ช.ชิดชล
สายไฟมีผลต่อคุณภาพเสียงและบุคลิกเสียงอย่างแน่นอนครับ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน การเล่นอุปกรณ์เสริมจำพวกสายไฟ ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก มีเล่นกันในกลุ่มนักดีไอวาย นักโมดิฟายด์บางกลุ่ม ผู้บุกเบิกและนิยมเล่นในสมัยนั้นคือ เด็กวัด หรือ คุณจงจินต์ เสรีรักษ์ โดยการเจาะท้ายเครื่องและดัดแปลงใส่ IEC IN LET เพื่อให้สามารถเปลี่ยนสายไฟได้ และหลังจากนั้น การเล่นสายไฟกับเครื่องเสียงก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จนผู้ผลิตเครื่องเสียงหลายค่าย ทำช่องเสียบสายไฟแบบมี IEC IN LET มาจากโรงงาน ทำให้สามารถเปลี่ยนสายไฟได้ โดยเริ่มแรกก็มีสายและปลั๊กให้เลือกใช้ไม่กี่แบรนด์ บางครั้งถึงขนาดต้องเอาเกรดที่ใช้กับโรงพยาบาลมาใช้งาน แต่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นหลากหลายแบรนด์ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตเครื่องเสียงและนักเล่นทั่วโลก ให้ความสนใจและรับรู้ถึงความแตกต่างในคุณภาพของอุปกรณ์จำพวกนี้
บทความในครั้งนี้ จะตอบคำถามที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เป็นคำถามมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มเล่นสายไฟใหม่ๆ จวบจนทุกวันนี้ คำถามนั้นๆก็ยังคงอยู่ เพราะการเล่นเครื่องเสียงต้องใช้ วิทยาศาสตร์และศิลปะผสมกัน บางการเปลี่ยนแปลงสามารถเอาวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้ แต่บางการเปลี่ยนแปลง(ทางเสียง) เราก็ไม่ได้เอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในการฟังเช่นกัน จากนั้นก็จะนำเสนอถึง การลองเล่นสายไฟขนาดต่างๆที่เหมาะสมกับอุปกรณ์เครื่องเสียง รวมถึงขนาดที่มีความเหมาะสม เชิญติดตามครับ
สายจากการไฟฟ้ามาถึงหน้าบ้านเป็นแค่สายธรรมดามีมาตรฐาน
สายไฟเมนจากการไฟฟ้า ใช้เป็นสายธรรมดา ตัวนำเกรดมาตรฐาน สายทองแดงก็ไม่ได้ใช้ระดับ OFC หรือเคลือบเงินอะไร ที่สำคัญ มีแค่ฉนวนด้วยยางกันดูดแค่นั้นเอง แถมสายเมนเส้นใหญ่ๆไม่มีการชิลด์ แล้วจะมาใช้สายไฟคุณภาพสูงก่อนเข้าเครื่องไม่กี่เมตร ที่ผลิตจากทั้งตัวนำระดับบริสุทธิ์ การชิลด์หลายระดับหลายชั้น แถมบางรุ่นมีชิลด์ป้องกันแรงสั่นสะเทือนด้วย มันจะไปมีผลอะไรมากมาย บุคลิกเสียงฟังไม่ออก เอาวิทยาศาสตร์พิสูจน์ก็ได้แค่ค่าแรงดันและกระแสที่เท่ากัน อาจกันคลื่นรบกวนได้นิดหน่อย จะไปเปลี่ยนทำไมกับแค่สายไฟ คำถามเหล่านี้ รวมถึงข้อสงสัยเหล่านั้น เชื่อว่าหากเป็นนักเล่นที่อยู่ในวงการมายาวนาน ต้องเคยเจอ ต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน และทุกวันนี้ก็ยังมีคนถาม
