Test Report:NPE AS-TP1
(เติมเสียงหลอดให้ชุดคุณ)
ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ
ผมเกิดความคิดว่าบางครั้งบางคน อยากฟังเสียงหลอด จากชุดเครื่องเสียงทรานซิสเตอร์ (Solid State) ของเขาบ้าง จะทำอย่างไร จะเปลี่ยนอุปกรณ์ซื้อใหม่ เช่น เครื่องเล่น CD หลอด, ปรีแอมป์หลอด, เพาเวอร์แอมป์หลอด, อินทีเกรทแอมป์หลอด ดูไปแล้ว เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าของเดิมมีราคาสูง ถึงสูงมากอยู่แล้ว จะเป็นการเสีย 2 ต่อ คือ ถ้าโชคดีขายของเก่าได้ และซื้อเครื่องใหม่ (หลอด) ก็ขาดทุนน้อยหน่อย แต่ถ้าขายไม่ได้ การลงทุนแต่ละเครื่องก็ต้องเป็นหลักหมื่นถึงหลายๆ หมื่น อาจถึงหลักแสนบาทได้ง่ายๆ
เมื่อเปลี่ยนเครื่องแล้ว เกิดวันไหนอยากกลับไปฟัง เครื่องทราซิสเตอร์จะทำอย่างไร ซื้อๆ ขายๆ กันอยู่อย่างนั้นหรือ คงไม่สนุกแน่
จึงจะเป็นการดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถ “เติม” เสียงหลอดให้แก่เครื่องเสียงทรานซิสเตอร์ของเรา วันไหนอยากกลับไปฟังเสียงทรานซิสเตอร์ ก็ยกตัวเติมออกวิธีนี้คุณไม่ต้องขายของเก่าให้ขาดทุนช้ำใจด้วย
นั่นคือที่มาของแนวคิด หาปรีแอมป์หลอดมาคั่นระหว่าง เครื่องเล่น CD กับ อินทีเกรททรานซิสเตอร์
ปรีแอมป์หลอด ในท้องตลาด HiFi ส่วนมากจะเป็นระดับไฮเอนด์ไปเลย โดยมีราคาค่อนข้างสูง เครื่องละหลายหมื่นบาทถึงนับแสนๆ บาท
ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงปรีแอมป์หลอดของ NPE (ทำในไทย) ตระกูล Acoustic Sense รุ่น AS-TP1 ซึ่งราคาพอรับได้ คือ 9,800 บาท คิดเสียว่าเหมือนกับซื้อสายสัญญาณดีๆ 1 คู่ หรือ EQ ดีหน่อย 1 ตัว
ถามว่า ทำไมผมไม่คิดที่จะเปลี่ยนใช้ เพาเวอร์แอมป์หลอด จะเป็นการลงทุนที่แพงที่สุด เพื่อได้กลิ่นอายของหลอด เนื่องจากต้องใช้หลอดขนาดใหญ่โต (แพงมาก), หม้อแปลงไฟขาออกมหึมา 2 หม้อ (แพงมากๆ), แต่กลับได้กำลังไม่กี่สิบวัตต์/ ข้าง ถ้าจะให้กำลังขับสูงเป็น 100W./ ข้าง ราคาจะพุ่งลิบเลย เกินปัญญาคนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเรา อีกทั้งตัวเครื่องก็จะร้อนมากๆ และใหญ่โตเกะกะ หนักอึ้ง (มากๆ) แถมถ้าจะให้การตอบสนองความถี่กว้างๆ ระดับ 10 Hz~100 kHz จะต้องลงทุนสูงอย่างยิ่งๆ นอกจากนั้น การต้องมีหม้อแปลงขาออก ทำให้ความสามารถในการหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพง (Damping Factor) ต่ำมาก อาจแค่ 10 เท่านั้น ซึ่งปกติค่า DF นี้ ไม่ควรต่ำกว่า 100 ไม่อย่างนั้น ทุ้มยาน, คราง, เบลอ พลอยไปเบลอช่วงความถี่กลางและสูงด้วย
