What HI-FI? Thailand

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต… : Marantz 4400

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต                                                  

 Marantz 4400

Stereo 2 + Quadradial 4 Receiver

มงคล อ่วมเรืองศรี

 

ยังจำได้ไหม ? … กับช่วงสั้นๆของกาลเวลาเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ครั้งที่เมืองไทยของเรานั้นก้าวหน้าไม่เป็นสองรองใคร ถึงขนาดมีสถานีวิทยุที่ออกอากาศในระบบ Quadraphonic – 4 ทิศทางเป็นแห่งแรกในเอเชียกันมาแล้ว ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ FM 96 MHz ของกรมการรักษาดินแดง หรือ เรียกกันสั้นๆว่า “วิทยุรด.” ในสมัยนั้น

 

ก่อนที่โลกทั้งโลกจะฮือฮา…แห่กันนิยมยินดีกับระบบเสียงรายรอบตัว “ของเล่นชิ้นใหม่” ในแวดวงเครื่องเสียง อย่างที่เรา-ท่านรู้จักกันดีภายใต้ชื่อเรียกขาน “Surround Sound” นั้น ผู้คนในอดีตครั้งกระโน้นได้เคยตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ล่าสุดที่สามารถ “จำลอง” สภาพเสียงเฉกเช่นที่เรา-ท่านได้ยินได้ฟังกันในธรรมชาติ ด้วยการแยกแยะทิศทางที่มาของเสียงต่างๆจากทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง-ด้านข้างซ้ายและขวา อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแบบฉบับของระบบเสียง 4 ทิศทาง หรือ Quadraphonic system (ซึ่งยกย่องได้ว่าเป็นแม่แบบของ Surround Sound เฉพาะอย่างยิ่งกับ Dolby Surround ในช่วงต่อมา)

 

ในช่วงเวลานั้นวงการเครื่องเสียงยังคง “ยึดมั่น” ในความเป็น High Fidelity ระดับสูง (สุด) อยู่กับแผ่นเสียง หรือ LP โดยที่ CD นั้นยังคงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่รู้จักกันแต่จำเพาะวิศวกรของบริษัทผู้ผลิตค่ายต่างๆ (โดยเฉพาะ PHILIPS กับ SONY ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้น-บุกเบิก และพัฒนา) เท่านั้น ระบบเสียงที่รับฟังกันจึงมิได้เปลี่ยนแปลงไปจาก Stereo system ที่คิดค้น-พัฒนากันมาตั้งแต่ปีค.ศ.1959 วิศวกรของบริษัทผู้ผลิตค่ายต่างๆจึงพยายามมองหา “สิ่งกระตุ้น” ตลาดใหม่ๆที่ให้ความแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นชิน

 

ซึ่งคงต้องขอเท้าความบอกกล่าวก่อนว่า โลกเครื่องเสียง ณ เวลานั้นได้รู้จักกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีชื่อเรียกขานว่า “QUAD-8” ซึ่งเป็นเทป 8-แทร็คที่มีระบบเสียง 4-แชนแนลอิสระ หรือ Discrete 4-channel Tape Cartridge system ที่ทางบริษัท RCA ได้พัฒนาขึ้น (แนะนำออกสู่สาธารณะในช่วงปีค.ศ.1970 ประมาณเดือน กันยายน) โดยอาศัยหลักการง่ายๆแต่ชาญฉลาดด้วยการใช้เนื้อเทป 8-แทร็คมา “จัดแบ่ง” ออกเป็น 2 กลุ่ม :- แทร็คคี่ (1-3-5-7) กับ แทร็คคู่ (2-4-6-8)  แล้วบรรจุสัญญาณเสียงระบบ สเตอริโอ (Stereo) ในลักษณะที่เรียกว่า “Program” ลงไปในแทร็คแต่ละกลุ่ม โดยที่ Program 1 จะเป็นสัญญาณเสียงสำหรับแทร็คคี่ และ Program 2 จะเป็นสัญญาณเสียงสำหรับแทร็คคู่ ซึ่งทั้ง Program 1 และ Program 2 จะถูกใช้งาน “พร้อมกัน” ในขณะเล่นกลับ (playback) เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาณเสียง 4-แชนแนลอิสระ

