What HI-FI? Thailand

Test Report: T+A CRITERION TCD 410R เสน่ห์ที่ต้องฟังกันนานสักนิดจะติดใจ

Test Report: T+A CRITERION TCD 410R เสน่ห์ที่ต้องฟังกันนานสักนิดจะติดใจ

ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ

 

ลำโพงตระกูล CRITERION TL ถือกำเนิดย้อนหลังไปในปีค.ศ. 1982 ที่บริษัท T+A (Theory and Application) ตัดสินใจที่จะทำลำโพงที่ให้คุณภาพระดับสะเทือนโลกา ไม่ว่าคุณภาพเสียงและรูปโฉม ผลคือความลือลั่นในวงการลำโพง และประสบความสำเร็จอย่างสูงแทบทุกรุ่นในตระกูลนี้ ด้วยการทุ่มเทฝีมืออย่างเต็มที่ไม่มีอั้น ทำให้ลำโพงแต่ละรุ่นแต่ละตระกูลของ T+A จะคงอยู่ได้หลายๆ ปี โดย CRITERION TCD ใหม่จะยิ่งเหนือชั้นกว่า CRITERION TL ออกไปหลายขุม หลังจาก TL อาละวาดอยู่ในวงการถึง 5 ปีเต็ม T+A จะไม่แค่ทำลำโพงใหม่ๆ ออกมาเมื่อครบทุกปี ต้องดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ฟังออกชัดจึงจะออกตระกูลใหม่

ลำโพงในตระกูล CRITERION จะใช้ดอกลำโพงจากตระกูลไฮเอนด์คือ SOLITAIRE คำว่า TCD มาจาก TRANSMISSION-LINE CONSTANT DIRECTIVITY

TCD 410R เป็นลำโพงวางหิ้ง 2 ทางที่ให้สุ้มเสียง และบรรยากาศที่โดดเด่นของลำโพง 2 ทาง ขณะที่ให้ทุ้มได้ระดับลำโพงวางพื้น ใช้ดอกลำโพงกลาง/ทุ้มขนาด 17 ซม. ที่ออกแบบใหม่หมด ซึ่งให้การสวิงเสียงดัง-ค่อยได้อย่างยอดเยี่ยมในด้านเสียงทุ้มขณะที่ให้เสียงกลางได้อย่างไร้สีสันแต่มแต้มและเปิดโล่งโปร่งใช้กรวย GREYCONE ซึ่งทำจากส่วนผสมของใยไม้ที่ตากแห้งแบบใช้อากาศรวมกับผงถ่าน (กราไฟต์) ทำให้ได้กรวยที่เสถียรอย่างยิ่งยวด และเก็บตัวได้ฉับไวที่สุด การใช้วัสดุอาโมฟัส (ARMORPHOUS) ช่วยกำจัดคลื่นสั่นสะสมค้าใดๆ ในกรวย และเพื่อป้องกันการสั่นค้างและกรวยหักย่น นอกจากนั้นยังมีเส้นหลอดยิงเฉียงจากกลางกรวยไปขอบกรวย ภายในอัดด้วยกาวพิเศษ ช่วยเพิ่มความแกร่งของกรวยและการสั่นค้างเป็นหย่อมๆ บนกรวยด้วย หัวจรวดอะลูมิเนียมกลึงขึ้นรูปที่ตรงกลางกรวย (เป็น PHASE PLUG) ช่วยเพิ่มมุมกระจายเสียง ช่วยรีดเสียงจากกลางกรวยให้วิ่งมาทันเสียงจากขอบกรวยได้ถึงความถี่กว่า 4 kHz ตัวขอบกรวยช่วยซึมซับการสั่นที่วิ่งมาจากกลางกรวย แม่เหล็กขนาดใหญ่ (มาก) พร้อมโครงดอกลำโพงแบบอะลูมิเนียมหล่อ

