AMG นั้น ย่อมาจาก Analog Manufaktur Germany ที่ได้ชื่อว่ามีวิศวกรรมอันแม่นยำ การออกแบบที่สร้างสรรค์ และความสวยงามตามหลักสุนทรียศาสตร์ “AMG” ออกแบบและสร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมทั้งโทนอาร์มคุณภาพสูงสำหรับตลาดเครื่องเสียงอะนาลอกระดับไฮ-เอนด์ การพัฒนาชิ้นส่วนที่มีความแม่นยำสูงเป็นแนวทางประสบความสำเร็จของ AMG ที่ดำเนินกิจการธุรกิจครอบครัวมาหลายทศวรรษ ซึ่งเริ่มแรกก่อตั้งขึ้นโดย Werner Röschlau วิศวกรเครื่องกลระดับปรมาจารย์ และนักบินพาณิชย์ ซึ่งต่อมา Julian Lorenzi ในฐานะกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหาร AMG โดยสานต่อเรื่องราวความสำเร็จของ Werner Röschlau ผู้เป็นบิดาในปี ค.ศ.2013 ในฐานะลูกชายและหุ้นส่วนของผู้ก่อตั้ง ทั้งนี้ความภาคภูมิใจเป็นพิเศษอยู่ที่ผลงานบุกเบิกของตลับลูกปืนแบบ สองจุด (Two-Point Bearing) ที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งทำจากเหล็กสปริง ระบบที่พัฒนาขึ้นเองนี้ AMG ได้ใช้อยู่ในโทนอาร์มซีรีส์ 9W และ 12J ในปัจจุบัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์โทนอาร์มนี้มีประสิทธิภาพสูง ควบคู่ความทนทาน โรงงาน AMG ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองไดนิง แคว้นบาวาเรีย (Deining, Bavaria) ทำการผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงประสิทธิภาพสูงที่สุดของโลก ด้วยช่างฝีมือที่มีประสบการณ์สูง และผู้เชี่ยวชาญด้านอะนาลอกคอยให้คำแนะนำ เพิ่มความแม่นยำในการผลิตอย่างต่อเนื่องในระดับอุตสาหกรรมการบิน ทั้งนี้ AMG ใช้สโลแกนว่า “The Art of Precision” (ศิลปะแห่งความแม่นยำ)
AMG : New Viella Forte Turntable
ความเก่งฉกาจด้านวิศวกรรมและความเป็นเลิศด้านงานกลึงของเยอรมัน ที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมไปทั่วโลกนั้น ไม่ได้รับการโชว์ให้เห็นในเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นเรือธง “Viella Forte” และโทนอาร์ม “12JT” รุ่นใหม่ล่าสุดของ AMG เลยจริงๆ เนื่องเพราะคุณสมบัติการออกแบบและวิศวกรรมอันแม่นยำ ที่ทำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงและโทนอาร์มของ AMG โดดเด่นนั้นกลับถูกซ่อนไว้ภายใน และเรา-ท่านมองไม่เห็น!! แม้ว่า พื้นผิวภายนอกจะถูกกลึงมาอย่างดีมากๆ ทั้งในด้านรูปลักษณ์และกลไก
ทั้งนี้ทั้งนั้นการออกแบบเชิงกลของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ รวมทั้งของโทนอาร์มไม่สามารถอรรถาธิบายได้ว่าเป็น “สินค้าสำเร็จรูป” หรือว่า “มาตรฐาน” ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 เมื่อบริษัทซึ่งก่อตั้งโดย Werner Röschlau ‘ผู้ล่วงลับ’ ได้เสียชีวิตลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 ด้วยวัย 62 ปี ได้พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องแรกของตนเองขึ้นมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ก่อนที่จะผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงในแนวทางของตนเองนั้นออกจำหน่าย บริษัทแห่งนี้ได้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความแม่นยำ สำหรับบริษัทเครื่องเล่นแผ่นเสียงอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศอีกด้วย
“Viella” รุ่นแรกสุดคือ V12 ซึ่งเป็นแบบ Mass-Loaded Non-Decoupled ขับเคลื่อนด้วยสายพาน ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในงาน High End Munich 2010 ภายใต้ชื่อตระกูล Röschlau-Lorenzi โดยที่ Julian Lorenzi ลูกชายของ Röschlau ซึ่งเป็นวิศวกรเครื่องกลที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างดี ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกับช่างเครื่องคนอื่นๆ ในโรงงานในแคว้นบาวาเรีย หลังจากที่ Garth Leerer แห่ง Musical Surroundingsได้เห็นและได้ยินเสียงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ในงาน High End Munich 2011 Garth Leerer และหุ้นส่วนชาวเยอรมันของเขา ก็ได้พบปะกับ Werner Röschlau และ Julian Lorenzi ซึ่งต่อมาไม่นานพวกเขาก็ร่วมกันก่อตั้ง AMG : Analog Manufaktur Germany ขึ้นมา
จากนั้น AMG V12 ก็ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกที่งาน International Consumer Electronics Show ประจำปี 2012 ในลาสเวกัส และต่อมาก็ได้จัดแสดงในงาน High End Munich 2012 ด้วยเช่นกัน…เมื่อ Werner Röschlau เสียชีวิตอย่างกะทันหันในอีกหนึ่งปีต่อมา Julian ผู้ลูกชาย ซึ่งดูแลการผลิตในโรงงานของ AMG และการดำเนินงานของบริษัทอยู่แล้ว ก็เตรียมตัวที่จะเป็นกรรมการผู้จัดการของ AMG ไม่นานหลังจากนั้น
วิวัฒน์สู่ Forte
