What HI-FI? Thailand

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต… : Spectral DMC-12 High Resolution Preamplifier

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต…

Spectral DMC-12

High Resolution Preamplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

ในยุคแผ่นเสียงยังครองโลกเมื่อสัก 30 ปีที่แล้วมานั้น แบรนด์ดังๆมีชื่อมีเสียงเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวาง มักมีผลมาจากความสำเร็จในการออกแบบภาคโฟโน สเตจ หรือ ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มที่มีคุณภาพระดับสูง ซึ่งได้รับการทุ่มเทอย่างมากนับตั้งแต่การออกแบบอย่างพิถีพิถันยิ่งนัก จนกระทั่งการคัดสรร-เลือกใช้ชิ้นส่วน-อุปกรณ์ต่างๆในระดับท็อปเกรด ทว่าน่าจะมีเพียงบริษัทผู้ผลิตเดียวละกระมัง ที่มาแปลก แหวกตลาด ถึงขนาดได้ชื่อว่า รุดล้ำนำหน้าผองเพื่อนร่วมยุทธจักรไปหลายขุม ซึ่งรวมไปถึงหลักปรัชญาในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นอยู่กับคำสั้นๆเพียงประการเดียวตลอดมา นั่นคือ “The Sound เนื่องเพราะ เสียง ที่มีคุณภาพ มีความสมจริงเป็นธรรมชาติ คือ เป้าหมายที่สำคัญในการรังสรรค์อุปกรณ์

บริษัทผู้ผลิตที่ผมได้เกริ่นนำมาข้างต้น ก็คือ Spectral Audio Incorporated แห่งสหรัฐอเมริกานั่นเอง ซึ่งเป็นเจ้าของเนมแบรนด์สุดดังในอดีต “Spectral” ที่ใครต่อใครในช่วงอายุอานามขนาดผม (50 ปีขึ้นไป) ล้วนปรารถนาใฝ่ฝันใคร่ได้มาครอบครอง เฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปรีแอมป์-เพาเวอร์ แอมป์ของเขา ด้วยความที่ “Spectral” เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในความเป็น “the best of the best in high-end audio” ซึ่งลือเลื่องยิ่งนักกับแนวทางการออกแบบที่เน้นความเป็น “ultra-wide bandwidth” อย่างจริงจังมาก่อนใคร ถึงขนาดที่ว่าผลิตภัณฑ์ปรีแอมป์และเพาเวอร์ แอมป์ของเขานั้นสามารถตอบสนองช่วงความถี่ขึ้นไปได้สูงถึงระดับนับเป็นล้านเฮิรตซ์ (megahertz) เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ในยุคนั้นการออกแบบเครื่องเสียงให้มีช่วงความถี่ตอบสนองสูงเกินไปกว่า 20,000 เฮิรตซ์ ซึ่งถือว่าเป็นค่าความถี่เสียงที่สูงที่สุด เท่าที่ประสาทหูมนุษย์จักสามารถรับรู้รับฟังได้นั้น อาจกลายเป็นสิ่งชักนำเอา “ขยะ” หรือ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เข้ามาปนปลอม-แทรกซ้อนกับสัญญาณเสียงที่ต้องการจะรับฟัง ส่งผลทำให้สัญญาณเสียงมี “มลทิน” – ไม่บริสุทธิ์, ไม่เที่ยงตรง, ไม่ถูกต้องตามรูปสัญญาณต้นฉบับที่ปรารถนาจะรับฟังอย่างมีคุณภาพ

 

วิศวกรนักออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงโดยส่วนใหญ่ จึงมักจะหลีกเลี่ยงการออกแบบวงจรภาคขยายสัญญาณเสียงให้มีช่วงความถี่ตอบสนองที่กว้างขวางมากๆ (จนอาจจะเกินไป ด้วยคิดกันว่า “ไม่จำเป็น”) เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่รายรอบ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไมโครเวฟ, วิทยุคลื่นสั้น กระทั่งสัญญาณดาวเทียม เข้ามาแทรกแซงสภาวะการทำงานของวงจรภาคขยายสัญญาณเสียง

