What HI-FI? Thailand

What Hi-Fi? Vocabulary [EP.01]

เนื่องจากคำศัพท์ทางเครื่องเสียงส่วนใหญ่จะบัญญัติมาจากภาษาต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งคำศัพท์บางคำอาจมีความหมายเฉพาะ ที่การเปิดอ่านจากพจนานุกรมทั่วไป อาจได้ความหมายที่ไม่เจาะจง หรือ ตรงกับความหมายที่ต้องการสื่อถึง ทว่าพจนานุกรมสำหรับเครื่องเสียงโดยเฉพาะก็ยังมิได้มีการจัดทำ ดังนั้นการแปลความคำศัพท์สำหรับแวดวงเครื่องเสียงบ้านเราจึงเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความหมาย อาจจะมากบ้าง-น้อยบ้างก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ยังมิได้มีมาตรฐานให้เรา-ท่านได้ยึดถือร่วมกัน

“What Hi-Fi? Vocabulary” เป็นการนำเอาคำศัพท์ทางเครื่องเสียงที่ใช้กันบ่อย หรือ คุ้นเคยกันเป็นส่วนใหญ่นั้น มาแปลความโดยพยายามอ้างอิงจากข้อมูลต้นทางที่สืบค้นจากหลายทางมาผนวกกัน ให้ได้ความหมายโดยสรุปที่แน่ชัด เข้าใจง่าย และมีความเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม ในความหมายของการจัดทำนี้ มิได้ต้องการกระทำในลักษณะของการบัญญัติศัพท์แต่อย่างใด เพียงแค่อยากให้แวดวงเครื่องเสียงในบ้านเรา สามารถเข้าใจในความหมายของคำศัพท์ทางเครื่องเสียงที่ต้องการสื่อนั้นได้อย่างมีแนวทางตรงกัน หรือ ใกล้เคียงกัน เป็นส่วนใหญ่ จึงเรียนมาเพื่อทราบ ณ ทีนี้

– Hi-Fi

เป็นคำย่อจาก High Fidelity แปลว่า ความเที่ยงตรงสูง โดยมีความหมายถึง การสร้าง หรือ จำลองเสียงที่มีคุณภาพสูง ซึ่งโดยอุดมคติแล้ว อุปกรณ์ที่มีความเที่ยงตรงสูงจะมีเสียงรบกวนและการบิดเบือนที่รับฟังไม่เด่นชัด (เสียงรบกวน-บิดเบือนต่ำ) รวมทั้งให้การตอบสนองความถี่เสียงที่ราบเรียบ หรือ Flat (เป็นกลาง Neutral ไม่เจือสีสัน Uncolored) ภายในช่วงการได้ยินของมนุษย์ ซึ่งนี่เองทำให้คำจำกัดความของ High Fidelity เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ฟังที่ชื่นชอบเสียงเพลงและดนตรี เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเสียงภายในบ้าน (Home Audio Enthusiasts)

เมื่อมีคำว่า Hi-Fi ก็ต้องมีคำว่า “Lo-Fi” ซึ่งหมายถึงเสียงที่มีคุณภาพต่ำที่ผลิตโดยอุปกรณ์เสียงราคาถูก เครื่องรับวิทยุ AM เป็นตัวอย่างหนึ่งของคุณภาพเสียงที่ด้อยกว่าของการสร้างเสียงที่สามารถได้ยินได้จากการบันทึกเสียงที่ทำ จนถึงช่วงปลายทศวรรษปี 1940 ทั้งนี้ความเป็น Hi-Fi ถือกันว่า เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (พ.ศ. 2491) เป็นต้นมา เนื่องจากนวัตกรรมต่างๆ หลายอย่างได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้คุณภาพเสียงภายในบ้านดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งพอจะอนุมานได้จาก :

• การบันทึกและเล่นกลับเทปเสียงแบบ รีลทูรีล Reel-to-Reel Audio Tape ซึ่งใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยให้ศิลปินดนตรี เช่น Bing Crosby สามารถสร้างและจัดจำหน่ายแผ่นเสียงได้ด้วยความเที่ยงตรงที่ดีขึ้น