…และแล้ว Viella Forte Engraved ก็ได้รับการปรากฏตัว พร้อมกับโทนอาร์ม 12JT ที่ได้รับการปรับปรุง ถือเป็นวิวัฒนาการจากการออกแบบก่อนหน้านี้มากกว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ระดับปฏิวัติวงการ ส่วน “Engraved” นั้นเกี่ยวข้องกับลวดลายที่จำหลักบนพื้นผิวฐานแท่นเครื่อง (ซึ่งเป็นตัวเลือกราคา 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) Viella Forte ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกที่งาน High End Munich 2019 โดยใช้การออกแบบ Mass-Loaded แบบเดียวกับ V12 ขับเคลื่อนด้วยสายพานและไม่แยกส่วน (Non-Decoupled) รวมถึงใช้การออกแบบตลับลูกปืนจานหมุน (Platter-Bearing Design), แกนหมุนแยกส่วน (Decoupled Spindle) และมอเตอร์ DC แบบไร้แปรงถ่าน (Brushless DC Motor) ที่สร้างขึ้นด้วยมือ กระทั่งปัจจัยรูปแบบของจานหมุนเป็นส่วนใหญ่ (Platter-Dominated Form Factor) ซึ่งในหลายๆ ด้านแล้ว Viella Forte ดูเหมือน Viella 12 ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ทว่า ก็อีกนั่นแหละ ความแตกต่างที่สำคัญด้านวิศวกรรมและการออกแบบยังคงซ่อนอยู่ภายใน
ผลิตภัณฑ์ระดับปฏิวัติวงการของ AMG นั้น กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัว V12 รุ่นดั้งเดิม เทริ์นเทเบิลนี้มีตลับลูกปืนจานหมุนที่ไม่เหมือนใคร (Unique Platter Bearing) โดยมีจานหมุนย่อย (Subplatter) วัสดุอะลูมิเนียมขนาดเล็กวางอยู่บนเพลาเหล็กกล้าชุบแข็งขนาด 16 มม. ซึ่งขับเคลื่อนด้วยตลับลูกปืนเรเดียลคู่หนึ่ง ซึ่งหล่อลื่นด้วย Hydrodynamically แบบปิดผนึก (Sealed) ตลับลูกปืนแนวแกนที่หล่อลื่นแบบ Statically จะเคลื่อนที่บนแผ่นรองขนาดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เป็นในลักษณะของตลับลูกปืนแกนหมุนและตลับลูกปืนกลับหัวที่มีลูกบอลเซรามิกด้านบน ซึ่งถูกนำมาใช้กับ Viella Forte เช่นกัน
จานหมุนอะลูมิเนียมอโนไดซ์สีดำของ Viella Forte นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับรุ่น Viella ดั้งเดิม แต่ว่าเบากว่า ด้วยน้ำหนักเกือบ 14 กิโลกรัม เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.5 นิ้ว และสูง 3.5 นิ้ว (หนากว่าของ Viella) โดยเป็นแบบแซนวิชสองชิ้นที่มี Weighted Rim เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ของ Flywheel พื้นผิวด้านบนทำจาก PVC นูนเล็กน้อยและเลี่ยมไว้ (Convex & Inlaid) พร้อมด้วยแกนหมุนที่แยกจากกัน ซึ่งใช้ขันแคลมป์สะท้อนแสง (Reflex Clamp) ซึ่งออกแบบใหม่ให้มีขนาดใหญ่และใหญ่โตกว่าที่ทำจากวัสดุ Aluminum-And-Polyoxymethylene ที่มีเกลียวยึดเข้าไว้ด้วยกัน
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดประการหนึ่งระหว่าง Viella รุ่นมาตรฐานกับ Forte ก็คือ ความสูงและมวลของฐาน ฐานแท่นเครื่องของรุ่นเก่ามีความหนาประมาณ 1 นิ้ว และหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ส่วน Forte มีความหนา 2 ¾ นิ้ว และหนักเกือบ 23 กิโลกรัม ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งซ่อนไว้จากสายตา นั่นคือ วิธีการเชื่อมต่อฐานแท่นและโครงตัวเรือนมอเตอร์ ในขณะที่โครงแบริ่งและโครงตัวเรือนมอเตอร์ของ V12 ยึดด้วยสลักเกลียวเข้ากับฐานแท่นด้านล่าง ฐานเครื่องของ Forte จะถูกกลึงเข้ากับฐานแท่นอะลูมิเนียมหนาโดยตรง ซึ่งช่วยปรับปรุงความแข็งแกร่งของโครงสร้างและความสมบูรณ์เชิงกลได้อย่างมาก นอกจากนี้ ฐานโทนอาร์มอะลูมิเนียมที่กลึงด้วย CNC ของ Forte ยังมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าของ Viella 35 มม. และสูงกว่าของ Viella 15 มม.
ชุดไดรฟ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งอยู่ภายในฐานแท่นตันที่มีการหน่วงทางมวล (Mass-Damped Solid Plinth) นั้น จะมี “วงจรที่ได้รับการปรับปรุง” เพื่อให้จานหมุนขนาดใหญ่เริ่มทำงานได้เร็วขึ้น ผลึกคริสตัลความถี่ 20kHz ช่วยรักษาความสม่ำเสมอของความเร็วรอบหมุน แหล่งจ่ายไฟของ Forte ติดตั้งอยู่ในโครงสร้างใหม่ที่ผ่านการกลึงด้วย CNC ซึ่งเข้ากันได้ดีกับรูปร่างของฐาน และมีหม้อแปลงแบบ Toroidal Transformer ใหม่ และเพิ่มเติมด้วยระบบกรองแรงดันไฟฟ้า
12JT โทนอาร์มรุ่นล่าสุด
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ถือเป็นวิวัฒนาการเช่นกัน โดยการปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง 12J2 โทนอาร์มดังกล่าวเป็นวัสดุอะลูมิเนียมชุบอโนไดซ์ (Anodized Aluminum) แบบ “Dual-Pivot Horizontal Bearing System” (ระบบแบริ่งแนวนอนแบบแกนคู่) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ (สำหรับการเคลื่อนที่ในแนวตั้ง) โดยใช้ลวดเหล็กสปริงหนา 0.5 มม. (ซึ่งทาง AMG อ้างว่า เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในหัวโรเตอร์ของเฮลิคอปเตอร์) แทนที่จะเป็นแบบ ‘Gimbaled’ อย่างปกติที่ใช้กัน ซึ่งอาจทำให้เกิด “เสียงรบกวนจ๊อกแจ๊ก” (Chatter) ขึ้นได้ นอกจากนี้ยังใช้การจัดเรียงแบริ่งในลักษณะการเชื่อมต่ออะคูสติกโดยตรง (Direct Acoustic Coupling) ซึ่ง AMG กล่าวว่า สิ่งนี้จะสามารถ “ดึงเอาสิ่งที่อยู่ในแผ่นเสียงของคุณออกมาอย่างแท้จริง”