 

ทว่านักคิด-นักประดิษฐ์ของ “Spectral” กลับมองในมุมที่ต่างออกไป พวกเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้วงจรภาคขยายสัญญาณเสียง “ไร้” ซึ่งพิกัดจำกัดในสมรรถนะการทำงาน สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้สูงมากๆ โดยมิได้หยิบยกเอาขีดจำกัดในสมรรถนะการรับฟังเสียงของประสาทหูมนุษย์เข้ามาเกี่ยวพัน น่าจะส่งผลให้ได้มาซึ่ง “ความเปิดโปร่งอย่างเป็นธรรมชาติ” ของสรรพเสียงที่รับฟังได้จากวงจรภาคขยายสัญญาณเสียงที่ “Spectral” ได้ออกแบบขึ้น เนื่องเพราะในธรรมชาติ หรือ ความเป็นจริงของสรรพเสียง มิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ช่วงความถี่ที่ประสาทของหูมนุษย์จักพึงรับรู้ตามปกติเท่านั้น เสียงต่างๆล้วนมี “ความถี่หลัก” (fundamental) และ “ความถี่ผสม” (harmonic) เป็นองค์ประกอบร่วมกัน ทำให้เสียงแต่ละเสียงมีลักษณะเฉพาะตัว หากคิดคำนึงถึงเพียงแค่ว่า หูมนุษย์มีขีดจำกัดในการรับรู้ต่อเสียงต่างๆสิ้นสุดลงเพียงแค่ 20,000 เฮิรตซ์ เท่านั้น ก็น่าจะทำให้สรรพเสียงที่รับฟังขาดความ “ครบถ้วน” ในธรรมชาติของเสียงนั้นๆไป

 

ความเป็น “Spectral” จึงถูกเน้นความเป็น “broad bandwidth” มาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งบริษัท Richard Fryer คือบุคคลผู้ก่อตั้ง Spectral Audio Incorporated ขึ้นมาในปีค.ศ.1975 โดยได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับวิศวกรเสียง (recording engineer) มือฉมังของโลก – Dr. Keith O. Johnson (แห่ง Reference Recordings ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการออกแบบวงจรและอุปกรณ์ต่างๆทางด้านเครื่องบันทึกเสียงระดับมืออาชีพ หรือ professional-use รวมทั้ง test instrument ประเภทต่างๆมายาวนานอีกด้วย) มารับภาระหน้าที่เป็น Director of Engineering เขาผู้นี้ยังเป็น co-inventor หนึ่งในผู้ร่วมก่อกำเนิด HDCD (High Definition Compatible Digital) ขึ้นมาในโลกอีกด้วยนะจะบอกให้

 

ดังนั้นการที่จะให้ได้มาซึ่งสมรรถนะการใช้งานในระดับ “ultra-wide bandwidth” ได้นั้น จำเป็นที่จักต้องคัดสรรเกรดชิ้นส่วน-อุปกรณ์ที่จะนำมาใช้อย่างชนิดพิถีพิถันกันสุดๆ “Spectral” จึงถูกประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน-อุปกรณ์ในระดับอ้างอิงทางการทหาร อย่างที่เรียกว่า “mil-spec” เป็นหลัก หากจำเป็นในส่วนของอุปกรณ์สำคัญๆอาจถึงขั้น “NASA-spec” กันเลยทีเดียว “Spectral” จึงขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในด้านความคงทนถาวรในสรรถนะการใช้งาน ถึงขนาดที่ว่ามีคำเปรียบเปรยให้เป็น “museum-quality” กันเลยทีเดียว สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Spectral

 

