Test Report: Usher Audio Technology Dancer Mini-X Diamond
2-way Stand-mounted Speakers
มงคล อ่วมเรืองศรี
ลำโพงเสียงมหัศจรรย์…!! ชนิดคาดไม่ถึง – ในราคาที่คุณเอื้อมถึง
“USHER” นี่หลายท่านที่ได้รับฟัง และพากันติดอกติดใจในสมรรถนะและคุณภาพเสียง อาจไม่แม้แต่จะคิด (ไม่ทราบ) ด้วยซ้ำว่า Made in Taiwan ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นทั้งโรงงานและสายพานการผลิตของ Usher Audio Technology ตั้งอยู่ในกรุงไทเป (ปัจจุบันขยายไปสู่โรงงานแห่งใหม่ที่ Taichung) และทำการดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปีแล้ว ณ ปัจจุบัน
โดยมี Lien-Shui Tsai เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งขึ้นในปีคศ. 1972 ซึ่งในช่วงแรก Lien-Shui Tsai ได้ตัดสินใจ “ว่าจ้าง” Dr. Joseph D’Appolito [นักออกแบบลำโพงชื่อดัง เจ้าของทฤษฎีการออกแบบ “MTM” (mid/bass-tweeter- mid/bass) หรือในอีกชื่อเรียกขานหลักการนี้ว่า Symmetry Speakers configuration ซึ่งใช้หลักการติดตั้งตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ 2 ตัวขนาบด้านบนและด้านล่างตัวขับเสียงสูง เพื่อทำให้เกิด “ความสมดุล” ของการกระจายเสียงทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบที่ดียิ่งกว่าธรรมดา] เข้ามาทำการออกแบบระบบลำโพงรุ่นต่างๆ ให้กับ “USHER”
“USHER” นั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยการรับซ่อมอุปกรณ์ไฮเอ็นด์ แล้วขยายไปสู่การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องเสียงไปจำหน่ายในไต้หวัน กระทั่งในอีก 2-3 ปีต่อมา จึงได้เริ่มสู่แนวทางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเองภายใต้เนมแบรนด์ต่างๆ มากมาย และในท้ายที่สุดก็มาลงเอยกับแบรนด์เนม “USHER” ในช่วงท้ายๆ ของยุค ’70 และต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกขานเต็มๆ ว่า USHER AUDIO TECHNOLOGY นับตั้งแต่ปีค.ศ.1999 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน
แรกทีเดียวนั้น Dr. Joseph D’Appolito นับเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง “USHER” โดยเป็นทั้งผู้ออกแบบและกำหนดสเปคตัวขับเสียงต่างๆ ที่จะใช้งาน ส่งให้ทางบริษัทผู้ผลิตตัวลำโพงรายใหญ่รายหนึ่งในยุโรปทำการผลิตไดรเวอร์พิเศษตามข้อกำหนดที่ Dr. Joseph D’Appolito ต้องการ ส่งมอบให้กับทาง “USHER” แต่ครั้น “USHER” ขยายสานพานการผลิต “เติบโต” ขึ้น บริษัทผู้ผลิตตัวลำโพงรายนั้นกลับไม่สามารถจัดส่งไดรเวอร์พิเศษได้ตามปริมาณที่ ต้องการใช้งาน ทำให้ Tsai Lien-Shui และ Dr. Joseph D’Appolito ต้องมานั่งหารือร่วมกัน เพื่อป้องกันการชงักงันของธุรกิจที่กำลังไปได้สวย ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันว่า “USHER” จะลงทุนทำการผลิตไดรเวอร์ของตัวเองขึ้นมา ไม่พึ่งพาแหล่งผลิตภายนอกอีกต่อไป โดยที่ Dr. Joseph D’Appolito ยังคงเป็นผู้กำหนดรายละเอียดสำคัญๆ สำหรับไดรเวอร์ต่างๆ ด้วยตัวเอง
ดังนั้น “USHER” ในทุกวันนี้จึงเรียกได้ว่า ครอบคลุมการผลิตทุกอย่างอยู่ภายใต้ชายคาบริษัทเดียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า In-house made ซึ่งเชื่อได้เลยว่า ร้อยทั้งร้อยนั้นเมื่อได้เห็นลำโพงของ “USHER” ไม่ว่ารุ่นใดแล้วเป็นต้องไม่คาดคิดเลยว่า จะมีแหล่งผลิตจากทางแถบเอเซีย เพราะฝีมือการจัดทำโดยรวมนั้น …บอกได้คำเดียวว่า “เฉียบ” มากทีเดียวครับ
