Test Report: Wharfedale DIAMOND 121

0

Test Report: Wharfedale DIAMOND 121

(สืบสานตำนานสะท้านวงการ)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

diamond121

            ลำโพง Wharfedale DIAMOND ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1980 โดยมีขนาดตู้แค่ 5 ลิตร ดอกแหลม 19 มม. ดอกทุ้ม 120 มม. ช่วงชักลึก วงจรแบ่งความถี่ง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ ทันทีที่มันออกสู่ตลาด ได้สร้างความฮือฮาไปทุกหย่อมหญ้าของวงการลำโพงเล็ก และสร้างชื่อให้ Wharfedale จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ขนาดว่า ผู้บริโภคถามหา DIAMOND มากกว่าคำว่า Wharfedale ซึ่งผู้เขียนเคยฟังมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ยอบรับว่า ทึ่งและชอบ นับจากนั้นมา ลำโพง DIAMOND ก็ได้ขยับขยายครบทุกขนาดไม่จำเพาะแต่วางหิ้งรุ่นเดียว และก็สร้างชื่อเสียงให้ Wharfedale มาตลอด ในแง่ลำโพงที่คุ้มค่าเกินราคาที่สุดในวงการยี่ห้อหนึ่ง

สำรับ DIAMOND 121 ถูกประคบประหงมเพื่อสืบสานตำแหน่ง “DIMOND” โดยเฉพาะไม่น่าเชื่อว่า กว่า 30 ปีต่อมา Wharfedale สามารถทำลำโพงวางหิ้งที่คุณภาพของวัสดุดีกว่าเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้วมาก ไม่ว่าตัวดอกลำโพงทั้งดอกแหลมและดอกทุ้ม รวมทั้งแผงวงจรแบ่งความถี่เสียง และตัวตู้ ด้วยสนนราคาแพงขึ้นอีกแค่ 2,000 บาท (จาก 7,900 บาท เป็น 9,900 บาท) ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือมันให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิมเป็น 100%!!

DIAMOND 121 เป็นลำโพงวางหิ้งตู้เปิด โดยรูระบายอากาศเป็นท่อกลมยาวประมาณ 1 คืบอยู่ในตู้และยิงอากาศลงพื้นไปกระทบฐานรองใต้ตู้ที่มีช่องยาวตลอดรอบฐานสี่เหลี่ยมนี้ เพื่อการจัดวางที่ง่าย แม้วางชิดฝาห้องเทคนิคนี้นำมาจากตระกูลเรือธง JADE

ดอกลำโพงกลางทุ้มใช้กรวยเคลฟร่าสานทอที่นำมาจากตระกูลรุ่นเรือธงคือ JADE โดยที่กรวยเคลฟร่าจะฝังริ้วรูปคล้ายเหลี่ยมเพชรไว้โดยรอบให้รับกับขอบกรวย เพื่อบังคับให้การหักย่นของกรวย (break-up) จะกินบริเวณเป็นรูปกึ่งรูปไข่ อันจะทำให้ได้ความถี่ตอบสนองที่ราบเรียบตลอดช่วงหูได้ยิน (ดูรูป)

ส่วนตัวปิดกลางกรวย (DUST CAP) ออกแบบมาให้ยิงเสียงได้กลมกลืนกับเสียงจากดอกแหลม

ดอกแหลมเป็นโดมทอใช้แม่เหล็กเฟอไรท์ที่ปรับปรุงเป็นพิเศษ รอบๆ โดมจะเป็นกรวยยกขอบลอยออกมาเหมือนปากแตรกลม ช่วยเพิ่มมุมกระจายเสียงจะได้เหลื่อมซ้อนทับกับเสียงจากดอกกลางทุ้มได้ (เพื่อเพิ่มความเป็น POINT SOURCE หรือจุดกำเนิดเสียงเดียว ให้มากที่สุด)

วงจรแบ่งความถี่เสียงที่ทำมาอย่างเต็มขั้น โดยจะใช้คอมพิวเตอร์คำนวณจากตัวแปรทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่ดอกลำโพงที่จะใช้, สรีระของตัวตู้ จนถึงแม้แต่สภาพของห้องฟังและการจัดวาง มุมการกระจายเสียงที่ควรกว้างพอ โปรแกรมนี้เป็นของ Wharfedale เอง ทำให้สามารถสร้างจำลองลำโพงขึ้นมาได้ (VIRTUAL SPEAKER) และประเมินผลการทำงานของมันได้ก่อนที่จะลงมือ “ทำ” ต้นแบบจริงๆ ด้วยซ้ำ

