What HI-FI? Thailand

What’s Special Interview ? Mr. Kevin Scott (CEO of Living Voice)

What’s Special Interview ? Mr. Kevin Scott (CEO of Living Voice)

…คงไม่ธรรมดากันละครับ สำหรับลำโพงระดับราคาหลายสิบล้านบาท !! (รุ่นถูกสุดก็ราคากว่าสองแสนปอนด์แล้วละคร้าบ) นามว่า “Vox Olympian” ของ Living Voice แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งพูดได้ว่า หากไม่ใช่เศรษฐี-มหาเศรษฐีตัวจริงก็คงมีสิทธิ์ได้แค่ชายตามอง – ลำโพงระดับนี้มีดีอะไร, สุ้มเสียงเป็นอย่างไร, ฟังแล้วราวขึ้นสวรรค์เลยหรือไม่ – ทำไมถึงได้แพงจัง และอะไรต่อมิอะไรที่อาจเป็นปัญหาคาใจ ทีมงาน “what hi-fi ?” ได้มีโอกาสฟังลำโพงรุ่นนี้ที่ผ่านการเซตอัพอย่างดีด้วยตัวเจ้าของบริษัทเอง ไม่ต่างจากในงาน Munich High End Show 2015 รวมถึงยังได้สัมภาษณ์พุดคุยกับ “Kevin Scott” ที่นับเป็นบุคลากรสำคัญที่อยู่เบื้องหลังทุกๆ อย่าง เนื่องเพราะนอกจากเขาผู้นี้จะเป็นทั้ง Founder และ CEO ควบคู่กันแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นวิศวกรผู้ออกแบบของ Living Voice อีกด้วย

ซึ่งจากการพุดคุยครั้งนี้ (โดยคำเชิญของอ.วิพลแห่ง Audio Absolute ผู้เป็นตัวแทนจำหน่าย “Living Voice” ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ) ทำให้ได้รับรู้ถึงแนวคิด และความเป็นตัวตนอันน่าสนใจของเขาผู้นี้ – นับจากนี้ไป เป็นโอกาสดีที่ท่านผู้อ่านซึ่งสนใจในเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับหนึ่งในระบบลำโพงที่ได้ชื่อว่า โค-ตะ-ระ แพงที่สุดในโลก อย่าง “Vox Olympian” และ “Vox Elysian” รวมถึงความเป็น living voice จะได้ทำความรู้จักในแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อนก็เป็นได้

 

What HI-FI? : ก่อนอื่นรบกวนช่วยเล่าถึงประวัติ และที่มาที่ไปของ “Living Voice” สักเล็กน้อยครับว่ามีความเป็นมาอย่างไร?

Kevin Scott : มันยากที่จะบ่งบอกวันเวลาที่แน่นอนว่า “Living Voice” นั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่? แต่เท่าที่ผมจำได้น่าจะเป็นช่วงปี 1991 โดยโปรเจ็กต์นี้มีที่มาจากความคิดส่วนตัวของผมที่อยากจะสร้างลำโพงที่ “คู่ควร” กับคำว่า “High Fidelity” ในวงการเครื่องเสียงอย่างแท้จริงขึ้นมาสักคู่นึง แบบที่ต้องเลือกแอมป์ปลิไฟเออร์ที่ใช้คู่กันระดับกำลังขับประมาณ 300 วัตต์ หรือเกินกว่านี้ขึ้นไปต่อหนึ่งข้าง ระดับเดซิเบลของลำโพงคู่นั้นที่ไปถึงได้ก็ควรจะ 500 dB ขึ้นไป เพื่อความสมจริงในการฟัง และสามารถสร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้พบเห็น