ระบบลูกปืนดังกล่าวได้นำมาใช้อยู่ใน 12JT แต่ลูกปืนแนวตั้งที่เป็นเพลาเหล็กกล้าชุบแข็งซึ่งเจียรอย่างแม่นยำ เพื่อให้พอดีโดยไม่เกิดการตีกลับ ช่วยให้เคลื่อนที่ในแนวนอนได้คล่องตัวนั้น ปัจจุบันในรุ่น 12JT จะใช้เป็น Micro Ball Bearings ด้านบนและด้านล่างแทนที่ Roller Bearing ด้านล่างของโทนอาร์มแบบเดิม เช่นเดียวกันโทนอาร์มรุ่น 12JT ได้รับการปรับเปลี่ยนกลไกแอนตี้ สเก็ตติ้ง (Anti-Skating Mechanism) ได้ถูกสร้างไว้ในตัวเรือนลูกปืน (Bearing Case) ให้เป็นแบบแม่เหล็กปรับได้ 2 อันที่สามารถเลื่อนเข้าใกล้ หรือ ออกห่างจากแม่เหล็กวงแหวนตรงข้ามได้
ทั้งนี้การติดตั้งโทนอาร์มรุ่น 12JT นั้นง่ายดายขึ้น ใช้เครื่องมือเฉพาะทางน้อยลง ปุ่มแบบ Knurled Knob จะใช้ปรับมุมอะซิมุธ (Azimuth) แทนการใช้ไขควงหัวแฉก (Torx) ขนาดเล็กเพื่อเข้าถึงสกรูที่เว้าเข้าไปแบบเดิม ซึ่งนับว่ายุ่งยากน้อยลงมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ แม่นยำไม่บิดเบือน ด้วยการใช้ปุ่มหมุนแบบ Knurled Knob เช่นเดียวกัน พร้อมด้วยมาตรวัดที่ทำเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจน โทนอาร์มรุ่น 12JT นี้มีระดับน้ำขนาดเล็กติดอยู่ที่ด้านบนของตัวเรือนลูกปืนเช่นเดียวกับโทนอาร์ม 12J ดั้งเดิม ทำให้การปรับแนวระดับโทนอาร์มให้ขนานกับพื้น และระนาบผิวแผ่นเสียงทำได้ง่าย ซึ่งใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับ VTA/SRA ได้เป็นอย่างดี การตั้งค่า VTA/SRA จึงง่ายดายขึ้นด้วย
การติดตั้งหัวเข็ม (Cartridge Mounting) ก็ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มตัวพาอะลูมิเนียมแบบเลื่อน (Sliding Aluminum Carrier) ซึ่งผู้ใช้จะต้องติดตั้งหัวเข็มเข้าที่นี่ก่อน ส่วนการปรับตั้งระยะโอเวอร์แฮงค์ (Overhang) จะปรับตั้งได้โดยการเลื่อนตัวพาอะลูมิเนียมที่มีหัวเข็มติดตั้งอยู่นี้ไปข้างหน้า และ ข้างหลังแล้วขันให้แน่น (คล้ายๆ กับ Head Shell แบบ Sliding-Carrier ทั่วไป) โดยใช้ปุ่มหมุน Knurled Knob เช่นเดียวกันหัวกระสุน (แต่ไม่มีวิธีที่จะปรับมุม Zenith Angle ได้)
ข้อมูลจำเพาะพื้นฐานของโทนอาร์ม12JT มีค่าความยาว Effective Length อยู่ที่ 304.8 มม.; ระยะห่างจากจุดหมุนถึงแกนหมุน (Pivot-To-Spindle หรือ P2S) เท่ากับ 291.4 มม.; ระยะโอเวอร์แฮงค์ 13.4 มม.; มุมออฟเซต 17.89° และค่า Effective Mass เท่ากับ 13.9 กรัม
HANA : Umami Blue MC Cartridge
HANA เป็นภาษาญี่ปุ่น “華” แปลว่า “สดใสและงดงาม” (Brilliant And Gorgeous) หัวเข็ม Moving Coil ของ HANA จึงมีความหมายถึง การมอบเสียงอะนาลอกที่ “สดใสและงดงาม” สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงและคนรักดนตรี ไม่ว่าจะมีงบประมาณเท่าใด โดยที่หัวเข็ม Moving Coil ของ HANA นั้น Handmade In Japan อย่างน่าภาคภูมิใจ
Masao Okada ก่อตั้ง Excel Sound Corporation ขึ้นในปี ค.ศ.1970 ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงในแนวทางของ OEM ทั้งทางด้านการสรรค์สร้างและพัฒนาการ จนกระทั่งในปี ค.ศ.2015 เขาได้ตัดสินใจร่วมกับ Hiroshi Ishihara ซึ่งรับหน้าที่ Senior Consultant ให้บริษัท เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงในแนวทางของตัวเอง ภายใต้ชื่อ HANA ซึ่งหมายถึงว่า จริงๆ แล้ว HANA ได้รับประสบการณ์ยาวนานมาถึงกว่า 50 ปี โดยมี Excel Sound Corporation เป็นผู้ผลิต ส่วน Hiroshi Ishihara ก็ได้ก่อตั้ง Youtek Corporation ขึ้นมาในปี ค.ศ.2015 ทั้งนี้ Masao Okada รับหน้าที่ในการออกแบบและสร้างสรรค์ รวมทั้งรับภาระในการเสาะหาวัตถุดิบที่ดีที่สุด ควบคู่กับการคุมราคาต้นทุนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ของ HANA ที่มีสมรรถนะสูงสุดภายใต้ปัจจัยราคาจำหน่ายที่สมเหตุสมผล
“HANA” อาจเป็นแบรนด์ผู้ผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงที่คุณไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่เพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองที่ชื่อ “HANA” เป็นที่รู้จักในวงการอะนาลอกกระทั่งโด่งดังอย่างมาก ณ ปัจจุบัน เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หัวเข็ม Moving Coil ของ HANA ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในคุณภาพการรับฟังให้กับผู้ที่รักและชื่นชอบการเล่นแผ่นเสียงไวนิล
