What HI-FI? Thailand

What Executive?: “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค สู่บ้านทวาทศิน” ของ คุณลานทิพย์ ทวาทศิน โฮ

What Executive?: “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค สู่บ้านทวาทศิน” ของ คุณลานทิพย์ ทวาทศิน โฮ

พล.อ.อรุณ ทวาทศิน” อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 …ท่านได้รับยกย่องว่า เป็นนายทหารราชวัลลภ ตัวจริง เสียงจริง!! เนื่องเพราะท่านมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวด …ภายในบ้านหลังเล็กๆ ของท่านมีพระรูปปั้นเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ตั้งอยู่บนแท่นบูชาตรงกลางบ้าน และก่อนที่ท่านจะออกจากบ้านเพื่อไปปฏิบัติภารกิจประจำวัน ท่านก็จะถวายความเคารพ แด่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งตนทุกครั้ง และเมื่อกลับเข้าบ้าน ก็ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านปฏิบัติอย่างนี้เป็นกิจวัตร! อันเป็นแบบอย่างที่ดีที่งาม ส่งต่อมายังธิดาคนเดียวของท่าน “ลานทิพย์ ทวาทศิน” ผู้ก่อตั้ง “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค” ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2519

ซึ่ง ณ ปัจจุบัน “ลานทิพย์ ทวาทศิน” หรือที่แทบทุกคนในวงการเรียกกันว่า “คุณเจน” นอกจากจะทำหน้าที่ “หัวเรือใหญ่” ของบริษทฯ ร่วมกับคุณคณิต โฮ – ผู้สามีแล้ว ยังดำรงตำแหน่งสาวนายกสมาคม YWCA อีกด้วย (ในอดีตยังเคยเป็นนายกสมาคมศิษย์วังหลัง-วัฒนา) ทำให้ “คุณเจน” มีภารกิจรัดตัวมากมายในแต่ละวัน ท่านจึงมอบหมายงานการดูแลบริษัทฯให้กับ คุณบุ๋ม-นัฐธิกา โฮ ปรางค์วัฒนานนท์ บุตรสาวคนเดียวของ “คุณเจน” …ซึ่งนับเป็นโชคดีของเราที่สามารถนัดวัน-เวลาการให้สัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ได้ทั้งคุณเจน และคุณบุ๋ม ทำให้เนื้อหาของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก ซึ่งทีมงาน What Hi-Fi? (Thailand) ภูมิใจนำเสนอต่อท่านผู้อ่านของเรา …ในวาระก้าวสู่ปีที่ 31 ครับ

 

What HI-FI? : ในฐานะที่คุณลานทิพย์ นับเป็นผู้หญิงเก่งและแกร่งถือเป็นปูชนียบุคคลในแวดวงเครื่องเสียงบ้านเรา รบกวนช่วยเล่าถึงประวัติส่วนตัวและที่มาที่ไป ก่อนจะเข้ามาดำเนินงานกิจการนี้สักเล็กน้อยครับ?

คุณลานทิพย์ : จริงแล้วเนี่ยนะ…ไม่ได้ร่ำได้เรียนมาเกี่ยวกับเครื่องเสียงเลย ช่วงก่อนที่จะกลับจากสิงคโปร์มาประเทศไทย ก็ได้รับงานเป็น Research Officer ซึ่งก็เป็นข้อดีตรงที่เราได้อ่าน และศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยต่างๆ เยอะมากๆ ตรงจุดนั้นเองทำให้กลายเป็นคนที่ชอบอ่านชอบค้นคว้า พอรับงานเกี่ยวกับเรื่องอะไรมา เราก็ต้องหาข้อมูลเพิ่ม อ่านเพิ่ม ศึกษาเพิ่ม จากที่ไม่เคยรู้เรื่องเครื่องเสียงเลย เราก็เก็บประสบการณ์ความรู้ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย จนมาถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจด้านนี้ ก่อนหน้านี้พี่เคยมีหุ้นส่วนอยู่ท่านหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้วนะคะ คือ ท่านมีร้านค้าปลีกอยู่ 3-4 แห่งในตอนนั้น…เลยชวนพี่มาเป็นหุ้นส่วนกัน โดยให้พี่ดูแลในเรื่องของการขายส่งสินค้า ส่วนตัวท่านจะรับผิดชอบในส่วนของการขายปลีก…พี่ก็ไม่รู้จะเรียกยังไงดี? อาจจะใช้คำว่า ตกกะไดพลอยโจร หรือจับพลัดจับผลูดีกว่า เพราะมาทำอาชีพนี้แบบไม่ได้ตั้งใจ แต่ถ้าถามว่า …ชอบมั้ย? ตัวพี่เองรู้สึกชอบนะ…เนื่องจากเป็นคนชอบร้องเพลงอยู่แต่เดิม พวกคุณก็น่าจะรู้เนอะว่า เด็กวัฒนาฯ (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) ชอบร้องเพลง แถมร้องเพลงเก่งอีกต่างหาก…ก็เลยอยู่กับดนตรีได้อย่างมีความสุขค่ะ

 

What HI-FI? : ขอรบกวนให้ช่วยเล่าถึงความเป็นมาตั้งแต่เริ่มแรกจาก “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค” สู่ “บ้านทวาทศิน” ในทุกวันนี้ครับ?

คุณลานทิพย์ : คือ เริ่มต้นที่ โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค ซึ่งแต่เดิมเราตั้งอยู่ที่ละแวกประตูน้ำ ข้างๆ โรงแรมอินทรา ซึ่งความจริงแล้วอยู่ที่นั่นก็ดี๊ดีนะคุณ เพราะคนไปคนมาทั้งง่ายทั้งสะดวก แต่รู้มั้ยว่า พอช่วงเข้าหน้าฝนเนี่ยจะพบข้อเสียอันใหญ่หลวงขึ้นมาทันทีเลย เนื่องจากแถวนั้นน้ำมันท่วม บางวันจะไปขึ้นรถกลับบ้าน หรือไปที่ไหนก็ตามเนี่ย ไปไม่ได้เลย เอาเป็นว่าหนักขนาดที่ลูกน้องมาช่วยอุ้มเอาตัวพี่ไปใส่รถ…คิดดูเอาละกันว่าหนักขนาดไหน แถมบางทีไปถึงรถก็ขึ้นไม่ได้อีก ปรากฏว่า น้ำท่วมรถซะแล้ว…ก็เลยมาคิดดูแล้วว่า เราคงอยู่ไม่ไหวแล้วที่นั่น…เผอิญพื้นที่ที่เป็นบ้านทวาทศินอยู่ตรงนี้ พี่มีอยู่นานแล้ว ไม่ต้องไปซื้อที่ใหม่อะไร ย้ายมาทำตรงนี้เลยดีกว่า ประกอบกับผุดไอเดียขึ้นมาพอดีว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำร้านให้มันเป็นเหมือนบ้านเลยดีกว่า

 

What HI-FI? : ในตอนเริ่มทำธุรกิจนั้น ทำไมถึงเลือกที่จะใช้ชื่อ “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค” แล้วต่อมาก็ได้ย้ายบริษัทมายังสถานที่แห่งใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านทวาทศิน”- ทำไมถึงเลือกที่จะใช้ชื่อนี้ครับ?