ปัจจุบัน “USHER” มีลำโพงหลากหลายรุ่นบรรจุอยู่ใน 4-5 อนุกรมการผลิต โดยมี Dancer Diamond Series ที่ถือว่าอยู่ในระดับ “หัวแถว” ของวงการเป็น flagship ของบริษัท (ซึ่งล่าสุดได้รับการปรับเปลี่ยนจาก Beryllium dome tweeter มาเป็น Diamond dome tweeter หรือ DMD) ตามมาด้วย X- Series และ CP- Series ที่สร้างชื่อเสียงไว้มาก แล้วมาปิดท้ายด้วย S- Series กับ V- Series ซึ่งจัดเป็น Entry-level ของ USHER นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์แอคเซสซอรี่ส์ประเภทชั้นวางเครื่องเสียงและขาตั้งลำโพง รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปรีแอมป์ (รุ่น P-307A) และเพาเวอร์แอมป์ (รุ่น R-1.5) อีกด้วย
คุณลักษณ์
‘Dancer Mini-X Diamond‘ เป็นรุ่นล่าสุดในชุดอนุกรม Dancer Diamond Series ที่เพิ่งออกจำหน่ายมาได้ไม่นานนักในช่วงปีนี้เอง เรียกว่ายังสดๆ ใหม่ๆ และยังไม่มี “สำนักใด” ในบ้านเราได้คว้าไปเทสต์มาก่อน นอกจาก ‘What Hi-Fi ?’ เป็นจ้าวแรก ทว่าโดยแท้จริงแล้วผมเองถือว่าโชคดีเคยมีโอกาสได้ฟัง “USHER” อย่างจริงจังมาแล้ว 2 รุ่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ X-718 กับ BE-718 Diamond DMD ซึ่งล้วนเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จ และได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่บวกสุดขั้วเกินความคาดหมายทั้ง 2 รุ่น
เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น ‘BE-718’ เวอร์ชั่นแรกก่อนหน้าที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนทวีตเตอร์จาก ‘Beryllium’ มาเป็น ‘Diamond DMD’ นั้น ได้รับการยอมรับ-กวาดรางวัลจากหลายต่อหลายสำนักมาแล้วอย่างมากมาย อาทิ Winner! 2008 CES Design and Engineering Innovations Award; Winner! 2007 Absolute Sound Product of the Year Awards; Winner! SoundStage.com Reviewers’ Choice Award; Winner! 6moons.com Blue Moon Award แม้แต่ Wes Phillips แห่ง Stereophile และ Robert Harley แห่ง The Absolute Sound ต่างก็ให้ความชื่นชมไว้ไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้งนี้แต่ดั้งแต่เดิมมา “USHER” โด่งดังอย่างมากกับ ‘Beryllium Dome Tweeter’ ที่ใช้อยู่ในซีรี่ส์ระดับสูง ครั้นเทคโนโลยีการพัฒนา “โดมเพชร” ประสบความสำเร็จและเกิดกระแสความนิยมใน ‘Diamond Dome Tweeter’ ทาง “USHER” จึงได้ปรับเปลี่ยนการใช้งานทวีตเตอร์จาก ‘Beryllium’ ในลำโพงหลายๆ รุ่นมาเป็น ‘Diamond DMD’ โดยเฉพาะในชุดอนุกรม Dancer Diamond Series ที่มี ‘Dancer Mini-X Diamond’ เป็นรุ่นน้องนุชสุดท้องของซีรี่ส์ ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ได้รับการออกแบบสำหรับ Diamond Dome Tweeter (DMD) โดยตรงตั้งแต่ต้น
‘BE-718’ นั้นสร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับ “USHER” ถือเป็นหนึ่งในลำโพงที่ดีที่สุดเท่าที่ซื้อหาได้, โดยไม่คิดคำนึงถึงเรื่องระดับราคา (one of the best loudspeakers money can buy, regardless of price.) นับเนื่องตั้งแต่ปีคศ.2007 ที่ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกสุด กระทั่งต่อมาภายหลังจึงได้รับการปรับเปลี่ยนทวีตเตอร์มาเป็นเวอร์ชั่น Diamond DMD และ ‘Dancer Mini-X Diamond’ นี่คือผู้สืบทอด-ต่อยอดพัฒนาการความสำเร็จนั้น
