…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต… : LINN SONDEK LP12

0

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต                                                  

 LINN SONDEK

LP12

มงคล อ่วมเรืองศรี

 

Santa and Tony's wedding.

“The Classics” เล่มที่ผ่านมาได้นำ “DENON DL-103” หัวเข็มสุดคลาสสิกที่ยังคงยืนยงดำรงคงอยู่มาจนทุกวันนี้มาย้อนรอยให้ได้ทัศนากัน มาเล่มนี้จึงคิดว่าถ้าหยิบเอาเครื่องเล่นแผ่นเสียงสุดคลาสสิกที่ยังคงยืนยงดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน มานำเสนอน่าจะเหมาะสมอย่างที่สุดเพราะเป็นของคู่กัน ซึ่งแน่นอนย่อมหนีไม่พ้น “LINN SONDEK LP12”

 

นับตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1972 ที่ LINN Products แห่ง Scotland ได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดย Ivor Sigmund Tiefenbrun ใน Glasgow, Scotland (เขาผู้นี้นับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างมากๆต่อทั้งแวดวงบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งผู้ค้าปลีกอุปกรณ์เครื่องเสียงไฮ-ไฟและโฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ของเครือจักรภพในช่วงปี 1970 และ 1980 จนกระทั่งได้รับพระราชทาน “MBE” (Members of British Empire) โดย HM Queen Elizabeth II ในปีค.ศ. 1992 ซึ่ง Ivor นั้นได้ยึดถือ 2 สิ่งไว้เป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ – engineering : วิศวกรรม และ listening to music : การรับฟังดนตรี)

 

ซึ่งเป็นยุคที่แผ่นเสียงยังคงครองโลก… สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “LP12” สุดยอดเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ turntable (ทว่า LINN นั้นใช้คำว่า “transcription turntable” กำกับไว้) ระดับอภิมหาอมตะนิรันดรกาลของวงการ ด้วยหลักการ suspended sub-chassis design (แยกฐานย่อย) เพื่อแยกสลายแรงกระทำจากแรงสั่นสะเทือนต่างๆจากภายนอก มิให้สามารถส่งผลกระทบรบกวนต่อการทำงานของหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงที่ต้องการความเที่ยงตรงอย่างสุดยอดในขณะกำลังเล่นแผ่นเสียง ร่วมกับประดิษฐกรรมที่เรียกว่า “single-point bearing machined” ซึ่งได้ทำการจดทะเบียนลิขสิทธ์ไว้ อันมีผลต่อความเที่ยงตรงอย่างสุดยอดต่อความเร็วรอบหมุน

 0571

แม้ว่าหลักการ “แยกฐานย่อย” ของ LP12 จะมิใช่ของใหม่ในช่วงเวลานั้น และอาจดูละม้ายคล้ายหลักการที่ใช้อยู่ในเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ AR, Thorens TD150 กระทั่ง Ariston RD11 (ซึ่ง Hamish Robertson เป็นผู้ออกแบบ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “คู่แข่ง” ที่สำคัญของ LP12 เห็นจะได้แก่ Xerxes turntable จาก Roksan Audio แห่งเกาะอังกฤษ, the Well Tempered Table, the Dunlop Systemdek II และ P3 จาก Phonosophie ทว่า LP12 ดูจะถูกเน้นในเรื่องของความถูกต้องเที่ยงตรงของระบบการทำงาน รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผ่านการคัดสรรอย่างดียิ่ง จากชื่อ “LP12” จึงบ่งบอกได้ว่านี่เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เล่นได้กับแผ่นเสียงไวนีลขนาด 12 นิ้ว หรือแผ่นเสียงแบบ Long Play นั่นเอง ที่มีระดับความเร็วรอบหมุน 33 1/3 rpm (รอบต่อนาที) โดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น

 

ใครที่คิดจะเล่นแผ่น Single หรือ แผ่นขนาด 7 นิ้ว ที่มีระดับความเร็วรอบหมุน 45 rpm จะต้องซื้ออุปกรณ์พิเศษที่แยกขายต่างหาก และยังจะต้อง “ถอดแป้นหมุน” ออกก่อนที่จะสวม adaptor พิเศษนี้เข้าไปในทุกครั้งที่เล่น สำหรับเพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเพลาขับหมุน หรือ motor pulley ให้สัมพันธ์กับความเร็วรอบหมุนที่เปลี่ยนไปสำหรับ 45 รอบต่อนาที ทั้งนี้ LP12 ถูกผลิตออกจำหน่ายในลักษณะที่ให้ผู้ใช้ไปเลือกซื้อโทนอาร์มมาติดตั้งเอาเอง โดยเป็นแท่นเครื่อง (platform) พร้อมภาคจ่ายไฟ (power supply) มาให้เท่านั้น

