พิพัฒน์ คคะนาท
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22689809_10159265819305136_608302573_o-683x1024.jpg)
Behind the Panel
แน่นอนว่า ทุกปรากฏการณ์ย่อมต้องมีเบื้องหลัง เช่นเดียวกับเครื่องเสียงที่เราเห็นแผงหน้าปัดของเครื่อง ที่บ่งบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขณะเดียวกันหลังแผงหน้าปัดนั้นย่อมต้องมีเรื่องราว ที่มา ของแต่ละนานา องคาพยพในความหมายของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาบนแผ่นพิมพ์วงจร ก่อนที่จะประกอบกันออกมาเป็นเครื่องเสียงแต่ละชิ้น แต่ละเครื่อง เพื่อทำหน้าที่ในการรังสรรค์เสียงดนตรีออกมาตามแต่ความรับผิดชอบของเครื่องนั้นๆ ดังที่ได้ถูกออกแบบมา
ความยอดเยี่ยมของแต่ละเส้นเสียงที่เราท่านได้สัมผัส จากการทำงานของเครื่องเสียงแต่ละชิ้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบเสียงหรือ Audio System ย่อมมิอาจปฏิเสธความยอดเยี่ยมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแผงหน้าปัดของแต่ละเครื่องนั้นได้อย่างแน่นอน
เรื่องราวที่เป็นเบื้องหลังแผงหน้าปัดจึงล้วนแล้วแต่น่าสนใจยิ่งนัก
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22664404_10159265820130136_352155691_o-1024x683.jpg)
จังหวะเหมาะ เมื่อไม่นานวันที่ผ่านพ้น ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบ และผลิต ชุดเครื่องเสียงระดับ Super Hi-End ของสหราชอาณาจักร ที่จัดอยู่แถวหน้าๆ ของวงการรายหนึ่ง ซึ่งแม้อาจจะมีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ที่ได้พบปะพูดคุยกัน แต่มันก็มีบางเรื่องราวที่น่าสนใจจากที่ได้สนทนามาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้อยู่พอประมาณ
เขาผู้นั้น คือ Mr. John Franks ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกรของ Chord Electronics Ltd. ที่ปัจจุบันระบตำแหน่งเอาไว้บนนามบัตรว่า Managing Director
จาก Avionics Engineer สู่เส้นทาง Audio Engineer
หลังจากโอภาปราศัยทำความรู้จักกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่การสนทนาจะนำไปสู่ชุดอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นพัฒนาการล่าสุดของ Chord Electronics คุณจอห์นได้ปูพื้นฐานส่วนตัวให้ทราบเป็นเงาๆ ก่อน….
“สมัยหนุ่มๆ ผมเริ่มงานเป็นวิศวกรให้กับริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการบินมาก่อน เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากทางด้านการออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับระบบการบินนั่นคือ Marconi Avionics Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้มาอย่างยาวนานตราบจนทุกวันนี้”
กำเนิดของ MAL นั้นต้องย้อนไปถึงปีค.ศ. 1897 เมื่อ Guglielmo Marconi ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา แล้วได้ร่วมกับ Elloitt Brothers Ltd. ในปีค.ศ. 1909 เพื่อร่วมกันพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อใช้ในระบบการบิน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น MAL ในปีค.ศ. 1978
ซึ่งปัจจุบัน คือ BAE (British Aerospace Electronics) Systems Avionics Ltd. อันมีฐานใหญ่อยู่ที่เมือง Basildon ในมณฑล Essex ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประมาณ 40 กิโลเมตร เท่านั้นเอง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22690520_10159265820085136_237968158_o-1-1024x683.jpg)
