ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (4)

0

ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (4)

อ. ธนากร (ชูเกียรติ) จันทรานี

 

 image001

เนื้อหา

  1. การตอบสนองความถี่กับโทนัลบาลานซ์
  2. วิธีฟังประเมินโทนัลบาลานซ์
  3. ความไวหูกับเสียงเครื่องดนตรี
  4. ช่วงไดนามิกเสียงที่ฟังได้
  5. ระดับความดังที่ฟังไม่มีความสุข
  6. เสียงรบกวนกับการฟังเพลง

 

  1. การตอบสนองความถี่กับโทนัลบาลานซ์

          เชื่อว่านักเล่นเครื่องเสียงทั้งมือเก่าและมือใหม่ส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินคำว่าการตอบสนองความถี่ (Frequency Response) กับโทนัลบาลานซ์ (Tonal Balance) ความจริงแล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายเหมือนกันแต่วิธีใช้ต่างกัน การตอบสนองความถี่ใช้บ่งบอกคุณสมบัติของเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานกับสัญญาณช่วงแถบความกว้างว่าสามารถทำงานได้ดีตั้งแต่ค่าความถี่เท่าใดถึงค่าความถี่เท่าใด ตัวอย่าง เช่น สเปคของแผ่นซีดีเพลงระบุค่าการตอบสนองความถี่ไว้ที่ 20 Hz-20 kHz ที่หมายความว่าสามารถบันทึกเสียงเครื่องดนตรีทุกชนิดได้ครอบคลุมความถี่ทุกตัวโน้ต (ถ้ากระบวนการผลิตแผ่นได้มาตรฐาน) เมื่อนำแผ่นมาเล่นคุณภาพเสียงที่ได้จะขึ้นอยู่คุณสมบัติการตอบสนองความถี่ของเครื่องเล่นซีดีที่แสดงไว้ในสเปค (ถ้าผู้ผลิตไม่ใช้ลูกเล่นแสดงสเปคการตอบสนองความถี่ของแผ่นแทนค่าที่วัดได้จริงจากเครื่องซึ่งเจอบ่อยมากในเครื่องระดับล่าง) ขอยกตัวอย่างสเปคเครื่องเล่นที่แสดงค่าการตอบสนองความถี่แบบตรงไปตรงมาให้ดูสามกรณี สมมุติว่าสเปคเครื่องเล่น A ระบุ 60 Hz-20 kHz เครื่องเล่น B ระบุ 20 Hz-12 kHz และเครื่อง C ระบุ 20 Hz-20 kHz สามารถประเมินคุณภาพเสียงขั้นต้นจากสเปคได้ว่า