คุณลานทิพย์ : ความจริงแล้วชื่อบริษัทยังอยู่เหมือนเดิมนะคะ คือ “โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค” มีที่มาจากการผสมคำเข้าด้วยกัน คือ Co มาจากคำเต็มว่า Company หรือเป็นภาษาไทยก็ “บริษัท” นำมาผสมกับคำว่า Nice ที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นคำที่มีความหมายดีๆ สื่อถึงความเป็นกันเอง น่ารักๆ พอมารวมกันเข้าก็จะออกมาเป็น “Conice” ที่ดูอินเตอร์กว่าจะใช้คำว่า “Niceco” แน่นอน เพราะเดี๋ยวลูกค้าจะตีความหมายผิดไปว่าเป็น “วัวตัวดี” (555+) ส่วนโชว์รูมตรงนี้ที่เราเรียกว่า “บ้านทวาทศิน” เพราะว่า พี่อยากให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมเยียนที่นี่รูสึกว่ามันเป็นเหมือนบ้านจริงๆ ไม่อยากเหมือนคนอื่นๆ เขาด้วย ที่ตั้งชื่อว่าอาคารนั้น อาคารนี้ เรามีบ้านดีกว่า ชื่อบ้านก็เอาใกล้ๆ ตัว เอามาจากตัวพี่นี่แหละง่ายสุด ถ้าไม่ใช้ชื่อนี้พี่ก็ไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไรดีเหมือนกัน คุณลองคิดดูสิ…

 

 What HI-FI? : ทำไมคุณลานทิพย์ ถึงเลือกที่จะเปิด “บ้านทวาทศิน” เป็นโชว์รูมพิเศษที่ไม่เหมือนใคร โดยจัดไว้ให้มีลักษณะของแต่ละห้องในบ้าน?

คุณลานทิพย์ : มันมาจากความคิดที่พี่มองว่า เวลาลูกค้าซื้อเครื่องเสียงไป แต่ละคนเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้ มักจะจัดวางเครื่องเสียงไว้ตามห้องต่างๆ ในบ้านของเขาเองตามที่พื้นที่จะอำนวย นอกจากจะเป็นเศรษฐีมากๆ จริงๆ ที่จะมีปัญญาทำห้องฟังเพลงที่มีการใช้ระบบอะคูสติกแบบดีๆ แพงๆ ไปเลย ดังนั้นพี่จึงอยากทำที่นี่ออกมาให้บรรยากาศมันดูสบายๆ เหมือนลูกค้านั่งฟังเพลงที่บ้านน่าจะดีกว่าที่เราจะมานั่งเซ็ตระบบทำห้องฟังแบบจริงๆ จังๆ แล้วให้เสียงที่ฟังในโชว์รูมก่อนลูกค้าซื้อเครื่องออกมาแบบเลิศเลอเพอร์เฟ็ค อลังการงานสร้างไปเลยทั้งๆ ที่จริงแล้วพี่ก็ทำได้นะแบบนั้น

แต่พอลูกค้านำเครื่องกลับไปฟังที่บ้านแล้วเกิดอาการ “ช็อคตายชัก” เพราะเสียงออกมาไม่ดีเหมือนที่ฟังในโชว์รูม…พี่เลยไม่อยากให้ลูกค้าต้องเจอปัญหาดังกล่าว…พี่อยากให้เค้าได้ฟังแล้วได้รับรู้ถึงคุณภาพที่แท้จริง แบบฟังที่นี่เป็นอย่างไร? ยกกลับบ้านไปฟังก็เป็นแบบนั้นมากกว่า ถือว่าเป็นแนวทางการจัดวางเครื่องเสียงให้ลูกค้าไปในตัวด้วยว่า ถ้าเขามีห้องใหญ่ควรจะจัดวางลักษณะไหน? เสียงที่ได้ออกมาเป็นยังไง? แล้วก็มีห้องเล็กให้เค้าได้รับรู้ความแตกต่าง พร้อมกับไกด์ไลน์ (Guideline) ในเรื่องการจัดวางให้ลูกค้าได้เหมือนกัน คือ ถ้าเขามีห้องที่ดีกว่าตรงนี้ก็มั่นใจได้เลยว่า เสียงที่ออกมาต้องดีกว่าที่นี่แน่นอน แล้วก็เป็นอย่างที่เห็นว่า โชว์รูมที่นี่ก็ยังคงสไตล์เป็นบ้านอยู่จวบจนทุกวันนี้ค่ะ

 

 

What HI-FI? : ในฐานะ “หัวเรือใหญ่” ของบริษัท คุณลานทิพย์ และคุณคณิต โฮ – ได้วางแนวทาง และนโยบายในการดำเนินงานของทางบ้านทวาทศินไว้เป็นอย่างไรบ้างครับ?

คุณลานทิพย์ : นโยบายของบริษัทเรามันก็เป็นเหมือนอย่างเดิมที่เคยเป็นมานะคะ คือทำให้ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะพี่เชื่อเรื่องนั้น…ส่วนตัวพี่มองว่า ชีวิตที่อยู่แบบไม่มีความสุขเนี่ย อย่ามีเลยดีกว่า ถ้าลูกค้าได้ซื้อเครื่องเสียงจากเราไป เราก็อยากให้เขามีความสุขกับการฟัง ถ้าลูกน้องทำงานอยู่กับเรา เราก็อยากให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขในการทำงานเช่นกัน ถ้าไม่มีความสุขจะทำไปทำไม? ใช่ปะ? (^_^) …. ดังนั้นความสุขในแต่ละวันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของบริษัทเรา เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งใจทำทุกวิถีทางอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้ามีความสุข แล้วก็ให้บริษัทเราอยู่กันแบบมีความสุขเหมือนกัน…บางทีวันไหนถ้าพี่มีความทุกข์เมื่อไหร่เนี่ย…สงสัยต้องเลิกทำเลยมั้งพี่ว่า ใช่ป่ะ? ปิดไปเลย (555+)

 

 What HI-FI? : ทราบว่า คุณลานทิพย์ใส่ใจในเรื่องของการให้บริการลูกค้าเป็นอย่างมาก เลยอยากทราบถึงนโยบายการให้บริการว่าได้กำหนดแนวทางไว้เช่นไรครับ?

คุณลานทิพย์ : เรื่องนี้สำคัญมากๆ เลย…เด็กๆ ที่ทำงานที่นี่ทุกคนจะรู้ Vision ของเราว่ามีอยู่ 4 ปัจจัยที่เราต้องมอบให้กับลูกค้า นั่นก็คือ Love, Care, Share และ Help หมายความว่า เราต้องรักลูกค้า เราต้องมีความเป็นห่วงเป็นใยลูกค้า เราต้องแบ่งปันความรู้ หรืออะไรก็ตามที่เรามีอยู่ให้กับลูกค้า…ซึ่งอันนี้จะเห็นได้ชัดเลยจากการที่เราทำสื่อนิตยสาร Life Entertainment สำหรับสมาชิกของเราออกมา และสุดท้ายเราต้องคอยช่วยเหลือลูกค้าในเรื่องของปัญหาต่างๆ ที่ไม่ใหญ่ หรือหนักหนาเกินความสามารถเราอย่างเต็มที่ และดีที่สุด…ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือสิ่งที่คนของบริษัท โคไน้ซ์ฯ ต้องทำให้ได้ค่ะ…

 

 

What HI-FI? : แบรนด์อะไรบ้างที่ทางบ้านทวาทศินกำลังทำตลาดอยู่ครับ?

คุณลานทิพย์ : ก็มี NAD แบรนด์นี้ละค่ะที่ทำตลาดมานานนมกว่า 30 ปีแล้ว และก็ยังทำอยู่จนทุกวันนี้…นอกนั้นก็เป็นแบรนด์ PSB ที่มาจาก Lenbrook Group เหมือนกัน…แล้วก็ NHT ที่เป็นแบรนด์ของวิศวกรเก่าจาก AR ออกมาทำกันเอง หลังจากที่แบรนด์ AR โดนขายไป จะเรียกว่าเป็นเงาของ AR ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมี DNA ของแบรนด์เก่าอย่าง AR อยู่เต็มเปี่ยม…ต่อมาก็เป็น Velodyne ที่เป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ Subwoofer ถัดมาก็เป็นสายของแบรนด์ Supra และก็มีชั้นวางของแบรนด์ Bell”O…ล่าสุดนี้ก็เพิ่งจะมีแบรนด์ใหม่เข้ามา คือ BLUESOUND ซึ่งอยู่ในเครือของ Lenbrook อีกเหมือนกัน เป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญในการทำผลิตภัณฑ์ด้าน Streaming Music โดยเฉพาะ…ซึ่งทีมงานที่ทำแบรนด์นี้ก็เป็นคนละพวกกับที่ทำแบรนด์อื่นๆ ในเครือ Lenbrook นะ บอกตรงๆ เลยก็ได้ว่า ทีมงานแบรนด์นี้จะเป็นพวกนักวิศวกรคอมพิวเตอร์ซะมากกว่า ดังนั้นเขาจะเชี่ยวชาญอย่างมากในการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ของเครื่องเสียงดิจิตอล อาทิ เช่น ซอฟท์แวร์ และเฟิร์มแวร์ ต่างๆ แล้วพอสร้างสินค้าออกมาได้สำเร็จ จึงค่อยมาพึ่ง “หู” ของพวกแบรนด์อื่นๆ ในเครืออย่าง NAD ว่า คุณภาพเสียงที่ออกมานั้นมันถึงระดับ High Fidelity แล้วหรือยัง? ดังนั้นเราจึงกล้าการันตีในคุณภาพเสียงของ BLUESOUND

 

What HI-FI? : รบกวนขอทราบถึง แนวทางในการเลือกสรรสินค้ามาจำหน่ายของคุณลานทิพย์ ว่าพิจารณาจากอะไรเป็นประเด็นหลักบ้างครับ?

