Test Report: อินทีเกรทแอมป์ TEAC AI-1000
หัสคุณ เกิดบัณฑิต
TEAC (ออกเสียงว่า TEE-ACK หรือเที๊ยค) ถือเป็นบริษัทเครื่องเสียงญี่ปุ่นที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีความเก่าแก่ และยังคงดำรงอยู่ในวงการเครื่องเสียงก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ ชื่อเสียงของ TEAC ในบ้านเรากลับไม่ค่อยโด่งดัง หรือเป็นที่ยอมรับ เหมือนกับเครื่องเสียงจากค่ายอย่าง SONY หรือ YAMAHA อะไรคือสาเหตุที่เป็น เช่นนั้น เราลองมาย้อนรอยพร้อมกับไล่เรียงประวัติของ TEAC กันดูสักนิด
ตำนานของ TEAC นั้นเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1953 เมื่อมีการก่อตั้งบริษัท TOKYO TELEVISION ACOUSTIC COMPANY เพื่อผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงขึ้น ทางบริษัทได้ว่าจ้าง MR.KATSUMA TANI มาดำรงตำแหน่ง AVIATION AND AERONAUTICS ENGINEER เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ NEW MAGNETIC RECORDING TECHNOLOGIES คุณภาพสูงขึ้น และแล้วทางบริษัทก็ได้เริ่มผลิตเรื่องเล่นเทปแบบ REEL-TO-REEL TAPE MACHINE ขึ้นในปีเดียวกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1956 เมื่อน้องชายของ KATSUMA TANI ซึ่งก็คือ MR.TOMOMA TANI ได้นำเครื่องบันทึกเทปแบบ 3 หัว 3 มอเตอร์ ที่ผลิตขึ้นด้วยมือแบบ HAND-MADE ติดมือกลับมาที่บ้าน เจ้าเครื่องบันทึกเทปตัวดังกล่าวได้จุดประกายความคิดให้กับ KATSUMA TANI ทำให้เขาเกิดความสนใจในเครื่องบันทึกแบบ REEL-TO-REEL ขึ้นอย่างจริงจัง เขามั่นใจว่าพวกเขาน่าจะสามารถพัฒนาเครื่องบันทึกเทปที่มีคุณภาพดีกว่านี้ได้
พี่น้องตระกูล TANI ทั้งสอง จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท TOKYO ELECTRO-ACOUSTIC COMPANY ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1956 และต่อมาในภายหลังทั้งบริษัท TOKYO TELEVISION ACOUSTIC COMPANY และบริษัท TOKYO ELECTRO-ACOUSTIC COMPANY ก็ได้ผนึกรวมกันเป็น TEAC CORPORATION ขึ้น โรงงานตั้งอยู่ที่ CHITOSE- CHO, SUMIDA WARD ในโตกียวเพื่อผลิต AUDIO COMPONENTS, MEASUREMENT รวมทั้ง OPTICAL EQUIPMENT และเครื่องบันทึกเทป โดยที่เป้าหมายของ TEAC ก็คือการเป็นผู้นำในระบบ MAGNETIC RECORDING TECHNOLOGY นั่นเอง
TEAC ได้นำเสนอเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทแบบไฮ-ไฟ ตัวแรกคือรุ่น A-20 ในช่วงปลาย ค.ศ. 1960’s การเปิดตัว A-20 นี้ทำให้ TEAC กลายเป็นผู้นำในการเปิดตลาดใหม่ของเครื่องเล่นเทป คาสเซ็ทระดับไฮไฟเดลิตี้ สำหรับเครื่องเล่นเทปแบบ REEL-TO-REEL นั้นทาง TEAC ก็ได้ฝากฝีไม้ลายมือไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น TEAC 2340 ซึ่งเป็นเครื่อง REEL-TO-REEL แบบ MULTITRACK RECORDER ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในขณะนั้น หรืออย่าง A-7400RX HOME-USE OPEN REEL ที่มีวงจร DBX TECHNOLOGY ซึ่งปกติจะเป็นวงจรที่ใช้กันเฉพาะในวงการบันทึกเสียงระดับ PROFESSIONAL STUDIO RECORDING เท่านั้น A-7400 RX ถือเป็นผลงานระดับชิ้นโบว์แดงของ TEAC ที่สั่นสะเทือนวงการไฮ-ไฟ และสร้างความสำเร็จให้กับ TEAC อย่างงดงาม