‘Dancer Mini-X Diamond’ จัดเป็นลำโพงวางขาตั้งแบบ 2-ทาง ขนาดกลางๆ ภายใต้ขนาดมิติภายนอก 26x37x43.5 ซม. (กว้างxลึกxสูง) ทว่าน้ำหนักต่อข้างกลับเอาเรื่องทีเดียวถึง 15.5 กก. อันสืบเนื่องมาจากการที่ ‘Dancer Mini-X Diamond’ มีความหนาของผนังด้านข้าง-บนและล่างของตัวตู้แต่ละด้านอยู่ที่ 25 มม. ในขณะที่แผงหน้าและแผงหลังตัวตู้นั้นมีความหนาอยู่ที่ 50 มม. ทำให้ได้มาซึ่งความแข็งแรงบึกบึนทางโครงสร้างตัวตู้เป็นอย่างมาก (เมื่อเทียบกับขนาดตัวตู้)
อีกทั้งรูปทรงตัวตู้ของ Dancer Mini-X Diamond นั้น มิได้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างตู้ลำโพงธรรมดาๆ ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นชินกัน หากแต่จะมีรูปลักษณ์ที่ผนังตู้ด้านข้าง ‘เรียวลู่’ เข้าไปทางผนังด้านหลัง ออกไปในทางลักษณะของรูปทรงคล้าย “หยดน้ำ” หรือ “ลิ่ม” กระนั้น ทำให้ผนังตัวตู้ด้านข้างมิได้ ‘ขนาน’ กัน ทั้งยังส่งผลพลอยได้จากค่าความแข็งแกร่งทางโครงสร้างของตัวตู้ ที่มีลักษณะเป็น “ทรงโค้ง” เรียวเข้าหากันไปทางด้านท้ายตัวตู้ควบคู่กันด้วย ส่งผลต่อการมี “ข้อดี” ในหลายประการที่เอื้อต่อคุณภาพเสียงโดยตรง
อันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าลักษณะพื้นผิวที่เป็น “ทรงโค้ง” จะมีค่าการรับแรงกดได้มากกว่าลักษณะพื้นผิวแนวตรง ด้วยการที่ลักษณะพื้นผิวทรงโค้งจะมีการกระจายตัวหรือเฉลี่ยแรงกดออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้าน ผนังตัวตู้ของ ‘Dancer Mini-X Diamond’ จึงมีค่าความแข็งแกร่งทางโครงสร้างของตัวตู้ที่สูงมาก อีกทั้งการไร้ซึ่งด้านขนานนั้นยังช่วยให้ลดผลทาง “คลื่นสั่นค้าง” (standing wave) ลงไปอย่างมากด้วย เพราะด้านที่ขนานกันจะส่งผลสะท้อนของคลื่นเสียงไป-มาไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเป็นผนังตู้ลำโพงด้วยแล้วก็จะทำให้ผนังตัวตู้นั้นแหละส่งเสียงแทรกซ้อนปนปลอมออกมาผสมกับคลื่นเสียงที่เปล่งออกมาจากตัวไดรเวอร์ กลายเป็นอาการคัลเลอร์ที่ยากต่อการแก้ไข คุณภาพเสียงที่ได้ก็จะขาดความจริงแท้แห่งต้นฉบับเสียงไป
ดังจะเห็นได้ว่าส่วนแผงหน้าตัวตู้ของ ‘Dancer Mini-X Diamond’ นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยแผงหน้าตัวตู้ส่วนที่ติดตั้งมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ก็เป็นเช่นปกติ มิได้ลาดเอียงอะไร ในขณะที่ส่วนที่ติดตั้ง Diamond Dome Tweeter’ (DMD) อยู่นั้น กลับมีลักษณะเทเอียงเฉียงลาดขึ้นไปในระดับหนึ่ง ทั้งยังได้รับการ “ปาดมุม” เพื่อปรับลดขนาดของบริเวณติดตั้ง DMD Tweeter ให้เหลือพื้นที่น้อยที่สุด (แทบจะพอดีกับ faceplate ของทวีตเตอร์) ยังผลลดทอนต่อสภาพ early diffraction ของตัวทวีตเตอร์ อีกทั้งแผงหน้าตัวตู้ส่วนที่ลาดเอียงเฉียงขึ้นนั้น ก็เป็นไปตามหลักการ Time-alignment โดยได้รับการคิดคำนวณให้ได้องศาที่เหมาะเจาะที่จะให้ได้มาซึ่งตำแหน่งวอยซ์คอยล์ของ DMD Tweeter นั้น “ตรงแนว” กับตำแหน่งวอยซ์คอยล์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์พอดี ส่งผลต่อความกลมกลืน-ราบเรียบระรื่น-ต่อเนื่องกันของสภาพอิมเมจ และซาวด์สเตจเสียงโดยรวม
