…The Ones หนึ่งนี้ “ดัง” ในอดีต…
AR 3a
ลำโพงดี ที่ (คนทั้ง) โลกลืมไม่ลง……
มงคล อ่วมเรืองศรี
AR นั้นเป็นอักษรย่อของชื่อยี่ห้อ “Acoustic Research, Inc.” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1952 โดยนักคิด-นักเขียน-นักประดิษฐ์-นักค้นคว้า และคุณครูผู้สอนสั่งวิชาความรู้ในด้าน audio-electronics นามว่า Edgar Villchur ต่อมาในภายหลังผู้เป็นศิษย์เอกของเขาเอง นามว่า Henry Kloss ได้ขอเข้าร่วมหุ้นในบริษัทด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ในอันที่จะผลิตอุปกรณ์ high-end audio ที่มีสมรรถนะสูง และให้คุณภาพเสียงที่ดี ยิ่งกว่าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ณ ขณะนั้น อันมีฐานการผลิตตั้งอยู่ที่ Massachusetts, สหรัฐอเมริกา ทว่าปัจจุบัน “AR” ได้ถูกถ่ายโอนสิทธิ์การผลิต รวมทั้งตราสัญลักษณ์-เครื่องหมายทางการค้าให้กับ Voxx International หรือ Audiovox Corporation เดิมนั่นแล
Acoustic Research เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมระบบลำโพงคุณภาพสูงด้วยความสำเร็จจากการออกแบบ-ผลิตรุ่น AR-3 ซึ่งต่อมาได้มีการแตกแขนงแห่งพัฒนาการออกไปในอีกหลายรุ่นถัดมา เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น “AR-3a” ที่ขึ้นชื่อลือชายิ่งนักเมื่อสักกว่า40 ปีที่ล่วงมา และแม้กระทั่งทุกวันนี้ ระบบลำโพงหลายต่อหลายรุ่นของ “AR” เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น “AR-3a” นี้ไซร้ ก็ยังคงเป็นที่ใฝ่ฝันของบรรดานักฟังชั้นเซียน และนักสะสมเครื่องเสียง (อันมีคุณค่า) ยุคเก่า
จากความที่ “Acoustic Research” ถือเป็น “แม่แบบ” สำคัญแห่งพัฒนาการระบบลำโพงของโลก จากฝีมืออันช่างคิดของ Edgar Villchur ที่ได้สร้างระบบลำโพงแบบใหม่ที่ทรงสมรรถนะยิ่งนัก จนกลายเป็น “ต้นตำรับ” ของระบบลำโพงที่มีการทำงานแบบ “แหกคอก” อย่างมากในยุคนั้น ซึ่งใช้ระบบตัวตู้ที่ปิดสนิทมิดชิดแบบ sealed box ไม่มีการไหลถ่ายเทของมวลอากาศระหว่างภายในกับภายนอกตัวตู้ลำโพง เพื่อให้มวลอากาศที่ “ถูกกักเก็บ” ไว้ภายในตัวตู้ลำโพง ทำหน้าที่เสมือน “สปริง” ซึ่งมองไม่เห็น คอยทำการ “ดึง” การเคลื่อนที่ของตัวกรวยลำโพงไว้ – ฉุดรั้งมิให้ขยับขับเคลื่อนที่ออกไปมากเกินควร (จนเกิดเป็นค่าความเพี้ยนเสียง) ซึ่งในขณะเดียวกันมวลอากาศภายในตัวตู้ลำโพงก็จะทำการ “ดัน” การเคลื่อนที่ของตัวกรวยลำโพงไว้ – ต้านมิให้ขยับขับเคลื่อนที่เข้ามามากเกินพอดี (จนเกิดเป็นค่าความเพี้ยนเสียง) ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ตัวตู้ลำโพงที่ Edgar Villchur ได้พัฒนาขึ้นมานี้ ถูกใช้ชื่อเรียกขานว่า “acoustic suspension”
