What HI-FI? Thailand

Test Report: ROKSAN OXYGENE Intregrated Amp

Test Report: ROKSAN OXYGENE Intregrated Amp

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ROKSAN OXYGENE Intregrated Amp

 

OXYGENE เป็นเครื่องเสียงตระกูลไฮเอนด์ ไลฟ์สไตล์ของ ROKSAN จากอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหมายที่เครื่องมีขนาดเล็ก, กะทัดรัด ไม่เกะกะ อีกทั้งรูปโฉมต้องดูไลฟ์สไตล์ไม่ดูแข็งกร้าว พูดง่ายๆ ว่าต้องอ่อนช้อยแต่หนักแน่น จนแม้แต่ผู้หญิงเห็นแล้วก็ชอบ นอกจากนั้นต้องดูสวยหรู มีราคา แต่ไม่เว่อร์ อีกทั้งต้องเล่นง่ายที่สุด ปุ่มน้อยที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด คุณภาพเสียงต้องคับแก้ว และเชื่อมต่อรับแหล่งรายการจากภายนอกได้อย่างไร้สาย ไม่ต้องมาเสียบสายต่อให้วุ่นวาย

ปัจจุบันเครื่องเสียงในตระกูลนี้มีอินทีเกรทแอมป์, เครื่องเล่น CD (มี DAC ในตัวคือเป็น PLAYER) ก่อนหน้านี้จะเป็นแต่ภาคเล่นแผ่นไม่มีภาค DAC เรียก TRANSPORT

อินทีเกรทแอมป์ OXYGENE

ด้านบนเครื่องมีแถวอักษร less is more โดยแต่ละคำคือปุ่มกดกึ่งสัมผัส (แบบ Pressured Contact) กดปุ่ม is INPUT (LINE 1, LINE 2, LINE 3, เชื่อม Bluetooth ไร้สาย) เลือกเป็นโวลลุ่มดัง-ค่อย โดยกดคำ less จะลดโวลลุ่มลง กดคำ more จะเร่งโวลลุ่ม (ตอนเป็น INPUT ก็กด 2 ปุ่ม Less หรือ More เลื่อนหา INPUT)


สเปคจากโรงงาน

กำลังขับจะไม่ตกเกิน -1 dB ตลอด                            1 Hz – 43 kHz (POWER BANDWIDTH)

กำลังขับต่อเนื่อง                                                          75 W.RMS/CH (8 โอห์ม)

150 W.RMS/CH (4 โอห์ม)

ความต้านทานขาออก                                                0.02 โอห์ม (ความถี่สูงกว่า 1 kHz)

อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน                               95 dB

ความเพี้ยน (THD)                                                    ต่ำกว่า 0.1%

จำกัดกระแส                                                              10 แอมป์

กินไฟเมื่อไม่ป้อนสัญญาณ                                      20 วัตต์

กินไฟสูงสุด                                                               230 วัตต์

ขนาดเครื่อง (ซม.)                                                    31 (กว้าง), 31 (ลึก), 6 (สูง)

น้ำหนักสุทธิ                                                               7 กิโลกรัม

 

ผลการทดสอบ

        จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (RCA) เข้าช่อง LINE 2 ของ OXYGENE (ให้เสียงมีทรวดทรง, หลุดลอยออกมาได้ดีกว่า LINE 3 กับ LINE 1 มากพอควร) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) แยกอิสระ 2 ชุด (ไม่แตะกัน) เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น, เอาหน้ากากออก เอียง TOE IN ขยับจูนจนได้ทั้งสุ้มเสียงครบ และมิติเสียงมีทรวดทรงดีที่สุด (3D), หัวแจ็คสายลำโพง WBT บานาน่า (ปืน) ด้านแอมป์บานาน่าปกติ (WBT) ด้านลำโพงยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด A4 (ใหม่) 2 รีม (ไม่ห่อ), อีก 1 รีมคั่นแยกสายลำโพง S-2 ชุด แหลมกับชุดทุ้ม อีก 4 ตั้งทับบนสุด

