What’s Special Interview? Vitus Audio (Mr..Hans Ole Vitus)
Vitus Audio แบรนด์เครื่องเสียงไฮ-เอ็นด์ชั้นนำจากแดนโคนม-เดนมาร์ก-ที่ก่อกำเนิดขึ้นโดย Hans Ole Vitus ซึ่งจบการศึกษาทางด้าน Electrical Design (เฉพาะอย่างยิ่งกับ Analogue Design) จาก Aarhus University โดยมีปรีแอมป์รุ่น RL-100 และ RIAA-Amplifier รุ่น RP-100 นำไปโชว์เปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน High End Show ที่ Stockholm ปีค.ศ. 2003 จากนั้นจึงตามติดมาด้วยเพาเวอร์แอมป์ แบบ Monoblock รุ่น SM-100 ในปีเดียวกัน และได้รับการวิจารณ์ในแง่ดีเป็นอย่างมาก จนถือเป็นความสำเร็จในฐานะ The New Kid on The High End Block”
Hans Ole Vitus ใช้เวลาถึง 8 ปีด้วยกัน กว่าที่จะพัฒนาแอมป์ตัวแรกของเขาออกมาจำหน่าย โดยอาศัยทักษะจากการทำงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่ยาวนานถึง 6 ปี (ทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้เรียนรู้กับ Leading Edge Technology ผสานรวมเข้ากับวิชาความรู้ชั้นสูงซึ่งได้เล่าเรียนมา บวกกับประสบการณ์ที่เคยได้ทำการอัพเกรด-โมดิฟายด์เครื่องเสียงแบรนด์ดังมากมายสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา Hans Ole Vitus จึงรู้ดีว่า “หัวใจ” ของอุปกรณ์เครื่องเสียงนั้น-สำคัญที่สุด-อยู่ที่ภาคจ่ายไฟ หรือ Power Supply ทำให้เขาใส่ใจมากเป็นพิเศษสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นของ Vitus Audio
ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Hans Ole Vitus ได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อเยี่ยมเยียน Discovery Hi-Fi ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย จึงนับเป็นโอกาสดีที่ What Hi-Fi? ของเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับเขาผู้นี้ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของบริษัทแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นวิศรกรผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์เนม ‘Vitus Audio’ ด้วยตนเอง …เรามารู้จักกับเขาผู้นี้ให้ลึกซึ้งทั้งทักษะและแนวความคิด-ตัวตนของเขากัน ณ บัดนี้ครับ
What HI-FI? : ก่อนอื่นรบกวนขอทราบถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ของคุณครับ
Hans Ole Vitus : จุดประสงค์หลักจริงๆ ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ของผม คือ เดินทางมาร่วมงาน BAV 2015 เนื่องจากผมได้รับบัตรเชิญให้มาร่วมงาน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะมาเยี่ยมเยียนเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่เคยมาเป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แล้วจึงถือโอกาสในการมาดูแลในเรื่องต่างๆ ให้กับพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจอย่าง Discovery H-IFI อีกด้วย
What HI-FI? : รบกวนช่วยเล่าประวัติความเป็นมาของ Vitus Audio อย่างคร่าวๆ ให้พวกเราทราบกันหน่อยครับ?
