Test Report: Roksan K3 อินทีเกรทแอมป์
(ปรุงเสียงให้ถูกหู)
ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ
K3 เป็นอินทีเกรทแอมป์กำลังขับสูงรุ่นล่าสุดจาก Roksan Audio ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ออกวางขายก็สร้างความฮือฮาทั้งวางการ (อินทีเกรทแอมป์) ทั่วเกาะอังกฤษ
ผมเคยฟังแอมป์ของ Roksan มาก่อนหน้านี้ร่วม 2 ปีกว่า เสียงก็พอไหวแต่ ยังไม่ใช่ เมื่อได้มาฟัง K3 ความคิดกับหลังหันโดยสิ้นเชิง ดูเหมือนว่า Roksan กำลังทำอะไรที่ท้าทายมากกับ K3 นั่นคือ
- ทำอินทีเกรทแอมป์กำลังขับสูงๆ ในขนาดเครื่องไม่ใหญ่มาก ในราคาที่ตลาดชั้นกลางพอรับได้
- ทำให้เสียงจากการฟังเพลงออกมามีเสน่ห์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- รองรับนักเล่นรุ่นใหม่ที่ต้องการการเชื่อมต่อแบบ ไร้สายหรือเสริมในชุดโฮมเธียเตอร์ได้ พร้อมความสะดวกในการใช้งานด้วยรีโมทไร้สาย
K3 ให้อะไรมาบ้าง
- Input ขาเข้าให้เลือกได้หลากหลายได้แก่ (CD, Aux/line 1, Aux/line2, Tuner/Aux/line3) พร้อมกับภาคขยายหัวเข็มจานเสียง (MM เท่านั้น)
- โอนถ่ายสัญญาณรายการ (เพลง) จากเครื่องเล่นภายนอก ผ่านระบบไร้สายแบบ Bluetooth (ได้ถึงระดับ apTX ไฮ-ไฟ) เข้าสู่ K3 ได้ (ให้เสาอากาศรับสั้นๆ เสียบ-ถอด ได้ด้านหลัง)
- กดตัดภาคปรี(Input ทั้งหมด) ได้เพื่อใช้แต่ภาคขยายเสียงเพาเวอร์แอมป์ในตัว (เช่นกรณี ใช้พ่วงกับชุดโฮมเธียเตอร์ เพื่อขับคู่หน้า)
- ช่องเสียบหูฟังสเตอริโอแบบมินิแจ๊ค (3.5 มม.) ด้านหน้า
- ช่องรับสัญญาณ Input ด้านหลังชุบทองทั้งหมด
- ขั้วออกสายลำโพงแบบ Binding Post, สายไฟ AC IEC ถอดได้
- รีโมทไร้สาย
- การเลือก Input, โวลลุ่มเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด (ขอบคุณที่ไม่มีจอขึ้นตัวเลข, ตัวหนังสือ บอกอันจะรบกวนคุณภาพเสียง)
- ฝาครอบตัวถังหนากว่าปกติพอควรและเจาะรูพรุนเป็นช่องยาวๆ แทบจะเต็มพื้นที่ (ช่วยลดปัญหา Eddy Current กวนจากตัวถังได้มากพอๆกับการเอาฝาครอบออก)
- สวิตช์ Main ปิด-เปิด อยู่ด้านล่าง-หน้า-ซ้ายของตัวเครื่อง (บางท่านอาจหาไม่พบ), ปุ่ม Mute ตัดเสียงลง 20 dB
- ภาคจ่ายไฟที่อะร้าอร่ามใช้หม้อแปลงไฟกลมขนาด “ใหญ่” เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบเต็มๆ ผนวกกับตัวเก็บประจุขนาดใหญ่
- ภายในแทบไม่มีสายเกะกะเลย สะอาดสะอ้านดีมาก (ชอบใจที่ไม่เอาสายไฟขาเข้ากับขาออก จากหม้อแปลงไฟมามัดรวมกัน) เป็นความคิดผิดๆ ที่หลายๆ ยี่ห้อชอบทำกันนัก)
สเปคจากโรงงาน
กำลังขับ (ใช้งานพร้อมกับ 2 CH) 150 w.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม
300 w.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม
ภาคจ่ายไฟ หม้อแปลงกลม 550 VA (สัญญาณกวนยิ่ง) ภาคปรับแรงดันไฟ 5 ชุด
ความถี่ตอบสนอง 3 Hz~100 kHz (-3dB)
ความเพี้ยนคู่ควบ ต่ำกว่า 0.005% (1 kHz)/8โอห์ม
กินไฟ ต่ำกว่า 25 W (ที่ Stand By)
ต่ำกว่า 330 W. (ใช้เต็ม 2 CH/8 โอห์ม)
