What HI-FI? Thailand

The Dark Side of the Moon ผลงานที่ไม่มีนักฟังคนใดปฎิเสธได้ของ Pink Floyd (2)

Mongkol Oumroengsri

อัลบั้ม The Dark Side of the Moon หรือ DSOTM นับเป็นผลงานเพลงที่เรียกได้ว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น music lover หรือว่า audiophile ซึ่งแม้จะมิใช่นักฟังเพลงขาร็อคก็ตาม DSOTM ผันผ่านการจัดทำในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 1,000 เวอร์ชั่น ทั้งการผลิตใหม่, การทำซ้ำ และการรีมาสเตอร์หลายต่อหลายครั้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน …ในครั้งนี้ ขอนำประเด็นความเป็น first pressed ที่น่าสนใจของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon มานำเสนอกันต่อเป็นตอนที่ 2 นะครับ

DSOTM สำหรับแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดนั้น จัดทำในปี 1973 ออกจำหน่ายพร้อมกัน ทั้งในอังกฤษและอเมริกา ในแบบปกเปิด (gatefold sleeve) เหมือนกัน พร้อมโปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์สองสีอย่างละ 2 ใบไม่ต่างกัน ซึ่งออกแบบโดยบริษัทกราฟิกและการออกแบบแห่งสหราชอาณาจักร Hipgnosis

แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งอังกฤษ มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – SHVL 804, Harvest – 1E 064 o 05249 (1E 064 o 05249 เป็น International E.M.I. catalog number ปรากฏเป็นรูปแบบตัวอักษรขนาดเล็ก และวงเล็บไว้ที่ปกด้านหลัง) Pressed By – The Gramophone Co. Ltd. (EMI Records Ltd.) ส่วนแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งอเมริกา มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – SMAS-11163 / Mastered At – Capitol Mastering Pressed By – Capitol Records Pressing Plant, Winchester หากแต่เวอร์ชั่นอันเป็นที่ต้องการ และนับว่า มีค่ามากที่สุด คือ ต้นฉบับดั้งเดิมของ U.K. Harvest ซึ่งระบุเวอร์ชั่นได้ด้วยสามเหลี่ยมสีน้ำเงินทึบ (solid light blue prism) ที่มีตัวอักษรสีเงิน (silver lettering) บนลาเบลแผ่นเสียง ส่วนรูปแบบต่อมาปริซึมก็จะว่างเปล่า รวมทั้งจะเป็นสามเหลี่ยมแรเงาที่ใช้กับเวอร์ชันอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

ทว่าถ้าไม่พูดถึงแผ่นเสียงทางฟากฝั่งญี่ปุ่นก็ดูจะไม่ให้เกียรติกัน เพราะทางญี่ปุ่นนั้นมักจะไม่พลาดที่จะนำอัลบั้มต่างๆ ของทั้งอังกฤษและอเมริกาไปผลิต-จำหน่ายในลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่นเอง ซึ่งก็คงต้องยอมรับในแง่ของการจัดทำว่า พิถีพิถันเหลือกำลังตามแบบฉบับซามูไร ทั้งยังมี insert booklet พิมพ์สี่สีอย่างดีจำนวน 32 หน้า แถมให้พร้อมโปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์สองสีอย่างละ 2 ใบในปกอัลบั้มแบบปกเปิด (gatefold sleeve) เหมือนกัน

แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของฟากฝั่งญี่ปุ่น มีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – EOP-80778, Odeon – EOP-80778  Manufactured By – Toshiba – EMI Ltd  (Toshiba Musical Industries Ltd.) ทว่าแผ่นเสียงเวอร์ชั่นของญี่ปุ่นนั้นก็มีการผลิตอยู่ 2 ราคาด้วยกัน คือ 2000 yen กับ 2200 yen ซึ่งราคา 2000yen นั้นผลิตจำหน่ายหลังจากแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น (แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางญี่ปุ่นผลิตจำหน่ายเดือนเมษายน – แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษผลิตจำหน่ายเดือนมีนาคม) นี่จึงทำให้แผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางญี่ปุ่น รหัสแผ่น EOP-80778 นี้ได้รับการตีมูลค่าในการหามาสะสม แทบไม่ต่างจากแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษ (the first UK pressing) จัดเป็น rare item เช่นเดียวกัน ส่วนเวอร์ชั่น 2200 yen นั้น แม้จะเป็นเพียงแค่การปรับราคาจำหน่ายใหม่ของทาง Toshiba – EMI ในขณะที่ตัวแผ่นเสียง (vinyl) นั้นยังคงเป็นเพรสเดิม แต่สำหรับคอนักสะสมตัวจริงแล้วนั้น ยังคงต้องเป็น Harvest – EOP-80778, Odeon – EOP-80778 เวอร์ชั่นแรกสุด 2000 yen นั่นแล