Hans Ole Vitus : ผมก่อตั้งบริษัท Vitus Audio ขึ้นมาในปี 1995 โดย 8 ปีหลังจากนั้นก็กลายเป็นช่วงเวลาสำหรับการเรียนรู้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนมาถึงในปี 2003 ทางบริษัทก็ได้ปล่อยสินค้าตัวแรกออกมา…ซึ่งหลายๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นปีเดียวกับการก่อตั้งบริษัทตามข้อมูลที่สามารถหาได้ในเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นเป็นวาระครบรอบ 20 ปีที่ผมเป็นทั้งผู้ก่อตั้งบริษัท ควบกับตำแหน่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่แบรนด์ของตัวเอง…
ส่วนจุดเริ่มต้นของผมที่ก้าวเข้ามาในวงการเครื่องเสียง ก็คือ มีวันหนึ่งที่ผมต้องการออกไปซื้ออะไหล่ และอุปกรณ์บางตัว ที่ใช้งานกับ Stereo Amplifier แต่ผมไม่สามารถหาซื้อของเหล่านั้น ได้ตามท้องตลาด รวมไปอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาที่สูงเกินไป ผมจึงจำเป็นต้องทำการ D.I.Y (Do It Yourself) อุปกรณ์หรืออะไหล่เหล่านั้น ขึ้นมาเอง ด้วยการดึงเอาความรู้ความสามารถด้านที่ผมเรียนจบมาใช้ ซึ่งก็คือ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาเมื่อได้ทำการศึกษาเรียนรู้ลึกซึ้งลงไปเกี่ยวกับตัว Transformer เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองจากนักคิดค้นทดลองปกติ มาเป็นมืออาชีพอย่างเต็มตัวในวงการเครื่องเสียง
ตราบมาจนถึงปัจจุบันนี้ที่บริษัทของผมมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้เรามีพนักงานอยู่ทั้งสิ้น 8 คน แบ่งเป็นวิศวกร 5 คน และตำแหน่งอื่นๆ อีก 3 คน…แล้วนั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมต้องหยุดการทำงานที่ Texas Instruments ในตำแหน่ง Area Sales Manager ภาคพื้น Denmark และ Norway เมื่อปีค.ศ. 1998 เพื่อมาใช้เวลาในการบริหารงานบริษัทของตัวเองอย่างเต็มที่
What HI-FI? : ชื่อของ Vitus Audio มีการแฝงนัยยะบ่งบอกถึงความหมายใดๆ ไว้หรือไม่?
Hans Ole Vitus : ไม่เลย…เอาจริงๆ ที่มาของชื่อบริษัทนั้น ตั้งตามชื่อกลาง (Middle Name) ของผมเอง “Vitus” แต่ก่อนหน้านี้ผมเคยพยายามเป็นปีๆ เพื่อหาชื่อที่มีความหมายแฝงนัยอะไรบางอย่างไว้เช่นกัน อย่างเช่น แบรนด์ Gryphon Audio ที่ผมชื่นชอบ…แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ และล้มเลิกไป แล้วเอาชื่อที่มันง่ายๆ แบบนี้ดีกว่า (…พร้อมด้วยอมยิ้มน้อยๆที่มุมปาก)
What HI-FI? : ในความคิดเห็นของคุณ อะไร คือ “ความเหนือชั้น” อันแตกต่างระหว่าง Vitus Audio เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในระดับเดียวกัน?
Hans Ole Vitus : อันที่จริงแล้วความเห็นในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ รสนิยมส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนฟัง ชอบหรือไม่ชอบ อะไร-อย่างไง …อย่างไรก็ตามผมคิดว่า Vitus Audio นั้นไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่เหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ ในตลาด แต่ผมใช้วิธีศึกษาอย่างละเอียด เอาแบรนด์ที่ชื่นชอบหลายๆ ตัว มาเปรียบเทียบกัน แล้วเอามาเป็นความคิดหลักในการออกแบบว่า “ทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน” โดยต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด
ยกตัวอย่างเช่น Transformer ที่ผมใช้เวลากว่า 4 ปี (1995-1999) ในการศึกษาก่อนที่จะเลือกว่าใช้เป็น UI Transformer ในปัจจุบัน…ซึ่งก่อนหน้านั้นผมต้องติดต่อ ร่วมพัฒนา และแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด กับทางโรงงานในประเทศเดนมาร์ก ที่ผมคิดว่าทำชิ้นส่วนตัวนี้ได้อย่างสุดยอดที่สุดที่หนึ่งในทวีปยุโรปตอนเหนือ นอกจากนั้นผมจะใช้วิธีคิดต่อยอดจากการมองปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ ว่า มันมีที่มาจากอะไร? แล้วจึงเริ่มต้นวิเคราะห์จากจุดนั้น ยิบๆ ย่อยๆ ทีละส่วน ลงลึกในทุกองค์ประกอบ แบบที่กล้าพูดได้ว่า ไม่น่าจะมีแบรนด์ Hi-End เจ้าไหน ใส่ใจส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ในจุดนั้นมาก่อน
ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทของผม ลงทุนไปมากในขั้นตอนของการพัฒนา และศึกษา เพื่อเฟ้นหาในสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นผมจึงพยายามจะควบคุมทุกรายละเอียดของสินค้าด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งในจุดนี้เองผมได้นำเอาประสบการณ์ในสมัยที่เคยทำงานอยู่ที่ Texas Instruments มาประยุกต์ใช้ด้วย อย่างเช่น ถ้าหากคุณสามารถลงลึกถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุดในการทำงาน หรือผลิตภัณฑ์สักชิ้นหนึ่งได้ คุณจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ โดยที่ไม่ต้องพึ่ง Global Feedback จากทั่วโลก ที่เป็นมุมมองของคนอื่นเลย
What HI-FI? : ผลิตภัณฑ์ใดของ Vitus Audio ที่คุณรู้สึกภาคภูมิใจสุดๆ เพราะเหตุผลใดครับ?