‘Dancer Mini-X Diamond’ ใช้ DMD Tweeter ขนาด 1.25 นิ้ว ทำงานควบคู่กับมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 7 นิ้ว (8948A) ซึ่งมองดูเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ USHER ด้วยการใช้เทคนิกวิธีขึ้นรูปเนื้อเยื่อกระดาษที่ฟูตัวไม่ถูกอัดตัวติดกันแน่น และมิได้อาบ-เคลือบน้ำยาพิเศษใดๆ ไว้ ทำให้มีความเบาและแข็งแรงในทางโครงสร้างอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยให้สลายคลื่นตกค้างวิ่งย้อนไป-ย้อนมาในตัวกรวยได้ดี ส่งผลต่อคุณภาพของช่วงย่านเสียงกลาง-ต่ำที่สดสะอาด กระชับ ฉับไว ‘Dancer Mini-X Diamond’ ถูกกำหนดให้มีช่วงจุดตัดแบ่งความถี่ไว้ที่ 2.3 kHz ด้วยระบบตัวตู้แบบเปิด (bass reflex) – ท่อเปิด (port) ทำเป็นแบบ slot ยาวๆ แคบๆ บนแผงหน้าตัวตู้ใต้ตำแหน่งติดตั้งมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ลงมา โดยที่ ‘Dancer Mini-X Diamond’ สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้กว้างมากตั้งแต่ 41 Hz ขึ้นไปจนถึง 40 kHz เลยทีเดียว ด้วยระดับค่าความไวเสียงอยู่ที่ 87 dB/watt/m ภายใต้ค่าความต้านทาน 8 โอห์ม
แนวคิดออกแบบดี-มีความสำเร็จไปกว่าค่อน
ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขสเปคฯจุดตัดความถี่อยู่ที่ 2.3 กิโลเฮิรตซ์นั้น ย่อมแสดงถึงสมรรถนะของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ “8948A” ที่ว่านี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องเพราะผู้ออกแบบ ‘Dancer Mini-X Diamond’ ต้องการให้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์นี้ทำงาน ”คาบเกี่ยว” ขึ้นไปจนถึงช่วงต้นๆ ของย่านความถี่เสียงสูง ก่อนที่จะปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของ DMD Tweeter ไปจนกระทั่งปลายสุดโต่งของช่วงย่านความถี่เสียงสูง
ซึ่งนี่คือ เคล็ดลับที่ทำให้ ‘Dancer Mini-X Diamond’ สามารถให้ลักษณะเสียงที่มีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันของทั้งต่ำ-กลาง-แหลม และยังมีผลต่อการส่งมอบอิมเมจ-ซาวด์สเตจที่มีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงสามารถจำแนก-แยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีได้อย่างมีอาณาบริเวณเป็นปริมณฑลเสียง ไม่เบียดเสียด-ปิดบัง กลบซ้อนทับกันเท่านั้น หากยังถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงได้อย่างมีแถวชั้นไล่ระดับของความใกล้-ไกลในตำแหน่งเสียงอีกด้วย แถมยังมีมวลอากาศรายรอบอบอวล – ฟังแล้วติดหูครับ …ขอบอก
ทั้งนี้ Diamond Dome Tweeter หรือ DMD (Diamond-Metal-Diamond) ของ USHER นั้น ขึ้นรูปตัวโดมทวีตเตอร์จากการนำเอาอะตอมคาร์บอนบริสุทธิ์ (เพชร) มาฉาบทับวัสดุ metal alloy ไว้ทั้งด้านนอก-ด้านใน “DMD” จึงมีแกนกลางเป็น metal alloy ทำให้โดมทวีตเตอร์แบบ “DMD” นี้มีคุณสมบัติคงรูปทรงได้ดีกว่าธรรมดา ทั้งยังมีน้ำหนักที่เบามากๆ การตอบสนองจึงกระทำได้ฉับไวเป็นพิเศษ และยังผลักอาการเรสโซแนนซ์ออกไปจนล่วงพ้นช่วงเสียงที่หูมนุษย์จะพึงได้ยินอีกด้วย
