What HI-FI? Thailand

“The Silent Pound speakers were more than just an audio equipment…”

บังเอิญว่า เปิดไปเจอแบรนด์ลำโพงนี้เข้า อ่านแล้วน่าสนใจในเทคโนโลยีที่เขาใช้ ทำเอาสะดุดใจ โดยได้ระบุไว้ว่า …จะดีเพียงใด ถ้าคุณได้ฟังเสียงแท้จริงของลำโพงอย่างตรงไปตรงมา โดยไร้ซึ่งสภาพอะคูสติกของห้องฟังเข้ามาส่งผลใดๆ ให้บิดเบือนไปจากความถูกต้องสมจริงของเสียงที่รับฟัง

“Silent Pound” ไม่ใช่แค่แบรนด์ แต่เป็นเรื่องราวของความหลงใหล ความแม่นยำ และพลังของความร่วมมือ เป็นเรื่องราวที่เสียงสะท้อนของดนตรีมาบรรจบกับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของเสียงกำทอน (Resonance) นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเสียงกำทอนน้อยกว่าถึงสามเท่า “Silent Pound” ไม่ใช่แค่ลำโพงที่เป็นอุปกรณ์เสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงนวัตกรรมด้านเสียงอีกด้วย

“Silent Pound” ออกแบบด้วย Material Fidelity (!!??) ลำโพงเหล่านี้ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน โดยเน้นที่คุณภาพของวัสดุที่ใช้เป็นหลัก บวกกับกระบวนการผลิตที่ใส่ใจและลงมือปฏิบัติจริง โดยให้ความสำคัญกับงานฝีมือเป็นหลัก “Material Fidelity” หมายถึง ความซื่อสัตย์และความสมบูรณ์ของวัสดุที่ใช้ ซึ่งบ่งบอกว่า “Silent Pound” ได้เลือกใช้เฉพาะวัสดุที่มีคุณภาพสูงสุดเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่า “Silent Pound” จะไม่ใช่เพียงแต่ดู และสัมผัสได้ถึงคุณภาพระดับพรีเมี่ยมเท่านั้น (Not only look and feel premium) แต่ยังช่วยให้เสียงที่ออกมาบริสุทธิ์และแจ่มชัดอีกด้วย

หลักคิดของ “Silent Pound” นับว่า ‘แตกต่าง’ – ทันทีที่เสียงดนตรีดังขึ้น คลื่นเสียงจะเดินทางออกไปโดยรอบ สะท้อนจากผนัง เฟอร์นิเจอร์ และแม้แต่ผู้ฟัง โดยแต่ละคลื่นจะเพิ่มเสียงก้องสะท้อนยิบย่อยอันละเอียดอ่อนของตนเอง ซึ่งเป็นเสียงที่แต่งเติมความก้องกำทอน (Resonant) ให้กับโน้ตเสียงต้นฉบับ จนดูเหมือนว่า อะคูสติกของห้องจะเข้ามามีอิทธิพลต่อสิ่งที่รับฟัง

หนทางปรับแก้โดยทั่วไป จำเป็นต้องควบคุมคลื่นเสียงที่โด่งเกินไป (Unruly Waves) โดยการใช้วัสดุอะคูสติกราคาแพงมาปรับแต่งในห้องฟัง เพื่อให้ได้มาซึ่งความชัดเจนของเสียงที่รับฟัง …แต่จะเป็นอย่างไรเล่า หากเราสามารถทำให้ห้องเงียบลงได้ เพียงแค่หาวิธีพูดกับมันด้วยหนทางที่ต่างออกไป – นี่คือ แนวทางที่น่าสนใจของ “Silent Pound”