Hans Ole Vitus : เป็นเรื่องยากเอามากๆ สำหรับผมในการที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ชอบที่สุดของบริษัทขึ้นมาสักตัว เพราะว่า ผมใช้เวลาคลุกคลีกับผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่น แต่ละชิ้น ค่อนข้างนานเอามากๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา อย่างไรก็ตามขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะเป็นสินค้าขายจริงของบริษัทนั้น สินค้าตัวต้นแบบ (Prototype) ที่ทำขึ้นมา จะต้องสร้างความประทับใจแก่ผมให้ได้ จนถึงขั้นที่อยากจะวางเอาไว้ในห้องนั่งเล่น ซึ่งถ้าหากตัวต้นแบบรุ่นไหน ไม่ผ่านขั้นตอนนี้ก็จะไม่กลายเป็นสินค้าของแบรนด์ Vitus Audio
แต่ถ้าจำเป็นต้องเลือกขึ้นมาสักหนึ่งรุ่นตอนนี้ คงจะเป็น SCD-O25 MK II ที่ได้นำไปโชว์ในงาน Munich Hi-End Show 2015 ที่ผ่านมา ณ ประเทศเยอรมัน ส่วนสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ ให้เสียงที่ออกมาราวกับเปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับไฮ-เอ็นด์ ซึ่งหลายๆ คนภายในงานรู้สึกทึ่งมากเมื่อรู้ว่าเป็นเจ้าตัวนี้ที่เปิดอยู่ในงาน ไม่ใช่ Turntable โดยตัวผมเองนั้นก็เป็นนักเล่นแนวอะนาล็อกที่ชื่นชอบ และสะสมเครื่องเล่นแผ่นเสียงเอาไว้มากมายกว่า 20 ตัว
ดังนั้นย่อมเป็นความชื่นชอบส่วนตัวที่ผมภาคภูมิใจ ที่สามารถลดช่องว่างระหว่างสองโลกได้ แถมราคาก็ไม่ได้แพงจนเกินไปนัก กับความสามารถของเครื่องเล่น CD ระดับนี้
ขอเพิ่มเติมอีก 1 ตัว ที่เป็นสินค้าที่มียอดขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งของบริษัทเรา อย่าง SIA-O25 ซึ่งเป็น Signature Integrated Amplifier ที่มีขนาดย่อม แต่หนักถึง 42 กิโลกรัม โดยที่ภายในบรรจุอุปกรณ์ระดับคุณภาพเอาไว้แบบไม่เหลือที่ให้เติมอะไรลงไปได้อีกแล้ว เฉพาะตัว Transformer ก็หนักกว่า 15 กิโลกรัม ราคาก็สูงมาก โดยปกติแล้วจะเห็นอุปกรณ์ระดับนี้ ใช้ในแอมป์ที่ราคาแพงกว่าที่เราขายอยู่นี้ ประมาณสัก 10 เท่าตัว….
What HI-FI? : Vitus Audio จัดแบ่งเกรด หรือ แยกลำดับชั้น (Class) ผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ระดับ : Reference Series, Signature Series และ Masterpiece Series ซึ่งสำหรับบางบริษัท Reference Series อาจเทียบเท่ากับ Signature Series หรือว่า Signature Series ก็อาจจะดูไม่ต่างไปจาก Masterpiece Series จึงอยากรบกวนถามคุณว่า ทำไมคุณเลือกที่จะแบ่งเกรดผลิตภัณฑ์ของคุณในลักษณะที่ค่อนข้างจะแนบชิดกันอย่างนี้ครับ ?
