TEST REPORT: Seed H1-SEC01 Smart Turntable Audio Station

0

ความย้อนยุคอันร่วมสมัย เมื่ออะนาล็อกกับดิจิทัลอยู่ร่วมกันอย่างสุนทรีย์

Test Talk: พิพัฒน์ คคะนาท ● [email protected]

หากให้พูดจาภาษาร่วมสมัย ก็ต้องบอกว่า – มันเป็นอะไรที่มาเป๊ะกันได้แบบปังมาก, อะไรแถวๆ นี้แหละครับ และไม่ใช่การมาเป๊ะกันได้ปังเพียงครั้งเดียว เพราะสำรับผมแล้วมันมาเป๊ะและปังกันถึงสองครั้ง สองหน ในเวลาไล่ๆ กันเลยทีเดียว คือกำลังจะนำระบบเสียงชุดหนึ่งมาให้รู้จักกันครับ เป็นชุดเครื่องเสียงที่ผมเห็นครั้งแรกตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้จากต่างประเทศ ที่มักจะส่งข่าวมาให้ทราบในกล่องจดหมายอีเล็คทรอนิคส์ตามที่ได้เป็นสมาชิกเอาไว้

                คือเวลานี้วงการก้าวล่วงไปไวมาก อาศัยการวิ่งตามอย่างเดียวไม่ทันแล้ว ก็ต้องหาช่องทางแบบนี้แหละครับ คือใครมีอะไรใหม่ๆ ก็ส่งข่าวบอกด้วยละกัน โดยใช้วิธีเป็นสมาชิกเว็บต่างๆ ในสังคมออนไลน์ที่รายงานข่าวในลักษณะที่เป็นรายงานความเคลื่อนไหวแบบ Digital Trends เลยพอจะตามข่าวต่างๆ ได้ทันอยู่

                เพราะโลกอีเล็คทรอนิคส์นั้นนับแต่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวสู่ความสมบูรณ์พร้อม โฉมหน้าของวงการก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ต่อเมื่ออีกไม่นานหลังจากนั้นที่การควบรวมทางด้านดิจิทัลบรรลุล่วงในทุกๆ ด้าน การพัฒนาต่างๆ ก็ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ผลก็คือทำให้เราได้สัมผัสกับนานาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่นอกจากจะนึกไม่ถึงว่าเป็นไปได้แล้ว เหล่านั้นยังเอื้อความสะดวกในการใช้งานได้อย่างไม่คาดคิดอีกด้วย

                เช่นกันกับชุดเครื่องเสียงที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเที่ยวนี้ ผมเห็นข่าวครั้งแรกในกล่องจดหมายอย่างที่บอก ได้อ่านข่าวและเห็นหน้าตาในรูปประกอบ ก็ให้รู้สึกเข้าทีดี ดังที่เห็นในรูปแบบเต็มๆ ตัวเพียงรูปเดียวนั่นแหละครับ (คือเป็นรูปเครื่องวางอยู่บนโต๊ะทำงาน ซึ่งเห็นแขนของผู้ชายใส่เชิร์ตแขนยาว กำลังเปิดหนังสือนั่นแหละครับ) แต่ก็ติดอย่างเดียวคือไม่รู้ว่าการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในความหมายของประสิทธิภาพและคุณภาพเสียง ก็ได้แต่ชื่นชมแนวคิดและการออกแบบ ที่ดูจากรูปแล้วให้รู้สึกลงตัวน่าลอง น่าเล่นดี

            และด้วยความที่เห็นแล้วเข้าตาในเวลานั้น ผมก็เลย Save ข่าวเก็บเอาไว้ตามวัตรปฏิบัติกับของที่ชอบตามระเบียบ

Retro Go Modern ความย้อนยุคอันร่วมสมัย

                ชุดเครื่องเสียงที่ว่านั้น จำไม่ได้ดอกนะครับว่าเป็นของใคร ค่ายไหน เพราะอ่านข่าวแล้วไม่มักคุ้นแม้แต่น้อย โดยทั้งระบบหรือทั้งซิสเต็มมาในโครงสร้างเครื่องแบบชิ้นเดียว ออกแบบมาให้ตั้งวางได้สะดวกไม่ว่าจะบนโต๊ะทำงาน หรือบนตู้เตี้ยแบบไซด์-บอร์ดในห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ด้านบนให้เล่นแผ่นเสียงได้ มีแป้นหมุนหรือ Platter กับ Tonearm ที่น่าจะเป็นแบบก้านตรง มากกว่าปลายหักมุมในส่วนของ Headshell ที่ติดตั้งหัวเข็มเป็นรูปตัวเจ (J) เพราะที่เห็นในรูปมองไม่ชัด และในข่าวก็ไม่บอกรายละเอียดอะไร

            ย้ำว่า, ที่ว่ามาข้างต้นนั้น ว่าไปตามข่าวขณะที่ยังไม่เห็นหรือสัมผัสของจริงนะครับ

                อย่างไรก็ตาม, ที่ทำให้ผมสนใจภาคเล่นแผ่นเสียงของเครื่องนี้ ก็คือระบบป้องกันการสั่นสะเทือนครับ เพราะข่าวบอกว่าตู้ด้านล่างนั้นได้ฝังลำโพงเอาไว้ด้วย ดังนั้นระบบป้องกันการสั่นสะเทือนจะต้องดีมาก ไม่เช่นนั้นแล้วเวลาเล่น หรือเปิดให้ซิสเต็มทำงานขณะเปิดเล่นแผ่นเสียง คลื่นเสียงย่านความถี่ต่ำจากลำโพงย่อมส่งผลกระทบต่อการขับหมุนแผ่นอย่างแน่นอน  โดยตามข่าวบอกว่าบอกว่าใช้ระบบแขวนลอยแบบพิเศษ (Unique Suspension System) แต่ไม่ได้บอกหรือระบุให้พอรู้ได้ ว่าพิเศษแบบไหนกัน

                ซึ่งระบบป้องกันการสั่นสะเทือนแบบแขวนลอยในเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก และนิยมใช้ในเครื่องราคาแพงๆ โดยต้นคิดระบบนี้มาจากค่าย AR: Acoustic Research ซึ่งค้นพบระบบแขวนลอยแบบสปริง 3 จุด (Three-Point Suspension System) มานานกว่าครึ่งศตวรรษโน่นแล้ว

                เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าเป็นระบบที่ว่า ก็พอจะให้มั่นใจได้เบื้องต้นว่าคงสามารถป้องกันผลกระทบอันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากคลื่นความถี่ต่ำๆ ได้ดีในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

                นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้วในข่าวก็ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีก ทั้งในแง่ของระบบขับหมุน (Drive System) ว่าเป็นแบบใด รวมทั้งระบบกลไกการทำงานของโทนอาร์ม ก็ไม่ทราบว่าเป็นแบบไหน จะอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Auto) หรือจะเป็นแบบอัตโนมือ (Manual) ในข่าวไม่แจ้งครับ

                ลำโพงที่ฝังเอาไว้ตรงแผงหน้าตู้ด้านล่างนั้น ข่าวบอกว่าเป็นลำโพงแบบ 2-ทาง, ระบบสเตรีโอ คือมีลำโพงซ้าย/ขวาอยู่ในโครงสร้างตู้เดียวกัน ลำโพงแต่ละตัวก็จะประกอบไปด้วย Tweeter แบบโดมผ้าไหม (Silk Dome) ขนาด 1 นิ้ว กับ Woofer ขนาด 4 นิ้ว ทำให้แผงหน้าตู้ที่เห็นนั้นหากเปิดออกมาจะเห็นชุด Driver หรือตัวขับเสียงถึง 4 ตัว โดยมีแอมปลิไฟเออร์ขนาดกำลังขับ 70 วัตต์ ผนวกเอาไว้ในตู้ด้วย

                ที่ทำให้ผมทึ่งรวมทั้งสนใจเครื่องตัวนี้อีกประการ ก็เป็นเพราะอ่านต่อมาพบว่านอกจากรองรับการเล่นแบบ Analogue แล้ว ยังพร้อมทำงานกับ Digital Format ในลักษณะการเล่น Streaming Music ได้อีกสองรูปแบบ คือทั้งเล่นเพลงจาก Smart Device จำพวกสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ผ่านระบบ Bluetooth ได้แล้ว ยังให้เล่นแบบไร้สายผ่านเครือข่าย Wi-Fi รวมทั้งการเล่น Internet Streaming ได้อีกด้วย

                ครับ, ตามข่าวทั้งหมดก็มีเท่านั้นแหละครับ

            ซึ่งที่บอกมาข้างต้นมิได้ออกมาจากความทรงจำดอกนะครับ ออกจะเลือนๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่มันมีเหตุให้ต้องไปรื้อข่าวนี้มาดูอีกที จึงได้เห็นว่าตอนท้ายข่าว (ที่ออกมาเมื่อกลางเดือนพฤษภา’ ปีก่อน) บอกว่าเครื่องพร้อมออกสู่ตลาดในเดือนสิงหา’ ปีเดียวกัน

แล้วเรื่องที่ ‘เป๊ะ’ ก็มา ‘ปัง’ แถมยังดัง ‘สองเด้ง’ อีกต่างหาก

                เหตุที่ทำให้ผมนึกถึงเครื่องนี้ขึ้นมา ก็เป็นเพราะเมื่อสองสามเดือนก่อน มีน้องนุ่งรายหนึ่งเคยทำงานด้วยกันอยู่ช่วงแวะมาหาตามปกติ ขณะพูดคุยกันสารพัดเรื่องจู่ๆ น้องเขาก็ปรารภขึ้นมา ว่าไม่กี่วันก่อนแวะไปบ้านพี่ที่เกษียณมาได้สักพักแล้ว พี่เขาบอกว่าอยากจะกลับมาฟังแผ่นเสียงอีก เพราะก่อนหน้านี้สมัยหนุ่มๆ เล่นมาก แผ่นเยอะ วางมือไปไม่ได้ยุ่งเกี่ยวเลยก็หลังจากมีครอบครัวและสร้างหลักปักฐาน ก็เลยทำให้ต้องวางมือจากสิ่งที่เคยเป็นความชอบไปโดยปริยาย

            และทุกวันนี้เครื่องอะไรมันก็พังหมดไปตามกาลเวลา เหลือแต่แผ่นนี่ละที่อยากจะเอามาฟังใหม่ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ก็เลยถามเชิงปรึกษาน้องเขาว่าจะยังไงดี เพราะเห็นน้องเขาเคยมาช่วยผมทำหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง

                ตอนที่คุยกันน้องเขาจึงเอาเรื่องนี้มาถามผม ตอนนั้นผมก็ให้คำตอบอะไรไม่ได้ เพราะเป็นคำถามที่กว้างมาก เรื่องแรกเลยก็คือใคร่รู้ว่าพี่เขาต้องการเล่นแบบไหน อย่างไร จะลงทุนกับซิสเต็มใหม่ก็ต้องรู้งบประมาณ หรือต้องการแค่ฟังเอาเพลิน สบายๆ อยากได้อะไรที่ใช้ง่ายๆ ลงทุนไม่มาก, บอกน้องเขาไปว่าคือมันต้องรู้ตรงนี้ก่อน

                เวลานั้นน้องเขาก็ตอบไม่ได้ ว่าพี่เขาจะขนาดไหน แค่บอกว่าหากจะให้เดาๆ เอา ดูท่าน่าจะเป็นแบบหลังมากกว่า เดี๋ยวจะไปถามให้รู้แน่แล้วค่อยมาบอกละกัน

            ส่วนผมน่ะตอนที่น้องเขาบอกว่าน่าจะเป็นแบบหลัง จู่ๆ เครื่องที่เล่ามาข้างต้นก็วาบเข้ามาในหัวทันที

                แล้วก็เป็นหลังจากที่ได้คุยกับน้องนุ่งเรียบร้อย และกลับมาที่ห้องทำงานแล้วรื้อข่าวเกี่ยวกับเครื่องที่ว่านั้นมาดูอีกครั้ง จึงได้เห็นในข่าวว่าเครื่องเล่นระบบสเตรีโอชิ้นเดียว ที่จับเอาทั้ง Analogue Source และ Digital Format มารวมอยู่ด้วยกันนี้ มีชื่อว่า Seed ครับ ซึ่งเป็นชื่อที่มิได้มักคุ้นอะไรเลยดังที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้ว และมีคุณสมบัติต่างๆ ดังที่ได้บอกกล่าวไปครบถ้วนเท่าที่มีในข่าวตามที่บอกไปนั่นแหละครับ

                ไม่มีรายละเอียดด้วยซ้ำว่ามาจากที่ไหน แต่หากให้เดาก็คงขีดวงให้แคบที่สุดได้เท่าขอบเขตของจีนแผ่นดินใหญ่ คงไม่พ้นไปจากนี้สักกี่มากน้อย

