Test Report: SAECSPC-650

0

Test Report: SAECSPC-650

“A world’s first !” PC-Triple C Speaker Cable

มงคล อ่วมเรืองศรี

S548 copy 

ใช่ครับ… เราๆ ท่านๆ อาจไม่ใคร่จะคุ้นกับชื่อของ “SAEC” กันนักสำหรับในยุคปัจจุบัน ทว่าในยุคสมัยที่แผ่นเสียงยังครองโลกอยู่นั้น นักเล่นเครื่องเสียงน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก SAEC เนื่องเพราะ SAEC นั้น จัดว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านโทนอาร์ม (Tonearm) อยู่ในลำดับชั้นแถวหน้าของโลกก็ว่าได้ไม่เฉพาะในญี่ปุ่น ใครต่อใครที่เป็นนักเล่นแผ่นเสียงจะรู้ซึ้งถึงชื่อเสียงของ SAEC

SAEC (ซึ่งน่าจะย่อมาจาก Saeku Audio Engineering Corporation) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 ซึ่งอย่างที่บอกไว้ข้างต้น SAEC มีความเชี่ยวชาญทางด้านโทนอาร์มเป็นอย่างมาก และได้ออกจำหน่ายหนึ่งในสุดยอดโทนอาร์มประดับไว้ในวงการ อันโดดเด่นด้วยหลักการ “W (Double) knife-edge tone arm” โทนอาร์ม SAEC นั้นสร้างขึ้นด้วยมาตรฐานสูง แต่ทว่าก็มิได้ผลิตโทนอาร์มออกมาสู่ตลาดแล้ว โทนอาร์มของ SAEC ที่ยังคงมีจำหน่ายอยู่บ้างในปัจจุบัน จึงมักจะเป็น “ของเก่า” หรือ “ประเภทมือสอง” (แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง) กระนั้น SAEC ก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านสายสัญญาณ (Interconnect Cables) มาแต่แรกเริ่มด้วยเช่นกัน จนมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านนี้มาอย่างยาวนาน กระทั่งสามารถขยายไลน์การผลิตออกไปครอบคลุมตั้งแต่ Interconnect Cables; Speaker Cable; Optical Cable; Digital Cable รวมถึง Power Cable

 เรา-ท่านปฏิเสธไม่ได้เลยในความรุดล้ำนำหน้าทางเทคโนโลยีแทบจะทุกๆ ด้านของดินแดนอาทิตย์อุทัย ความเป็นคนช่างคิด-ช่างสังเกต รวมทั้งนิสัยความละเมียดละไม-พิถีพิถันของคนญี่ปุ่นได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดพัฒนาการแปลกใหม่ในด้านต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Nanotechnology หรือ Photocatalytic Systems ที่ริเริ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จนเป็นรูปเป็นร่างก่อเกิดพัฒนาการและก้าวหน้าไปอย่างมาก กระทั่งก่อคุณูปการแตกแขนงไปสู่อุตสาหกรรมในด้านต่างๆอีกหลากหลายแนวทาง

Picture 20

 แวดวงสายเชื่อมต่อต่างๆ (Cables) แม้จะมีพัฒนาการแรกเริ่มจากทางยุโรปและอเมริกา ทว่าในด้านการถลุงและหลอมสินแร่ให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุหลักที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงมากๆ อย่างยิ่งยวดนั้น ประเทศญี่ปุ่นนี่แหละที่นับเป็นผู้บุกเบิกสำคัญ และปัจจุบันก็ยังคงดำรง เคล็ดลับ นี้ไว้ กระทั่งกลายเป็นแหล่งผลิตสำคัญ-แหล่งเดียวในโลกก็ว่าได้ และพูดก็พูดเถอะทุกวันนี้ “ญี่ปุ่น” ได้กลายเป็นแหล่งผลิต “Ultra High Purity – Oxygen Free Copper” คุณภาพสูงมากของโลกจนเป็นที่ยอมรับกัน อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้าอย่างยิ่ง จนได้มาซึ่งเนื้อทองแดงค่าความบริสุทธิ์สูงยิ่งยวดในยุคปัจจุบัน อย่างที่เรียกกันว่า ‘PC-Triple C’

