จิตวิญญาณดวงใหม่ของโทเทม
DAWN NATHONG
หลายคนรวมทั้งผู้เขียน ช่วงที่ได้ทราบข่าวคราวการเปิดตัวลำโพงรุ่นใหม่ของโทเทมอย่าง Signature One เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีของบริษัท แรก ๆ ที่ได้เห็นหน้าตาของมันแล้วคงจะเข้าใจเหมือนกันว่า เป็นการนำลำโพงโทเทม โมเดลวันในอดีตกลับมาปรับปรุงใหม่อีกครั้งเป็นแน่แท้ เพราะอย่างไรชื่อชั้นของโมเดลวันในอดีต ก็ยังคงเป็นหนึ่งในที่ถวิลหาของนักเล่นที่ชื่นชอบลำโพงในพิกัดนี้
หากแต่ข้อเท็จจริงที่ทาง Vincent Bruzzeze ผู้ออกแบบได้ชี้แจงนั้นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะจริง ๆ แล้ว Signature One เป็นการออกแบบลำโพงแบบคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดตั้งแต่พื้นฐาน โดยใช้องค์ความรู้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาใส่ลงไปแบบไม่มีกั๊ก ผสานกับรูปลักษณ์ที่ยังคงความคลาสสิคของโมเดลวันในอดีตเข้าด้วยกัน
แตกต่างจากเวอร์ชั่นสุดท้ายของโมเดลวัน “The One Limited Edition” ที่เคยผลิตออกมาในช่วงฉลองครบรอบ 20 ปี ซึ่งยังคงใช้โมเดลวันรุ่นแรกมาเป็นพื้นฐาน เหมือนกับจะเป็นการบ่งบอกความนัยว่า Signature One นั้นได้ “ก้าวข้าม” ลำโพงโมเดลวันในอดีตไปไกลมากแล้ว
ส่วนตัวของผู้เขียนได้มีสัมผัสกับลำโพงโมเดลวันหลาย ๆ เวอร์ชั่นในอดีตมาพอสมควร จนพอรู้ว่าโมเดลวันนั้นเป็นลำโพงที่ต้องการความเอาใจใส่ในการเซ็ตอัพ รวมถึงการแม็ตชิ่งอุปกรณ์ให้ส่งเสริมกันอยู่พอสมควร จึงจะสามารถสำแดงประสิทธิภาพของรายละเอียดและมิติเวทีเสียงอันน่าทึ่งเกินตัวออกมาได้
โดยเฉพาะความขึ้นชื่อเรื่องกินวัตต์ สำหรับแอมป์กำลังขับไม่สูงมากหลายรุ่น ไม่สามารถรีดเอาประสิทธิภาพที่แท้จริงของลำโพงออกมาได้ตามที่ควรจะเป็น ทำให้นักเล่นที่ใจร้อนพาลถอดใจและขายทิ้งไปเสียก่อนอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่หากได้มีโอกาสลองฟังโมเดลวันที่ผ่านการเซ็ตอัพมาอย่างลงตัวแล้ว ต้องบอกว่าคุณภาพเสียงนั้นน่าทึ่งมากเมื่อเทียบกับขนาดของลำโพงที่อยู่ตรงหน้า จัดอยู่ในกลุ่มหัวแถวของลำโพงในพิกัดเดียวกันได้อย่างสบาย และทำให้จำติดหูมาจนถึงทุกวันนี้
จากการพูดคุยกับทางบริษัทเดโค 2000 ในวันที่เดินทางไปรับลำโพงคู่นี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งว่า จริง ๆ แล้วลำโพงของโทเทมนั้นทางบริษัทผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานในแบบไลฟ์สไตล์หรือการจัดวางลำโพงแบบลำลองได้ด้วย แต่ในอดีตผู้เขียนเคยได้ฟังลำโพงโทเทมที่จัดวางในลักษณะนี้ ขอเรียนตามตรงว่า ยังให้คุณภาพเสียงห่างไกลกับเนื้อแท้ของลำโพงที่ควรจะเป็นจริง ๆ มากนัก ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสทดสอบลำโพงรุ่นใหม่อย่าง Signature One ในครั้งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