ต่อมาพี่น้องตระกูล TANI ได้จับมือกับ DR.ABE YOSHIHARU ซึ่งเป็นเอ็นจิเนียร์ ระดับอาวุโสของ TEAC ก่อตั้งทีม R&D พิเศษขึ้นมีชื่อว่า TASC (TEAC AUDIO SYSTEMS CORP.) เพื่อศึกษาถึงแนวทางที่จะนำ เอาเทคนิคในการบันทึกเสียงของ TEAC ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อนักดนตรีรวมถึงซาวด์เอ็นจีเนียร์ และสตูดิโอบันทึกเสียง ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนากลายมาเป็น TASCAM (TASC AMERICA CORP.) ในปี ค.ศ. 1971 บริษัท TASCAM นั้นตั้งอยู่ที่ LOS ANGELES ใกล้ๆ กับ MARINA DEL REY เป้าหมายของ TASCAM ก็คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ TASC ในอเมริกา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับในวงการบันทึกเสียงระดับมืออาชีพเป็นหลัก
TEAC ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเอาประสบการณ์ทางดนตรีที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมมานำเสนอ เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มนักเล่นในระดับออดิโอไฟล์ TEAC จึงได้สร้างแบรนด์ ESOTERIC ขึ้นในปี ค.ศ. 1987 เพื่อผลิตเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะ
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คอมพิวเตอร์เริ่มจะมีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ ทีมงามของ TEAC เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอยู่บนความสำเร็จเดิมๆ แต่กลับมองหาโอกาสใหม่ๆ และในช่วงปี ค.ศ. 1980’s ถึง 1990’s TEAC ก็สร้าง DATA STORAGE AND DISK PUBLISHING PRODUCTS ขึ้นเพื่อผลิตเครื่อง FLOPPY DISK DRIVES รวมทั้งเครื่อง CD และ DVD RECORDER AND DRIVES และ เครื่อง MP3 PLAYERS & NAS STORAGE
และเมื่อระบบการเก็บข้อมูลบนเทปคาสเซ็ทเริ่มเสื่อมความนิยมลงจนอาจเรียกได้ว่า ‘ตายสนิท’ ชื่อเสียงของ TEAC ที่สั่งสมมากับระบบเทปอย่างยาวนาน ก็แทบจะจมหายตามไปพร้อมกัน สำหรับเครื่องเสียงของ TEAC ก็วางตัวอยู่ในระบบเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ยกเว้นก็แต่เพียงระบบ V.R.D.S (VIBRATION-FREE RIGID DISC CLAMPING SYSTEM) ซึ่งเป็นกลไกชุดจับแผ่น CD ในเครื่องเล่น CD อันเลืองชื่อ และเป็นลิขสิทธิ์ของ TEAC อันโด่งดัง และถูกนำไปใช้ในเครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์ หลายเครื่องด้วยกัน ปัจจุบันระบบ V.R.D.S ยังได้ถูกพัฒนาและใช้อยู่ในเครื่องเล่น CD ของ ESOTERIC เองแต่หลังจากนั้นชื่อเสียงของ TEAC ก็เริ่มเงียบหายไปตามกาลเวลาอีกครั้ง
แต่แล้วหลังจากที่เงียบมานานอยู่ๆ ทาง TEAC ก็เกิดแรงฮึกเหิมขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไม่ทราบสาเหตุ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับเครื่องเสียงในระบบ 2 แชนแนลสเตอริโอ ภายใต้เครื่องเสียงตระกูล DISTINCTION SERIES ครั้งนี้อาจจะบอกได้ว่า TEAC หันมาเอาจริงเอาจังสักที TEAC ออก DISTINCTION SERIES ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่วางตัวอยู่ในระดับไฮเอนด์ เพื่อตอบรับกับความต้องการของนักเล่นนักฟังที่ต้องการคุณภาพเสียงที่มีความโดดเด่น และเป็นเลิศ TEAC ยืมมือทีมวิศวกร และเอ็นจิเนียร์จาก ESOTERIC ซึ่งเป็นแบรนด์ที่วางตัวอยู่ในระดับไฮเอนด์ สำหรับเหล่าออดิโอไฟล์อันเป็นที่รู้จักกันดีในวงการ ให้เข้ามาช่วยในการพัฒนา และปรับจูนเสียง (VOICING PHASE)เป็นการเฉพาะ