คุณลานทิพย์ : พี่มีหลักเกณฑ์แบบผู้ยิ้ง ผู้หญิง คือถ้าเป็นผู้ชายเลือกเนี่ยนะคะ เขาจะเลือกสินค้าจากเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ หวือหวา เฟี้ยวฟ้าว แต่ผู้หญิงเราไม่ได้เลือกแบบนั้น…เราจะเลือกจากแนวคิดเป็นหัวข้อๆ ว่า แบรนด์นี้เสียงดีมั้ย?, ราคาเป็นยังไง?, คุ้มเงินมั้ย? เนื่องจากผู้หญิงเราเนี่ยเวลาจะเลือกซื้ออะไรก็ตาม มักจะมองเรื่องของความคุ้มทุนเอาไว้ก่อนว่า “เราลงทุนไปแล้วเนี่ยจะคุ้มมั้ย?” ดังนั้นเวลาที่พี่จะสั่งสินค้าตัวไหนเข้ามา พี่ต้องคิดก่อนเลยว่า เราเอาเข้ามาเนี่ย ลูกค้าซื้อไปแล้วจะคุ้ม หรือไม่คุ้ม? บางทีพี่ก็แอบไปคิดแทนคุณภรรยาคนอื่นๆ นะว่า ถ้าสามีเราไปซื้อของตัวละเป็นล้านๆ บาทมาตั้งไว้ในบ้านเนี่ย เราจะรู้สึกยังไง? ซึ่งผลออกมาก็คงเป็นรู้สึกเสียดายตังค์เหมือนเอารถเก๋งมาจอดทิ้งไว้ในห้องรับแขก…สรุปแล้วคือพี่จะใช้อารมณ์ผู้หญิง ผสมกับการใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการคำนวณถึงความคุ้มค่าว่า สินค้าตัวนั้นมันได้จุด “Equilibrium “ รึเปล่า? คือ ราคาสินค้า กับ คุณภาพสินค้า มันสมดุลกันที่จุด Equilibrium มั้ย? ถ้าได้จุดนี้เราก็ถือว่า โอเค แต่ถ้าเลยจุดนั้นไปเราก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะคุ้ม หรือไม่คุ้ม? ส่วนมากผู้หญิงทุกคนก็มักจะเป็นแบบนี้แหละค่ะ จะซื้อฟักทองสักลูกนึงยังเลือกยากแทบแย่เลยจริงๆ

 

 

 What HI-FI? : แต่ละแบรนด์ที่ทำธุรกิจอยู่ในทุกวันนี้ มีจุดแข็งอะไรที่โดดเด่นบ้างครับ?

คุณลานทิพย์ : ถ้าพี่บอกคุณไปสงสัยคุณต้องขำพี่ตายแน่เลย!!! บริษัทอื่นๆ ก็คงขำพี่มากหมือนกันแน่ๆ…พี่บอกตรงๆ เลยนะว่า พี่เลือกแบรนด์เพราะเจ้าของบริษัท…บางทีนะหลายๆ แบรนด์ที่เข้ามาหาเรา หรือเสนอให้เราเป็นผู้แทนจำหน่าย แถมมีหลายๆ คนก็เชียร์ว่าสินค้าของแบรนด์ที่เข้ามาหาดีอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องการให้พี่จับมาทำตลาดสิ รับรองว่าดีแน่…แต่ถ้ามองในมุมกลับกันว่า ถ้าเจ้าของสินค้าแบรนด์นั้นๆ ไม่มีคุณธรรมในการทำธุรกิจจะเป็นยังไง? เขาบังคับให้คุณเชียร์สินค้าแบบแทบเป็นแทบตายเป็น 5 ปี 10ปี พอติดตลาดได้ดีแล้ว ปรากฏว่า เขากลับยกสิทธิ์ในการถือสินค้าเขาไปให้เจ้าอื่นที่เขามองว่า อาจจะดีกว่าเราล่ะ…

ให้คุณลองย้อนกลับมามอง NAD ที่พี่ถืออยู่สิ ต่อให้สินค้าแบรนด์เขาจะตีตลาดบ้านเราจนได้มากขึ้นเท่าไหร่? เขาก็ไม่เคยที่จะมอง Dealer เจ้าอื่นๆ เลยนะ…ดังนั้นบรรทัดฐาน หรือหลักเกณฑ์ที่พี่จะเลือกแบรนด์ไหนมาทำตลาดนะ…พี่จะดูเจ้าของบริษัทก่อนว่า เวลาเราติดต่อเจรจากับเขาเนี่ย แล้วเขามีบุคลิกที่เป็นคนมักได้ อยากจะฟันกำไรอย่างเดียวรึเปล่า? นิสัยจริงๆ ของเขาเป็นคนที่น่ารักมั้ย?…สำหรับ Lenbrook ที่ทำธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน พอเขารู้ว่าพี่ทำงานเกี่ยวกับการกุศล…เขาก็ให้เงินมาร่วมสนับสนุนงานการกุศลด้วย อันนี้เป็นเรื่องจริงเลยที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจในตัวเขาอย่างมาก เป็นสาเหตุให้พี่ไม่ทำแบรนด์สินค้าใดๆ เลยที่จะมีตัวผลิตภัณฑ์ไปทับไลน์กับของ Lenbrook ไม่ว่าแบรนด์นั้นจะดีแค่ไหน หรือว่าให้ใครมาเชียร์ก็ตามที…เว้นแต่เฉพาะ NHT ที่สินค้าอาจจะดูคล้ายคลึงกันในส่วนของลำโพง แต่ Lenbrook เขาไม่แคร์ตรงจุดนี้ เพราะลำโพงของเขาไม่มีแบบตู้ปิดเลยสักรุ่น เลยถือว่าไม่เป็นการขายสินค้าที่ดูทับซ้อนกัน ประกอบกับที่เขาเคยก็เคยทำแบรนด์ AR มาก่อนช่วงที่เขาจะทำแบรนด์ PSB อย่างจริงจังในช่วงหลัง แล้วเขาก็รู้ว่า พี่เคยทำแบรนด์ AR มานานก่อนที่ถูกเทคโอเวอร์ไปก็เลยเข้าใจตรงจุดนี้ดี…อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตกันดีๆ จะรู้เลยว่า พี่จะเลือกสินค้าในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์มาอย่างละ 1 แบรนด์เท่านั้น เลยทำให้ดูเหมือนว่า พี่มีสินค้าน้อย…เพราะติดเกณฑ์การคัดเลือกของพี่ข้อนี้นั่นเองค่ะ

 

 What HI-FI? : มีแบรนด์ใดที่รู้สึก “ถูกใจ” เป็นพิเศษไหมครับ เพราะเหตุใด?