  1. เครื่องเล่น A ได้ยินเสียงตัวโน้ตเสียงทุ้มกลางของดับเบิ้ลเบสหรือคิ๊คดรัมเบามาก ขาดแรงปะทะและ เสียงเบสลงได้ไม่ลึก แต่ตัวโน้ตเสียง แหลมได้ยินโดดเดนชัดเจน สดใสเป็นประกาย เสียง เมื่อทดสอบพบเครื่องที่มีคุณสมบัติ เช่น นี้ผู้เขียนมักเรียกว่า เบสบาง, เบสขาดน้ำหนัก หรือขาดแรงปะทะ, เสียงเบสลงได้ไม่ลึก
  2. เครื่องเล่น B ได้ยินเสียงตัวโน้ตเสียงทุ้มกลางของดับเบิ้ลเบสหรือคิ๊คดรัมโดดเด่นชัดเจน มีพลัง เสียงเบสลงได้ลึก แต่ตัวโน้ตเสียงแหลมได้ยินเบามาก ขาดความสดใสกังวาน ไม่ได้ยินตัวโน้ตเสียงแหลมที่สร้างออกมาด้วยระดับความดังต่ำ เสียง เมื่อทดสอบพบเครื่องที่มีคุณสมบัติ เช่น นี้ผู้เขียนมักเรียกว่า เสียงขาดความสดใสมีชีวิตชีวา , ขาดรายละเอียด, ปลายเสียงแหลมขาดความสดใสเป็นประกาย หรือปลายตัวโน้ตเสียงแหลมเก็บตัวเร็ว
  3. เครื่องเล่น C ได้ยินเสียงตัวโน้ตทุกความถี่โดดเด่นชัดเจนที่ทุกระดับความดังเสียง เมื่อทดสอบพบเครื่องที่มีคุณสมบัติ เช่น นี้ผู้เขียนมักเรียกว่า ได้การตอบสนองครอบคลุมเต็มแถบความถี่เสียง หรือได้โทนัลบาลานซ์ดี
  4. ค่าการตอบสนองความถี่ที่ระบุไว้ตามมาตรฐานกำหนดไว้ว่าแต่ละความถี่ที่อยู่ในแถบความถี่ที่ระบุสามารถเปลี่ยนแปลงขนาดสูงหรือต่ำกว่ากันได้ไม่เกิน +/- 3 dB ยกเว้นเมื่อมีการแสดงระดับการเปลี่ยนแปลงระบุไว้ซึ่งมักเป็นในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดได้ในระดับที่น้อยกว่า 3 dB ซึ่งหมายความว่ามีอุปกรณ์มีความเที่ยงตรงสูงกว่ามาตรฐาน ดังตัวอย่างสเปคลำโพง Thiel CS7 ที่แสดงไว้ในรูปที่ 1 ที่ใจดีแสดงให้เห็นไว้ถึงสองค่าด้วยกันได้แก่ ค่าความกว้างแถบความถี่ตอบสนอง (Bandwidth) เมื่อปลายแถบความถี่ด้านสูงต่ำลดลงถึงระดับ -3 dB มีค่าอยู่ที่ระหว่าง 23 Hz-18 kHz (ความถี่ที่สูงหรือต่ำกว่านี้จะลดลงต่ำกว่า -3 dB) และค่าตอบสนองขนาด Amplitude Response ที่เปลี่ยนแปลงระหว่าง +/- 1.5 dB มีแถบความถี่แคบลงมาอยู่ที่ระหว่าง 25 Hz-17 kHz

 

image003

รูปที่ 1 ตัวอย่างสเปคแสดงกราฟและค่าการตอบสนองความถี่ของลำโพง Thiel รุ่น CS7

 

ความหมายของ โทนัลบาลานซ์ คือ “ความสามารถในการสร้างเสียงตัวโน้ตจากเครื่องดนตรีทุกชนิดได้โดดเด่นชัดเจนมีระดับความดังถูกต้องตรงตามที่บันทึกไว้ในสื่อโดยไม่ลดหรือเพิ่มความดังให้แตกต่างไปจากเดิม” ไม่ได้หมายความว่าเสียงตัวโน้ตทุกตัวที่สร้างออกมาในตอนนั้นต้องดังเท่ากันนะครับ แต่เป็นการสร้างเสียงตัวโน้ตที่สร้างท่วงทำนองด้วยการเปลี่ยนแปลงระดับความดังสูงต่ำมากน้อยแตกต่างกันแต่ละโทนเสียงออกมาได้ถูกต้องตรงตามที่ผู้ประพันธ์ท่วงทำนองเพลงกำหนดไว้ในแผนผังแสดงตัวโน้ตของแต่ละเพลงครับผม