ต่ำกว่า 550 W. (ใช้เต็ม 2 CH/4 โอห์ม)
ขนาดเครื่อง (กว้าง x ลึก x สูง) 432 x 380 x 102 มม. (รวมขายาง)
หนัก 14 กิโลกรัม
ราคาช่วงโปรโมชั่น 59,900 บาท
ผลการทดสอบ
จากเครื่องเล่น Blu-ray OPPO BDP-105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย Perfect Power) ต่อออกสายสัญญาณเสียง Madrigal CZ-Gel2 (บาลานซ์) โดยใช้หัวแปลง บาลานซ์/RCA ของ Cardas ด้านขวาเข้า K3 (ที่เป็น RCA) ตัวแปลงนี่ผมทดสอบฟังแล้ว มีผลต่อเสียงน้อยมากๆ (น่าจะต่ำกว่า 5 % คือฟังไม่ออก) สายลำโพง Furukawa S-2 (เดินตามทิศ) หัว WBT บานาน่าล็อคได้แบบปืน ด้านแอมป์ K3, แบบหัวตรงด้านลำโพง, เข้าลำโพง ELAC BS 73 (2 ทางวางหิ้ง) วางบนขาตั้ง Target 24 HJ เอาหน้ากากลำโพงออก เอียงลำโพงเข้ามา (Toe in) ปรับให้ได้ทั้งสุ้มเสียงครบและมิติดีที่สุด สายลำโพงเดินแบบซิงเกิ้ลไวร์ ยกสูงหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (ใหม่) สูง 1 คืบและอีก 1 คืบครึ่งวางทับบนสาย S-2
บน OPPO มีผลึกต่างๆวางอยู่ (แผ่นอาเกต, แท่งอ๊อบซีเดียน, ลูกกลมอ๊อบซีเดียน, แท่งควอตซ์, พุ่มอะมิทิส ทั้งหมดจูนการวางด้วยการฟังทดสอบทุกชิ้น)
สายไฟ AC ที่เข้า K3 ผมใช้สายไฟ AC Chord ที่ใช้กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levision No.383 ที่ใช้อ้างอิงประจำ (จะได้ตัดประเด็นสงสัยคุณภาพสายไฟ AC ที่มากับ K3) สายไฟ AC ของ No.383 ย้ายไปเสียบใช้กับ OPPO-105 สายไฟ AC ทั้งสองต่อผ่านตัวกรองไฟ PHD Power Station ชอบที่มีเต้าเสียบตัวเมียขาออกให้เลือกเฟสไฟได้ เป็นยี่ห้อเดียว อีกทั้งใช้แล้วมีแต่ข้อดีขึ้นไม่มีข้อเสียที่ฟังออกเลย สายไฟ AC จากกำแพง (เต้าเสียบของ Monitor Acoustic รุ่นท๊อปสุดสีเทา ตัวนี้ดีมาก แม้จะราคาสูง น่าใช้มาก ) ที่มาเข้ากล่องกรองไฟ PHD ใช้สายไฟ Furukawa CB-10 ทั้ง 3 เส้น (Line, Neutral, Ground ทิศทางถูกต้อง) หัว Wattgate มีการทำระบระบายกระแส Eddy Current ให้กล่อง PHD นี้ด้วย ภายในห้องมีกล่องตัวอย่างควอตซ์ 12 ก้อนจิ๋วของ Judy Halls วางอยู่ 5 กล่อง (กลางห้อง 1, ด้านหลังตัวผมรอบๆ อีก 4 แต่ละกล่องจะขยับเอียงไปมาจูนทิศทางการวางด้วย) มีก้อนทัวมารีนขนาด 2 x 1 นิ้วอยู่บนเต้าเสียบ Monitor Acoustics ที่กำแพง ด้านไฟออกอีก 1 ก้อน 1.5 x 1 นิ้ว, หลัง Oppo-105 ใกล้สายไฟ AC เข้า 1 ก้อน (1.5 x 1 นิ้ว)
มีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบที่ขาออกของกล่อง PHD 1 หัว, กรองไฟเข้าห้องเสียง 4 หัว เต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงในห้องเสียงอีก 2 หัว ลำโพงซ้าย, ขวา วางห่างกัน 2 เมตร ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง Sonex (จากเยอรมัน, สีขาว) พื้นปูพรม มีหนังสือและแผ่น ฯลฯ พอควรในห้องไม่ก้องแน่ นั่งฟังห่างจากลำโพง 3.6 เมตร เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส พัดลม Low เป่าลงหลังลำโพง ไม่มีจอ LCD/Plasma ใดๆ ในห้อง