จากนั้นจะมีการฟังทดสอบจริงๆ ในห้องแบบตามบ้านทั่วไป มีการปรับแต่งค่าอุปกรณ์บนแผงวงจร ทำกันเป็นสัปดาห์ๆ กว่าจะตกลงให้ผลิตรุ่นนั้นได้

ขั้วลำโพงด้านหลังมีขนาดใหญ่ Binding Post อย่างดี ในระบบไบ-ไวร์ได้

121 มาพร้อมหน้ากากกลมแยกของดอกแหลม 1, ดอกกลางทุ้ม 1

DIA121V3_XLARGE-700x700

สเปคจากโรงงาน

เป็นลำโพงตู้เปิด 2 ทาง

ดอกแหลมโดมไหม 25 มม.

ดอกกลางทุ้ม เคลฟร่าสาน 130 มม.

ไม่มีการป้องกันสนามแม่เหล็กกวนจอ CRT

(เป็นการดีเพราะชาวบ้านเลิกใช้จอแก้ว CRT กันแล้ว, การปิดครอบแม่เหล็กที่ดอก ทำให้เสียงอั้น, ตื้อด้วย)

ความไว                                                 86 dB/2.83 V/1 เมตร

ความต้านทาน                                      6-8 โอห์ม (ต่ำสุด 4.1 โอห์ม)

ความถี่ตอบสนอง                                 50 Hz-20 kHz (+/-3 dB)

แนะนำการใช้กับภาคขยาย                25-100 W.

ให้ความดังระดับเสียงได้สูงสุด           95 dB (ดังคับห้อง)

จุดแบ่งความถี่เสียง                              2 kHz

ปริมาตรตู้                                               7 ลิตร

ขนาดตู้ (สูง x กว้าง x ลึก)                  315 x 174 x 225 มม.

น้ำหนักตู้                                                 5.3 กิโลกรัม/ตู้

 maxresdefault

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (หัว RCA) เข้า INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383(100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานท์แอมป์แท้) ต่อออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) แยกอิสระ 2 ชุด (หัว WBT หางปลา(เงิน) ด้านแอมป์, WBT บานาน่า (ล็อคได้) ด้านลำโพง ต่อไบ-ไวร์เข้า D121 ที่วางบนขาตั้งลำโพง TARGET 24HJ เอียงลำโพง (TOE IN) ให้ได้ดีทั้งสุ้มเสียงและมิติ/ทรวดทรงเสียง เอาหน้ากากลำโพงออก ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2.2 เมตร นั่งฟังห่างจากลำโพง 3.6 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.4 เมตร ผนังห้องเก็บเสียงด้วยฟองน้ำ SONEX (สีขาว จากเยอรมัน) พื้นปูพรม ห้องฟังของพอควร ไม่ก้องแน่นอน ปัดลมแอร์ (ที่อยู่หลังลำโพง/ตรงกลาง) ลงหลังลำโพงไม่ไปกวนเสียงด้านหน้า, ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้องด้วย ตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 ตั้ง (สูงรวม 1 คืบ) อีก 1 ตั้ง แยกกันสายลำโพงแหลมกับสายเข้าทุ้ม ไม่ให้แตะกัน ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน หรือแตะต้องตัวเอง สายไฟ AC เข้า No.383 เป็นของ CHORD (รุ่นสีม่วง 7,000 บาท) , สายไฟ AC เข้า T+A เอามาจากสายไฟ AC ของ No.383 ที่เต้าเสียบตัวเมียเคียงข้างกันมีหัวปลั๊กกรองไฟของ PHD2 เสียบเคียงคู่อยู่ 1 ตัวกับแอมป์, อีก 1 ตัวกับ CD (ตัวกรองนี้น่าใช้มากๆ ให้ผลดีจริงฟังออก ราคาแค่ 2,900 บาท/หัว) ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ ไม่มี PC, จอ LCD/PLASMA, โทรศัพท์มือถือ, กล้องดิจิตอล, นาฬิกาควอตซ์ นอกห้องมี WiFi ประมาณ 6 SPOT มีก้อนผลึกอะมิทิส 3 ฝ่ามือ วางใกล้ๆ T+A อีก 1 ฝ่ามือ (อีกก้อน) วางใกล้ที่นั่งฟัง

DIAMOND 121 ที่ได้มาทดสอบเป็นคู่ที่บริษัทเขาเปิดใช้ในโชว์รูม และเพิ่งออกจากงานผ่านมา น่าจะผ่านการใช้งานมาร่วม 30 ชั่วโมงแล้ว