เมื่อเราเล่นแผ่นซีดีเพลงด้วยเครื่องเล่นซีดีทั้งสามเครื่องดังที่ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้นเพื่อประเมินคุณภาพเสียงด้านโทนัลบาลานซ์โดยฟังผ่านหูฟังคุณภาพสูงเสียบจากจุดเสียบหูฟังที่เครื่องเล่นโดยตรง (เพื่อตัดปัญหาที่เกิดจากสายเสียงอะนาลอก, แอมป์, ลำโพงและสภาวะเสียงห้องฟังออกไป) แล้วเราได้ยินเสียง เช่น ที่กล่าวไปแล้ว แสดงว่า ปัญหาด้านเสียงของเครื่อง A และ B ก็คือโทนัลบาลานซ์ไม่ดี โดยเครื่อง A ที่ได้ยินเสียงตัวโน้ตทุ้มกลางของดับเบิ้ลเบสหรือคิ๊คดรัมเบามาก แสดงให้เห็นว่าการตอบสนองตรงปลายแถบความถี่เสียงด้านต่ำของเครื่องเล่นทำได้ไม่ดี ส่วนเครื่องเล่น B ที่ได้ยินเสียงตัวโน้ต เสียงแหลม เบามาก ขาดความสดใสกังวานแสดงว่าการตอบสนองตรงปลายแถบความถี่เสียงด้านสูงของเครื่องเล่นทำได้ไม่ดี และเครื่องเล่น C ที่ได้ยินเสียงตัวโน้ตทุกความถี่ดังโดดเด่นชัดเจนที่ทุกระดับความดัง แสดงว่ามีการตอบสนองความถี่ได้ครอบคลุมเต็มแถบความถี่เสียง

 

  1. วิธีฟังประเมินโทนัลบาลานซ์

หลังจากประเมินคุณสมบัติการตอบสนองความถี่ของเครื่องอุปกรณ์ระบบเสียงขั้นต้นด้วยการดูค่าการตอบสนองความถี่ (Frequency Response) ที่ระบุไว้ในสเปคแล้วขั้นต่อไปประเมินคุณสมบัติด้านนี้ด้วยการฟังความสมดุลระดับความดังทุกโทนเสียงหรือโทนัลบาลานซ์เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านการตอบสนองความถี่ของเครื่องอุปกรณ์ขณะใช้งานจริงว่าสามารถสร้างเสียงตัวโน้ตออกมาให้ได้ยินดังชัดเจนทุกความถี่หรือไม่? โดยฟังเปรียบเทียบระดับความดังโดดเด่นชัดเจนเสียงของเสียงตัวโน้ตที่สร้างจากเครื่องดนตรีชนิดสร้างโทนเสียงต่ำหรือเสียงทุ้มได้มากๆ เช่น ออแกนท่อ, เบสดรัม (คิ๊คดรัม) หรือดับเบิ้ลเบส เครื่องดนตรีที่สร้างโทนเสียงกลางหรือขณะเล่นตัวโน้ตโทนเสียงกลาง เช่น กลองสแนร์, เสียงร้องชาย, หรือเสียงร้องหญิง และเครื่องดนตรีที่สร้างโทนเสียงสูงที่มีค่าฮาร์โมนิกและโอเวอร์โทนสูงๆ เช่น ทรัมเป็ต, ฉาบและไทรแองเกิ้ลเป็นต้น ปกติแล้วเวลาผู้เขียนประเมินคุณสมบัติเสียงด้านโทนัลบาลานซ์ของอุปกรณ์ที่ทดสอบมักใช้เพลงแจ๊สที่มีเสียงร้อง ยิ่งถ้าเป็นการร้องคู่ระหว่างหญิงชายและมีการขับร้องเสียงประสานด้วยก็จะยิ่งดีเพราะสร้างเสียงได้ครอบคลุมเต็มแถบความถี่เสียงกลาง ถ้าไม่มีเสียงร้องก็ใช้วิธีฟังเสียงกลองสแนร์ขณะสร้างเสียงตัวโน้ตเสียงกลางแทน

