…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต…

0

…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต… 

Dynaco

PAS-2 / PAS-3

Stereo Preamplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

 dynacopas2frt

นี่คือ แบรนด์เครื่องหลอดฯที่ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก… ผมขอใช้คำพูดนี้ก็ละกัน เพราะ Dynaco เปรียบเป็น “ปฐมบท” สำหรับผู้ชื่นชอบใน-เสียงหลอด-แบบต้นตำรับ หากใจปรารถนาอยากได้มาครอบครองก็ยังพอจะหา (สภาพดีๆ) ได้ด้วยราคาที่ยังคงจับต้องได้สบายกระเป๋า และยังคงไว้ซึ่งคุณภาพที่ให้ความน่าพึงพอใจ แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานกว่าครึ่งศตวรรษ อันสืบเนื่องจากฝีมือการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย ตามแบบฉบับของ audio engineer นามกระเดื่องโลก “David Hafler” (ผู้ล่วงลับจากโลกนี้ไปเมื่อปีค.ศ.2003 วันที่ 25 เดือนพฤษภาคม สิริอายุได้ 84 ปี)

“PAS-3” เป็นปรีแอมป์ของ Dynaco ในยุคเดียวกับ PAS-2 ช่วงประมาณปีค.ศ.1960 ที่มีรูปลักษณ์และเครื่องเคราภายในที่เหมือนกันราวกับฝาแฝดอิน-จัน จะแตกต่างกันก็ตรงที่ PAS-2 นั้นผลิตจำหน่ายแบบเป็นชุดคิท (Dynakit) ให้ผู้ซื้อนำไปประกอบใช้ด้วยตัวเอง ส่วน PAS-3 จะเป็นแบบ factory-wired คือว่า ทางโรงงานเดินสายเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ให้เสร็จสรรพ พร้อมให้ผู้ซื้อนำไปใช้งานได้เลย …ดังนั้นแผงหน้าและปุ่มปรับต่างๆของ PAS-3 จึง “ดูดี-มีราดับ” ยิ่งกว่า PAS-2 ในความเป็นอะลูมิเนียมขัดเงา !!

…ในช่วงที่ผมยังคงละอ่อน นุ่งกางเกงขาสั้นนั่งเรียนหนังสืออยู่นั้น ในวงการเครื่องเสียงมีแอมป์ยอดนิยมของอเมริกันชนโด่งดังมากไปทั่วโลก ถึงขนาดกลายมาเป็น แม่แบบ ของการถอดแบบวงจรมาใช้ในแอมป์ไทยมากมายหลายรุ่นด้วยกัน นั่นคือ Hafler ซึ่งผู้ออกแบบก็คือ David Hafler – คนเดียวกับที่ออกแบบ Dynaco นั่นแหละครับ (แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Dynaco ก็ใช่ว่าจะบังเกิดขึ้นจากแนวคิดและฝีมือของ David Hafler ล้วนๆ เนื่องเพราะยังมีอีกบุคคลหนึ่งอยู่เบื้องหลัง…)

David Hafler ได้ก่อตั้ง “Dynaco” ซึ่งความจริงก็คือ Dyna Company ขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1954 ในขณะที่ก็ได้ก่อตั้ง “David Hafler Company” ในอีก 23 ให้หลัง โดยยังคงยึดหลักการกระจายสินค้าแบบเดียวกับที่เคยกระทำไว้กับ Dynaco คือมีทำออกมาขายทั้งแบบที่เป็นชุดคิทให้นำไปประกอบใช้ได้ด้วยตัวเอง (build-it-yourself kits) และแบบประกอบสำเร็จจากโรงงาน (factory assembled) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ล้วนได้รับคำวิพากษ์ไว้ดีมากๆ ทั้งในแง่ของคุณภาพเสียงและสมรรถนะการใช้งาน

ขออนุญาตย้อนกลับมาที่ “Dynaco” – ก่อนจะอดฉันข้าวเช้า,,, จริงๆแล้ว David Hafler เริ่มดำเนินธุรกิจของเขามาตั้งแต่ปีค.ศ.1950 แล้วนะครับ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ตั้งชื่อว่า Dyna Company ทั้งนี้ตัวเขาและเพื่อนรัก Herb Keroes ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ Acrosound ขึ้นมาปีค.ศ.1950 ด้วยวัตถุประสงค์ของการผลิต-จำหน่าย output transformers คุณภาพสูงสำหรับวงการออดิโอโดยเฉพาะ มีฐานที่ตั้งอยู่ใน Philadelphia ต่อมาด้วยแนวคิดพลิกแพลงของ David ทำให้เขาสามารถปรับปรุงวงจรภาคขยายใน Williamson Amplifier ด้วยการใช้ Ultra-linear circuit ของ Alan Blumlein ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล จนมีชื่อเสียงขจรขจาย