แต่เชื่อไหมครับ คนที่ถามส่วนใหญ่ไม่ได้ลองเล่น หรือลองแบบฉาบฉวย กับชุดและอุปกรณ์ที่ไม่ลงตัว ทักษะการฟังเพลงอาจยังผ่านมาไม่มากนัก หรือทุกอย่างรวมกัน จะไปว่าเขาก็ไม่ได้นะครับ ก็เขาฟังไม่ออก วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ทางด้านเสียงได้ไม่ชัดเจนเท่ากับความต่างของราคาที่จ่ายไป นับว่าพวกเขาโชคดี ที่ไม่ต้องเสียงสตางค์มากมาย และไม่ต้องมานั่งเคร่งเครียดพิจารณาฟังอุปกรณ์ แทนที่จะเป็นการ ฟังเพลง
การจัดเรียงตัวนำที่เป็นระเบียบภายในสายไฟคุณภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการถัก ตีเกลียว หรือเทคนิคอื่นๆ ส่งผลต่อการลดคลื่นรบกวน การใช้สายตัวนำภายในที่ต่างขนาดกัน ก็ส่งผลต่อความถี่ต่างๆไหลไปตามตัวนั้นอย่างมีความราบรื่นขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สายไฟที่มีการใช้ตัวนำภายในของเส้นกราวด์ มีขนาดเล็กหรือสายฝอย ก็จะมีพื้นที่ให้ความถี่สูงที่มักเป็นคลื่นรบกวน ไหลลงกราวด์ได้รวดเร็วขึ้น อันส่งผลต่อคุณภาพเสียง หรือสายเส้นไลน์ ที่นำไฟเข้าตัวเครื่อง หากใช้เป็นทองแดงคุณภาพดี ก็สามารถลดความต้านทานภายในสายได้ ทำให้การดึงกระแสฉับพลัน ทำได้ดีขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ เทคนิคในการใช้ฉนวนต่างๆ ทำให้สายมีความนิ่ง ลดแรงสั่นสะเทือน ลดคลื่นรบกวน ซึ่งทั้งหมดก็ส่งผลต่อคุณภาพของกระแสไฟที่เข้าตัวเครื่องหรือชุดเครื่องเสียง
คุณภาพสายที่ดีเหล่านั้นมักส่งผลแค่แรงดันหรือกระแสของอุปกรณ์หรือชุดเครื่องเสียงนั้น แผ่ไปถึง ซึ่งก็คือไม่ไกลนักจากชุดเครื่องเสียง เช่น ภายในห้องฟังเพลง หรือภายในส่วนหนึ่งของบ้าน โดยไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับสายที่มาจากมิตเตอร์ไฟฟ้าเข้าบ้าน หรือไม่เกี่ยวข้องหรือส่งผลไปถึงสายเมนจากการไฟฟ้า อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ การจุ่มสายไฟลงไปในน้ำ ปริมาณแรงดันไฟและกระแสไฟ จะบอกขนาดรัศมีที่ไฟฟ้าจะไปถึง ไฟฟ้าไม่ได้ไหลไปทั่วทั้งคลอง ใกล้ตรงที่สายไฟจุ่มลงน้ำ ไฟฟ้าก็ดูดแรงหน่อย และค่อยๆจางหายไปเมื่อไกลออกไป ให้ลองนึกถึงปากแม่น้ำที่จะออกทะเล น้ำทะเลกว้างใหญ่มีความเค็ม แต่น้ำในแม่น้ำยังคงเป็นน้ำจืด เพราะมีแหล่งกำเนิดน้ำ ที่ไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ดันน้ำเค็มออกทะเลไป แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้น้ำทะเลจืดตาม ความเค็มจะรุกล้ำเข้ามา ตามปริมาณกระแสน้ำจืดที่ไหลมาจากต้นทางนั้น
คำอธิบายและคำเปรียบเทียบ คงพอให้นักเล่นทุกท่าน เห็นภาพและเข้าใจนะครับว่า ทำไมไฟจากการไฟฟ้า จากสายเมน จากมิตเตอร์หน้าบ้าน เป็นสายธรรมดามีมาตรฐาน แต่มาใช้สายออดิโอเกรดกับชุดเครื่องเสียง หรือห้องฟังเพลง จะมีผลแตกต่างสร้างคุณภาพเสียงอย่างไร ก็จะมีผลตามคำอธิบายนั้นครับ
สายไฟภายในเครื่อง เป็นสายเส้นเล็กนิดเดียว ขนาดในเครื่องยังใช้สายธรรมดา