ก็แล้วหากย้อนถามว่า ‘PC-Triple C’ (PC-CCC) –ดีกว่า–พิเศษกว่า– “Ultra High Purity – Oxygen Free Copper” อย่างเช่น PC-OCC (Pure Copper Ohno Continuous Casting) ที่เรา-ท่านดูจะคุ้นเคยกัน อย่างไงล่ะ ? บอกได้เลย ณ ตรงนี้ครับว่า PC-Triple C นั้นคือ ผู้สืบทอดต่อจาก PC-OCC นั่นแลครับ (“PC-Triple C” is the successor of PC-OCC.) ซึ่งก็คงต้องขออนุญาตย้อนความไปสู่ “จุดเริ่ม” สักนิดครับ – อันว่าสินแร่วัตถุดิบ (Raw Material) โลหะทุกชนิดนั้น ล้วนมีสิ่งเจือปนสารพัดอย่างผสมรวมอยู่ในเนื้อโลหะกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจน, กำมะถัน, พลวง, สารหนู และอีกสารพัด ซึ่งสิ่งเจือปนเหล่านี้เรียกกันว่า “มลทิน” หรือ Impurity จะมากบ้าง-น้อยบ้างก็แล้วแต่แหล่งที่ขุดพบ จึงจำเป็นต้องมีขั้นตอน “การถลุงและหลอมสินแร่” เพื่อขจัดเอา มลทิน หรือสิ่งเจือปนที่แทรกตัวอยู่ในสินแร่นั้นๆ ออกไป เพื่อทำให้สินแร่นั้นๆ มีความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะสูงมากขึ้น

เทคโนโลยีของการถลุงและหลอมสินแร่ถูกพัฒนาก้าวหน้าเป็นลำดับ ทำให้ได้เนื้อโลหะที่มีความบริสุทธิ์ หรือ Purity ที่สูงยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้น จนมาถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ความบริสุทธิ์สูงยิ่งยวด ระดับ 99.99999% (7N) ขึ้นไปโดยมิใช่เรื่องยุ่งยากอะไรนักในทุกวันนี้ หนำซ้ำยังสามารถกระทำได้ในระดับที่ใช้ค่าโสหุ้ยถูกลงมากว่าเดิมมากทีเดียว การทำให้เนื้อตัวนำที่เป็นทองแดง (Popper) หรือ เงิน (Silver) ก็ตามแต่ มีค่าความบริสุทธิ์ที่สูงมากๆ นั้น ส่งผลดีต่อการนำ-พาสัญญาณโดยตรง เนื่องเพราะว่าหากมีสิ่งเจือปนแทรกตัวอยู่ในเนื้อตัวนำ เจ้าวัสดุเจือปนนั้นก็จะแทรกตัวขวาง-คั่นอยู่ระหว่างช่วงต่อของผลึกสสารที่เป็นเนื้อตัวนำนั้นๆ ทำให้อิเล็กตรอน-ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเสียง (Sound Signal) หรือว่า กระแสไฟฟ้า (Electric Power) เคลื่อนที่ (ไหล) ผ่านในเนื้อตัวนำนั้นๆ ได้ลำบาก ก่อให้เกิดมีอาการ “กระโดดข้าม” (Jump) หรือว่า “ชะงักงัน” (Baulk) ขึ้นมาตรงช่วงรอยต่อของเนื้อตัวนำกับสิ่งเจือปนที่คั่น-ขวางอยู่ ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนทางรูปสัญญาณ รวมทั้งค่าความเหลื่อมล้ำทางค่าเวลา ผันแปรไปจากอย่างที่ควรจะเป็น

 Logo saec

            ทั้งนี้ทั้งนั้นหากสามารถทำให้เนื้อตัวนำนั้นๆ มีค่าความบริสุทธิ์ที่สูงมากๆ ได้ อาการ กระโดดข้าม หรือว่าชะงักงันของอิเล็กตรอนก็จะเกิดขึ้นน้อยลงมาก เพราะสามารถเคลื่อนที่ หรือไหลผ่านในเนื้อตัวนำนั้นๆ ได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง ไม่สะดุด-หยุดเป็นช่วงๆ ตรงรอยต่อของเนื้อตัวนำกับมลทินทั้งหลาย อิเล็กตรอนจึงสามารถเคลื่อนที่ หรือไหลผ่านเนื้อตัวนำได้อย่างปรู๊ดปร๊าดและราบเรียบต่อเนื่อง-ไม่หยุดชะงักเป็นช่วงๆ นำ-พามาซึ่งสัญญาณเสียงที่ราบเรียบมากๆ รายละเอียดต่างๆ ก็คงอยู่ครบถ้วนไม่สูญหาย หรือถูกลดทอนลงไปในขณะเคลื่อนที่ภายในเนื้อสายตัวนำ ค่าเฟสสัญญาณก็ไม่แปรผัน-ผิดเพี้ยน-เปลี่ยนค่าองศาไป สัญญาณเสียงประเภทฉับพลันทันใด (transient) ก็จะสามารถ ตอบสนอง ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงเรื่องของ ไดนามิกเสียง และรายละเอียด” อันสมจริงอีกด้วย

