Test Report: Wharfedale DIAMOND 122 ผู้ดี…อังกฤษ
ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว (มีนาคม) ผมได้ทดสอบลำโพง Wharfedale DIAMOND 121 ซึ่งเป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นเล็กสุด ถัดขึ้นมาคือ 122 ที่บริษัทฯ ให้มาทดสอบ
ลำโพงตระกูล DIAMOND ทำชื่อให้แก่ Wharfedale (แวฟิเดล) ไว้อย่างลือลั่น เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้วจนคนซื้อพูดว่า เอา DIAMOND ไม่ได้พูดว่าเอา แวฟิเดล ซึ่งสมัยนั้นผมได้มีโอกาสฟัง และเขียนบทวิจารณ์ทดสอบก็ยอมรับว่ายุคนั้นเขาทำได้ดีเกินตัวทีเดียว เมื่อเทียบกับสนนราคาค่าตัวแค่ 7900 บาท/คู่ (สมัยนั้น)
ว่าไปแล้ว DIAMOND 121 สืบสายเลือดมาแทนรุ่นดังนั้น ซึ่งผมได้ทดสอบไปแล้ว (ฉบับเดือนมีนาคม 2513) ก็ยอมรับว่า “เกินค่าตัวมากทีเดียว”
วันนี้ได้มีโอกาสทดสอบรุ่นพี่ขึ้นไปอีก 1 รุ่นคือ DIAMOND 122 โดยดอกกลางทุ้มใหญ่ขึ้นจาก 130 มม. เป็น 165 มม. ส่วนดอกแหลมเหมือนเดิม
DIAMOND 122 เป็นลำโพงวางหิ้ง 2 ทาง ตู้เปิด โดยท่อระบายอากาศกลมภายในจะยิงเสียงลงแผงไม้หนาเป็นฐานรองตู้อยู่ซ้อนฐานตู้อีกที เสียงทุ้มจะกระจายออกทางช่องทั้ง 4 ด้านรอบๆ ฐานเสริมนี้ วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องพึ่งกำแพงห้องหลังลำโพงในการมาช่วยเสริมทุ้ม
ดอกลำโพงกลางทุ้ม ใช้กรวยเคฟล่าสานที่ยกมาจากตระกูลรุ่นเรือธง (JADE) โดยตลอดกรวยมีแนวนูนรูปครึ่งวงกลมรูปไข่ (ดูรูป) ฝังอยู่เป็นรัศมีออกมาโดยรอบ นับว่าเพื่อช่วยเพิ่มความแกร่งของกรวยไม่ให้หักย่นง่าย ตัวปิดกลางกรวย (DUST CAB) ช่วยยิงเสียงกลมกลืนกับดอกแหลม
ดอกแหลม เป็นโดมทอ แม่เหล็กเฟอร์ไรท์ปรับปรุงพิเศษ ต่อโดมเข้าสู่กรวยอีกที โดยยกขอบกรวยนูนสูง ช่วยกระจายเสียงได้ดีขึ้น
วงจรแบ่งความถี่เสียง ทำมาอย่างเต็มขั้น คำนวณจากโปรแกรมที่นำตัวแปรทุกอย่างมาคำนวณ ทั้งดอกที่ใช้, ตัวตู้, มุมกระจายเสียง, ลักษณะห้องฟัง เป็นโปรแกรมของ Wharfedale เอง ทำให้สามารถจำลองลำโพงที่จะสำเร็จออกมาและผลการใช้งานได้จริง (บนจอคอม) ก่อนที่จะสร้างจริงๆ เสียอีก
จากนั้นเมื่อได้ของจริงแล้ว ก็จะเอามาฟังกันหลายๆ ลักษณะ รวมทั้งในห้องตามบ้านทั่วๆ ไป มีการปรับแต่อุปกรณ์เป็นสัปดาห์ กว่าจะลงตัวและตัดสินใจผลิตออกมา
ขั้วลำโพงแบบไบ-ไวร์ (Binding Post) ขนาดใหญ่ชุบทองอย่างดี ชอบมากๆ ตรงที่เขารู้ปัญหาเวลาใช้งานจริงๆ สายลำโพงชุดกลางทุ้มจะแตะกับสายชุดแหลมได้ (ซึ่งต้องไม่แตะเลย นี่คือเหตุที่ไม่ควรใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป) โดยเขาเบี่ยงขั้วลำโพงทั้ง 4 ไปคนละทิศละทางไม่ให้ไปทางเดียวกัน
หน้ากากลำโพงเป็นแบบกลมเท่ากับขนาดของดอกแหลม 1 ชิ้น, ดอกกลางทุ้ม 1 ชิ้นแยกจากกัน
สเปคจากโรงงาน
ระบบลำโพง ตู้เปิด 2 ทาง วางหิ้ง
