Test Report: TOMBO รางสายไฟ/สายไฟ AC
(ดีไม่ได้…อย่าทำดีกว่า)
ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
ปกติรางไฟ (แผงเต้าเสียบตัวเมียจ่ายไฟ AC) เป็นอะไรที่ผมไม่อยากทดสอบสักเท่าไร รางไฟพวกนี้ไม่ได้มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณรบกวนใดๆ พูดง่ายๆ ว่ามีแต่ชุดรับสายไฟเท่านั้น ไม่มีวงจรอีเล็กทรอนิกส์อะไรภายในทั้งสิ้น คือไม่ใช่ตัวกรองไฟ
สาเหตุที่ไม่อยากทดสอบก็เพราะ มันเป็นอะไรที่ดูง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนก็แค่หากล่องยาวมา เอาแผงเต้าเสียบตัวเมีย (ที่ปกติติดที่ผนังบ้าน) มาปะยึดเข้าไปก็เสร็จวางขายได้แล้ว ต้นทุนบางทีก็ไม่ถึงพันบาทก็ขายกัน 2 – 3 พันบาท ยิ่งถ้าเป็นรางไฟโหลขายกันตามห้าง LOTUS, BIG C, POWER BUY, POWER MALL หรือแม้แต่ตามแผงลอยในห้างราคา 3 – 4 ร้อยบาทถึง 6 – 7 ร้อยบาท ยิ่งไม่สมควรมองด้วยซ้ำ
ผมเคยไปบ้านนักเล่นเครื่องเสียงไปเห็นใช้รางไฟ 6 – 7 ร้อยบาท พ่วงใช้กับชุดเครื่องเสียงครึ่งล้านบาท เห็นแล้วลมจับ
ยิ่งพวกเล่นโฮมเธียเตอร์ ซึ่งต้องการเต้าเสียบตัวเมียมากหน่อย และบังเอิญบริเวณที่วางเครื่อง วางจอภาพ LCD มีรูไฟ AC ที่ผนังแค่ 2 ชุด ซึ่งไม่พอแน่นอน ก็มักวิ่งไปห้างซื้อรางไฟ 6 – 7 ร้อยบาท มาพ่วงจ่ายไฟให้แก่ระบบ
ผมเคยฟังทดสอบรางไฟ (4 รู) 3 – 4 ร้อยบาท ฟังแล้วอยากร้องไห้อะไรดีๆ มันหายไปเกือบหมดเรียกว่ารับไม่ได้เลย
ลองเขยิบมาระดับที่ 7 – 8 ร้อยบาท ซึ่งแพงที่สุด ตามห้างแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว เอามาลองก็ยังหายไป 40 % โยนทิ้งเอาไปต่อพัดลมกับหม้อหุงข้าวดีกว่า เรื่องจะเอามาใช้กับเครื่องเสียง/ภาพลืมได้เลย
ต่อมารางไฟที่ทำดูดีหน่อย มีสวิตช์ปิดเปิดแถมระบุว่ามีตัวป้องกันด้วย ซึ่งมักป้องกันแค่สัญญาณรบกวนแรงๆ กระโชกเข้ามา (SPIKE SIGNAL) ซึ่งจริงๆ แล้วอุปกรณ์ป้องกันนี้เรียกว่า SURGE PROTECTION เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เรียกว่าMOV (แต่พวกนี้จะทำลายคุณภาพเสียงอย่างมหาศาล อีกทั้งมีอายุการใช้งานเรียกว่ารับสัญญาณกระโชกเข้ามาได้ไม่กี่ครั้งก็จะหมดสภาพ ป้องกันอะไรไม่ได้ แถมยังอาจสร้างปัญหาด้วยเมื่อหมดอายุ (ตาย) แล้ว ขอแนะนำว่า ถ้าไฟที่บ้านไม่มีสัญญาณอะไรกวนเข้ามาทางไฟ AC ไม่ควรใช้รางไฟประเภทกันไฟกระโชกอย่างยิ่ง ถ้ายังอยากเสียงดีรางไฟพวกนี้จะวางขายตามร้าน IT ขายคอมพ์ อุปกรณ์เสริม ราคา 900 – 1000 กว่าบาท ตามห้างแผนกไฟฟ้าก็พอมี