ดอกแหลมใช้ตัวกระจายคลื่น (WAVEGUIDE) เพื่อให้คลื่นเสียงจากดอกแหลมไปกลมกลืนกับดอกกลางทุ้มได้ลงตัวที่สุด รวมทั้งจำกัดมุมกระจายเสีย เพื่อลดปัญหาก้องจากห้องฟัง ขั้วต่อสายลำโพงขนาดใหญ่แบบไบ-ไวร์แผงวงจรแบ่งเสียงที่ให้ความเพี้ยนต่ำ ไม่อิ่มตัวง่าย ไม่กินวัตต์เลย ระบบเบสแบบท่อเปิดก็จูนจนได้เสียงทุ้มที่ลงตัวดีที่สุด ตัวตู้ภายในดามอย่างแข็งแรงยิ่ง ผนัง MDF หนา ด้านข้างตู้ภายนอกขัดเงาวาววับ ด้านบนเป็นกระจกนิรภัยสีดำ เครื่องจักรที่ใช้ในการทำตู้เป็นแบบ CNC ที่ให้ความเที่ยงตรงสูงมาก ตัวซับเสียงภายในใช้หลายชนิดผสมกัน แม้แต่ตำแหน่งการยึดแผงวงจรแบ่งเสียงก็ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ และแน่นหนามั่นคง (แผงวงจรหนักเอาเรื่อง) สายต่อพ่วงภายในก็ต้องพิถีพิถัน และทุกตู้จะต้องผ่านการตรวจเช็ควัดสเปคทดสอบครบทั้งการสั่น, ความเพี้ยน, ความถี่ตอบสนอง, ความเรียบร้อยของงาน พูดง่ายๆ มันเหมือนประติมากรรมมากกว่าการทำลำโพงขาย!

 

สเปคของ TCD 410R

รับกำลังขับได้                                      100 W

ถ้าเป็นเสียงดนตรีรับได้                       150 W

ความต้านทาน                                     4 โอห์ม

ความถี่ตอบสนอง                                35 – 35,000 Hz

ความไว                                                85 dB

ดอกกลางทุ้มขนาด                              170 มม.

ดอกแหลมขนาด                                  25 มม.

จุดแบ่งความถี่                                     2.2 kHz

ขนาดตู้ (ซม.)                                       41 (สูง), 25 (กว้าง), 30 (ลึก)

น้ำหนักตู้                                              12 กก.

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (หัว RCA) เข้า INPUT 5 (RCA) ของอินทีเกรทแอมป์ MARKLEVINSON No.383 (บาลานท์แอมป์แท้) (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (เดินตามทิศ) 2 ชุด แยกอิสระไม่แตะกัน หัว WBT หางปลา (เป็นเงิน) ด้านแอมป์ และเป็นบานาน่าด้านลำโพงยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (ใหม่) 2 รีม (สูงประมาณ 1 คืบ) มีอีก 1 รีม (ครึ่งคืบ) กั้นแยกสาย S-2 ชุดเข้าดอกแหลมกับสายชุดเข้าดอกกลางทุ้ม ไม่ให้แตะกัน (สำคัญมาก…นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูปที่สาย 2 ชุดแตะกัน)

ลำโพง 410R วางบนขาตั้ง TARGET 24 HJ ผมอยากเอาหน้ากากลำโพงออก แต่คุยกับคุณเอกจากบริษัท INT ที่นำเข้า T+A แล้ว คุณเอกว่าเนื่องจากมันเป็นหน้ากากเหล็กเจาะพรุน และแข็งแรงมาก (ไม่สั่นกระพือ) ลองฟังใส่หน้ากากกับไม่ใส่แทบไม่ต่างกันเลย ผมเลยไม่ได้งัดหน้ากากออก

เอียงลำโพง (TOE IN) ขยับทีละนิดๆ จนได้สุ้มเสียงครบที่สุดพร้อมกับทรวดทรงมิติเสียงดีที่สุด ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห้องฟังขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังมีฟองน้ำ SONEX (รุ่นเยอรมัน, สีขาวทั่วห้อง) มีของอื่นเยอะพอควรไม่ก้องแน่

สายไฟ AC ของทั้ง No.383 กับ CD T+A จะมีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD2 เสียงเคียงคู่อยู่ 1 ตัว ทั้ง No.383 และ T+A อีก 1 ตัว เต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงเป็น HUBBEL สีส้ม

ในห้องลองไม่มีรีโมท, จอ LCD/PLASMA, PC, โน้ตบุ๊ก, โทรศัพท์มือถือ, Tablet (iPad), นาฬิกาไฟฟ้า (แม้แต่นาฬิกาข้อมือควอตซ์) ไม่มีระบบ LAN, ROUTER WiFi (แต่มีคลื่น WiFi เกือบ 5 SPOT รั่วเข้ามา ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้)

มีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือ 1 ก้อน อยู่ด้านขวามือของเครื่อง CD T+A, อีก 1 ก้อน (1 ฝ่ามือ) อยู่ข้างขวาบนพื้นติดกับเก้าอี้นั่งฟังอีก 1 แท่งสูง 1 คืบ ด้านซ้าย และอีก 1 แท่ง (1 คืบ) อยู่ด้านขวามือของห้อง

ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน หรือมัดทบตัวเอง ปัดลมแอร์ยิงลงหลังตู้ลำโพง ไม่มากวนด้านหน้า (ตั้งอุณหภูมิ 24 องศา, แรงลมต่ำสุด (LOW))

410 R คู่ที่ได้มาทดสอบมีการใช้งานมาสัก 30 ชั่วโมงแล้ว

ที่กลางห้องผมมีกล่องพร้อมหนังสือฝรั่งพูดเกี่ยวกับ Crystal พร้อมก้อนตัวอย่างผลึก 11 ชนิด (ขนาดปลายนิ้วก้อย) แถมมาด้วยผมนำมาวางที่พื้น และหมุนขยับเอียงไปมา จูนให้ได้เสียงดีที่สุด มิติโฟกัสที่สุด (มีผลอย่างเหลือเชื่อ) กล่องนี้เอามาดูดซับคลื่นวิทยุ (RF) ขยะทั้งหลาย (คลื่นมือถือ, คลื่น WiFi) ที่เข้ามาป่วนเครื่องเสียงในห้อง มันช่วยได้มากจริงๆ (กล่องละ 850 บาท)

จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดีมาก เวทีเสียงก็ระเบิดตัวกว้างอย่างไม่เคยพบมาก่อนกับแผ่นนี้เพลงนี้ เสียงทั้งหมดหลุดลอยออกมาหาเราได้อย่างน่าทึ่ง เสียงกระชับมีน้ำหนัก ควบแน่นทุกเสียง หัวโน้ตมีรายละเอียดดี และกลมกลืนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับตัวโน้ตได้ดี เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดดีมาก เสียงระนาดคมชัด, นิ่ง เป็นเม็ดๆ เสียงกระชับควบคุมตัวเองได้ดีมาก ไม่มีการฟุ้งที่ขอบโน้ต (ขอบเสียง) เสียงทั้งหมดนิ่ง, มั่นคงเอามากๆ ปลายแหลมจะตกลงหน่อยๆ ทำให้กลางดูโดดเด่น แต่ไม่เกินเลย เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดดีพอๆ กับเพลง 4 เสียงตีระนาดมีทรวดทรงแยกแยะได้ดี ให้เสียงตีกระจายที่ชัดกว่าทุกครั้ง พูดง่ายๆ ว่า เสียงจะดีดกระเด็นออกมาหาเราได้อย่างมีชีวิตชีวา สมจริงดีอย่างไม่เคยพบมาก่อน (DYNAMIC ดีมาก) ช่วงดนตรีสลับซับซ้อนก็ไม่มั่ว ทุกๆ เสียงยังฟังชัดเป็นพระเอกหมด เพลง 6 เสียงตีระนาดขึ้นต้น นิ่งเป็นเม็ดๆ ใหญ่เล็ก อยู่บริเวณกลางเวทีได้เปะ มั่นคง การที่มันไม่ให้เสียงที่ฟุ้งกระจาย ทำให้ฟังเผินๆ อาจเหมือนว่าความกังวานในวงออกจะน้อยกว่าทุกครั้ง ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย รายละเอียดหัวโน้ตดี เพลง 7 เสียงโดยรวมตื่นตัวขึ้นนิด (ปกติจะดังกว่า เข้มกว่า เพลง 3, 4, 5, 6 เป็นเพราะ 410 R ก็ให้เสียงจากเพลง 3, 4, 5, 6 ตื่นตัวเต็มที่อยู่แล้ว จึงไม่ต่างกันนักกับเพลง 7) เพลง 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่มีทรวดทรงดีมีน้ำหนัก กระชับ อาจไม่กระหึ่มอย่างที่เคย น่าจะเป็นเพราะทุ้มเก็บตัวได้ฉับไว ไม่อื้ออึงเบลอ จึงเหมือนทุ้มก้อนเล็กกว่าหน่อย เสียงตบกลองไล่จากขวาไปซ้ายชัดดี เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดบางครั้งกระเด็นหลุดออกมาพูดง่ายๆ 410 R ให้การดีดตัวของเสียงที่ดี (DYNAMIC CONTRAST ดี) แปลกมาก ประมาณนาทีที่ 1:13 เสียงดนตรี 3 ชิ้นผสมได้เป็นความถี่เสียงใหม่เหมือนเสียงเคาะกล่องหนาๆ ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อนได้เลย เพลง 10 ขึ้นต้นสงัด (จริงๆ ก็สงัดดีมากทุกเพลงเลย) เสียงตีระนาดขึ้นต้นเป็นเม็ดๆ เหลือกำลังเม็ดใหญ่ อ่อนแก่ ทุ้มลึก, ทุ้มกลาง เสียงเขย่าฉิ่งสั่นระริก จำแนกแยกแยะดีไปหมด จังหวะจะโคนก็ดี ฟังเพลิน