ต้องขอบอกกันตรงๆ ว่า ค่อนข้างประทับใจในฝีมืองานการประกอบและตกแต่งผิวนอกตัวตู้ (การทำสี หรือ finished) ของ USHER เป็นพิเศษ เพราะเนื้องานที่เห็นนั้น “ประณีต” มาก …เนี๊ยบราวกับงานเฟอร์นิเจอร์ชั้นเลิศจากยุโรป โดยตกแต่งจนแวววาวราวผิวเปียโนชั้นดี ขัดจนเรียบลื่นและเคลือบแล็คเกอร์ไว้บนชั้นสุดท้าย โชว์ตัวได้งดงามสะดุดตาไม่แพ้ใคร แผงหลังตัวตู้ติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงแบบ binding posts จำนวน 2 ชุด พร้อมสำหรับการใช้งานในแบบ bi-wired โดยมี “สะพานเชื่อม” (jumpers) เป็นแผ่นทองเหลืองตันชุบเคลือบทองอย่างดีเพื่อต่อคร่อมขั้วลำโพงไบน์ดิ้งโพสต์นี้ไว้
‘Dancer Mini-X Diamond’ มีขาตั้งโดยเฉพาะเจาะจงส่งมาให้ด้วย เป็นขาตั้งของ USHER ที่มีน้ำหนักตัวมากพอสมควร และมีความสูงจากฐานตั้งวางพื้นถึงแท่นวางตู้ลำโพงประมาณ 73 ซม.ซึ่งดูจะมีความสูงกว่าปกติธรรมดาอยู่สักหน่อยราวๆ 5 ซม.ทำให้เวลาตั้งวาง ‘Dancer Mini-X Diamond’ บนขาตั้งนี้แล้วรู้สึกว่า ระดับทวีตเตอร์ของ ‘Dancer Mini-X Diamond’ ออกจะเลยระดับหูของเราในเวลานั่งฟังไปสักหน่อย จนอาจทำให้รายละเอียดบางอย่างในช่วงความถี่เสียงสูงตกหล่นไป – ได้ยินไม่ครบชัด จึงต้องหาเก้าอี้ที่สูงกว่าเก้าอี้ตัวเดิมที่เคยใช้นั่งฟังประจำมาเปลี่ยนใหม่ทดแทน เพื่อให้ระดับทวีตเตอร์ไม่เลยระดับหูของเราในเวลานั่งฟัง
ผลการรับฟัง
‘Dancer Mini-X Diamond’ ที่ผมได้รับมานี้ ผ่านการเบิร์นอินมาจนอยู่ตัวแล้วจากทาง ACG กระนั้นผมก็ยังใช้เวลาอีก 3-4 วันในการ “run-in” เจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ ก่อนที่จะเข้าสู่การรับฟังจริงๆ จังๆ เพื่อให้ –เข้าถึง- ซึ่งสมรรถนะและคุณภาพเสียงอย่างเต็มที่-ถ่องแท้ …จากสุ้มเสียงที่ได้ฟัง ‘Dancer Mini-X Diamond’ ดูท่าจะให้คุณลักษณ์ทางเสียงที่ “เข้มข้น” และ “สด-กระจ่าง-ฉับไว” มากกว่า BE-718 Diamond DMD ที่เคยได้ฟัง ถึงขั้นเรียกได้ว่า –ให้ออกมาอย่างครบเครื่อง- ทั้งเรื่อง “แรงปะทะ” (impact), “น้ำหนัก” (weight) และ “ความไหลลื่นฉับพลัน” (dynamic) พร้อมๆ กับสร้างความประทับใจในสุ้มเสียงที่เนียน ละเอียด สดใส ควบคู่ความฉับพลันทันใด
รวมถึงความอวบอิ่มมีน้ำมีนวล และความมีตัวตนของทุกสรรพเสียง สามารถจำแนกรายละเอียดเสียงต่ำๆ อย่างลีลาการโซโลกลองได้ชัดเจนมาก ทั้งยังให้ความกลมกล่อม ละมุนละไม มีสภาพมวลบรรยากาศ (airy) การบ่งบอกความลึกในเวทีเสียงก็ทำได้ดีมาก เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงย่านเสียงกลางและสูงนั้น ต้องบอกตรงๆ ครับว่า ‘Dancer Mini-X Diamond’ ให้ความละเมียดละไมดีมาก อ่อนหวาน กังวาน นวลนุ่ม และให้ความมีตัวตน เป็นลักษณะน้ำเสียงที่เปี่ยมในความมีชีวิตชีวา
กระนั้น ‘Dancer Mini-X Diamond’ ก็มิใช่ลำโพงประเภท เสียงสะดุดโสตประสาทตั้งแต่แรกเริ่มรับฟัง – ผันผ่านเวลาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะพบว่าเป็นลำโพงที่ฟังสบายให้ความเพลิดเพลิน ครบถ้วนด้วยความเป็นดนตรี สามารถส่งมอบเวทีเสียงที่แผ่กว้าง และให้การแยกแยะแถว-ชั้นความลึกอย่างมีมิติ พร้อมทั้งอิมเมจที่คงที่ ในทุกระดับความดังที่รับฟัง ทั้งยังมี “เสน่ห์” ที่สำคัญอยู่ตรง “รายละเอียดและความฉับพลัน-ทันใด” ของสรรพเสียง อันน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ทวีตเตอร์แบบ DMD นั่นเอง