ครั้นจะหาเครื่องเล่น CD หลอด ในท้องตลาดก็มีตัวเลือกน้อยมากๆ ราคาเริ่มที่ 3-4 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นอันว่า ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่เข้าท่านัก สุดท้าย ผมคิดว่า การเติมปรีหลอดคั่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุสมผลดีที่สุด
จริงๆ ผมอยากได้เครื่องปรี (ถ้าจะเรียกให้ตรงเป้า) แบบพื้นฐานที่สุด คือไม่ต้องมีอัตราการขยาย (ไม่มี Gain หรือ Gain เท่ากับ 1:1 เข้าเท่าใดออกเท่านั้น) จึงไม่ต้องมีโวลลุ่ม INPUT มีชุดเดียว ก็ไม่ต้องมีตัวเลือก (Selector) ไม่ต้องมีรีโมทใดๆ ดวงไฟโชว์ใดๆ ผมมั่นใจว่า จะทำให้เสียงดีขึ้นมาก และราคาน่าจะเหลือแค่ 1 ใน 3 ก็คงตก 3-4 พันบาทได้ ถ้าคัดเกรดของบ้าเลือดก็อาจจะ 5-6 พันบาทได้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็หาไม่ได้ ยังไม่มีใครคิดทำ ทางเลือกเดียวตอนนี้จึงมาลงเอยที่ AS-TP1 ตัวนี้
ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่า AS-TP1 มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ตามคู่มือเครื่องระบุว่า ผู้ผลิตจงใจให้เป็นปรีหลอดคุณภาพสูง มีเสียงที่ถูกต้องเป็นดนตรี น่าฟัง ภาคจ่ายไฟใช้หลอด Double Diode เบอร์ 6×4 วงจรขยายใช้หลอด Medium-mu Twin Triode เบอร์ 12 Au7 หรือ ECC82 (จากตามองภายในเครื่องมี 3 หลอด ไม่ใหญ่นัก หม้อแปลงใหญ่ 1 ตัว หม้อแปลงเล็ก 1 ตัว ตัวเก็บประจุภาคจ่ายไฟค่าสูง) วงจรภาคขยายจัดแบบ Single End CLASS A ภาคขาออกความต้านทานต่ำ เลือกใช้วัสดุอะไหล่ คุณภาพสูง หม้อแปลงแบบชิลด์ ป้องกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้า, ตัวเก็บประจุระดับหูทอง ของ ELNA, WIMA และ Q4 ตัวต้านทาน Metal Oxide โวลลุ่มและ Selector ของ ALPS ปุ่มกดกลึงจากอะลูมิเนียม แผงหน้าเป็นอลูมิเนียมอาโนไดซ์หนา 6 มม. ขั้วต่อสัญญาณเสียง RCA, สายไฟ AC 3 ขา (2 EC) ถอดได้, จอแสดงแหล่งรายการและระดับสัญญาณ (LED สีแดง) รีโมทไร้สาย
เลือกสัญญาณขาเข้าได้ 4 INPUT (CD, L1, L2, L3) และ MONITOR (PLAY) เพื่อเพิ่ม EQ ภายนอกได้ ช่องสัญญาณออก 2 ชุด กดปุ่มดับไฟหน้าปัดจอได้
ปรับระดับเสียงได้ 00 ถึง 99, ปุ่ม MUTE ตัดเสียงชั่วคราว, ปุ่มโวลลุ่มแบบกด +, กด –
เครื่องจะเข้าสู่โหมด STAND BY ทันทีที่เสียบปลั๊กสายไฟ LED ติดสีส้ม เมื่อกดไฟขาเข้า LED สีส้มเปลี่ยนเป็นสีเขียว
รีโมทมีฟังก์ชั่นครบ เหมือนหน้าเครื่อง
สเปคจากโรงงาน
ให้ระดับสัญญาณออกสูงสุด 22 dBu
อัตราขยายโวลท์ (1 kHz) 12.5 dBu
ความถี่ตอบสนอง 10 Hz~100 (+0.25 dB)
ความเพี้ยน THD+สัญญาณกวน (20 Hz~20 kHz) ต่ำกว่า 0.1%
สัญญาณราบกวน (S/N) (20 Hz~20 kHz) มากกว่า 72 dB
การแยก CH (20 Hz~20 KHz) มากกว่า 75 dB
กินไฟ 70 VA
ขนาดเครื่อง (กว้าง×สูง×ลึก) 435×82×190 มม.