Hans Ole Vitus : เป็นเพราะว่าผมลงไปใกล้ชิดกับขั้นตอนในการผลิตแต่ละรุ่น และให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด แม้ว่าจะเป็นส่วนยิบย่อยแค่ไหนก็ตาม ซึ่งขั้นตอนนั้นจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมาจัดลำดับว่า ผลิตภัณฑ์ชั้นนั้นจะเป็น Product Level ในชั้นไหน…นอกจากนั้นผมต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ไฮเอนด์อื่นๆ ที่มักจะมี Reference Series ที่เป็นสินค้าตัวท้อป แต่ผมกลับจัดมันไว้ที่ Entry Level แทน เพื่อให้เข้ากับสโลแกนของบริษัทอย่าง We Start When Other Stop อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นงานยากของผมในขั้นตอนต่อไปของการพัฒนาสินค้าที่เหนือกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพราะว่า ผมทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการจะสร้างสินค้าออกมาสักรุ่นหนึ่ง จึงยากมากที่จะทำสิ่งที่เหนือกว่าออกมา
What HI-FI? : ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประเภทแอมปลิไฟเออร์ที่พูดได้ว่า Vitus Audio ดูจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษนั้น พอจะบอกกับพวกเราได้ไหมครับ ว่าคุณเลือกใช้ Output Device ที่เป็น MOSFET หรือว่า Bi-Polar เพราะว่า ในแง่ของ บุคลิกเสียง (Sonic Signature) ที่ได้จาก MOSFET หรือ Bi-Polar นั้น “ต่างกัน” ?
Hans Ole Vitus : ผลิตภัณฑ์ทุกตัวของเราเลือกใช้ Output Device เป็นแบบ Bi-Polar ทั้งหมด เนื่องจากผมคิดว่าตัวผมเองนั้นไม่เก่งในเรื่องการออกแบบ MOSFET เท่าไหร่นัก…ในทางกลับกันแม้ว่า MOSFET จะมีข้อได้เปรียบในภาค Input แต่ในมุมมองส่วนตัวของผมกลับรู้สึกว่า MOSFET ไม่สามารถให้เสียงแบบที่ผมต้องการได้ในภาค Output อาทิ เช่น เสียงเบสที่ไม่กระหึ่มเท่า (บางทีผมอาจดีไซน์ไม่เก่งเองก็เป็นได้…) อย่างไรก็ตาม ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นผมจึงไม่ปิดกั้นแนวคิด เทคโนโลยี หรือการออกแบบใหม่ๆ ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของผมได้ในอนาคต
What HI-FI? : ทำไม Vitus Audio ถึงยังคงยึดมั่นอยู่กับวงจรภาคขยายสัญญาณแบบ Class A / Class AB และคุณมีความคิดเห็นเช่นไรต่อภาคขยายสัญญาณแบบดิจิตอล อย่างเช่น Class D หรือ Class T ทุกวันนี้มันยังไม่ “เข้าตา” สำหรับคุณหรืออย่างไร ? ทั้งๆ ที่ก็นับได้ว่ามีพัฒนาการที่รุดหน้ามากพอสมควรทีเดียว
Hans Ole Vitus : คำตอบในข้อนี้นั่นง่ายมาก เพราะว่า Class D และ Class T ในตลาด ยังไม่สามารถถ่ายทอดน้ำเสียง และรายละเอียดต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์การฟังแบบที่ผมต้องการได้…ในความจริงแล้วเราเคยลองใช้เวลาทดลองทำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มาแล้ว แต่ผลก็ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังโดยเฉพาะในแง่ของน้ำเสียง เนื่องจากไม่สามารถสร้าง Emotional และ Creation ในการฟังได้เลย…
What HI-FI? : การที่ Vitus Audio ยังคงดำรงอยู่กับผลิตภัณฑ์ประเภท Phonostage โดยมีให้เลือกใช้งานในทุกลำดับชั้น ทั้ง Reference Series, Signature Series และ Masterpiece Series นั่นแสดงว่า คุณเองและใครๆ ใน Vitus Audio เล็งเห็นแล้วว่า Vinyl Never Die อีกทั้งยังน่าที่จะมีความชื่นชอบในการเล่นแผ่นเสียงเป็นส่วนตัวอีกด้วย – ใช่หรือไม่ คุณจึงมีพัฒนาการทางด้านนี้ออกมาโดยตลอด
Hans Ole Vitus: ตอบสั้นๆ ได้เลยว่า “ใช่” เพราะผมเป็นคนในยุคของแผ่นเสียงครองโลก และก็เป็นช่วงรอยต่อของ CD เข้ามายึดพื้นที่พอดี สิ่งต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาอย่างเชี่ยวกรำก็ล้วนเป็นทางด้านอะนาลอก ผมจึงเห็นด้วยและชื่นชอบอย่างมากกับคำว่า Vinyl Never Die อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ผมจึงสามารถทุ่มเทได้สุดๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ดิจิตอลเป็นเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้า ซึ่งเราไม่มีทางจะหลีกหนีพ้น เราจึงต้องกล้าเผชิญหน้า และยอมรับกับมัน ยอมที่จะเรียนรู้กับมัน แล้วนำมันมาใช้ประโยชน์ แม้ว่าโดยส่วนตัวอาจพูดได้ว่า “ไม่ชอบ” ก็ตาม
What HI-FI? : ทำไม Vitus Audio จึงยังคงปักหลักอยู่ที่ CD Player ไม่ก้าวไปสู่ SACD/CD Player แสดงว่า Vitus Audio นั้นเล็งเห็นประเด็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหลายต่อหลายแบรนด์มองข้ามไป ใช่หรือไม่ ?