‘Dancer Mini-X Diamond’ ไม่ได้ “ขับ” ยาก อย่างที่คิดไว้ในตอนแรก สืบเนื่องมาจากค่าความไวเสียงที่ระบุไว้ จัดอยู่ในระดับปานกลางประมาณ 87 ดีบี – เพาเวอร์ แอมป์ Class A แท้ๆ 50 W/ch ตัวเก่งของผม สามารถ “เอาอยู่” และ “เข้ากันได้” อย่างดียิ่ง จริงๆ ครับ ใช้รับฟังเจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ ได้อย่างอลังการสมฐานะ โดยเฉพาะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ หรือประกายเสียงอันแผ่วเบา ที่อุบัติขึ้นอย่างฉับพลันทันใด อย่าว่าแต่เสียงสูดลมหายใจเลย เสียงขึ้นจมูกแบบเป็นหวัดก็ยังถูก “ฟ้อง” ออกมาได้ …เสียงนกร้องจิ๊บๆ จิ๊บๆ เบาๆ รวมทั้งเสียง…จี่…จี่…(เครื่องเสียงเดือดจากกราวด์ลูบ) ในตอนต้นของเพลงที่ 3 ของเติ้ง ลี่ จวิ้นอัลบั้มแสดงสดนั้นได้ยินถนัดชัดมาก (Polydor 829 259-1) กระทั่งเสียงรัวกลองทอมเบาๆ ในช่วงแรกๆ ของเพลงที่ 2 ในแผ่นเสียงชุด “Christopher Cross” (Warner/Pioneer : P-10805W) ก็สามารถจับจังหวะการตีได้ชัดเจน แถมยังมีน้ำหนักรับฟังได้ถนัดในขณะที่ตี แม้จะเป็นเพียงเสียงแผ่วเบา
‘Dancer Mini-X Diamond’ นี่ช่างน่าฟังยิ่งนักครับ โดยเฉพาะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่อุบัติขึ้นอย่างปุ๊บปั๊บ …..ไม่เพียงแค่ประกายเปล่งปลั่งของเสียงนะครับ การจางหายไปของเสียงต่างๆ ก็ถูกจาระไนออกมาได้ดีมาก ฟังสมจริงอย่างเป็นธรรมชาติ การแยกแยะระยะห่าง-ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีก็มีความจะแจ้งมาก ให้ระดับความลึกที่เพิ่มขึ้นกว่าธรรมดาจากที่เคยรับฟัง
อย่างในแผ่นเสียงชุด “JAZZ” ของ Ry Cooder (Warner/Pioneer : P-10519W) ที่ผมชอบมากๆ ก็สามารถรับฟังรายละเอียดของเสียงเครื่องเคาะจังหวะแปลกๆ ได้ทุกเม็ดไม่มีพลาด ทั้งยังแยกแยะระยะความลึก-ใกล้-ไกลของแต่ละชิ้นดนตรีได้ดีมาก เหลื่อมไปทางซ้ายนิด เยื้องไปทางขวาหน่อย ไม่มีอาการซ้อนทับกัน หยิบจับเอาแผ่นชุดแสดงสด “ARALE” (Nippon Columbia : CZ-7155) ที่มิใช่เพลงซาวด์แทร็คการ์ตูน แต่ฟังดูละม้ายคล้าย “เดอะ มิวสิคัล” ของบ้านเรามาเปิดฟัง โอ้โฮ… บรรยากาศของฮอลล์ที่ใช้แสดงช่างอบอวลมาก เสียงปรบมือของผู้ชมเวลาชื่นชอบถูกใจในการแสดง ช่างยิ่งใหญ่โอฬาร !! และเกลี่ยระยะชัดลึกแผ่ออกไปไกลมาก ฟากซ้ายจรดฟากขวา ทั้งไม่จับตัวเป็นปึกเป็นก้อนนะครับ เรียกว่าแทบจะเห็นมือไหวๆ เลยทีเดียว …ชัดมากๆ (บันทึกเสียงมาดีจริงๆ ครับ …ขอบอก)
เจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ ทำให้รับรู้ได้ถึง “มวล” ที่มากขึ้น น้ำหนักเสียงเป็นตัวเป็นตนชัดเจนขึ้น รวมถึงสภาพบรรยากาศในสถานที่แสดงสดนั้น ก็ถูกส่งมอบออกมา “หนาแน่นขึ้น” ด้วยเช่นกัน “Getz Au Go Go” (VERVE Records/ Polydor K.K. : MV 2075) เป็นอีกแผ่นที่ผมชื่นชอบอย่างพิเศษ เพราะนอกจากการบ่งบอกสภาพบรรยากาศแสดงสด (Live) แล้ว เสียงแซกโซโฟนของ Stan Getz ก็เปล่งปลั่ง ชื่นฉ่ำ ยิ่งฟังยิ่งสนุก ยิ่งเบิกบานใจ นำเราเข้าไปสู่อารมณ์ร่วมคึกคักในดนตรีที่รับฟัง เสียงร้องเนียนนุ่ม-เยือกเย็นของ Astrud Gilberto (ศรีภริยาของ Joao Gilberto) สร้างความชื่นฉ่ำใจในทุกครั้งที่หยิบจับมาเปิดฟัง …เสียงปรบมือของผู้ชมในแผ่นนี้ ไม่หนาแน่นแผ่กว้างเท่ากับในแผ่น “ARALE” แต่ก็ชี้ชัดได้ในตำแหน่งแห่งที่ของเสียงปรบมือ เสียงนับจังหวะเบาๆ one…two…three…เพื่อเริ่มต้นในแต่ละเพลงของ Stan Getz ก็ให้ความมีตัวตน เฉกเช่นเดียวกับเสียงร้องในแต่ละเพลงของ Astrud Gilberto …ฟังแล้วเคลิ้ม ได้อารมณ์ร่วม เผลอตัวปรบมือไปกับเขาด้วย …‘Dancer Mini-X Diamond’ – แจ่มแจ๋วจริงๆ ครับ