จากการที่ได้ทำงานอยู่ในองค์กรนาดใหญ่ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และอยู่กับงานออกแบบที่มีความประณีต พิถีพิถัน และมีรายละเอียดสูง เนื่องเพราะเกี่ยวกับระบบที่ต้องการความถูกต้อง และเที่ยงตรงอย่างสูงสุดนี่เอง ที่ทำให้คุณจอห์นบอกว่า “เป็นที่นี่เอง ที่ได้หล่อหลอมให้ผมเข้าถึงสัจธรรมของการออกแบบ ว่าจะต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดในการนำมาประยุกต์ใช้ โดยเวลานั้นความเชี่ยวชาญของผมอยู่ที่การออกแบบระบบจ่ายกำลังที่เป็นแบบ “Ultra-High Frequency”
หลังจากสั่งสมประสบการณ์ และเก็บเกี่ยวความเชี่ยวชาญในการออกแบบ รวมทั้งความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เป็นศาสตร์ระดับสูง จนเกิดความอิ่มตัวในงานดังกล่าวแล้ว นั้นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นก่อตั้ง Chord Electronics Ltd. ขึ้นมา
….. “มันเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความมั่นใจ และเข้มแข็งพอ ทั้งในแง่ของแนวคิดและการออกแบบที่จะต้องนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง เที่ยงตรง แม้ว่ามันจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องทุ่มเททรัพย์มากขึ้นอีกนิดหรือแม้แต่จะมากขึ้นอีกมากก็ตาม เพื่อความถูกต้องเที่ยงตรงของผลงานแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้” คุณจอห์นบอกให้รับรู้ถึงความตั้งใจในวันที่ตัดสินใจก้าวเดินมายังเส้นทางของการเป็น Audio Engineer
ซึ่งเขาย้ำว่า “นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของเราทุกคนที่ Chord และในการที่จะได้โอกาสนั้นอย่างเป็นสำคัญอีกด้วย”
จากเครื่องในสติวดิโอถึงห้องฟังของนักเล่นเครื่องเสียง
ด้วยความรู้ทั้งมวล อันสั่งสมมาจากประสบการณ์การออกแบบเกี่ยวกับระบบการบิน ทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ออกมาภายใต้ชื่อ Chord Electronics นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณจอห์นบอกว่า……
….. “มันเป็นอุปกรณ์ที่ผมสามารถใช้แนวคิดในการออกแบบ เพื่อประสานการทำงานระหว่างภาคจ่ายกระแสกับการไหลเวียนอันทรงพลังของคลื่นแม่เหล็กได้อย่างทรงประสิทธิภาพยิ่ง”
พร้อมกับย้ำว่า “นั้น มันทำให้เพาเวอร์ แอมปลิไฟเออร์ ของเราสามารถทำงานกับสัญญาณดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งในแง่ของความรวดเร็ว ความโปร่งใส ในความหมายของการสนองตอบต่อสัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะกับสัญญาณฉับพลันได้อย่างดียิ่ง อันนำมาซึ่งคุณภาพเสียงดนตรีที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง”
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22662473_10159265819675136_253098800_o-1024x683.jpg)
คุณจอห์นยังบอกอีกว่า นอกจากจะตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว มันยังให้ความเป็นดนตรีที่ถึงพร้อมในทุกรายละเอียด ที่สามารถสัมผัสผ่านลำโพงได้อย่างแจ่มชัด และนั้นเองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสถานีวิทยุกระจายเสียงอย่าง BBC : British Broadcasting Corporation จึงให้การยอมรับมันเกือบจะในทันทีที่ออกสู่ตลาด
