DAWN NATHONG
Vince Bruzzese ผู้ออกแบบลำโพงโทเทม เคยให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ ว่าลำโพงที่ทำให้เขาประทับใจมากที่สุดนอกจากโมเดลวันแล้ว ก็มีลำโพงอีกรุ่นหนึ่งซึ่งเขาใช้เวลาทำงานกับมันอยู่สามถึงสี่ปี และถือเป็นการปฏิวัติการออกแบบของเขาไปอย่างสิ้นเชิง แบบเดียวกับที่โมเดลวันเคยทำให้โลกรับรู้เมื่อสามสิบปีก่อน นั่นก็คือ Totem Tribe Tower ลำโพงทรงเพียวบางแต่กลับให้ไดนามิค น้ำเสียงและรายละเอียดได้ราวกับลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก
หากมองด้วยตาเปล่าหลายคนอาจจะเข้าในผิดว่าเป็นลำโพงใน Element ซีรี่ยส์ แต่ Tribe Tower จริง ๆ แล้วเป็นผลการตกผลึกของการออกแบบจาก Element ซีรียส์และ Tribe ซีรียส์ซึ่งเป็นลำโพงแบบติดผนัง มีจุดเด่นก็คือ การนำเทคโนโลยีทอเรนท์ไดร์เวอร์จาก Element ซีรียส์มาใช้ และผสานเข้ากับเทคนิคการออกแบบโครงสร้างตู้แบบใหม่ของโทเทม ที่นำสารโบโรซิลิเคตเข้ามาใช้แดมป์ผนังตู้ภายใน จึงกล่าวได้ว่า นี่น่าจะเป็นลำโพงรุ่นแรกของโทเทม ที่หลอมรวมเทคโนโลยีทั้งหมดตลอดสามสิบปีเข้าไว้ด้วยกัน
เท่าที่เคยผ่านหูมา ลำโพงหน้าตาคล้าย ๆ กันที่ผู้เขียนประทับใจมากเป็นพิเศษ ก็คือโทเทมรุ่น Arro ซึ่งเป็นลำโพงแบบสองทางตั้งพื้นทรงสลิม ใช้วูฟเฟอร์ขนาดแค่สี่นิ้วครึ่งเพียงตัวเดียว แต่เวลาขับด้วยแอมป์ตัวใหญ่ ๆ แล้วให้มิติเวทีเสียงที่โอ่อ่าอลังการ รวมถึงเสียงทุ้มที่หนักหน่วงลงลึกได้ราวกับลำโพงตั้งพื้นตัวใหญ่ ๆ แต่รุ่นที่ผู้เขียนได้ฟังนั้นก็เป็นเวอร์ชั่นเก่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน มิใช้รุ่น Arro ในปัจจุบันแต่อย่างใด
เมื่อเทียบกับ Tribe Tower ในฐานะที่เป็นลำโพงตั้งพื้นทรงอัลตร้าสลิมเหมือนกัน ก็ดูจะเป็นลำโพงที่ยกระดับคุณภาพทุกภาคส่วนขึ้นมาอีกหลายช่วงตัว ประกอบกับเพิ่งได้ทดสอบลำโพงโทเทม Signature One มาหมาด ๆ จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้ทดสอบลำโพงคู่นี้ต่อเนื่องกัน
รายละเอียดที่น่าสนใจ
โทเทม Tribe Tower นั้นมีรูปทรงของตู้เป็นลักษณะคล้ายคางหมู ผนังแต่ละด้านจะไม่ขนานกัน ดุจเดียวกับ Element ซีรียส์ ภายในพ่นด้วยสารโบโรซิลิเคทเพื่อแดมป์ผนังตู้ด้านใน ผิวตู้เคลือบสีโพลิเอสเตอร์แบบพิเศษหลายชั้น โดยรุ่นที่นำมาทดสอบเป็นสีดำซาติน เห็นตู้เพรียวบางแบบนี้แต่มีความแข็งแรงแน่นหนามาก งานเนี้ยบไม่มีที่ติ แผงหน้ากากใช้แม่เหล็กยึดทำให้ดูเรียบหรูเข้าไปอีก
