The Dark Side of the Moon ผลงานที่ไม่มีนักฟังคนใดปฎิเสธได้ของ Pink Floyd (2)

0

Mongkol Oumroengsri

อัลบั้ม The Dark Side of the Moon หรือ DSOTM นับเป็นผลงานเพลงที่เรียกได้ว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น music lover หรือว่า audiophile ซึ่งแม้จะมิใช่นักฟังเพลงขาร็อคก็ตาม DSOTM ผันผ่านการจัดทำในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 1,000 เวอร์ชั่น ทั้งการผลิตใหม่, การทำซ้ำ และการรีมาสเตอร์หลายต่อหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน …ในครั้งนี้ ขอนำประเด็นความเป็น first pressed ที่น่าสนใจของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon มานำเสนอกันต่อเป็นตอนที่ 2 นะครับ

DSOTM สำหรับแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดนั้น จัดทำในปี 1973 ออกจำหน่ายพร้อมกัน ทั้งในอังกฤษและอเมริกา ในแบบปกเปิด (gatefold sleeve) เหมือนกัน พร้อมโปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์สองสีอย่างละ 2 ใบไม่ต่างกัน ซึ่งออกแบบโดยบริษัทกราฟิกและการออกแบบแห่งสหราชอาณาจักร Hipgnosis

แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งอังกฤษ มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – SHVL 804, Harvest – 1E 064 o 05249 (1E 064 o 05249 เป็น International E.M.I. catalog number ปรากฏเป็นรูปแบบตัวอักษรขนาดเล็ก และวงเล็บไว้ที่ปกด้านหลัง) Pressed By – The Gramophone Co. Ltd. (EMI Records Ltd.) ส่วนแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งอเมริกา มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – SMAS-11163 / Mastered At – Capitol Mastering Pressed By – Capitol Records Pressing Plant, Winchester หากแต่เวอร์ชั่นอันเป็นที่ต้องการ และนับว่า มีค่ามากที่สุด คือ ต้นฉบับดั้งเดิมของ U.K. Harvest ซึ่งระบุเวอร์ชั่นได้ด้วยสามเหลี่ยมสีน้ำเงินทึบ (solid light blue prism) ที่มีตัวอักษรสีเงิน (silver lettering) บนลาเบลแผ่นเสียง ส่วนรูปแบบต่อมาปริซึมก็จะว่างเปล่า รวมทั้งจะเป็นสามเหลี่ยมแรเงาที่ใช้กับเวอร์ชันอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

ทว่าถ้าไม่พูดถึงแผ่นเสียงทางฟากฝั่งญี่ปุ่นก็ดูจะไม่ให้เกียรติกัน เพราะทางญี่ปุ่นนั้นมักจะไม่พลาดที่จะนำอัลบั้มต่างๆ ของทั้งอังกฤษและอเมริกาไปผลิต-จำหน่ายในลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่นเอง ซึ่งก็คงต้องยอมรับในแง่ของการจัดทำว่า พิถีพิถันเหลือกำลังตามแบบฉบับซามูไร ทั้งยังมี insert booklet พิมพ์สี่สีอย่างดีจำนวน 32 หน้า แถมให้พร้อมโปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์สองสีอย่างละ 2 ใบในปกอัลบั้มแบบปกเปิด (gatefold sleeve) เหมือนกัน

แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งญี่ปุ่น มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – EOP-80778, Odeon – EOP-80778  Manufactured By – Toshiba – EMI Ltd  (Toshiba Musical Industries Ltd.) ทว่าแผ่นเสียงเวอร์ชั่นของญี่ปุ่นนั้นก็มีการผลิตอยู่ 2 ราคาด้วยกัน คือ 2000 yen กับ 2200 yen ซึ่งราคา 2000yen นั้นผลิตจำหน่ายหลังจากแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น (แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางญี่ปุ่นผลิตจำหน่ายเดือนเมษายน – แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษผลิตจำหน่ายเดือนมีนาคม) นี่จึงทำให้แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางญี่ปุ่น รหัสแผ่น EOP-80778 นี้ได้รับการตีมูลค่าในการหามาสะสม แทบไม่ต่างจากแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษ (the first UK pressing) จัดเป็น rare item เช่นเดียวกัน ส่วนเวอร์ชั่น 2200 yen นั้น แม้จะเป็นเพียงแค่การปรับราคาจำหน่ายใหม่ของทาง Toshiba – EMI ในขณะที่ตัวแผ่นเสียง (vinyl) นั้นยังคงเป็นเพรสเดิม แต่สำหรับคอนักสะสมตัวจริงแล้วนั้น ยังคงต้องเป็น Harvest – EOP-80778, Odeon – EOP-80778 เวอร์ชั่นแรกสุด 2000 yen นั่นแล