รายละเอียดที่น่าสนใจ
หากมองด้วยตาเปล่า สิ่งที่ยังหลงเหลือความเป็นโมเดลวันที่หลายคนคุ้นเคย คงจะมีแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ยังคงดีไซน์คลาสสิคแบบโมเดลวันรุ่นเก่าซึ่งเป็นเป็นลำโพงวางหิ้งแบบสองทางเอาไว้ แต่หากเจาะลึกลงในรายละเอียดแล้ว หลายองค์ประกอบของลำโพง Totem Signature One นั้น ล้วนถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
เริ่มจากมีปริมาตรตู้ที่มากกว่าโทเทม โมเดลวันในอดีต บริเวณเหลี่ยมสันของแผงหน้าลำโพงมีการลบเหลี่ยมให้โค้งมนเพื่อลดผลกระทบจากเสียงสะท้อนรบกวนที่เกิดจากเหลี่ยมมุมของตู้ แผงหลังก็ปาดมุมเฉียงลบเหลี่ยมเช่นกัน มีท่อพอร์ทระบายเสียงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่นักอยู่ส่วนบน ส่วนล่างเป็นแผงอลูมิเนียมหนาผ่านกรรมวิธีอบอ่อน (Annealed) ยิงผิวทรายสีดำ ตรงกลางของแผ่นอลูมิเนียมติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสท์แบบไบไวร์ชุบทองอย่างดีของ WBT รุ่น Nextgen พร้อมจั๊มเปอร์ลวดผสมเงิน
โครงสร้างตู้แบบ Monocoque คือออกแบบตัวตู้ลำโพงและโครงสร้างให้เหมือนเป็นชิ้นเดียวกัน ทำจาก MDF ที่มีความหนา ¾ นิ้วและยึดเข้าหากันด้วยเทคนิคการเข้าลิ้นไม้ (Lock Mitered) ตู้จึงมีความแน่นหนาแข็งแรงมากเป็นพิเศษ ภายในคาดโคร่งคร่าวกั้นระหว่างทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ แดมป์ผนังตู้ด้วยการพ่นสารเคลือบที่เรียกว่าบอโรซิลิเกต (Borosilicate) เป็นวัสดุประเภทแก้วชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในงานอุสาหกรรมเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับวัสดุ
ข้อดีเมื่อนำมาใช้กับผนังตู้ลำโพงก็จะช่วยเสริมความแกร่ง รวมทั้งจูนเรโซแนนท์ของตัวตู้ให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำงานของไดร์เวอร์ได้โดยไม่มีผลกระทบในแง่ลบกับคุณภาพเสียง ทาง Vincent Bruzzeze เองกล่าวว่านี่คือวัสดุที่สามารถการกระจายพลังงานได้ดีที่สุดเมื่อนำมาใช้กับงานเฉพาะด้านอย่างการออกแบบลำโพง
ตัวขับทั้งหมดติดตั้งแบบฝังลงในตัวตู้ ทวีตเตอร์โดมโลหะอัลลอยด์ขนาดหนึ่งนิ้วของ SEAS ไดอะเฟรมผลิตจากอลูมิเนียมผสมไทเทเนียม มีการโมดิฟายด์ช่องหลังตัวขับเพื่อจูนเรโซแนนท์ของโดมทวีตเตอร์อีกที ในส่วนของวูฟเฟอร์มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 6.5 นิ้ว ขอบยาง ไดอะเฟรมผลิตจากส่วนผสมของเซลูโลสและอะคริลิค ซึ่งเป็นวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้ในวูฟเฟอร์ของลำโพงโทเทมรุ่น Forest มีการเซาะร่องระบายอากาศรอบโดมดัสแดป