ภายในอุปกรณ์เครื่องเสียง ไม่ได้ใช้สายคุณภาพเหมือนกัน หรือขนาดสายไฟเท่ากันนะครับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เครื่องที่ราคาไม่สูง มักใช้สายภายในแบบมีมาตรฐาน ที่เพียงพอต่อการทำงานของวงจรภายในเครื่อง เช่น สายไฟที่ตัวนำผลิตจากทองแดงและฉนวนยางธรรมดา ขนาดก็คำนวณตามกระแสที่ไหลผ่าน แต่กับเครื่องที่ราคาสูง หรือมีคุณภาพขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง มักจะใช้สายไฟหรือให้ความสำคัญกับทางเดินกระแสไฟ รวมถึงส่วนอื่นๆในวงจร โดยใช้สายที่ตัวนำภายในเป็นทองแดงที่มีคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์สูงกว่า ขนาดตัวนำใหญ่กว่า รองรับกระแสได้สูง บางเครื่องใช้ฉนวนเป็นเทฟล่อน เพื่อความทนทานและป้องกันคลื่นรบกวน ในขณะที่เพาเวอร์แอมป์เครื่องใหญ่ ให้กำลังวัตต์และจ่ายกระแสสูง มักใช้แท่งโลหะเป็นทางเดินกระแสไฟ เพื่อการไหลผ่านกระแสที่สูงมาก
แบบนี้จะบอกว่า ภายในสายไฟเส้นเล็กนิดเดียว เหมือนกันหมดไม่ได้ คุณภาพอุปกรณ์ภายในสามารถกำหนดในเบื้องต้นได้จากราคาเครื่อง เหตุนี้จึงนำเครื่องราคาไม่สูง แล้วใช้กับสายไฟออดิโอเกรดราคาสูงๆ ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่มากนัก ก็เพราะติดขัดที่อุปกรณ์ภายใน ในขณะที่เครื่องราคาสูง แม้ใช้สายไฟที่ดีระดับหนึ่ง เสียงก็ดีได้ และเมื่อใช้สายไฟออดิโอเกรดราคาสูง เสียงก็จะพัฒนา ยกระดับขึ้นไปได้อีก แต่จะคุ้มค่าหรือมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับนักเล่นแต่ละท่าน ที่จะให้คุณค่ากับราคาที่จ่ายไป รวมถึงบุคลิกเสียงและความชอบ
ขนาดของสายเลือกให้เหมาะสม
การเลือกสายไฟนั้น ขนาดสายและปริมาณตัวนำภายในสายมีความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพและบุคลิกเสียง อ่านมาถึงตรงนี้นักเล่นต้องเอาความเป็นวิทยาศาสตร์วางไว้ก่อน แล้วเอาศิลปะศาสตร์เข้ามาพิจารณา เพราะหากใช้วิทยาศาสตร์นำแล้ว ความคิดที่จะเข้าใจ ทดลอง พิสูจน์การใช้สายขนาดต่างๆ ย่อมตกไป ด้วยเพราะปิดกั้นด้วยกำแพงแห่งความคิด ต้องไม่ลืมว่า เราใช้ใจและอารมณ์ในการฟังเพลง นั่นก็คือศิลปะ
สายขนาดใหญ่หรือมีตัวนำปริมาณมากๆไม่ได้ดีเสมอไป แม้ในทางทฤษฎีแล้ว จะลดความต้านทานภายในสายลงไปได้มาก กระแสไหลผ่านได้ดีขึ้น แต่ก็จะเพิ่มค่าคาปาซิแตนซ์(ค่าความเก็บประจุ) หรือเปลี่ยนแปลงค่าความเหนี่ยวนำภายในสายได้ ลองนึกตัวอย่าง หากกีต้าร์ใช้สายเป็น 12 เส้น ขนาดต่างกัน ดีดจะได้รายละเอียดแยกย่อยดีขึ้น แต่เสียงอาจจะตีกันมั่ว หรือแยกไม่ออกว่า ความกังวานมาจากสายเส้นไหน ฉะนั้น เลือกใช้ขนาดและตัวนำภายในสายให้เหมาะสมกับการใช้งาน
อุปกรณ์เครื่องเสียงที่กินกระแสไฟน้อย ก็เลือกใช้สายขนาดเล็ก ตัวนำภายในมีคุณภาพดี หากใช้สายที่มีขนาดใหญ่ ตัวนำมีปริมาณมาก ผลทางเสียงอาจจะขาดรายละเอียด ทุกเสียงชัดเหมือนกันเกือบหมด เสียงอ่อนแกแยกย่อยไม่ชัดเจน เสียงกังวานแผ่วเบาก่อนจางหายไปไม่ได้ยิน หรือมีเนื้อเสียงที่อิ่มหนามากเกินไป มิติเสียงติดไปทางกว้าง แผ่มาเต็มเป็นหน้ากระดาน เสียงขาดความต้นลึก