 

ดังนั้นหากนำเอาเทป 8-แทร็คแบบ QUAD-8 นี้ไปเล่นบนเครื่องเล่นเทป 8-แทร็คแบบระบบ สเตอริโอธรรมดาก็จะได้สัญญาณเสียงเพียงครึ่งเดียว-ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นี่เองละกระมังที่ทำให้นักคิด-นักประดิษฐ์-วิศวกรเกิดแรงบันดาลใจนำไปพัฒนาเป็นแผ่นเสียงระบบ 4-ทิศทางในแบบฉบับที่เรียกว่า “Quadradisc” ขึ้นมา โดยที่ JVC นั่นเองเป็นบริษัทที่คิดค้น-พัฒนาและนำเสนอสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในช่วงปีค.ศ.1971 ซึ่งต่อมาได้มีอีกหลายต่อหลายบริษัทที่เข้าร่วมแนวทางนี้ ไม่ว่าจะเป็น  Arista, Atlantic, Capricorn, Elektra, Fantasy, JVC, Nonesuch, RCA, Reprise รวมทั้ง Warner

 

Quadradisc อาจเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อที่ดูจะแพร่หลายและคุ้นตากันมากกว่า ทว่ามักจะสับสนเข้าใจไปว่าเป็นแผ่นเสียงคนละระบบกัน แต่สามารถนำมา “เล่นร่วมระบบกันได้” นั่นก็คือ “CD-4” Compatible Discrete 4) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไซร้ Quadradisc และ CD-4 ก็คือ แผ่นเสียงระบบเดียวกัน แต่ใช้ชื่อเรียกทางการค้าที่ต่างกันเท่านั้นเอง ด้วยหลักการที่นำเอาสัญญาณเสียงซ้ายหน้า (LF-left front) และ ซ้ายหลัง (LR-left rear) มาผนวกรวมด้วยกัน แล้วนำไปบรรจุไว้ที่ผนังร่องแผ่นเสียงด้านหนึ่ง ส่วนผนังร่องแผ่นเสียงอีกด้านก็จะถูกบรรจุไว้ด้วยสัญญาณเสียงขวาหน้า (RF-right front) และ ขวาหลัง (RR-right rear)

 

โดยใช้ความถี่คลื่นวิทยุเป็นสัญญาณพาห์ย่อย หรือ sub-carrier ในการผสมสัญญาณเสียงขณะทำการบันทึกและแบ่งแยกสัญญาณในขณะเล่นกลับ ทำให้ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเล่นเพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ หัวเข็มเล่นแผ่นเสียงที่ต้องเป็นแบบพิเศษสำหรับ CD-4 โดยเฉพาะ (CD-4 cartridge) และ อุปกรณ์แยกสัญญาณ 4-แชนแนลที่เรียกว่า CD-4 Demodulator เพิ่มเติมเข้ามา นอกจากนี้แอมปลิฟายเออร์ที่จะนำมาใช้ก็ยังต้องเป็นแบบ Discrete 4-channel ที่มีช่องรับสัญญาณขาเข้าแยกเป็นอิสระ 4 แชนแนลอีกด้วย และแน่นอนระบบลำโพงก็ต้องใช้มากขึ้นเป็น 4 ตัว โดยตั้งวางในลักษณะ ซ้ายหน้า (LF), ซ้ายหลัง (LR), ขวาหน้า (RF) และ ขวาหลัง (RR)

 

Quadradisc หรือ CD-4 เป็นเพียงแผ่นเสียงแบบเดียวเท่านั้น ที่บริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียงหลักๆส่วนใหญ่ให้การยอมรับว่าเป็น “fully discrete Quadraphonic Phonograph record system” ทั้งๆที่ยังคงมีแผ่นเสียงระบบอื่นอีก 2-3 ระบบที่แพร่หลาย และสามารถให้ลักษณะเสียงแบบ Quadraphonic ได้ ทว่าไม่สามารถแยกเสียงเป็น 4-แชนแนลอิสระได้อย่างแท้จริง นั่นก็คือ SQ (Stereo Quadraphonic) และ QS (Quadraphonic Stereo) ซึ่งแม้ว่าชื่อที่เรียกขานจะคล้ายคลึงกัน ทว่าที่มาของแต่ละระบบดังกล่าวนี้ก็ต่างกัน