HANA พุ่งเป้าไปที่การออกแบบ-ผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงแบบ MC เป็นหลัก เริ่มต้นจากรุ่น EL/EH (E Series) และรุ่น SL/SH (S Series) ที่นับเป็น Entry Level ซึ่งมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าหนึ่งพันดอลลาร์ ด้วยความคุ้มค่ายิ่งนัก ทว่าปัจจุบัน HANA ได้ก้าวเข้าสู่รุ่น ML/MH (M Series) ที่นับเป็น Upmarket อีกระดับ โดยยังคงไว้ซึ่งความคุ้มค่าภายใต้ปัจจัยราคาที่เขยิบขึ้นมาสูงกว่าหนึ่งพันดอลลาร์นิดหน่อยเท่านั้น แต่ในส่วนของความเป็นหัวเข็มระดับ Flagship นั้น ก็มี Umami Range ภายใต้ปัจจัยราคาที่ต่ำกว่าสี่พันดอลลาร์ ซึ่ง “Umami Red” ก็คือ รุ่นเรือธงสูงสุดของ HANA โดยมี “Umami Blue” เป็นรุ่นรองเรือธง ที่เพิ่งออกจำหน่ายล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา (2023)
ทั้งนี้ Excel Sound Corporation ได้พัฒนาหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงแบบ MC ของ HANA โดยผสมผสานประสบการณ์การออกแบบ/ผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง OEM ให้กับบริษัทผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นหลายแบรนด์ด้วยกันมากว่า 50 ปี เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วน โดยใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ร่วมกับการเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง และเทคนิคการประกอบด้วยมือที่ได้รับการยอมรับมายาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงดนตรีที่ดีที่สุด
คุณลักษณ์
ทั้งนี้ Umami Blue ถือเป็นโซ่ข้อกลางระหว่าง Umami Red กับรุ่น ML ซึ่งผสมผสานความโดดเด่นในเรื่องปลายหัวเข็มแบบ NudeMicroLine Diamond Stylus* และ Boron Cantilever ของรุ่น Umami Red เข้ากับระบบแม่เหล็ก Alnico จากรุ่น ML รวมถึงการใช้สายทองแดงบริสุทธิ์สูง (High-Purity Copper) โดยยังคงไว้ซึ่งความเป็น Low Output Design แบบเดียวกับ Umami Red “Umami Blue” จึงเป็นอีกหนึ่งหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงแบบ MC ของ HANA ที่มีการออกแบบไร้ซึ่งการประนีประนอม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์คุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม
“Umami” (อูมามิ) ซึ่งแปลว่า “แก่นแท้ของความอร่อย“ นั้น เป็นภาษาญี่ปุ่น 旨味 ที่มาจากรากศัพท์ 2 คำนั้นคือคำว่า อูไม (Umai) ที่แปลว่า อร่อย (Delicious) และคำว่า มิ (Mi) ที่แปลว่า แก่นแท้ (Essence) หากเราลองลิ้มรสชาติของอาหารอย่างตั้งใจ เราจะพบว่าในรสชาติที่ซับซ้อนของหน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ชีส และเนื้อสัตว์ จะมีรสหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่สามารถเรียกได้ว่า หวาน หรือ เปรี้ยว หรือ เค็ม หรือ ขม…ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนคติที่ว่า รสอูมามินี้ไม่เพียงแต่พบในอาหารตะวันออกเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในอาหารตะวันตก รวมทั้งอาหารในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ดีแม้ว่ารสชาติพื้นฐาน เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม และขม จะเป็นที่รู้จักกันมานานแสนนาน แต่รสอูมามิกลับเพิ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1985 จากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า อูมามิเป็นรสชาติที่เป็นสากล
* NudeMicroLine Diamond Stylus เป็นปลายหัวเข็มแบบ MicroLine™ ซึ่งแทบจะเลียนแบบรูปร่างของหัวเข็มตัดแผ่น (Cutting Stylus) ที่ใช้ผลิตแผ่นมาสเตอร์ต้นฉบับ ซึ่งใช้ทำแผ่นเสียงได้เกือบเป๊ะ ทำให้สามารถติดตามอักขระต่างๆ ของร่องเสียง (Groove) ได้ครบถ้วนอย่างที่หัวเข็มรูปแบบอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การเก็บเกี่ยวช่วงความถี่สูงทำได้อย่างแม่นยำอย่างยิ่ง และตอบสนองความถี่ได้ราบเรียบ (Flat) เหมือนไม้บรรทัดภายในช่วงย่านความถี่เสียงที่มนุษย์ได้ยิน รูปร่างของ “สัน” (Ridge) หลายระดับ นับเป็นเอกลักษณ์ของหัวเข็ม MicroLine™ ช่วยให้การสึกหรอที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอมากขึ้น ส่งผลต่อแผ่นเสียงและหัวเข็มให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นด้วย
HANA-Umami Blue เป็นหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงแบบ MC (คอยล์เคลื่อนที่) ระดับไฮ-เอนด์ ผสมผสานวิสัยทัศน์ของ Masao Okada ผู้มากประสบการณ์ในการออกแบบหัวเข็มเข้ากับประวัติศาสตร์ของวัสดุที่ไม่เหมือนใคร หลอมรวมกับเทคนิคคลาสสิกแบบญี่ปุ่น และวิศวกรรมเสียงสมัยใหม่ การออกแบบตัวเรือน (Body) ที่เป็นวัสดุ Auricle™ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะในซีรีส์ Umami เท่านั้น โดยใช้เครื่อง CNC ในการขึ้นรูปจาก Duralumin** และขัดเงาด้วย Blue Malamine (MTP) จากนั้นจึงผสมผสานเข้ากับชุดกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าที่ใช้แม่เหล็ก Alnico*** แบบเดียวกับที่ใช้อยู่ใน HANA รุ่น ML ซึ่งด้วยความสัมพันธ์ที่สอดประสานกันในการออกแบบหัวเข็ม MC ระหว่างวัสดุเฉพาะ การออกแบบตัวเรือนที่ไม่เหมือนใคร-ชุดกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าที่ซับซ้อน และความแม่นยำจากฝีมือการสร้างขึ้นด้วยมือ ทำให้ “Umami Blue” เป็นหัวเข็ม MC ที่โดดเด่นอย่างยิ่ง