ดังนั้นผมจึงเอาแนวคิดนี้ไปปรึกษากับ บริษัทที่ทำ PA. Speakers ชื่อดังแห่งหนึ่งในลอนดอน หลังจากนั้นก็ได้ความช่วยเหลืออย่างมากจากบริษัทดังกล่าว จนค้นพบต้นแบบของระบบ “Air part” ขึ้นมาสำหรับการสร้างลำโพงรุ่นแรก ซึ่งนำไปโชว์ในการงานเครื่องเสียงที่ชื่อว่า “Heathrow HI-FI Show” ปี 1993 อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดที่ใหญ่ถึง 6 ฟุตกว่าๆ แล้วลึกถึง 3 ฟุต จึงยากที่จะหานักเล่นที่มีห้องที่ใหญ่พอสำหรับรองรับลำโพงตัวนี้ แถมมองผ่านๆ มันยังให้ความรู้สึกดูคล้ายกับวางโลงศพที่ใส่ร่างไร้วิญญาณของญาติๆ ไว้ในบ้านอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวผมเลยเลือกที่จะทำลำโพงฮอร์นที่มีขนาดเล็กลง และพูดได้เต็มปากว่า “Vox Olympian” ไม่ได้พัฒนามาจากลำโพงตัวนั้น แต่ก็แฝงไปด้วย DNA. ภายในแบบเดียวกันในระบบการทำงาน…วัตถุดิบในการผลิตก็แตกต่างกัน อาทิ เช่น 3 ways Horn Air part, Bass Driver ขนาด 50 นิ้วจาก “Vitavox”, “Vitavox” S2 Mid-range Driver และ Diaphragm แบบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมสิ้นเชิง ส่วนระบบ “Radiator” ก็เลือกใช้แบบ “Slot Dispersive” ที่กระจายเสียงได้กว้าง และทั่วถึงกว่า…ก่อนหน้านี้ผมเคยทำลำโพง “รุ่น Air Scout” ออกมา ที่มีเสปคใกล้เคียงกันทั้งในเรื่องของ Driver หรือ Diaphragm ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ลงตัวเท่า “Vox Olympian” ที่สามารถเพิ่มเติม Option ในเรื่องของ Subwoofer ชั้นยอดอย่าง “Vox Elysian” ลงไปใน System ของคุณได้อย่างสมบูรณ์แบบ…ในกรณีที่ห้องฟังมีขนาดกลาง หรือใหญ่

 

What HI-FI? : ขอถามแบบโง่ๆ นะครับ ทำไมลำโพงของคุณจึงมีราคาจำหน่ายที่สูงมากขนาดนั้นครับ? และในปี 2010, Ken Kessler ได้ยกย่องระบบลำโพงของคุณไว้ว่า “This is One of the World’s Most Impressive Loudspeakers” คุณมีรู้สึกอย่างไรบ้างครับ?

Kevin Scott : สำหรับคำชมถึงผลิตภัณฑ์ของผม ย่อมเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากอยู่แล้ว…ส่วนเรื่องของราคาที่ส่วนมากมักเป็นคำถามที่ทุกสำนักมักจะตั้งมาอยู่แล้ว ผมคงต้องตอบตามตรงว่า มันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่ด้านในไม่ว่าจะเป็น ทวีตเตอร์ที่สามารถขึ้นไปในระดับเสียงสูงกว่า 45 kHz, เบสไดรเวอร์ที่ลงมาได้ต่ำแบบสุดๆ ในลำโพงไซส์ขนาดนี้ที่ยังไม่ใช้ซับวูฟเฟอร์ช่วย และไดรเวอร์เสียงกลางที่ให้ความเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องเติมแต่ง EQ ลงไป เหมือนกับลำโพงในระดับมิดเรนจ์แบรนด์อื่นๆ

อาจเป็นเพราะว่า ในช่วงเสียงกลางนี้ผมไม่ประสบความสำเร็จในการทดลองปรับเปลี่ยนระบบเติมแต่ง EQ ลงไป เหมือนเจ้าอื่นๆ ก็ได้ เลยพยายามทำออกมาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งเมื่อรายละเอียดชั้นยอดทุกอย่างมารวมอยู่ในลำโพงตัวเดียวกันแล้ว ดังนั้นรูปลักษณ์ภายนอกก็ย่อมเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะทำออกมาให้สวย หรูหรา ดูเป็นมิตร สมราคา ดึงดูดสายตาผู้คน และไม่ใหญ่จนเกินไป…จากเหตุผลที่กล่าวมาเลยทำให้ผมต้องใส่ใจในการออกแบบ และเลือกวัสดุที่จะสามารถทำออกมาให้ได้ตรงตามที่ต้องการมากที่สุดเลยต้องมีราคาสูงขนาดนี้…