สายไฟ AC ของ OXYGENE ที่ให้มาไม่ได้ใช้ (ขี้เกียจมานั่งเบิร์นอินสาย) จึงใช้สายไฟ AC ของ CHORD ที่ปกติใช้กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 ที่อ้างอิงในห้องฟัง สายไฟ AC ของ T+A ใช้สาย AC ของ No.383 สายไฟ AC ของ T+A กับ OXYGENE เสียบผ่านตัวกรองไฟ PHD POWER STATION ตัวนี้น่าใช้มากๆ ยิ่งใช้ยิ่งชอบ เลือกเฟสไฟ AC ขาออกได้ (รูออก 2 ชุดเฟสสลับกัน) เลือกสายไฟ AC ขาเข้ากล่องได้ 2 ชุด (เฟสไฟต่างกัน เพื่อสอดรับกับเฟสไฟของตัวกรองภายในกล่องต่อเฟสไฟของเต้าเสียบตัวเมียที่กำแพง) สายไฟ AC ของกล่องกรองไฟเข้าเต้าเสียบตัวเมียฮับเบลสีส้มที่กำแพง นอกห้องเสียงมีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบอยู่ (ผ่านอะแด็ปเตอร์ 1 : 2 ของ WONPRO) 2 ตัว ที่หัวนี้ผมรัดด้วยยางรัดผมผู้หญิง ซึ่งการเลื่อนจุดรัดมีผลต่อมิติเสียงมาก ต้องห่างจากขอบกลมปลายสุดประมาณ 2 มม. ถ้าสุดจะฟุ้ง จะเห็นว่าผมพยายามป้องกันการรบกวนจากภายนอกต่อ OXYGENE มากที่สุด และการกวนของมันต่อ T+A ด้วย (ถึงกันและกัน) T+A ผมเลือก FILTER 3 (มิติเสียงดีสุด)

 

 

ผมเร่งโวลลุ่มที่ OXYGENE 46

ขณะทดสอบไม่มีการใช้รีโมทใดๆ (แม้แต่ของ T+A), ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, iPad, PC, โน้ตบุ๊ค, นาฬิกาไฟฟ้า (ทั้งแขวน, ข้อมือ), ไม่มีจอ LCD, จอ PLASMA, ไม่มีแบบเชื่อมต่อ LAN, WiFi ใดๆ นอกจากรั่วมาจากภายนอกประมาณ 6 SPOT (เซ็ง) มีกล่อง CRYSTAL POWER PACK (กล่องตัวอย่างเมล็ดผลึก 12 ชนิด) 4 กล่องในห้อง (ช่วยดูดคลื่น RF กวนสมองในห้อง) มีผลึกอะมิทิสขนาด 4 กำปั้น อยู่ด้านข้าง T+A ห่างไป 2 คืบ อีก 1 กำปั้นอยู่ด้านล่างที่พื้นด้านขวาของที่นั่งฟัง พวกนี้จะมีการหมุนหาทิศจูนจนได้มิติ, เสียงดีที่สุด (ต้องจูนนะครับ) ที่ OXYGENE และ T+A ผมทำระบบ ระบายกระแส EDDY CURRENT ไว้ด้วย แยกคนละชุด กับ T+A เวทีเสียงดีขึ้น 30%, กับ OXYGENE ช่วยให้มวลเสียง (ฮาร์โมนิก) มาครบขึ้นมาก ทรวดทรงก็ดีขึ้น ตำแหน่งชัดเจนขึ้น

 

จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดแยกเป็นโน้ตๆ ได้ดี รับรู้ได้ถึงหัวโน้ต แยกแยะได้ว่าดนตรีไหนอยู่ “แถวๆ” ไหน อะไรเป็นอะไรได้ดี แต่ขอบเขต หรือความคมชัดของทรวดทรงเสียงในเวทีเสียงยังเบลอไม่เป็นเม็ดๆ หลุดกระเด็นออกมาแบบรูปปั้นลอยตัว เสียงโดยรวมเป็นกลาง ฉับไวใช้ได้ เพลง 4 ขึ้นต้นเงียบใช้ได้ อาจไม่ขนาดเงียบสุดจนสงัด เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ได้ดีกว่าเพลง 3 (น่าจะเป็นเพราะชิ้นดนตรีน้อยกว่า) เสียงระนาดมีเนื้อหนัง (มวล) กำลังดี ไม่รู้สึกว่าผอมบางเป็นเส้นลำอย่างแอมป์ดิจิตอลหรือ Class D ในอดีต เสียงเขย่าฉิ่งฟังชัดดี เสียงต่างๆ ให้โทน หรือฮาร์โมนิกได้ค่อนข้างครบถูกต้องดีผิดคาด เพลง 5 (เช่นเดียวกัน) ขึ้นต้นยังไม่สงัดสุด (พอๆ กับเพลง 4 เท่านั้น) เสียงตีระนาดชัดเจน มีเนื้อหนังดี หัวโน้ตกับตัวโน้ตกอดคอมาด้วยกันได้ดี (ปกติแอมป์ดิจิตอล หรือ Class D หัวโน้ตมักวิ่งล้ำหน้าตัววโน้ตจนเสียงออกผอมบางเป็นไม้เสียบผี และทำให้เสียงคนไหน เครื่องดนตรีชิ้นไหน จะออกมาคล้ายๆ กันไปหมด) (เพราะฮาร์โมนิกตกหล่นหายหมด) เพลง 6 ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแอมป์ Class D ให้เสียงมีความลึกไปหลังเวทีได้แล้ว (ไชโย) จากที่ปกติ 87% เวทีเสียงจะตื้นมาก ดนตรีต่างๆ แทบจะเข้าแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ไม่มีลำดับตื้นลึก ณ นาทีนี้ เสียงที่ได้ยินแทบไม่ต่างจากแอมป์ Class AB ดีๆ เลย เสียงกังวานก็เช่นกัน ปกติแอมป์ดิจิตอล และ Class D จะให้เสียงกังวานห้อมล้อมแค่ตัวเสียงจริง ไม่หลุดแผ่ลึกออกไปให้เกิดบรรยากาศรูปลักษณ์ของห้องฟัง (ไม่มี SPACE) ไม่โอ่โถงออกไป แต่ที่ฟังนี่โอเคยังมีแอมป์ Class AB ดีๆ (ระดับไฮเอนด์) ทำได้ดีกว่า แต่ ROCKSAN ก็ทำได้ดีอย่างน่าพอใจแล้ว ไม่รู้สึกทะแม่งจนอึดอัด เพลง 7 ยิ่งตอกย้ำว่าแอมป์ตัวนี้มีความเป็นดนตรีใช้ได้เลย เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงตีกลองใหญ่ตะโพน ให้ทุ้มได้มีรูปลักษณ์โอเค ไม่บวมฟุ้งหาขอบเขตไม่ได้ แม้จะไม่อิ่ม, แน่น, ลึก หรือมหึมาเป็นลูกมากนัก (ตลอดการฟัง ROCKSAN ก็จะให้ทุ้มแนวนี้ ไม่มหึมาอะไร เอาแค่พองามดูไม่น่าเกลียด น่าจะถูกจริตกับผู้หญิงฟังที่ไม่ทุ้มจ๋าอย่างผู้ชาย) เสียงตีตบหน้ากลองไล่จากขวาไปซ้าย ฟังว่าตบกันอย่างตั้งอกตั้งใจดี ไม่แบบขอไปที และติดตามตำแหน่งเสียงไล่ไปได้ตลอดไม่มีขาดตกบกพร่องเบลอ เวทีเสียงก็กว้างใช้ได้ เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดไล่จากซ้ายไปขวาติดตามได้ตลอด ในเพลงนี้ทำให้ฟังออกว่า เรื่องความกังวานที่จะเอาแบบชุ่มฉ่ำกันเลย อย่าคาดหวังนัก แต่ยืนยันได้ว่า มันไม่แห้งแล้งแน่นอน (ผมมีทางเค้นออกมาให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยการแยกสายภายในห้แตะกันน้อยที่สุด) เพลง 10 เสียงตีระนาดเอก และระนาดทุ้มยังดูกลืนๆ กันอยู่บ้าง จริงๆ 2 เสียงจะให้ฮาร์โมนิกที่ต่างกัน แต่แอมป์ Class D (และดิจิตอล) พวกฮาร์โมนิกจะตกหล่นมาก เหลือแต่ฮาร์โมนิกต้นๆ จึงทำให้ 2 เสียงฟังคล้ายกัน (นักร้อง 2 คนร้องเสียงคล้ายกัน, เปียโนราคา 1 ล้านกับ 10 ล้าน เสียงคล้ายกัน เสียงพิณกับฮาร์โมนิกคอร์ดอาจคล้ายกัน ฯลฯ) ในแง่นี้เท่าที่ฟังมา แอมป์ Class D และดิจิตอลแอมป์ยังแก้ไม่ตกทุกเครื่อง แย่มากน้อยลดหลั่นกันลงไปตามฝีมือ

            แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อ ดีผิดคาด ผมคาดว่ามันน่าจะแบน หรือผอมเป็นเส้นบาง แต่กลับให้ทรวดทรงได้พองามทีเดียว แถมตีไล่จากซ้ายไปกลางเวทีได้จะแจ้ง ให้ตำแหน่งได้เป๊ะๆ ไม่มีเบลอ เสียงกังวานก็อยู่ลึกเลยออกไปอีกได้ (เก่ง) ช่วงนี้ดนตรีโหมหลายๆ ชิ้นก็ไม่มั่วอย่างที่คาดอย่างไรก็ตามฟังออกว่า ROCKSAN ไม่ใช่แอมป์ที่จะฟังกันแบบตูมตาม เข้มข้น เพลง 4 เสียงพายวักน้ำชัดดี ที่น่าทึ่งคือนึกไม่ถึงคือ เสียงคลื่นกระฉอกบนผิวน้ำที่เป็นลูกๆ ดี แม้จะไม่เจ่งขนาดรู้สึกว่าผิวน้ำกระเพื่อมขึ้น-ลงด้วยอย่างแอมป์ระดับไฮเอนด์ (Class AB) หลายๆ แสนบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดนตรีต่างๆ เสียงต่างๆ จะไม่ปนเปกันจนสับสนมั่วไปหมด แต่ก็ยังอ่อนซ้อมไปในแง่ที่เสียงต่างๆ จะมี DYNAMIC CONTRAST อยู่ในช่วงไม่กว้างนัก คล้ายๆ กันไปหมด ไม่รู้สึกว่า แต่ละเสียงใหญ่เล็กต่างกันมากนัก เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำวิ่งมาแต่ไกล ให้เสียงหวูดได้ไม่เลว ไม่ทึบจนน่าเกลียด เช่นเดียวกับเสียงตีรัวระฆังที่จับประเด็นได้ ตบด้วยเสียงตีกลองท่อซ้ายที, ขวาที ให้เสียงก้องในท่อได้ดี ฟังออกว่าต่อท่อ “ไม่เล็กผอม” แน่ แค่นี้ก็เก่งมากแล้วครับ เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงไก่ขัน โฟกัสอยู่ตรงกลางได้ดีผิดคาด เสียงสัตว์ต่างๆ จีบปากจีบคอร้องได้ดีพอควร แต่ยังฟังดังพอๆ กันตลอดที่ร้อง ไม่รู้สึกว่ามีการตอกย้ำเสียงดัง-ค่อย (DYNAMIC CONTRANST ยังไม่เท่าไร) พูดง่ายๆ ว่า ถ้าคอมีเสลดฟังไมรู้ นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียงสัตว์สารพัดแห่กันมาเป็นฝูง ห้อมล้อมตัวเราได้ไม่เลว แต่เสียงทั้งหลายยังสับสน 75% ยังฟังกลืนๆ กันไปหมด ไม่ค่อยรู้ว่า เสียงสัตว์อะไรเป็นอะไร (ต้องรอให้เสียงตีกลองเงียบลงก่อน) เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล (หอบครบ 6 ครั้ง) ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนอยู่ลำโพงซ้าย, ขวา ยังไม่ค่อยๆ ลอยสูงเหนือลำโพงไปเกือบถึงเพดานห้องได้ เพลง 10 สารพัดเสียงในตอนเช้า ทั้งเสียงลม, เสียงบานประตู (หน้าต่าง?) เปิดอ้าออก, เสียงระฆังลม, เสียงน้ำพุ ROCKSAN แจกแจง แยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ดีทีเดียว เพลงนี้ฟังไปสักพัก จะลอยสูงขึ้นๆ จนถึงเพดานห้องได้ ซึ่งมันก็ทำได้ดีมากเลย เพลงนี้เอาไว้ตรวจสอบเสียงปลายแหลมด้วยว่า จะมีรายละเอียดแค่ไหน แยกแยะความแตกต่างได้ขนาดไหน อีกครั้งที่ผมประเมินมันต่ำเกินไป ปรากฏว่ามันจำแหนกเสียงแหลมต่างๆ ได้อย่างมีเรื่องราว, รายละเอียด, รูปลักษณ์ที่ดีทั้งความสดใส กังวาน หวาน โอเคอาจไม่แบบเป็นประกายสว่างสด, ระยิบ ระยับ คือมันจะออกอุ่นนิดๆ มากกว่า