คุณลานทิพย์ : Oh, of course, NAD. ค่ะ…ประทับใจในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สินค้า, คนขาย และคอนเซ็ปต์ของการสร้าง พูดได้เลยว่า ประทับใจในทุกอย่างที่เป็น NAD คือ แบรนด์ NAD ซึ่งย่อมาจาก New Acoustic Dimension นี่นะ คุณต้องรู้อย่างนึงว่า ก่อนที่เค้าจะกลายมาเป็น Lenbrook Industries ได้แบบทุกวันนี้นั้น…พวกเขาเริ่มก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมาในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์ก่อน โดยทุกคนที่เป็น Dealer ของแบรนด์ AR ในอดีตทั่วทุกมุมโลก ต้องนำทุนมาลงขันกัน เพื่อทำแอมป์ออกมาสักตัวหนึ่ง ที่สามารถเล่นเข้าคู่กับลำโพงของ AR ได้อย่าง Perfect Matched ดังนั้นทุกคนที่เป็น Dealer ในตอนนั้นจึงมีส่วนร่วมหมด…

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์มันจะช้ากว่าบริษัททั่วไปอย่างมาก บางทีปีนึงได้แอมป์ออกมาตัวหนึ่ง หรืออาจอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาก็ได้ Lenbrook ก็เลยตัดสินใจขอซื้อ NAD ในรูปแบบของสหกรณ์ไป โดยคืนทุนให้กับ Dealer ทั้งหมด แล้วนำไปทำต่อเอง ด้วยการสอบถามคำแนะนำ และความคิดเห็นของ Dealer เดิมที่เคยมีหุ้นอยู่ก่อนหน้านี้…โรงงานที่ผลิตสินค้าก็ไปลงตัวที่ Panasonic ของประเทศไต้หวัน ที่มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพ เนื่องจากเขาทำแทบทุกชิ้นส่วนให้กับแบรนด์ Panasonic แถมเจ้าของโรงงานก็เป็นคนที่ทำยอดขายของ AR ได้เยอะมากๆ เลยมั่นใจหายห่วงได้เลยในเรื่องการผลิตที่โรงงานเขา และเขาพร้อมอยู่แล้ว

สินค้าตัวแรกของ NAD ที่ผลิตออกมาจากโรงงานนี้ก็คือ รุ่น 3020 อันโด่งดัง และขายดีเอามากๆ ในอดีตนั่นเองค่ะ… ซึ่งกว่าจะมาลงตัวที่นี้ได้ มีการเคยลองไปผลิต ณ โรงงานของประเทศเยอรมนีของ Boxer มาแล้ว ปรากฏว่า สู้ต้นทุนไม่ไหว เจ๊งไม่เป็นท่าเลยค่ะคุณ เพราะค่าใช้จ่าสูงมากกกกกกกก…เมื่อนำมาเทียบกับราคาสินค้าที่เราขายอยู่ อย่างไรก็ตาม พอช่วงหลังโรงงานที่เราดีลอยู่ เริ่มไปทำแบรนด์โปรตอน ส่งผลให้เกิด Conflict กันเล็กน้อย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย NAD ก็เลยจำเป็นต้องไปหาโรงงานผลิตใหม่ค่ะ…

แต่ขอเสริมนิดนึงนะคะว่า คนที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่เริ่มต้น คือ Mr.Eric (Bjørn Erik Edvardsen) ซึ่งเป็นวิศวกรใหญ่ เขาตามไปคุมงานการผลิตทุกขั้นตอน ทุกพิ้นที่ไม่ว่าจะย้ายไปผลิตที่ไหน เขาก็จะไปด้วย และรับรู้ในทุกอณูของการทำผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบเอย การประกอบเอย พูดได้เลยว่าตามไปทุกที่จริงๆ ตั้งแต่ยุค Mr.Hong ผลิตให้เขาก็ตามไปอยู่ด้วยที่ไต้หวัน จวบจนทุกวันนี้แม้ว่าเขาจะมีอายุเยอะกว่า 60 ปีได้แล้วนะคะ เขาก็ยังไม่เกษียณตัวเอง และยังคงตามไปควบคุมการทำสินค้าอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะย้ายไปทำที่ไหนก็ตามแต่ค่ะ ดังนั้นเหมือนกับว่าเราแค่อาศัยเครื่องจักรในการทำแต่ละชิ้นส่วนแค่นั้นเอง เพราะคนคุมงานจริงๆ คือ Mr.Eric ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด

 

 

What HI-FI? : ปัจจุบันดูเหมือนว่าวงการเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์จะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะตั้งราคาจำหน่ายไว้สูงมาก เหมือนกับว่าใช้การตลาดทำราคาเป็นจุดขายแบบแข่งกันแพงไม่ทราบว่า คุณลานทิพย์มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ?

คุณลานทิพย์ : พี่บอกอย่างนึงนะคะว่า เรื่องราคาเนี่ย คุณจะตั้งยังไงกันก็ได้… ดูอย่าง NHT กับ PSB ของพี่สิ ความจริงมันออกจะ Hi-End จะตายไป จริงเปล่า? แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า มันจะมีจุดสมดุลเสมอ ที่ผู้ซื้อจะซื้อ สุดท้ายแล้วก็วนกลับมาที่จุด “Equilibrium” เหมือนเดิม…ดังนั้นความรู้สึกของพี่เนี่ยจะมองที่ความสมเหตุสมผลเอาไว้ก่อน ส่วนใครจะตั้งราคายังไงก็สุดแท้แต่ พี่ก็คงไม่อยากจะร่ำจะรวยอะไรทั้งสิ้น พี่ขอมีความสุขอย่างเดียวสบายๆ ของพี่ดีกว่า มีกินอิ่มแต่ละมื้อก็พอแล้ว ไม่ว่าจะกินฟัวกราร์ (ตับห่าน) หรือข้าวต้ม จริงๆ แล้วมันก็อิ่มเหมือนกันละค่ะ เพราะฉะนั้นเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับพี่ ไม่ต้องร่ำรวยมาก ไม่ต้องขายแพง ขอแค่ขายได้ก็พอแล้วค่ะ ไม่ต้องมีเงินมาก แล้วมีทุกข์ตามมาก็สบายใจแล้วค่ะ จริงมั้ย? ธรรมดาๆ สามัญอ๊ะ…พี่ชอบ

 

 What HI-FI? : กับสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทางคุณลานทิพย์และคุณคณิต โฮ – มีการวางแนวทางไว้รับมืออย่างไรบ้างครับ? และคิดว่าสภาพอย่างนี้จะเกิดขึ้นยาวนานขนาดไหนครับ?

คุณลานทิพย์ : ในความรู้สึกของพี่นะ…ถามว่า เรามองออกมั้ยว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่แบบนี้…เรามองออกนะจริงๆ แล้ว พี่ขอพูดตรงๆ นะว่า มันมีผลมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนแล้วล่ะ พี่เคยบอกลูกน้องไว้ก่อนหน้านี้ และเตือนๆ กันไว้แล้วว่า คอยดูนะถ้ายังบริหารประเทศโดยใช้เงินกันแบบนี้ รับรองเงินหมดประเทศแน่ๆ มันจะต้องไม่มีเงินเหลือมาพัฒนาอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นพี่จะบอกลูกน้องของพี่เสมอว่า เราต้องเตรียมตัวรอรับผลกระทบที่จะตามมานะ เราจะต้องมีหนี้กันเยอะเลย…ตัวพี่เองก็เตรียมตัวเตรียมใจรอรับสถานการณ์แบบนี้ไว้อยู่แล้ว