ขอยกตัวอย่าง เพลง Take Five ในอัลบั้ม Jazz at the Pawnshop ของ Prophone Records ประเทศสวีเดนที่ FIM นำมาสเตอร์มาผลิตเป็นแผ่นเอสเอซีดีวางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 2001 ฟังเสียงโซโล่เปียโนต้องได้ยินเสียงเปียโนดังโดดเด่น สดในกังวานที่ระดับความดังใกล้เคียงหรือดังกว่าดับเบิ้ลเบสที่ให้จังหวะอยู่เล็กน้อย เสียงเอฟเฟกต์ไม้กลองเคาะฉาบหรือกลองสแนร์เบาๆ และเสียงคิ๊กดรัมที่สร้างออกมาเสริมในตอนนั้นต้องเบาแต่ชัดเจนไม่ดังโดดเด่นจนดึงดูดความสนใจไปจากเสียงเปียโน และขณะโซโล่กลองชุดจะได้ยินเสียงดังโดดเด่นขึ้นมาเฉพาะอุปกรณ์ในชุดที่ถูกตีเน้นสร้างเสียงขึ้นมาในตอนนั้นเท่านั้น มีเพียงเสียงแซกโซโฟน และเปียโนที่ผู้ประพันธ์เพลงต้องการเน้นให้สร้างเสียงดังโดดเด่นออกมาแจมเป็นบางช่วงเท่านั้นที่ได้ยินดังแรงขึ้นมาบางครั้ง

 

  1. ความไวหูกับเสียงเครื่องดนตรี

 image005

 รูปที่ 2 รูปกราฟแสดงความไวหูมนุษย์ต่อเสียงความถี่ต่างๆ

 

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าหูของคนเรามีความไวต่อการได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แม้หูเราสามารถได้ยินเสียงครอบคลุมช่วงความถี่ได้กว้างถึง 10 ออคเตฟ ระหว่าง 20 เฮิรตซ์ (20 Hz) ถึง 20, 000 เฮิรตซ์ (20 kHz) ก็ตาม ระบบได้ยินเสียงของมนุษย์ (ทฤษฎีอีกและ!!!) มีความไวต่อการได้ยินเสียงความถี่ต่างๆ ได้ไม่เท่ากัน และความสามารถในการได้ยินเสียงความถี่สูงจะลดทอนลงไปตามอายุขัยที่ร่วงโรยไป โดยมีความไวสูงสุดที่ช่วงความถี่แคบเพียง 2 ออคเตฟ ระหว่างค่าความถี่ 1, 000 เฮิรตซ์ ถึง 4, 000 เฮิรตซ์ (1 kHz-4 kHz) เท่านั้น ที่เป็น เช่น นี้เพราะคุณสมบัติความถี่กำธรของใบหู, รูหูและคุณสมบัติการถ่ายโอนเสียงของอวัยวะที่อยู่ในหูส่วนกลาง เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีคุณสมบัติสร้างโทนเสียงได้ช่วงความถี่จำกัดอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของแถบความถี่ที่หูได้ยิน บางชิ้นสร้างโทนเสียงครอบคลุมเพียงช่วงโทนเสียงทุ้ม, โทนเสียงกลาง