โดยหากถามความเห็นส่วนตัวของผมแล้วกับคุณภาพของลำโพง ที่สามารถให้เสียงสูงได้ระดับถึงสรวงสวรรค์ดั่งยอดเขาโอลิมปัสอย่าง “Vox Olympian” และให้เสียงต่ำในขนาดที่สั่นสะท้านแผ่นดินได้นั้นหากใช้ซับอย่าง “Vox Elysian” ช่วยอีกสักสองตัว คงจะเป็น System ที่ฟังแล้วเสมือนจริงที่สุดอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น คุณฟังดนตรีออร์เคสตร้า หรือแชมเบอร์ วงใหญ่ๆ คุณก็จะได้รับเสียงที่สะท้อนให้เห็นภาพขนาดของวงที่ใหญ่มหึมา ตามเสียงที่ออกมาจากชุดของคุณ โดยไม่จำเป็นที่ต้องไปฟังในฮอลล์อีกต่อไป ในกรณีที่ Source ของคุณบันทึกออกมาดี…

นอกจากนี้ผมยังอยากเสริมในเรื่องของการฟัง ที่ส่วนใหญ่แล้วนักวิจารณ์มักจะเลือกวิจารณ์กันผิดๆ ไปเน้นในเรื่องของความ “เหนือกว่า” อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น เสียงต่ำ-สูง, กว้าง, ลึก หรืออะไรก็ตามที่ชอบเขียนลงรีวิวกันต่างๆ นานา ซึ่งความจริงแล้วผมมองว่า “ความสมจริง” ต่างหากที่สามารถนำมาวัดศักยภาพจริงๆ ของลำโพงแต่ละตัวได้อย่างเหมาะสมที่สุด…

สรุปโดยรวมรวมผลิตภัณฑ์ของ “Living Voice” แต่ละตัวที่มีราคาแพงมหาศาลนั้น เนื่องจากผมไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำสินค้าออกมา เพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก แต่ผมต้องการจะเปิดโลกทัศน์ของนักฟังให้เห็นถึงศิลปะในการออกแบบลำโพงที่มีความสวยงาม และเป็นงานฝีมือ ที่ละเอียดอ่อน ให้ไปสู่วงกว้าง เพราะผมรู้ดีว่าคงจะมีจำนวนลูกค้าไม่มากนักที่จะมีกำลังซื้อลำโพงราคาขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม ความสวยงาม และรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในสินค้าของ “Living Voice” ผมกล้าพูดได้เลยว่าบางส่วนไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่เมื่อใส่ลงไปแล้วผมเห็นว่า มันสมบูรณ์ขึ้น สวยขึ้น งดงามขึ้น ดังนั้นราคาค่าตัวมันก็สูงขึ้นเหมือนดั่งงานศิลปะชิ้นเอกของโลกนั่นละครับ เป็นเหมือนค่าประสบการณ์ เพื่อค้นคว้าหาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการมากที่สุด โดยทางเราได้มีการเก็บภาพบรรยากาศต่างๆ ในการไปท่องเที่ยวเสาะแสวงหาวัสดุชั้นยอดในการทำแต่ละส่วน ตั้งแต่เริ่มต้นไว้ในเว็บไซต์ของเราด้วย

 

What HI-FI? : กับราคา 347,000 ดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับ Vox Olympian/Elysian System ของคุณนี้ได้ชื่อเป็นหนึ่งในระบบลำโพงที่ราคาสูงที่สุดในโลก แล้วคุณคิดบ้างไหมว่า จะมีอะไรที่จะทำให้ระบบลำโพงชุดนี้ของคุณ “แพง” ขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกไหมครับ?

Kevin Scott : แน่นอน…คุณสามารถซื้อ “Vox Elysian” ไปใช้เพิ่มกับ System ของคุณอีกหนึ่งคู่ เพื่อเพิ่มความพิเศษในย่านเสียงต่ำ ที่จะสามารถดำดิ่งลงไปลึกล้ำยิ่งขึ้นได้อีก นอกจากนี้ยังมี “L Vox” ซึ่งเป็นตัว “Crossover” แยกออกมาแบบพิเศษที่เจาะจงพัฒนาขึ้นมาใช้กับ “Vox Elysian” สามารถปรับจูน EQ ได้ และปรับระดับเสียงให้เหมาะกับขนาดห้องได้ โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่รอการผลิตอยู่ และคาดว่าน่าจะเริ่มต้นทำจริงๆ จังๆ ในอีกไม่เกินสองเดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกที่เราสามารถพัฒนาให้มันยิ่งดูหรูหรา และมีราคามากขึ้นไปอีกตามวัสดุที่จะเลือกใช้ในอนาคต

 

What HI-FI? : แล้วทำไมคุณจึงพุ่งเป้าไปที่การออกแบบลำโพงฮอร์นที่แพงมหาศาลอย่างนั้น ในขณะที่นักออกแบบลำโพงบางคนโจมตีลำโพงฮอร์นเสียด้วยซ้ำครับ?