ผู้เขียนนำมาเปิดเพลงเบิร์นอินอีก 3 ชั่วโมงแล้วจึงฟัง (ตัวตู้ที่มีป้ายติดบนตู้ รุ่น/ราคา 9,900 บาท ผู้เขียนถือว่าเป็นด้านขวา)

เสียงที่ออกมา ยอมรับว่า โอ่โถงเกินตัว ไม่รู้สึกว่า “เล็ก” หรือ ก๊องแก๊ง ถือว่า “ฟังได้ทีเดียว” (ดีกว่าฟังที่ในงานมากๆ) เวทีกว้างลอยน่าจะดีกว่า DIAMOND ในอดีต

อย่างไรก็ตาม สุ้มเสียงก็ยังไม่หลุด กระเด็น เป็นเม็ดๆ เป็นตัวๆ ออกมาเท่าที่ควร ช่วงโหมดนตรีหลายชิ้นจะเริ่มมั่ว, สับสน การแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรควรทำได้ดีกว่านี้ ทุ้มลึกควรดีกว่านี้ ความสดและการกระแทกกระทั้นยังดูอ่อนไปหน่อย

ในที่สุดผู้เขียนตัดสินใจเปิดในตู้และจัดการ “บัดกรี” (ด้วยตะกั่วเงิน WBT) ทุกจุดเชื่อมต่อแทนการใช้หัวตัวยูเสียบ ทั้งที่หลังขั้วรับสายลำโพงหลังตู้และที่ดอกลำโพง แยกสายต่างๆ ไม่ให้แตะต้องกัน (สายคู่ที่ไปแต่ละดอก, สายคู่ที่มาแผงวงจร) รวมทั้งขันทุกนอตที่ดอกลำโพงให้แน่นพอๆ กันทุกๆ ตัว แล้วฟังดูใหม่ ทุกอย่างดีขึ้นอย่างคนละเรื่องเลย

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 D121 ให้เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดีทีเดียว แยกเป็นโน้ตๆ ได้ดี มีทรวดทรงดี เสียงฉิ่งไม่เร่งเร้าจนเกินไป ฟังแบบสบายๆ ให้มวลปลายแหลมกำลังดี กลองแขกคมชัดมีน้ำหนัก ให้ความกังวานดีไปทั้งวงแม้จะไม่โปร่งนัก เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงสงัดใช้ได้ เสียงตีระนาดมีรูปลักษณ์ไม่เลว ไม่แบน เป็นเม็ดๆ ได้ดีแม้จะยังอยู่ลึกไปหลังเวทีกว่าปกติสักหน่อย การเปลี่ยนคีย์ระนาดก็ฟังแยกแยะได้ดี หัวโน้ตชัดเจนไม่เลว การแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรถือว่าสอบผ่าน เสียงโดยรวมๆ มีน้ำหนักดีไปหมด ไม่ผอมบาง อิ่มพอเพียง เป็นกลาง แต่ติดสุภาพ (ก็ยังตื่นตัว) เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดพอๆ กับเพลง 4 (ปกติจะสงัดกว่า) เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ ดี ให้จังหวะจะโคนได้อารมณ์ ไม่ว่าการล้อกันเองของระนาดกับกรับ รวมทั้งอื่นๆ คือดูสอดคล้องกันได้ดีไม่เหมือนต่างคนต่างเล่น (พูดง่ายๆ ว่าเล่นได้แบบอารมณ์ร่วมเดียวกัน) เพลง 6 เสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที แต่ไม่โฟกัสอยู่ตรงกลาง จะออกเบี้ยวไปด้านขวา อย่างไรก็ตาม ก็ให้เสียงระนาดได้เป็นเม็ดๆ ดีไม่ว่าคีย์สูงคีย์ต่ำ สังเกตว่า D121 จะให้เสียงโดยรวมๆ ทั้งวงดังอยู่ที่ระดับเสียงหนึ่ง คือยังไม่ค่อยจำแนกว่านี่เสียงค่อยนั่นเสียงดังกว่า โน่นดังสุด คือ DYNAMIC CONTRAST ยังพื้นๆ อย่างไรก็ตาม มันก็แยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้ถือว่าดีทีเดียว เพลง 7 เสียงจะตื่นตัวกว่า (แต่ไม่มากนัก) โดยรวมๆ เหมือน D121 จะให้เสียงอิ่มๆ เป็นหลักแถวๆ ความถี่ 100-500 Hz อย่างกว้างๆ ไม่โด่งชันจนน่ารำคาญ แต่ก็มีข้อดีทำให้เสียงเหมือนอิ่มใหญ่เกินตัว ไม่รู้สึกว่าฟังจากลำโพงขนาดเล็ก เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงตีกลองตะโพน อิ่มใหญ่ ไม่เลวเลย เกินตัวเอาเรื่อง ตามด้วยเสียงตบกลองไล่จากขวาไปซ้ายติดตามได้ทุกระยะ ไม่รู้สึกว่ามีจุดโหว่ ให้อากัปกิริยาการตบหน้ากลองได้ไม่เลว