 

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อ มีทรวดทรงดี ไล่จากซ้ายไปขวา มีข้อน่าสังเกตคือ 410R ให้ทุกๆ เสียงมีทรวดทรงดีหมด พร้อมกับอาการกระเด็นหลุดลอยออกมาหาเราได้ดี ไม่รู้สึกจมแบน (อยู่ตรงโน้น) ทำให้การแยกแยะทำได้ดีเป็นพิเศษ แม้ช่วงโหมหลายชิ้น และทุกๆ เสียงตื่นตัวมีชีวิตชีวา กระโดดโลดเต้นดีไปหมด เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงพายวักน้ำ ปกติอย่างดีก็จะได้ยินเสียงพายแหวกน้ำ และมีคลื่นกระฉอกใหญ่เล็กเต็มผิวน้ำ ได้แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว แต่ 410R ให้อะไรที่เหลือเชื่อขึ้นไปอีกคือ ฟังออกว่าพายแหวกน้ำทำให้เกิดคลื่นกระฉอกใหญ่น้อย วิ่งกระจายออกจากใบพายขณะที่พายเคลื่อนที่ไป ซึ่งสมจริงยิ่งขึ้นไปอีก เรียนตรงๆ ว่า เหลือเชื่อไม่เคยจับประเด็นนี้ได้มาก่อนเลย เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาจากที่ไกลๆ ให้ความรู้สึกตื้นลึกใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ได้ดี เสียงตีระฆังจะอ่อนไปหน่อย เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวที เสียงไก่มีพลังดีมาก ตามด้วยเสียงสัตว์ต่างๆ ไม่ว่า วัว, ม้า, แพะ, ห่าน, เป็ด, สุนัข ฯลฯ ต่างก็ส่งเสียงอย่างมีชีวิตชีวา มีรายละเอียดมีน้ำหนักอ่อนแก่, โฟกัสมีความกังวาน (รายละเอียด, น้ำเสียง ดีกว่าที่เคยฟังมาพอควรเลย) นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียงสัตว์ต่างๆ แห่กันห้อมล้อมตัวเรายังกับระบบเซอราวด์ และเข้ามาถึงเราด้วยไม่ใช่แค่ตีวงล้อม สัตว์เยอะจริงๆ ทุกเสียงมีรายละเอียดดีหมด เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบฮักๆ มาแต่ไกลได้ยินเสียงหอบถึง 7 ครั้ง (ปกติ 6 ก็โอเคแล้ว) ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบลำโพงซ้ายขวาห่างออกมาจากลำโพงแล้วค่อยๆ สูงขึ้นๆ ปกติถ้าเก่งๆ จะได้เกือบถึงเพดานห้อง แต่นี่ได้แค่อยู่เหนือลำโพงและห่ายออกมา เพลง 8 นาที่ที่ 2:28 ให้เสียงตีกลองที่เสียงแปลกออกไปกว่าทุกครั้ง แสดงว่า 410R เก็บความถี่คู่ควบ (HARMONICS) ได้ครบกว่าปกติ จึงแสดงความแตกต่างหลากหลายของ “น้ำเสียง” ได้มากกว่าปกติ เพลง 10 เสียงต่างๆ ในฟาร์มตอนเช้าแจกแจงแยกแยะออกมาได้ครบทุกเม็ด ไม่ว่าเสียงลม, เสียงระฆังลม, เสียงน้ำพุ, เสียงบานหน้าต่างเปิด ฯลฯ ถ้าลำโพงแน่จริง ฟังเพลงนี้ไปสัก 2 นาที บางเสียงจะเริ่มลอยตัวสูงขึ้นๆ จนถึงเพดานห้องได้ แต่ 410R ไปไกลกว่านั้น! นอกจากลอยไปอยู่เกือบถึงเพดานห้องที่กำแพงด้านหลังลำโพงแล้ว มันยังค่อยๆ ลอยยื่นออกมาจนลอยอยู่ที่เพดานกลางห้องได้ด้วย! (ต้องพูดว่า โอ้…พระเจ้า) มือมิกซ์เสียงนี่ระดับพระกาฬจริงๆ

แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 แค่เพลงขึ้นก็ตกใจแล้ว เสียงแผ่ลอยออกมาเกือบถึงตัวเรา พอเสียงร้องขึ้นก็แทบตัดสินได้ว่า 410R ให้เสียงได้โฟกัสและนิ่งระดับพระกาฬขนาดไหน ปกติเพลงนี้เสียงร้องจะบันทึกมาฟุ้งๆ หาขอบเขตทรวดทรงไม่ได้ แต่ 410R จัดตรึงจนการฟุ้งหายไปเกือบหมด โฟกัสขึ้น แต่บางครั้งก็ฟ้องว่าเสียงมีการขยับไปซ้ายนิดบางครั้งพูดง่ายๆ ว่า ยังแกว่งอยู่บ้าง (มาจากการบันทึกน่าจะเจอ WiFi กวนในห้องบันทึก) อย่างไรก็ตาม เสียงร้องจีบปากจีบคอร้องกันอย่างจริงจังมาก ใส่อารมณ์เต็มที่ เพลง 2 (อารีรัง…เพลงเกาหลี) เสียงร้องประสานหมู่ชาย-หญิงแยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ซึ่งเรียนตรงๆ ว่าครั้งแรกคาดหวังว่าต้องมหึมาสะท้านสะเทือนแน่ แต่กลับตรงข้าม แม้เสียงตีจะคมชัด โฟกัสมีน้ำหนักดี แต่ขนาดของกลางกลับไม่มหึมาเท่าที่ควร ไม่กระหึ่มสะท้านห้องเป็นไปได้ว่าลำโพงวางหิ้งบางยี่ห้ออาจจูนเป่าทุ้มเกินตัวไว้ ขณะที่ 410R อาจต้องการอะไรที่ “เที่ยงตรง” กว่าได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่เป่าทุ้มหลอกหู เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสวยดีมาก โฟกัส นิ่ง ตามด้วยเสียงร้องที่โฟกัส ชัด ยิ่งขึ้นกว่าเพลง 1 ที่ชอบคือการตอกย้ำทิ้งเสียงร้องทำได้สมจริง มีชีวิตชีวาดีมาก (ฟังกันมาถึงตรงนี้ เห็นชัดว่า 410R ให้ DYNAMIC CONTRAST ระดับเทพเลย (หายาก) เพลง 4 เสียงร้องยิ่งสนุกขึ้นสอดใส่อารมณ์ขึ้น นาทีที่ 2:18 เสียงเขย่าลูกกระพรวนเพิ่งฟังออกว่ามีการแกว่งแขน 1 ทีก่อนเริ่มเขย่าลูกกระพรวน (เป็นเม็ดๆ ใช้ได้) เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงปลายแหลมกรุ้งกริ้งจะค่อยกว่าปกติสัก 0.7 dB แต่ปลายแหลมก็มีลมหายใจตัวโน้ตที่ดี (AIRY ดี) เสียงร้องจีบปากจีบคอดีเช่นเดิม เสียงเดินดับเบิ้ลเบส อิ่ม หนัก ลึก ทิ้งตัวลงพื้นห้อง เสียงเครื่องสายจีน ดีด, สี หวานเป็นเส้นสายดีมาก เสียงระฆังจิ๋วก็ถูกต้องมีรายละเอียด

แผ่น WOOD ของ BRIAN BROOMBERG เพลง 1 ขึ้นต้นเสียงดีดดับเบิ้ลเบสเป็นเส้นสาย อิ่มใหญ่ โฟกัส ไม่มั่ว ไม่ฟุ้ง น้ำหนักเสียงโอเค ทุ้มลึกพอใช้ เสียงตีฉาบสะอาด กระจ่าง เปียโนสด หวานพอใช้ แต่รายละเอียด และ DYNAMIC ดี