ใน DISTINCTION SERIES นี้จะมีอินทีเกรทแอมป์ 3 รุ่น และเครื่องเล่น CD/SACD อีก 3 รุ่นด้วยกัน ประกอบไปด้วย AI-1000, AI-2000 และรุ่นท๊อปอย่าง AI-3000 สำหรับเครื่องเล่น CD/SACD นั้น ประกอบด้วย CD-1000, CD-2000 และรุ่นท๊อป คือรุ่น CD-3000
AI-1000
AI-1000 ถือว่าเป็นอินทีเกรทแอมป์รุ่นเล็กสุดในตระกูล DISTINCTION SERIES ที่เหมาะสำหรับนักเล่นในระดับเริ่มต้น ถึงแม้ AI-1000 จะเป็นรุ่นเล็กในตระกูลแต่ขนาด AI-1000 กลับไม่เล็กดังคาด ด้วยขนาดเครื่องที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 435 x 116 x 403 มม. (ก x ส x ล) พร้อมกับน้ำหนังเครื่องที่ 10 กก. ต้องถือว่า AI-1000 มีขนาดที่ใหญ่กว่าอินทรีเกรทแอมป์โดยทั่วไปในปัจจุบัน แผงหน้าขึ้นรูปจากอะลูมีเนียมหล่อที่มีเนื้อเรียบดูเนียนตาแบบ HIGH-QUALITY SCULPTED ALUMINUM มีความหนาประมาณ 12 มม. มีการลบมุมเป็นแนวยาวตรงกลางของเครื่องทั้งด้านบน และด้านล่าง ช่วยทำให้เครื่องดูนุ่มนวลขึ้น ไม่แข็งทื่อจนเกินไป ที่สำคัญมันทำให้ AI-1000 ดูคล้ายกันกับเครื่องในระดับไฮเอนด์ของ ESOTERIC เองด้วยเช่นกัน สวิตช์เปิด/ปิด จะวางตัวอยู่ทางด้านซ้าย ถัดมาจึงเป็นช่องต่อหูฟัง สำหรับลูกบิดโวลลุ่มนั้นจะวางตัวอยู่ตรงกึ่งกลาง มีขนาดที่เหมาะ จับได้ถนัดมือ สำหรับด้านขวาจะเป็นปุ่มเลือกแหล่งโปรแกรมอินพุท ซึ่งมีด้วยกัน 5 ชุด ประกอบด้วย SACD, CD, TUNER, AUX และ TAPE สำหรับปุ่มสุดท้ายคือปุ่ม BYPASS เพื่อรองรับการต่อเชื่อมกับชุด AV SYSTEM เพื่อใช้ภาคขยายของ AI-1000 โดยไม่ผ่าน (BY-PASS) การปรับระดับความดังหรือโวลลุ่มของ AI-1000 นอกจากนี้ AI-1000 ยังมีขั้วต่อ PRE OUT มาให้อีก 1 ชุด เพื่อต่อเพาเวอร์แอมป์ภายนอกได้อีก 1 เครื่อง สำหรับไฟ LED แสดงการทำงานและแหล่งโปรแกรมนั้น TEAC เลือกใช้ไฟสีฟ้าเพื่อให้ดูหรู เข้ากับความนิยมในยุคสมัยนี้
ด้านหลังขั้วต่อสัญญาณเป็นแบบ RCA เคลือบทองอย่างดีทั้งหมด สำหรับขั้วต่อลำโพงจะมีเพียง 1 ชุด เป็นขั้วต่อแบบไบดิ้งโพสต์เคลือบทองขนาดใหญ่หุ้มไว้ด้วยพสาสติกใส สามารถรองรับสายลำโพง และขั้วต่อได้อย่างหลากหลายทั้งแบบสายเปลือย, แบบก้ามปู (SPADE), แบบบานาน่า(BANANA) ปลั๊กไฟเป็นขั้ว IEC แบบ 3 ขา มีกราวด์ สามารถถอดเปลี่ยนสายไฟ AC ได้
ตัวแท่นเครื่องของ AI-1000 ขึ้นรูปจากเหล็กพับที่มีความหนาเกือบ 2 มม. ภายในใช้หม้อแปลงแบบเทอรอยด์ขนาดใหญ่มีการแยกเร็กกูเลทออกเป็น 3 ชุดด้วยกัน ภาคอินพุทเป็นอ็อปแอมป์ของ TEXAS INSTRUMENT NE 5532 สำหรับภาคอินพุทบัฟเฟอร์ของเพาเวอร์แอมป์นั้นเป็นทรานซิสเตอร์แบบแยกชิ้น (DISCRETE) TEAC เลือกที่จะจัดวางคาปาซิเตอร์ไว้ให้ใกล้กับทรานซิสเตอร์เอาท์พุท มากที่สุดเพื่อให้การอัดฉีดของกระแสเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันต่อความต้องการ สำหรับค่าความจุของคาปาซิเตอร์นั้นมีขนาด 10000 UF 63V จำนวน 2 ตัวต่อหนึ่งข้าง ในภาคเอาท์พุทนั้น AI-1000 เลือกใช้ทรานซิสเตอร์แบบไบโพล่าร์ของ SANKEN A1386 และ C3519 แชนแนลละ 1 คู่ โดยทรานซิสเตอร์ดังกล่าวจะถูกยึดอยู่กับแผงระบายความร้อน (HEAT SINK) ขนาดใหญ่ที่วางเป็นแนวขวางกั้นเกือบจะตลอดแนวระหว่างหม้อแปลงกับวงจร