“Silent Pound” เปลี่ยนผู้ฟังจากการฟังเพลงธรรมดาๆ ไปสู่ประสบการณ์ที่ดื่มด่ำ เสมือนกับการได้อยู่ในเหตุการณ์การแสดงสดจริงๆ นี่ไม่ใช่แค่การสร้างเสียงซ้ำใหม่ (Sound Reproduction) แต่เป็นการสร้างจินตนาการใหม่ (Sound Re-imagination) ให้กับเสียงที่ได้ฟัง ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่แค่กลอุบายทางเทคโนโลยี แต่เป็นผลงานที่เกิดจากความพิถีพิถันทางวิศวกรรม ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเสียง และบางทีก็อาจเกิดจากการผสมผสานของการเล่นแร่แปรธาตุทางเสียง (Auditory Alchemy) ลำโพงจะล่องหนหายไป และสิ่งที่เหลืออยู่คือ ประสบการณ์เสียงที่จมกลืนดื่มด่ำ (Immersive Sound Experience) ซึ่งโอบล้อมคุณไว้ (Envelops) คุณไม่ใช่ผู้ฟังที่เฉยเมย (Passive Listener) อีกต่อไป แต่คุณจะกลายเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทางดนตรี ราวกับว่า นักดนตรีเรียงรายอยู่รอบตัวคุณ (Arrayed Around You)

เป้าหมายหลักของ “Silent Pound” ต่อแนวทางนี้คือ การปรับการกระจายเสียง (Sound Diffusion) ให้เหมาะสมในห้องฟัง โดยไม่ต้องมีการปรับแต่งเสียง (Acoustic Treatment) เพื่อจุดประสงค์นี้ “Silent Pound” จึงใช้ประโยชน์จากพลังของการออกแบบด้วย Computer-Aided Design (CAD) อันทันสมัย ร่วมกับเทคนิคการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง

Triple Reduction in Room Resonances, No Additional Room Treatment

ด้วยการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์อย่างเข้มงวด การทดลองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการฟังอย่างมีวิจารณญาณ ทีมงานของ “Silent Pound” ได้บรรลุสู่การสร้างสรรค์ระบบเสียงที่ปรับให้เข้ากับขนาดห้องต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ระบบนี้ไม่เพียงแต่รักษาสมดุลของโทนเสียงที่สมบูรณ์แบบ ควบคู่กับความละเอียดสูง (High Resolution) เท่านั้น แต่ยังมอบเวทีเสียงอันน่าทึ่ง พร้อมรายละเอียดที่ไม่มีใครเทียบได้

การควบคุมทิศทาง (Directivity Controlling) โดยเฉพาะในช่วงความถี่ต่ำ ถือเป็นความท้าทายทางเทคนิคที่สำคัญ วิธีการดั้งเดิมในการแก้ไขปัญหานี้ เช่น การใช้ฮอร์นความถี่ต่ำ หรือ ลำโพงจัดวางเรียง (Speaker Arrays) ไม่เพียงแต่มีราคาแพงเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคมหาศาลในการติดตั้งอีกด้วย

วิศวกรของ “Silent Pound” ได้แก้ไขปัญหานี้โดยการผสานโมดูลความถี่ต่ำแบบไล่ระดับ (Gradient-type Low-frequency (LF) Module) เข้ากับระบบเฉพาะของ “Silent Pound” ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง สามารถลดพลังงานเสียงที่แผ่ออกมาในห้องลงได้ถึงสามเท่า (ด้วยดัชนีทิศทางประมาณ 4.8 เดซิเบล) ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับลำโพงแบบตู้ปิดแบบดั้งเดิมทั่วไป (Traditional Closed Enclosure Speakers) ที่ส่งเสียงความถี่ต่ำในทุกทิศทาง

แนวทางของ ‘LF module’ โดยเฉพาะนี้ช่วยลดเสียงกำทอนของห้อง (Room Resonance) ได้อย่างมาก โดยเฉพาะในความถี่ต่ำสุด โดยไม่จำเป็นต้องปรับแต่งห้องเพิ่มเติมใดๆ คุณภาพเสียงที่ได้จึงไม่เพียงแต่บริสุทธิ์กว่าเท่านั้น แต่ยังดื่มด่ำจมกลืนมากขึ้นอีกด้วย โดยเปลี่ยนพื้นที่ใดๆ ก็ตามให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมการฟังที่เหมาะสมที่สุด การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะวิธี Finite Element Method มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงการออกแบบของ “Silent Pound” ช่วยให้ปรับโครงสร้างผนังตัวตู้ (Baffle Construction) ให้เหมาะสม เลือกความถี่ครอสโอเวอร์ที่เหมาะเจาะ และปรับปรุงคุณภาพการสร้างเสียงความถี่ต่ำได้อย่างเจาะจงมากที่สุด

_______________________

Exit mobile version