แต่ถามว่าตอนนี้เราลำบากมั้ย? บอกตามตรงเลยว่า…ลำบากนะ เพราะว่า พี่มีลูกน้องเยอะ บริษัทของเรามีกันตั้งกว่า 50 ชีวิต อย่างไรก็ตาม…พี่กับ คุณคณิต (สามีคุณลานทิพย์) จะคิดเอาไว้เสมอว่า มีวันเวลาที่แดดออก มันก็ต้องมีวันเวลาที่ฝนตกแน่ๆ เช่นกัน…ถามว่าตอนนี้เราอยู่ได้ด้วยอะไร?…เราอยู่ได้ด้วยเงินสะสม เนื่องจากเวลาที่เราได้เงินมา เราก็ไม่ได้ใช้อะไรมากมาย เหลือมากเท่าไหร่ก็เอาใส่ไว้ในบริษัท แล้วพอเวลาที่ค้าขายไม่ดี เราก็เลยมีเงินที่เก็บสะสมไว้ ที่จะนำมา Fall Back ตรงนี้ได้ เปรียบเสมือนกับตัวกระรอกที่เก็บเอาลูกนัทไปใส่ไว้ในต้นไม้ เพื่อเก็บไว้กินยามเมื่อหน้าหนาวมาถึง ซึ่งมันจะออกไปหาอาหารกินไม่ได้ ก็จำต้องหยิบเอาลูกนัทที่เก็บไว้มาแทะๆๆ เอาเพื่อประทังชีพ จนกว่าที่ฤดูใบไม้ผลิจะมาถึง จึงจะออกไปหาอาหารได้อีกครั้ง ประมาณนั้นเลย…แล้วเราก็คิดว่าเศรษฐกิจในปีนี้มันไม่ดีขึ้นหรอก ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่า พอเมื่อรัฐบาลเริ่มต้นอัดฉีดเงินสนับสนุนเข้าไปในระบบคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง

แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอย่างเช่น ภัยแล้ง ที่ไม่เป็นผลดีต่อระบบกสิกรรมอย่างแน่นอน…เราก็ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งพี่ไม่แน่ใจเรื่องของเศรษฐกิจปีหน้า ท้ายที่สุดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสิ่งเดียวที่เราต้องทำ คือ “เราต้องอยู่ให้ได้” ชนิดที่เรียกว่า ต้องรัดเข็มขัดกันแบบสุดๆ เลยทีเดียว อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด …ตอนนี้พี่ทำงานแบบไม่รับเงินเดือนมาสองปีแล้วนะ เพราะพี่คิดว่า แทนที่เจ้านายจะมาเอาเงินเดือนออกไป สู้เก็บไว้ให้ลูกน้องใช้น่าจะดีกว่า…พี่เลยเลือกที่จะทำงานฟรี ไม่เชื่อคุณลองสังเกตดูดีๆ สิ พี่หน้าแห๊ง แห้ง เชียว สงสัยอดอยากปากแห้งมั้งคะ (5555+)

 

 

What HI-FI? : คุณลานทิพย์ และคุณคณิต โฮ – วางแผนงานในการขยายโคไน้ซ์อิเล็คโทรนิค และบ้านทวาทศินไปสู่การเปิดสาขาเพิ่มเติมขึ้นไหมครับ?

คุณลานทิพย์ : โอยยย!!! ไม่ไหวแล้ว สาขาเราเยอะ ทั้งที่อยู่ตรงนี้ (“บ้านทวาทศิน”), ที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ที่เซ็นทรัลเวิร์ด, ที่เชียงใหม่ และก็ที่นครศรีธรรมราช แถมยังมีคนของเราไปยืนอยู่ที่หาดใหญ่อีกด้วยนะ …ตอนนี้ยังๆๆๆ ถ้าพี่จะไปเปิดเนี่ย ขอคิดดูก่อน…สงสัยจะเป็นที่ประเทศลาวมั้ง อันนี้พูดเล่นนะ!!! แต่ถ้าถามว่าพี่คิดจะนำสินค้าไปกระจายตลาด หรือขายสู่ประเทศอื่นรึเปล่า? อันนี้เราทำนะคะ อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่สนใจชุด Home Installation ของเรา แล้วติดต่อเข้ามาให้เราไปติดตั้งให้ที่ประเทศพม่า เคสนั้นเราก็ไปทำให้นะ คือ เรายินดีที่จะออกไปทำ…

ให้พูดตรงๆ นะคะ สาขาที่เรามีตอนนี้เราก็สามารถคัฟเวอร์ได้หมดแล้ว เลยไม่จำเป็นต้องเปิดเพิ่มอีก เท่านี้ก็พอแล้ว ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คงเป็นเพราะว่า พี่ไม่ได้คิดที่จะขายเอากำไรจริงๆ จังๆ ด้วยมั้ง พี่แค่อยากให้ลูกค้ามีที่ฟังเพลง ยิ่งเฉพาะในต่างจังหวัดด้วยแล้ว ถ้าเราไม่ไปเปิดโชว์รูมให้ลูกค้าเหล่านั้นก็ไม่รู้จะไปทดลองฟังที่ไหนจริงมั้ยล่ะคะ? อย่างน้อยคนอยู่ภาคเหนือเราก็แนะนำให้เขาไปที่สาขาเชียงใหม่ได้ นอกจากนี้เราก็หันมาให้ความสำคัญในการทำตลาดด้าน Home Installation แบบ Custom บริการถึงที่ด้วยทีมงานที่มีอีกด้วย…ขนาดระบบเสียงในโบกี้รถไฟพิเศษ เรายังทำได้อย่างดีมาแล้วนะคะ….

 

————————————-ระหว่างดำเนินการสัมภาษณ์เข้าสู่ช่วงท้ายทางทีมงานของ What HI-FI? ก็ได้รับเกียรติจาก คุณบุ๋ม-นัฐธิกา โฮ ปรางค์วัฒนานนท์ บุตรสาวคนเดียวของ คุณลานทิพย์ ที่เสร็จภารกิจจากการดูแลลูกค้า มาร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันเป็นมุมมองที่แตกต่าง และเป็นประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย——————————————

 

 

What HI-FI? : ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ๆ ดูจะพึงพอใจในความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีดิจิตอลสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ทุกที่-ทุกเวลาการใช้เวลามานั่งฟังชุดเครื่องเสียงดีๆเป็นกิจจะลักษณะเพื่อความผ่อนคลายหรือเพื่อความบันเทิงดูจะยากขึ้นๆ การทำตลาดจึงลำบากขึ้นในเรื่องนี้คุณลานทิพย์มีทัศนะเช่นไรครับ?

คุณลานทิพย์ : พี่มองว่า พวกเขาไม่มานั่งเสพแบบเราๆ แล้วนะ แต่พวกเขาจะนำดนตรีไปอีกระดับเหมือนเป็น Background ของชีวิตเลยมากกว่า…พี่ยกตัวอย่างใกล้ตัวเลยละกันอย่าง บุ๋ม เองเนี่ย…แม้ว่าจะดูเหมือนเขาถูกรวมอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นสังคมก้มหน้าก็จริง แต่ บุ๋ม แยกออกมาอีกประเภทหนึ่งเลย คือ เป็นวัยรุ่นที่ก้มหน้าลงไป เพื่อเลือกเพลงที่จะฟังต่างหาก เค้าก็เลือกเพลงที่เค้าอยากฟังตอนนั้น หรือบางทีเค้าก็มีมาแย่งโทรศัพท์ของแม่ไป เพื่อเอาไปฟังเพลงโบราณๆ ยุคของพี่ก็มีเหมือนกัน

ตรงจุดนี้ก็เป็นเหมือนการที่เค้าจะหัดฟังเพลงไปในตัว…พี่ว่าเด็กยุคนี้ฟังหมดแหละไม่ว่าจะเป็นเพลงยุคไหน เพียงแต่รูปแบบการฟังอาจจะเปลี่ยนไปบ้างเท่านั้นเอง ถึงได้บอกว่าต้องมีระบบ Streaming Music เค้าจะได้สะดวกสบายในการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นผู้ให้บริการต่างๆ เช่น Tidal, Apple Music หรือจะเป็น Deezer หรือเจ้าอื่นๆ เพราะนักฟังเพลงในยุคนี้ที่เป็นวัยรุ่นเค้ายินดีที่จะจ่าย เพื่อให้ได้เข้าถึงการฟังเพลงเหล่านี้นะ…แค่รูปแบบมันเปลี่ยนไป แต่ยังไงพวกเค้าก็ยังคงมีดนตรีในหัวใจเหมือนเราๆ น่ะแหละ ไม่งั้นคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มาจัดในประเทศไทยเนี่ยยยย…ตั๋วจะเต็ม ตั๋วจะหมดเหรอ? ดูอย่าง Maroon 5 สิคะล่าสุด สาวๆ ออกไปดูร้องกรี๊ดๆๆ แหกปากกันร้องเยอะแยะ จะตายไป…ทุกๆ อย่างก็คล้ายกันแหละแค่เพลงที่เค้าฟังไม่เหมือนยุคเราฟังเท่านั้นเองค่ะ