ว้อยส์คอล์ยมีขนาดยาวถึง 3 นิ้ว โครงอลูมิเนียมหล่อ ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คประกอบด้วยมือ ใช้อุปกรณ์เกรดสูงแบบน้อยชิ้น เดินสายแบบฮาร์ดไวร์ที่ทำจากทองแดง OFC ผสมเงินในอัตราส่วน 80-20 จุดตัดความถี่ที่ 2.5 กิโลเฮิร์ท แบบออเดอร์ที่สอง เน้นความกลมกลืนของเฟสระหว่างตัวขับทั้งสองสูงสุดรวมถึงมีมุมกระจายเสียงทั้งแนวนอนและแนวดิ่งที่กว้างขวาง
การเซ็ตอัพและติดตั้ง
ก่อนที่จะรับลำโพงมาทดสอบ ได้มีโอกาสลองฟังลำโพงรุ่นนี้ที่โชว์รูม Deco 2000 ขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ Arcam A60 Plus และจัดวางในลักษณะลำลอง วางชิดผนังหลังมากเป็นพิเศษ น้ำเสียงและรายละเอียดนั้นมีความกลมกล่อมน่าฟังมากกว่าที่คาด ฟังดูผ่อนคลายไม่มีอาการเครียดเค้นในน้ำเสียง
ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นลำโพงโทเทมในอดีตมาขับกับซิสเต็มนี้คงจะมีปลายแหลมที่ฟังไม่ค่อยสบายหูติดปลายนวมมาให้ได้ยินกันบ้างไม่มากก็น้อย นี่คงจะพอจะกล่าวได้ว่า Signature One มีความยืดหยุ่นในการจัดวางได้มากขึ้นกว่ารุ่นโมเดลวันมากพอสมควรเลยทีเดียว
การเซ็ตอัพในห้องฟังที่บ้านผู้เขียน ทำการจัดวางลำโพงบนขาตั้ง Atacama รุ่น HMS มวลปานกลางความสูง 24 นิ้วเติมเม็ด Atabites เพื่อจูนเสียงบางส่วน รองใต้ลำโพงด้วย Isolation Gel pads วางลำโพงให้ส่วนหน้ายื่นเลยเพลตลำโพงออกมาราวครึ่งนิ้วเป็นจุดที่ลงตัวที่สุด ลำโพงวางห่างกันประมาณ 190 เซนติเมตร (ในคู่มือระบุว่าสามารถวางห่างกันได้มากถึง 365.76 เซนติเมตร) โดยไม่สูญเสียรูปวงหรือโหว่ตรงกลาง เอียงหน้าลำโพงเข้าหากันเล็กน้อยประมาณ 5-10 องศา ขยับลำโพงเดินหน้า-ถอยหลังเพื่อหาจุดที่ตอบสนองเสียงเบสได้ราบเรียบที่สุด
ขอบอกว่าหาตำแหน่งวางละปรับเซ็ตได้ลงตัวในเวลาไม่นานเลย ส่วนซิสเต็มที่นำมาขับ Signature One สรุปผลเป็นเพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX กำลังขับ 125 วัตต์ ก็ได้รายละเอียดและน้ำเสียงที่น่าพอใจมาก เชื่อมต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์เข้าที่ขั้ว LF (คู่ล่าง) จะได้สมดุลเสียงและโฟกัสที่ดีกว่าการต่อเข้าขั้ว HF (คู่บน) หรือแม้แต่การสลับสายลำโพงบวก-ลบเสียบทั้งขั้ว HF และ LF ก็ตาม
อีกอย่างที่ขอบอกไว้ก่อน ว่าท่านไม่ต้องรีบหาจั๊มเปอร์ออดิโอเกรดที่ไหนมาเปลี่ยนให้เสียเงินเลย เพราะลวดจั๊มเปอร์ที่แถมมานั้นมีคุณภาพดีมากอยู่แล้ว ถ้าอยากได้บุคลิกเสียงของ Signature One แท้ ๆ ในการต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์แนะนำให้ท่านลองทำและฟังดูก่อน แต่หากอยากเสียเงินเพิ่มกับจั๊มเปอร์ออดิโอเกรดอีกก็ไม่ว่ากัน