ใน AI-1000 ยังมีวงจรป้องกันแบบ OUTPUT PROTECTION ที่จะทำหน้าที่ในการตัดสัญญาณของวงจรภาคเอาท์พุทออกในทันทีที่แอมป์ถูกขับจนเกิดอาการโอเวอร์โหลด เมื่อเกิดอาการดังกล่าว ปุ่มไฟบนหน้าปัดของ AI-1000 จะสว่างขึ้นทั้งหมด พร้อมกับที่ AI-1000 จะลดระดับของโวลลุ่มลงมาโดยอัตโนมัติในกรณีที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ทาง TEAC แนะนำให้ปิดเครื่องในทันที และทิ้งระยะเวลาสักประมาณ 5 นาที เพื่อให้เครื่องมีอุณหภูมิที่ลดลง จากนั้นจึงเปิดเครื่องอีกครั้ง เครื่องก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติดังเดิม
การจัดวางวงจรภายในของ AI-1000 นั้น ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างใส่ใจ และผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี ส่วนต่างๆถูกจัดวางไว้เป็นระเบียบ ดูเรียบร้อย มีการเดินสายไฟเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อุปกรณ์ทั้งหมดได้ผ่านการคัดสรรคมาอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นคาปาซิเตอร์ของ ELNA, RUBYCON, NICHICON รุ่น FINE GOLD, รีซิสเตอร์แบบ เมทัลฟิล์มแบบ 1% และรีซิสเตอร์แบบโพลีสไตรลีน รวมทั้งโวลลุ่มของ ALPS AI-1000 มาพร้อมกับรีโมทรุ่น RC-1288 ที่ดูเรียบ หรู แผงหน้าเป็นอะลูมีเนียมสีดำแบบ BRUSHED BLACK ALUMINUM ในขณะที่ตัวรีโมทเป็นพลาสติกเนื้อดี มีน้ำหนักที่เหมาะมือ และให้ความรู้สึกที่ดีเวลาใช้งาน รีโมทตัวนี้นอกจากสามารถควบคุม AI-1000 แล้ว ยังสามารถใช้ควบคุม และสั่งงาน เครื่องเล่น CD รวมทั้ง TUNER ของ TEAC เองได้ด้วย
AI-1000 นั้นประกอบและผลิตในประเทศจีน มีออกมาด้วยกัน 2 สี คือ สีดำ และสีเงิน (ตัวที่เราได้มาทดสอบนั้น เป็นสีเงิน) สำหรับสเปคของ AI-1000 มีดังนี้
AI-1000 SPECIFICATIONS
-Authentic Discrete Analogue Amplifier Circuit
-6 Audio Inputs (SACD, CD, Tuner, Tape, AUX, Tone-Direct)
-Detachable AC Socket
-Aluminum Front Panel and Volume Knob
-Remote Control
– Output Power: 120 W + 120 W (4 ohms), 85 W + 85 W (8 ohms)
-Total Harmonic Distortion: less than 0.009%
-Signal-to-Noise Ratio: 100dB (A-weighted)
-Frequency Response: 10 Hz – 30,000 Hz (-0.5 dB)
-Analogue Audio Inputs: x 6 (RCA)
-Preout: x 1 (RCA)
-Headphone Out: x 1 (6.3 mm)
-Speaker Terminals: x 1 pair (Binding Post)
-Operation: 120V AC, 60 Hz (US), 230V AC, 50Hz (EUR)
-Dimensions (W x H x D): 17-1/8″ x 4-5/8″ x 15-7/8″ (435 x 116 x 403 mm)
-Weight: 22 lbs. (10 kg)
ผลการทดลองฟัง
TEAC AI-1000 มีเวลาอยู่กับพวกเรานานพอสมควร อีกทั้ง AI-1000 นี้ได้รับมาเป็นเครื่องใหม่ยังไม่พ้นช่วงรันอิน หลังจากที่รันอินเครื่องจนเกินกว่า 100 ชั่วโมง พวกเราก็นำเข้าฟังเพื่อสรุปผล ซิสเต็มที่ใช้ร่วมในการฟังประกอบด้วย
เครื่องเล่นซีดี : MARANTZ CD17 (CLOCK II), SONY CDP-XA7ES
เพาเวอร์แอมป์ :FORTE’ P 5,AVI S2000MA
ลำโพง : XAV SMALL ONE ‘CLASSIC’, B.M.C ARCARDIA
สายนำสัญญาณ : VAMPIRE AI-II, VAN DEN HUL ‘THE FIRST ULTIMATE’
สายลำโพง : VAMPIRE ST-II
สายเอซี : MUSIC MUSE ‘JORMUNGANDR’, XAV XAC#5
