What HI-FI? Thailand

Turntable never die ! (2)

Mongkol Oumroengsri

ทำไม Turntable ถึงคงกระพัน ! …ผมจะนำพาท่านไปพบคำตอบ

หลังจากนำพาคุณไปทำความรู้จักกับ Turntable ให้ลึกซึ้งกันมาแล้วในตอน (1) ที่ผ่านไป …เริ่มจากที่มาที่ไปของ Turntable, เทคโนโลยีอะไรที่ก่อกำเนิด Turntable มาครั้งนี้เป็นตอน (2) ผมจะมาต่อด้วยเรื่องระบบการทำงานของ Turntable มีกี่รูปแบบ, อุปกรณ์เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง, คู่แข่งของ Turntable และสุดท้าย – การเล่น Turntable ให้คุณภาพเสียงที่ดีจริงรึไม่ดีไหมครับ แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาภาคต่อ ขออนุญาตย้อนรอยเรื่องราวในตอนที่ผ่านมากันสักนิด…

Turntable หรือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นนับได้ว่ามีพัฒนาการต่อเนื่องมาจาก “เครื่องเล่นจานเสียง” หรือ Gramophone ซึ่งในบ้านเรามักจะหมายถึง เครื่องเล่นแผ่นครั่ง ที่ใช้หลักการทำงานเป็นแบบไขลาน (เป็นระบบทางกล ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง) ใช้เล่นกับจานเสียง หรือ แผ่นครั่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 10 นิ้ว (ระยะหลังมีทำขนาด 12 นิ้ว ออกมาด้วย) “แผ่นครั่ง” จะถูกหมุนวนรอบด้วยความเร็วคงที่ 78 รอบต่อนาที หรือ 78 round per minute (RPM) โดยจะมีเข็มโลหะ (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า needle) เป็นตัวกลาง วางในร่องแผ่น (groove) ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนขณะเคลื่อนตัวไปบนร่องแผ่น แล้วส่งต่อแรงสั่นสะเทือนนั้นไปสู่แผ่นไดอะแฟรม (diaphragm) แปลงเป็นคลื่นเสียงให้คุณปู่คุณย่าท่านได้รับฟัง บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีโทรโข่ง หรือส่วนปากแตร (horn) มาสวมต่อจากแผ่นไดอะแฟรมเพื่อรวมรวมคลื่นเสียงนั้นให้ดังขึ้นกว่าปกติ (ทำนองคล้ายๆ เอามือป้องปากเวลาตะโกน) ในเวลาที่ต้องการฟังเสียงดังๆ ในห้องกว้างๆ แต่เนื่องด้วยคุณภาพเสียงที่อู้อี้ๆ ออกทางแหลมแตกพร่า ฟังไม่ไพเราะระรื่นหู ไม่มีความเป็นไฮ-ไฟเดลิตี้ (Hi-Fi) ส่งผลให้ “เครื่องเล่นจานเสียง” กลายเป็นของอนุรักษ์ และเครื่องประดับบ้านระดับหรูที่ไม่มีใครนิยมนำมาใช้เปิดฟังกันอีกแล้วในปัจจุบัน

ส่วนเทคโนโลยีที่ก่อกำเนิด Turntable ในเวลาต่อมา ก่อนที่โลกจะรู้จักกับการเล่นแผ่นครั่งนั้น …แรกเริ่มเดิมทีในปีคศ. 1857 นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส Édouard-Léon Scott de Martinville ได้จัดแสดงเครื่องบันทึกเสียงของเขา ซึ่งใช้ไดอะแฟรมแบบสั่น (vibrating diaphragm) และสไตลัส (stylus) เพื่อบันทึกคลื่นเสียง โดยการเคลื่อนตามไปบนแผ่นกระดาษ แต่นั่นแค่สามารถเห็นภาพคลื่นเสียงเท่านั้น และไม่สามารถเล่นกลับมาเป็นคลื่นเสียงได้ ทว่าด้วยแนวคิดนี้นำไปสู่การประดิษฐ์ ‘กระบอกเสียง’ (cylinder) ของโธมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ในปีคศ. 1877 (พศ.2420) ซึ่งกล่าวได้ว่านั่นคือ ‘บรรพบุรุษของเครื่องเล่นแผ่นครั่ง และแผ่นเสียง’ ล่ะนะครับ – จากนี้เราก็จะมาตามต่อกันในหัวข้อ “ระบบการทำงานของ Turntable มีกี่รูปแบบ”