Kevin Scott : เพราะส่วนตัวแล้วผมคิดว่า “ลำโพงฮอร์น” เป็นลำโพงที่สามารถให้ความสมจริงได้มากที่สุด เปรียบเสมือนได้ไปนั่งฟังศิลปินเหล่านั้นร้องสดจริงๆ เหมือนช่วงเวลาที่บันทึกเพลงนั้น ไม่มีความตะขิดตะขวงใจในเรื่องของเวลาว่ามันจะผ่านไปเนิ่นนานกี่ปีแล้วก็ตาม เนื่องจากเสียงที่ส่งออกมาจะสดใสมีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติ ไม่เจือสีสัน หรือเติมแต่งใดๆ ด้วย EQ เหมือนอย่างลำโพง “Hybrid” ที่ขาดความสมจริง ทั้งในเรื่องของ “Dynamic Range” และ Contrast ที่ลดลงอีกด้วย ซึ่งเรื่องจริงที่โหดร้าย คือ ผมมองว่า ไม่มีทางที่จะทำลำโพงฮอร์นที่ราคาถูกได้อย่างแน่นอน ถ้าหากต้องการคุณภาพที่ยอดเยี่ยม แต่ถ้างบประมาณของผู้ซื้อไม่มีงบถึงระดับลำโพงฮอร์น…ผมแนะนำว่า ลำโพง 2 ทาง รุ่น “Auditorium” ที่เราทำออกมา ก็มีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม และน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดนัก

 

 

What HI-FI? : ทำไมปากฮอร์นถึงมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนกันเลย แต่ละตัวทำหน้าที่ของมันอย่างไร? แล้วคุณออกแบบปากฮอร์นนี้ด้วยตัวเองทั้งหมดใช่หรือไม่ครับ?

Kevin Scott : หลักๆ แล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบที่ดูโดดเด่น มากกว่าหลักวิชาการที่แบรนด์ส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแนวทางหลักในการสร้างสรรค์ลำโพงขึ้นมาสักหนึ่งคู่…ซึ่งทาง “Living Voice” มองลึกลงไปกว่านั้น ด้วยการใช้ศิลปะในการออกแบบ และการคิดนอกกรอบ เมื่อนำมาผสมผสานกัน จึงออกมาอย่างที่เห็นว่ามันลงตัว โดยแต่ละตัวก็ทำงานไม่แตกต่างกัน เพียงแต่รูปร่างอาจจะไม่เหมือนกัน

 

What HI-FI? : ถามจริงๆ นะครับ ระหว่างตู้ลำโพงที่ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ หรือหินกับตู้ลำโพงที่ใช้วัสดุสังเคราะห์ หรือว่าโลหะ อย่างอะลูมิเนียม มันมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรในทัศนะของคุณ?

Kevin Scott : ที่ผมเลือกใช้ไม้มาเป็นวัสดุในการทำตู้ เพราะว่า เวลาฟังแล้วผมรู้สึกถึงรายละเอียดทั้งหมดที่แสดงออกมาผ่านน้ำเสียงได้มากกว่าวัสดุอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ทุกวัสดุย่อมมีความแตกต่างในเรื่องของข้อดี และข้อเสีย ซึ่งเหตุผลสำคัญที่จะเลือกวัสดุใดๆ มาใช้นั้นขึ้นอยู่กับ “ความลงตัว” และ “ความสมดุล” ว่าเมื่อนำมารวมกับส่วนอื่นๆ แล้ว มีผลลัพธ์ออกไปในทิศทางใด…ที่ผ่านมาผมเคยลองเลือกใช้วัสดุอื่นๆ มาหมดแล้ว เลยทำให้รู้ว่าอะไรที่เหมาะสมที่สุด แต่ใช่ว่าผมจะเลือกใช้แค่ตู้ไม้ธรรมดาๆ ในส่วนของพื้นผิวนั้น ต้องเคลือบโพลีเอสเตอร์, แล็คเกอร์ และอื่นๆ หลายต่อหลายชั้นกว่าจะออกมาเป็นงานที่เสร็จสมบูรณ์อย่างที่เห็น

 

What HI-FI? : ลำโพงรุ่น Cosmotron นี่ผลิตออกขายจริง หรือเปล่าครับ? แล้วทำไมจึงมีการออกแบบรูปลักษณ์เป็นทรงจรวด (Rocket Loudspeaker) เช่นนั้น ส่งผลต่อสมรรถนะ หรือคุณภาพเสียงหรือไม่อย่างไรครับ?