 

คุณบุ๋ม-นัฐธิกา : ตัวบุ๋มเองมองว่า ตลาดมันก็อยู่ได้นะคะ…อย่างบุ๋มอยากจะพูดในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ คือ เรามองว่าเครื่องเสียงยุคเก่าๆ มันเข้าถึงยากจังเลย…ทำไมมันต้องมีสายเชื่อมต่อ อะไรเยอะแยะ วุ่นวาย แต่ถ้าถามว่าตัวเราเองต้องการคุณภาพเสียงที่ดีในการฟังเพลงมั้ย? พอเริ่มทำงานด้านนี้แล้วเราก็ต้องการนะคะ…พอทำงานไปเริ่มมีเงินเก็บ เราก็ต้องการอะไรที่มีคุณภาพมากขึ้น ก็เริ่มหันมามองชุดเครื่องเสียงแบบจริงๆ จังๆ แต่ถ้าย้อนไปสมัยก่อนที่เรายังเรียนอยู่…วัยรุ่นทั่วไป ย่อมต้องการความสะดวกสบายในการฟังเพลงเป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว เราก็เลือกใช้อะไรที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เราดีกว่า ก็เลยเริ่มต้นจาก NAD Viso 1 ที่เป็นตัว Plug&Play ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ใช้คู่กันกับ iPod ที่มีอยู่ได้พอดี…

ซึ่งถ้าถามถึงเรื่องคุณภาพเสียงก็ถือว่าดีเลย แถมพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกอีกต่างหาก ณ ตอนนั้นเราก็แฮปปี้กับสิ่งที่เรามีแล้ว…แต่พอมาได้ทำงาน โลกทัศน์เราเกี่ยวกับความรู้ตรงจุดนี้ก็กว้างขึ้น ต้องการฟังอะไรที่ดีขึ้น พิเศษขึ้น ก็มีสินค้าอย่าง BLUESOUND เข้ามาพอดี ที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการ Streaming Music ได้ หรือบางทีเราอยากฟังเพลงเก่าๆ ของคุณแม่ แต่ไม่อยากไปแตะต้องตัว CD ที่เก็บสะสมเอาไว้ เราก็แค่ยืมมา Rip เก็บเอาไว้ได้ พออยากฟังก็แค่เลือกเอาจากโทรศัพท์แค่นั้นเอง หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวนึงอย่าง BLUESOUND Pulse ที่พอกลับไปที่บ้าน ก็มีการแย่งกันเชื่อมต่อกับคุณพ่อ…ใครเร็วกว่าก็จะได้ฟังเพลงนั้นไปค่ะ…

ส่วนตัวแล้วบุ๋มมองว่า ตลาดมันเพิ่มเข้ามา มันไม่ได้ลดลง หรือแคบลงอะไรเลย แค่เพิ่ม Segment เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้นเท่านั้นค่ะแล้วก็มองว่าเรื่องการฟังเพลง หรือเรื่องคุณภาพของเพลงที่เราเลือกเนี่ย มันขึ้นอยู่กับการ Educate คนฟัง…อย่างตอนเด็กๆ คุณแม่ก็เคยวิจารณ์ที่เราฟังเพลงผ่าน Headphone ว่า ฟังเข้าไปได้ยังไง…เสียงเพลงห่วยแตก เราก็เริ่มเข้าใจ และซึมซับมาแล้วว่า ตอนนั้นคุณแม่หมายความถึงอะไร ตอนที่เราได้รับประสบการณ์ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ฟังเยอะขึ้น แยกแยะอะไรได้ดีขึ้น…ถึงตอนนี้เวลาบุ๋มจะแนะนำเพลงให้เพื่อนฟังแต่ละเพลงเนี่ย ต้องเป็นแบบ Hi-Res เท่านั้น ไม่งั้นเราจะไม่กล้าให้เค้าฟัง ถ้าเสียงมันไม่ดี…บางทีกลายเป็นว่า เราคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องก็มี แต่เราก็ค่อยๆ สอน และถ่ายทอดข้อมูลให้เพื่อนเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยค่ะ…แต่ด้านชุดเครื่องเสียงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันกับบุ๋ม พอมีบ้าน โตขึ้น ก็เริ่มมีเข้ามาถามถึงชุดเครื่องเสียงให้บุ๋มช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาเรื่องชุดเครื่องเสียงบ้านให้หน่อยเหมือนกัน

 

What HI-FI? : ปัจจุบันแนวโน้มของการเล่นแผ่นเสียงจากทั่วโลก นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าคุณลานทิพย์ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ?

คุณลานทิพย์ : ขอเรียนตามตรงว่า เราไม่ Serve ตรงจุดนี้ค่ะ เพราะเรามีความรู้สึกอย่างนึงว่า ราคาของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สมเหตุสมผลไม่มีเลย อย่างที่พี่กะบุ๋มไปดูงานเครื่องเสียงแต่ละที่มา ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง หรือมิวนิค ก็ตาม ราคาเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องหนึ่งมีแต่ระดับหลักแสน หรือหลักล้านขึ้นไปแทบทั้งนั้น…เมื่อมาพิจารณากันจริงๆ แล้วเนี่ย มนุษย์ธรรมดา เดินดินกินข้าวแกง พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ไม่มากไม่น้อย พวกเค้าจะมีปัญญาซื้อเครื่องราคานั้นมาเล่น เพื่อให้ได้รับความสุข จริงๆ เหรอ…แถมแผ่นๆ นึง ราคาเป็นพันๆ บาท ทั้งๆ ที่ย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อนรุ่นของพี่ ขายกันอย่างแพงก็หลักร้อย สามสี่ร้อย เท่านั้น

พี่เลยมอว่า คนที่จะเข้าถึงโลกของ Vinyl ได้จริงๆ ต้องเป็นคนมีตังค์เท่านั้นนะ พูดง่ายๆ อย่างใจของพี่เองตอนนี้นะ มุ่งมาทาง Streaming แล้ว…เพราะมันใช้งานได้หลากหลายมากขึ้นเยอะ และอีกอย่างฟอร์แมตของเพลงที่เล่นในระบบนี้ก็เป็น High Resolution แล้ว ซึ่งคุณภาพเสียงก็ออกมาดีแบบรับประกันได้…เลยไม่คิดที่จะกลับไปเล่นแผ่นเสียงแล้ว มันแพงไป ยุ่งยากในการใช้งาน ต้องทำให้มันสะอาดก่อนจะเล่น กว่าจะฟังได้แต่ละที ต้องมานั่งเช็ดแผ่น ทำความสะอาดหัวเข็ม จูนนั่นจูนนี่ กว่าจะได้ฟัง…พี่เลยมองว่ามันเหมาะสำหรับผู้ที่เป็น Specialize ด้านนี้จริงๆ มากกว่า แถมต้องมีเวลาว่างเยอะอีกต่างหาก รวมๆ เหตุผลได้ประมาณนี้ ขออนุญาตอาศัยความเป็นผู้หญิงตัดสินละกันค่ะว่า…ไม่คุ้มที่จะเล่น แต่ถ้าสมมติพี่มีเครื่องอยู่จะกลับไปเล่นคงไม่แปลกอะไรมั้ง เพราะแผ่นสะสมที่พี่เก็บไว้ก็มีเยอะอยู่นะ…

คุณบุ๋ม-นัฐธิกา : บุ๋มว่า มันยุ่งยาก และต้องใช้เวลาเยอะ คงต้องเหมาะกับคนที่ว่างจริงๆ แบบฮิปสเตอร์มั้งคะ ความจริงแล้วมันก็ดูเท่ และคลาสสิกไปอีกแบบ แต่จากที่เคยไปนั่งฟังบรรยายที่คุณป็อก – อธิวัฒน์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับเทิร์นเทเบิลกว่า 2 ชม. แล้วก็จดเลคเชอร์ไปเยอะมากๆ ปรากฏว่า ยังดูเหมือนว่า เรายังไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงในจุดนี้ เลยขอผ่านดีกว่าค่ะ

 

What HI-FI? : แล้วในส่วนของโลกดิจิตอลอย่างไฟล์เพลงระดับ “High Resolution” คุณลานทิพย์ มีความคิดเห็นอย่างไรกับฟอร์แมทนี้ที่กำลังมาแรงเช่นกันครับ?