บริเวณส่วนบนของตู้ติดตั้งไดร์เวอร์สามตัว บนสุดเป็นทวีตเตอร์ซอฟท์โดมขนาด 1.3 นิ้วตัดด้วยเลเซอร์ ติดตั้งบนเฟซเพลตโลหะหนาครึ่งนิ้ว ตรงนี้จะต่างออกไปจาก Element ซีรียส์ที่ใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะ และแน่นอนว่ามันมีคาแรคเตอร์ของเสียงบางอย่างที่ผู้เขียนชื่นชอบมากกว่าด้วย เดี๋ยวจะขอขยายความต่ออีกที
พระเอกหลักของงานนี้ก็น่าจะเป็นไดรเวอร์ขนาดสี่นิ้วสองตัว ที่ทางโทเทมเรียกว่าทอเรนท์ไดร์เวอร์ซึ่งเกิดจากแนวคิดนอกกรอบของการสร้างไดนามิกไดร์เวอร์มาตรฐานแบบเดิม ๆ อันดับแรกคือจะไม่มีการใช้อุปกรณ์ทั้งพาสซีฟและแอ็คทีฟของครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ค มาขวางกั้นทางเดินสัญญาณของตัวไดร์เวอร์เลย (ไดร์เวอร์ทำงานแบบลำโพงฟูลเรนจ์) เพื่อความบริสุทธิ์เที่ยงตรงของสัญญาณสูงสุดและตอบสนองได้อย่างฉับไว ดังนั้นแล้วตัวไดร์เวอร์เองต้องมีสเปคที่สูงมากเพียงพอ มีความแม่นยำของเฟสที่เที่ยงตรงตลอดย่านความถี่ ทั้งมุมกระจายเสียงในและนอกแนวแกน มีการโรล-ออฟความถี่สูงที่ราบรื่นกลมกลืนกับทวีตเตอร์ได้อย่างแนบเนียน ขยับตัวได้อย่างฉับไว
ตัวไดอะเฟรมทำจากโพลิเมอร์ ใช้ระบบแม่เหล็กขนาดใหญ่แบบโอเวอร์สเปค ให้เส้นแรงแม่เหล็กความเข้มสูง เพื่อให้คุมไดร์เวอร์ให้ขยับตัวได้อย่างเด็ดขาดและมั่นคง โครงของไดร์เวอร์ผลิตจากอลูมินั่มอัลลอยด์ ตัดด้วยเครื่องไมโครแมชชีนและประกอบทั้งหมดด้วยมือ ติดตั้งบนเฟซเพลตอะลูมิเนียมหนา
มีการใช้ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คแบบออเดอร์ที่หนึ่ง เฉพาะในส่วนของทวีตเตอร์ เพื่อให้สอดรับช่วงการทำงานของทอเรนท์ไดร์เวอร์ได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว สายไวริ่งมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ด้านหลังตู้ลำโพงจะมีช่องพอร์ตระบายเสียงขนาดไม่ใหญ่นักติดตั้งบริเวณเหนือและใต้ของแผงขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบไบ-ไวร์ และที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดคือสไปค์รองลำโพงทรงหัวกระสุนที่ปลายจะไม่เรียวแหลมซะทีเดียว ออกไปทางมน ซึ่งเวลาที่วางบนพื้นไม้จะไม่เกิดรอยขีดข่วน หรือจะวางบนพื้นกระเบื้องก็ไม่เกิดการลื่นไถลได้ง่าย ๆ
การเซ็ตอัพและติดตั้ง
จากที่ Vince Bruzzese เคยบอกว่าโทเทมถูกออกแบบมาเพื่อเป็นลำโพงแบบไลฟ์สไตล์ที่จัดวางแบบลำลองก็เสียงดีได้ ผู้เขียนไม่เคยเชื่อเลยจนมาได้ลองเล่นโทเทม Tribe Tower ตัวนี้ ถามว่าเทียบกับ Signature One ที่เคยทดสอบไปก่อนหน้าแล้ว Tribe Tower ดูจะเข้าใกล้คำว่าลำโพงไลฟ์สไตล์ได้ตรงประเด็นมากกว่า หนึ่งด้วยรูปลักษณ์ที่เพรียวบางดูเรียบหรู ทำให้เวลาจัดวางควบคู่ไปกับเฟอร์นิเจอร์ในห้องแล้วดูกลมกลืนและไม่สะดุดสายตาเท่าลำโพงวางหิ้งที่วางบนขาตั้ง ซึ่งดูจริงจังเป็นทางการกว่า ยิ่งใส่หน้ากากด้วยแล้วมองผ่าน ๆ นึกว่าลำโพงมินิโฮมเธียเตอร์เสียด้วยซ้ำ