ดอกลำโพง ดอกแหลมโดมขนาด 25 มม. ไม่กันแม่เหล็กดอกกลางทุ้มขนาด 165 มม. ไม่กันแม่เหล็ก
ความไว 87 dB SPL/2.83 V/เมตร
ความถี่ตอบสนอง 45 Hz – 20 kHz (-3 dB) (ตัดที่ 2.3 kHz)
ความต้านทาน 8 โอห์ม (ไม่ต่ำกว่า 4.2 โอห์ม)
แนะนำให้ใช้กับภาคขยาย 25 – 120 W (ได้กำลังเสียงสูงสุด 96 dB)
ขนาดตู้ หนัก 7.4 กก./ข้าง
ผลการทดสอบ
จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่อออกสายสัญญาณเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (หัว RCA) เข้าช่อง INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark levinson No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 หัว WBT (หางปลาเงินด้านแอมป์, บานาน่าด้านลำโพง) สาย S-2 ใช้ 2 ชุด แยกอิสระไม่แตะต้องกัน (เดินตามทิศ) ยกสายสูงจากพื้นห้อง 1 คืบ ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดใหม่ 2 รีม เอา 1 รีมกั้นระหว่างสาย 2 ชุด ทับบนสายอีก 4 รีม (เอาห่อสีแดงออกไม่ให้โดนสาย)
ลำโพง DIAMOND 122 เอาหน้ากากออก และวางอยู่บนขาตั้ง Target 24 HJ เอียงลำโพง (TOE IN) ปรับจูนทีละนิดให้ได้ทั้งสุ้มเสียงครบ และมิติมีทรวดทรง, โฟกัสดีที่สุด
ลำโพงซ้าย-ขวาห่างกันประมาณ 2 – 2 เมตร ห่างจากตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังบุด้วยฟองน้ำเก็บเสียง SONEX สีขาว (จากเยอรมัน) พื้นปูพรมปรับอุณหภูมิแอร์ 25 องศา ลมแรงค่อยสุด (LOW) ปรับให้ยิงลมอยู่หลังลำโพง ห้องฟังมีของพอควร ไม่ก้องแน่ ไม่มีจอ LCD/PLASMA, PC, โน้ตบุ๊ก, iPad, มือถือ, กล้องดิจิตอล, รีโมท, นาฬิกาควอตท์ (แม้แต่นาฬิกาข้อมือ), ROUTER ‘WiFi’ อยู่ภายในห้อง (มีผลเสียทั้งนั้น)
ในห้องมีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือ อยู่ข้างขวาของเครื่องเล่น T+A, ขนาด 1 ฝ่ามือ อยู่ที่พื้นด้านหลังขวาที่นั่งฟัง, แท่งสูง 1 คืบ อีก 1 แท่ง ด้านหน้าขวา 1 แท่ง ด้านซ้ายใกล้ตัว ที่กลางห้องมีกล่องตัวอย่างผลึก Crystal 12 ชนิด (ก้อนเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย) วางอยู่กลางห้อง เอียงกล่องจนได้มิติเสียงดีที่สุด กล่องนี้ช่วยดูดซับคลื่นวิทยุความถี่สูงต่างๆ ในอากาศ (WiFi จากภายนอก, คลื่นมือถือ, คลื่นวิทยุ FM/AM/TV/CABLE)
เปิดเพลงเบิร์นอินลำโพงอยู่ 4 + 8 + 7 + 12 ชั่วโมง (รวม 31 ชั่วโมง) แล้วจึงลงมือฟัน
แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ใช้ได้เลย เสียงฉิ่งอ้อยสร้อยดี ไม่ลุกเร้าแต่ก็มีรายละเอียดดีอย่างน่าแปลกใจ เสียงโดยรวมออกสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ลุกลี้ลุกลน แต่ก็ไม่เฉื่อย (อย่าเปิดค่อยไปจะออกทึบนิดๆ) เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดใช้ได้ เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ดี