                หลังจากกลับมาดูข่าวที่ได้ Save เก็บเอาไว้อีกครั้ง ก็มีอะไรอื่นเข้ามาทำให้ผมออกจะเลือนๆ เครื่องที่ว่านี้ไป เพราะน้องนุ่งรายที่จุดประกายเครื่องนี้ขึ้นมาในวาบความคิดผมก็ห่างหายไป ไม่ได้ส่งข่าวอะไรมาอีก กระทั่งน่าจะนานเกินสัปดาห์ แต่ไม่น่าถึงครึ่งเดือน จู่ๆ มีอยู่วันก็เห็นรูปเครื่องนี้โผล่เข้ามาใน Group Line ของคนในวงการเครื่องเสียงกลุ่มหนึ่ง ที่ผมถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ด้วย โดยรูปที่เห็นนั้นหาใช่รูปเดียวกับที่ปรากฏในข่าว ที่เห็นเป็นภาพรวมของซิสเต็มแบบชิ้นเดียว แต่เป็นรูปที่มาเป็นชุดสักสี่ซ้าห้ารูปเห็นจะได้ อีกทั้งบางรูปยังเปิดเปลือยให้เห็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในด้วย

                รูปที่ผมต้องคลิกเข้าไปดู และขยายให้กว้างที่สุดเท่าที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของผมจะสามารถทำได้นั้น คือรูปภายในของระบบป้องกันการสั่นสะเทือนของภาคเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ผมบอกว่าน่าสนใจ แต่ไม่มีรายละเอียดมากกว่าที่ข่าวว่าเป็น Unique Suspension System นั้น ปรากฏว่าในรูปที่เห็นมันเป็นระบบแขวนลอยแบบ 3-จุด ครับ

                เห็นเท่านั้นแหละครับ ผมไม่ได้พิจารณาอะไรอื่นอีกเลย นอกจากขยายรูปอื่นๆ ดูพอผ่านตา จากนั้นก็ดูว่าใครเป็นคนโพสท์รูปชุดนี้เข้ามา ปรากฏว่าเป็นน้องนุ่งรายหนึ่งที่มีความคุ้นเคยกันดี และมีเบอร์โทรติดต่อกันอยู่ในโทรศัพท์ด้วย

                เหลือบดูนาฬิกาเห็นใกล้จะเที่ยงวันแล้ว ผมก็โทรไปหาน้องเข้าทันที เมื่อได้ยินเสียงตอบรับผมก็ถามกลับไปโดยมิได้ทักทายอะไรก่อน ว่ารูปเครื่องชุดที่โพสต์เข้าไปในไลน์กลุ่มเมื่อสักครู่ได้มาจากไหนหรือ น้องเขาร้องอ๋อซะยาวก่อนจะหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่าเพิ่งได้มาเป็นตัวอย่างครับพี่ ผมเลยถามต่อว่าแล้วได้ลองหรือยัง คำตอบที่ได้คือกำลังเปิดลองเล่นอยู่ที่ร้านนี่ละ ผมเลยย้ำไปว่างั้นวันสองวันนี้คงยังอยู่ที่ร้าน ไม่เอาไปไหนใช่ไหม อยากจะแวะไปดูใน่อย น้องเขาบอกมได้เลยพี่ สะดวกเมื่อไรก็มาเลย ยังไม่เอาไปไหนแน่ๆ

                นี้แหละครับ, ที่ผมถึงได้บอกไปแต่แรกที่นำเรื่องนี้มาเล่าตั้งแต่ตอนต้นๆ ว่ามันเป็นเรื่องอะไรที่มาเป๊ะกันได้ปังมาก และสำหรับผมแล้วมันเป๊ะปังกันถึงสองเด้งด้วยซ้ำดังว่า

HYM-Originals Seed: Retro Go Modern

                และไม่ได้รอช้าวันสองวันอะไรตามที่บอกไว้ สายๆ วันรุ่งขึ้นผมก็แวะไปหาน้องนุ่งเขาที่ร้าน ซึ่งทันทีที่ผลักประตูเข้าไปเห็นหน้าน้องเขาก็ร้อง – อ้าว, ทำนองนึกไม่ถึงว่าผมจะเป็นวัยรุ่นใจร้อนไปได้

            และแน่ใจได้ ว่าผมคงมาเพราะเครื่องที่ถามถึงเมื่อวานนี้แน่ๆ ก็เลยออกปากบอกว่านี่ไงผมกำลังเปิดฟังอยู่ เสียงที่พี่ได้ยินนี่แหละ แต่ผมเปิดจากวิทยุอินเทอร์เน็ตนะ ผมได้ยินเสียงแล้วให้รู้สึกงงๆ หันไปรอบๆ ก็เห็นเครื่องที่หมายมาดมาสัมผัสของจริงแบบตัวเป็นๆ วางอยู่บนโต๊ะกลางเตี้ยๆ แต่ให้งงๆ กับเสียงที่ได้ยินว่ามันให้ออกมาดังที่กำลังฟังนั้นเลยหรือ ยังไม่ทันหันไปถาม น้องเขาก็บอกตามมาด้วยคงเป็นเพราะสีหน้าและท่าทางอันงงงวยของผม ว่า, ไม่ใช่เสียงของมันหรอก ผมต่อเข้าชุดใหญ่ออกลำโพง เอาแค่ภาครับวิทยุอินเทอร์เน็ตของมันมาเท่านั้นเอง

                ผมเลยบอกนั่นน่ะสิ กำลังแปลกใจเลยว่าทำไมตัวกะติ๊ดแต่เสียงให้ออกมาโอ่อ่า ฟังดูมีสกุลรุนชาติดีเอามากๆ นั้น เป็นเพราะน้องเขาดึงสัญญาณจากเครื่อง Seed ไปเข้าซิสเต็มที่แอมป์กับลำโพงรวมๆ แล้ว ก็หลายแสน (บาท) เอาการอยู่เหมือนกันนั่นเอง, มิน่า – ผมนึกในใจ – –

            และนั้นก็เป็นประเด็นใหม่ที่ผมไม่รู้จากข่าวมาก่อนเลยนะครับ ว่าเครื่องนี้มีเอาท์พุท หรือ Audio Out ที่สามารถเอาสัญญาณเสียงจากตัวมันออกไปต่อกับเครื่องหรือซิสเต็มภายนอกได้ด้วย นั่นก็เลยทำให้ผมใคร่รู้ต่อไปว่ามันยังมีอะไรอีกมากน้อยแค่ไหนที่ไม่ได้บอกเอาไว้ในข่าว

                จากนั้นน้องเขาก็ถอดสายต่างๆ ออก เพื่อให้เหลือแต่ตัว Seed โดดๆ เพื่อให้ผมได้ลองเล่นดู ระหว่างที่น้องเขากำลังง่วนอยู่ผมก็ดูรอบๆ ตัวเครื่องไปด้วย พร้อมกับถามว่าหัวเข็มนี่ติดให้มาพร้อมเลยหรือ เพราะเห็นสัญญลักษณ์ที่แผงหน้าชัดๆ ว่านี่มันโลโก้ของ AT นี่นา ซึ่งน้องเขาตอบสั้นๆ ว่าครับ ผมก็เลยพึมพำต่อว่าให้มาหรูไม่เบาแฮะ