ข้อสอง ความยืดหยุ่นในการจัดวางสูง หลังจากแกะกล่องแล้วจัดวางแบบคร่าว ๆ ในตำแหน่งใกล้ ๆ กับที่เคยวาง Signature One ก็ให้เสียงที่น่าฟังแล้ว เรียกว่าแทบจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย หากเทียบกับ Signature One แม้จะมีความยืดหยุ่นในการจัดวางสูงกว่ารุ่นโมเดล วัน ในอดีต ก็ยังต้องใช้ความละเอียดในการไฟน์จูนเพิ่มอีกสักหน่อย จึงจะสำแดงประสิทธิภาพได้สูงสุด แต่กับ Tribe Tower เพียงแค่จัดวางแบบคร่าว ๆ ด้วยสายตา รายละเอียดและน้ำเสียงก็มีอะๆรที่น่าตื่นเต้นเผยออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของอิมเมจเวทีเสียง เรียกว่านำ Tribe Tower ไปจัดวางในสภาพห้องแบบใด ทั้งในห้องฟังเพลงหรือห้องรับแขกทั่ว ๆ ไป ท่านก็จะได้อรรถรสในแบบฉบับลำโพงโทเทมเต็มที่เช่นเดียวกัน
ผู้เขียนเซ็ตลำโพงให้ห่างจากกันราว 190 เซนติเมตร ขยับหาระยะห่างผนังหลังที่ให้เสียงเบสตอบสนองได้ราบเรียบที่สุดในห้องทดสอบ เอียงทำมุมโทอินเพียงเล็กน้อย ซึ่งตามคู่มือระบุว่าถ้าวางลำโพงห่างกันไม่เกิน 2.5 เมตร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโทอิน เนื่องจากลำโพงมีมุมกระจายเสียงที่กว้างเพียงพอ แต่ในห้องผู้เขียนพบว่าโทอินเล็กน้อยให้อิมเมจที่ขึ้นรูปชัดคมกว่า ซึ่งผู้อ่านสามารถทดลองเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในห้องของท่านได้เอง ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ต่อสายลำโพงแบบซิ้งเกิ้ลไวร์เข้าที่ขั้วลำโพง HF
ผลการลองฟัง
ผู้เขียนไม่ทราบว่า Tribe Tower คู่นี้ผ่านชั่วโมงการเบิร์นอินมามากน้อยแค่ไหน เพราะดูจากสเปคที่ระบุนั้นต้องมีขั้นต่ำ 200 ถึง 300 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว แต่เท่าที่ดูจากสภาพภายนอกน่าจะมีการใช้งานมาอยู่แล้วในระดับหนึ่ง และดุลเสียงนั้นฟังดีทีเดียวตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ของการฟัง แต่สำหรับการทดสอบเพื่อความแน่นอน จำเป็นต้องใช้งานต่อเนื่องไปอย่างน้อยสักร้อยชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดและน้ำเสียงใด ๆ อีก ถือเป็นโชคดีที่ทางตัวแทนจำหน่าย มีเวลาให้ผู้เขียนเก็บรายละเอียดได้พอสมควร ไม่ได้เร่งรีบนำสินค้าคืนจนเร็วเกินไปนัก จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