อุปกรณ์เครื่องเสียงที่กินกระแสไฟมาก หรือเป็นสายเมนจากสะพานไฟมาชุดเครื่องเสียง เลือกใช้สายที่มีตัวนำภายในขนาดใหญ่มีคุณภาพดี หากใช้สายที่มีขนาดเล็ก ปริมาณตัวนำภายในสายมีน้อย ก็เป็นความต้านทานภายในสาย เมื่ออุปกรณ์ต้องการกระแสมากๆ ก็เป็นความร้อน หรือกระแสไหลผ่านไม่สะดวก ส่งผลต่อเสียงไม่มีพลัง ขาดน้ำหนักเสียง เสียงทุ้มไม่ทิ้งน้ำหนัก มิติเสียงแคบ การแยกแยะชิ้นดนตรีต่างๆทำได้ไม่ชัดเจน ฟังเพลงก็ขาดไดนามิค ขาดคอนทราสต์อ่อนแกที่น่าฟังไป
ความยาวสายเลือกให้ลงตัว
นอกจากขนาดและตัวนำภายในสายไฟแล้ว ขนาดความยาวของสายก็มีผลต่อคุณภาพเสียงและส่งผลต่อบุคลิกเสียงเช่นกัน สายที่มีความยาวเพิ่มขึ้น ก็จะมีค่าความต้านทานและคาปาซิแตนซ์เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการไหลของกระแสที่ ลดความเร็วลง ส่งผลไปถึงบุคลิกเสียงที่ติดไปทางช้าลงหรืออาจจะมีเนื้อเสียงอิ่มหนาขึ้นมาได้ ในขณะที่สายนั้น หากมีขนาดความยาวที่ สั้นลง ก็ส่งผลต่อค่าความต้านทานและค่าคาปาซิแตนซ์ที่ลดลง ก็ส่งผลต่อการไหลของกระแสที่รวดเร็วฉับไว ส่งผลต่อบุคลิกเสียงลดความอิ่มหนาหรืออิ่มเนื้อลงไป ได้ความกระชับสั้น รวดเร็วมาแทน หรือบางครั้งอาจจะส่งผลต่อเสียงที่บาง ขาดเนื้อ หรือเสียงที่มีแต่ความใส เด่นเสียงแหลม ขาดไปซึ่งเสียงทุ้ม
เปรียบเทียบง่ายๆ จิตกร ใช้สีเข้มและปริมาณมาก ก็จะทำให้ภาพนั้นออกไปทางโทนมืด อาจขาดรายละเอียด หากใช้สีอ่อน และปริมาณน้อย ภาพนั้นก็จะขาดความหนักแน่น ขาดความเข้มข้นของคอนทราสต์ที่ชัดเจนลงไป ฉะนั้น การเลือกใช้โทนสีและปริมาณ คือศิลปะในการผสม ให้ได้องค์ประกอบภาพที่ลงตัว ไม่ต่างจากการเลือกใช้ขนาด ปริมาณ และความยาวของสายไฟ เพื่อได้คุณภาพเสียงและบุคลิกเสียงที่ลงตัว
บทสรุป
การเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสมนั้น มีความสำคัญ จำเป็น เพื่อให้อุปกรณ์ภายในชุดเครื่องเสียงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งคุณภาพและบุคลิกเสียง แม้สายจากการไฟฟ้าจะมาอย่างไร แต่การใช้สายไฟในชุดเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีและเหมาะสม ส่งผลแน่นอนต่อเสียงทั้งระบบ หรือแม้อุปกรณ์เครื่องเสียงจะใช้สายภายในอย่างไร ก็เลือกใช้สายไฟให้เหมาะสม ทั้งราคาและคุณภาพ โดยไม่ใช้เกินคุณภาพหรือราคา โดยไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมกับชุดเครื่องเสียง
การเล่นเครื่องเสียงเป็นศาสตร์และศิลป์ เลือกเอามาปรับใช้ให้เหมาะสม อย่าอิงวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีใด หรืองบประมาณใส่ไปกับส่วนใด โดยขาดการยั้งคิด และหาเหตุที่เหมาะสมสำหรับผล เพราะสุดท้ายแล้ว ความสุขจะเกิดกับตัวท่านเอง ด้วยการฟังเพลง ด้วยหูและความชอบส่วนตัวของแต่ละท่านครับผม