น้ำหนัก 6 กิโลกรัม
การทดสอบ
จากเครื่องเล่นบลู-เรย์ OPPO BDP 105 (ดัดแปลงเพิ่มคุณภาพภาคจ่ายไฟ โดย PERFECT POWER โทร. 08-1904-2213 (ราคา 2,500 บาท) ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (หัว RCA) ไปเข้าช่อง INPUT L3 ของ AS-TP1 (ลองไล่แล้ว L3 ให้เสียงพุ่งลอยโฟกัสกว่าเพื่อน CD, L1, L2) ใช้สายเสียงของ MADRIGAL CZ-GEL 2 อีกชุด หัว RCA (ยาวครึ่งเมตร) ต่อจากช่องออกชุด 1 ของ AS-TP 1 ไปเข้าช่อง CD IN ของอินทีเกรทแอมป์ MOON 250i (ทรานซิสเตอร์) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) หัว WBT บานาน่า (ซิงเกิ้ลไวร์) ไปเข้าลำโพง KEF LS-50 (2 ทางวางหิ้ง คุณภาพระดับมอนิเตอร์ ในห้องบันทึก 52,000 บาท) วางบนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอียงลำโพง (TOE IN) จูนให้ได้มิติ, เสียงดีที่สุด
บนเครื่องเล่นบลู-เรย์มีแผ่นกลมแร่อาเกต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ มีก้อนผลึกออบซีเดียมขนาด 2 นิ้ว 1 ก้อน ออบซีเดียมแท่งสูง 1 คืบ 1 แท่ง (ทั้ง 2 อยู่บนอาเกต) มีแท่งควอตซ์สูง 1 คืบล้อมอาเกตอีก 3 แท่ง ทั้งหมดนี้ ต้องหาตำแหน่งวาง ล้วนมีผลต่อเสียงทั้งสิ้น จูนจนได้เสียงธรรมชาติที่สุด
AS-TP1 จะถูกยกลอยเหนือ MOON สูงห่างขึ้นไป 2 นิ้วกว่า ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 1 รีม (2 ข้าง) เพื่อหนีหม้อแปลงไฟกวนกัน ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน ไม่ปิดช่องระบายอากาศบน MOON (ปิดแค่ 1 แถว ซ้าย, ขวา)
ลำโพงซ้าย, ขวา ไม่มีหน้ากาก ห่างกัน 2 เมตร ห้องขนาด 3.85 × 9 × 2.5 เมตร นั่งฟังห่างจากลำโพง 3.6 เมตร ที่กำแพงมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (ทำในเยอรมันรุ่นสีขาว)
มีก้อนผลึก อะมิทิส ขนาด 1 ฝ่ามือ บนเครื่องบลู-เรย์มุมขวาหลัง, ขนาด 4 ฝ่ามือ วางห่างออกไปด้านขวา 2 ศอก ขนาด 1 ฝ่ามือ 2 ก้อนที่พื้นห้อง (พรม/ ปูน) ด้านขวาของจุดนั่งฟัง
สายไฟ AC ของ AS-TP1 ผมไม่ได้ใช้ของที่เขาให้มา แต่ใช้ของ CHORD สีน้ำเงิน 5-6 พันบาท ที่ใช้ประจำ (จะได้ตัดองค์ประกอบของสายไฟออกไป เหลือแต่ตัวเครื่องโดดๆ) สายไฟนี้ไปเข้ากล่องกรองไฟ PHD POWER STATION (โทร. 08-1347-0904) (สายไฟไปกำแพงเป็น FURUKAWA CB-10 (3เส้นทิศถูกต้อง หัว WATTGATE ผู้/เมีย) เลือกรูไฟขาออกที่เฟสไฟตรงกับเครื่องได้ (ยี่ห้อเดียวในโลกมีผลมาก)) สายไฟ AC ของอินทีเกรทแอมป์ MOON 25oi ใช้ CHORD เช่นกัน สายไฟ AC ของ OPPO ยกมาจากอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 สายไฟทั้งสองนี้มากเข้าตัวกรองไฟ PHD ทั้งหมด มีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD เสียบขาออกอีก 1 ตัว เคียงขาเข้าที่กำแพงอีก 2 ตัว เต้าเสียบอื่นในห้องอีก 2 ตัว นอกห้องเสียงอีก 3 ตัว (อย่าลืมเช็คทิศทางขาเสียบ)