ฟิวส์ : MUSIC MUSE V2
ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี
เรื่องแรกที่ต้องเรียนให้ทราบเป็นอันดับแรกเลยก็คือ การรันอิน หรือเบิร์นอินเครื่อง ซึ่งอินทีเกรทแอมป์โดยทั่วไป เมื่อผ่านการใช้งานหรือรันอินเครื่องไปสักระยะหนึ่ง คุณภาพก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น แต่กับ AI-1000 นั้น ไม่เป็นเช่นนั้นครับ AI-1000 นั้นต้องใช้เวลาที่นานถึงเกือบครึ่งทาง คุณภาพเสียงจึงจะเริ่มเปลี่ยนแปลง และดีขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงระยะเวลาเกือบ 50 ชั่วโมงแรกนั้น AI-1000 จะให้คุณภาพเสียงค่อนข้างนุ่มและอับทึบ น้ำเสียงมีความอิ่มหนา แสดงความชัดเจนของตำแหน่งเสียงของดนตรีออกมาเป็นจุดๆ สปีดของดนตรีจะออกช้ากว่าปกติ มิติและเวทีเสียงค่อนข้างแคบ AI-1000 จะคงลักษณะของเสียงแบบนี้อยู่ตลอดช่วงตั้งแต่เริ่มต้น จนเมื่อใช้งานไปเกือบถึงครึ่งทาง หรือประมาณที่ 50 ชั่วโมงแล้ว AI-1000 จึงจะเริ่มตื่นจากอาการงัวเงีย จากนั้นน้ำเสียงก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งระยะเวลาในช่วงหลังนี้ในความรู้สึกกลับใช้เวลาไม่นานนัก ดังนั้นถ้าใครได้ฟัง TEAC AI-1000 ในขณะที่ยังไม่พร้อมจริงๆ แล้วละก็ อาจจะทำให้คุณมองข้าม อินทีเกรทแอมป์ตัวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
เรื่องที่สองก็คือ AI-1000 เมื่อใช้งานไปสักระยะ จะมีความร้อนสะสมที่สูงพอสมควร แสดงว่าทาง TEAC ไบแอสกระแสวงจรในภาคเอาท์พุทไว้ค่อนข้างสูง ดังนั้นในการจัดวาง AI-1000 จึงควรจะอยู่ในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ควรนำเครื่องอื่นใดมาวางซ้อนทับอย่างเด็ดขาด
อันดับต่อมาเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับ AI-1000 กล่าวคือ รีโมทคอนโทรลของ AI-1000 นั้นในการใช้งานจริงจะมีมุมในการส่งและรับสัญญาณที่กว้างมาก ทั้งๆที่ในคู่มือมีการระบุมุมในการรับสัญญาณไว้อย่างจำกัดเพียง 30 องศา ทำให้การควบคุมและการสั่งงานนั้นมีความสะดวกมากขึ้น
เมื่อ AI-1000 พร้อมแล้ว เราก็มาว่ากันถึงคุณภาพเสียงกันเลย AI-1000 เปิดตัวด้วยเสียงที่มีความสดใส เสียงร้องของ CLAIR MARLO ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความรู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา ถึงแม้เนื้อเสียงจะออกมาในแนวทางที่บางเบากว่าที่คุ้นเคยอยู่บ้างก็ตาม (CLAIR MARLO : LET ITGO – SHEFFIELD LAB) เสียงแหลมนั้นเปิดโปร่ง สอดรับไปในแนวทางเดียวกันกับเสียงกลางอย่างกลมกลืน เป็นเสียงแหลมที่สามารถแจกแจงรายละเอียดออกมาได้อย่างโดดเด่น และเต็มไปด้วยการย้ำเน้นที่ชัดเจน และรวดเร็ว ปลายเสียงแหลมสามารถทอดตัวออกไปได้ดีก่อนจะค่อยๆจางหายไปอย่างเป็นธรรมชาติ (OPUS 3 : LARS ERSTRAND AND FOUR BROTHERS) ถ้านำไปเปรียบเทียบกับอินทีเกรทแอมป์ที่วางตัวอยู่ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน ต้องบอกว่า TEAC AI-1000 สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างโดดเด่นเกินตัวทีเดียว