หรือ โทนเสียงแหลม บางชิ้นสามารถสร้างโทนเสียงได้กว้างกว่าครอบคลุมจากช่วงเสียงทุ้มถึงเสียงกลาง, ช่วงเสียงกลางถึงเสียงแหลม และบางชิ้นสร้างได้ครอบคลุมได้ทั้งช่วงเสียงทุ้ม กลาง แหลม ซึ่งหมายความว่าถ้าเครื่องดนตรีชิ้นใดสร้างเสียงตัวโน้ตที่มีโทนเสียงอยู่ในช่วงความถี่ระหว่าง 1 kHz-4 kHz แม้มีระดับความดังเสียงไม่มากนักระบบการได้ยินเสียงของเราก็สามารถได้ยินเสียงตัวโน้ตนั้นชัดเจน ขอยกตัวอย่างเสียงของเครื่องดนตรีบางชิ้น เอาเป็นกลองชุดก็แล้วกันเพราะมีเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่สร้างเสียงแบ่งแยกช่วงความถี่ได้ชัดเจน เช่น เบสดรัมหรือคิ๊คดรัมสร้างโทนเสียงระหว่างปลายแถบเสียงทุ้มช่วงกลางด้านต่ำ ถึงต้นแถบเสียงกลางช่วงกลาง (50 Hz – 400) , กลองสแนร์ สร้างโทนเสียงครอบคลุมแถบเสียงทุ้มช่วงบนและเสียงกลาง ไปถึงกลางแถบเสียงแหลมช่วงกลาง (80 Hz – 4 kHz) และฉาบสร้างโทนเสียงตั้งแต่ปลายแถบเสียงทุ้มช่วงบนครอบคลุมเต็มแถบเสียงกลาง ไปถึงเสียงแหลมช่วงบน (100 Hz – 10 kHz) ขณะมือกลองใช้ไม้กลองเคาะผิวหน้ากลองสแนร์เบาๆ สมมุติว่าสร้างโทนเสียงกลางช่วงบนของตัวโน้ต C6 ค่าความถี่ 1046.5 เฮิรตซ์ ที่ระดับแรงอัดเสียง 0 ดีบี (ค่าแรงอัดเสียง 0.00002 ปาสคาล) ที่เป็นจุดเริ่มได้ยินเสียงกลองสแนร์ระดับเบาสุด ถ้าต้องการใช้คิ๊คดรัมสร้างโทนเสียงทุ้มกลางของตัวโน้ต C2 ซึ่งมีค่าความถี่ 65.406 เฮิรตซ์ ให้ได้ยิน มือกลองต้องใช้เท้าเหยียบกระเดื่องให้สร้างแรงอัดเสียงที่มีค่าสูงขึ้นเป็น 0.004 ปาสคาล ซึ่งสูงกว่าที่สร้างโดยกลองสแนร์ 200 เท่า หรือที่ระดับแรงอัดเสียง 46 dB เมื่อเปรียบเทียบกับระดับเสียงอ้างอิง 0 dB ที่กลองสแนร์สร้าง และเมื่อต้องการใช้ฉาบสร้างโทนเสียงแหลมช่วงบนของตัวโน้ต C 9 (ความถี่ 8372.0 เฮิรตซ์) ให้ได้ยินใช้ไม้กลองต้องเคาะฉาบให้สร้างแรงอัดเสียงสูงกว่ากลองสแนร์สองเท่า คือ 0.00004 ปาสคาล ซึ่งมีระดับแรงอัดเสียงสูงเท่ากับ 6 dB เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 0 dB