“แล้วคุณคิดว่าควรจะเป็นใครล่ะ ที่จะเป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ในการใช้เพื่อการออกอากาศได้ดีที่สุด” นี้ น่าจะเป็นคำถามขณะสนทนาโดยที่คุณจอห์นดูท่าจะมิได้ต้องการคำตอบแต่อย่างใด ด้วยมันมีคำตอบอยู่ในคำถามแล้วนั่นเอง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22664162_10159265819475136_1839567965_o-1024x683.jpg)
และไม่นานหลังจากนั้น หลังจากที่ใครต่อใครได้ข่าวการใช้เครื่องของเราที่ BBC บรรดาโปรดิวเซอร์ในสติวดิโอชั้นนำหลายต่อหลายแห่ง ก็ได้คัดสรรนำผลิตภัณฑ์ของเราไปใช้ด้วย คุณจอห์นบอกว่า “มีทั้ง Abbey Road ในลอนดอน สติวดิโอของ Sony ในนิวยอร์ก รวมทั้ง Toshiba ที่โตเกียว และ Skywalker Ranch ในแคลิฟอร์เนีย”
อย่างไรก็ตาม คุณจอห์นบอกว่าความสนใจอันจริงแท้ของเขานั้น อยู่ที่ตลาดเครื่องเสียงสำหรับผู้บริโภค ในความหมายของคนเล่นเครื่องเสียงมากกว่า “และนั้นเองเป็นเหตุผลอันสำคัญ ว่าทำไมหลายปีที่ผ่านมาความพยายามของเราจึงมุ่งมั่นไปยังทิศทางนี้อย่างแน่วแน่” เขากล่าวย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างหนักแน่น
ขีดขั้นการออกแบบที่ไร้ข้อจำกัดใดทั้งปวง
จากความพยายามในการทุ่มเททำงาน และพัฒนางานออกแบบ เพื่อรังสรรค์ชิ้นงานมาอย่างต่อเนื่อง และไร้ขีดจำกัด ผลที่ตามมาก็คือ “เราได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง” คุณจอห์นบอก
และกล่าวต่อว่า “เราได้รับรางวัลต่างๆ มากกว่ามาก จากงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา อีกทั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในแง่ของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับคำชื่นชมอย่างมากมาย ทั้งจากนักเล่น และจากนักวิจารณ์ของนิตยสารต่างๆ ทั่วโลก”
และด้วยความครัดเคร่งในวัตรปฏิบัติอันเป็นประเพณีในงานออกแบบ ที่เปี่ยมไปด้วยการเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด เพื่อนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์อันน่าชื่นชมยิ่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของ Chord Electronics ทำให้คุณจอห์นถึงกับออกปากว่า “ผมโชคดียิ่ง ที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้”
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22662774_10159265819225136_1182313279_o-1024x683.jpg)
คุณจอห์นยังบอกอีกว่านอกจากจะโชคดีที่ได้ทำในงานที่รักแล้ว ยังโชคดีที่ได้ทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น เงียบสงบ และสวยงาม ภายในอาคารเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Medway ที่มีสายน้ำสีเขียวมรกตไหลเอื่อยๆ ผ่านไปอย่างเนิบช้า
“เมดเวย์นั้นนอกจากจะเป็นชื่อของแม่น้ำแห่งมณฑลเคนห์หรือ คือ The River of Kent แล้ว ยังเป็นชื่อของเมืองชนบทที่อยู่ใจกลางเคนท์อีกด้วย” คุณจอห์นอธิบาย และขยายความให้ทราบอีกว่า “เป็นเมืองชนบทอันเป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนทั่วไปว่า คือ สวนแห่งอังกฤษหรือ The Garden of England ที่มีผลไม้เลื่องชื่อในคุณภาพมากมาย อาทิ สตอรว์เบอรีย์ ราสเบอรีย์ แอพเปิล ตลอดจนลูกแพร์”
ก่อนที่จะย้ำบอกในที่สุด ว่าเขาได้ทำงานอยู่ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะให้สามารถรังสรรค์ผลงานอันไร้ขีดจำกัดออกมาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ
พันธมิตรใหม่กับเครื่องรุ่นใหม่
ท้ายสุดของการพูดถึงภาพรวมขององค์กรนั้น คุณจอห์นบอกว่า เขามีความภาคภูมิใจในทีมงานทุกๆ คนยิ่ง ที่ทั้งหมดมีกว่า 20 คน ในองค์กร “ทุกคนได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็นมืออาชีพ และมีความพร้อมในการที่จะทุ่มเทให้กับ Chord Electronics Ltd. อย่างแท้จริง” เขายืนยันด้วยคำกล่าวนี้อย่างหนักแน่น
ก่อนจะปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “และผมเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า พวกเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับพันธมิตรใหม่ที่เป็นคู่ค้าใหม่ของเราอย่าง Audio Force ในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเติบโตและพัฒนาธุรกิจร่วมกันในอนาคตต่อไปอีกนานแสนนาน”
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22664243_10159265819270136_770137185_o-1024x683.jpg)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22690355_10159265819910136_1026359540_o-1024x683.jpg)
ครับ ทั้งหมดนั้นเป็นการพูดคุยกับคุณจอห์น แฟรงค์ส ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง หัวหน้าทีมวิศวกร อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Chord Electronics Ltd. ด้วย
ซึ่งเป็นการพูดคุยให้รู้จักกับที่มา ที่ไปของผู้คน และองค์กร ในภาพรวมกว้างๆ รวมทั้งความคาดหวังถึงการตลาดที่จะเติบโตในบ้านเรา ดุจเดียวกับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในทวีปยุโรปและอเมริกา รวมทั้งในเอเชียอย่างตลาดที่ญี่ปุ่น ที่มีนักเล่นเครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยให้ความเชื่อมมั่นและชื่นชมในผลิตภัณฑ์ของเขา
จากนั้นเราได้พูดคุยกันถึงเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่ Chord เพิ่งจะนำมาเปิดตัวในบ้านเราที่งาน Thailand International High -End Audio-Video Show ที่กลุ่มนิตยสารในเครื่อง What Group ได้จัดขึ้น ซึ่งเครื่องเด่นๆ และได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเล่นเครื่องเสียงบ้านเราก็คือ Digital-to-Analogue Converter หรือ DAC กับเครื่องในกลุ่มแอมปลิไฟเออร์นั่นเอง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22664202_10159265819375136_1425028883_o-1024x683.jpg)
คุณจอห์นได้เอ่ยถึง DAVE DAC (Chord DAVE D-to-A Converter) ว่า “นี้ เป็นพัฒนาการล่าสุดในการออกแบบเครื่อง DAC ของเรา ที่ ณ ปัจจุบัน กล่าวได้ว่ามีความก้าวล้ำนำหน้าใครไปมากกว่ามาก เป็นเครื่องที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย มันเป็นงานออกแบบอันยอดเยี่ยมยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่ายากที่จะหาเครื่องใด และไม่ว่าจะมีราคาระดับใดก็ตาม มาเทียบเคียงได้อย่างแท้จริง”
“เพราะมันเป็นเครื่องที่ได้ผนวกรวมความเป็นสุดยอดของเทคโนโลยีการแปลงสัญญาณขั้นสูง ผสานเข้ากับเทคนิคในการออกแบบที่ลึกล้ำ อย่างชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏในเครื่องอื่นใดมาก่อนเลย” เขาได้กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความภาคภูมิใจไม่น้อยเลย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22689809_10159265819945136_80542529_o-1024x683.jpg)