สำหรับเสียงในย่านกลางต่ำนั้น AI-1000 ยังคงถ่ายทอดเสียงออกมาในแนวทางที่โปร่งบาง สอดรับกับย่านเสียงกลางเช่นกัน เสียงร้องของ JOHN MICHAEL MONTGOMERY จึงฟังดูหนุ่มขึ้น มวลเสียงอาจจะบางไปบ้างสำหรับนักฟังที่หลงเสียงอันหล่อเหลาของเขา แต่ก็เป็นเสียงกลางที่ฟังสบาย ในขณะที่ AI-1000 ยังคงควบคุมจังหวะไว้ได้อย่างแม่นยำ (JOHN MIHAEL MONTGOMERY : KICKIN’ IT UP) กับเสียงในย่านอัปเปอร์เบสนั้น AI-1000 สามารถถ่ายทอดออกมาด้วยความรวดเร็วกระชับ มีความกระฉับกระเฉง เป็นเสียงเบสที่ทรงพลัง มีแรงปะทะ และการย้ำเน้นที่โดดเด่น (CHUCK MANGIONE : THE HAT’S BACK) ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกตื่นตาตื่นใจและกระดิกเท้าตามไปกับจังหวะของดนตรีได้อย่างไม่ยากเย็น กับเพลงคลาสสิกที่รุนแรง และหนักหน่วง AI-1000 ก็สามารถแสดงให้เห็นถึง พละกำลังที่สามารถตรึงตำแหน่งต่างๆ ไว้ได้ดี เกินกว่าแอมป์ขนาด 85 วัตต์ ต่อข้าง โดยทั่วๆไปจะสามารถทำได้ แสดงให้เห็นว่า AI-1000 มีพละกำลังสำรองที่ดีเกินตัวอยู่ไม่น้อยเลย เบสต่ำนั้นทรงพลัง ให้ความรู้สึกถึงเสียงเบสที่ลงได้ลึก มีความรวดเร็ว และความฉับพลันที่โดดเด่น (EXOTIC DANCES FROM THE OPERA : R&R)
ได้ลองนำ AI-1000 มาจับคู่กับลำโพง B.M.C ARCARDIA ซึ่งเป็นลำโพงวางพื้นขนาดใหญ่และมีอิมพีแดนซ์ที่ 4 โอหม์ ผลปรากฏว่า AI-1000 สามารถขับลำโพง ARCARDIA ออกมาได้ดีจนลูกขุนบางท่านยังอดรู้สึกแปลกใจไม่ได้ “พละกำลังนั้นเกินตัวจริงๆ”
สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น AI-1000 สามารถตรึงตำแหน่งต่างๆ ไว้ได้ดี มีการแยกแยะ และแสดงถึงช่องว่างระหว่างดนตรีได้ชัดเจน พื้นเสียงมีความสะอาดและมีความเงียบสงัดที่ดี การจัดวางซาวด์สเตจ จะวางตัวล้ำหนักออกมากว่าแนวระนาบของลำโพง อย่างเด่นชัด (FORWARD) ซาวด์สเตจทางด้านกว้างสามารถวางตัวเลยลำโพงออกไปได้ดี ในขณะที่สัดส่วนความลึกก็สามารถแยกแยะระดับชั้นที่ถอยลึกลงไปได้ในระดับหนึ่ง
นี่คือความโดดเด่นที่ AI-1000 สามารถที่จะสร้างความประทับใจในการฟังด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว และน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลย ถึงแม้ AI-1000 จะพยายามถ่ายทอดความโดดเด่นออกมาจนเป็นที่ชื่นชมอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน AI-1000 ก็ได้เปิดเผยให้รู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจนทำให้พวกเรารู้สึกโหยหาอยู่ด้วยเช่นกัน
สิ่งนั้นก็คือ เสน่ห์ครับ น้ำเสียงของ AI-1000 โดยรวมจะฟังดูสะอาดเกินไป และดูจะเน้นการแยกแยะรายละเอียดที่เด็ดขาด และจริงจังเกินไป จนทำให้รู้สึกถึงการขาดความเป็นดนตรีที่จะเรียงร้อยสรรพสำเนียงของดนตรี ให้มีความกลมกลืน และไหลลื่นไปพร้อมกัน เสียงร้องของ ELLA นั้นมีความกระจ่างชัดแยกแยะรายละเอียดได้ดีมีความโดดเด่นก็จริงแต่ก็แสดงให้เห็นทั้งสิ่งที่ขาดหายไปดังที่กล่าวมาในข้างต้นได้อย่างชัดเจน (ELLA FITZGERALD : FOREVER ELLA) ตอกย้ำกันอีกครั้งกับเสียงของเปียโนที่บรรเลงโดย VLADIMIR HOROWITZ ถึงแม้จะเป็นเสียงที่ฟังดูโปร่ง มีรายละเอียดที่ดี มีการย้ำเน้นที่รวดเร็ว ไม่มีอาการหยาบ กระด้างแข็งก็ตาม แต่น้ำเสียงจะมีอาการเน้นๆ ที่ทำให้ฟังดูโปร่งและมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จึงทำให้เนื้อเสียงค่อนมาทางบางจนขาดมวลรวมทั้งฮาร์โมนิกที่จะอุ้มชูให้เสียงของเปียโนนั้นมีความสมจริงตามที่ควรจะเป็น (HOROWITZ IN MOSCOW : DG)