AR จึงเป็นต้นตำรับของระบบลำโพงแบบ acoustic suspension ที่ให้สมรรถนะทางเสียง อันเป็นที่ยอมรับกันว่า “มีความเที่ยงตรงสูง” ด้วยว่า ค่าความผิดเพี้ยนนั้นต่ำมากนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบลำโพงแบบ acoustic suspension ยังไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดตัวตู้ลำโพงที่ใหญ่โตเทอะทะ อันเนื่องมาจากไม่จำเป็นต้องให้มวลอากาศภายในตัวตู้ไหลเชื่อมโยงกับมวลอากาศภายในห้องที่ใช้รับฟังอีกต่อไปนั่นเอง ระบบลำโพงของ AR แทบจะทุกรุ่น จึงมีขนาดค่อนข้างจะกะทัดรัด แม้กับรุ่นซีรี่ส์ใหญ่ๆก็ตามที ใครที่นิยมระบบลำโพงขนาดกะทัดรัด ไม่กินพื้นที่ตั้งวาง (footprint) มากนัก จึงมักนึกถึง AR ก่อนยี่ห้อใดๆ นอกจากนี้น้อยคนนักที่จะทราบว่า AR นี้อีกเช่นกันที่เป็น “ต้นตำรับ” ของตัวขับเสียงแบบ โดม (dome) ไม่ว่าจะเป็น dome tweeter และ midrange dome ก็ตาม ล้วนมาจากฝีมือและสมองอัจฉริยะของ Edgar Villchur นี่แหละ (ร่วมกับแนวคิดของ Henry Kloss)
“AR-1” เป็นระบบลำโพงรุ่นแรกสุดของ Acoustic Research ที่ได้รับการออกแบบจากแนวทางของหลักการ acoustic suspension (สิทธิบัตร US หมายเลข 2,775,309) ที่ Edgar Villchur ได้คิดพัฒนาขึ้นเต็มรูปแบบ และได้รับการผลิตออกจำหน่ายในปีค.ศ.1954 ซึ่งผู้คนในยุคนั้นต่างให้การยอมรับ และวิพากษ์ในแนวทางที่ดี Edgar Villchur จึงได้พัฒนาไปสู่ “AR-2” ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1956 โดยยังคงหลักการ acoustic suspension ต่อมาไม่นาน พัฒนาการก็มาถึง “AR-3” ที่แหวกแนวทางให้โลกเครื่องเสียงในยุคนั้น (ปีค.ศ.1958) ต้องตกตะลึงอีกครั้ง ด้วยความที่นอกจากจะมีระบบตัวตู้ที่ทำงานในแบบ acoustic suspension แล้วนั้น ตัวขับเสียงทั้งช่วงย่านความถี่เสียงสูง (tweeter) และ ช่วงย่านความถี่เสียงกลาง (midrange) ล้วนเป็นแบบ dome (ทรงโดม) แทนที่จะเป็นแบบ cone (ทรงกรวย) อีกด้วย (ต่อมาภายหลัง Edgar Villchur ได้คิดย้อนไปพัฒนารุ่น “AR-2” ขึ้นใหม่ โดยแทนที่ tweeter และ midrange ซึ่งใช้อยู่แต่เดิมนั้น มาเป็นแบบ “dome” โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “AR-2a”)
สำหรับ “AR-3a” เป็นระบบลำโพงที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจาก “AR-3” (ทำการผลิตจำหน่ายอยู่ในช่วงปีค.ศ.1967-1975) โดยยังคงเป็นระบบลำโพง 3-ทางแบบ acoustic suspension ที่มีขนาดกะทัดรัด ทั้งๆที่ตัวลำโพงขับขานช่วงย่านความถี่เสียงต่ำ (woofer) ที่ใช้นั้นมีขนาดถึง 12 นิ้วทีเดียวเชียวแหละ โดยมีขนาดตัวตู้ภายนอก 356x636x289 ม.ม. คิดเป็นปริมาตรภายใน 41.8 ลิตร มีน้ำหนักประมาณ 24 กก. วูฟเฟอร์ที่ใช้ขนาด 12 นิ้วนั้นเป็นแบบ กรวยกระดาษ (paper cone) ส่วนมิดเรนจ์และทวีตเตอร์นั้นเป็นแบบ hemispherical dome เหมือนกัน มีขนาด 1 ½ นิ้ว และ ¾ นิ้ว ตามลำดับ ค่าความต้านทานรวมเท่ากับ 4 โอห์ม และได้ระบุแนะนำให้ใช้งานได้กับแอมปลิฟายเออร์ที่มีกำลังขับ 25 วัตต์ขึ้นไป ที่พิเศษคือมีปุ่มควบคุมระดับความเข้มของเสียง (level control) ทั้งช่วงย่านความถี่เสียงกลาง และช่วงย่านความถี่เสียงสูงติดตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหลังตัวตู้