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักฟัง หรือ นักเล่นแผ่นเสียงบางท่านก็ชื่นชอบแผ่นเสียงของทางเยอรมันอยู่เหมือนกัน ซึ่ง DSOTM สำหรับแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของทางเยอรมัน ก็จัดทำในปี 1973 และออกจำหน่ายในแบบ ปกเปิดเช่นกัน โดยมีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – 1 C 062-05 249, EMI Electrola – 1 C 062-05 249 / Manufactured By – EMI Electrola GmbH

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงยุคปี ’70 นั้น โลกเครื่องเสียงได้รับความนิยมกับระบบเสียงใหม่ในแบบ 4 ทิศทาง ที่รู้จักกันว่า Quadraphonic 4 Channel ดังนั้นแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษในระบบ Quadraphonic SQ System* จึงได้รับการผลิตจำหน่ายในปี 1973 เป็นรูปแบบ ปกเปิด ด้วยเช่นกัน โดยมีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – Q4SHVL 804, EMI – Q4SHVL 804, EMI – 0C 064 – 052490

…อย่างที่บอกไป อัลบั้ม The Dark Side of the Moon หรือ DSOTM นับเป็นผลงานเพลงที่ผันผ่านการจัดทำในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 1,000 เวอร์ชั่น ซึ่งในแง่ของเวอร์ชั่นแผ่นเสียง หรือ ไวนิลโดยเฉพาะนั้น แผ่นส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น ปกเปิด หรือ  gatefold sleeves ตามแบบต้นตำรับ ทว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีอยู่หลายเวอร์ชั่นที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ แต่ที่แตกต่างจนกลายเป็นที่ใฝ่ฝันหามาสะสมก็คือ แผ่นเสียงเวอร์ชั่นของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชื่อศิลปินและชื่ออัลบั้ม พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่บนปกสอดแบบธรรมดา (มิใช่แบบปกเปิด) นี่จึงกลายเป็น DSOTM เวอร์ชันใหม่ที่แตกต่าง ทำให้เป็นหนึ่งใน DSOTM ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับ “นักสะสมเชิงลึก” (deep collectors) ในการเสาะหามาครอบครอง

…ครั้งหน้า จะนำพาท่านทั้งหลายไปดูกันถึงเรื่องของ Re-issues & Remastering รวมถึงการจัดทำอย่างเป็นวาระพิเศษของ DSOTM กันนะครับ


* Quadraphonic (หรือ Quadrasonic )  นับเป็นระบบเสียงรอบทิศทางในแบบ 4.0 แชนแนล – โดยใช้ช่องสัญญาณเสียงจำนวน 4 ช่องสัญญาณ ด้วยการวางลำโพงอยู่ในตำแหน่งที่มุมทั้งสี่ของพื้นที่ห้องฟัง – Quadraphonic สามารถใช้ 4 ช่องสัญญาณเสียง (จากปกติ 2 ช่องสัญญาณเสียงในระบบ สเตอริโอ) เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ที่สมจริงของประสบการณ์การรับฟังแบบจำลองสภาพสามมิติ ที่อาจมีข้อจำกัดด้านการรับรู้ทิศทางของระบบเสียง สเตอริโอ(สองแชนเนล) ระบบเสียง Quadraphonic เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภครุ่นแรกสุดในระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) ที่ได้รับกานำเสนอสู่สาธารณชนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ดังนั้นจึงมีการบันทึกเสียงระบบ Quadraphonic กันเป็นจำนวนมากมายนับพันรายการ แต่กระนั้นระบบเสียง Quadraphonic ก็ถือเป็นความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคหลายประการ และความเข้ากันไม่ได้ของรูปแบบ การเล่นต้องใช้ลำโพงและจำนวนช่องขยายสัญญาณเสียงเพิ่มเติมเป็นเท่าตัว (จาก 2 เป็น 4) นอกจากนี้ยังต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณ หรือ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษอีกด้วย ทำให้การเล่นระบบเสียง 4-แชนแนลมีราคาแพงกว่ามาก เมื่อเทียบกับการรับฟังในระบบเสียงมาตรฐานสเตอริโอ 2-แชนเนล