Kevin Scott : ลำโพงรุ่นนี้ไม่ได้ทำออกมาเพื่อขายแบบทั่วไป แต่เป็นโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทาง Living Voice ทำสำเร็จ แล้วเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก จึงเก็บภาพบรรยากาศนั้นมาโชว์ในโบรชัวร์ และเว็บไซต์…เรื่องมีอยู่ว่า มีลูกค้าของทางบริษัทคนหนึ่งติดต่อเข้ามา เพื่อให้ช่วยทำลำโพงขึ้นมาให้สักคู่หนึ่ง ซึ่งเขาจะนำไปใช้บนเรือยอร์ชส่วนตัว ดังนั้นรูปทรงของมันต้องมีความสูงที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการกำหนดแนวทางในการออกแบบให้รู้สึกเหมือนยุค 1920-1930 แบบที่เห็นแล้วนึกถึง “แฟลช กอร์ดอน” ที่เป็นหนังเกี่ยวกับยอดมนุษย์ในวัยเด็ก เมื่อได้รับภาพรวมของงานมาแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจ และท้าทายความสามารถอย่างมาก ผมจึงได้คิดออกแบบมาเป็นทรงจรวด ที่ดูไม่เทอะทะจนเกินไป ส่วนในเรื่องของคุณภาพเสียงก็ถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะการนำไปใช้ในเรือยอร์ชนั้นต้องพบกับแรงสั่นสะเทือนต่างๆ นานา แต่เมื่อออกแบบมาเป็นรูปทรงนี้กลับไม่พบปัญหาดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

 

 

What HI-FI? : ตัวขับเสียง (Drivers) ที่ใช้ในระบบลำโพงรุ่นต่างๆ ของคุณนั้น สั่งผลิตเป็นพิเศษจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หรือว่าคุณสร้างมันขึ้นมาในโรงงานของคุณเองครับ?

Kevin Scott : ไดรเวอร์ทั้งในส่วนของเสียงกลาง และเสียงต่ำ ทาง “Living Voice” สั่งจากทางบริษัท “Vitavox” ที่ตั้งอยู่เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อนที่ทางผมจะตัดสินใจว่าจะสั่งผลิต ทาง “Vitavox” จะส่งตัวอย่างไดรเวอร์มาให้ลองฟังก่อนอย่างน้อย 4 ตัวที่ใช้วัสดุที่แตกต่างกัน รวมไปถึงรายละเอียดยิบย่อยที่ไม่เหมือนกันเลย เพื่อให้ทางผมเลือกตัวที่ชอบที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก ในส่วนของตัวขับเสียง High Frequency นั้นทาง “Living Voice” เลือกสั่งจาก “TAD” อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านการโมดิฟายด์ที่อีกโรงงานหนึ่งเสียก่อน โดยเป็นโรงงานอีกส่วนที่ดูแลในเรื่องของรายละเอียด และความสวยงาม…ก่อนหน้านี้ทาง “Living Voice” เคยใช้บริการสั่งตัวขับเสียงจาก “scanspeak” มาก่อนสำหรับรุ่น “Auditorium” แต่ก็เป็นเพียงการซื้อแบบต้นฉบับมาปรับปรุงให้เป็นสไตล์ ของ “Living Voice”

 

What HI-FI? : การมีเวอร์ชั่น OBX (outboard x-over) ที่แยกเอาครอส์ โอเวอร์ เนทเวอร์คออกมาไว้ภายนอกตัวตู้ (external crossovers) นั้น มีข้อดีที่เหนือกว่าเวอร์ชั่น IBX (inboard x-over) อย่างไรบ้างครับ?

Kevin Scott : ความต่างของมันก็คือ การแยกระบบ crossovers ออกมาข้างนอก เพราะหลายๆ คนเชื่อว่าทุกๆ อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องเสียงจะมี “Microphonic” ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพเสียง ไม่ว่าจะเป็น ชั้นวาง, สายเคเบิล หรืออุปกรณ์อื่นๆ ทำให้เราสามารถลองเช็คได้ว่าแต่ละอุปกรณ์มีเสียงเฉพาะตัวของมันอย่างไร โดยการเปิดระบบเครื่องให้ทำงานตามปกติ และลองเอามือแตะที่แผงวงจร (Circuit Board) ของ OBX ดูก็จะรู้ว่าเสียงเฉพาะตัวของอุปกรณ์เป็นเช่นไร นอกจากนี้อาจจะมีส่วนช่วยเรื่องไดนามิก และแบ็คกราวด์ได้ด้วย ถ้าหากผู้ฟังเชื่อในระบบของการไหลเวียนที่มีผลต่อคุณภาพเสียง…อย่างไรก็ตาม IBX (Inboard x-over) ต่างก็ใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด รวมไปถึงการออกแบบด้วย