ด้วยการใช้ “taps” ต่อออกมาจาก output transformer แล้วป้อนย้อนกลับเข้าสู่ output stage screen grid circuitry จากความสำเร็จจึงเป็นแบบอย่างให้ผู้ออกแบบแอมปลิฟายเออร์ในช่วงยุคต้นปี’50 เอาเป็นเยี่ยงอย่าง-ทำตามกันออกมามากมาย โดยยึดพื้นฐานอยู่บน “Acrosound transformers” ทว่าในอีก 4 ปีต่อมา David และ Herb ก็ต้องหันหลังให้กัน แยกย้ายไปคนละทาง เนื่องจาก “แนวคิด” ที่สวนทางกัน อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า David นั้นต้องการทำผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย ทั้งแบบที่เป็นชุดคิทให้ผู้ซื้อนำไปประกอบใช้งานได้ด้วยตัวเอง และแบบประกอบสำเร็จจากโรงงาน

679539-1960_dynaco_pas_2_preamp_mint

ในขณะที่ Herb นั้นมีความคิด “คัดค้าน” และต่อต้านการกระทำเช่นนั้นมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงจุดแตกหัก-ยกเลิกกิจการในปีค.ศ.1954 …ต่อมาในระหว่างที่ David ได้แวะไปเยี่ยมเยียนกิจการ Brociner Electronics ของ Victor Brociner ในนิวยอร์ก David ก็ได้พบเข้ากับ Ed Laurent – ผู้ซึ่งเคยได้ออกแบบเพาเวอร์ แอมป์หลอดฯที่ใช้วงจรหลอดไดรเวอร์เดี่ยวๆ จนเป็นที่ร่ำลือกัน หลังการพบปะ-พูดคุยกันทำให้ทั้งสองตกลงใจที่จะร่วมกันก่อตั้ง “Dyna Company” ขึ้นมา

“Dyna Company” มิได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การผลิต output transformers คุณภาพสูงสำหรับแวดวงออดิโอเท่านั้น หากได้ก้าวเข้าไปสู่แนวทางการออกแบบวงจรคุณภาพสูงสำหรับแวดวงเครื่องเสียง (high-quality audio circuitry) ด้วยเช่นกัน ในเวลาอันไม่นานนักหลังการก่อตั้งบริษัท Dyna Company ก็ได้มีผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกสุดเป็นเพาเวอร์ แอมป์หลอดฯแบบโมโน ขนาดกำลังขับ 50 วัตต์ออกมาจำหน่ายในปีค.ศ.1955 ภายใต้ชื่อรุ่นว่า “Dynaco Mk. II” โดยมีออกมาให้เลือกซื้อหากันได้ทั้งแบบชุดคิท และแบบประกอบสำเร็จจากโรงงาน

สำหรับปรีแอมป์นั้น Dyna Company ได้ผลิตออกมาจำหน่ายในปีค.ศ.1957 โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “Dynaco PAM-1” (เป็นปรีแอมป์หลอดฯแบบโมโนที่ไม่มีภาคจ่ายไฟในตัวเอง) ตามติดมาด้วย “Dynaco Mk. III” ในช่วงปีเดียวกัน (กำลังขับเพิ่มขึ้นเป็น 60 วัตต์) ต่อมาในปีค.ศ.1959 “Dynaco Stereo 70” โดยมีออกมาให้เลือกซื้อหากัน ด้วยความเป็น “เพาเวอร์ แอมป์หลอดฯแบบ สเตอริโอ” ขนาดกำลังขับ 35 วัตต์ต่อข้าง (สามารถบริดจ์ โมโนเป็น 70 วัตต์ได้) ที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ จนต้องทำการผลิตอย่างต่อเนื่องมาถึงช่วงกลางปี’90 ด้วยจำนวนมากกว่า 350,000 เครื่องเลยทีเดียวเชียวละท่าน !!!!!

กระทั่งในปีค.ศ.1960, Dynaco PAS-2 และ Dynaco PAS-3 – ปรีแอมป์หลอดฯแบบ สเตอริโอที๋มีภาคจ่ายไฟในตัวเองก็ปรากฏโฉมออกมา ในช่วงนี้ “ธุรกิจ” ของ Dyna Company ไปได้ดี, David และ Ed จึงตัดสินใจขยายการผลิต พร้อมโยกย้ายฐานการผลิตจาก ‘617 N. 41st St.’ มายัง ‘3912 Powelton Ave.’ ซึ่งจริงๆแล้วที่นี่เป็นอาคารและโรงงานผลิตช็อกโกแลตเก่า (…นึกถึงหนังเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ขึ้นมาโดยพลัน) และคุณรู้หรือไม่ว่า ห้องฟังเสียงของบริษัทนี้ เขาใช้ที่ไหนกัน …ตู้แช่แข็งขนาดใหญ่แบบ walk-in ของโรงงานช็อกโกแลตนั่นเองแหละครับ เพราะมันได้รับการบุฉนวนป้องกันไว้อย่างดีอย่างไงละท่าน !!!