ตามคู่มือระบุว่าต้องใช้ระยะการเบิร์นอินลำโพงอยู่ที่ราว 100–150 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับ Element ซีรี่ยส์ของโทเทมที่ต้องเผาหัวนานร่วมสามร้อยชั่วโมงกันเลยทีเดียว โชคดีที่ลำโพงผ่านชั่วโมงการใช้งานมามากพอสมควร จนน่าจะเกินระยะเบิร์นอินเป็นที่เรียบร้อย หลังจากเซ็ตอัพจนลงตัว ทำการเปิดใช้งานด้วยการฟังเพลงตามปกติอีกร่วม 100 ชั่วโมงพบว่าดุลเสียงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วจึงเริ่มทำการทดสอบ
ผลการลองฟัง
สำหรับคนที่เคยฟังลำโพงโทเทมมาก่อน น่าจะคุ้นเคยกับเสียงที่ได้ยินผ่าน Signature One แน่นอน แต่ในความคุ้นเคยนั้นหากฟังไปสักพักกับหลายบทเพลงหลายอัลบั้มจะพบกับความน่าตื่นตาตื่นใจที่ค่อย ๆ เผยออกมาให้สัมผัส ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเคยคาดหวังจะได้กับลำโพงโทเทมในอดีต จุดเด่นของลำโพงโทเทมนั้นคือการถ่ายทอดน้ำหนักการย้ำเน้นอ่อนแก่หนักเบาของทุกย่านความถี่ตั้งแต่ย่านทุ้มจรดปลายแหลมออกมาได้อย่างวิเศษ ตรงนี้ถือว่าโดดเด่นกว่าลำโพงอื่นในพิกัดเดียวกัน ทำให้สามารถรับรู้ถึงอากัปกริยาการเล่นและทักษะการเล่นของนักดนตรีที่กระทำต่อเครื่องดนตรีได้ชัดเจนหมดจดไร้การอำพราง มีไดนามิคความฉับพลันที่สดสมจริง
แต่มีจุดที่มักจะถูกติติงเสมอในเรื่องปลายเสียงแหลมที่ยังมีความรู้สึกถึงความกระด้างของโดมโลหะอยู่ หากการเซ็ตอัพและซิสเต็มไม่ลงตัวพอ รวมถึงนักที่คุ้นเคยกับลำโพงซึ่งจูนเสียงให้นุ่มนวลเอาใจหูอาจจะไม่ถูกใจกับความเข้มข้นจริงจังที่โทเทมนำเสนอ จนบางคนอาจต้องหาอุปกรณ์เสริมอย่างสายลำโพง สายสัญญาณ หรือสายไฟเอซีที่มีโทนเสียงอบอุ่น มาช่วยลดความจริงจังของลำโพงลงให้รู้สึกว่าฟังสบายขึ้น แต่นนั่นก็เปรียบเหมือนดาบสองคมที่ทำให้จุดเด่นของโทเทมถูกลดทอนลงไปอย่างน่าเสียดาย
กับ Signatuer One นั้นเหมือนกับว่าทาง Vincent Bruzzeze ได้บรรลุผลของการสร้างลำโพงที่สามารถถ่ายทอดคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมของโทเทมออกมาได้ครบถ้วนโดยปราศจากความเครียดเค้นในน้ำเสียงหลงเหลืออยู่แม้แต่น้อย ผู้เขียนยังคงได้ยินรายละเอียดการย้ำเน้นอันยอดเยี่ยมในทุกย่านความถี่เช่นเดิม แต่สามารถรองรับระดับไดนามิกความดังได้สูงมากยิ่งขึ้น เล่นได้ดังมากขึ้น มีความสดสมจริงในน้ำเสียงสูงแต่เกรนเสียงมีความเนียนละเอียดยิบ
โดยเฉพาะปลายแหลม ให้พื้นเสียงมีความสงัดสูงและไม่รู้สึกถึงความหยาบกระด้างของทวีตเตอร์โดมโลหะหลงเหลืออยู่เลย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่ค่อยจะได้พบในลำโพงโทเทมรุ่นก่อน ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้ยินออกมาจากการใช้เพียงเพาเวอร์แอมป์ระดับกลางอย่าง NAD 216THX ขับเท่านั้น