3916-diamond-121-07-gallery

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เป็นเสียงตีกลองท่อ เพลง 2 ให้เสียงตีกลองท่อใช้ได้ ไม่อวบเกิน ไม่ผอมแบน อีกทั้งให้ความกังวานแต่ละการตีได้ดี ไม่ติดกันเป็นพรืด ดูเหมือนว่า การให้ความกังวานที่ล้นหลามจะเป็นจุดเด่นของ D121 มันจะไม่มีคำว่า เสียงแห้งอย่างแน่นอน เพลง 4 ขึ้นต้นด้วยเสียงพายวักน้ำ ทำให้คลื่นกระฉอกได้ดี แต่ยังสังเกตไม่ชัดถึงคลื่นกระฉอก ใหญ่น้อยที่แผ่ไปทั่วผืนน้ำต่อหน้าเรา คือโดยทั่วๆ ไปยังคลุมเครือ (เป็นไปได้ว่า ยังไม่ให้ความคมชัดของหัวโน้ตได้ดีนัก แม้ปลายแหลมจะไปได้ไม่เลว (แต่ก็ยังน่าจะจำกัดอยู่แถวๆ 20 kHz จึงยังไม่ถึงกับพลิ้วระยิบระยับสุดๆ) พูดง่ายๆ ว่า ความฉับไวของเสียงกลางยังไม่โดดเด่น (TRANSIENT RESPONSE) เพลง 5 เสียงรถจักไอน้ำเปิดหวูดมาแต่ไกล เสียงหวูดยังขุ่นไปนิด อยากให้เปิดโปร่งทะลุกว่านี้อีกหน่อย ตามด้วยเสียงกลองท่อซ้ายทีขวาที ให้เสียงได้มันส์ดี เวทีกว้าง กังวานลึกไปหลังเวทีดี เพลง 6 เสียงไก่ขัน ขึ้นต้นอยู่ลึกไปหลังเวทีมีพลังใช้ได้ โฟกัสไม่เลวแต่เสียงยังผอมไปนิด และเอียงไปทางขวานิดหนึ่ง ไม่อยู่ตรงกลางเปะ ตลอดเพลงนี้ ดูเหมือนว่า ทางซ้ายจะให้เสียงเป็นตัวตนกว่า ทางขวาแบนกว่าแต่ดังกว่า (มีตัวเก็บประจุสีฟ้าตัวหนึ่งบนแผงวงจรแบ่งเสียงของซ้ายและขวา ที่วางทิศทางกับกัน ตัวอื่นๆ ทิศซ้าย, ขวา เหมือนกัน) นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ D121 ให้เสียงสารพัดสัตว์แผ่ลอยออกมาหาเราโอบไปถึงหลังซ้าย, ขวา น้องๆ เซอราวด์ แยกแยะแต่ละตัวได้ ค่อนข้างดี เพลง 7 เสียงม้าวิ่งฮอบแหกๆ มาแต่ไกล (ครบ 6 ครั้ง) ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบลำโพงซ้าย, ขวา ปกติวนไปๆ จะลอยสูงขึ้นๆ จนเกือบถึงเพดานห้องแต่ D121 ให้ได้แค่สูงปกติในระดับลำโพง เพลง 10 ขึ้นต้นเสียงต่างๆ ในฟาร์มตอนเช้า ซึ่งก็แยกแยะได้ไม่เลวเลย ปกติเพลงนี้ฟังไปๆ เสียงจะลอยสูงขึ้นๆ เกือบถึงเพดานห้องได้ แต่นี่ได้ในระดับปกติ (ระดับลำโพง) แต่โดยรวมๆ ก็ให้การแยกแยะได้ดี น้ำเสียงใช้ได้ รายละเอียดค่อนข้างชัดโอเค เวทีเสียงกว้างมาก ลึกดี

แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE (VOL. 1) (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องจีบปากจีบคอได้ดี ให้รายละเอียดดี แม้จะขาดความโปร่งไปนิด แต่ก็สอดใส่อารมณ์ได้ดี ชวนติดตาม มีมวล ไม่ผอมบาง คือออกอิ่มเกินขนาดลำโพง เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นด้วยเสียงร้องหมู่ชายหญิงที่แยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ ซึ่ง D121 ให้เสียงกลองที่มหึมาเกินตัว หน้ากลองตึงดี มีน้ำหนัก ลงลึกไม่เลวเลย กระชับใช้ได้ แม้รูปลักษณ์ของกลองจะยังไม่มีขอบเขตชัดนัก อย่างไรก็ตาม เป็นใครมาฟังก็ต้องทึ่งความเกินตัวของ D121 ที่น่าแปลกคือ มันไม่หย่อนยาน หรือกระพือ แบบล่อแร่เลย เป็นลำโพงเล็กที่เสียง “ใหญ่” ได้จริงๆ เพลง 3 เสียงดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดีทีเดียว ตามด้วยเสียงร้องที่มีชีวิตชีวา สอดใส่อารมณ์อย่างเต็มที่ เสียงโดยรวมตื่นตัวดี ฟังสนุก ไม่น่าเบื่อ เพลง 4 ขึ้นต้นน่าสนุกดีมาก ตามด้วยเสียงร้องที่ให้อารมณ์สนุกอย่างชวนติดตาม เสียงเขย่าลูกกระพรวนที่เป็นเม็ดๆ พอได้ (เม็ดเล็กไปหน่อย) เสียงหีบเพลงชักน่าฟัง เสียงกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดี ดับเบิ้ลเบสอิ่มหนักกระชับ แม้ไม่ขนาดทิ้งตัวลงพื้น แต่ก็ถือว่าโอเค เพลง 5 ขึ้นต้นด้วยเสียงปลายแหลมกรุ้งกริ้ง สดใสไม่เลว แต่ออกจะอ่อนแรงไปหน่อย (เหมือนตกลงประมาณ 1.5 dB) และไปได้ไม่น่าเกิน 20 kHz ยังไม่ได้ขนาดได้ยินอณูอากาศรอบๆ ตัวโน้ต (AIRY) เสียงเครื่องสายจีนทั้งสีและดีดเป็นเส้นสายดี หวานดีมาก ดับเบิ้ลเบสเดินได้อิ่มลึก แน่น เกินตัว แยกแยะดี ไม่ตีกันมั่ว

แผ่น WOOD ของ Brain Broomberg เพลง 1 เสียงดีดดับเบิ้ลเบสให้น้ำหนักได้อิ่มแน่น แม้จะไม่โฟกัสเป็นเส้นสายมากนัก และไม่ลงลึกสุดๆ แต่ก็ถือว่า เกินตัว และฟังได้อย่างอิ่มอกอิ่มใจ เพราะมันไม่เล็กเลย, ตัวดับเบิ้ลเบสใหญ่สมจริง ตามด้วยเสียงเปียโนที่สดหวาน กลองชุด, ฉาบที่ละเอียดชัด เวทีเสียงที่แผ่ลอยออกมาหาเรา กังวานดี ให้บรรยากาศแบบไปฟังการแสดงสดตามคลับได้เลย

แผ่น AYA (ในเวอร์ชั่น CD) (Stock Fish) โชว์ศักยภาพของ D121 ได้อย่างหมดเปลือก ว่า D121 ให้เสียงได้เกินตัวมาก ไม่ว่าทุ้มลึก กลางที่น่าฟัง แหลมที่สะอาดใส รายละเอียดที่ดีมาก เวทีเสียงที่อะร้าอะร่าม ลอยออกมา, ลึกเข้าไปสูงต่ำ วิ่งวนเหนือศีรษะเราได้!

5620.p5304b68b616b9

สรุป

หลังจากที่ผมไปเจาะแจะภายในบ้าง สรุปได้ว่า Wharfedale DIAMOND 121 อาจไม่ใช่ลำโพงที่ให้เสียงเที่ยงตรงที่สุด ถ่ายทอดทุกรายละเอียดออกมาได้อย่างทุกเม็ดทุกขุมขน หากแต่มันเป็นลำโพงที่เป็นใครได้ฟังก็อดทึ่งไม่ได้ หลายๆ แง่มุมมันให้ได้อย่างเกินตัว (แต่แทบไม่เกินจริง) ฟังได้เพลิน, สนุก, มีชีวิตชีวา, บรรยากาศที่เต็มเปี่ยมดุจคุณอยู่ในเหตุการณ์จริง การแสดงสด ให้พลังเสียงได้คับห้องเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยสนนราคาที่ถูกเกินคาด แค่คู่ละ 9,900 บาท!!

 

ขอขอบคุณ บริษัท ไฮไฟ ทาวเวอร์ จำกัด โทร.0-2881-7273-7 ที่เอื้อเฟื้อให้ลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้