 

            แผ่น The Greatest Alto Female VOL.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรีจีน เพลง 1 เสียงร้องที่อ่อนโยน จีบปากจีบคอ เสียงริมฝีปาก เสียงลมรอดไรฟัน การห่อปาก สอดใส่อารมณ์ได้ดี อย่างไรก็ตามอยากให้เสียงลงท้องมีมากกว่านี้อีกนิด จะยิ่งน่ารักขึ้นไปอีก เพลง 2 (อารีรัง) (จริงๆ เป็นเพลงของเกาหลี) เสียงประสานหมู่ชายหญิงขึ้นต้นทีแยกแยะได้ดีตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่หน้ากลองตึงดี ขนาดกลองใหญ่เต็มจอแต่ออกแบนไม่รู้สึกว่ามันมีความหนาลึก พูดง่ายๆ น้ำหนักกเสียงกลองยังไม่ขนาดอวบอิ่มเป็นลูก แบบสะท้านลงพื้นห้อง, สะเทือนทั้งห้อง ยังออกห้วนแต่ก็ไม่เบลอ, คราง ซึ่งปกติแอมป์ Class D ทุ้มจะเบลอคุมไม่ค่อยอยู่ เสียงนาทีที่ 2.56 เสียงรัวกลองใหญ่ ทำได้ดีกว่าตอนแรกเสียอีก ถือว่าเกินคาดได้ เพลง 3 เสียงเกากีตาร์โปร่งขึ้นต้นเป็นเส้นสายดี แต่ยังไม่สด และดีดกระเด็นออกมาเท่าที่ควร พูดง่ายๆ ROCKSAN ให้เสียงที่พับเพียบเรียบร้อยไปนิด ไม่เร้าใจนัก (สด, LIVE) ทางสงบๆ ผู้ดีอังกฤษมากกว่า มันไม่เฉื่อยช้า ไม่คลุมเครือ แต่การหลุดกระเด็นออกมาจะอั้นๆ ไปหน่อย (สำหรับผมฟังนานๆ ชักเริ่มเข้าภวังค์ง่วงตะหงิดๆ ต้องลุกออกไปหาน้ำเย็นๆ กินสักแก้วค่อยกลับมาฟังต่อ) เสียงกังวานที่พร่องบ้างก็น่าจะมีส่วนให้ง่วงได้เช่นกัน เพลง 5 ขึ้นต้นด้วยเสียงกรุ้งกริ้งของปลายแหลม ซึ่งทำได้พองาม ไม่ขนาดสดเป็นประกายระยิบระยับแบบอณูอากาศแตกตัวรอบตัวโน้ต แต่ก็ถือว่าโอเคมากแล้วกับแอมป์ Class D ราคาและตัวเครื่องขนาดนี้ (ยี่ห้อ de-Vialet ทำได้ดีกว่าหน่อย แต่ราคา 3 – 4 เท่าขึ้นไป) ROCKSAN ให้เสียงเครื่องสายเป็นเส้นสายดีทั้งดีด และสี, ออกหวานกลมกล่อมดี ทุ้มคลอเคลียลงลึกได้ดีน้ำหนักไม่เลวเลย