ถ้าอ่านแล้วทั้งหมดข้างต้นแล้วยังจับต้นชนปลายไม่ถูกก็ขอสรุปแบบฟันธงให้เข้าใจได้สั้นๆ ว่า

“ เครื่องดนตรีที่สร้างโทนเสียงตัวโน้ตอยู่ในช่วงไวต่อการได้ยินแม้สร้างแรงอัดเสียงออกมาไม่มาก ก็จะได้ยินเสียงชัดเจน แต่ถ้าตัวโน้ตมีโทนเสียงสูงหรือต่ำกว่าช่วงไวต่อการได้ยิน ต้องสร้างแรงอัดเสียงให้มากขึ้นอย่างเป็นสัดส่วนกับค่าความไวที่ลดลงเพื่อให้ได้ยินเสียงเหล่านั้น”

คุณสมบัติข้อนี้ทดสอบได้โดยลองปรับโวลลุ่มฟังเพลงเบาๆ (ตำแหน่งโวลลุ่มอยู่ต่ำกว่า 9.00 นาฬิกา) เราจะได้ยินเสียงร้องซึ่งเป็นโทนเสียงกลางได้ชัดเจนแต่เสียงทุ้มของดับเบิ้ลเบสหรือเสียงเบสดรัมจะขาดพลัง ได้ยินเบามากหรือแทบไม่ได้ยินเลย และเสียงแหลมจะขาดความกังวานสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเคาะฉาบหรือไทรแองเกิ้ล จะได้ยินเบามากหรือไม่ได้ยินเลย เช่น กัน ผู้ผลิตอินทีเกรทแอมป์หรือปรีแอมป์ได้แก้ปัญหานี้โดยบรรจุวงจรชดเชยสำหรับเพิ่มความดังเสียงทุ้ม และ เสียงแหลม ให้สูงกว่าปกติเมื่อปรับลดโวลลุ่มต่ำกว่าตำแหน่ง 12.00 นาฬิกาลงมาอย่างเป็นสัดส่วนกับระดับโทนเสียงทุ้มแหลมที่ได้ยินเบาลงเรียกว่าวงจร เลาเนสคอนโทรล (Loudness control) เพื่อให้ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นโดยเฉพาะเสียงทุ้มแหลมได้ชัดเจนขณะเปิดฟังเพลงเบาๆ เมื่อเร่งเสียงดังขึ้นเบาๆ วงจรนี้จะลดสัดส่วนการยกระดับเสียงทุ้มแหลมให้น้อยลงและหยุดทำงานเมื่อเร่งโวลลุมถึงตำแหน่ง 12 นาฬิกาขึ้นไปเพราะที่ความดังระดับนี้หูจะได้ยินทุกความถี่เสียงใกล้เคียงกัน บางเครื่องอาจมีสวิตช์ควบคุมการทำงาน (ON/OFF) ของวงจรนี้อยู่ที่ด้านหน้าเครื่องโดยมีตัวอักษร LOUDNESS ระบุไว้คิดว่าบางท่านอาจเคยผ่านสายตามาบ้าง

 

  1. ช่วงไดนามิกเสียงที่ฟังได้

          ช่วงไดนามิก (Dynamic Range) หรือขอบเขตความดังเสียงที่หูมนุษย์ฟังได้ (ทฤษฎีอิกและ!!!) จะมีช่วงอยู่ระหว่างค่าแรงอัดเสียง (Sound Pressure) ต่ำสุดที่หูเริ่มได้ยินกับค่าแรงอัดเสียงสูงสุดที่ทำให้หูเริ่มรู้สึกเจ็บซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับหู เมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าแรงอัดเสียงต่ำสุดกับค่าแรงอัดเสียงสูงสุดจะมีขอบเขตกว้างมากถึง 1, 000, 000:1 จึงใช้วิธีแสดงค่าเปรียบเทียบ เป็นล๊อกการิธึ่ม (Logarithm) ของอัตราส่วนที่แตกต่างจากระดับอ้างอิง เรียกว่า ระดับแรงอัดเสียง (Sound Pressure Level:SPL) ใช้หน่วยเดซิเบล (Decibel) ซึ่งใช้ตัวย่อดีบี (dB)

จากการทดลองเมื่อปีค.ศ.1933 (ใครเป็นคนทดลองก็ช่างเขาเถอะ) ได้พบว่า หูมนุษย์เริ่มได้ยินเสียงความถี่ 1, 000 เฮิรตซ์ (1 kHz) เมื่อแรงอัดเสียงมีค่า 0.0000 2 ปาสคาล*1 (0.00002Pa) หรือ 20 ไมโครปาสคาล (20 µPa) เปรียบเทียบได้เท่ากับ เสียงที่เกิดจากการกระพือปีกของยุงตัวเดียว (ข้อมูลไม่ได้ระบุเพศของยุงไว้) ขณะบินอยู่ห่างจากหูเป็นระยะทาง 3 เมตร จุดเริ่มได้ยินเสียงใช้เป็นค่าอ้างอิงระดับแรงอัดเสียง 0 เดซิเบล (0 dB) ซึ่งเป็นระดับที่ความถี่1, 000 เฮิรตซ์ มีค่าแรงอัดเสียง 20 ไมโครปาสคาล เมื่อเพิ่มค่าแรงอัดเสียงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่หูเริ่มรู้สึกเจ็บที่จุดนี้ถือเป็นค่าแรงอัดเสียงสูงสุดที่ฟังได้โดยไม่เกิดอันตรายมีค่า 20 ปาสคาล คิดเป็นระดับแรงอัดเสียงได้ 120 dB เมื่อเปรียบเทียบกับระดับอ้างอิง 0 dB ดังนั้นช่วงไดนามิกเสียงที่หูฟังได้จะมีค่าแรงอัดเสียงอยู่ระหว่าง 0.00002 -20 ปาสคาล หรือมีระดับแรงอัดเสียง 120 dB เมื่อเปรียบเทียบกับระดับอ้างอิง 0 dB