“AR-3a” เป็นระบบลำโพงที่เคยได้ชื่อว่า ‘ดีเยี่ยมที่สุดของอเมริกา’ แม้แต่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในบ้านเราก็ยกย่อง-ชื่นชม AR-3a เป็นอย่างมากทีเดียวในยุคนั้น เรียกได้ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก AR-3a (แม้กระทั่ง Mark Levinson ยังถึงกับเคยนำเอา AR-3a ไปปรับปรุงใช้งานจนกลายเป็นระบบลำโพงชั้นยอดของตัวเองไปเลย (ภายใต้ชื่อยี่ห้อ Cello – ขออภัยถ้าจำผิดไป) AR-3a นั้นขึ้นชื่อลือชาเป็นอย่างมากในกิตติศัพท์การให้เสียงเบสที่ลุ่มลึก และหนักแน่นเกินพิกัดขนาดตัวของมันอย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญช่วงย่านเสียงกลาง เฉพาะอย่างยิ่งเสียงร้อง (vocal) นั้น ให้ความสมจริงเป็นอย่างมาก เป็นเสียงที่เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา ควบคู่กับความมีตัวตนของเสียงที่รับฟัง
ปัจจุบัน AR-3a ก็ยังคงเป็นที่ถวิลหา แม้กระทั่งในอเมริกาแดนดินถิ่นกำเนิดของ AR เองก็ยังหา AR-3a ได้ยากยิ่งนัก ใครที่มีอยู่ในครอบครองก็นับว่าโชคดีที่ได้มีไว้เชยชม ถึงขนาดจัดตั้งเป็นชมรมผู้นิยม AR-3a ขึ้นมากันเลยเชียวแหละ ปัญหาสำคัญของผู้นิยม AR-3a ที่รับรองแบบฟันธงได้เลยว่า หนีไม่พ้น อยู่ตรงที่ว่า วูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้วของ AR-3a นั้นเป็นขอบโฟม* (foam surround) ซึ่งมีอายุการใช้งานที่มิได้ยืนยงคงทนเหมือนกับขอบยาง หรือ ขอบผ้าชุบน้ำยา ดังนั้น “เมื่อถึงเวลา” ที่ขอบโฟมมีสภาพยุ่ยสลาย กลายเป็นผง ก็จำต้องหามาเปลี่ยนใหม่ มิเช่นนั้น ก็ใช้รับฟังอะไรไม่ได้ กลายเป็นลำโพงตั้งโชว์ นี่แหละคือปัญหา เพราะการหา “ขอบโฟม” มาเปลี่ยนใหม่แทน “ขอบเน่า” ให้เหมือนของดั้งเดิมนั้น มันยาก (ส์) สิ้นดี และที่สุดแสนสำ-มะ-คัญมันอยู่ตรงที่ว่า AR-3a นั้นมีระบบตัวตู้แบบ acoustic suspension ที่จำเป็นต้องให้ตัวตู้นั้นปิดมิดชิดสนิทแน่น มิให้มวลอากาศจากภายนอกรั่วไหลเข้าไปตัวตู้ได้ ในขณะเดียวกันมวลอากาศจากภายในตัวตู้ก็ต้องมิให้เล็ดลอดออกมาสู่ภายนอกได้ ดังนั้น “ขอบลำโพง” หรือ surround จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดนัก มิฉะนั้นสมรรถนะและคุณภาพเสียงจัก “เปลี๋ยนไป๊” …
* อนึ่ง AR-3a ในยุคแรกๆของการผลิตจำหน่ายนั้น “ขอบลำโพง” หรือ surround ของตัววูฟเฟอร์นั้นเป็น “ขอบผ้า” ทว่าหาได้ยากยิ่งนัก เพราะมีอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ใช้วูฟเฟอร์แบบนี้ (ระบบแม่เหล็กก็เป็น alnico magnet อีกด้วย) AR-3a ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีไว้ในครอบครองจึงเป็นแบบ “ขอบโฟม” (urethane foam)
………………………………………………………………………………………………………………………………………………