คุณลานทิพย์ : พูดรวมๆ ถึงระบบ Streaming Music เลยละกันนะคะ…พี่มองว่ามันเป็นความสะดวกสบายที่เราเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งพี่มองว่าเป็นอะไรที่เข้ากับลักษณะกับการใช้ชีวิตของพี่ได้มากกว่า เนื่องจากพี่เป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้ว เดี๋ยวทำงาน เดินไปทำกับข้าว เดินไปจัดโต๊ะอาหาร หรือทำงาน พี่ก็สามารถควบคุม และฟังเพลงไปได้ตลอดผ่านแค่การบังคับผ่านมือถือแค่นั้น ซึ่งสะดวกสบายมาก ไม่ต้องเสียเวลามากเหมือนเล่นแผ่นเสียงที่แปบเดียวก็หมดหน้า ต้องเดินไปเปลี่ยนใหม่ คอยสังเกตตลอดเวลา แบบว่าทำอย่างอื่นไปด้วยไม่ได้เลย เทียบเวลาเท่าๆ กันการเสพเพลงผ่านระบบ Streaming นี่ฟังได้เกือบ 3 เพลง ขณะที่เวลาเท่าๆ กันแผ่นเสียงอาจจะเล่นไปได้เพลงเดียวเท่านั้น

ส่วนในเรื่องของคุณภาพเสียงก็หายห่วงได้เลยค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ไฟล์ที่ทำออกมามันเป็น Hi-Res หมดแล้ว จึงมั่นใจได้เลยว่ามันไม่มีการบีบอัด ลดรูป ลดคุณภาพใดๆ ไป นอกจากนี้พวกผู้ให้บริการไฟล์ Hi-Res ยกตัวอย่างเช่น Tidal มีฟีเจอร์เสริมที่น่าสนใจมาก คือ Internet Radio ที่ทำให้เราสามารถฟังเพลงเพราะๆ จากคลื่นวิทยุในต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย, ชิคาโก้, สหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นสิงคโปร์ก็ตามแต่ ซึ่งสถานีพวกนี้เปิดแต่เพลงเพราะๆ ทั้งนั้น เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับคนฟังเพลงอย่างมากเลยทีเดียว บางรายการก็ดีมากเป็นรายการเพลงคลาสสิกที่นอกจากจะเปิดเพลงแนวนี้ทั้งวัน ยังมีการเสริมความรู้ให้คนฟังรู้จักเพลงในแต่ละยุคอีกด้วยว่า ยุคไหนเป็นยังไง? เหมือนรายการวิทยุที่คุณ พิชัย วาสนาส่ง และอาจารย์ สมโภชน์ รอดบุญ ได้เคยทำเมื่อสมัยก่อน หรือของอาจารย์ สีส้ม เอี่ยมสรรพางค์ ที่วิทยุจุฬาฯ เราต้องคอยฟังตอนเวลานั้นเวลานี้ แต่คลื่นนี้ฟังได้ทั้งวัน โดยพี่มองว่า จุดนี้เป็น Education ที่เป็นประโยชน์ต่อคนฟังมากๆ เลยทีเดียว

คุณบุ๋ม-นัฐธิกา : ตัวบุ๋มเอง อยากฝากให้หลายๆ คนเข้าใจถึงผู้ให้บริการในจุดนี้ว่า ราคาที่จ่ายต่อเดือนแลกกับคุณภาพของเพลงที่ได้รับนั้นมันคุ้มเอามากๆ เลยนะคะ เฉลี่ยแล้วตกเดือนนึงแค่ 100 กว่าบาทเท่านั้น แต่คุณสามารถเข้าถึงเพลงได้หลากหลายกว่าที่คุณฟังตามหน้าปัดวิทยุในเมืองไทยเป็นล้านๆ เพลง ในคุณภาพเสียงที่ดีกว่าไฟล์ปกติเอามากๆ แบบเทียบกันไม่ติด…แต่บางครั้งหลายคนกลับมองว่า คนทำอะไรถูกต้องอย่างบุ๋ม คือ “คนโง่” ซะอย่างงั้น เนื่องจากเค้ามองว่า ทำไมเราต้องเสียเงินไปเช่าเพลง ทั้งๆ ที่หาหนทางโหลดฟรีได้? กลับกลายเป็นเรื่องแปลกแบบนั้นไป แทนที่ บุ๋ม ซะอีกที่ควรจะเป็นฝ่ายภูมิใจในสิ่งที่ทำ เพราะมันถูกลิขสิทธ์ ตรงจุดนี้อยากให้หลายๆ คนที่เข้าใจอะไรแบบผิดๆ ปรับเปลี่ยนนิสัยหันมาทำอะไรแบบถูกต้อง ตรงไปตรงมา คงเป็นสิ่งที่น่าจะดีกว่านะคะ

 

What HI-FI? : มองตลาดเครื่องเสียง-โฮมเธียเตอร์ ของบ้านเราในยุคของ AEC ว่าจะเป็นเช่นไรครับ?

คุณลานทิพย์ : พี่คิดว่า จริงๆ แล้วในยุคที่จะเป็น AEC เนี่ย…มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้บ้างตรงที่ประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสได้ฟังเพลงมากขึ้น หลากหลายขึ้น พี่คิดว่าที่แน่นอนเลย ก็คือ เวียดนาม จะมีโอกาสมากขึ้นอีกเยอะ เพราะเค้าเป็นประเทศที่พัฒนาได้เร็ว แล้วดูมีโอกาสที่จะเปิดตลาดเครื่องเสียงในประเทศตนเองได้เร็วที่สุด ซึ่งน่าจะดีกว่ามาเปิดตลาดที่ไทย เพราะค่าครองชีพของเค้ายังต่ำกว่าบ้านเราเยอะ ส่วนด้านลาว กับพม่า คนที่จะเข้าถึงวงการเครื่องเสียงได้ก็คงต้องเป็นกลุ่มที่มีฐานะหน่อย แต่สำหรับประเทศไทยเองแล้วพี่ว่า คงไม่ค่อยเปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ พี่ไม่คิดว่า AEC จะมีอิทธิพลกับการฟังเพลงในบ้านเรามากนัก เพราะเราคงไม่ไปฟังเพลงของประเทศอื่นในกลุ่มมากขึ้นนะ แต่เพลงของเราเองนี่แหละที่อาจจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาษาเพื่อนบ้าน…นอกจากนี้พี่ก็คิดว่า การที่เราจะไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเสียงที่ต่างประเทศตอนนี้มันดูอาจไม่ใช่เวลาที่สมควรเท่าไหร่นัก คงต้องเปิดตลาดการค้าจุดนี้ไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่คงไม่เหมาะที่จะไปลงทุนในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน เท่าที่พอทราบมามีโรงานผลิตเครื่องเสียงไปตั้งอยู่ในแถบเวียดนามพอสมควรแล้ว เนื่องจากรายได้แรงงานขั้นต่ำของเขาถูกกว่าเรามาก อาจเป็นเพราะค่าเงินหยวนของจีนถีบตัวสูงขึ้น นักลงทุนในจีนก็พยายามออกมาตั้งโรงงานนอกประเทศที่ค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่ต่ำกว่าเช่นที่เวียดนาม ต่อไปพี่มองว่า เครื่องเสียงต่างๆ จะผลิตออกมาจากเวียดนามเยอะเลยทีเดียว พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ นักลงทุนต่างชาติ อาจจะไปลงทุนใน พม่า หรือลาว ก็เป็นได้ เพราะปัจจัยด้านค่าเงินแรงงานขั้นต่ำที่ถูกกว่าไทยเยอะ บ้านเราเลยไม่เหมาะที่จะทำโรงงานอุตสาหกรรมในมุมมองของชาวต่างชาติ แต่สิ่งที่บ้านเรายังทำตลาดได้ดีอยู่เท่าที่รู้มา คือ “ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์” ค่ะ…อีกประเทศหนึ่งที่น่ากลัวมากๆ เหมือนเสือซุ่ม คือ มาเลเซีย ที่เค้าใช้วิธีการแข่งกับไทยโดยเอาเงินไปลงทุนในเวียดนามแบบเงียบๆ นั่นเอง