 

“SQ” เป็นระบบเสียง 4-แชนแนลที่ CBS ทำการพัฒนาขึ้น และนำออกเผยแพร่ในปีค.ศ.1972 โดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์มาใช้เป็นหลักการ “เข้ารหัส” และ “ถอดรหัส” ข้อมูลแบบ matrix quadraphonic system ด้วยการนำสัญญาณเสียง 4-แชนแนลไป “ฝาก” หรือ “ซ่อน” ไว้ในรูปของสัญญาณ 2-แชนแนลสเตอริโอ ดังนั้นแผ่นเสียงแบบ SQ นี้จึงสามารถนำไปเล่นกับหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงแบบปกติธรรมดาได้ แต่หากต้องการรับฟังในระบบเสียง 4-แชนแนลก็ต้องใช้วงจรแบบ logic เข้ามาเป็นตัวถอดรหัส แล้วป้อนออกสู่แอมปลิฟายเออร์แบบ 4-แชนแนล บริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียงที่เข้าร่วมแนวทางนี้ ได้แก่ Angel, Capitol, CBS, CTI, Columbia, EMI, Epic, Eurodisc, Harvest, HMV, Seraphim, Supraphon and Vanguard.

 

ในขณะที่ “QS” นั้นเป็นระบบเสียง 4-แชนแนลที่วิศวกรชื่อ “Isao Itoh” แห่ง SANSUI ทำการพัฒนาขึ้นไล่เลี่ยกับ SQ (ซึ่งบางครั้งก็ใช้ชื่อเรียกขานว่า “RM” หรือ “Regular Matrix”) โดยมีบริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียง ABC, Advent, Bluesway, Candide, Command, Decca, Impulse, Longines, MCA, Ovation, Pye, Turnabout และ Vox ได้เข้าร่วมแนวทางนี้กับ SANSUI โดยในขณะที่ SQ นั้นถูกถือครองลิขสิทธิ์โดย CBS แต่ QS กลับปล่อยฟรีให้กับบริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียง โดยไม่คิดค่าสิทธิบัตร แต่กลับไม่เป็นที่แพร่หลายนัก สำหรับการนำวงจร “ถอดรหัส” ไปบรรจุไว้ในเครื่องรีซีฟเวอร์ หรือ แอมปลิฟายเออร์ ทั้งๆที่ QS system ดูจะให้ภาษีที่ดีกว่า SQ system ในด้านของการ “ไขว้เสียง” ในแนวเส้นทแยงมุม จึงนำมาซึ่งสมรรถนะการบ่งบอกภาพลักษณ์ทางเสียงในระบบ 4 ทิศทางที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน

 

ส่วนในด้านการกระจายเสียงสาธารณะอย่างวิทยุ FM นั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ระบบ matrix quadraphonic system มิใช่แบบ discrete quadraphonic system (4-แชนแนล ขนานแท้ในการส่งออกอากาศ) อย่างเช่น คลื่น 96 MHz ของวิทยุรด.ในยุคนั้น ก็ใช้ระบบ QS system ในการส่งออกอากาศ (น่าเสียดายที่ระบบ quadraphonic  นั้นได้รับความนิยมเพียงชั่วไม่นาน) ตัวผมเองช่วงนั้นยังคงเป็นนักเรียนชั้นม.ศ.5 (ปีสุดท้ายที่ใช้เปอร์เซ็นต์เป็นตัววัดเกรด) ที่เตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ มิได้มีงานทำ ทว่าคุณแม่ที่แสนดีของกระผมสุดจะทนกับลูกตัวโข่ง ที่อ้อนเช้าอ้อนเย็นก็เลยยอมควักเงินหลายหมื่นบาท (มากอักโขทีเดียวในยุคนั้นที่ราคาทองบาทละไม่ถึงพัน) ให้ผมไปติดต่อบ.แสตนดาร์ด ไทยแลนด์ขอซื้อเครื่องเสียงชุดแรกในชีวิต ซึ่งเป็นรีซีฟเวอร์ 4-แชนแนล พร้อมกับ ระบบลำโพงอีก 2 คู่ของ marantz มารับฟัง