มีความเป็นไปได้ที่ AI-1000 อาจจะไม่เหมาะกับสายนำสัญญาณ VAMPIRE ที่พวกเราใช้ในการทดสอบ ต่อมาจึงได้ลองสับเปลี่ยนนำเอาสายของ VAN DEN HUL รุ่น THE FIRST ULTIMATE เข้ามาแทนที่ ผลปรากฏว่า AI-1000 ไปกันได้ดี น้ำเสียงฟังดีขึ้นในแบบผิดหูผิดตา น้ำเสียงโดยรวมมีความนุ่มนวล กลมกล่อมขึ้น การร้อยเรียงของดนตรีมีความต่อเนื่อง และลื่นไหลที่ฟังระรื่น หูขึ้น มีความเป็นดนตรีที่ลูกขุนท่านหนึ่งกล่าวชมว่า น้ำเสียงมีความเป็นอนาล็อกมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ ถึงแม้จังหวะดนตรี ไดนามิก และความฉับพลันจะถูกลดทอนลงไปบ้าง แต่ก็ถูกชดเชยด้วยเสียงกลางที่มีมวลเสียงที่เต็มและอิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เสียงในย่านกลางต่ำ ก็มีปริมาณของมวลเสียงที่อิ่มเอิบขึ้นเป็นการเติมเต็มอย่างลงตัว ทำเอาลูกขุนที่มาร่วมฟังด้วยกันถึงกับอุทานขึ้นอย่างแปลกว่า เสียงเปลี่ยนไปอย่างกับเป็นแอมป์คนละเครื่องกันเลย นี่ถ้าไม่ได้มาฟังกับหูของตัวเอง ก็คงจะไม่เชื่อแน่ๆ
สุดท้ายได้ลองนำ AI-1000 มาใช้เฉพาะในภาคปรีแอมป์ ต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์บางเครื่องในห้องฟัง ผลที่ได้นั้น คุณภาพเสียงของภาคปรีแอมป์จะอยู่ในอัตราส่วน 40:60 เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเพาเวอร์แอมป์ภายใน อีกทั้งภาคปรีแอมป์ของ AI-1000 ยังมีเกนขยายที่ค่อนข้างต่ำ จึงต้องเร่งระดับของโวลลุ่มขึ้นไปจากปกติจะอยู่ที่ ประมาณ 11 นาฬิกา ต้องเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณที่บ่าย 2 โมงครึ่งจึงจะมีระดับความดังที่เท่ากัน ดังนั้นการจะนำ AI-1000 มาใช้เป็นปรีแอมป์จึงไม่แนะนำครับ
สรุป
การกลับมาของ TEAC ในระบบ 2 แชนแนลสเตอริโอ ด้วยเครื่องเสียงในตระกูล DISTINCTION SERIES นั้นต้องถือว่าเป็นความมุ่งมั่นที่มาพร้อมกับความตั้งใจอันเต็มเปี่ยม ซึ่ง AI-1000 ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสิ่งเหล่านั้น อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรูปลักษณ์ของตัวเครื่องรวมทั้งการออกแบบวงจร และฟังก์ชั่นที่ได้รับความใส่ใจ ให้ความรู้สึกที่มั่นคงไม่แพ้หรือไม่น้อยหน้าเครื่องที่มีราคาสูงกว่าในระดับ ไฮเอนด์ทั้งหลาย สำหรับคุณภาพเสียงนั้น AI-1000 สามารถนำเสนอคุณภาพเสียงที่โดดเด่นในหลายแง่มุม ซึ่งมีความแตกต่างและไม่ได้ด้อยไป กว่าแอมป์คู่แข่งในระดับเดียวกันหรือที่มีราคาที่สูงกว่า เพียงแต่ AI-1000 นั้นคงจะไม่ใช้อินทีเกรทแอมป์ที่เหมาะสำหรับนักเล่นมือระดับเริ่มต้นแบบ”มือใหม่หัดขับ” อย่างแน่นอน แต่ควรจะเป็นอินทีเกรทแอมป์สำหรับนักเล่นที่มีประสบการณ์ และเคยใช้งานอินทีเกรทแอมป์ต่างๆ มาบ้างแล้วพอสมควรแต่ยังไม่สามารถหาแอมป์ที่ถูกใจได้ สาเหตุนั้นก็เพราะTEAC AI-1000 นั้นต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษในการจับคู่หรือจัดชุดเพื่อให้ซิสเต็มมีความเหมาะสม สามารถทำงานได้อย่างลงตัว เพราะถ้าทำได้ AI-1000 จะกลายมาเป็นอินทีเกรทแอมป์ในระดับราคา 40,000 บาท ที่มีความโดดเด่นได้อย่างน่าสนใจ และยากที่จะมองข้ามไปได้จริงๆ ครับ
ภาคผนวกพิเศษ (เพิ่มเติม) เจาะลึกวงจรของ TEAC AI-1000