เสียงฉิ่งฉับนี่โอบมากมีรายละเอียดดีกว่าที่เคย DIAMOND 122 จะไม่เน้นหัวโน้ตที่คมชัดมากๆ จะออกทึบนิดๆ แต่ก็ไม่มนจนขาดความรู้สึกของการกระทบเพลง 5 ขึ้นต้นสงัดพอๆ กับเพลง 4 (ปกติควรสงัดยิ่งกว่า) เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดี ความคมชัดของมิติเสียงใช้ได้แม้จะไม่ชัดเปรี๊ยะคือไม่ขนาดฟุ้งเป็นรัศมีแผ่ออกยังคงความเป็นตัวตนได้ดี มันไม่ให้เสียงที่ตื่นเต้นระดับเร้าใจ ปกติเพลงนี้จะรุกเร้า เร่งเร้ามาก แต่นี่พอๆ กันไปหมดกับเพลง 3, 4 แม้กระนั้นก็ฟังสนุก เพลง 6 เสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ใช้ได้ และรักษาความเป็นเม็ดๆ ได้ตลอด DIAMOND 122 ไม่ใช่ลำโพงที่จะให้การตอกย้ำหนักเบาของเสียงได้อย่างเข้มข้นถึงลูกถึงคน มันจะออกมาแบบเรียบๆ ประนีประนอมมากกว่า (DYNAMIC CONTRAST ยังพื้นๆ) เพลง 7 เสียงดังและขึงขังขึ้นอย่างฟังออกได้ชัด ทำให้ DYNAMIC ดีขึ้น ตื่นตัว สนุกขึ้นอีกโข มันไม่ได้ให้เวทีเสียงที่เกลี้ยงสะอาดโปร่งหมดจด จะเหมือนมีม่านหมอกนิดๆ เพลงที่ 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่ หนักอิ่มพอควร แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก (บูมไปหน่อย) แต่ก็กระชับใช้ได้ เสียงฝ่ามือตบหน้ากลองก็ไม่เลว เพลง 9 เสียงรัวระนาดไล่จากซ้ายไปขวาด้วยรายละเอียดไม่เลวทีเดียว
แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Chilid’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อจะแจ้งดี แต่ขาดน้ำหนักด้านทุ้มลึกไปหน่อย ตลอดทั้งเพลงการอ่อนน้ำหนักก็มีตลอด เพลง 4 เสียงพายวักน้ำให้เสียงรูปคลื่นเล็ก คลื่นน้อย คลื่นใหญ่กระฉอกได้ดีทีเดียวอย่างน่าแปลกใจบ่งบอกตำแหน่งต่างๆ ในเวทีเสียงได้ดี ไม่วอกแวก (นิ่ง) เวทีเสียงมีม่านหมอกนิดๆ ไม่โปร่งทะลุเต็มร้อย (TRANSPAREN) เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดมาแต่ไกล พร้อมเสียงสั่นรัวระฆัง พอได้แต่ที่น่าทึ่งคือ เสียงดังขึ้นๆ ขณะใกล้เข้ามาๆ ให้ความดังเสียงต่อระยะทางที่ดีมาก (Perspective ดีมาก) ตามด้วยเสียงตีกลองท่อที่อยู่สูงเหนือลำโพงได้ดีมาก เพลง 6 เสียงไก่ขันขึ้นต้นยังไม่โฟกัสนัก แต่ฟังไปสักพักโฟกัสดีขึ้น เสียงสัตว์ต่างๆ ให้รายละเอียดได้ดี นาทีที่ 4 ของเพลงนี้เสียงฝูงสัตว์แห่ออกมาหาเราได้พอควร (เยอะทีเดียว) แต่ไม่ขนาดตีลงล้อมรอบตัวเราได้ (ลำโพงบางคู่ทำได้) เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบฮักๆ มาแต่ไกลนับเสียงหอบได้ 5 ครั้ง จริงๆ ควร 6 ครั้ง ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ลำโพงซ้าย, ขวา เหนือลำโพงหน่อย ไม่สามารถวนขึ้นไปจนเกือบถึงเพดานห้องได้ เพลง 10 เสียงต่างๆ ในฟาร์มตอนเช้า DIAMOND 122 ให้เสียงต่างๆ ค่อนข้างครบครันดี จากนั้นสักพักเสียงจะลอยสูงขึ้นๆ เกือบแตะเพดาน ซึ่ง 122 ให้แค่ระดับลำโพงปกติ
แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องอ้อยสร้อยจีบปากจีบคอใช้ได้เลย แต่ขาดความโปร่งทะลุไปหน่อย เพลง 2 (อารีรัง) เสียงร้องหมู่ชาย-หญิงตอนขึ้นต้นดูกระจายไปหน่อยตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ใหญ่ดีทีเดียว แม้จะออกแบนแต่ลงลึกเต็มห้องได้ (แน่นอนว่ามหึมากว่ารุ่นน้อง DIAMOND 121 ดอก 5 นิ้ว) เสียงตีกระทบทำได้ดีเป็นกลุ่มก้อน เพลง 3 เสียงกีตาร์โปร่งขึ้นต้นเป็นเส้นสายดี เสียงร้องโฟกัสเป็นตัวตนขึ้น คมเปิดโปร่งขึ้น เพลง 4 เครื่องสายเป็นเส้นสายใช้ได้แม้จะไม่กลม เสียงร้อนรื่นเริงขึ้น เสียงเดินเบสอิ่มลงลึกหนักใช้ได้เลย เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ ได้ไม่เลว เสียงหีบเพลงชักหวานได้อารมณ์การหลุดลอยออกมาหาเรายังไม่เท่าไร เวทีเสียงยังไม่อลัการแค่โอเคไม่น่าเกลียด เพลง 5 ขึ้นต้นด้วยเสียงกรุ้งกริ้ง แม้จะไปได้สูงดี (AIRY) แต่โดยรวมๆ ขาดความสด เป็นประกายไปหน่อย (ขาด SPARKLE) เสียงดับเบิ้ลเบสอิ่มลึก ทิ้งตัวลงพื้นได้ดี เสียงเครื่องสายจีนทั้งดีดและสีหวานใช้ได้
สรุป
DIAMOND 122 เป็นลำโพงที่ออกสไตล์เสียงอเมริกาตะวันออก ซึ่งตรงกับสไตล์เสียงผู้ดีอังกฤษ คือ เก็บเนื้อเก็บตัว อ่อนโยน ผ่อนคลาย ไม่ขึงขังนัก ไม่ออกสดแต่จะทึบนิดๆ แบบสงบๆ ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาแบบถึงลูกถึงคน (ไม่เน้น DYNAMIC, DYNAMIC CONTRAST และ IMPACT) พวกหูฝรั่งอเมริกันแถวตะวันตกก็คงต้องข้ามไปหาตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มันก็ยังแฝงด้วยจิตวิญญาณดนตรีได้ดี อันเป็นเอกลักษณ์ของแวฟิเดลมาตลอด คุณจะเพลิดเพลินผ่อนคลายกับมันได้ (จนหลับฝันดี) มันซ่อนรายละเอียดดีๆ ไว้ตลอด โดยจะไม่โยนใส่คุณเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือกระชากหูคุณ มันอาจไม่สดโปร่งทะลุ (TRANSPARENT) ถึงไหนๆ เหมือนคุณไปนั่งฟังดนตรีจริงๆ แต่มีม่านบางๆ กั้นขวางไว้ เหมือนคุณนั่งฟังห่างๆ จากวง อะไรทำนองนั้นมันให้ทุ้ม, กลาง, แหลมครบ ทรวดทรงเสียงโอเคเลย ทุ้มแม้อิ่มดีแต่บางครั้ง (นานๆ ที) อาจรู้สึกบูมบ้าง มันไม่บ่อยจนคุณจะเกิดความรำคานแน่
ด้านเวทีเสียง ก็อย่างว่าสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ไม่ชอบอะไรที่มันตื่นเต้น อ้าซ่า โอ่โถงอลังการ ชอบอะไรที่กะทัดรัด กระชับมากกว่า เวทีเสียงจึงมีขนาดดีอย่างปกติ ไม่ถึงกับอลังการงานสร้างใดๆ ด้านลึกพอได้ สูงต่ำยังไม่เต็มที่นัก ด้านหน้าพอสมควร ไม่หลุดออกมาขย้ำคอคุณแน่
โดยรวมๆ เป็นลำโพงที่ฟังได้ฟังเพลิน มีกลิ่นอายของไฮเอนด์แถมราคาก็แค่คู่ละประมาณ 12,800 บาท จะเอาอะไรกันหนักหนา
ขอขอบคุณ บริษัท ไฮไฟ ทาวเวอร์ จำกัด โทร. 0-2881-7273-7 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้