                เพราะเป็น AT หรือ Audio-Technica ที่เมื่อคราวยุคสมัยการเล่นเครื่องเสียงยังเล่นแผ่น Vinyl กันเป็นหลักนั้น ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครในยุคนั้นเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรสักชิ้นของค่ายนี้อยู่ติดห้องฟังอย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกห้องต้องมีก็คือน้ำยาเช็ดทำความสะอาดปลายเข็ม (Stylus) ที่เป็นขวดขนาดเล็ก สีขา ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ด้านบนสอบเข้าหากัน ฝาปิดเป็นแบบเกลียวหมุนที่มีก้านปลายขนแปรงติดอยู่ในตัว ผลิตภัณฑ์ของ AT ชิ้นนี้แหละครับ ที่ผมเชื่อว่าทุกห้องฟังที่เล่นแผ่นเสียงต้องมีติดห้องอย่างแน่นอน

                AT นั้น มีอุปกรณ์ประกอบการเล่นเครื่องเสียง หรือ Accessories มากจริงๆ ครับ จะบอกว่าครบวงจรสำหรับความจำเป็นในการเล่นเครื่องเสียงต้องมีก็ว่าได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันของค่ายนี้ที่ได้รับความนิยมในลำดับต้นๆ คือ ชุดหูฟังครับ มีมากมายหลายรุ่นและมากแบบเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันไปให้เลือกเยอะมาก

                มาว่ากันเรื่องเครื่อง Seed ต่อนะครับ นอกจากรู้ว่าหัวเข็มของ AT ที่ติดให้มานั้นเป็นแบบ MM หรือ Moving Magnet แล้ว ก็ถามน้องเขาว่ามันชื่อยี่ห้ออะไรแน่ เป็น Seed หรือ เพราะดูรอบๆ เครื่องแล้วไม่เห็นชื่อนี้เลยนี่นา เห็นแต่ตัวอักษรประดิษฐ์เหมือนจะเป็นโลโก้ หรือตราสัญญลักษณ์ อ่านได้ความว่า HYM-Originals ทั้งที่แผงหน้าปัดด้านล่างที่เสมือนเป็นกรอบตัวเครื่อง กับบนแผ่นรองแป้นหมุน หรือ Turntable Matt รวมทั้งบนรีโมท คอนโทรล ก็มีโลโก้แบบเดียวกันติดอยู่อย่างชัดเจน ไม่เห็นบริเวณใด ตรงไหน บนตัวเครื่องมีคำว่า Seed ติดอยู่เลย

                น้องเขาก็บอกไม่รู้ซีพี่ อย่างที่บอกมันยังมาเป็นตัวอย่าง คู่มือก็ยังไม่มีมา เห็นแต่คนทางเมืองนอกที่หิ้วมาให้วันก่อนเรียกอย่างนั้น ผมเลยบอกไปว่านั่นน่ะสิ พี่เห็นในข่าวก็เขียนบอกแต่ว่าชื่อนี้เหมือนกัน

                แต่เวลานั้นผมบอกตัวเองว่า – มันจะชื่ออะไรกันแน่ก็ช่างเถอะ เพราะตอนนี้มันพร้อมสำแดงศักยภาพในตัวตนให้ได้สัมผัสแล้วล่ะ

Seed H1-SEC01 Smart Turntable Audio Station

                อย่างรก็ตาม, ไม่ขอเล่าอะไรต่อจากนั้นให้ฟังล่ะนะครับ เพราะหลังจากฟังแผ่น Vinyl ไปได้พักใหญ่ๆ แบบฟังไปพูดคุยกันไปกับน้องนุ่งถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเครื่อง สุดท้ายน้องเขาก็เลยบอกว่าพี่เอาไปลองเล่นต่อดีกว่า เพราะจะเข้าถึงได้รายละเอียดอื่นๆ ของมัน โดยเฉพาะกับการเล่นผ่านเครือข่าย Wi-Fi และ Internet Streaming

            เพราะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชันมาไว้ในสมาร์ทโฟนก่อน จากนั้นจึงใช้แอพนั่นแหละเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางผ่านในการนำไปสู่การเล่นแบบร่วมสมัยกับบรรดา Source ที่เป็น Digital Format ได้อย่างสะดวก

                ขณะที่นั่งดูน้องนุ่งกับผู้ช่วยกำลังช่วยเก็บเครื่องลงกล่อง เห็นแต่ละขั้นตอนของการปกป้องเครื่องให้ปลอดภัยจากการขนส่งแล้ว รู้สึกดีมากๆ เพราะมาถึงยุคนี้แล้วเชื่อว่าคนเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหม่ๆ คงไม่ทราบ ว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ละเอียดอ่อน และอ่อนไหวต่อการเคลื่อนย้ายมากแค่ไหน นี้, ยังดีนะครับที่เป็นชุดสำเร็จ คือทุกอย่างติดตั้ง แบบ Fixed มาจากโรงงานพร้อมสรรพ อย่างไรก็ตามบางส่วนก็ยังต้องเอาออกเพื่อแยกบรรจุต่างหาก

                อย่างเช่นส่วนของ Platter หรือแป้นหมุนที่เป็นแผ่นโลหะ และมีน้ำหนักมากเอาการนั้น ต้องแยกออกจากตัวเครื่อง และก็เป็นตอนที่ยกแป้นหมุนออกจากแกนหมุนนี่เอง ที่ทำให้ได้ทราบว่าระบบขับหมุนของมันทำงานด้วยสายพาน คือเป็นแบบ Belt Drive System ที่ยอมรับกันว่ามีความเที่ยงตรงอันนุ่มเนียนมาก

            และทำให้เห็นด้วยว่าแกนหมุนสายพานนั้นมีสองระดับ ก็เป็นการบอกให้รู้อยู่ในทีว่าภาคเล่นแผ่นเสียงเครื่องนี้เล่นได้ที่สองระดับความเร็ว แบบที่เรียกว่า 2-Speed นั่นเอง