‘สาโรจน์’ เป็นหนึ่งในคณะลูกขุนขาประจำของพวกเรา เคยทำงาน และคลุกคลีอยู่ในแวดวงเครื่องเสียงมาอย่างยาวนาน แต่ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่เบื้องหลัง เคยเป็นนักเขียนมีบทความทั้งในเรื่องทดสอบเครื่อง และลำโพงรวมทั้งงานอัพเกรดเครื่องที่น่าสนใจ แต่มาระยะหลัง ได้วางปากกา และห่างหายไปจากแวดวงหนังสือสักพักใหญ่แล้ว แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าความน่าสนใจของ TEAC AI-1000 สามารถที่จะจุดไฟที่เก็บซ่อนไว้อยู่ภายในตัวของ ‘สาโรจน์’ ให้ลุกโชนขึ้นจนหันกลับมาจับปากกาอีกครั้ง นับว่าครั้งนี้เป็นโอกาสที่พิเศษจริงๆ ครับ‘สาโรจน์’ ได้ตกปากรับคำแล้วว่า ถ้ามีเครื่องที่น่าสนใจ เป็นพิเศษก็จะช่วยมาวิเคราะห์เจาะลึกให้ได้อ่านกันอีกในโอกาสต่อไป ที่สำคัญ TEAC AI-1000 มีดีตรงไหน มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงไร เรามาฟัง ‘สาโรจน์’ เจาะลึกกันเลยดีกว่าครับ
TEAC AI-1000 กับการออกแบบที่เรียบง่าย และแฝงไว้ซึ่งเจตนา
เริ่มต้นกันที่ในส่วนของวงจรภาคปรีแอมป์กันก่อนเลย
จากไดอะแกรมของวงจรแบบคราวๆ ที่แสดงอยู่ด้านบนนั้นจะเห็นได้ว่าวงจรที่ TEAC เลือกใช้นั้นมีความเรียบง่าย เป็นวงจรแบบพื้นฐานที่ไม่ได้มีอะไรที่สลับซับซ้อนเลย เกณฑ์การขยายของปรีแอมป์จะอยู่ที่ 2 เท่า เท่านั้น ไม่ได้ขยายสัญญาณขึ้นมามากนัก ในกรณีที่ปรีแอมป์มีเกณฑ์การขยายที่น้อยขนาดนี้ทางผู้ออกแบบก็เลือกที่จะให้อินพุทอิมพีแดนซ์ของปรีแอมป์นั้นมีค่าที่ค่อนข้างสูงไว้สักหน่อยซึ่งก็จะสอดรับกันแบบพอดีกับการเลือกใช้โวลลุ่มค่าความต้นทานสูงเพื่อให้น้ำเสียงของปรีแอมป์นั้นมีเรี่ยวมีแรง มีความกระฉับกระเฉง แต่ทว่าบนข้อดีนั้นก็ย่อมมีข้อเสียงตามมาบ้าง เช่น เบสจะค่อนข้างเก็บตัวเร็วสักหน่อย ส่วนแหลมต้นก็จะติดมาทางสว่างแบบเน้นๆเล็กน้อย
ส่วนของวงจรภาคเพาเวอร์แอมป์
จากไดอะแกรมแบบคร่าวๆ ของเพาเวอร์แอมป์ที่แสดงอยู่ด้านบน จะเห็นว่าเป็นวงจรที่มีความเรียบง่ายเหมือนกันกับวงจรในภาคปรีแอมป์ก็ว่าได้ครับ การจัดวงจรก็จะสอดรับกับส่วนของปรีแอมป์ เช่น อินพุทอิมพีแดนซ์ของเพาเวอร์แอมป์ที่กำหนดค่าไว้สูงหน่อยรวมไปถึงการป้อนกลับที่มีสัดส่วนซึ่งมีความเหมาะสมอย่างลงตัวอีกด้วย โดยภาพรวมของวงจรเพาเวอร์แอมป์นั่นไม่ได้ออกแบบให้พิสดารอะไรเลย หากแต่เป็นความเรียบง่ายของวงจรที่แสนจะพิเศษ เจตนาในการออกแบบของวงจรนี้จะอยู่ที่การป้อนกลับที่มีการยก กด และชดเชยความถี่เอาไว้เพื่อให้การนำเครื่องไปใช้งานได้หลากหลาย และมีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้งานได้สูง
ปิดท้ายด้วยเรื่องของภาพรวมของ TEAC AI-1000 เครื่องนี้ ในทุกๆ ภาคส่วนของเครื่องนั้น ตั้งแต่การเลือกใช้หม้อแปลง,ภาคจ่ายไฟของเพาเวอร์แอมป์และของปรีแอมป์, วงจรปรีแอมป์ ,วงจรเพาเวอร์แอมป์ นับได้ว่าเป็นการออกแบบที่เกือบจะสมบูรณ์ครบทุกมิติก็ว่าได้ครับ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดของ TEAC AI-1000 คือความสมบูรณ์บนเจตนาที่จะให้ AI-1000 มีความหลากหลายในการนำไปใช้งานให้ตรงกับความต้องการของผู้ฟังไม่ว่าจะเป็นแบบ ออดิโอไฟล์ที่เน้นความจริงจังหรือแบบมิวสิคเลิฟเวอร์เพื่อการฟังเพลงครับ
ขอบคุณบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร.0-2238-4078-9 ที่เอื้อเฟื้อให้เครื่องมาทดสอบในครั้งนี้