 

What HI-FI? : คุณออกแบบ “G8” EQUIPMENT TABLE ไว้ให้รองรับกับชุดเครื่องเสียงของ Kondo โดยเฉพาะ นี่แสดงว่า คุณเองยอมรับในสมรรถนะและคุณภาพเสียงของ Kondo จะทำให้ระบบลำโพงของคุณสำแดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่เลยใช่ไหมครับ?

Kevin Scott : เหมือนกับเช่นลำโพง “Cosmotron” เพราะโปรเจ็กต์นี้ทำขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อใช้บนเรือยอร์ชที่มีแรงสั่นสะเทือนทั้งแนวตั้ง และแนวนอน ดังนั้นทาง Living Voice จึงไปติดต่อให้ผู้ที่ออกแบบ Landing Gear สำหรับเครื่องบินจากบริษัท Airbus มาช่วยคิดคำนวณเรื่องความสมดุลของชั้นวางตัวนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากจุดประสงค์หลัก คือ การสลายแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นขณะอยู่บนเรือต่อชุดเครื่องเสียง ซึ่งแต่ละวัสดุที่เลือกใช้ก็มีความพิเศษเฉพาะตัวทั้งนั้น อาทิ เช่น Ceramic ที่ใช้ในวงการ Formula 1 และ Elastomer ที่มีความยืดหยุ่นกว่าปกติทั่วไป เป็นต้น…ส่วนผลิตภัณฑ์ของ “Kondo” นั้นมีคุณภาพที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ยากที่จะปฏิเสธได้ นอกจากนี้ส่วนตัวแล้วผมมองว่าทุกอุปกรณ์ที่เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของ “Kondo” นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ภายใน เหมือนกับ DNA. หรือลายเซ็นต์อยู่ในตัวของมันเองทุกตัว ดังนั้นย่อมไม่เป็นเรื่องแปลกที่ผมจะชื่นชมในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม แถมยังมีลักษณะเฉพาะตัวอีกด้วย

 

What HI-FI? : จะเรียกว่า OBSX เป็นรุ่นพิเศษของ AUDITORIUM และ AUDITORIUM ก็เป็นรุ่นพิเศษของ AVATAR – อะไรทำนองนี้ได้หรือไม่ครับ?

Kevin Scott : ไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย เพราะ OBSX เป็นแค่ “Concept” ในการออกแบบเท่านั้น…ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทาง Living Voice ต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกเสมอ คือ คุณภาพเสียง ดังนั้นจึงมีโปรเจ็กต์หลายๆ ตัวที่มีความน่าสนใจอย่างมาก แต่เมื่อทดสอบออกมาแล้วคุณภาพเสียงไม่ได้ถึงระดับที่ผมต้องการ จึงทำได้แค่เก็บข้อมูล ถ่ายรูป บันทึกแนวคิดที่น่าสนใจนั้นไว้ แล้วเอาลงในเว็บไซต์เท่านั้น เพราะบางทีการทำสินค้าตามคอนเซ็ปต์ในฝันออกมาจริงมันไม่ได้ง่ายเลย

 

What HI-FI? : ท้ายที่สุดนี้ คุณมีอะไรจะฝากบอกไปถึงกลุ่มลูกค้าของคุณในประเทศไทยไหมครับ?

Kevin Scott : Living Voice และตัวผมเอง รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ที่ให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ของเราอย่างล้นหลาม ซึ่งบอกตามตรงว่าผมรู้สึกเป็นปลื้ม และภาคภูมิใจทุกครั้ง ที่เห็นคนมาถ่ายรูปคู่กับผลิตภัณฑ์ที่ผมสร้างขึ้น หรือมานั่งฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับคุณภาพเสียงของมัน หวังว่าในอนาคตจะไดรับการตอบรับที่น่ารักจากแฟนๆ ชาวไทยเช่นนี้อีกครับ

 

What HI-FI? : ขอบคุณมากครับ

Exit mobile version