 

คุณบุ๋ม-นัฐธิกา : บุ๋ม มองคล้ายๆ คุณแม่ว่า AEC คงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อวงการเครื่องเสียงบ้านเราสักเท่าไหร่…ดังนั้นขอพูดในด้านการเตรียมความพร้อมอื่นๆ ก็แล้วกันนะคะ เช่น ทางเราก็คงจะมีการอบรมภาษาอังกฤษให้กับพนักงานในบริษัท เพื่อใช้ติดต่อประสานงานกับลูกค้าต่างชาติให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น เพราะช่วงหลังๆ มา บุ๋ม จะได้รับอีเมล์ติดต่องานจากต่างประเทศเยอะมากๆ มีการไปติดตั้งระบบเสียงที่พม่า หรือติดตั้งให้กับชาวต่างชาติในประเทศไทยอย่าง ภูเก็ต หรือสมุย เป็นต้น บุ๋ม เลยมองว่า ภาษาเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนา และฝึกอบรมให้กับพนักงานในองค์กรค่ะ

 

 

What HI-FI? : ปิดท้ายกันตรงนี้ คุณลานทิพย์ มีอะไรจะฝากไว้ไปถึงท่านผู้อ่าน และลูกค้าบ้างไหมครับ?

คุณลานทิพย์ : อันนี้พี่มีเรื่องนึงที่สำคัญมากที่อยากบอก และให้ความรู้กับลูกค้า คือเครื่องเสียงสมัยก่อนอย่าง NAD 3020 ที่มีมากว่า 30 ปีแล้ว…เวลาเครื่องมีปัญหาเสียขึ้นมา เรายังพอหาอะไหล่ที่ใกล้เคียงกัน หรือดัดแปลงเอาของรุ่นนั้นรุ่นนี้มาใส่ เพื่อซ่อมทดแทนกันให้เครื่องกลับมาใช้ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก เพราะระบบสมัยก่อนมันเป็นทรานซิสเตอร์ แบบชิ้นต่อชิ้น เสียตัวไหนเปลี่ยนตัวนั้นได้ ซึ่งมันต่างจากสมัยนี้มากที่เครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่เขาทำออกมากันเนี่ย เวลาเสียขึ้นมา มันเปลี่ยนแบบทีละชิ้นแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว เขาเปลี่ยนมาใช้แบบยกบอร์ดทั้งหมด คือ ต่อให้เกิดเสียแค่จุดเดียวก็ตามที ยังไงคุณก็ต้องเปลี่ยนยกบอร์ดอยู่ดี ส่งผลให้ราคาเวลาซ่อมมันออกมาแพงพอๆ กับซื้อใหม่…

บางครั้งลูกค้าไม่เข้าใจในจุดนี้เลยว่า ทำไมเครื่องเสียงบางรุ่นผ่านไปแค่ 10 ปีเองถึงไม่มีอะไหล่ ให้เปลี่ยนแล้ว ทำไมรุ่นเก่าๆ กว่านี้ถึงซ่อมได้ คิดไปเองว่าทางดีลเลอร์ไม่อยากซ่อมให้ ไม่ใส่ใจลูกค้า โดยแท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เรานี่อยากซ่อมให้ลูกค้าใจจะขาด แต่ฝรั่งเขาไม่ได้ส่งอะไหล่มาให้เราเลย แค่แนะนำให้เปลี่ยนบอร์ดนี้บอร์ดนั้นเลย เราเคยทวงถามไปแล้วว่าทำไมเขาไม่ยอมส่งอะไหล่แบบชิ้นให้เรา ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ OEM ไม่ยอมทำอะไหล่แบบแยกชิ้น มีแต่เป็นแพ็คทั้งหมด…สาเหตุมันมาจากการเปลี่ยนแบบยกบอร์ดนี่แหละค่ะ ที่ไม่สามารถให้เราสต็อคอะไหล่ได้

ที่สำคัญตอนนี้ไม่มีใครเขาสต็อคอะไหล่กันหรอกค่ะ เพราะต้นทุนมันสูงมาก ดังนั้นจึงอยากฝากให้ทุกคนดูแลเครื่องกันดีๆ อย่าใช้หักโหมแบบเก่า โดยคิดเอาว่าถ้าเสียก็ซ่อมได้…พี่เลยต้องการเรียนให้ลูกค้าทำความเข้าใจในจุดนี้ค่ะ นอกจากนี้อยากฝากเพิ่มเติมไปถึงลูกค้าที่ยังชอบเล่นเครื่องเล่น CD อยู่ว่า ขอให้เตรียมใจล่วงหน้าได้เลย เพราะ CD กำลังจะหมดไปจากยุคนี้ในไม่ช้า ขอให้ดูแลรักษาตัวเครื่องเล่นของตัวเองให้ดีๆ เพราะถ้าเสียขึ้นมาโรงงาน OEM ที่ทำอะไหล่สำคัญๆ อย่างตัวหัวอ่าน กำลังจะเลิกผลิตชิ้นส่วนนี้แล้ว เมื่อไม่มีหัวอ่านผลที่ตามมาก็คือ Mechanism มันไม่มีแล้วใครจะผลิตแผ่น CD ที่เป็น Source ออกมาล่ะคะ…ต้องทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า อดีตมันก็อย่างนึง อนาคตมันก็อย่างนึง โลกมันหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ของเสียมันแทบจะซ่อมไม่ได้แล้วทั้งนั้น มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

คุณบุ๋ม-นัฐธิกา : สิ่งที่บุ๋มอยากฝากบอกไปถึงลูกค้า ก็คือ อยากให้ลูกค้าใจเย็นๆ ลงหน่อย ในเรื่องของการรอสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่เราจะนำเข้ามาขายในประเทศไทย เพราะขั้นตอนจริงๆ มันไม่ใช่ต่างประเทศเปิดตัวปุ๊บ พรุ่งนี้เราจะสั่งเข้ามาได้เลย มันต้องผ่านกระบวนการนำเข้าที่ถูกต้องหลากหลายขั้นตอนมากๆ ที่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ยกตัวอย่างเช่น BLUESOUND ก็ได้ กว่าจะได้ขายจริงก็เกือบปีเหมือนกัน เนื่องจากเราทำธุรกิจแบบใสซื่อมือสะอาด ตรงไปตรงมา ภาษีก็จ่ายครบถ้วน ไม่มีนอกมีใน ขั้นตอนต่างๆ มันก็เลยช้าไปบ้าง เลยอยากขอให้ลูกค้าช่วยทำความเข้าใจในจุดนี้ด้วยค่ะ…บางทีแค่นัดคิวกับทางสมอ.ก็ 5 เดือนแล้ว ส่งเครื่องไปทดสอบแล้วก็รอผลเป็นเดือนๆ อีก กว่าจะได้ไปตรวจโรงงานก็อีก 3 เดือน รอขอใบอนุญาตอีก 3 เดือนอะไรประมาณนี้…เลยอยากจะบอกให้ลูกค้าช่วยใจเย็นลงนิดนึง อดใจรอกันหน่อย เรานำเข้ามาอย่างแน่นอนค่ะ

 

What HI-FI? : ขอบคุณมากครับ

Exit mobile version