• การถือกำเนิดของแผ่นเสียงไวนิลแบบ Long Play (LP) ความเร็วรอบ 33⅓ รอบต่อนาที ที่มีเสียงรบกวนบนพื้นผิว (Surface noise) ต่ำกว่าเดิม รวมถึงการมีช่วงการปรับ Equalization Curves ที่แน่ชัด กระทั่งการมีระบบลดเสียงรบกวนและช่วงไดนามิกที่กว้างขึ้น ซึ่งแฟนเพลงคลาสสิกเป็นผู้นำความคิดเห็นในตลาดเครื่องเสียงนั้น ได้หันมาใช้แผ่นเสียงไวนิลอย่างรวดเร็ว เพราะความต่างจากแผ่นเสียงเก่าๆ ในยุคก่อนหน้า มักจะเป็นแผ่นครั่งที่เก็บรักษาได้ยาก และผลงานคลาสสิกส่วนใหญ่จะไม่สามารถใส่ในแผ่นครั่งแผ่นเดียวได้ อย่างที่แผ่นเสียงไวนิลสามารถทำได้

• เครื่องเล่นแผ่นเสียงคุณภาพสูงกว่า พร้อมหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงที่ตอบสนองช่วงกว้างไดนามิกเสียงได้ดีกว่า

• วิทยุ FM ที่มีแบนด์วิดท์เสียงกว้างกว่า และไวต่อสัญญาณรบกวนและการจางหายน้อยกว่าวิทยุ AM

• การออกแบบเครื่องขยายเสียงที่ดีขึ้น ใส่ใจต่อการตอบสนองช่วงกว้างความถี่เสียงมากกว่าที่เป็นมา และมีกำลังขับสูงกว่ามาก ทำให้สามารถเล่นเสียงได้โดยไม่มีการบิดเบือนที่รับรู้ได้

• การออกแบบลำโพงแบบใหม่ รวมถึงระบบกันสะเทือนอะคูสติก (Acoustic Suspension) ที่มีความหมายถึง ตู้ลำโพงในแบบที่ปิดสนิท หรือ Sealed box ซึ่งพัฒนาโดย Edgar Villchur และ Henry Kloss พร้อมการตอบสนองความถี่เสียงเบสที่ดีขึ้น

ในช่วงทศวรรษปี 1950 บรรดาผู้ผลิตเครื่องเสียงใช้คำว่า High Fidelity (ไฮ-ไฟ) เป็นศัพท์การตลาด เพื่ออธิบายแผ่นเสียงและอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เล่นเสียงได้สมจริง โดยที่บรรดาผู้บริโภคต่างพบว่า คุณภาพเสียงที่ได้รับฟังแตกต่างจากวิทยุ AM ทั่วไป และแผ่นเสียง 78 รอบต่อนาที ในขณะนั้นอย่างชัดเจน จึงซื้อเครื่องเล่นไฮ-ไฟและแผ่นเสียง 33⅓ LP เช่น New Orthophonics ของ RCA และ FFRR (Full Frequency Range Recording ซึ่งเป็นระบบ Decca ของสหราชอาณาจักร) ผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเสียง หรือ Audiophiles จะเน้นที่คุณลักษณะทางเทคนิค (Technical Characteristics) และซื้อเครื่องแยกชิ้น (Individual Components) เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียงแยกกัน เครื่องรับวิทยุ ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ และลำโพง ผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเสียงบางคนถึงกับประกอบระบบลำโพงของตนเองขึ้นมาใหม่ ตามแนวทางของตัวเองที่ได้รับมา หรือ จากการศึกษาหาความรู้

ซึ่งนี่ก่อให้เกิดแนวทางของระบบคอนโซล (Console Systems) ที่ผสมผสานระบบเครื่องเสียง พร้อมกับการมีลำโพงหลายตัวประกอบกันในช่วงทศวรรษปี 1950 ทำให้คำว่า ไฮ-ไฟกลายเป็นคำทั่วไปสำหรับอุปกรณ์เสียงภายในบ้าน

– Audiophiles

แปลโดยความหมายก็คือ นักเล่นเครื่องเสียง (โดยมีรากศัพท์จากภาษาละติน : audīre แปลว่า ได้ยิน+กรีก : φίλος, โรมัน : Philos แปลว่า ‘รัก’) “ออดิโอไฟล์” จึงหมายถึงบุคคลที่ชื่นชอบการสร้าง หรือ จำลองเสียงที่มีความเที่ยงตรงสูง ซึ่งโดยทั่วไปนั้น “ออดิโอไฟล์” เป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่ต้องการการสร้างเสียง (Reproduction) ที่มีคุณภาพสูงจากเสียงเพลงที่บันทึกไว้ ดังนั้นความเป็น “ออดิโอไฟล์” จึงมักจะฟังเพลงและดนตรีอยู่ในห้องที่มีสภาพอะคูสติกที่ดี เนื่องเพราะความใส่ใจในคุณภาพการรับฟังเสียงเพลงและดนตรีที่ดีเท่าที่จะเป็นไปได้