นอกจากนี้ยังให้เวทีเสียงที่มีความเป็นสามมิติสูง มีโฟกัสที่ชัดคมทั่วทั้งเวทีเสียงแบบเดียวกับที่เคยได้ยินจากรุ่น The One ในอดีต ที่ให้ความคมชัดของชิ้นดนตรีที่ทั่วถึงจรดขอบเวทีเสียงทั้งด้านสูงกว้างลึกจริง ๆ แต่นั่นก็เป็นการเล่นกับซิสเต็มที่มีราคาสูงกว่าที่ผู้เขียนใช้ทดสอบอยู่มากมายนัก ความชัดเจนของอิมเมจชิ้นดนตรีใน Signature One นั้นเป็นหนึ่งในตองอูไม่เป็นสองรองใคร แม้กระทั่งลำโพงที่มีราคาค่าตัวแพงกว่าสักสองเท่า ผนวกกับช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีที่ให้ความใสเป็นพิเศษจนสามารถสังเกตระยะห่างของชิ้นดนตรีที่ซ้อนทับกันอยู่ได้อย่างง่ายดายแบบไม่ต้องตั้งใจฟัง เวลาที่มีเสียงเครื่องดนตรีปรากฏขึ้นมา ณ ตำแหน่งใดของเวทีเสียงก็จะให้ความรู้สึกของการคงอยู่ของอิมเมจชิ้นดนตรีนั้น ๆ ที่เข้มข้น นิ่ง และมั่นคง จนอยากจะลองฟังอัลบั้มโน้นอัลบั้มนี้ไปเรื่อยเพราะตื่นเต้นกับความเป็นสามมิติที่ Signature One ให้ออกมา
จริงอยู่อาจจะมีลำโพงวางหิ้งที่ให้มิติเวทีเสียงได้ดีเช่นนี้แต่หากมาพร้อมกับหน้ำหนักเสียงที่เข้มข้นโดยใช้กับซิสเต็มระดับกลางด้วยแล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยเจอ เชื่อว่าเอาจริง ๆ เพียงเท่านี้ก็เกินพอแล้วสำหรับนักเล่นที่แสวงหาความเป็นที่สุดของมิติเวทีเสียงจากลำโพงวางหิ้งสักตัวหนึ่ง
เสียงของนักร้องทั้งชายหญิงมีความเป็นตัวตนสูงมาก เก็บรายละเอียดหยุมหยิมของการร้องออกมาได้น่าประทับใจ ให้ความรู้สึกว่าเสียงร้องถูกเปล่งออกมาจากปากคนจริง ๆ ที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า เป็นเสียงกลางที่สะอาดไม่รู้สึกว่ามีเสียงก้องอู้ของตัวตู้เข้ามาเจือปนในอยู่น้ำเสียง พิสูนจ์ได้จากความสามารถในการแสดงความแตกต่างในการบันทึกเสียงของแต่ละอัลบั้มออกมาได้เป็นอย่างดี ย่านปลายแหลมเนียนเป็นฝอยละเอียด โฟกัสกระชับแน่น เก็บรวบหางเสียงได้ดีฟังแล้วไม่ฟุ้ง ให้เสียงเครื่องเคาะโลหะมีความสดสมจริงสูง แต่สามารถเปิดฟังดัง ๆ ได้ไม่มีอาการสะบัดจัดจ้านให้รำคาญใจ
หรือในช่วงที่แผ่วเบาของดนตรีออเครสตร้าเสียงเครื่องเคาะที่ดังขึ้นเบา ๆ อยู่ไกลออกไปก็ยังมีความสว่างและประกายที่รับรู้ความเป็นโลหะได้ชัดเจน กับเพลงพวกซิโฟนีออเครสตร้าจะถูกโฉลกกับ Signature One เป็นพิเศษเพราะถ่ายทอดรายละเอียดหยุมหยิมและบรรยากาศมวลแอมเบี้ยนออกมาได้อย่างถึงกึ๋น และติดตามได้ตลอดแม้จะมีเสียงเครื่องดนตรีบรรเลงขึ้นพร้อม ๆ กันหลายชิ้น ใครที่บอกว่าฟังเพลงคลาสสิคแล้วง่วงนอนต้องลองหาโอกาสมาฟังกับลำโพงคู่นี้ดูสักที ขนาดที่ว่าผู้เขียนซึ่งไม่ใช้คอเพลงคลาสสิคตัวจริง ยังนั่งฟังแผ่น Tutti! Orchestral Sampler [RR-906CD] ได้อย่างเพลิดเพลินจนเกือบจบแผ่นได้เลยแล้วกัน