** Duralumin (ดูราลูมิน) ส่วนใหญ่ใช้เพื่ออธิบายโลหะผสม ได้รับการพัฒนาโดย Alfred Wilm นักโลหะวิทยาชาวเยอรมันที่บริษัท Dürener Metallwerke AG ในปี ค.ศ.1903 โดยที่ Wilm ได้ค้นพบว่า หลังจากการชุบแข็ง โลหะผสมอะลูมิเนียมที่มีทองแดง 4% จะแข็งตัวเมื่อทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายวัน การพัฒนาเพิ่มเติมนำไปสู่การนำดูราลูมินมาใช้ในปี ค.ศ.1909 ชื่อนี้ส่วนใหญ่ใช้ในแวดวง Pop-Science เพื่ออธิบายระบบโลหะผสม Al-Cu (อะลูมิเนียม-ทองแดง) ทั้งหมด หรือซีรีส์ ‘2000’ ตามที่กำหนดโดยระบบการกำหนดโลหะผสมระหว่างประเทศ (International Alloy Designation System) ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 โดยสมาคมอะลูมิเนียม (Aluminum Association) อนึ่ง Duralumin ยังมีชื่อเรียกขานอื่นๆ อีกว่า Duraluminum, Duralum, Duraluminium, Duralium หรือ Duralis
*** Alnico (อัลนิโก้) เป็นตระกูลของโลหะผสมเหล็ก (Iron Alloys) ซึ่งนอกเหนือจากเหล็กแล้วยังประกอบด้วยอะลูมิเนียม, นิกเกิล และโคบอลต์เป็นหลัก (อาจรวมถึงทองแดง และบางครั้งก็เป็นไทเทเนี่ยมด้วย) จึงมีชื่อย่อว่า Al-Ni-Co Alnico Alloys เป็นเฟอร์โรแมกเนติก (Ferromagnetic) และใช้ทำแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnets) ก่อนการพัฒนาแม่เหล็กหายาก (Rare-Earth Magnets) ในยุคปี ค.ศ.1970 “อัลนิโก้” ถือเป็นแม่เหล็กถาวรประเภทที่แข็งแกร่งที่สุด โลหะผสมอัลนิโก้สามารถทำให้เป็นแม่เหล็กเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กที่แรงสูงได้ และมีค่าแรงกดสูง (High Coercivity-ต้านทานการสลายสภาพแม่เหล็ก) จึงทำให้สามารถผลิตแม่เหล็กถาวรที่มีความแข็งแรงได้ ในบรรดาแม่เหล็กที่หาได้ทั่วไป มีเพียงแม่เหล็กธาตุหายาก เช่น นีโอไดเมี่ยม (Neodymium) และ ซาแมเรี่ยมโคบอลต์ (Samarium-Cobalt) เท่านั้น ที่มีความแข็งแรงมากกว่า แม่เหล็กอัลนิโก้สามารถผลิตสนามแม่เหล็กที่ขั้วได้สูงถึง 1,500 เกาส์ (Gauss) หรือ 0.15 เทสลา(tesla) ซึ่งเข้มข้นประมาณ 3,000 เท่าของสนามแม่เหล็กโลก ชื่อทางการค้าอื่นๆ ของโลหะผสมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Alni, Alcomax, Hycomax, Columax, and Ticonal
ชิ้นส่วนหลักทั้งหมดใน HANA-Umami Blue ผลิตขึ้นภายในบริษัทโดย Excel Sound Corporation ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 50 ปี ช่างฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทำการประกอบ HANA-Umami Blue ด้วยมืออย่างชำนาญ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ทางดนตรีที่เข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา ส่งผลให้คุณภาพเสียงของ Umami Blue “ยอดเยี่ยมและงดงาม” อย่างสมบูรณ์
ปลายหัวเข็มแบบ NudeMicroLine Diamond Stylus ของ Umami Blue ที่ตัด-ขึ้นรูปด้วยเพชรแท้อย่างแม่นยำ ยึดติดอยู่กับก้านหัวเข็มที่เป็น Boron Cantilever พันคอยล์ด้วยลวดทองแดงที่มีความบริสุทธิ์สูง (High-Purity Copper Wires) ชุดกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าเกิดจากแม่เหล็กโลหะผสมอะลูมิเนียม, นิกเกิล และโคบอลต์ แม่เหล็กทรงพลังนี้เหมือนกับแม่เหล็กที่ใช้ในรุ่น ML ทำหน้าที่สร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มข้น และเป็นเชิงเส้นตรงสูง Highly Linear Field ในช่วงช่องว่างอากาศ (Air Gap) ส่งผลให้ความเสี่ยงของความอิ่มตัวต่ำมาก (Extremely Low Saturation) ส่วนของขั้วเสียบเอาต์พุตสัญญาณนั้นชุบเคลือบทอง (Gold-Plated)
ซึ่งด้วยปลายหัวเข็มเพชรแบบ MicroLine จะทำการเกาะร่องของแผ่นเสียงไวนิลได้อย่างสมบูรณ์แบบ แล้วดึงเอารายละเอียดที่เล็กที่สุดออกมาได้ นอกจากนี้ การเจียระไนปลายหัวเข็มเพชรแบบ MicroLine นี้ยังช่วยลดการสึกหรอของแผ่นเสียงได้อย่างมาก โดยรักษาคุณภาพของร่องเสียงทั้งหมดไว้ได้ แม้จะเล่นซ้ำหลายครั้งก็ตาม อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดำรงรักษารายละเอียดที่ละเอียดอ่อนที่สุดของอักขระข้อมูลบนร่องเสียงให้ได้ครบถ้วน ในขณะถ่ายทอดการสั่นสะเทือนจากเพชรไปยังขดลวดที่เคลื่อนที่นั้น “Umami Blue” จึงติดตั้งก้านหัวเข็มที่เป็น Boron Cantilever ซึ่งมีความแข็ง (Rigidity) ใกล้เคียงกับเพชร จึงมั่นใจได้ว่า การส่งผ่านการสั่นสะเทือนที่เล็กที่สุด ละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ Umami Blue สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ละเอียดอ่อนที่สุดได้ รวมถึงช่วงไดนามิกอย่างเต็มรูปแบบของแผ่นเสียงไวนิล