ใครที่เคยฟังลำโพงโทเทมตระกูล Element ซีรียส์ ที่ใช้เทคโนโลยีทอเรนท์ไดร์เวอร์แบบเดียวกับ Tribe Tower นี้ น่าจะสะดุดหูกับความใสกระจ่าง เปิดโล่ง และไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขวางเกินขนาดตัวไปมากนัก โดยส่วนตัวของผู้เขียนที่เคยฟัง ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่ลำโพง Element ซีรียส์เกือบทุกรุ่นนั้นจะใช้ทวีตเตอร์แบบโดมโลหะ (ยกเว้นรุ่นเล็กสุด Ember) แบบเดียวกับลำโพงโทเทมรุ่นโมเดล วัน ทำให้ปลายแหลมของ Element ซีรียส์โดยรวมนั้นค่อนไปทางสว่าง และแฝงความจริงจังในน้ำเสียงอยู่สูง
สำหรับบางท่านที่ชื่นชอบความนุ่มนวลของทวีตเตอร์ซอฟท์โดมแรกฟังอาจรู้สึกแปลกหูอยู่บ้าง แต่สำหรับนักเล่นที่ชอบไดนามิกจะแจ้ง ความใสกระจ่าง และรายละเอียดหยุมหยิมระดับขุมขน บอกเลยว่า Element ซีรียส์คือสวรรค์ของท่าน
กลับมาที่ Tribe Tower สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนมาใช้ทวีตเตอร์แบบซอฟท์โดมตัวใหม่ลักษณะเดียวกับรุ่น Sky แทนทวีตเตอร์โดมโลหะใน Element ซีรียส์ จากที่ได้ฟังถือว่า Vince Bruzzese ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพราะโทนเสียงจะลดความสว่างลงมาเล็กน้อย มีความกลมกล่อมมากขึ้น แต่ยังให้ลักษณะเสียงที่มีความโปร่งใสกระจ่างแบบ Element ซีรียส์อยู่เช่นเดิม
ย่านแหลมให้ความกลมกลืนกับย่านกลางได้อย่างแนบเนียน โฟกัสชัดคม อิ่มเนื้อ และมีประกายหางเสียงที่กังวาน ระยิบระยับ ถ่ายทอดรายละเอียดปลายย่านเสียงสูงได้ครบถ้วนหมดจด ไม่มีอาการริงกิ้งหรือจัดกร้าวในทุกระดับความดัง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนชอบโทนเสียงแบบนี้ เพราะจับคู่กับฟร้อนต์เอ็นต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทิร์นเทเบิล หรือดิจิทัลมิวสิคเพลเยอร์ รวมถึงแอมป์หลากหลายประเภทได้ง่าย
เวลาฟังเสียงเครื่องดนตรีพวกเครื่องสาย เช่น เสียงไวโอลินแม้จะสด แต่ก็รู้สึกว่ามีความต่อเนื่องลื่นไหล ผ่อนคลายฟังสบายแฝงอยู่ และอุดมไปด้วยรายละเอียดหยุมหยิมแบบเป็นธรรมชาติ ทำให้มีความรู้สึกที่อยากจะฟังต่อไปเรื่อย ๆ นาน ๆ สามารถเปิดได้ดังโดยที่เราไม่รู้สึกรำคาญหูแต่อย่างใด เพราะย่านความถี่ที่คาบเกี่ยวระหว่างทอเรนไดร์เวอร์กับทวีตเตอร์นั้นแนบเนียนไร้รอยต่อ ราวกับได้ฟังลำโพงที่ใช้ดอกไดร์เวอร์ฟูลเรนจ์ชั้นดีตัวเดียว ช่วยเพิ่มความไพเราะน่าฟังให้มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
การทำงานที่สอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียวของไดร์เวอร์ทุกตัวนี้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Vince Bruzzese ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ หากเป็นไปได้ท่านลองหาโอกาสฟังลำโพงแบบฟูลเรนจ์ดี ๆ ดูสักครั้งท่านจะเข้าใจความเหนือชั้นของ Tribe Tower ได้มากยิ่งขึ้น