 1

อย่างไรก็ตามทาง LINN Products ก็ได้ค่อยๆปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ตลอดเวลาผ่านช่วงเวลาอันยืนยงยาวนานกว่า 30 ปีของ LP12 ไม่ว่าจะเป็น rubber feet, baseboard, armboard, suspension springs กระทั่ง reinforced plinth รวมทั้งยังได้ออกจำหน่าย “ชุดคิด” (kit) อย่างเช่น Cirkus ที่เป็น bearing พิเศษออกจำหน่ายในปีค.ศ.1993, Keel ที่เป็น subchassis ผลิตขึ้นจาก solid aluminium ออกจำหน่ายในปีค.ศ.2006, Trampolin II ซึ่งเป็นฐานแท่นเครื่อง หรือ baseboard ที่ผลิตขึ้นจากอลูมิเนียม ออกจำหน่ายในปีค.ศ.2006 เพื่อเปลี่ยนทดแทน “Trampolin” ฐานแท่นเครื่องชุดเดิมที่ผลิตขึ้นจาก MDF เพื่อให้ผู้ใช้ได้ซื้อหาไปทำการ “ยกระดับ” สมรรถนะการทำงานของ LP12 ให้สูงยิ่งขึ้น

 

ขออ้างอิงถึงส่วนหนึ่งของรายการปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง “LP12” (อย่างคร่าวๆ) เพื่อแสดงให้ทราบว่า LP12 ที่แม้จะเป็นเครื่องเล่น “หลงยุค” ที่ใช้เล่นควบคู่กับหัวเข็มสำหรับแผ่นเสียงอนาล็อก มิใช่เครื่องเล่นซีดี, เอสเอซีดี หรือ ดีวีดี กระทั่ง BluRay ที่เป็นแผ่นดิจิตอล ดิสค์ แต่ก็ได้รับความนิยมจนมีการ “อัพเกรด” อยู่เสมอมานับตั้งแต่เมื่อครั้งแรกออกจำหน่าย :-

 Linn_Sondek_LP12

— 1972, โลกได้รู้จักกับ LP12 turntable

— 1974, เปลี่ยน main bearing liner เสริมความแข็งแกร่ง sub-chassis พร้อมปรับเปลี่ยนวงจรควบคุมมอเตอร์จากแบบ terminal strip ไปเป็นแผง PCB ขนาดเล็ก ปรับเปลี่ยน Mains switch จาก 2 ปุ่มเป็นปุ่มเดียว [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 2,000]

— 1978, ปรับปรุงส่วน top plate โดยการเจาะเพิ่ม 2 รูสำหรับยึดติด self tappers เข้ากับ wood block  [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 23,000]

— 1979, เปลี่ยน spring loading. [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 27,000]

— 1981, เดือน กุมภาพันธ์, ใช้ชิ้นส่วน-กลไก Nirvana [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 32,826]

— 1982, เดือน พฤษภาคม, ปรับเปลี่ยนไปใช้ภาคจ่ายไฟอิเล็กทรอนิกส์ Valhalla แบบ crystal-driven เป็นมาตรฐาน [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 38,794]

— 1984, เสริมการคาดโครงคร่าวส่วนเข้ามุมแท่นเครื่องให้แกร่งขึ้น  [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 53,000]

— 1984, เดือน มิถุนายน, เสริมการยึดแถบคาด sub-chassis เพื่อให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยกาวอีพ็อกซี่ แทนการเชื่อมเป็นจุดๆ [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 54,101]

— 1985, เดือน สิงหาคม, ปรับปรุงในส่วน bearing housing. [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 60,383]

— 1985, เดือน กันยายน, ปรับปรุงในส่วน diode บน Valhalla board [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 61,090]

— 1985, เดือน ธันวาคม, เสริมความแข็งแกร่งด้วยตัวบล็อกบริเวณเข้ามุมทั้งสี่ของฐานแท่นเครื่อง

— 1986, เดือน พฤษภาคม, เปลี่ยนฝาครอบเป็นแบบใส

— 1986, ปรับปรุงในส่วน suspension springs

— 1987, เดือน มีนาคม, เปลี่ยน bearing housing, เปลี่ยน armboard ใหม่เป็น Formica and MDF. [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 69,161]

— 1987, เดือน เมษายน, เปลี่ยนสปริงใหม่ทั้งชุด [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 61,09069,591]

— 1987, ปรับปรุง bearing, suspension springs และ armboard composition พร้อมเปลี่ยนน้ำมันเป็น black oil [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 70,000]

— 1989, เปลี่ยนเป็น new MDF armboard ผนึกอัดแน่นทั้ง 2 ด้าน [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 79,160]

— 1989, แท่นยางรองมอเตอร์ และปรับปรุงวงจร surge guard ของ Valhalla [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 79,700]

— 1989, เปลี่ยนsuspension grommets ให้แข็งแกร่งทนทานขึ้น [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 81,000]

— 1990, สามารถผนวกเพิ่มภาคจ่ายไฟภายนอก Lingo power supply ได้

— 1991, ผนวกเพิ่ม motor thrust pad cap สำหรับ Lingo models [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,047]

— 1991, ผนวกแผงวงจรควบคุมที่  45 RPM ให้แก่ Valhalla [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,047]

— 1991, motor thrust pad cap added to Valhalla models. [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,206]

— 1991, เปิดตัว LP12 Basik (รุ่นรองของ LP12 ที่มีโทนอาร์มและหัวเข็มมาให้พร้อม ในระดับราคาที่ย่อมเยากว่ามาก) [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,672]

— 1991, เปลี่ยนวัสดุฐานแท่นเครื่องจาก hardboard มาเป็น solid baseboard [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,672]

— 1991, ออกจำหน่ายฐานแท่นเครื่อง Trampolin ที่เป็นแบบ isolated feet [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 87,672].