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่สนใจที่จะลองพวกรางไฟประเภทมีวงจรป้องกันไฟกระโชก กระชาก (อย่างน้อยก็ทำลายการสวิงสัญญาณ หรือ TRANSIENT RESPONSE ของกระแส)
ต้องเข้าใจก่อนว่ารางไฟดังกล่าวต่างจากรางไฟระดับไฮเอนด์เขาใช้กันที่รางหนึ่ง 3 – 4 หมื่นบาท ถึงแสนกว่าบาทก็มี รางไฟพวกนั้นไม่ได้เน้นการป้องกันไฟกระชาก หากแต่เน้นการกลั่นกรองกระแสไฟฟ้าให้บริสุทธิ์มากกว่า (เรียก PURIFIER ไม่ใช้ PROTECTION) ซึ่งพวกนี้จะเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพเสียงต้องมาก่อน พวกนี้จะใช้ชิ้นส่วน อุปกรณ์เกรดสุดยอดหมด บางทีเหนือระดับเกรดทางทหาร หรือทางเครื่องมือแพทย์ด้วยซ้ำราคาจึงไปโลด บางกล่องรางแพงกว่าเครื่องเสียง (ระดับกลาง) ทั้งชุดเสียอีก ซึ่งรางไฟของ TOMBO จัดอยูในระดับไฮเอนด์ดังกล่าว หากแต่ตัดวงจรกลั่นกรองต่างๆ ออกหมด ให้ทำหน้าที่เป็นรางไฟโดดๆ อย่างแท้จริง
ลักษณะ
ตัวกล่องรางไฟของ TOMBO ทำจากไม้หนา (มาก) นำมาลบขอบจนผิวโค้งเกือบเป็นทรงกระบอกแนวนอนโดยรอบทั้ง 4 ด้าน จากนั้นขัดเงาวาววับระดับเฟอร์นิเจอร์เห็นลายไม้ย้อมสีแบบทูโทนสวยงามเอามากๆ ด้านบนจะเป็นช่องโล่งไว้ให้ลูกค้าเลือกว่าจะใส่แผงเต้าเสียบเกรดไหนของMONITOR ACOUSTICS และเอากี่คู่ (ขาย 1 แผง 1 คู่เต้าเสียบตัวเมีย) แผงนี้มีตั้งแต่แผงละ (2 รู) 2,900บาท ถึง 12,000 บาท (รุ่นสีเทาที่ผมใช้ที่ผนังในห้องเสียง) แผงรอบๆ แผงเต้าเสียบน่าจะเป็นคาร์บอนไฟเบอร์
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเต้ารับตัวเมียจะเป็นแบบมาตรฐาน IEC คือมีรูแบน (สั้น 1 ยาว 1 )และรูกลมเป็นดินเครื่องใครหัวตัวผู้เป็นแบบขากลมก็ต้องหาตัวแปลง (กลมเป็นแบน) มาคั่น (แนะนำของ WONPRO จะสูญเสียประมาณ 10% ของตลาดๆ จะ 35 – 40 %) หรือตัดหัวเก่าออกใส่หัวตัวผู้ใหม่ไปเลย ( IEC ผู้) เดี่ยวนี้ก็ไม่ได้แพงมากมายอะไร
ที่ด้านข้างของกล่องด้านหนึ่งจะมีรูตัวเมียรับสายไฟ AC มาตรฐาน IEC 3 ขา จากภายนอก
ด้านล่างของกล่องไม้จะมีแท่นเหล็กสี่เหลี่ยมหนาเกือบ 1 นิ้ว พร้อมขาด้านล่าง นัยว่าเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่กล่อง ลดการสั่นให้เหลือน้อยที่สุด