                ยกแป้นหมุนออกไปจากตัวแท่นแล้ว น้องเขาก็ใช้สกรูว์ขนาดใหญ่ขันเข้าไปเพื่อมิให้ระบบป้องกันการสั่นสะเทือนขยับเขยื้อนได้ด้วยการกวดน้ำหนักมือให้พอดี ที่ต้องคนมีประสบการณ์กับเรื่องนี้เท่านั้นแหละครับที่จะรู้ได้ ว่าควรกวดแค่ไหนจึงจะไม่มากหรือแน่นเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่น้อยหรือเบามือเกินถึงขนาดที่ทำให้ส่วนที่ต้องการล็อคเอาไว้นั้น ยังสามารถขยับหรือเคลื่อนตัวแบบเกิดอาการคลอนได้ในขณะที่กล่องบรรจุอาจจะโดนกระทบกระทั่งบ้าง เป็นต้นว่าเอาใส่ท้ายรถเอากลับมาห้องนี่ เจอถนนขรุขระกระเทือนรถบ้าง ก็ยังคงสภาพดีอยู่, อะไรอย่างนี้แหละครับ

            นอกจากแยกแป้นหมุนที่เป็นแบบสองชั้นออกจากตัวแท่นแล้ว ในส่วนของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังมีตุ้มถ่วงน้ำหนัก (Counter Weight) สำหรับใช้ตั้งค่าแรงกดหัวเข็ม หรือ Tracking Force อีกชิ้นที่ต้องถอดออกจากด้านหลังโทนอาร์ม และทำให้ทราบว่าเครื่องรุ่นนี้ไม่สามารถเปลี่ยนหัวเข็มได้ และได้ตั้งค่าแรงกดหัวเข็มกับค่า Anti-Skating มาให้แบบ Fixed ดังว่า บริเวณชุดติดตั้งโทนอาร์มก็เลยไม่เห็นปุ่มตั้งค่า Anti-Skating ตามปกติแต่อย่างใด

                ส่วนสายไฟ AC เป็นแบบอะแด็พเตอร์ ซึ่งต้องแยกออกจากตัวเครื่องอยู่แล้ว

                ครับ, ทั้งหมดที่แยกออกมาบรรจุก็มีเท่าที่ว่า อ้อ, มีรีโมท คอนโทรล อีกชิ้นนึงด้วย ที่ทั้งหมดแม้แยกบรรจุแต่ยังคงรวมเอาไว้ในกล่องหลักเป็นกล่องเดียว

            และเป็นเพราะเครื่องได้ถูกบรรจุมาอย่างแน่นหนาดังว่า จึงตอนที่ผมเอามันออกมาจากกล่องหลังจากถึงห้องแล้ว เลยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากอยู่สักหน่อย ด้วยเพราะต้องลงมือคนเดียว และอย่างที่บอกข้างต้นคือมันมีส่วนประกอบแบบแยกชิ้นของภาคเล่นแผ่นเสียงที่อ่อนไหวด้วย จึงกว่าจะเอาขึ้นโต๊ะแล้วประกอบอุปกรณ์ส่วนต่างๆ ที่ถูกถอดออกกลับเข้าที่เพื่อให้พร้อมเล่นได้ ต้องใช้เวลาชนิดที่มีปาดเหงื่อหน่อยๆ แม้จะอยู่ในห้องปรับอากาศก็เถอะ

            หลังจากประกอบทุกส่วนเข้าที่เรียบร้อย ผมจึงมีเวลาพิจารณาดูหน้าตาเครื่องแบบชัดๆ พบว่างานฝีมือประณีตเรียบร้อยดีมาก โครงสร้างตัวถังปิดแผ่นลายไม้สีขาวนวลอมเหลืองแบบ White Oak ภาคเล่นแผ่นเสียงนั้นเนี้ยบเอาการใช้งานได้เลย งานละเอียดดีมาก แผงหน้าขึงไว้ด้วยผ้ายืดโดยมีกรอบอะลูมิเนียมหุ้มโดยรอบ ไม่สามารถดึงออกได้ส่วนด้านหลังมีช่องเสียบต่อและ Port ต่างๆ เรียงเป็นแถวแนวนอน ประกอบไปด้วย ช่องเสียบ DC In 24V 4.5A สำหรับอะแด็พเตอร์ไฟ AC 100-240V ซึ่งแสดงว่าเครื่องนี้ใช้ได้ทั้งกับไฟ 110V และ 220V แบบบ้านเรา ถัดมาเป็น Line Out แบบ RCA Jack L/R ใกล้ๆ กันเป็นช่อง AUX In แบบ Mini Jack 3.5mm ซึ่งให้นำเครื่องเล่นแบบพกพาแบบ MP: Media Player ต่างๆ มาต่อเล่นได้ ถัดเลยไปทางด้านขวาเป็นพอร์ท USB แสดงว่าสามารถนำ USB Device อาทิ Thumb Drive มาเล่นไฟล์ข้อมูลได้ด้วย ถัดเลยไปอีกหน่อยเป็นช่อง Digital Out แบบ SP/DIF (Optical Out) ใกล้ๆ กันเป็นพอร์ท Ethernet สำหรับเสียบสาย LAN สุดท้ายที่ขวาสุดเป็นปุ่ม Wi-Fi

            และเป็นตอนที่พิจารณาดูแผงหลังให้ชัดๆ นี้เอง จึงได้พบว่ามีแผ่นแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องพอเป็นสังเขปอยู่ด้วยบนกระดาษชิ้นเล็กๆ ประกอบภาษาที่พอจะเดาได้ว่าชื่อ Seed นั้นน่าจะใช้เป็น Sub-Brand ของ HYM-Originals เพื่อการทำตลาด พร้อมระบุชื่อรุ่น และชื่อเรียกเครื่องนี้ดังที่จ่าหัวไว้ที่ Sub-Head นี้ทั้งหมดนั่นแหละครับ

            หลังจากดูเครื่องจนถ้วนทั่วแล้ว ด้วยความที่ไม่มีคู่มือการใช้ติดมาด้วย สิ่งต่อมาที่ผมทำก็คือเข้าไปในเว็บไซต์ที่บอกเอาไว้บนแผ่นกระดาษหลังเครื่องนั่นแหละครับ ก็เลยทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องที่เป็นซิสเต็มนี้อีกพอประมาณ

                เริ่มจากโครงสร้างแท่นที่เห็นเป็นรูปโค้งปิดทับด้วยแผ่นลายไม้ลักษณะ Veneer นั้น ภายในขึ้นรูปด้วยแผ่นไม้ที่มีความหนาบางและความหนาแน่นที่แตกต่างกันถึง 10 แผ่น นำมาอัดแน่นเป็นชิ้นเดียวแล้วดัดโค้งด้วยกรรมวิธีขึ้นรูปถึงหกขั้นตอน เพื่อให้ได้ลักษณะดังที่เห็น การใช้ไม้แท้ที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันเพราะความสำคัญประการหนึ่งคือ มันเปรียบเสมือนเป็นแท่นเครื่องของภาคเล่นแผ่นเสียงด้วย จึงต้องมีความมั่นคงสูงและมีประสิทธิภาพในการรับแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี

                โทนอาร์มเป็นแบบ Low Mass ก้านตรง ความยาว 9 นิ้ว ผ่านการคำนวณเพื่อให้ได้การทำงานอย่างเหมาะสมกับระบบขับหมุน รวมทั้งกับหัวเข็มที่ใช้ ที่ท้ายสุดแล้วสามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงจากแผ่นไวนีลออกมาได้อย่างหมดจด และด้วยความเป็นธรรมชาติของเสียงดนตรีอย่างแท้จริง

            ระบบขับหมุนแผ่นเล่นได้ที่ความเร็ว 33-1/3 และ 45rpm (รอบ/นาที) ระบบการทำงานเป็นแบบ Manual โดยการใช้คันโยกสำหรับปล่อยเข็มลง และยกขึ้นเมื่อเล่นจบแผ่น แอมปลิไฟเออร์เป็นแบบ Class-D ให้กำลังขับ 35 วัตต์/ข้าง ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 60Hz – 20kHz โดยมีอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน (S/N Ratio) 86dB และ Optical Output นั้น สามารถให้ออกมาได้ถึงระดับ Hi-Resolution Audio ที่ 192kHz/24-bit

            มิติโครงสร้างเครื่อง (กว้าง x สูง x ลึก) 380 x 250 x 350 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กิโลกรัม

กับการลองเล่นและคุณภาพของเครื่องย้อนยุคอันร่วมสมัย

                ด้วยความที่ก่อนหน้านี้คราวเครื่องยังอยู่ที่ร้าน น้องนุ่งได้เปิดเพลงจากแผ่นให้ฟังเป็นหลัก และยังคงติดใจในน้ำเสียงที่ฟังได้ว่าช่างเอาการเอางานดีเหลือเกินนั้น ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะไปหยิบแผ่นไวนีลมาฟังต่อ และเมื่อได้สัมผัสกลไกการทำงานต่างๆ ด้วยมือของตัวเอง พบว่าเครื่องให้การตอบสนองที่นุ่มนวลดีมาก คันโยกปล่อยโทนอาร์มลดตัวลงเพื่อให้ปลายเข็มสัมผัสร่องแผ่นเคลื่อนตัวในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้ปลายเข็มเกาะร่องเสียงได้อย่างราบรื่น

                และเมื่อจบร่องเสียงสุดท้ายของแผ่น คันโยกเดียวกันนั้นก็ทำหน้าที่ยกโทนอาร์มขึ้น เพื่อให้ปลายเข็มพ้นจากร่องและผิวพื้นของแผ่นได้อย่างราบรื่น นุ่มนวล เช่นเดียวกัน

                หลังๆ นี่ ผมออกจะห่างเหินหรือว่างเว้นจากการเล่นแผ่นไวนีลอยู่สักหน่อย เนื่องเพราะอยู่ระหว่างการเตรียมตัวปรับปรุงบ้าน อันหมายถึงจะต้องขยับขยายห้องฟังหรือห้องลองเสียงใหม่ด้วย เลยเมื่อย้ายห้องทำงานออกมาจากบางส่วนที่เดิมเคยอยู่ในห้องเสียง แล้วสามารถเล่นแผ่นไวนีลบนโต๊ะทำงานได้ด้วยนี่ แทบจะระลึกชาติแบบรำไรให้เห็นเป็นเงาๆ ได้เลยครับ เพราะได้อารมณ์สุนทรีย์แบบเดิมๆ มาเต็มๆ นั่นเทียว

                ในขณะที่คนรุ่นใหม่นิยมการฟังเพลงแบบ ‘สำเร็จรูป’ เหมือนฉีกซอง ใส่ลงชาม เทน้ำร้อนใส่ แล้วกินได้เลยนั้น สำหรับคนรุ่นผมที่โตมากับการเล่นเครื่องเสียงแบบค่อยๆ ปรุง กว่าจะแล้วเสร็จจนใส่ชามนำขึ้นโต๊ะพร้อมกิน ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายนั้น มันมีความแตกต่างในแง่ของความละเมียดละไมในอันจะได้มาซึ่งความสุนทรีย์ของเสียงดนตรี ชนิดที่ต้องบอกว่าต่างกันมากกว่ามากเลยนะครับ และในความต่างอันนำมาซึ่งความสุนทรีย์นั้นเอง ที่มันทำให้การเข้าถึงดนตรีมีความลึกซึ้งกว่ากันมากเช่นเดียวกัน

                คนเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหม่ๆ คงไม่สามารถเข้าถึงความสุขของการตั้งหัวเข็ม ที่กว่าจะได้ที่ในความหมายของ ‘สมดุลเสียง’ อย่างที่ต้องการ บางคราวต้องใช้เวลากว่าครึ่งค่อนคืนดอกนะครับ บางครั้งผมและเพื่อนพ้องใช้เวลากับเรื่องดังว่าตั้งแต่ต้นค่ำ กว่าจะแล้วเสร็จได้ดังใจหมายก็ล่วงเข้าไปวันใหม่โขแล้ว จากนั้นก็ได้ชื่นชมฝีมือตัวเองผ่านเสียงเพลง เสียงดนตรี แค่เพียงอัลบัมเดียว ก็แยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมันไปนอนได้อย่างมีความสุขไปตลอดคืนที่เหลือแล้วล่ะครับ

                และให้รู้สึกดีใจ ที่ช่วงไม่กี่ปีให้หลังกระแสความนิยมในการเล่นแผ่นไวนีลกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง นักเล่นรุ่นใหม่ๆ จะได้มีโอกาสสัมผัสกับเสน่ห์ของเสียงเพลง เสียงดนตรี ในรูปแบบของบรรยากาศเสียงแบบเดิมๆ ดังที่ผมชอบที่เรียกว่า ‘เสน่หาอะนาล็อก’ กันได้มากขึ้น แต่จะง่ายขึ้นด้วยหรือไม่นี่ ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ เพราะแม้ว่าตัวเครื่องอย่าง Turntable หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียง จะมีหลายๆ รุ่น ที่มีราคาพอรับได้กับคุณภาพที่ให้ออกมา แต่กับราคาแผ่นเสียงที่นับวันจะแพงขึ้นทุกที ชนิดที่ซื้อแผ่นธรรมดาๆ สี่ซ้าห้าแผ่นก็ปาเข้าไปร่วมหมื่นแล้วนี่ จะทำใจให้กลับมาเล่นแผ่นไวนีลกันไหวไหม โดยเฉพาะกับใครที่ไม่มีต้นทุนเดิม – แบบมีคนรุ่นก่อนเก็บสะสมแผ่นเก่าๆ เอาไว้ให้ – – นั่นแหละครับ