 

จำได้มั่นคงว่ารีซีฟเวอร์นั้นเป็นรุ่น 4230 (ส่วนอุปกรณ์ SQ decoder เป็นรุ่น SQA-2) และระบบลำโพงรุ่น 8 mkII ซึ่งต้องขอบอกว่า คุณภาพเสียงเยี่ยมยอด หนักแน่นมาก แต่ในใจของผมนั้นหมายมั่นไว้กับรีซีฟเวอร์รุ่น 4400 ซึ่งถือเป็น “สุดยอด” ของรีซีฟเวอร์ในระบบเสียง 4 ทิศทาง ทว่าราคาจำหน่าย ณ เวลานั้น 1,250 ดอลล่าร์ สูงเกินกว่าที่จะไขว่คว้า (“4400” แรกจำหน่ายปีค.ศ.1974 ยุติการผลิตปีค.ศ.1978) อะไรทำให้ “4400” ของ marantz เป็นสุดยอดของรีซีฟเวอร์ในระบบเสียง 4 ทิศทางที่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีผู้ถวิลหา และประมูลซื้อกันในราคาแพงมิใช่น้อยเลย

 

ประการแรก…เรื่องของกำลังขับ “4400” สามารถจ่ายพละกำลังออกมาได้สูงถึง 125 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม เมื่อใช้งานแบบ สเตอริโอ 2-แชนแนล และหากรับฟังในแบบ 4-แชนแนลก็จะได้กำลังขับแบบ RMS แท้ๆมากถึง 50 วัตต์ในแต่ละแชนแนล ภายใต้ค่าความเพี้ยนเสียงรวมเพียงแค่ 0.15 % เท่านั้น ประการต่อมา… 4400 ได้รับการบรรจุวงจรภาครับวิทยุชั้นเยี่ยมยอดของโลกระบบ Phase Lock Loop ที่ NASA เป็นผู้พัฒนาขึ้น ทำให้ผลการแยกแชนแนลขณะรับฟังวิทยุทำได้สูงถึง 40 ดีบีเลยทีเดียว

 

ประการที่ 3… วิศวกรของ marantz ได้นำเอาระบบลดเสียงรบกวน Dolby มาใช้ช่วยในการรับฟังวิทยุ FM ด้วยระบบ Dolby FM เพื่อยกระดับคุณภาพความชัดเจนของรายละเอียดเสียงที่รับฟังจากวิทยุ FM โดยตรง ทั้งยังยกเอาระบบ Dolby Noise Reduction แบบ full-process มาไว้ภายในตัว ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในการบันทึกเสียงและเล่นกลับอย่างกับมืออาชีพกันเลยทีเดียว ประการที่ 4… “4400” มี oscilloscope คุณภาพสูงติดตั้งเอาไว้เสร็จสรรพ สำหรับตรวจเช็คความแม่นยำในการจูนหาคลื่นวิทยุ รวมทั้งสามารถดูการแยกสัญญาณเสียงของแต่ละแชนแนลได้ทั้งในขณะรับฟังระบบเสียงสเตอริโอ และ 4-แชนแนล ประการที่ 5… รูปลักษณ์ของ “4400” ได้รับการออกแบบไว้ได้อย่างสวยงามลงตัว แฝงไว้ด้วยความบึกบึน แข็งแกร่งทางโครงสร้าง รวมทั้งการใช้แผงหน้าปัดแสดงความถี่คลื่นวิทยุแบบ อะนาล็อก ร่วมกับปุ่มหมุนจูนหาคลื่นแบบ แนวนอนที่มีชื่อเฉพาะในการเรียกขานว่า Gyro-touch tuning ที่ให้ความรู้สึกสัมผัสอันแตกต่างจากปุ่มหมุนจูนหาคลื่นแบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งหาได้ยากยิ่งนักในผลิตภัณฑ์ของ marantz ยุคปัจจุบัน

 

 

………………………………………………………………………………………………………………………………………………

Exit mobile version