ในขั้นตอนท้ายสุด “Umami Blue” จักได้รับการผ่านขั้นตอน Cryogenic Treatment อย่างเป็นพิเศษ โดยใช้กระบวนการ “อบเย็น” (Cold Annealing) กับชุดสร้างสัญญาณ (Generator) และขั้วเสียบเอาต์พุตชุบทองของ Umami Blue ซึ่งการลดอุณหภูมิต่ำอย่างกะทันหันนี้ส่งผลต่อโครงสร้างโมเลกุลของสสาร ทำให้วัสดุนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น ในขณะที่ชิ้นส่วนต่างๆ ยังมีขนาดคงที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น พูดได้เลยว่า ความรู้ทั้งหมดที่ Masao Okada ได้รับมาตลอดหลายทศวรรษจนเชี่ยวชาญนั้น ถูกนำมารวมไว้ใน Umami Blue อย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อการส่งมอบความเป็น «Vinyl Sound» อย่างแท้จริงให้แก่ผู้รับฟัง
เมื่อพิจารณาจากค่าสเปก ระบุว่า Umami Blue มีช่วงย่านความถี่ตอบสนองครอบคลุมตั้งแต่ 10 Hz จนถึง 50 kHz โดยน้ำหนักตัว (Cartridge Weight) อยู่ที่ 10.8 กรัม จึงสามารถเข้าได้กับโทนอาร์มน้ำหนักปานกลางทั่วไปในปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ภายใต้ข้อกำหนดแรงกดหัวเข็ม (Vertical Tracking Force) เหมาะสม ระบุไว้ที่ 2 กรัม สมรรถนะการเกาะร่องสัญญาณ (Trackability) : 70 µm/2g โดยมีค่าความแรงสัญญาณขาออก 0.4 มิลลิโวลต์ อิมพีแดนซ์ภายใน 8 โอห์ม และโหลดแนะนำอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 80 โอห์ม ซึ่งก็เข้าได้กับภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม และ โฟโน ปรีแอมป์ (รวมถึง Step-Up Transformer) ทั่วไปได้
Umami Blue Specification
Stylus | Microline |
---|---|
Cantilever | Boron |
Magnetic Circuitry | Pure Iron/Cryo Treatment |
Coil Wire | High Purity Copper |
Output Level | 0.4 mv |
Output Balance | 0.5/1kHz |
Trackability | 70 µm/2g |
Channel Separation | 30dB/1kHz |
Frequency Response | 15-50,000Hz |
Coil Impedance | 8Ω/1kHz |
Suggested Load Impedance | > 80Ω |
Magnet | Alnico |
Vertical Tracking Force | 2g |
Cartridge Weight | 10.8g |
Body Material | Duralumin (A7075) |
Body Finish | Melamine Thermosetting Process (MTP) |
ผลการรับฟัง
“Umami Blue” ที่ติดตั้งกับโทนอาร์ม 12 JT บนเทิร์นเทเบิล Viella Forte ของ AMG ให้เสียงที่คุณอาจจะหลงรักตั้งแต่แรกฟัง…ใครก็ตามที่เคยได้ฟังคุณภาพเสียงของหัวเข็ม HANA มาก่อนหน้า ไม่ว่าจะรุ่นใดก็ตาม “Umami Blue” จะให้ลักษณะเสียงที่แตกต่างจนรู้สึกได้ ภายใต้ความน่าฟังอันเต็มเปี่ยมความคุ้มค่าต่อราคาอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการส่งมอบความเป็นดนตรีที่แสนไพเราะ ละเมียด ละเอียดอ่อนและสละสลวยยิ่งนัก สเปกตรัมเสียงที่ “Umami Blue” นำเสนอออกมานั้นกว้างขวางอย่างแท้จริง โดยมีเบสที่ตึงแน่น กระชับ ไม่ล้นจนเกินไป สุ้มเสียงที่ให้ความอบอุ่นมีชีวิตชีวา
“Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” สามารถจะเจาะลึกเข้าไปในร่องเสียงบนแผ่นไวนิลที่คุณรับฟัง แล้วดึงเอาข้อมูลเสียงที่แม่นยำจำนวนมากออกมาให้คุณรับรู้ได้อย่างน่า ประทับใจ ด้วยการจำแนกความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนของการเล่นเปียโนได้ชนิดน่าทึ่ง!! นับเป็นประสบการณ์การรับฟังที่แสนวิเศษ รู้สึกสนุกสนานไปกับการเปรียบเทียบเวอร์ชั่นแผ่นเสียงโน่นนี่นั่น แล้วประหลาดใจกับความแตกต่างที่ได้รับฟัง ทำเอาเพลิดเพลินไปกับพลังเสียงอันสมจริงที่หลั่งไหลออกมาอย่างเต็มที่อย่างเกินความคาดหวัง พร้อมทั้งเสียงที่เปี่ยมในบรรยากาศการแสดงอีกด้วย
จากการรับฟัง “Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” สามารถให้การรับรู้ถึงลักษณะมวลอากาศที่ห้อมล้อม อบอวล มีความกังวานเจือแทรกอยู่เสมอ เป็นลักษณะเสียงที่เรา ท่านได้ยิน ได้ฟังเสมือนจริงในธรรมชาติ บ่งบอกสภาพบรรยากาศของโถงการแสดงหรือสถานที่ใช้บันทึกเสียงได้ชัดเจนมาก รับรู้ถึงสภาพเวทีเสียงกว้างขวาง มีระยะเว้นว่าง ห่าง ชิด ทั้งกว้าง สูง ลึก ‘ชนิดไม่ต้องหลับตาฟัง’ ชิ้นดนตรีไม่เบียดติดกัน จัดวางตำแหน่ง แห่งที่ได้ดี มีความสมจริงในจินตภาพเสียง (Image) ตำแหน่งเสียงร้องแยกออกจากแนวตำแหน่งชิ้นดนตรีในวงเวทีเสียงชัดแจ้งมาก พร้อมด้วยความอบอุ่น มีชีวิตชีวาเป็นธรรมชาติ การออกอักขระเสียงชัดเจนทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมา เสียงไวโอลินให้ความเป็นตัวเป็นตน เสียงเปียโนก็กังวานน่าฟัง เสียงดับเบิ้ล เบสนี่อิ่มแน่น ส่งเรี่ยวแรงปะทะ และน้ำหนักเสียง ทั้งยังทอดตัวลงไปลึกล้ำจริงๆ ทั้งยังให้รับฟังได้ถึงความก้องกังวานแว่วเป็นระลอกจากเสียงสะท้อนของสภาพอะคูสติกในห้องบันทึกเสียง ที่ให้ออกมาเป็นมวลบรรยากาศอบอวล เหมือนเรากำลังเข้าไปนั่งฟังสดๆ ราวกับ ‘Live’ อยู่ต่อหน้าทีเดียวละครับ
“Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” สามารถให้การรับรู้ได้ในความอิ่มฉ่ำ มีน้ำมีนวลน่าฟังทั้งเสียงนักร้องและชิ้นดนตรี ทั้งประเภทดีด-สี-ตี-เป่า-เขย่า-เคาะ ฯลฯ เสียงต่างๆที่รับฟังรับรู้ได้ถึงน้ำหนักของเสียงแต่ละเสียง แม้แต่ในช่วงปลายเสียงสูงๆ ทั้งยังเปี่ยมด้วยไดนามิก-ความฉับพลัน-ไหลลื่น เป็นเสียงที่มีชีวิตมีวิญญาณมีตัวตนกลมมน สมจริงมาก ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยชัดเจน แม้เสียงที่แผ่วเบา สุ้มเสียงสดใส โปร่งกระจ่าง มีน้ำนวล เต็มอิ่มน่าฟัง ไม่คมกริบ จัดจ้าน ปลายเสียงเปิดกว้างมีความกังวาน น้ำหนักเสียงโดยรวมดี มีความเอิบอิ่ม เป็นตัวเป็นตน ได้ฟังแล้วชื่นชอบมากๆ สำหรับรายละเอียดในเสียงร้องประสานที่สอดแทรกเข้ามา แยกได้เป็นคนๆ ไปชัดเจนมาก-ขนลุกครับ ขอบอก
“Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” ทำให้เรา ท่านสัมผัสได้ในมวลบรรยากาศรายรอบอันอบอวล รายละเอียดเสียงต่างๆ ที่ให้ความมีตัวตน รวมไปถึงเรื่องของความถูกต้องของ Timbre ในเสียงแต่ละเสียง การให้ความฉับพลันทันใดในน้ำหนักเสียงอย่างสมจริง แม้แต่ช่วงปลายหางเสียงอันแผ่วเบาที่ค่อยๆ จางหายไป-ความกังวานทอดยาว และพละพลิ้วราวอณูเสียงของปลายเสียงสูงๆ ที่เปิดโปร่งอย่างมากๆ ล้วนเป็นความน่าประทับใจที่ทำให้คุณได้ “เข้าถึง” ห้วงอารมณ์เพลงที่รับฟังได้อย่างมีอรรถรสที่แตกต่างจากความคุ้นชิน ชักจูงให้เราหยิบจับแผ่นโน่นแผ่นนี้มาเปิดฟังต่อเนื่องกันอย่างเพลินใจ
ยิ่งเป็นแผ่นที่มีคุณภาพการบันทึกเสียงดีๆ ด้วยละก้อ “Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” ทำให้รู้สึกจมกลืนไปกับเพลงที่รับฟังด้วยมวลบรรยากาศอบอวล ราวกับว่า ดนตรีและคนร้องนั้นกำลังมาร้องและบรรเลงสดๆ อยู่ตรงหน้า มีระยะชัดลึก-ชัดตื้น รวมถึงความสดใส-ฉับพลันทันใดของไดนามิค กระทั่งเสียงเล็กๆ น้อยๆ สอดแทรกเป็นเกร็ดซ่อนไว้อย่างในธรรมชาติให้จับกัน ชนิดที่ว่าไม่เคยสัมผัสมาก่อน พร้อมด้วย “ความกริ๊บ” (Crispy) ของเสียงเครื่องเป่าอย่าง ทรัมเป็ต (Trumpet), เฟรนช์ฮอร์น (French Horn), ทรอมโบน (Trombone) และทู บา (Tuba) ที่จะต้องมี “ความคม” กัดหูน้อยๆ เจือปนออกมาอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องเป่าทองเหลือง เสียงฉิ่ง-เสียงฉาบก็กระจ่างชัด และกังวานทอดยาวไกล ให้น้ำหนักเสียงอันสมจริง ซึ่งช่วงปลายหางเสียงสูงนี่แหละครับ ที่ยอมรับว่า ทำให้ผมถือเป็น-ประเด็นเด็ด-สำหรับ “Umami Blue” เพราะทิ้งตัวทอดยาวสุดกู่ แล้วค่อยๆ จางหายไปอย่างในธรรมชาติ โดยไม่จมตัวหดห้วนไปเฉยๆ อย่างสมจริง…ทิ้งทวนไว้ด้วยความประทับใจในการรับฟังจริงๆ ครับ
สรุปส่งท้าย
บอกได้เลยว่า “Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” สามารถทำให้เราได้รับรู้ถึง “ความเป็นตัวเป็นตน” ของเสียง รวมถึงสภาพอิมเมจ-ซาวด์สเตจที่มีมิติ มีตัวตน มีความมั่นคงนิ่งสนิท รวมไปถึงการจำแนกแยกแยะรายละเอียดต่างๆ (สืบเนื่องจากปลายหัวเข็มที่เป็นแบบ Microline นั่นเอง) ทั้งยังทำให้เราได้เข้าถึงซึ่งความสมจริงแห่งเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพลัง เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด รวมทั้งน้ำหนักเสียงอย่างครบถ้วน “Umami Blue + 12 JT + Viella Forte” ยังให้สรรพเสียงที่มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี รวมถึงความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างฉับไวมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ สารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ ที่ถือเป็นรายละเอียดก็สดใส กระจ่างมาก และให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ อย่างแจ่มชัด ฟังจับรายละเอียดเสียงต่างๆ ได้กระจ่างแจ้ง ช่วงย่านเสียงสูงๆ ก็เปิดโปร่ง พร้อมด้วยน้ำหนักเสียง (มิใช่เปิดโปร่งแต่เบาโหวงเหวง) รวมถึงปลายหางเสียงที่กังวานทอดยาว