นอกเหนือจากคุณสมบัติ “ultra-wide bandwidth” ที่ถือเป็นความรุดล้ำนำหน้า เกินกว่ายุคสมัยแล้ว “Spectral” ยังถูกเน้นในด้าน “ความฉับไวยิ่งยวด” ของสมรรถนะการทำงาน ดังนั้นลักษณะวงจรที่ใช้จึง “ล้วน” เป็นแบบ always discrete, fully complimentary, DC-coupled and ultra fast โดยไร้ซึ่งการใช้ ICs ในเส้นทางเดินสัญญาณเสียง อุปกรณ์ขยายหรือส่งผ่านสัญญาณบนเส้นทางเดินสัญญาณเสียง ล้วนเป็น FETs หรือไม่ก็ M0SFETs หรือไม่ก็ bi-polars ซึ่งผ่านการคัดสรรให้ได้มาซึ่งค่าความเป็นเชิงเส้นมากที่สุด (the most linear) ทั้งยังใส่ใจ-ลงลึกในเรื่องส่วนประกอบต่างๆของระบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น transformer, power supply รวมไปถึง grounding issues แม้กระทั่งวัสดุที่ใช้ทำแผงวงจร (printed circuit board) และ สายสัญญาณที่ใช้เดินภายใน (internal cabling) ซึ่งเลือกใช้ของ MIT (Music Interface Technologies) อย่างเป็นการเฉพาะ

 

ผลิตภัณฑ์แรกสุดของ “Spectral” ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1977 โดยเป็น Preamplifier แบบ high speed ตัวแรก ใช้ชื่อเรียกขานว่า “MS-ONE” ซึ่งถูกออกแบบให้มีช่วงความถี่ตอบสนองครอบคลุมได้แบบ DC-to-megahertz ที่มีรูปลักษณ์การทำงานในแบบ dual monaural preamplifier ทั้งนี้ “MS-ONE” มีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่การมีภาคขยายสัญญาณหัวเข็มแบบ MC บรรจุอยู่ในตัว หากแต่ว่า ภาคขยายสัญญาณนี้รองรับความแรงสัญญาณที่ต่ำมากๆจากหัวเข็มแบบ MC โดยตรง ไม่มีการใช้ additional gain stage ใดๆเข้ามา “ยกระดับ” ความแรงสัญญาณ อันทำให้ได้มาซึ่งความแท้จริงแห่งสรรพเสียงที่รับฟังจากการเล่นแผ่นเสียง
ถัดจาก “MS-ONE” ทาง “Spectral” ก็ได้ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรีแอมป์ติดตามมาอีก 2 รุ่น อันได้แก่ DMC-5 (ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องเป็น DMC-5A ในเวลาต่อมา) และ DMC-6 (ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องเป็น DMC-6 Series II ในเวลาต่อมา)  จากนั้นในปีค.ศ.1980 “Spectral” ก็ได้ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์รุ่น “DMC-10” ซึ่งแม้ว่ายังเป็นประเภท Preamplifier เช่นเดิม ทว่า DMC-10 นั้นได้รับการพัฒนา-ยกระดับสมรรถนะขึ้นยิ่งกว่าที่เคยเป็นมามากทีเดียว โดยเป็นลักษณะ straight line, ultra-linear ขนานแท้ และนี่ยังเป็นครั้งแรกของการออกแบบปรีแอมป์ที่ได้นำเอา MOSFETs มาใช้ ทำให้คุณลักษณ์ทางเสียงที่ได้จาก DMC-10 ดุจดังการรับฟังจากเครื่องหลอดสุญญากาศ เนื่องจาก MOSFETs นั้นมี performance characteristics ที่ใกล้เคียงกับหลอดสุญญากาศแบบ pentode นั่นเอง
ทั้งยังเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ “Spectral” ได้นำเอาสิ่งที่เรียกว่า “systemboard” อันเป็นเสมือนแผงวงจรหลัก ที่รวมเอาอุปกรณ์ต่างๆมาติดตั้งไว้บนแผงวงจรขนาดใหญ่เพียงแผงเดียว การนำ-พาสัญญาณต่างๆจึงเป็นไปได้อย่างฉับไวสุดยอด และมีทิศทางการเดินสัญญาณที่ตรงที่สุด-สั้นที่สุดไปพร้อมกัน ทั้งยังเป็นการจำกัดการเดินสายสัญญาณต่างๆภายในเครื่องไว้จำเพาะเท่าที่จำเป็น ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยลดระดับการเหนี่ยวนำ หรือ ชักพาคลื่นสัญญาณรบกวน-แทรกซ้อนต่างๆให้น้อยลง