           แผ่น WOOD ของ Brian Bromberg เพลง 1 ขึ้นต้นเสียงดีดดับเบิ้ลเบสเป็นเส้นสายควบแน่นเข้มดีแบบผิดคาดมากๆ ไม่มีเบลอ, มั่ว, สับสน, แกว่ง เสียต่าพอเบสทิ้งตัวลงยังไม่เป็นลูกหนักอิ่มแน่นเท่าที่ควรเท่านั้น ยังธรรมดา (ไม่ขนาดขาดแคลน) ที่ผมทึ่งคือจังหวะที่เสียงกลองชุดดังขึ้น มีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้ยินเสียงตีกลองชุดเบาๆ มันมักถูกกลอบกลืนไปหมดกับเสียงฉาบ, หางม้า, เปียโน แต่นี่ได้ยินตลอดเวลา เปียโนก็เสียงโอ่อ่าตระการตาดี บรรยากาศโดยรวมหลุดแผ่ลอยออกมาได้ อาจะไม่สุดแต่ดีเกินคาดเลย น่าฟังทีเดียว ยิ่งตอนขึ้นต้นเพลง 2 เสียงเปียโน, ดับเบิ้ลเบส แผ่หลุดลอยออกมาได้ อย่างชวนติดตาม และดึงดูดดีมาก เสียงเคาะฉาบด้วยไม้ตีสมจริงดีมาก นอกจากนั้นผมยังลองฟังกับแผ่นเพลงไทยอีก 2 – 3 แผ่น, แผ่นโหดๆ อย่าง AYA แผ่นเปียโน (STEINWAY)

สรุป 1 (ช่อง LINE 1)

ถ้าฟังโดยไม่เพิ่มตัวกรองไฟเต็มที่อย่างนี้ และไม่ทำระบบระบาย EDDY CURRENT เสียงจะออกมาผอมๆ บางๆ สด สว่าง เกลี้ยงๆ จีปากจีบคอดี เสียงอ่อน-แก่ดี แต่เนื้อเสียงจะน้อย ขาดมวลไปหน่อย ทำให้ขาดน้ำหนักไปพอควร ไม่เร้าใจหนักกแน่นนัก อีกทั้งมิติจะเบลอ วอกแวกเหมือนรับรู้ได้ตอนยังมีเสียง “หัวโน้ต” แต่วินาทีต่อมาที่เสียงตัวโน้ต ตามมาจะเบลอหมด เวทีเสียงอาจเหมือนกว้างพอได้ แต่ก็ชั่วประเดี๋ยว โดยรอบจะเหมือนกองๆ กันอยู่ตรงกลางเสียเป้นส่วนใหญ่ เวทีด้านลึกไม่ดีนัก ความกังวานติดอยู่แถวๆ ตัวโน้ต ไม่กังวานวิ่งรับหายไปหลังเวทีเพื่อให้รับรู้ขอบเขตของห้องฟังได้