‘PC-Triple C’ ก็คือ Pure Copper – Continuous Crystal Construction แปลความได้ว่า ทองแดงค่าความบริสุทธิ์สูง ที่มีโครงสร้างผลึกต่อเนื่องกันยาวมาก-ไม่มีขาดตอน ทั้งนี้เราๆ ท่านๆ อาจรู้จักกับคำว่า Mono-Crystal ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกัน นั้นคือ เนื้อทองแดงที่มีลักษณะทางโครงสร้างโมเลกุลที่เป็นแบบ “ผลึกเดี่ยว”  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ผลึกที่ยาวต่อเนื่องกัน” (Continuous Crystal) ดังนั้นสัญญาณเสียงจึงเดินทางได้อย่างราบเรียบ “ไม่สะดุด” หรือ “หยุดชะงัก” ตรงช่วงรอยต่อของโครงสร้างโมเลกุล และยังส่งผลต่อค่า Inductance และ Capacitance ที่ต่ำมากๆ นอกเหนือจากเรื่องความบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจาก มลทินต่างๆ ที่แอบแฝงอยู่ในเนื้อวัสดุตัวนำ (Pure Copper)

 oyk

คุณลักษณ์

สายลำโพงรุ่น SPC-650 เป็นสายลำโพงรุ่นใหม่ล่าสุดในชุด ‘PC-Triple C’ ของ SAEC ที่พูดได้ว่า ใช้ตัวนำสายของ FURUKAWA ซึ่งถือเป็นต้นตำรับ ที่พัฒนากรรมวิธี Continuous Crystal Construction นี้จาก ‘Continuous-Forge Elongation Process’ อันเป็นการพัฒนามาจากขั้นตอนการตีดาบซามูไรในสมัยโบราณอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะตีดาบให้โลหะค่อยๆ ยึดตัวออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผลึกไม่เกิดความเครียดเค้นในเนื้อโมเลกุล

SPC-650 มีขนาดหน้าตัดภายนอกเท่ากับ 7.5 มม. ภายในบรรจุสายตัวนำ ‘PC-Triple C’ สีสุกปลั่งจำนวน 2 เส้นใหญ่ ที่แต่ละเส้นนั้นมีขนาดหน้าตัดของแกนสายตัวนำ (Conductor) อยู่ที่ 1.4 sq.mm. ซึ่งประกอบขึ้นจากสายทองแดงฝอยความบริสุทธิ์สูงเส้นเล็กๆ (Strands) จำนวนมาก แล้วห่อหุ้มด้วยฉนวนที่เป็น ‘Polypropylene’ ในแต่ละเส้นใหญ่นั้น ส่วนเปลือกนอกห่อหุ้มตัวสายเป็นวัสดุ PVC สีออกน้ำตาล-ดำเข้ม ไม่มีสัญลักษณ์กำหนดทิศทางการเสียบต่อปรากฏอยู่บนตัวสาย การกำหนดทิศทางในการเสียบต่อระหว่างแอมปลิไฟเออร์กับลำโพง จึงใช้วิธีดูจากแนวตัวอักษร SAEC ที่เรียงตัวจากต้นไปสู่ปลาย

SPC-650 เป็นสายลำโพงรุ่นกลางๆ ซึ่งถ้ารุ่นเล็กลงไปก็จะเป็น SPC-350 และถ้าเป็นรุ่นใหญ่ขึ้นไปก็ได้แก่ SPC-850 ซึ่งมี ขนาด ที่ใหญ่แทบจะเท่าตัวของ SPC-650 ตอนที่ผมได้รับ SPC-650 มาจากคุณชิณพัฒน์ เจ้าของบริษัท Audio 168 จำกัด (ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี) ยังไม่มีรุ่น SPC-850 ออกจำหน่าย แต่ขอบอกไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า SPC-650 ให้เสียงที่น่าประทับใจ (ตั้งแต่ยังไม่ได้เบิร์นอินอะไรเลยด้วยซ้ำ) จนกลายเป็นสายลำโพงที่ผมใช้งานประจำไปเลย มิได้ส่งคืน

 Picture 1

 

ผลการรับฟัง

SPC-650 ให้ความ-แตกต่าง-ที่รับรู้ได้ว่า ดีขึ้นกว่าสายลำโพงที่ผมใช้อยู่ประจำมาตั้งแต่ดั้งเดิมพอสมควรเลยละครับ ทั้งๆ ที่ก็เป็นสายลำโพงที่มีตัวนำเป็นประเภท PC-OCC ไม่ว่าจะเป็นในแง่น้ำหนัก-พลังเสียง รวมทั้งรายละเอียดที่เปิดเผยออกมามากขึ้น รวมไปถึงการเปิดโปร่ง-ฉับไวในด้านของไดนามิกเสียงอย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว แทบไม่ต้องการเบิร์นอินมากมายอะไรเลย – เพียงแค่ผันผ่านชั่วโมงการใช้งานสัก 3-4 ชั่วโมง SPC-650 ก็สามารถสำแดงสมรรถนะออกมาได้อย่างน่าทึ่ง….