“ความโดดเด่นประการหนึ่งของมันก็คือ การใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์บางส่วนที่ดีขึ้นกว่าเดิมเอามากๆ เช่นกับ FPGA : Field Programmable Gate Array นั้น พัฒนาการล่าสุดที่เรานำมาใช้ตรงนี้ มันให้ประสิทธิภาพทำงานได้มากกว่าเดิมถึงสิบเท่าเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นที่ผ่านๆ มา”
“DAVE ยังใช้ฟิลเตอร์แบบใหม่ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดในส่วนการทำงานของ System Clock ซึ่งเป็นแบบ WTA : Watts Transient Aligned Filter ที่ให้การทำงานสุ่มสัญญาณด้วยอัตราที่สูงสุด อย่างชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏใน DAC เครื่องใดมาก่อนเช่นกัน” คุณจอห์นบอก
จากนั้นคุณจอห์นได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ และการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เป็นพัฒนาการล่าสุดในอีกหลายๆ ภาคส่วนในการทำงานของ DAVE ให้ทราบ ซึ่งมีรายละเอียดอันซับซ้อนและน่าทึ่งยิ่ง ก่อนที่จะเอ่ยปากเกี่ยวกับชื่อ DAVE ว่า รู้ไหม มันมีที่มาจากอะไร
ซึ่งคำตอบก็คือ Digital-to-Analogue Veritas in Extremis ที่มีความหมายทำนองคล้ายๆ ว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานของมัน สิ่งที่คุณสามารถสัมผัสได้ก็คือ ความเป็นจริงอันเป็นที่สุดแล้ว นั่นเอง
จากนั้นได้คุยกันต่อถึงเรื่องที่เกี่ยวกับแอมปลิไฟเออร์อีกเล็กน้อย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22664501_10159265819480136_1389753428_o-1024x683.jpg)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22689755_10159265819630136_253178663_o-1024x683.jpg)
คุณจอห์นบอกว่าหัวใจสำคัญของแอมปลิไฟเออร์ทั้งหลายนั้น ใครๆ ก็รู้ ว่ามันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันแบบง่ายๆ ว่า ภาคจ่ายกระแสหรือ Power Supply Unit ในอันที่จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แรงดันไฟฟ้าที่เข้ามายังเครื่องนั้นๆ สามารถจ่ายต่อไปยังภาคการทำงานต่างๆ ภายในเครื่องได้อย่างปลอดภัย
เพราะเมื่อภาคการทำงานต่างๆ ได้รับพลังงานที่จ่ายเข้ามาด้วยความเสถียร เที่ยงตรง รวมทั้งเพียงพอต่อความต้องการในทุกสภาวะแล้ว ผลต่อเนื่องก็คือ วงจรต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานในแต่ละภาคส่วน ก็จะทำงานด้วยความมั่นคง การส่งผ่านสัญญาณก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง คือ เป็นไปตามสัญญาณต้นฉบับที่ถูกป้อนเข้ามาเช่นเดียวกันนั่นเอง
“คือ ฟังแล้วมันดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการออกแบบภาคจ่ายพลังงานในแอมปลิไฟเออร์นั้น มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวต่อการทำงานของเครื่องมาก” คุณจอห์นกล่าวย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22689809_10159265819885136_1055640080_o-1024x683.jpg)
ปัจจุบันการออกแบบภาคจ่ายกระแสของ Chord Amplifiers เป็นนวัตกรรมล่าสุดของเทคโนโลยีทางด้านนี้ ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า Chord High Frequency Power Supply เป็นแบบแยกอิสระการทำงานในตัวเอง พร้อมมีโมดูลในตัวเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความเที่ยงตรงระหว่างการทำงานด้วย ซึ่งคุณจอห์นบอกว่านั้นเป็นเรื่องของพื้นฐานอันสำคัญ ในการที่จะทำให้เครื่องสามารถให้ประสิทธิภาพการทำงานออกมาได้อย่างโดดเด่น
นอกจากภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย แล้ว การออกแบบวงจรทางด้าน Audio Circuit ก็เป็นสิ่งที่ Chord ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ บนแผงวงจร ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องมีความพิถีพิถัน และคัดสรรด้วยความเอาใจใส่อย่างสูง
แอมปลิไฟเออร์ของ Chord ยังมีวงจรป้องกันที่ภาคเอาท์พุท สเทจ ซึ่งมิเพียงออกแบบมาเพื่อป้องกันมิให้ไปทำอันตรายต่อลำโพงเท่านั้น หากยังเพื่อให้ได้การทำงานอย่างเหมาะสมกับทุกๆ ลำโพงที่นำมาใช้ร่วมกับมันอีกด้วย
Streaming Music ไม่พูดถึงคงไม่ได้
ท้ายสุด ก่อนลาจากกัน ได้พูดคุยกันถึงการเล่นเพลงแบบ Streaming ที่ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็น Trend หรือมาตรฐานใหม่ของการเล่นเครื่องสียงไปเสียแล้ว
ได้ถามคุณจอห์นทำนองว่า การเล่นเพลงในลักษณะดังกล่าวมีอุปสรรคอะไรเป็นสำคัญ และพอจะมีคำแนะนำอะไรบ้างไหม
คุณจอห์นตอบในเกือบจะทันทีว่า “เน็ทเวอร์ค”
จากนั้นก็ได้อธิบายต่อว่า “เน็ทเวอร์คเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นแบบ Streaming ไม่ว่าจะดูหนังหรือฟังเพลงก็ตาม ประการแรกเน็ทเวอร์คต้องมีความเร็วสูงพอในการถ่ายโอนข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดอาการสะดุด ประการต่อมาเน็ทเวอร์คเพื่อการนี้ควรแยกเป็นอิสระจากการใช้งานทั่วๆ ไป เพราะในเครือข่ายหนึ่งหากมีผู้ใช้งานร่วมกันมากๆ มันจะเกิดการเบียดชิงกันเป็นธรรมดา ทำให้ระหว่างการถ่ายโอนข้อมูลมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรแยกเน็ทเวอร์คที่ใช้สำหรับการดูหนัง ฟังเพลง มาเป็นเครือข่ายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะทำให้ลดปัญหาการถ่ายโอนข้อมูล ทำให้การดูหนัง ฟังเพลง ได้อรรถรสอย่างอิ่มเอมในอารมณ์ สัมผัสได้แบบเข้าถึงความสุนทรีย์ในสิ่งที่กำลังเสพอยู่อย่างแท้จริง”
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/10/22712838_10159265820080136_1686648593_o-1024x683.jpg)
ฟังแล้วคุ้นๆ อะไรไหมครับ
ผมน่ะ ได้ยินแล้วเหมือนกับระลึกชาติได้นั่นเลย
เพราะมันฟังแล้วคุ้นๆ กับเหมือนสี่ซ้าห้าสิบปีก่อน ที่เข้ามาในวงการนี้ใหม่ๆ เป็นละอ่อนที่ไม่ประสาอะไรเลยในเรื่องนี้ – ก็เรื่องเกี่ยวกับเครื่องเสียงและการเล่นเครื่องเสียงนี่ละ เพราะเวลานั้น จำได้ว่าไม่ว่าจะไปแสวงหาประสบการณ์ที่ห้องฟังไหนๆ ก็ตาม เรื่องหนึ่งที่มักจะได้ยินใครต่อใคร ในความหมายของ ‘เซียนเครื่องเสียง’ ยุคนั้น พูดกันถึงแบบแทบจะกลายเป็นกฎข้อสำคัญของการเล่นเครื่องเสียงเลยก็ว่าได้
กฎที่ว่านั้นก็คือ ถ้าสามารถทำได้ ให้แยกกระแสไฟที่จะจ่ายมายังห้องฟังเป็นการเฉพาะจากสายเมนโดยตรง อย่าใช้ร่วมกับกระแสไฟที่จ่ายไปยังส่วนอื่นๆ ในบ้านอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าใช้กระแสไฟฟ้าจากที่จ่ายร่วมกันกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ของบ้านแล้ว มันจะเข้ามากวนกระแสที่ใช้อยู่ในห้องฟังได้ โดยเฉพาะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่มีเทอร์โมสตัท อย่างตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
อ้อ รวมทั้งการรบกวนจากไฟแสงสว่างที่มีพวกบัลลาทและสตาร์ทเตอร์ด้วย เพราะฉะนั้นไฟแสงสว่างที่ใช้ในห้องฟังจึงควรเป็นพวกจุดไส้หลอดโดยตรง