– High-End Audio 

คำที่เกี่ยวเนื่องกับ Audiophiles อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ก็คือ High-End Audio ซึ่งหมายถึง เครื่องเสียงระดับไฮ-เอนด์ เป็นเครื่องเสียงสำหรับใช้ภายในบ้าน (Home Audio) ที่จำหน่ายให้กับบรรดาออดิโอไฟล์ ความเป็น “เครื่องเสียงระดับไฮ-เอนด์” พิจารณาจากราคา หรือ คุณภาพที่สูง รวมถึงเทคโนโลยีระดับสูงในการสร้าง หรือ จำลองเสียงที่แปลกใหม่ หรือ ใหม่ถอดด้ามจากที่เคยมีมา คำนี้สามารถหมายถึง ราคา, คุณภาพการประกอบของตัวอุปกรณ์ หรือคุณภาพการสร้างเสียงที่รับฟัง ทั้งโดยอัตนัย (Subjective) และโดยวัตถุวิสัย (Objective) ของนักฟังอย่างเป็นปัจเจกบุคคล

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างคำว่า ไฮ-เอนด์ กับ ไฮ-ไฟนั้น คำจำกัดความยังไม่ชัดเจนนัก Mr.Harry Pearson ผู้ก่อตั้งนิตยสาร The Absolute Sound เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า เสียงไฮ-เอนด์ (High-End Audio) ขึ้นมา

ทั้งนี้อุปกรณ์เสียงระดับไฮ-เอนด์อาจมีราคาแพงมาก ทำให้ยากต่อการเข้าถึง จนบางครั้งอุปกรณ์ประเภทนี้ถูกระบุว่า Cost-No-Object Equipment หรือ อุปกรณ์ที่เน้นราคาเป็นหลัก หรือ อุปกรณ์ที่ปัจจัยราคามิใช่ปัญหา จนไกลเกินคว้าสำหรับคนทั่วไป กระนั้นอุปกรณ์สำหรับคอออดิโอไฟล์อาจเป็นได้ตั้งแต่ราคาประหยัด (Budget Price) ไปจนถึงระดับไฮ-เอนด์

– Acoustical

หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความดันแท้จริง (Actual Pressure) ในอากาศที่ประกอบด้วยคลื่นเสียงที่ได้ยิน ตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ที่ประกอบด้วยสัญญาณเสียงทางไฟฟ้า (Electrical Audio Signal)

– Acoustics

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเสียง ยังสามารถหมายถึง ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่กำหนดมีต่อเสียงได้อีกด้วย

– Alnico

อัลนิโคเป็นกลุ่มของโลหะผสมเหล็ก ซึ่งนอกจากเหล็กแล้วยังประกอบด้วยอะลูมิเนียม (Al) นิกเกิล (Ni) และโคบอลต์ (Co) เป็นหลัก (นอกจากนี้ยังมีทองแดงและไททาเนียมด้วย) ใช้ทำแม่เหล็กถาวร มีลักษณะแข็งแต่เปราะ ประสิทธิภาพทนทานต่อการกัดกร่อน และอุณหภูมิสูงได้ดี เหมาะแก่การขึ้นรูปทรงซับซ้อนต่างๆ ได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า AlNiCo-V ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ทำแม่เหล็กลำโพงมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะมีการพัฒนาแม่เหล็กธาตุหายากในช่วงทศวรรษปี 1970 โลหะผสมอัลนิโคถือเป็นแม่เหล็กถาวรประเภทที่แข็งแกร่งที่สุด การพัฒนาของอัลนิโคเริ่มต้นในปี 1931 เมื่อ T. Mishima ในญี่ปุ่นค้นพบว่า โลหะผสมของเหล็ก นิกเกิล และอะลูมิเนียมมีค่าบังคับแม่เหล็ก (Magnetic Coercivity) 400 Oersted (32 kA/m) ซึ่งเป็นสองเท่าของเหล็กแม่เหล็กที่ดีที่สุดในยุคนั้น นั่นหมายความว่า อัลนิโคสามารถผลิตฟลักซ์แม่เหล็กที่แรงในวงจรแม่เหล็กปิด แต่จะมีความต้านทานต่อการทำลายแม่เหล็กค่อนข้างน้อย ในปัจจุบัน อัลนิโคกำลังถูกแทนที่ด้วยวัสดุแม่เหล็กชนิดอื่นในหลายกรณี เฉพาะอย่างยิ่ง Neodymium