Hans Ole Vitus : จริงๆ แล้วผมมีการส่งผลิตภัณฑ์ด้าน SACD Player ออกมาแล้วเมื่อประมาณช่วงปลายปีที่แล้วหรือช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือรุ่น RCD-101 ซึ่งใช้ Drive ของ Sony ที่รองรับการอ่านแผ่นประเภทดังกล่าวได้…แต่เหตุผลที่ผมไม่อยากตั้งชื่อรุ่นเป็น SACD ก็เป็นเพราะว่า จริงๆ แล้ว ผมไม่เชื่อในผลิตภัณฑ์กลุ่ม SACD เลยแม้แต่น้อย ผมกลับมองว่าสินค้าที่ออกมาในประเภทนี้เป็นแค่ตัวสร้างกำไรทางการตลาดมากกว่า เพราะสิ่งที่ทำเงินให้กับยักษ์ใหญ่ในวงการต่างๆ ไม่พ้นเรื่องของ License ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด เพื่อหวังในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ระยะยาวต่อๆ ไป แต่ในขณะเดียวกันผมเองก็เชื่อถือใน DSD format ที่จะสามารถพัฒนายิ่งๆ ขึ้นจนเข้าใกล้อะนาลอก ซึ่งผมคงต้องใช้เวลาทุ่มเทให้กับเทคโนโลยีทางด้านนี้ต่อไป
What HI-FI? : Vitus Audio ไม่ก้าวเข้าไปสู่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแหล่งกำเนิดสัญญาณ (Source) ที่เป็น HD (High Definition) หรือ HR (High Resolution) เต็มตัว อย่างเช่น Music Server หรืออื่นๆ แต่ก็ได้ใส่ USB port ไว้ในผลิตภัณฑ์ประเภท DAC และ CD Player ให้พร้อมรองรับได้กับแนวความนิยม (Trend) นี้ ทั้งๆที่ Vitus Audio เองก็มีความถึงพร้อมในเทคโนโลยีดิจิตอลอันก้าวหน้าล่าสุด นี่แสดงว่า ตัวคุณเองไม่ค่อยจะเห็นคล้อยด้วยกับเทคโนโลยีเหล่านี้เต็มที่นัก – ใช่หรือไม่ / โปรดอธิบาย
Hans Ole Vitus: จริงๆ แล้ว เรื่องของ Hi-Res หรือ HD นั้น มันถือกำเนิดขึ้นมาในยุคหลังเมื่อราวยี่สิบ-สามสิบปีนี่เอง ซึ่งก็อย่างที่พอจะทราบกันว่า พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีดิจิตอลระยะเริ่มต้น อย่าง CD หรือ PCM ที่ต้องยอมรับว่า ผมมีประสบการณ์ทางด้านนี้ไม่หนาแน่นนัก ต่างกับลูกชายของผม Alexander Vitus Mogensen ซึ่งคลุกคลีกับเรื่องอย่างนี้มาโดยเฉพาะ เพราะมันเป็นยุคของเขาตั้งแต่ลืมตาดูโลก เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ซึมซับและเข้าใจอะไรต่อมิอะไรทางด้านนี้ได้ดีกว่า เขาจึงมีความคิดตกผลึกในเรื่องอย่างนี้ดีกว่าผม ผมก็เลยสนับสนุนเขา ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเขาได้เข้ามาช่วยผมในการออกแบบระบบดิจิตอลตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของ SMT (Surface-Mounted Technology) Production