— 1992, ปรับปรุงส่วนการยึดตรึงแผ่นประกบด้านบน [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 88,950]

— 1993, ออกจำหน่ายชุดคิดอัพเกรด Cirkus (สปริงใหม่, ชุดลูกปืน หรือ bearing) ใหม่, แพลตเตอร์ด้านใน, แท่นยึดโทนอาร์ม, สายพาน) [นับตั้งแต่หมายเลขเครื่อง 90,582]

— 2002, ออกจำหน่ายฐานแท่นเครื่องแบบไม้เมเปิล (Maple) เสริมกับฐานแท่นเครื่อง สีดำ (black), สีเชอรี่ (cherry), สีวอลนัท (walnut), rosenut and afromosa ที่มีอยู่เดิม

web LINN SondekLP12Right

ปัจจุบันราคาค่าตัวของ “LP12” นั้นนับว่าสูงมากๆ จนยากที่ใครๆจะสามารถซื้อหามาครอบครอง ซึ่งทาง LINN Products เองก็ทราบดี จึงได้พยายาม “ประนีประนอม” ในบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ “พอรับได้” ในคุณภาพ …แน่นอนย่อมต้องแตกต่างจากสมรรถนะที่จักได้รับจาก “LP12” แต่อย่างน้อยก็ยังถือได้ว่า “ใกล้เคียง” และที่สำคัญยังได้คงไว้ซึ่ง “ความเป็น” – “LINN” โดยได้ออกจำหน่ายรุ่น BASIK และ AXIS เพื่อรองรับ “แฟนานุแฟน” (สำนวนเฮียต่วย) ของ LINN ที่ปรารถนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ดีที่สุด ทว่ามิใช่ประเภทเงินถุงเงินถัง สามารถซื้อหามาครอบครองได้ โดยทั้ง 2 รุ่นนี้ได้รับการติดตั้งทั้งโทนอาร์มและหัวเข็มผนวกร่วมมาพร้อมกับแท่นเครื่องอย่างสมบูรณ์จากโรงงาน (หัวเข็มที่ติดตั้งมาให้จะแตกต่างไปตามระดับราคาของแต่ละรุ่น)

Ivor นั้นได้เคยกล่าวถึง “ความเป็นอมตะ” ของ “LP12” ไว้ดังนี้ “Linn didn’t invent the turntable, we simply understood that there was more information on an LP record than people were capable of accessing, so we applied our understanding of engineering to extracting it.” ซึ่งพอจะแปลความได้ว่า “ LINN นั้นมิได้รังสรรค์เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ขึ้น, เพียงแต่เรานั้นเข้าใจดีว่ามีข้อมูลอยู่อีกมากที่ได้บันทึกไว้บน LP ซึ่งยังสามารถที่จะเข้าไปถึงได้ (เพื่อทำการเก็บเกี่ยวขึ้นมา) ดังนั้นเราจึงได้ใช้สิ่งที่เราเข้าใจได้ดี (กว่าใครเขา) ในวิศวกรรมมาทำการคั่น-สกัดข้อมูลดังกล่าวนั้นออกมา”

แม้ว่าทุกวันนี้ LINN Products จะมิได้ “เอาดี” แต่จำเพาะเครื่องเล่นแผ่นเสียงชั้นยอดอย่าง LP12 (หรือ Majik อันเป็นรุ่นรอง LP12 ที่มีมาพร้อมหัวเข็มแบบ MM รุ่น Adikt ของ LINN เอง และโทนอาร์มรุ่น  9cc ของ Pro-Ject เสร็จสรรพ) แต่ได้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ออกไปทั้งปรีแอมป์, เพาเวอร์ แอมป์, เครื่องเล่นซีดี, จูนเนอร์, ระบบลำโพง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นยุคใหม่อย่าง Digital Stream Player ทว่านี้ในปีค.ศ.2004 ทางนิตยสาร Stereophile ก็ได้ระบุถึง LP12 ว่า it was “a classic, a revolutionary, an iconoclast, a survivor.” ซึ่งสามารถแทนความเป็น “LP12” ได้อย่างดีเยี่ยมและสุดซาบซึ้ง จึงไม่ขอแปลความครับ.

Specifications :

LP12

Type: Belt Drive Transcription Turntable Platter

Power: 100/120/220/240 V, 50-60 Hz

Dimensions: (W) 445 x (D) 356 x (H) 140 mm.

Power Consumption: <13 W

Weight: 13 kg (turntable mechanics only – packed weight)

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………………