มีก้อนแร่ทัวมารีน วางบนเต้าเสียบตัวเมีย (MONITOR ACOUSTICS รุ่นสูงสุดสีเทา) ที่สายไฟ CB-10 จากกล่อง PHD เสียบอยู่
ทัวมารีนอีก 1 ก้อนที่ขาออก PHD, 1 ก้อนใกล้สายไฟ AC ของ OPPO, ที่พื้นด้านหน้าที่นั่งฟังอีก 1 ก้อน (ทัวมารีนช่วยให้ DYNAMIC เสียงดีขึ้น LIVE ขึ้น กระชับกระเชงขึ้น หลุดลอยขึ้น)
มีกล่องตัวอย่างควอตซ์ 12 ชนิด ของ JUDY HALLS 5 กล่องในห้อง (กลางห้องที่พื้น 1, หลังรอบจุดนั่งฟังอีก 4)
มีการทำระบบระบาย EDDY CURRENT ลงกระทะเหล็กหล่อ 3 กระทะซ้อนกัน ให้กับกล่องกรองไฟ PHD ด้วย
ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (พรม/ปูน) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดใหม่สูง 3 ตั้ง (รีม) และทับบนสายลำโพงอีก 2 ตั้งให้สายนิ่ง
ภายในห้องไม่มีจอ LCD, PLASMA, WIFI/LAN (นอกจากที่รั่วมาจากภายนอก 6 spot), ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, PC, โน้ตบุ๊ค, iPAD, รีโมทอื่นใด (นอกจากของ OPPO)
ปัดลมแอร์ตกหลังลำโพง (25 องศา C, ลด LOW)
เร่งโวลลุ่มที่ AS-TP1 ที่ 39 ซึ่งจะใกล้เคียงกับการไม่มี AS-TP1 ต่อคั่นอยู่ เร่งโวลลุ่มที่ 89-92 (แล้วแต่แผ่น)
เอาผ้าดำปิดดวงไฟ LED สีแดง (ที่ Selector) และที่หมุนโวลลุ่มของ MOON รวมทั้งไฟ LED สีฟ้า (มิติโฟกัสขึ้นหัวโน้ตมีรายละเอียดดีขึ้น (TEXTURE) มีผลถึง 15%) ไม่ใช่น้อยๆ
กดปุ่มหน้าเครื่อง AS-TP1 ปิดไฟหน้าปัด (มิติเป็นตัวตนขึ้น, หลุดลอยมากขึ้น) เอาแท่งผลึกอะมิทิสสูง 1 คืบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนิ้วกว่า มาวางห่างจากหน้าจอ AS-TP 1 3 มม. หมุนแท่งผลึก (หัวด้านแหลมอยู่บน) จนได้มิติเสียง, สุ้มเสียงดีที่สุด (นี่ขนาดปิดไฟหน้าปัดแล้ว ถ้าเปิดไฟ แท่งผลึกยิ่งเห็นผลมาก) (พอเอาแท่งออกไป มิติแย่ลง 15%) ส่วนดวงไฟ LED สีเขียว เอาผ้าปิดผลกลับแย่ลง
AS-TP 1 ที่ได้มาทดสอบ เป็นของใหม่แกะกล่อง ครั้งแรกที่เริ่มฟัง เรียนตรงๆ ว่า แทบจะเหมือนฟังจาก MOON 25oi ตามปกติ เสียงอาจขุ่นขึ้นนิดหน่อย มิติแย่ลงหน่อย แต่ทุ้มจะล้นหลามขึ้น 5-8% จึงเปิดเพลง เบิร์นอินอยู่ 7 ชั่วโมง แล้วฟังใหม่ เสียงเปิดขึ้นความขุ่นลดลง 8% ยังไม่น่าประทับใจอะไร คือไม่รู้สึกว่าจะมีวิญญาณหลอด “มาสิงสู่” แต่อย่างไร ก็เปิดเพลงเบิร์นอินไปอีก 4 ชั่วโมง แล้วฟังใหม่ ก็แทบไม่ต่างจากเดิม
เรียนตามตรง ชักถอดใจ กะจะถอด AS-TP 1 ออกคืนบริษัทไป โอเค มันก็ถือเป็นปรีที่ดี สุ้มเสียงไม่ระคายหู แม้แต่น้อย คุณภาพ, ฟังก์ชั่น เกินราคาแน่ๆ แต่ในแง่ที่จุดมุ่งหมายมาเติมเสียงหลอด ยังไม่เห็นชัดเจน