การไล่ระดับความดังจากเบามาดัง ทั้งแบบช้าและแบบรวดเร็วฉับพลันทำได้อย่างไร้ที่ติ คือฟังแล้วไม่รู้สึกว่าอืดหรือเฉื่อย อีกทั้งยังให้อิมแพ็คแรงปะทะหัวเสียงที่หนักแน่นทรงพลังไม่ต่างจากลำโพงตั้งพื้น เสียงตีกลองทิมปานีควบแน่น กระหึ่มลุ่มลึกและทิ้งตัวลงพื้นมีฐานเสียงย่านเบสต่ำ ๆ แผ่กระจายออกมาให้สัมผัส เวลาไต่ระดับเสียงอย่างช้า ๆ อย่างเช่นพวกเครื่องสายก็ทำได้ต่อเนื่องลื่นไหลน่าฟัง เสียงเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเสียงเฉพาะตัวแตกต่างกันไปก็จำแนกแยกแยะออกมาได้ชัดเจนมาก สิ่งเหล่านี้เมื่อลำโพงถ่ายทอดออกมาได้ดีย่อมทำให้การฟังเพลงคลาสสิคได้อรรถรสเต็มเปี่ยมอย่างเลี่ยงไม่ได้
เป็นลำโพงที่ไม่เลือกแผ่น แม้ดูเหมือนจะมีความขี้ฟ้องอยู่นิด ๆ แต่ก็จะไม่ไปเสริมความบกพร่องของการบันทึกเสียงในแผ่นนั้นให้หนักหนาขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งโดยทั่วไปอัลบั้มเหล่านี้มักจะเป็นอัลบั้มเพลงในยุคหลัง ๆ ที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องเกนความดังที่สูง รวมทั้งใช้การกดการสวิงเสียง (Compress) มากเกินไปจนฟังแล้วน้ำเสียงตึงตัวขาดความผ่อนคลาย สิ่งเดียวที่ต้องทำคือปรับลดระดับความดังโวลุ่มของปรีแอมป์ลงมาในระดับที่พอเหมาะ เท่านี้ก็ฟังสามารถรับฟังผ่านลำโพงคู่นี้ได้อย่างสบายใจแล้ว
ผู้เขียนชอบที่จะหาอัลบั้มยุคเก่า ๆ มาฟังผ่านลำโพงคู่นี้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอัลบั้มที่บันทึกเสียงแบบอัดสดที่ยังมีเสียงฮีสของเนื้อเทปเบา ๆ ปรากฎอยู่ให้ได้ยิน เมื่อฟังผ่าน Signature One แล้วดูเหมือนว่าความมลังเมลืองในน้ำเสียงที่ถูกซุกซ่อนไว้จะถูกเปิดเผยออกมาได้อย่างหมดจดดีจริง ๆ อัลบั้ม Ben Webster Meets Oscar Peterson ที่บันทึกเสียงกันในช่วงปี 1959 เป็นสแตนดาร์ด แจ๊ส เครื่องดนตรีสี่ชิ้น ดับเบิ้ลเบส กลอง ร่วมบรรเลงด้วยเสียงเปียโนหวานพริ้วของออสการ์ ปีเตอร์สันล้อกับเสียงแซกโซโฟนชวนฝันของเบน เว็บสเตอร์ ฟังแล้วได้อารมณ์เหลือหลาย ฟังเสียงเคาะเปียโนในแทร็คแรกมีทั้งน้ำหนักและความใสกังวานออกมาเป็นเม็ด ๆ คลอไปกับเสียงกระตุกสายดับเบิ้ลเบสที่หนักแน่นเข้มข้นเห็นเป็นเส้นสายสั่นไหวอยู่ในอากาศ แล้วค่อยตามมาด้วยเสียงเป่าลมผ่านท่อทองเหลืองที่ม้วนตัวออกมามีทั้งความสด ความเข้มข้นและมีมวลเสียงอิ่มใหญ่น่าฟังมาก
ยิ่งเพิ่มระดับความดังที่โวลุ่มของปรีแอมป์สักหน่อย ผู้เขียนก็เหมือนถูกดึงให้จมอยู่ในภวังค์ของสนามเสียงที่เข้มข้นอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการบันทึกสดไปซะแล้ว
สรุป