เสียงต่างๆ จะออกมาโทนเดียว คล้ายๆ กันไปหมด (เพราะขาดฮาร์โมนิก) ถามว่าจริงๆ ฟังได้ไหม มันก็พอไหว ดีกว่าหลายๆ ยี่ห้อที่เคยฟัง และก็คล้ายหลายยี่ห้อเช่นกัน บางเพลง, บางแผ่น ฟังนานๆ ล้าหู (ที่ปลายแหลม) และออกน่าเบื่อ

สรุป 2 (เมื่อเลือกช่อง LINE 2 + ระบบ EDDY CURRENT + การกรองเต็มที่) เรียกว่าเหมือนหนังคนละม้วนเลย เสียงมีมวล, มีเนื้อหนังขึ้น แยกแยะโทนเสียงที่ต่างๆ กันไปของแต่ละคีย์ แต่ละชิ้นดนตรีได้ดีขึ้น น่าฟังขึ้น เสียงเป็นตัวตนขึ้น น้ำหนักดีขึ้น มิติชัดเจนขึ้น ความกังวานชัดกำหนดเป็นห้องได้ตื้นลึกดีขึ้นมาก แผ่หลุดลอยออกมาโอบเราได้ดีขึ้น เสียงสงบ อบอุ่นขึ้น

OXYGENE อินทีเกรทแอมป์ไม่ใช่แอมป์ที่จะฟังเอามันส์ตูมตาม แม้ว่านิตยสาร HIFI NEWS (อังกฤษ) จะวัดสเปคการสวิงกำลังขับชั่วคราวได้ถึง 2 – 3 ร้อยวัตต์ ดูเหมือนผู้ออกแบบเน้นเสียงที่ฟังสบายหู มีเสน่ห์พอที่จะดึงดูดความสนใจ และจุดประกายแห่งความเพลิดเพลินได้อย่างดีเกินคาด ผนวกกับบรรยากาศที่ชวนคล้อยตาม และสร้างจินตนาการ การแสดงสดได้ไม่ยากเลย มันอาจไม่ใช่แอมป์ที่ให้เสียงในอุดมคติ หรือระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์แพงลิบ แต่เมื่อคิดว่าขนาดมันอัดแน่นด้วยระบบเชื่อมต่อ “ไร้สาย” และเกือบจะเป็นดิจิตอลแอมป์ไปแล้ว (แอมป์ Class D กับดิจิตอลแอมป์ให้อากัปกิริยา และการก่อปัญหาเรื่องคลื่นความถี่สูงเหมือนกัน) รวมทั้งระบบรีโมท มันยังให้เสียงน่าฟังขนาดนี้ได้ ราคาอาจไม่ถูกนักแต่มันคือประติมากรรมที่มีชีวิต (ฟังได้) และเกิดจากความตั้งใจที่สูงส่ง สำหรับแม่บ้าน, สุภาพสตรีมันน่าฟังจนพวกเธอนึกไม่ถึงก็แล้วกัน

หมายเหตุ ในวันที่ผู้บริหาร ROKSAN มาเปิดตัวสินค้า OXYGENE เขาได้สาธิตให้ฟังระบบเชื่อมต่อ Bluetooth Aptx โดยยิงจากโทรศัพท์มือถือ iPhone ปรากฏว่าสุ้มเสียงกรุ้งกริ้ง, สดใส น่าฟังใช้ได้เลย ได้ประมาณถึง 80% ของแผ่น CD ทีเดียว (ทรวดทรงเสียงยังไม่ดีนัก) ไม่จืด, ทึบ, ตายซากอย่างเสียง Bluetooth เดิมๆ ที่เคยฟัง

ขอขอบคุณ บริษัท ไฮไฟทาวเวอร์ จำกัด โทร. 0-2881-7273-7 ที่เอื้อเฟื้อ Roksan Oxygenc มาให้ทดสอบในครั้งนี้

 

 

 

Exit mobile version