เสียงที่หลุดลอยออกมาจาก Tribe Tower นั้นสวนทางกับขนาดตัวและขนาดของไดร์เวอร์โดยสิ้นเชิง ขนาดอิมเมจตัวเสียงนั้นไม่ได้กะทัดรัดเหมือนกับตัวลำโพงแม้แต่น้อย ให้สเกลของชิ้นดนตรีเหมือนกับฟังจากลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่มีความชัดคมของโฟกัสแบบพินพ้อยน์ ดุจเดียวกับลำโพงวางหิ้งชั้นอ๋อง ที่โดดเด่นในเรื่องมิติเวทีเสียง
เทียบกับ ซิกเนเจอร์ วัน แล้ว Tribe Tower จะให้ความใสที่ทะลุทะลวงเข้าไปหาตัวเสียง และช่องว่างช่องไฟที่ดูโปร่งโล่ง ผ่อนคลายเป็นอิสระมากขึ้นไปอีกระดับ ในขณะที่ ซิกเนเจอร์ วัน จะให้รูปวงที่มีช่องไฟประชิดติดกันมากกว่า และให้น้ำหนักการย้ำเน้นที่เข้มข้นมากกว่าเล็กน้อย ถ้าจะเปรียบเทียบเรื่องความใสให้พอเห็นภาพ ซิกเนเจอร์ วัน เหมือนเรามองภาพวิวผ่านกระจกหน้าต่างที่ใส แต่กับ Tribe tower เหมือนเราเปิดหน้าต่างออกและมองวิวนั้นด้วยตาเปล่า
บางท่านอาจจะเข้าใจไปว่าลำโพงที่ให้ความโปร่งใส เนื้อเสียงจะบอบบางหรือเปล่า ต้องบอกว่าเป็นคนละประเด็น เพราะความใสของ Tribe Tower เกิดจากการทำงานประสานกันของไดร์เวอร์ที่มีเฟสตรงกันมากที่สุด จึงไม่เกิดเงาเหลื่อมซ้อนกันของตัวเสียง รวมถึงสัญญาณในส่วนวูฟเฟอร์ที่ไม่ผ่านอุปกรณ์ของครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คใด ๆ เลย ทำให้มีความบริสุทธิ์เที่ยงตรงสูงมาก เสียงที่ได้ยินจึงเป็นเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด เสียงจะหนา หรือละเอียดนุ่มนวล หรือรุกเร้าจะแจ้ง ก็เป็นไปตามคุณภาพการบันทึก และมีทรวดทรงของอิมเมจตัวเสียงที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติในแบบที่ควรจะเป็นจริง ๆ
เพียงแต่ Tribe Tower ต้องการแอมป์และซิสเต็มที่ถึงพร้อมสักนิด จะช่วยเปิดเผยศักยภาพของลำโพงออกมาได้อย่างเต็มพิกัด (Vince ใช้ Ayre) ยิ่งได้แอมป์ที่คุณภาพสูงมากเท่าไรก็จะเปิดเผยความน่าทึ่งออกมาเท่านั้น กรณีที่เป็นซิสเต็มระดับกลาง ๆ แนะนำว่าควรเลือกแอมป์ที่มีกำลังขับสักร้อยวัตต์ขึ้นไปเอาไว้ก่อน จะให้ผลลพท์ที่ดีกว่าการใช้แอมป์วัตต์ต่ำ ๆ มาขับ
ขนาดเพียงสี่นิ้วของตัวทอเร้นท์ไดร์เวอร์ แต่รองรับต่อไดนามิกของเสียงในทุกรูปแบบของเสียงดนตรีได้เป็นอย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าผู้เขียนจะลองฟังกับอัลบั้มแนวไหน แนะนำสำหรับท่านที่ไปลองฟังคู่นี้ลองฟังแทรค Poem of Chinese Drum ของ Yim, Hok Man กับลำโพง Tribe Tower ดู เร่งโวลุ่มให้ดังเท่าที่หูของท่านจะรับไหว ท่านจะตกใจกับเสียงหวดกลองจีนที่หนักหน่วง ฉับไว นิ่ง และเต็มไปด้วยรายละเอียดของย่านทุ้มที่พรั่งพรูออกมาได้อย่างสะอาดหมดจด แถมด้วยแรงปะทะของมวลเสียงความถี่ต่ำกระเพื่อมออกมาเป็นระลอกให้สัมผัสกันอย่างชัดเจน