ผู้เขียนเชื่อว่าลำโพงที่ดีนั้น ต้องทำให้เราสามารถเสพอรรถรสความเป็นดนตรีได้โดยไม่เกี่ยงแนวเพลง มีความสามารถในการถ่ายทอดไดนามิกที่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งมิติเวทีเสียงที่มีความเป็นสามมิติได้อย่างแท้จริง และไม่จำเป็นจะต้องเล่นกับซิสเต็มที่มีราคาสูงมาก หรือต้องมีการเซ็ตอัพที่ละเอียดพิถีพิถันมากมายเกินความจำเป็น ลำโพง Totem Siganture One คือหนึ่งในตัวเลือกของลำโพงวางหิ้งเพียงไม่กี่ตัว ที่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างตรงประเด็นมากที่สุด
ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีของผู้ผลิตลำโพงจากแคนาดารายนี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถสร้างลำโพงที่สามารถรับช่วงต่อจากรุ่นโมเดล วันในอดีตมาได้อย่างสมภาคภูมิ รวมถึงแก้ไขจุดบกพร่องเล็กน้อย ๆ ทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นลำโพงที่ไม่ใช้แค่ “ควรฟัง” แต่เป็นลำโพงที่ “ต้องฟัง” ให้ได้สักครั้ง หากรักจะเดินในเส้นทางสายไฮฟิเดลิตี้นี้
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
- แหล่งโปรแกรม – PC เน็ตเวิร์คเพลเยอร์, แด็ค Chord: Mojo, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2
- ภาคขยาย – อินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
- ลำโพง – ลำโพงวางหิ้ง NHT: 1.5
- สายเชื่อมต่อ – สายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อก Taralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, Cardas: Crosslink 1s, Kimber: Powerkord, Audience AU 24 SX, สายลำโพง Supra: Ply 3.4, PAD: Aqueous Aureus
- อุปกรณ์เสริม – ปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, iFi Audio: iDefender 3.0, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts
รายละเอียดเชิงเทคนิค
- Frequency Response: 45 Hz – 22 kHz ± 3 dB
- Recommended Power: 50 – 200 W
- Woofer: 6.5″ (3″ voice coil) / 16.5 cm (7.6 cm voice coil)
- Tweeter: 1″ / 2.54 cm aluminum dome, chambered
- Impedance: 8 ohms
- Sensitivity: 87.5 dB/W/m.
- Dimensions (w x h x d): 7.67″ x 13.77″ x 10.62″ / 19.5 cm x 35 cm x 27 cm
- Placement from rear wall: 1′ – 3′ / 30.48 cm – 91.44 cm
- Placement distance apart: 4′ – 10′ / 121.92 cm – 304.8 cm
- Break-in Time: 100 – 150 hours
- Crossover Frequency: 2.5 kHz (Compensated, 2nd order)
- Speaker Terminals: Bi-wireable, Gold WBT connectors
ขอขอบคุณบริษัท เดโค 2000 จำกัด โทร. 02-256-9700 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดสอบในครั้งนี้