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักฟัง หรือ นักเล่นแผ่นเสียงบางท่านก็ชื่นชอบแผ่นเสียงของทางเยอรมันอยู่เหมือนกัน ซึ่ง DSOTM สำหรับแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกสุดของทางเยอรมัน ก็จัดทำในปี 1973 และออกจำหน่ายในแบบ ปกเปิดเช่นกัน โดยมีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – 1 C 062-05 249, EMI Electrola – 1 C 062-05 249 / Manufactured By – EMI Electrola GmbH

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงยุคปี ’70 นั้น โลกเครื่องเสียงได้รับความนิยมกับระบบเสียงใหม่ในแบบ 4 ทิศทาง ที่รู้จักกันว่า Quadraphonic 4 Channel ดังนั้นแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแรกของทางอังกฤษในระบบ Quadraphonic SQ System* จึงได้รับการผลิตจำหน่ายในปี 1973 เป็นรูปแบบ ปกเปิด ด้วยเช่นกัน โดยมีรหัสแผ่นระบุว่า Harvest – Q4SHVL 804, EMI – Q4SHVL 804, EMI – 0C 064 – 052490

…อย่างที่บอกไป อัลบั้ม The Dark Side of the Moon หรือ DSOTM นับเป็นผลงานเพลงที่ผันผ่านการจัดทำในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 1,000 เวอร์ชั่น ซึ่งในแง่ของเวอร์ชั่นแผ่นเสียง หรือ ไวนิลโดยเฉพาะนั้น แผ่นส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น ปกเปิด หรือ  gatefold sleeves ตามแบบต้นตำรับ ทว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีอยู่หลายเวอร์ชั่นที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ แต่ที่แตกต่างจนกลายเป็นที่ใฝ่ฝันหามาสะสมก็คือ แผ่นเสียงเวอร์ชั่นของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชื่อศิลปินและชื่ออัลบั้ม พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่บนปกสอดแบบธรรมดา (มิใช่แบบปกเปิด) นี่จึงกลายเป็น DSOTM เวอร์ชันใหม่ที่แตกต่าง ทำให้เป็นหนึ่งใน DSOTM ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับ “นักสะสมเชิงลึก” (deep collectors) ในการเสาะหามาครอบครอง

…ครั้งหน้า จะนำพาท่านทั้งหลายไปดูกันถึงเรื่องของ Re-issues & Remastering รวมถึงการจัดทำอย่างเป็นวาระพิเศษของ DSOTM กันนะครับ


* Quadraphonic (หรือ Quadrasonic )  นับเป็นระบบเสียงรอบทิศทางในแบบ 4.0 แชนแนล – โดยใช้ช่องสัญญาณเสียงจำนวน 4 ช่องสัญญาณ ด้วยการวางลำโพงอยู่ในตำแหน่งที่มุมทั้งสี่ของพื้นที่ห้องฟัง – Quadraphonic สามารถใช้ 4 ช่องสัญญาณเสียง (จากปกติ 2 ช่องสัญญาณเสียงในระบบ สเตอริโอ) เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ที่สมจริงของประสบการณ์การรับฟังแบบจำลองสภาพสามมิติ ที่อาจมีข้อจำกัดด้านการรับรู้ทิศทางของระบบเสียง สเตอริโอ(สองแชนเนล) ระบบเสียง Quadraphonic เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภครุ่นแรกสุดในระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound) ที่ได้รับกานำเสนอสู่สาธารณชนในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ดังนั้นจึงมีการบันทึกเสียงระบบ Quadraphonic กันเป็นจำนวนมากมายนับพันรายการ แต่กระนั้นระบบเสียง Quadraphonic ก็ถือเป็นความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคหลายประการ และความเข้ากันไม่ได้ของรูปแบบ การเล่นต้องใช้ลำโพงและจำนวนช่องขยายสัญญาณเสียงเพิ่มเติมเป็นเท่าตัว (จาก 2 เป็น 4) นอกจากนี้ยังต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณ หรือ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษอีกด้วย ทำให้การเล่นระบบเสียง 4-แชนแนลมีราคาแพงกว่ามาก เมื่อเทียบกับการรับฟังในระบบเสียงมาตรฐานสเตอริโอ 2-แชนเนล

Exit mobile version