หรือจะเป็นไดนามิกในระดับแผ่วเบาในบางช่วงของเพลงซิมโฟนีออเครสตร้า ก็ถ่ายทอดทั้งรายละเอียดหยุมหยิมและมวลบรรยากาศออกมาได้ไม่มีตกหล่น ไม่แพ้เสียงที่เคยฟังจากลำโพงประเภทอิเล็กโตรสแตติก
แต่ข้อได้เปรียบของ Tribe Tower คือการใช้ไดร์เวอร์แบบไดนามิก ซึ่งให้ทรวดทรงของเสียงดูจะขึ้นรูปเป็นสามมิติสูงกว่า ยิ่งคนที่ชอบฟังเสียงร้องด้วยแล้ว นี่คือลำโพงที่ให้เสียงกลางได้สุดยอดมากที่สุดคู่หนึ่ง มีครบทั้งความสด ความใส และโฟกัสความเป็นตัวตนราวจับต้องได้ ฟังกับอัลบั้มโชว์เสียงร้องดี ๆ ถ่ายทอดทักษะและอารมณ์ของนักร้องแต่ละคนได้อย่างวิเศษ อีกทั้งความลื่นไหลผ่อนคลายและฟังสบาย ไม่รู้สึกว่าเสียงกระด้างขึ้นขอบ หรือสาดพุ่งเข้าหาตัวซักนิดเดียว Chario Demo – ABC Records ยิ่งฟังกับฟอร์แม็ต DSD จะยิ่งเปิดเผยความสามารถของลำโพงคู่นี้ออกมาได้มากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ด้วยความละเอียดโปร่งใส ฉับไว และมีสมดุลเสียงที่ดีของ Tribe Tower ทำให้การฟังอัลบั้มคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป ได้อรรถรสในการฟังที่ยอดเยี่ยมมากขึ้นกว่าที่คุ้นเคย (คุณสมบัตินี้หายาก)
ไลน์เสียงดนตรีสังเคราะห์มากมายที่มิกซ์รวมกันมาในอัลบั้ม 4 ของ Beyoncé – Qubuz Studio Master การฟังกับลำโพงทั่วไป ผู้เขียนไม่รู้สึกถึงความพิเศษในการบันทึกเสียงของอัลบั้มนี้มากนัก แต่กับ Tribe Tower ผู้เขียนสามารถฟังแยกแยะเลเยอร์ของชิ้นดนตรีที่มิกซ์มาได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีอาการสับสนตีรวนเลย ไม่ว่าดนตรีจะมีความสลับซับซ้อนมากแค่ไหน รวมถึงเสียงทุ้มมีพลังดีดเด้งตัวฟังสนุกโดยไม่กลบรายละเอียดเสียงย่านอื่นสักนิดเดียว ทุกเสียงเคลียร์ชัดเจนและมีตำแหน่งของตัวเอง
ใครที่บอกว่าลำโพงให้รายละเอียดสู้การฟังหูฟังดี ๆ ไม่ได้ ต้องมาลอง Tribe Tower คู่นี้ดูก่อน รวมทั้งลำโพงในระดับใกล้เคียงกัน หากเซ็ตอัพไม่ดี อาจต้องออกแรงเยอะหน่อยหากจะข้ามลำโพงคู่นี้ไป
สรุป
สำหรับท่านที่อยากหาลำโพงสักคู่ที่เข้ากับสไตล์การตกแต่งห้องได้ง่าย ขนาดไม่กะกะ และมีคุณสมบัติของลำโพงฟังเพลงระดับไฮเอ็นด์ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งมิติเวทีเสียง รายละเอียดและน้ำเสียง จัดวางง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่เกี่ยงสภาพและขนาดห้อง ตอบโจทย์การฟังเพลงแทบทุกแนว ขอเพียงซิสเต็มระดับกลาง ๆ ขึ้นไปที่มีคุณภาพดีสักหน่อย เพื่อเปิดเผยไดนามิกเสียงที่ยิ่งใหญ่เกินขนาดตัว รวมถึงความโปร่งใสระดับลำโพงอิเล็กโตรสแตติกออกมาให้สัมผัส