แรกทีเดียวนั้นตอนที่เขาเองอายุ 18 ปี (ประมาณปี 2010) ก็ได้ตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “AVM-TEC” อยู่ภายใต้เครือข่ายของ AVA Group A/S เช่นกัน โดยผลิตจำหน่าย Modules ระดับไฮเอนด์สำหรับทั้ง OEM และ D.I.Y ซึ่งได้เคยนำไปเปิดตัวในงาน CES 2012 มาแล้ว ต่อมาเมื่อเดือนมกราคมปี 2013 เขาก็ได้ตัดสินใจออกแบรนด์ของเขาเอง โดยใช้ชื่อว่า ‘Alluxity’ ที่ถือได้ว่ามี DNA ระดับไฮเอนด์อยู่เต็มตัว รวมทั้งเทคโนโลยีอันก้าวล้ำนำหน้ามากบรรจุอยู่ อย่างเช่น มีจอดิสเพลย์ระบบสัมผัส (Touch-Display) ขนาด 5 นิ้ว สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง และใช้ iPad application ในการควบคุมสั่งการได้
ซึ่งเจ้าลูกชายของผมก็เพิ่งนำผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด Media One และ Int One ไปเปิดตัวในงาน 2015 Münich show และได้รับการตอบรับดีมากพอสมควรทีเดียว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2013 ก็ได้มีผลิตภัณฑ์ Power One และ Pre One เพาเวอร์แอมป์และปรีแอมป์ระดับ “ขึ้นหิ้ง” ออกมาจำหน่ายอยู่แล้ว ดังนั้นอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผมเองสนับสนุนลูกชายผมอย่างเต็มที่ เพราะเขามีความรู้ความสามารถ ซึ่งผมเองก็สามารถให้คำแนะนำ-ปรึกษาแก่เขาในบางเรื่องได้ ผมจึงคิดว่าน่าที่จะยกผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ทางด้านนี้ให้แก่เขา น่าจะเป็นการดีกว่า การที่ผมจะกลายไปเป็น “คู่แข่ง” ของเขา เพราะว่าเขาเชี่ยวชาญกว่าผมนะ (…หัวเราะ)
What HI-FI? : จริงหรือไม่? ที่คุณเองก็มีเทคโนโลยีทางด้าน Cabling เป็นของตัวเอง อย่างที่ได้ระบุไว้ว่า Internal Cabling : Andromeda by VA ซึ่งคุณใช้เดินสายภายในอุปกรณ์ของ Vitus Audio อยู่ในตอนนี้ นั่นแสดงว่า คุณเองเชื่อมั่นในสมรรถนะและประสิทธิภาพของมันว่า “ดีกว่า” การใช้สายเชื่อมต่อของบริษัทชื่อดังอื่นๆ แต่ทำไมจึงไม่หยิบจับเอามาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสายสัญญาณ (Interconnect Cables) อย่างเต็มตัว
Hans Ole Vitus : ปัจจุบัน Vitus Audio ของเราอยู่ภายใต้เครือข่ายของ AVA Group A/S ซึ่งจริงๆแล้ว Andromeda by VA ก็อยู่ในเครือเดียวกันกับเรา ที่ทางเขาก็มีพัฒนาการทางด้าน Cables โดยเฉพาะของเขาเอง เพียงแต่เราประจักษ์ว่า “มีสมรรถนะที่ดี” เราจึงได้นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของเรา
What HI-FI? : สุดท้ายนี้มีอะไรจะฝากไปบอกถึงลูกค้า หรือ ผู้ที่สนใจ Vitus Audio ในประเทศไทยบ้างไหมครับ?
Hans Ole Vitus : ก็คงไม่ขอพูดอะไรมาก ขอเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้า หรือว่า ผันแปรไปอย่างไร การฟังเพลงของคุณจะเป็นฟอร์แมตใด รายละเอียดจะมาก-น้อยขนาดไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่คุณควรตระหนักย่อมหนีไม่พ้น ‘Emotional’ เพราะนี่คือ “หัวใจ” ในสิ่งที่คุณควรจะได้รับจากการฟังเพลงและดนตรีผ่านซิสเต็มของคุณ ไม่ว่าจะถูกหรือแพงเพียงใด…อย่างมีความสุข
What HI-FI? : ขอบคุณอย่างยิ่งยวดครับ
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..