สาเหตุที่ใช้กล่องไม้หนาเนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติไม่ใช่สังเคราะห์ หรืออะลูมิเนียมที่มักมีบุคคลิกเสียงของตนเอง ถ้าทำมาไม่ดี เช่น ผนังกล่องบาง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสั่นได้ ตัวกล่องไม้ที่ผิวกล่องขัดเงากลึงโค้งมน ก็เพื่อลดหรือหักเหคลื่นอากาศจากลำโพงที่จะมากระแทกตัวกล่อง ให้เบี่ยงเฉออกไป
นอกจากนั้นภายในกล่องยังอัดแน่นด้วยวัสดุซับเสียงที่คัดพิเศษ สูตรพิเศษ ผนังด้านในกล่องบุด้วยแผ่น FOIL ป้องกันคลื่นวิทยุความถี่สูงเข้ามารบกวนตัวกล่องทั้งหมดจะออกแบบจูนด้วยการฟัง เน้นที่เสียงเป็นธรรมชาติ ไร้การแต้มแต่ง หรือใส่บุคลิกใดๆ เข้าไป
แผงเต้าเสียบตัวเมียที่มากับกล่องที่นำมาทดสอบ เป็นแผงรุ่นกลางสูงรองท๊อป แผงละ 7,500 บาท (คุณสามารถสั่งกล่องแบบใส่แผงเดียวได้) มีรูเต้าเสียบตัวเมียมา 2 การใช้งาน ( รูแรกสีเทาไว้ใช้กับอุปกรณ์ที่จ่ายกระแสสูง รูที่ 2 สีขาวเอาไว้ใช้กับแหล่งรายการ)ตัวกล่องแผงเสียบ 2 ชุด (ตามรูป) เฉพาะตัวกล่อง 6,500 บาท เต้าเสียบรุ่นรองท้อป 2 แผงอีก 7,500 + 7,500 = 15,000 บาท (รวมตัวกล่องก็เป็น 21,500 บาท)
สายไฟ AC ที่ทางร้านฝากมาลองฟังลองใช้กับกล่องเป็นของ TOMBO โดยตัวสายไฟเป็นของ MONITOR ACOUSTICS รุ่น SZZ – 38M -5N (ทองแดงเกรด OFC พิเศษที่ได้จากการทำ PCOCC ไม่ใช้ OFC ทั่วๆ ไปและบริสุทธิ์ 99.999 %) ขนาด 12 AWG ฉนวนเป็น HDPE มีการชีลด์ 2 ชั้น ผิวตัวนำ 2 ชั้น ที่สายมีพิมพ์สเปคสายไว้หมดขนาดของสายใหญ่เท่านิ้วก้อย หัว IEC ทั้งตัวผู้ตัวเมีย มีลูกศรพิมพ์บอกทิศทางกระแสไหลบนสายจากกำแพงไปกล่อง
ตัวหัว IEC 3 ขา ผู้ + เมีย ราคาประมาณ 1,500 บาท
เฉพาะสาย SZZ – 38M – 5N ราคาประมาณ 2,000บาท/เมตร (สายที่นำมาลองฟังน่าจะยาวประมาณ 1.20 เมตร)
การทดสอบ
วิธีทดสอบของผมออกไปทางหักดิบ ไม่แน่จริงโยนทิ้งไปได้เลย ชุดเครื่องเสียงอ้างอิงของผมมีดังนี้
จากเต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงเป็นของ MONITOR ACOUSTICS รุ่น GLORY สีเทารุ่นสูงสุด ( แผงละ 12,000 บาท ) ผาปะปิดอีก 2,000 บาท สายไฟ AC ที่มาเสียบผมดัดแปลงจากสายไฟ CB – 10 ของ FURUKAWA 3 เส้น เรียงทิศทางถูกต้อง (LINE ตามทิศ NEUTRAL สวน GROUAD สวน) หัว WATTGATE ทั้งตัวผู้ ตัวเมีย มีผ้าคาร์บอนไฟเบอร์พันรอบๆ หลวมๆ ห้อยกะร่องกะแร่ง (ห้ามพันแน่นเสียงจะอั้น) แล้วมาเสียบเข้าตัวกรองไฟ PHD POWER STATION (ตัวกรองแบบ PURIFIER) (18,000 บาท) อินทีเกรทแอมป์ MARK LEVINSON No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานซ์แอมป์แท้ๆ ) ต่อออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) 2 ชุด จัดแบบไบ – ไวร์ (หัว WBT หางปลาเงินด้านแอมป์ WBT บานาน่าล็อกได้ ด้านลำโพง) เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น) เอาหน้ากากออก เอียงลำโพงเข้ามาจุดนั้งฟังขยับให้ได้ทำเสียง 3D และเสียงที่ครบที่สุด
ยกลำโพงสูงหนีพื้นด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 1 คืบ (กระดาษใหม่) อีก1 รีมกว่าๆ คั่นสาย S – 2 ทั้ง 2 ชุด (แหลมกับทุ้ม) ไม่ให้แตะกัน อีก 3 รีมวางทับบนสุดให้สายนิ่ง
จากเครื่อง BLU-RAY OPPO BDP-105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟ โดย POWER PERFECT) ต่อเสียงออกสายบาลานซ์ MADRIGAL CZ-GEL 2 เข้า No. 383 ช่อง B1
บน OPPO นี้มีแผ่นอาเกตขนาดเกือบ 2 คืบวางอยู่มีแท่งควอตช์ 3 แท่ง (สูง 1 คืบ) วางรอบๆ แท่ง ออ๊บซีเดียน 1 คืบ (1 แท่ง) ก้อนออ๊บซีเดียน ขนาด 2 นิ้ว กลม 1 ก้อน มีโครงพีระมิดทำจากควอตซ์หล่อสูง 1 ศอก วางคร่อมทั้งหมดนี้อีกที (ทั้งหมดช่วยให้เสียง ภาพ จาก OPPO ดีขึ้นพอควรเลย)
สายภาพ HDMI ของ MONSTER รุ่น HD 2000 ต่อจาก OPPO ไปจอ LCD TOSHIBA FULL HD 23 นิ้ว (ที่จอมีแท่งผลึกควอสซ์สูง 1 คืบ 3 แท่ง แท่งอะมิทิส 1 แท่ง ปะติดหลังจอ) (ภาพ เสียงดีขึ้น)
สายไฟ AC ของจอ LCD ต่อผ่านสายไฟ CHORD เข้ากล่องกรองไฟ PHD POWERSATTION รวมทั้งสายไฟ AC จาก OPPO -105 (ยกมาจากของ No.383) สายไฟ AC ของ No.383 (เปลี่ยนเป็นของ CHORD เช่นกัน ) ทั้งหมดเข้ากล่อง PHD โดยฟังทดสอบเฟสไฟขาออกจากกล่องด้วย
ในห้องมีกล่องตัวอย่างผลึกของ JUDY HALL (ชุด THE POWER OF HEALING) มี 5 กล่อง กลางห้อง 1 ด้านหลังผม 4 กล่อง ทุกกล่องฟังหมุนหาทิศทางการวางที่บนเต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTICS มีแท่งทัวมาลีน 1 แท่ง ขาเข้ากล่อง PHD อีก 1 แท่ง ออกจากกล่องอีก 1 แท่ง ขาเข้า OPPO -105 อีก 1 แท่ง ขาเข้าจอ LCD อีก 1 แท่ง ปลายเท้าผมอีก 1 แท่ง ทุกแท่งวางตั้ง ฟังทดสอบว่าต้องตั้งกลับหัวหรือไม่(มีผลมาก)