รีวิวของต่างประเทศสรุปว่า “Viella Forte” เป็นหนึ่งในเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับ ‘ท็อป’ ที่มีมูลค่าในตัวสูงมาก คุณภาพการประกอบและวิศวกรรมทำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้คู่ควรที่จะอยู่ในหมวดหมู่ระดับสูงสุดขั้ว รวมถึงหัวเข็ม “Umami Blue” ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน Phono Cartridge Of The Year ประจำปี 2023 ของ TAS และได้รับการยกย่องให้เป็น Product Of The Year 2024 / Phono Cartridge ของ Stereonet Magazine, UK…ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นรู้สึกประทับใจในความดีความชอบของ “Umami Blue” เฉพาะอย่างยิ่งกับสมรรถนะสามารถเล่นเพลงที่มีไดนามิก และรายละเอียดซับซ้อนได้ดีมากๆ และยังเพิ่มระดับความโปร่งใส-สดกระจ่างที่น่าประทับใจให้กับแผ่นเสียงที่เคยรับฟัง โดยรักษาเนื้อหาฮาร์โมนิก และการเปลี่ยนโน้ตอย่างฉับพลันด้วยความง่ายดายอย่างน่าประหลาดใจ “Umami Blue” ของ HANA ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในด้านสมรรถนะและประสิทธิภาพทางเสียง ซึ่งเมื่อเอาปัจจัยราคามาคิดคำนึงร่วมกับประเด็นความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพเสียง ก็ต้องขอบอกว่า อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด ได้ฟังแล้วรับรองคุณจะต้องรักชอบแบบผมแน่นอน…
*** เกร็ดความรู้เรื่องปลายหัวเข็มรูปแบบต่างๆ ***
รูปแบบปลายหัวเข็ม (Styli Shapes) : Conical, Elliptical, Line Contact และ MicroLine™
The Conical Stylus :- หัวเข็มรูปกรวยเป็นหัวเข็มที่เรียบง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด และใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ปลายหัวเข็มรูปทรงกลม (Spherical tip) ซึ่งมีรัศมีโดยทั่วไป 0.6 มิลลิเมตร จะสัมผัสกับจุดศูนย์กลางของผนังร่องแผ่นเสียง การออกแบบทรงกรวย (Conical Design) เหมาะที่สุดสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นเก่าที่มีราคาถูกถึงราคาปานกลาง ซึ่งมีโทนอาร์มที่ทำให้เกิดแรงกดหัวเข็ม (Tracking Force) สูง หรือว่าโทนอาร์มที่ไม่มีการปรับความเอียงของหัวเข็ม ตลับเทป (ไม่สามารถปรับมุม Azimuth ได้) รวมไปถึงในการเล่นแผ่นเสียงขนาด 78 รอบต่อนาที เนื่องจากมีร่องเสียงที่กว้างกว่า จึงใช้หัวเข็มรูปกรวยที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก รัศมีเฉลี่ยของหัวเข็มรูปกรวยสำหรับแผ่นเสียงขนาด 78 รอบต่อนาที คือ 2.5 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าหัวเข็มรูปกรวยของแผ่นเสียง LP ถึง 4 เท่า
The Elliptical Stylus :- ปลายหัวเข็มรูปวงรีมีรัศมีสองรัศมี โดยรัศมีด้านหน้าจะกว้างกว่ารัศมีด้านข้าง ทำให้ปลายหัวเข็มเคลื่อนที่ไปตรงกลางร่องเสียง (Groove) ได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปลายหัวเข็มรูปกรวย (Conical) สไตลัสรูปวงรีจะรัศมีด้านข้างที่เล็กกว่าจึงเกาะร่องเสียงติดตามความถี่ที่สูงขึ้นได้แม่นยำกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสไตลัสรูปกรวย สไตลัสรูปวงรีมีพื้นที่สัมผัสแนวตั้งที่ยาวกว่าและพื้นที่สัมผัสด้านหน้าไปด้านหลังที่แคบกว่าภายในร่องแผ่นเสียง ปลายหัวเข็มรูปวงรีจะเคลื่อนที่ตามการปรับร่องได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้ตอบสนองความถี่ได้ดีขึ้น ตอบสนองเฟสได้ดีขึ้น และบิดเบือนเสียงน้อยลง โดยเฉพาะในร่องด้านในของแผ่นเสียง
โดยทั่วไปแล้ว ปลายหัวเข็มรูปวงรีจะมีให้เลือกต่างขนาดกันไป อย่างเช่น 0.2 × 0.7 มม. 0.3 × 0.7 มม. และ 0.4 × 0.7 มม. โดยตัวเลขแรกระบุขนาดรัศมีด้านข้าง ยิ่งรัศมีด้านข้างเล็ก คุณภาพเสียงก็จะยิ่งดีขึ้น นอกจากนี้ ยิ่งรัศมีปลายที่มีประสิทธิผล (Effective Tip Radius) โดยรวมเล็กลง แรงกดที่หัวเข็มต้องน้อยลงด้วย
The Line Contact Stylus :- ปลายหัวเข็มแบบ Line Contact อยู่ถัดจากหัวเข็ม MicroLine™ ได้รับการออกแบบมาให้มีปลายเข็มที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการติดตามช่วงความถี่สูงอย่างแม่นยำ พร้อมการเสียดสีที่น้อยที่สุด จากความที่หัวเข็มนี้มีพื้นที่สัมผัสในแนวตั้งที่ยาวกว่าหัวเข็มรูปวงรีด้วยซ้ำ ปลายหัวเข็มแบบ Line Contact จึงช่วยลดการบิดเบือนและการสึกหรอของแผ่นเสียง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตว่า หัวเข็มแบบ Line Contact มีขนาดพื้นที่ในการเกาะร่องที่ใหญ่กว่า จึงอาจสร้างเสียงรบกวนได้มากขึ้นบนแผ่นเสียงที่สึกหรอมาก
The MicroLine™ Stylus :- ปลายหัวเข็มแบบ MicroLine™ แทบจะเลียนแบบรูปร่างของหัวเข็มตัด (Cutting Stylus) ที่ใช้ผลิตแผ่นมาสเตอร์ต้นฉบับที่ใช้ทำแผ่นเสียงได้เกือบเป๊ะ ทำให้สามารถติดตามส่วนต่างๆ ของร่องเสียงที่หัวเข็มอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การเกาะร่องช่วงความถี่สูงได้อย่างแม่นยำอย่างยิ่ง และตอบสนองความถี่ได้แบนราบเหมือนไม้บรรทัดภายในช่วงเสียงที่ได้ยิน รูปร่าง “สัน” (Ridge) หลายระดับที่เป็นเอกลักษณ์ของหัวเข็ม MicroLine™ สึกหรอได้สม่ำเสมอมากขึ้น ทำให้แผ่นเสียงและหัวเข็มมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ปลายหัวเข็มแบบ MicroLine™ จึงนับเป็นหัวเข็มระดับไฮ-เอนด์
ขอขอบคุณ : บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV) โทร 0-2238-4078-9
ที่ได้อนุเคราะห์ AMG : Viella Forte และ HANA : Umami Blue มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้