(*1 ปาสคาล (Pascal) เป็นหน่วยแสดงค่าแรงอัดเสียงเท่ากับแรง 1 นิวตันกระทำบนพื้นที่ 1 ตารางเมตร)

 

 image007

 รูปที่ 3 จุดเริ่มได้ยินเสียงความถี่ 1 kHz มีค่าแรงอัดเสียง 0.00002 ปาสคาล หรือระดับแรงอัดเสียง 0 dB ซึ่งใกล้เคียงกับเสียงยุงตัวเดียวบินที่ระยะห่างจากหู 3 เมตร

 

 

 image009

รูปที่ 4 ความดังสูงสุดที่ฟังได้อ้างอิงจากเสียงความถี่ 1 kHz ค่าแรงอัดเสียง 20 ปาสคาลหรือระดับแรงอัดเสียง 120 dB

  1. ระดับความดังที่ฟังไม่มีความสุข

จากที่เราได้คุยกันไปแล้วข้างต้นว่าระดับแรงอัดเสียงเสียงที่เราฟังได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อหูที่มีค่าอยู่ที่ 120 dB แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะฟังเพลงที่ระดับแรงอัดเสียงเท่านี้ได้อย่างมีความสุข (ยกเว้นพวกโชว์ออฟที่ชอบขับรถแล่นช้าๆ ลดกระจกเปิดเพลงดังๆ ปรับเสียงเบสหนักๆ เผื่อแผ่ชาวบ้านโดยหารู้ไม่ว่าถูกเจริญพรตามหลังและมีอนาคตหูจะพังไปก่อนลำโพง)

จากข้อแนะนำของสมาคมการศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติในการได้ยินแห่งประเทศอังกฤษ (the British Society of Audiology) ที่ได้แถลงไว้เมื่อปีค.ศ.1987 ว่าระดับความดังเสียงที่ฟังแล้วไม่มีสุข (Uncomfortable loudness level:ULL) จะมีค่าแรงอัดเสียงที่วัดในช่องหูอยู่ที่ 110 dB SPL (+/-10 dB) นั่นหมายความว่าเมื่อเราต้องการฟังเพลงอย่างมีความสุข ฟังได้เป็นระยะเวลานานๆ โดยปราศจากอันตรายต่อระบบการได้ยิน ควรปรับโวลลุ่มให้เสียงมีค่าระดับแรงอัดเสียง ต่ำกว่า 110 dB ที่ตำแหน่งฟัง

 

  1. เสียงรบกวนกับการฟังเพลง

 image011

รูปที่ 5 แหล่งกำเนิดเสียงรบกวน

ผู้เขียนเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านหลายท่านชอบฟังเพลงคนเดียวตอนดึกๆ (หรือจะฟังสองคนก็ไม่ว่ากัน) ยิ่งปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ด้วยแล้วยิ่งรู้สึกว่าเสียงเพลงเพิ่มความไพเราะเพราะพริ้งฟังแล้วได้อารมณ์โรแมนติคมากๆ ได้ยินรายละเอียดเสียงตัวโน้ตที่ระดับความดังต่ำๆ ชัดเจนขึ้น เสียงเครื่องดนตรีบางชิ้นที่ไม่ได้ยินเมื่อฟังตอนกลางวันก็ได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงบรรยากาศและความสดใสกรุ๊งกริ๊งของปลายเสียงแหลม ที่เป็น เช่น นี้เพราะเสียงรบกวนที่เรียกว่านอยส์ (Noise) มีระดับต่ำกว่าตอนกลางวัน ตัวโน้ตดนตรีที่มีเสียงเบากว่าระดับเสียงรบกวนตอนกลางวันจึงสามารถเปิดเผยตัวตนออกมาให้เราได้ยินนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ระดับนอยส์ในสถานที่ฟังเพลงจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถพลิกผันคุณภาพเสียงเพลงเหมือน เช่น ตอนเปลี่ยนสายสัญญาณเส้นละไม่กี่พันเป็นสายราคาเรือนหมื่นหรือในทางกลับกันอย่างใดอย่างหนึ่ง