นอกจากนั้นยังได้ลองกับ CD อีกหลายๆ แผ่น โดยเฉพาะพวกเพลงไทยสมัย 30 ปี ที่แล้ว (กับ 40 ปีก็มี) และผ่านอื่นๆ อีก

สรุป

T+A CRITERION TCD 410R เป็นลำโพงที่เน้นเสียงที่ เที่ยงตรง มากกว่าใส่สีสันที่เอาใจหู (เช่นเพิ่มความโรแมนติก) ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น (โรงแมนติก, หวาน) เวลาฟังไปนานๆ จะจำเจกับบุคลิกเดียว ซ้ำซาก อีกทั้งจะเดี้ยงถ้าเอาไปฟังเสียงหนัง จะดูไม่จืดเลย เหมือนคนแก่ลากสังขาร อย่างฟังพวกเพลงไทยเก่าๆ มันฟ้องฝีมือบันทึกที่ไล่ตั้งแต่ แย่เอามากๆ (อุบาทว์หู) จนถึงค่อนข้างดีแจกแจงหลากหลายดีมาก ใช้ในห้องบันทึกได้สบายๆ

มันเป็นลำโพงที่ให้เสียงที่นิ่ง, กระชับ, มั่นคง โฟกัสดีมาก ไม่มีการส่ายวอกแวก (ใครไม่ชินอาจว่ามันจริงจังไปไหม) ทุ้มมีเกินพอแม้จะไม่มหึมา กลางออกอบอุ่นนิดๆ แหลมจะตกไปหน่อย (อยากให้ดังกว่าอีกนิด) อาจต้องเบินอินนานกว่านี้ (100 – 200 ชั่วโมงขึ้นไป) หรือเอาหน้ากาก (เหล็กพรุน) ออก พูดง่ายว่า อยากให้เสียงโดยรวมโปร่งขึ้นอีกนิด (เทียบกับลำโพงวางหิ้งระดับเหยียบแสนถึงแสนกว่าบาทที่เคยฟัง) แต่เชื่อไหมว่า เวลาเราไปนั่งฟังวงจริงๆ เล่น อย่างที่ผมเคยฟังบ่อยๆ ทั้งแจ๊ส (ไม่บ่อย), คลาสสิก (บ่อย) เสียงมันไม่สด โปร่งทะลุทะลวง อย่างที่เราฟังๆ กันหลอก มันจะออกมาแบบที่ฟังจาก 410R นี่แหละ!

410R ให้การแจกแจงอ่อนแก่ขอเสียงได้ดีมาก (DYNAMIC CONTRAST ดีมาก) ทำให้ฟังได้อารมณ์ ดึงดูด เพลิน ชวนติตามให้รายละเอียดดีแบบไม่ชำแหละโยนใส่เรา ให้น้ำเสียงได้ครบ (ให้ HARMONICS ได้ค่อนข้างครบ) หัวโน้ตกับตัวโน้ตเกาะเป็นก้อนเดียวกันให้ความกัจวานพองาม (ไม่แห้งแน่) คือ ไม่ขนาดล้นหลามเกินจริง ให้ทรวดทรงเสียงดีตลอดทุกช่องความถี่ ปลายแหลมอยากให้อวบกว่านี้อีกนิด (แม้จะเป็นทรวดทรงอยู่แล้ว) ให้เวทีเสียงกว้างมาก บางครั้งโอบมาหาเราได้ เวทีเสียงโอ่อ่าใช้ได้เลย แบบไม่หลอกหูด้วย สวิงเสียงได้กว้าง (อาจตื้อนิดๆ ที่ช่วงความถี่ต่ำ น่าจะเพราะยังเบินอินไม่ได้ที่) เสียงหลุดกระเด็นลอยออกมา เป็นอิสระได้ดีมากๆ ทำให้ได้บรรยากาศ ดุจไปฟังการแสดงสดได้ดี มีความเป็นดนตรีสูง

ถือว่าเป็นลำโพงวางหิ้งที่ดีที่สุดคู่หนึ่งเท่าที่ผมเคยฟังมาสมราคาค่าตัวที่ 145,000 บาท/คู่ (พอจะต่อรองราคาได้บ้าง)

  ขอขอบคุณ บริษัท อินเทนเนีย จำกัด โทร.0-2934-6997 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version