ระบบการทำงานของ Turntable สามารถแบ่งหลักๆ ได้เป็น 3 รูปแบบ ตามลักษณะของระบบขับหมุนที่ใช้ เนื่องจากการเล่นแผ่นเสียงนั้น จำเป็นจะต้องทำให้แผ่นเสียงหมุนวนเป็นจำนวนรอบต่อนาทีตามที่กำหนดไว้สำหรับแผ่นเสียงนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าหากจำนวนรอบหมุนที่ใช้เล่นไม่ตรงกับจำนวนรอบต่อนาทีตามที่กำหนดไว้ ก็จะส่งผลให้เสียงที่รับฟังจากแผ่นเสียงนั้นๆ ผิดเพี้ยนไป ไม่ตรงกับเสียงแท้จริง

อย่างเช่น แผ่นเสียง (ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกขานกันว่า vinyl เนื่องจากใช้วัสดุประเภทพลาสิกมาขึ้นรูปแทนที่แผ่นครั่ง ทำให้มีน้ำหนักเบา และทนทานขึ้น) ขนาด 12 นิ้ว (มักเรียกขานกันว่า LP หรือ Long Play) ตามมาตรฐานสากลจะถูกกำหนดให้มีจำนวนรอบของการหมุนวน 33 1/3 รอบต่อนาที ในขณะที่แผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว (มักเรียกขานกันว่า Single) ตามมาตรฐานจะถูกกำหนดให้มีจำนวนรอบของการหมุนวน 45 รอบต่อนาที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจมีบ้างที่บางครั้งจะพบเจอแผ่นเสียงซึ่งถูกผลิตขึ้นมาอย่างจงใจให้ตรงข้ามกัน แผ่นเสียง LP ขนาด 12 นิ้วใช้เล่นที่จำนวนรอบ 45 รอบต่อนาที หรือ 45 RPM (round per minute) และแผ่นเสียง Single ขนาด 7 นิ้ว กลับถูกใช้เล่นที่จำนวนรอบ 33 1/3  รอบต่อนาที หรือ 33 1/3  RPM

ซึ่งเมื่อจำนวนรอบของการหมุนวน หรือ RPM (round per minute) มีความจำเป็นต่อการเล่นแผ่นเสียง สิ่งที่จะก่อให้เกิดจำนวนรอบของการหมุนวน ซึ่งก็คือ ระบบขับหมุน (driven system) รูปแบบต่างๆ จึงถูกจัดแบ่งไว้เป็น 3 รูปแบบ ตามประเภทการทำงานของระบบขับหมุน ดังนี้ครับ :-

ระบบขับหมุนด้วยลูกยาง หรือ Idler Wheel

1. Idler Wheel หรือ ระบบขับหมุนด้วยลูกยาง เป็นระบบขับเคลื่อนที่ใช้ในเครื่องรุ่นเก่าๆ ระบบขับหมุนด้วยลูกยางนี้เป็นระบบขับหมุนของเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคแรกๆ การทำงานจะมีลูกยางเป็นตัวถ่ายทอดการหมุนจากแกนของมอเตอร์ไฟฟ้า ส่งผ่านไปขับเคลื่อนแท่นหมุนวางแผ่นเสียง หรือ platter ความเร็วของรอบจานหมุนนั้นจะผันแปรไปตามขนาดของมู่เล่ (pulley) – แกนใหญ่รอบจะเร็ว – แกนเล็กรอบจะช้า ข้อดีคือ ระบบนี้มักจะทนทาน เพราะตัวมอเตอร์ที่ใช้มักมีขนาดใหญ่ และความเร็วรอบสูง ทำให้มีความเสถียร แต่ก็มีปัญหาเรื่องแรงเสียดทานระหว่างมู่เล่ที่ส่งผ่านจากตัวมอเตอร์ไปยังแท่นหมุนวางแผ่นเสียง ก่อให้เกิดเป็นเสียงรบกวนติดตัวที่มีลักษณะจำเพาะ ปัจจุบันนี้อาจพูดได้ว่า ระบบขับหมุนด้วยลูกยางไม่ได้รับความนิยม จนแทบไม่มีใครใช้งานกันแล้ว

ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยสายพาน หรือ Belt Drive

2. Belt Drive หรือ ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยสายพาน เป็นระบบที่เรียบง่าย ระบบการทำงานก็คือ ตัวมอเตอร์ที่ด้านปลายจะมีมู่เล่ (pulley) ทำหน้าที่เป็นตัวทดรอบติดอยู่ โดยมีสายพานคล้องอยู่กับมู่เล่ และโยงรอบ platter ด้วย ซึ่งเมื่อเปิดทำงาน ตัวมอเตอร์จะหมุน และส่งผลให้มู่เล่หมุน สายพานที่คล้องอยู่กับมู่เล่หมุน แท่นหมุนวางแผ่นเสียง (platter) ก็หมุนด้วย ตามความเร็วรอบหมุนที่ได้ทดรอบจากมู่เล่ ข้อดีคือ ระบบนี้มักจะไม่จำเป็นต้องใช้ตัวมอเตอร์ที่มีขนาดใหญ่นัก แต่มีความเร็วรอบหมุนสูงเพียงพอ แล้วใช้มู่เล่เป็นทดความเร็วรอบให้พอดีกับจำนวนรอบของการหมุนวนที่ 33 1/3 RPM หรือ 45 RPM หรือ 78 RPM สืบเนื่องจากตัวมอเตอร์ที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่นัก มอเตอร์ราคาถูกจึงอาจนำมาใช้งาน ส่งผลให้ค่าความเร็วรอบของมอเตอร์ไม่มีความเสถียรที่เพียงพอ ก่อให้เกิดการทดรอบของมูเล่ที่ปราศจากความเที่ยงตรง เสียงที่รับฟังจึงอาจผิดเพี้ยนไป แม้ว่า ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยสายพานนับเป็นระบบที่แทบจะเรียกได้ว่า ขจัดเสียงรบกวนจากตัวมอเตอร์มิให้ไปส่งผลต่อ platter ได้แทบจะร้อยเปอร์เซนต์ก็ตาม

ระบบขับหมุนโดยตรง หรือ Direct Drive

3. Direct Drive หรือ ระบบขับหมุนโดยตรง …ตรงจากอะไร ? ตรงจากตัวมอเตอร์ที่ใช้ขับหมุนนั่นไง ทั้งนี้ Direct Drive” จะไม่มีทั้งลูกยาง หรือมูเล่ใดๆ ติดตั้งอยู่ที่ส่วนปลาย แต่แกนหมุนของตัวมอเตอร์จะติดตั้งตรงเข้าสู่แท่นหมุนวางแผ่นเสียง หรือ platter กันเลยทีเดียว “Direct Drive” คิดค้นและพัฒนาในญี่ปุ่นโดย  Shuichi Obata ซึ่งเป็นหนึ่งในวิศวกรของ Matsushita Electric Industrial Co., Ltd. (ปัจจุบันคือ Panasonic Corporation) และใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงภายใต้แบรนด์ Technic ทั้งนี้ Technic รุ่น SP-10 ของ Matsushita ได้รับการบันทึกว่า “The first direct-drive turntable on the market” แรกออกจำหน่ายในปีคศ. 1969 ทุกวันนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบนี้ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องมาจากญี่ปุ่น ข้อดีคือ ตัวมอเตอร์ที่ใช้มีแรงบิดสูง (hi-torque) จึงเข้ารอบได้รวดเร็ว-ฉับไว (fast start-up time) รอบนิ่งคงที่ ทนทานแทบไม่ต้องบำรุงรักษาอะไรเลย ทั้งยังไม่มีลูกยาง และ สายพานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามเวลา ที่สำคัญ ระบบนี้เป็นที่นิยมในหมู DJ มากทีเดียว เพราะสามารถ backspinning หรือ scratching ได้นั่นเอง

Technic รุ่น SP-10 ของ Matsushita Electric

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Direct Drive หรือ ระบบขับหมุนโดยตรงก็ยังมีข้อด้อยของการใช้งาน ถ้าหากการออกแบบไม่ดีพอ เนื่องเพราะแกนมอเตอร์ที่ต่อตรงสู่แท่นหมุนวางแผ่นเสียง หรือ platter นั้น เท่ากับว่า แรงบิด หรือ แรงสั่นขณะตัวมอเตอร์ทำงานย่อมสามารถพุ่งตรงเข้าสู่ platter ได้เลยเช่นกัน แม้จะน้อยนิดก็ตามนั่นเอง

ครั้งหน้า – ตอน (3) ผมจะนำเรื่องราวในหัวข้อ “อุปกรณ์เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง” มาเล่าสู่กัน ซึ่งแน่นอนว่า เนื้อหาน่าจะยาวพอดู เนื่องเพราะส่วนประกอบ และอุปกรณ์ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับ Turntable นั้นมีอยู่มากทีเดียว …ไว้เรามาพบกันนะครับ

to be continued


Exit mobile version