นอยส์เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ยินตอนฟังเพลง (เช่น เสียงบ่นของแม่คุณทูนหัวผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเป็นต้น) บ้านที่เงียบสงบตอนไม่มีเสียงบ่นให้รำคาญหูท่านผู้อ่านรู้แล้วอย่าตกใจเพราะมีระดับสูงถึงราว 40 dB ทีเดียว ซึ่งดังมากพอที่จะกลบเสียงตัวโน้ตความดังต่ำกว่านี้ ทำให้เพลงสูญเสียอรรถรสลงไปมาก เสียงเอฟเฟกต์ เช่น เสียงแส้โลหะกวาดผิวหน้ากลองเบาๆ หรือเสียงเคาะฉาบที่เบามาก รวมถึงรายละเอียดปลายเสียงแหลมหรือหางเสียงตัวโน้ตของเครื่องเคาะโลหะที่ ช่วงกังวานสั้นลง ทำให้เสียงขาดความสดใสไม่เป็นธรรมชาติ แหล่งกำเนิดนอยส์มีทั้งในบ้านและนอกบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งวิทยุโทรทัศน์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ แม้กระทั่งระบบแสงสว่าง เช่น เครื่องหรี่ไฟและบาลาสของหลอดฟลูออเรสเซนต์ หม้อแปลงไฟ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ นอกจากจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแพร่มาสร้างเสียงรบกวนให้เกิดขึ้นในซิสเต็มเสียงแล้วยังสร้างเสียงรบกวนส่งมาเข้าหูเราแบบตรงๆ เลยด้วย ทั้งหมดนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับนอยส์ในบ้านที่เงียบสงบของเรามีระดับสูงถึง 40 dB

เมื่อเราแก้ปัญหาด้วยการปรับโวลลุ่มเพิ่มความดังเสียงตัวโน้ตที่เบาให้ดังมากกว่าสัญญาณรบกวนรายรอบ แต่!!! การกระทำ เช่น นี้จะเพิ่มความดังของตัวโน้ตเสียงเฉียบพลันที่ดังมากอยู่แล้วให้ดังมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น เสียงประโคมเครื่องดนตรีช่วงดังมากของวงออร์เคสตร้า เสียงหวดเบสดรัมอย่างสุดแรงหรือเสียงเป่าทรัมเป็ตเป็นต้น อาจดังมากจนถึงระดับเกิดอันตรายต่อหูหรือเกินความสามารถการขยายของแอมป์จนขยายเสียงผิดเพี้ยนทำให้ลำโพงที่เปราะบางอย่างยิ่ง เช่น ทวีตเตอร์เกิดความเสียหาย หรือหูเราอาจจะพังก่อนลำโพงก็ย่อมได้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการปรับโวลลุ่มเพิ่มความดังเสียงไม่ให้สูงถึงระดับดังกล่าว วิธีแก้ไขที่ถูกจุดก็คือหาวิธีทำให้แหล่งสร้างเสียงรบกวนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นลดระดับเสียงรบกวนลงให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนจะทำยังไงนั้น มีโอกาสแล้วค่อยคุยกันต่อนะครับ

บทความฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง ตอนที่ 5 จะคุยกันถึงเรื่อง บุคลิกเสียง, ทิมเบอร์, ฮาร์โมนิก, โอเวอร์โทนและ ธรรมชาติของเสียงเครื่องดนตรี อย่าลืมติดตามอ่านนะครับ

 image013

รูปที่ 6 ระดับนอยส์ในสถานที่ต่างๆ