ลำโพงซ้าย ขวา ห่างกัน 2 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร พื้นปูพรม ฝาทั้ง4 มีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว ทำในเยอรมัน) ห้องมีของเยอะพอควร แผ่น DVD, BLU-RAY เป็น 10 ตั้ง กับหนังสือ ไม่ก้องแน่ ปัดลมแอร์ ( 25 องศา C ลม LOW) ลงด้านหลังลำโพง ไม่มี PC/โน้ตบุ๊ค, IPAD, เกมส์, นาฬิกาไฟฟ้า (รวมข้อมือ), โทรศัพท์มือถือ, รีโมท (นอกจากของ OPPO ตัวเดียว) (แม้แต่รีโมทแอร์) ภายในห้องรวมทั้งไม่มี WIFI / LAN ในห้อง (นอกจากรั่วมาจากภายนอก) มีผลึกอะมิทิส พุ่มใหญ่ 4 ฝ่ามือวางห่างจาก OPPO 1 ฟุต ไปทางขวามือ มีหัวปลั๊กเสียบกรองไฟ PHD นอกห้อง 3 ในห้อง 4 หัว
ขณะฟังไม่มีบัตรแม่เหล็กใดๆ ในกระเป๋าเสื้อ จะเห็นว่าชุดนี้จูนทุกอย่างระดับเทพ จึงขี้ฟ้องอย่างยิ่งยวด
ฟังกันได้เสียที
ผมค่อนข้างคุ้นเคย และเคยชินกับคุณภาพเสียงที่ได้จากชุดนี้มาก เพราะฟังนับร้อยๆ ชั่วโมง (ดูหนังเกือบทุกคืน)
ทันทีที่มีกล่อง TOMBO และสายไฟ MONITOR ACOUSTICS ต่ออยู่ก่อนเข้ากล่องกรองไฟ PHD ดังกล่าวดูหนังฟังเสียงอยู่หลายเรื่อง เช่น LUCY (BLU-RAY), TRANSCEAD (BLU-RAY), LARA CROFT TOOMRAIDER ตอน 2 (DVD), OBLIVION (DVD) ฯลฯ ทั้งหมดฟังพากย์ไทย (ต้องการจับอารมณ์ คนแสดง/ พากย์)
เมื่อ TOMBO / สาย เสียงทั้งหมดกระชับ เข้มข้นขึ้น สดขึ้น 5 – 8 % บรรยากาศเกลี้ยงสะอาดหมดจดขึ้น 10 % การสอดใส่อารมณ์ในน้ำเสียงคำพูดดีขึ้นมีชีวิตชีวาหนักเบาดีขึ้น 10 % การแยกมิติเสียงแม่นยำตามภาพที่ปรากฏดีขึ้น 8 % เวทีเสียงโดยรวมโอ่อ่าขึ้น 10 % พูดง่ายๆ ว่าใช้แล้วไม่อยากถอดออก แม้จะดีขึ้นไม่เกิน 10 % แต่เป็น 10 % ที่ปลายยอดดีมากๆ อยู่แล้ว ซึ่งจะให้ดีขึ้นอีก 8 – 10% เป็นเรื่องใหญ่ ต้องลงทุนกันอีกหลายหมื่น หรือนับแสนบาทขึ้นไปแน่ๆ ผมเคยนำสายไฟ AC ราคาเกือบ 3 หมื่นบาท มาต่อแทนสาย CB-10 ชุดของผมเข้ากล่อง PHD เสียงกลับอึดอัดเหมือนถูกตราสังข์ เคยเอาชุดรางไฟ ( 2 รูปลั๊ก ) ของนอกราคาเกือบหมื่น บวกสายไฟ 2 หมื่นกว่า มาต่อแบบกล่อง TOMBO/สายไฟ ปรากฏว่าเสียงอั้น ทึบ สู้ชุด TOMBO ไม่ได้เลย
ว่าไปทำไมมีแค่การมีกล่องรางไฟ TOMBO บวกสายไฟ MONITOR ACOUSTICS แล้ว เสียง มิติ ไม่แย่ลงก็ดีสุดยอดแล้ว แต่กลับทำให้เสียงมิติ ดีขึ้น ! ยิ่งไม่ต้องถามต่อกันอีกแล้วว่าคุ้มหรือไม่ แนะนำครับอย่างยิ่งสำหรับใครที่จำเป็นต้องใช้รางไฟ และมีงบตรงนี้ไม่เกิน 25,000 บาท
ขอขอบคุณ TOMBO AUDIO PRODUCTS โทร. 081-659-6165,085-489-7606 ที่ให้อุปกรณ์มาทดสอบครั้งนี้