ความสดใส โปร่งกระจ่าง ควบคู่กับเนื้อเสียงเนียนนุ่มละมุนละไม รวมถึงความฉับไวก็ถูก SPC-650 นำพาจาก USHER R1.5 ออกมาถ่ายทอดให้ได้รับฟังผ่านทาง Tannoy System 10 DMT II รวมทั้งรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ระยิบระยับครบถ้วน นับเป็นจุดเด่นที่บ่งบอกออกมาทันทีเมื่อได้ฟัง ทั้งยังสัมผัสได้ถึงความเต็มอิ่มในน้ำหนักเสียง บ่งบอกสภาพความมีทรวดมีทรงของทุกสรรพเสียง ให้ความนวลเนียน ละเมียดละไมยิ่งกว่าที่เคยคุ้น และในทุกสรรพเสียงนั้นก็ล้วน “เด่นลอย” ออกมาอย่างมีตัวตน และมีอาณาบริเวณเสียงที่เป็นอิสระไม่ซ้อนทับปนเปกัน เสียงทุกเสียงที่รับฟังมีความสว่างกระจ่างขึ้นกว่าธรรมดา

ซึ่งหมายรวมไปถึง สภาพบรรยากาศเสียง ที่ถูกส่งมอบออกมาในขณะรับฟัง ทำให้เสียงดนตรีที่รับฟังนั้นมีความสมจริง แม้กระทั่งการออกเสียงอักขระภาษาที่นักร้องเปล่งออกมานั้นก็สมจริงมากในความเป็นธรรมชาติอย่างที่เราได้ยินได้ฟังการเปล่งเสียงนั้นออกมาจากปากมนุษย์จริงๆกระนั้น มีทั้ง “น้ำหนักเสียง” มีทั้ง “ลมหายใจ” เป็นเสียงที่มีชีวิตมีตัวตน รวมถึงความเปิดโปร่งเป็นอย่างมาก รู้สึกได้ถึงว่า รับฟังอะไรๆ ได้แจ่มชัดขึ้น มากขึ้นอย่างแท้จริง รายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อย ที่แม้จะแผ่วเบาแต่ก็ชัดเจน และเด่นลอยออกมา

47

 SPC-650 ให้ความเด่นลอยของเสียงหลักที่ถูกจำแนกแยกออกมาจากพื้นเสียง ทั้งๆ ที่ พื้นเสียงนั้นก็ดูจะชัดเจนขึ้นกว่าธรรมดา จนสามารถรับฟังได้ถึงรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยที่แม้จะแผ่วเบาแต่ก็ชัดเจน ให้ความเด่นลอยตัวหลุดออกมา เสียงทุกเสียงที่รับฟังมีความสว่างกระจ่างขึ้น สำแดงถึงความฉับพลันทันใดของเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เสียงแต่ละเสียงมีน้ำหนัก ไม่เบาโหวงเหวง ลอยเวิ้งว้าง ความผุดโผล่ของเสียงแต่ละเสียง อุบัติขึ้นอย่างมีตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน ในขณะที่ช่วงย่านเสียงต่ำก็รับรู้ถึงน้ำหนักเบสที่ใหญ่ ทรงพลัง ให้เรี่ยวแรงปะทะ และแผ่บาน-กระจายตัว มีจังหวะจะโคนที่ชัดเจน กระนั้น SPC-650 ก็มิได้ส่งมอบลักษณะเสียงออกมาในแนวเข้มข้น-ขึงขัง (Dark) จัดว่าอิ่มเอิบฟังสบาย ให้เนื้อเสียงที่เป็นตัวเป็นตนซะละมากกว่า