หยิบจับเอาอัลบั้มชุด “What a wonderful world” ของ Louis Armstrong (MCA/Victor Japan : VIM-28601) มาฟัง เอกลักษณ์เสียงหลอดลมแตกแหบพร่าของ Louis Armstrong ถูกเจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ จำแนกออกมาแบบเห็นไปถึงกระเพาะปอดม้ามหัวใจตับกึ๋นอะไรโน่นเลยทีเดียว ครั้นพอนำอัลบั้มชุด “The L.A.4 : Pavane Pourune Infante Defunte” (EW 10003) ซึ่งเป็นแผ่นไดเร็กต์-คัทของ East Wind Records มาเปิดฟัง …แค่ประกายเสียงกีต้าร์ของ Laurindo Almeida ขึ้นต้นเพลงมาเท่านั้นแหละครับ สวรรค์ลอยอยู่ตรงหน้านี่เองเลยเชียวล่ะ …ช่างอิ่มเอิบ สดใส และฉับไวมากจริงๆ ครับ ‘Dancer Mini-X Diamond’ ได้สำแดงให้รับรู้ถึงสมรรถนะในการส่งมอบไดนามิกอันน่าประทับใจจริงๆ ครับ (เป็นผลมาจากการใช้ทวีตเตอร์แบบ DMD นั่นแหละ)
พลัน…นึกไปถึงบรรยากาศเพลง On The Sunny Side of The Street ในอัลบั้มชุด “Teddy Wilson meets Eiji Kitamura” (RSP-9015) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแผ่นเกรดเยี่ยมของ Trio Records ฟังแล้วคิดถึงเพลงเดียวกันนี้ที่บรรเลงอยู่ในชุด “Boiling Point” (Toshiba Records : LF-950090) ซึ่งเป็นแผ่น Direct Cutting …ไม่ได้เกินเลยความจริงนะครับ ‘Dancer Mini-X Diamond’ สามารถ –สำแดง- ให้รู้สึกถึง “พลัง” ในไดนามิก และประกายเสียงสูงที่คมกริบ อันแตกต่างระหว่างแผ่นธรรมดาเทียบกับแผ่นไดเร็กต์-คัทได้อย่างน่าทึ่ง รวมถึงรายละเอียดสอดแทรกเล็กๆ น้อยๆ ก็แจ่มชัด อย่างประกายเสียงของฉาบยามถูกเคาะสั่นกังวานในอากาศ, เสียงหนังหน้ากลองถูกฟาด, เสียงลมพ่นของเทเนอร์ แซกฯ, เสียงเท้าเคาะจังหวะเบาๆ โอ้ว…ล้วนได้ฟังออกมาจากเจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ อย่างสมจริง
เสียงระฆังหลอดที่ถูกมือรูดจากแผ่น “Finesse” (John Klemmer : NR 22 Nautilus Records) นี่ก็บ่งบอกความกังวานหวานใสและทอดยาว เช่นเดียวกับเสียงฟาดแซ่ลงไปบนฉาบอย่างฉับพลันนี่ก็เปล่งประกายออกมาเลย ฟ้องได้ถึงพลังแห่งเสียงจากแผ่นไดเร็กต์-คัทชัดเจนมากๆ อีกเช่นกัน และจากการบรรเลงแบบ Jazz Trio ในอัลบั้ม “Moreover” (The Great Jazz Trio, East Wind Records : 27PJ-1003) ที่ทำเอาจมกลืนเข้าไปในบรรยากาศลาตินผสมกลิ่นอายของบลูส์ อดไม่ได้ที่จะกระดิกเท้าและดีดนิ้วมือตาม จนต้องหยิบเอาชุด “I’m Old Fashioned” อีกหนึ่งผลงานของวงนี้ (East Wind Records หมายเลขแผ่น EW-8037) ที่มี Sadao Watanabe ร่วมแจมด้วยมาฟังต่อเนื่องกัน ‘Dancer Mini-X Diamond’ สามารถเปิดเผยรายละเอียดเสียงต่างๆ ในช่วงย่านเสียงกลางได้อย่างโดดเด่นมีชีวิตชีวา ได้ยินเสียงลมเป่าพ่นออกมาเบาๆ แจ่มชัด พร้อมด้วยสมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรี 3-4 ชิ้นที่แยกเป็นอิสระ ในขณะที่ให้ความเปิดโปร่งของมวลบรรยากาศในสถานที่แสดง