ยิ่งซิสเต็มที่ท่านใช้มีคุณภาพสูงมากเท่าไหร่ Totem Tribe Tower ก็ทำตัวดุจหน้าต่างที่เปิดโล่ง พร้อมจะเปิดเผยศักยภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบออกมาอย่างไร้การอำพราง ซึ่งหลังจากที่ได้ใช้เวลาอยู่กับลำโพงคู่นี้ ก็ได้คำตอบแล้วว่า ทำไม Vince Bruzzese ถึงหลงใหลได้ปลื้มกับลำโพงคู่นี้เสียจริง ๆ
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
- แหล่งโปรแกรม – PC เน็ตเวิร์คเพลเยอร์ + Roon, แด็ค Chord: Mojo + Poly, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2
- ภาคขยาย – อินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
- ลำโพง – ลำโพงวางหิ้ง NHT: 1.5, Totem: One Signature
- สายเชื่อมต่อ – สายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อก Taralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, Cardas: Crosslink 1s, Kimber: Powerkord, Audience AU 24 SX, สายลำโพง Furukawa FS-2T30F, PAD: Aqueous Aureus
- อุปกรณ์เสริม – ปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, iFi Audio: iDefender 3.0, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, บานาน่าปลั๊ก Monster X-Terminator, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Art
รายละเอียดเชิงเทคนิค
Frequency Response | 30 Hz – 30 kHz |
Recommended Power | 50 – 200 W |
Woofer | Two 4″ / 10 cm Torrent drivers |
Tweeter | 1.3″ / 3.3 cm Laser Etched Textile Soft Dome with 0.5″ / 1.3 cm thick metal faceplate |
Impedance | 4 ohms |
Sensitivity | 89 dB |
Dimensions (w x h x d) |
7.01″ x
36.81″ x 7.87″ / 17.8 cm x 93.5 cm x 20 cm Dimensions represent the cabinet, decouplers can add 0.78″ / 2 cm |
Placement from rear wall | As little as 6″ / 15.24 cm, but varies based on electronics and room acoustics |
Placement distance apart | As little as 2′ / 60 cm, but varies based on electronics and room acoustics |
Break-in Time | 200 – 300 hours |
Crossover Frequency | First order crossover on tweeter only |
Speaker Terminals | Bi-wireable, WBT connectors with Annealed aluminum plate on Design finishes, recessed 5 way bi-wire inputs on satin finishes. |