จากความสำเร็จของ DMC-10 (ที่มีผลพวงของพัฒนาการติดตามมาอีก 3 รุ่น อันได้แก่ DMC-10 Beta, DMC-10 Delta และ DMC-10 Gamma) ทำให้ “Spectral” ได้ออกจำหน่าย “DMC-12” ในอีก 10 กว่าปีถัดมา ซึ่ง DMC-12 ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือเลื่องอย่างมากในเวลาต่อมา จนกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ยังคง “ถามหา” มากที่สุดมาจนถึงปัจจุบันของ “Spectral”

 

DMC-12 ถือเป็น preamplifier ในระดับ reference class อย่างแท้จริงตัวแรกของ “Spectral” ในฐานะความเป็น High Resolution Preamplifier และถูกมุ่งเน้นให้มีความสมบูรณ์อย่างยิ่งในการรองรับกับแหล่งสัญญาณแบบ line level โดยเฉพาะ (ไม่มีภาคโฟโน) ด้วยการใช้ cascode Fet ในภาค front end และใช้ Mos-Fets ในภาค output โดยได้จำกัดปริมาณการใช้ feedback แต่เพียงน้อยนิด (เท่าที่จำเป็น) DMC-12 นั้นโด่งดังมากในด้านความฉับไวในการตอบสนองต่อสัญญาณ ด้วยค่า rise time ที่สุดแสนสั้นเพียงแค่ 65 nanoseconds เท่านั้น …..!!!

 

ที่น่าสนใจยิ่งนัก ก็คือ ในส่วนของ output section ซึ่งได้รับการออกแบบไว้เป็น power amplifier ขนาดย่อมๆ ที่ทำงานในแบบ class A (มีฮีท ซิงค์ติดตั้งเสร็จสรรพ) สามารถจ่ายกระแสขาออกได้สูงกว่าธรรมดา ( ½ แอมแปร์ต่อแชนแนล) ทำให้ DMC-12 ไม่เกี่ยงเพาเวอร์ แอมป์ที่นำมาใช้งานร่วมกัน ยิ่งกว่านั้น “Spectral” ยังทำให้ DMC-12 น่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการแยกเอาภาคจ่ายไฟ หรือ power supply ออกไปไว้เป็นอีกแท่นเครื่องต่างหาก เพื่อให้เกิดสภาพการจ่ายแรงดันไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพในทุกสภาวการณ์ใช้งาน (ลักษณะเดียวกับภาคจ่ายไฟสำหรับแอมป์หลอดฯ) ไม่ว่าจะเป็นขณะที่รับฟังในระดับความดังเสียงมากๆ หรือว่า แผ่วเบาก็ตาม โดยตั้งชื่อเรียกขานว่า “DMS-12 Supply”
ต่อมา “Spectral” ก็ได้นำเอาภาคโฟโนติดตั้งเสริมเข้าไปกับ DMC-12 กลายมาเป็น “DMC-12 w/phono” กระทั่งได้ออกจำหน่าย “DMC-12 Series II” เวอร์ชั่นพัฒนา-ยกระดับของ DMC-12 เดิม ซึ่งภายหลังก็ได้รับการผนวกภาคโฟโนติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไป กลายมาเป็น “DMC-12 Series II w/phono” ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลยที่พูดคุยทางอี-เมล์เล่าถึงประสบการณ์ประทับใจที่ (เคย) ได้สัมผัสกับ DMC-12 ทั้งในแง่ของคุณภาพเสียง และความทนทาน รวมทั้งความสวยงามสะดุดตาของตัวเครื่องอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ SPECTRAL
………………………………………………………………………………………………………………………………………………

Exit mobile version