‘Dancer Mini-X Diamond’ สามารถให้ประกายเสียงของฉาบ (cymbal) ที่กำลังแกว่งไกวในอากาศ และน้ำหนักที่ถูกฟาดลงไปได้เป็นธรรมชาติมากๆ ให้ครบเครื่องทั้งความกังวานและอาการค่อยๆ จางหายเป็นระลอกคลื่น อีกทั้ง ‘Dancer Mini-X Diamond’ ยังจะทำให้เสียงที่แต่เดิมเคยฟังแล้วคลุมเครือ-มีความชัดแจ้งขึ้นมาทันที …เสียงเคาะรัวถี่ๆ ที่บริเวณขอบกลองใหญ่ Kodo ในแผ่น “Sen Amano Live at Montreux’80” (CBS/SONY Master Sound : 30AH 1201) บ่งบอกถึงตำแหน่งการฟาดไม้ไล่ไปตามขอบกลองแต่ละใบ และเมื่อยามที่กลองใหญ่ถูกฟาดไม้โครมลงไปเสียงก็เบ่งใหญ่แผ่บาน ให้แรงสั่นไหวเป็นระลอก แทบมองเห็นเป็นจังหวะ – ลีลาการฟาดไม้ เสียงนักดนตรีที่กู่ร้องบนเวทีก็มีความเป็นตัวตน รวมถึงสภาพการค่อยๆ จางหายของเสียงในโถ่งแสดงอย่างได้บรรยากาศสมจริง
แล้วก็ต้องรู้สึกอึ้งถึงกับทึ่ง เมื่อหยิบจับเอา “folk singer” ผลงานการบันทึกเสียงที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดของ Muddy Waters ซึ่งทาง Mo-Fi ได้นำเอาผลงานของ Chess/MCA มาทำการตัดแผ่นใหม่ในระบบ Half-Speed ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก (Mobile Fidelity Sound Labs : MFSL 1-201) มาเปิดฟัง …ไม่น่าเชื่อว่า เสียงอวบใหญ่มีน้ำหนักของ Muddy Waters จะได้รับการถ่ายทอดออกมาจาก ‘Dancer Mini-X Diamond’ ได้ราวกับว่า Muddy Waters มานั่งอยู่ต่อหน้าเรา …เสียงสูดลมหายใจ …เสียงเกากีต้าร์ …เสียงกระตุกสายเบสยืน รวมถึงบรรยากาศของห้องที่บันทึกเสียงนั้นชัดเจนมาก …ได้อารมณ์ร่วมในเหตุการณ์จริงๆ ครับ
ปิดท้ายด้วยการบรรเลงออร์เคสตร้าวงใหญ่ที่ประโคม-คำรนอย่างแผ่น Andrew Powell & The Philharmonia Orchestra Play The Best of The Alan Parson Project (MFSL 1-175 Mobile Fidelity Records) เจ้า ‘Dancer Mini-X Diamond’ ก็สามารถให้เสียงที่มีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี มีความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ
สรุป
ขอส่งท้ายไว้ว่า “USHER Dancer Mini-X Diamond” ไม่ใช่สไตล์เสียงลำโพงมอนิเตอร์ก็จริง ทว่าสามารถบ่งบอกความจริงเที่ยงแท้ ที่มีอยู่ในดนตรีที่เรารับฟัง ไม่ได้เน้น-ไม่ได้เพิ่มเสริมอะไรเข้าไปในน้ำเสียงที่สำแดงออกมา จากการรับฟังผมได้รับทั้งความหนักแน่น และความลึกล้ำของช่วงความถี่เสียงต่ำที่น่าจะสามารถ “ยืดขยาย” (extended) ทอดตัวลงไปได้ลึกกว่าที่ได้ระบุไว้ พร้อมๆ กับความประทับใจในสุ้มเสียงที่เนียน ละเอียด สดใส และฉับไว รวมทั้งให้ความอวบอิ่มมีน้ำมีนวล และความมีตัวตนของทุกสรรพเสียง ที่มาพร้อมกับความคึกคัก กระฉับกระเฉง ไม่โฉ่งฉ่าง ฟังแล้วสดชื่น-รุกเร้าใจ ทั้งยังสามารถบ่งบอกสภาพความลึก และแผ่กว้างของวงเวทีเสียงได้อย่างน่าทึ่ง น่าประทับใจ…
‘Dancer Mini-X Diamond’ ดูท่าจะเหมาะเจาะ-ลงตัวมากกับการรับฟังจากแนวเพลงร้อง ที่จะทำให้คุณรับรู้ได้ถึงความลอยตัวของเสียงนักร้อง แยกออกมาจากพื้นเสียงดนตรีที่กำลังบรรเลง มีเนื้อมีหนังมีชีวิตมีวิญญาณ (ลมหายใจ) ให้ความกลมมนมีตัวตนของเสียง ยิ่งฟังยิ่งเพลิดเพลินใจครับ
ขอขอบคุณ ACG International โทร. 0-2683-9148 ที่เอื้อเฟือลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้