ทั้งนี้สุ้มเสียงโดยรวมที่รับฟังได้จาก SPC-650 นั้นให้ความฉ่ำชุ่ม เข้มข้น และฉับไว ฟังแล้วรู้สึกอิ่มเอมเปรมใจ ไร้ซึ่งความกระด้าง ระคายหู ความชัดเจนของทรานเชี้ยน (Transient) รวมถึงความฉับพลันทันใดอันเยี่ยมยอด เสียงแต่ละเสียงมีน้ำหนัก ไม่เบาโหวงเหวง ความผุดโผล่ของเสียงแต่ละเสียงล้วนฉับไว-ทันทีทันใด และระบุทิศทางที่มาหรือตำแหน่งแห่งที่ของเสียงแต่ละเสียงได้อย่างแน่นอน แม้ในเสียงที่เกิดขึ้นซ้อน-แทรกพร้อมๆ กัน ก็ยังสามารถจับตำแหน่งของแต่ละเสียงนั้นได้ ไม่ถูกเบียดบัง หรือกลบเกลื่อนจนเลือนหาย (กลมกลืน) ไป

ช่วงย่านความถี่เสียงสูงให้ความกังวาน พละพลิ้ว และทอดตัวไปไกล ไร้ซึ่งความจัดจ้าเกินจริง โดยไม่มีอาการหดห้วน หรือกักกั้น ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงกลางนั้นจะแผ่บาน กระจายตัวอย่างมีอาณาบริเวณ พร้อมด้วยความอบอวลของมวลบรรยากาศ รับรู้ได้ถึงน้ำหนักเสียง ความกลมกลึงมีตัวมีตน รวมถึงความมีน้ำนวลของเนื้อเสียง ส่วนช่วงย่านเสียงต่ำก็มีความอิ่มเอิบและกระชับฉับไว ไม่อวบอ้วน อุ้ยอ้าย ให้จังหวะจะโคนที่แม่นยำ ยิ่งฟังยิ่งสนุก รุกเร้าใจ ….

 x800

สรุปส่งท้าย

สรุปได้ว่า “น่าทึ่ง” มาก  น่าทึ่งในทุกๆ อย่างที่รับฟัง สายลำโพง SPC-650 นี้จะทำการ ’ยกระดับ’ การรับฟังให้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะในด้านความสดใสเปี่ยมในรายละเอียด ถ่ายทอดบรรยากาศเสียงของสถานที่ทำการแสดงได้อย่างชัดเจน รวมทั้งการส่งมอบช่วงย่านความถี่เสียงต่ำ ซึ่งให้เสียงเบสที่แผ่ใหญ่ ทรงพลัง หนักแน่น ควบคู่ความฉับไวในจังหวะจะโคน ทั้งยังขยาย-ทิ้งทอดตัวลงไปได้ลึกถึงก้นบึ้ง ซึ่งถือเป็น ความโดดเด่น สำคัญอันน่าประทับใจ

SPC-650 ให้ทั้งความชัดเจนและความมีตัวตนของเสียงอย่างมีชีวิตชีวา สามารถทำให้คุณเปิดเร่งระดับความดังเสียงที่รับฟังอยู่นั้นได้มากขึ้น-มากขึ้น อย่างมันซะใจในอารมณ์ โดยที่มิได้รู้สึกอึดอัดรำคาญหรือหนวกหูแต่อย่างใด โดยยังคงไว้ซึ่งความชัดเจน สดใส ไม่อับทึบ ขุ่นมัว หากฟังกับเพลงคลาสสิก ก็จะสัมผัสได้กับความอลังการ ยิ่งใหญ่ แผ่กว้าง และแจ่มชัดทั้งในมิติด้านกว้าง ด้านลึก และความสูงชนิดตื่นตาตื่นใจในสเกลเสียงที่รับฟัง

SPC-650 อาจดูเป็นสายลำโพงธรรมดาๆ ในรูปลักษณ์ อีกทั้งยังมีระดับราคาที่เรียกได้ว่าสามารถซื้อหาได้อย่างสบายกระเป๋า ทว่าสิ่งที่ได้รับออกมาจาก นั้น -ช่างคุ้มค่า- เสียนี่กระไร ใครมองข้ามไป ไม่แม้ชายตามองนับว่า “น่าเสียดาย”

 

อุปกรณ์ร่วมใช้งาน :- ปรีแอมป์ Luxman C-5000a; เพาเวอร์แอมป์ USHER R1.5; ลำโพง Tannoy System 10 DMT II ; สายสัญญาณ Van Damme

อุปกรณ์เสริม :- XAV : EMX -9 (วางทับบนปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์); Entreq : Ground Box รุ่น Silver MinimUs + Eartha Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1

 

ขอขอบคุณ Audio 168 โทร. 080-560-8448 ที่เอื้อเฟื้อให้ SAEC SPC-650 มาทดสอบในครั้งนี้

 

รูปลักษณ์ – 4 ดาว

สมรรถนะ – 5 ดาว

คุณภาพเสียง – 4 ดาวครึ่ง

โดยรวม – 4 ดาวครึ่ง