                กลับมาที่เครื่องเล่น Seed ตัวนี้กันต่อครับ หลังจากเป็นปลื้มกับคุณสมบัติที่ให้เล่นแผ่นไวนีลได้ และอิ่มเอมไปกับน้ำเสียงที่ให้ออกมาอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในแง่ของความนุ่มนวลและความกลมกลืนทางด้านสมดุลเสียงแล้ว ผมก็ลองเล่นในอีกรูปแบบที่เป็นความชอบส่วนตัว (ใหม่) นั่นคือการฟังวิทยุอินเทอร์เน็ตที่เครื่องรองรับการทำงานด้วย

                เริ่มด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันมาเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน ใช้เวลาไม่นานทุกอย่างก็เรียบร้อย จากนั้นผมก็ต่อสาย LAN เข้าที่พอร์ทหลังเครื่อง Seed เปิดการเชื่อมต่อ Wi-Fi ไม่นานก็เห็นชื่อของเครื่องเพิ่มเข้ามาในรายการบนหน้าจอโทรศัพท์ จากนั้นก็กด Connect ทุกอย่างให้การทำงานที่ราบรื่นและเชื่อมต่อกันอย่างง่ายดาย สะดวกมากๆ ครับ

                แอพพลิเคชันนี้จัดการทุกอย่างเพื่อการนี้เอาไว้สะดวกดีครับ หากคุณเป็นสมาชิกผู้ให้บริการ Streaming Music ระดับแถวหน้าอย่าง Spotify, Napster หรือ Tidal เป็นอาทิอยู่แล้ว ก็สามารถคลิกเข้าไปแล้วใช้ Account ของคุณเล่นเพลงตามความคุ้นชินได้ทันที รวมทั้งยังมีรายชื่อผู้ให้บริการรายอื่นๆ อีกมาก ที่รู้จักกันดีก็มีอย่าง iHeartRadio เป็นต้น หรือถ้าจะเอาง่ายๆ สบายกระเป๋าเพราะไม่ชอบเสียกะตังค์อย่างผม ก็เข้าไปที่ TuneIn เพื่อค้นหาสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกเอาเอง, ซึ่งผมพบว่าสนุกกว่า ย้ำ – ตามความชอบที่เป็นส่วนตัวนะครับ – –

                เข้ามาตรงนี้แล้ว ถ้าเข้าไปที่ My Location ที่หน้าจอก็จะขึ้น Krung Thep (Bangkok) พร้อมรายชื่อสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตตามมาเป็นพรวน ก็เลือกคลิกเข้าไปฟังได้ตามอัธยาศัย แต่หากเลือกแถบเมนูที่ By Location เมื่อคลิกเข้าไปก็จะพบรายชื่อทวีปที่แบ่งเอาไว้ให้ตามลำดับอักษรอย่างเรียบร้อย ไล่กันมาตั้งแต่ Africa, Antarctica เรื่อยไปจนหมดชื่อทวีปที่มีในโลกนี้ แต่ที่ผมชอบและสนุกด้วยมาแต่ไหนแต่ไรในการเล่น หรือเปิดฟังวิทยุอินเทอร์เน็ต ก็มีแค่สองพื้นที่เท่านั้นเอง คือ Europe กับ North America ที่เมื่อคลิกเลือกเข้าไปแล้ว ก็จะมีแยกย่อยออกไปอีก เป็นประเทศ เป็นเมือง เป็นท้องถิ่น ถึงได้บอกไงครับว่ามันสนุกไม่รู้จบจริงๆ

                ดังที่เคยบอกนั่นแหละครับ ว่าสำหรับผมแล้วได้ค้นพบสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตที่เป็นความชอบมากมาย โดยเฉพาะสถานีเพลงคลาสสิค แจสส์ และพวกเพลงเก่าๆ จำพวกอภิมหาอมตะนิรันด์กาล, อะไรแถวๆ นั้น ที่บางวันฟังเพลินจนไม่ได้เปลี่ยนไปไหนเลย เพราะมีทั้งนักร้องเก่าๆ ที่เป็นต้นฉบับ กับนักร้องใหม่ที่เอาเพลงเก่ามา Cover ได้อย่างน่าฟัง นำมาเปิดให้ฟังตลอด แล้วจะไม่ให้ติดใจได้อย่างไรล่ะครับ เพราะประดามีพรรค์นี้มิอาจหาได้ในบ้านเราจริงๆ โดยเฉพาะเปิดให้ฟังกันทั้งวันทั้งคืนแบบนี้ ด้วยอารมณ์ประมาณนี้ หาไม่ได้ครับ

                นั้น, เป็นแค่บางตัวอย่างที่ถูกจริตนะครับ ด้วยบ่อยครั้งที่ผมพบสถานีเพลงคลาสสิคดีๆ จากแถบสแกนดินเวีย จากเซ็นทรัล ยุโรป รวมทั้งบางคราวพบสถานีเพลงบลูส์ที่เข้าที รวมทั้งมีไม่น้อยสถานีทางแถบยุโรปที่นำเสนอดนตรีในแนว Smooth Jazz ที่น่าฟัง และอะไรอื่นที่ให้ความรื่นรมย์ผ่านเสียงดนตรีนานารูปแบบอีกมากกว่ามากจริงๆ

            นอกจากเพลินไปกับสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตแล้ว จากที่ลองนำเพลงที่มีเก็บไว้ในโทรศัพท์มาเล่นผ่าน Bluetooth ซึ่งหนนี้การควบคุมมาอยู่ที่โทรศัพท์มือถือของผม หลังจากเปิดฟังค์ชัน Bluetooth ทั้งที่ตัวเครื่องผ่านการกดรีโมท คอนโทรล และเปิด Bluetooth ที่โทรศัพท์ สักครู่ที่หน้าจอก็เพิ่มรายชื่อ HYM-Seed ขึ้นมาให้เห็น พร้อมสถานะ Not Connected ก็กดคลิกเพื่อให้มันเชื่อมต่อกัน สักครู่หลังจากสถานะที่หน้าจอโทรศัพท์บอกว่าการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ที่เครื่อง Seed ก็มีเสียงคำว่า Bluetooth ดังออกมาให้ได้ยิน เพื่อเป็นการย้ำเตือนวให้ทราบว่าขณะที่ซิสเต็มกำลังจะทำงานผ่านระบบการเชื่อมต่อนี้ละ และพบว่าเครื่อง Seed ให้การทำงานได้อย่างรวดเร็ว หลังจากเลือกอัลบัม เลือกเล่นให้เริ่มตั้งแต่แทร็คแรก การตอบสนองสัญญาณเสียงดนตรีให้ออกมาด้วยความต่อเนื่อง มีความราบรื่นเป็นอย่างดี ไม่พบอาการสะดุดแต่อย่างใด ซึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับความแรงสัญญาณของระบบไร้สายที่ใช้ด้วย ซึ่งทำให้ได้อีกความเพลิดเพลินหนึ่งที่เป็นแบบร่วมสมัยซึ่งเครื่องหน้าตาย้อนยุคแบบ Retro เครื่องนี้สามารถทำได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง

                น่าชื่นชมดังที่จ่าหัวเอาไว้ใน Sub-Head ของบรรทัดถัดๆ ไปนั่นแหละ คือมันเป็นเครื่องที่รวมความเป็นอะนาล็อกกับดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสุนทรีย์จริงๆ ครับ

            เป็นความสุนทรีย์ที่ลงตัวยิ่งในชีวิตประจำวันอันร่วมสมัยแห่งยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง

บทสรุป: เมื่ออะนาล็อกกับดิจิทัลอยู่ร่วมกันอย่างสุนทรีย์

                หลังจากอยู่ด้วยกันอย่างอิ่มเอมร่วมๆ สองสัปดาห์ Seed ก็ถูกนำมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเรา เมื่อช่วงกลางเดือนธันวา’ ที่ผ่านมา โดย บจก. Karp Audio ผู้นำเข้าชุดเครื่องเสียง และลำโพง ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบนานาในความหมายของ Accessories สำหรับการเล่นเครื่องเสียงระดับ Hi-End ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และมีให้เลือกมากกว่ามาก

                การเปิดตัวและเปิดให้ผุ้เข้าร่วมงานได้สัมผัสการทำงานของซิสเต็มอย่างใกล้ชิด ภายใน Function Room ของโรงแรม ที่มีขนาดพื้นที่กว่า 50 ตารางเมตร นั้น ทำให้ผมได้สัมผัสประสิทธิภาพของ Seed ซิสเต็มนี้ด้วยความน่าทึ่งอีกครั้ง ในประเด็นที่มันสามารถให้พลังเสียงออกมาครอบคลุมห้องจัดเลี้ยงที่ว่านั้นได้ อย่างชนิดที่ต้องบอกว่า ‘เอาอยู่’

                ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าซิสเต็มแบบ All-in-One ที่มีขนาดกำลังพอเหมาะต่อการตั้งวางในห้อง และสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ที่ภาคให้เสียงประกอบไปด้วยแอมปลิไฟเออร์ Class-D กำลังขับ 35 วัตต์/ข้าง กับชุดตัวขับเสียงที่ประกอบไปด้วยทวีทเตอร์ ขนาด 1 นิ้ว และวูฟเฟอร์ ขนาด 4 นิ้ว อย่างละ 2 ตัว รวมเป็น 4 ไดรเวอร์ จะสามารถสื่อเสียงดนตรีออกมาได้ด้วยความสุนทรีย์ยิ่ง โดยมิได้ออกอาการ ‘ล้า’ หรือฟังได้ว่า ‘ขับเกินกำลัง’ แต่อย่างใด

                น้ำเสียงที่ให้ออกมายังคงมีความเป็นดนตรี และให้ความนุ่มนวล รวมทั้งให้สัมผัสได้ถึงพละกำลังที่มีในตัว ด้วยการทำงานแบบสบายๆ เหมือนที่ผมใช้ฟังอยู่ในห้องไม่มีผิดเพี้ยน และรับรู้ได้ถึงความดังเสียงที่มากกว่าอันนำมาซึ่งความรู้สึกที่ ‘อิ่มเอมกว่า’ ด้วยเช่นกัน

                ซึ่งในงานเปิดตัวนั้น ได้มีการสาธิตทุกฟังค์ชันการทำงานทีค่มีอยู่ในเครื่องทั้งซิสเต็ม ทั้งจากการเล่นแผ่นไวนีล เปิดฟังจาก USB Device รวมทั้งการใช้งานแบบ Streaming Music ทั้งจากการลองฟังวิทยุอินเทอร์เน็ต และการเล่นเพลงที่มีเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนผ่านทางระบบ Bluetooth ตลอดจนการนำเอาสัญญาณออกผ่านทาง Line Out ไปเข้าเครื่องเสียงชุดอื่น อีกทั้งยังมี Line In แบบ Mini Jack 3.5mm ที่ให้สามารถนำสื่อความบันเทิงอื่นที่เป็นเครื่องเล่นแบบ Media Player: MP มาต่อพ่วงใช้งานได้อีกด้วย

            ซึ่งทั้งหมดนั้นนอกจากจะกล่าวได้ว่าเป็นการรวมสื่อความบันเทิงทั้งแบบรวมสมัย และย้อนยุค มาไว้ด้วยกันได้อย่างน่าทึ่งแล้ว ทั้งหมดล้วให้การทำงานที่น่าประทับใจยิ่งอีกด้วย

                เป็นความน่าประทับใจในการที่มันสามารถรวมเอาความสุนทรีย์จาก Analogue Source มาผนวกเข้าไว้ด้วยกันกับสื่อความบันเทิงในรูปแบบของ Digital Format ได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังรวมทั้งหมดนั้นเข้าไว้ในกล่องเดียวเป็น Audio System ที่มีพร้อมทั้งภาครับสัญญาณเสียง ภาคขยายเสียง และลำโพง อยู่ในตัวอันมีภาพลักษณ์ที่แม้จะเห็นเครื่องเล่นแบบย้อนยุค อย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ด้านบน แต่โครงสร้างโดยรวมมีเส้นสายของความโค้ง เว้า ขึ้นรูปออกมาให้เห็นแบบร่วมสมัย ที่สามารถนำไปตั้งวางได้ในทุกๆ ห้อง แม้จะมีการตกแต่งที่แตกต่างกันไป ก็ให้จัดวางได้อย่างกลมกลืนและลงตัวยิ่ง

                สุดท้ายแล้ว, กับราคาค่าตัวประมาณสองหมื่นกลาง HYM-Seed Smart Turntable Audio Station ซิสเต็มนี้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะซื้อให้เป็นของขวัญปีใหม่ตัวเองหลังเหนื่อยมาจากการทำงานทั้งปีที่ผ่านมา หรือจะให้เป็นของขวัญสำหรับทุกคนในครอบครัว ก็ล้วนคู่ควรเป็นอย่างยิ่ง

                แบบว่าถ้าเป็นฝรั่งก็ต้องตบท้ายด้วยวลีที่ว่า Highly Recommended, อะไรแถวๆ นี้แหละครับ

                +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++