ขออนุญาตแทรกเกร็ดเอาไว้เล็กๆสำหรับ “Dynaco Stereo 70” ที่กลายเป็นหนึ่งใน the legendary ณ ทุกวันนี้ …ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว David มิได้ช่วยเหลือ Ed ในด้านของการออกแบบเลย แต่ Ed ได้ร่วมกับ “Bob Tucker” ช่วยกันทำการออกแบบขึ้นมา ส่วน David นั้นไปมีส่วนในด้านของ business trip เฉกเช่นเดียวกับ “FM-1” ซึ่งเป็น FM tuner รุ่นแรกสุดของ Dynaco ก็เป็นฝีมือการออกแบบของ Ed ร่วมกับ Stewart Hegeman ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1961

Dyna Company โยกย้ายโรงงานอีกครั้ง จาก 3912 Powelton Ave. มายัง 3060 W. Jefferson St. (ใน Philadelphia อีกนั่นแหละ) เพื่อขยายการผลิต พร้อมๆกับได้ออกจำหน่ายรุ่น PAT-4 และ Stereo 120 ที่เป็นระบบ Solid-State สมบูรณ์แบบ (มิได้ใช้หลอดสุญญากาศอีกต่อไป) …เป็นอันว่า “สิ้นสุด” ยุคหลอดฯของ “Dynaco” แต่ว่า เรื่องราวของ Dyna Company ยังคงดำเนินต่อไป เอาไว้วันหน้า-วันหลังจะหยิบยกมาเล่าแทรกไว้ใน “The One …หนึ่งนี้ดังในอดีต” ตอนที่เกี่ยวข้องกับแอมป์โซลิด-สเตทก็ละกันครับ

6e4bf6732e0b13a9bb34fe93b069fe70

ดังนั้นขอวกเรื่องราวกลับมาที่ Dynaco PAS-2 และ Dynaco PAS-3 – ก่อนจะอดฉันข้าวเพลก็ละกัน,,, อันสืบเนื่องมาจากความเป็น “ชุดคิท” ที่ปัจจัยราคามาเป็นตัวกำหนดสำคัญ ทำให้ “เกรด” อุปกรณ์ที่ใช้ใน “PAS-2” พูดได้ว่า ยังไม่ถึงขั้น เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ในทุกวันนี้ มีหลายค่ายที่ออกจำหน่ายชุดคิทพิเศษ สำหรับปรับปรุงคุณภาพเจ้า PAS-2 อาทิเช่น  CurcioAudio, Tubes4HiFi, AudioRegenesis, ClassicValve เป็นต้น ส่วน Dynaco PAS-3 ก็อาจจะ “ดี” ขึ้นมาหน่อย เพราะใช้อุปกรณ์ที่คัดเกรดและประกอบสำเร็จจากโรงงาน แต่กระนั้น “บางท่าน” ก็บอกว่า-ถ้า-ได้ทำการ อัพเกรด เจ้า “PAS-3” จะกลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก ที่ปรีแอมป์สมัยใหม่ในยุคนี้ มิอาจหาญเทียบได้… ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ทั้ง PAS-2 และ PAS-3  เป็นที่ต้องการสำหรับกลุ่มคนประเภท poor-man McIntosh อย่างไงละครับ

maxresdefault

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น PAS-2 หรือว่า PAS-3 ก็ตามที หากมีโอกาสเจอะเจอขอให้สละเงินเพียงไม่ถึงสองหมื่นบาท แลกเอามาเก็บ (สะสม) ไว้ก่อนเถอะครับ ส่วนใครจะอะไร-อย่างไงกันต่อไปในเรื่องของการโมฯก็ว่ากันไปตามแต่รสนิยมและงบประมาณของแต่ละท่าน สำหรับผม-คนชอบของเดิมๆครับ เลยขอเก็บแบบ original เอาไว้ทั้ง 2 รุ่น …ที่สำคัญหลอดฯเบอร์ ecc83/12ax7 ทั้ง 4 หลอดที่ใช้อยู่ใน PAS-3 ของผมนั้น มีตราโลโก้ “DYNACO” พร้อมตัวอักษรระบุ “Made in West Germany” ปรากฏอยู่ที่ข้างหลอดฯ รวมทั้งมีสัญลักษณ์ “t” (diamond) อยู่ที่ใต้หลอดฯด้วยนะครับ พณท่าน

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..