโดยลด artifacts หรือความผิดปกติไม่ว่าจะเป็น noise, banding ฯลฯ ของภาพลง
แต่การการเพิ่ม External Video Processor ไม่ได้ถึงขนาดทำให้โปรเจคเตอร์ตัวนั้นมีภาพที่ดีกว่าสวยกว่าภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์ Hi End เนื่องจากพื้นฐานต่างๆของโปรเจคเตอร์ในระดับ Hi Endไม่ว่าจะเป็นเลนส์ อุปกรณ์ในระดับคัดเกรดต่างๆก็ยังมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าโปรเจคเตอร์ในระดับเริ่มต้นอยู่แล้ว แต่การเพิ่ม Video Processor เหมือนกับการรีดประสิทธิภาพของโปรเจคเตอร์เครื่องนั้นๆให้ได้ภาพออกมาในระดับขีดสุดของเครื่องที่จะทำได้มากกว่า
สำหรับความคุ้มค่าหรือความสมเหตุสมผลนั้นพูดได้ยากก็คงแล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละคน บางคนอาจจะมีรสนิยมที่ได้โมเครื่องแล้วมีความสนุก เพราะอยากรู้ว่าเครื่องเสียงหรือแม้แต่อุปกรณ์ต่างๆว่าประสิทธิภาพจะไปได้ไกลขนาดไหนโดยไม่คำนึงถึงราคาของสิ่งที่ใส่เข้าไปว่าแพงกว่าตัวเครื่องหลักหลายเท่าก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นความมันอีกอย่างที่เราจะพบได้บ่อยในวงการรถยนต์ครับ