ผมมานอนคิด 2 คืน เราลืมอะไรไปหรือเปล่า ในที่สุด ไหนๆ ก็ไหนๆ เปิดฝาเครื่องออก จัดการแยกสายต่างๆ ภายในที่ร้อยรัดอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าสายไฟ, สายเสียง พยายามๆ แยกๆ กันออกไป คลี่คลายให้มากที่สุด เอาฝาครอบบนออกเลย ทำไม่ยาก ผมเชื่อว่า ใครๆ ก็น่าจะทำเองได้ (สายบางเส้นต้องเอาเทปผ้าดำปะยกลอย)
จากนั้นฟังใหม่…
แล้วก็โปะเชะ ใช่เลยคราวนี้ เสียงหลอดมาเต็มๆ โดยผมไม่จำเป็นต้องถอด AS-TP 1 ออกเพื่อฟังเทียบกับเมื่อไม่มี คือบุคลิกเสียงมันเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเอามากๆ ได้แก่
- เสียงพลิ้ว ฉ่ำ กังวานขึ้น (ดุจเครื่องหลอดราคาแพงๆ เลย)
- รายละเอียดหยุมหยิมดีขึ้น แม้ที่ค่อยมากๆ
- เสียงมีทรวดทรง (3D)
- เสียงมีจังหวะจะโคน การสอดใส่อารมณ์ สมจริงขึ้นทั้งเสียงดนตรี เสียงร้อง
- รายละเอียดหัวโน้ตเปิดเผย มองทะลุเข้าไปได้ดีขึ้น
- ทุ้มหนักขึ้น แต่จะออกไปทางประนีประนอม ไม่เน้นหนักแบบกระทุ้งกระแทก แน่นทิ้งตัวลงพื้นห้อง แต่ก็มหึมาได้สบาย
- เสียงโดยรวมจะช้าลง 8% ทำให้ฟังผ่อนคลายยิ่งขึ้น แต่หูซาดิสม์ หรือแรพ, แดนซ์ อาจรู้สึกอึดอัดไปบ้าง
- เสียงกังวานล้นหลามขึ้น ช่วยให้ฟังอะไรๆ ก็ดูดีไปหมด
- เวทีเสียงกว้างแต่ไม่ขนาดแผ่โอบ หรือหลุดลอยออกมา อย่างอะร้าอร่ามมากนัก อาจมีการกระจุกตัวของชิ้นดนตรีต่างๆ ในวง ให้มากองอยู่ตรงกลางมากกว่าปกติ อยู่บ้าง เวทีด้านลึกดีมาก
- เสียงราบรื่น เป็นกลาง น่าฟัง ไม่มีการจงใจเน้นอะไร เสียงเกลี้ยง สะอาด ปราศจากอาการ แจ๋น, จ้า, สากหู น้ำเสียงแบบเครื่องไฮเอนด์
หมายเหตุ 1 ก่อนที่ผมจะแยกสายต่างๆ จะมีเสียงซ่า/จี๊ด รบกวนแทรกออกมาเบาๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อกดไปแหล่งรายการ ที่ไม่ได้ต่อเอาไว้จะดังกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกสายดังกล่าว เสียงกวนก็หายไป
หมายเหตุ 2 การใช้เครื่องหลอด ต้องระวัง, รอบคอบมาก ต้องเปิด AS-TP 1 ก่อนเพื่อน (กดไฟเขียวติด) จึงเปิดอินทีเกรทแอมป์ MOON และเครื่องเล่น CD
เวลาปิด ต้อง ปิดอินทีเกรทแอมป์ก่อน สักพักค่อยปิด AS-TP 1 เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงปุ๊ ที่อาจออกลำโพงได้
สรุป เป็นอันว่าแนวคิดของผมประสบความสำเร็จ สามารถแปลงเสียงจากชุดทรานซิสเตอร์ มาเป็นดุจฟังเครื่องหลอดได้อย่างไม่ต้องสงสัย แถมออกมาได้น่าตื่นใจยิ่งด้วย ฟังเพลินจริงๆ ได้อารมณ์เอามากๆ โดยลงทุนแค่ 9,800 บาท (ไม่นับสายเสียงอีก 1 ชุด)
ขอขอบคุณ บริษัท นัฐพงษ์ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด โทร 0-2225-0094 ที่ให้เครื่องมาทดสอบ