– Neodymium Magnet

แม่เหล็กนีโอดีเมียม (ที่จริงเป็นส่วนผสม Nd2Fe14B) เป็นแม่เหล็กถาวรที่แข็งแกร่ง เป็นที่ทราบกันว่า แม่เหล็กนีโอดีเมียมแค่ไม่กี่กรัมสามารถยกน้ำหนักพันเท่าน้ำหนักของมันเองได้ ทั้งนี้แม่เหล็กนีโอดีเมียมมีราคาถูกกว่า, เบาและแข็งแรงกว่า แม่เหล็กซาแมเรียมโคบอลต์ (Samarium-Cobalt Magnets) แต่กระนั้นแม่เหล็กนีโอดีเมียมใช่ว่าจะเหนือกว่าในทุกด้าน แม่เหล็กนีโอดีเมียมก็มีการสูญเสียอำนาจแม่เหล็กในตัวเองได้ที่อุณหภูมิสูงและอาจที่จะเกิดสนิม ในขณะที่แม่เหล็กซาแมเรียมโคบอลต์ไม่สามารถเกิดได้

การใช้ประโยชน์นีโอดิเมียมหนีไม่พ้นเรื่องแม่เหล็กถาวร ปัจจุบันถือได้ว่า แม่เหล็กนีโอดิเมียมมีคุณสมบัติโดดเด่นที่สุดและแพร่หลายที่สุด แม่เหล็กนี้พัฒนาขึ้นเมื่อ ค.ศ.1984 โดยทีมงานของมะซะโตะ ซะกะวะ(Masato Sagawa) แห่งบริษัท ซุมิโตโม สเปเชียล เมทัลส์ (Sumitomo Special Metals ปัจจุบันคือ บริษัท ฮิตาชิเมทัลส์ จำกัด (Hitachi Metals) แม่เหล็กนี้เป็นส่วนผสมของนีโอดิเมียม (Nd), เหล็ก (Fe) และ โบรอน (B)

เมื่อเปรียบเทียบแม่เหล็กนีโอดิเมียมกับแม่เหล็กอื่น พบว่ามีพลังสูงกว่าแม่เหล็กเฟอร์ไรต์ (Ferrite Magnet) ถึง10 เท่า และสูงกว่าแม่เหล็กซาแมเรียมโคบอลต์ (Samarium-Cobalt Magnet) 1.7 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น นีโอดิเมียมยังเป็นแลนทาไนด์  (Lanthanides) ที่หามายาก เมื่อนำมาผสมกับเหล็กซึ่งมีราคาถูก จึงมีจุดเด่นในเรื่องต้นทุนต่ำ ทำให้มันเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากรวมทั้งโทรศัพท์มือถือ, ไมโครโฟน, ลำโพงและเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์, เฮดโฟน, มอเตอร์เล็กๆ ในตุ้มหูอีกด้วย (แม่เหล็กเหล่านี้ยังใช้ในการปัดน้ำฝนกระจกหน้ารถและกังหันลม)

อย่างไรก็ตาม แม่เหล็กนีโอดิเมียมยังมีข้อด้อยคือ ขึ้นสนิมได้ง่าย และอ่อนไหวง่ายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งกำลังพัฒนาเพื่อปรับปรุงจุดนี้

– Ambience

ลักษณะเสียงรายรอบที่รับรู้ได้โดดเด่นในห้องแสดงคอนเสิร์ต, ห้องบันทึกเสียง ฯลฯ เกิดจากเสียงสะท้อน (Reverberations) ที่เป็นการสะท้อนเสียงซ้ำซ้อนกันหลายๆ ครั้งภายในสถานที่นั้นๆ จากผนัง, พื้น และเพดาน ห้องที่มีคุณสมบัติ “เสียงตาย” (Dead) ไม่มีเสียงรายรอบนั้นจะขาดซึ่งบรรยากาศ

– Amplitude

หมายถึง ความดัง เป็นคำเรียกแบบเดียวกับ “Level” หรือ “Volume” เพื่อบ่งบอกระดับของสัญญาณไฟฟ้า (Electrical Signal) หรือ สัญญาณเสียง (Acoustical Signal) โดยเป็นการวัดความสูงของรูปคลื่น (Waveform)

– Analog

สัญญาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (ไม่ขาดตอน) โดยสัมพันธ์โดยตรงกับคลื่นเสียงอะคูสติกต้นฉบับอยู่ตลอด ทั้งในแง่ความถี่ (Frequency) และระดับ (Level) นอกจากนี้ “Analog” (อะนาลอก) ยังอาจใช้บ่งบอกถึง วงจร (Circuit) หรือการควบคุม (Control) ที่เปลี่ยนระดับสัญญาณอย่างต่อเนื่อง (Continuously) โดยสัมพันธ์โดยตรงกับการตั้งค่าการควบคุม (Control Setting)

_______________

Exit mobile version