ไม่มีรีโมทใดๆ (แม้แต่รีโมทแอร์) นอกจากของ OPPO (เพื่อความสะดวก) ไม่มีโทรศัพท์มือถือ เกมส์, แท็บเบล็ต หรือ WiFi/LAN (นอกจากที่รั่วมากจาภายนอก 6-7 จุด) ไม่มีนาฬิกาไฟฟ้าใดๆ ในห้อง กระเป๋าเสื้อไม่มีการ์ดแม่เหล็กใดๆ ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน (ไม่ใช่สายลำโพง, สายไฟ, สายสัญญาณ) ฟังทดสอบขาเสียบไฟ AC ทุกเครื่อง (ลืมบอก สายดินภายใน OPPO-105 ได้ยกลอยไว้ เสียงดีขึ้น, ภาพดีขึ้น)
มีผลึกอะมิทิสขนาด 4 ฝ่ามืออยู่บนโต๊ะห่างจาก OPPO-105 ไปทางขวามือ 50 ซม. อีก 1 ก้อง 1 ฝ่ามืออยู่ที่พื้นด้านขวาที่นั่งฟังห่างไป 1 เมตร ขณะฟัง CD กดปุ่ม Pure Audio ตัดวงจรภาพภายใน OPPO-105
เปิดฝาครอบ K3 ออก (ฟังโดยไม่มีฝาครอบ) เพื่อสะดวกในการฟังทดสอบทิศทาง เส้นฟิวส์ AC 1 ตัว (ใต้เต้าเสียบไฟ AC หลังเครื่อง), ฟิวส์ DC อีก 2 ตัวบนแผงวงจรภายในเครื่อง (มีผลเอาเรื่องทั้ง 3 ตัว) พบว่าถ้าหันหน้าเข้าหาหลังเครื่อง ทุกเส้นฟิวส์ต้องให้ด้านที่เขียน 250 V. ที่ปลายกระบอกเส้นฟิวส์ ชี้ไปทางซ้ายมือทั้ง 3 ตัว ที่สายไฟ AC ขาออกากหม้อแปลงกลม เขามัดทบไว้ก็คลี่ออก คลี่สายดินขาเข้าออก พยายามยกสายต่างๆ สูงหนีพื้นเครื่อง/ข้างเครื่อง (อย่าลืมดูสายลำโพงใต้แผงวงจรส่วนหลังด้วย) สายซ้าย, ขวา แตะกันอยู่ ก็จับแยกเท่าที่จะทำได้จริงๆ อยากยกลอยหนีห่างพื้นเครื่องด้วย แต่ไม่เอาดีกว่าต้องถอดแผงใหญ่ทั้งเครื่อง ถ้าไม่เกรงใจอยากแยกแหกสายแต่ละเส้นของสายแพขาวที่พาดกลางเครื่องด้วย ผมเชื่อว่าดีขึ้นแน่ๆ เอาว่าทำเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ ไม่อยากไปเจาะแจะมากกว่านี้ (แค่นี้เสียงก็หายห่วงแล้ว)
จากการฟัง CD แผ่นทดสอบประจำที่เคยชินเช่น
- ระนาดเอก (ไทลำภู)
- Rhythm Basket, A Tasket, A Tisket, A Child’s (Brent Lewis)
- The Greatest Alto Female Vol. 1 (Top Music)
- Wood ของ Briant Broomberg
- น้ำตาแสงไต้ จักรพันธ์ (แกรมมี่)
- ฯลฯ อีก 2-3 แผ่น
เร่งโวลลุ่มที่ K3 แค่ 9 นาฬิกา (เข้าช่อง CD In) ที่ OPPO ประมาณ 88-90
K3 ให้สุ้มเสียงไปทางหวาน อิ่มแต่ไม่อวบจนอุ้ยอ้าย ตรงข้าม มันให้เสียงที่ตอบสนองฉับไวดีมาก ชอบใจที่หวานอวบ (พองาม) แต่กลับไม่หนาทึบหรือขุ่น ตรงข้ามกับเปิดโปร่ง ในระดับได้ยินเสียง “ลมหายใจของตัวโน้ต” (Airy หรือ Breathing) ทำให้ฟังได้อารมณ์อย่างยิ่ง ได้ยินเสียงกังวานตามเสียงตรงในหลายๆ แห่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เสียงร้องที่ฉอเลาะ จีบปากจีบคอ เต็มไปด้วยการสอดใส่วิญญาณที่ชวนติดตามเอามากๆ ให้รายละเอียด เสียงผิว (Texture ของหัวโน้ต) ได้ดี เสียงออกเข้มข้นตื่นตัว ไม่หลบในหรือคลุมเครือ ความกังวานดีทั้งแต่ละเสียงและองค์รวมทั้งวง ทุ้มอิ่มแน่นกระชับ กลางต่ำอิ่มช่วยเพิ่มมวลเสียง ทำให้ฟังคล้ายเครื่องหลอดชั้นดี แหลมสดละเอียดระยิบระยับ บางครั้งอาจรู้สึกว่ามีการเน้นปลายแหลมในช่วงแคบๆ แถว 14 kHz บ้าง แต่จริงๆ น่าจะเพราะมันตอบสนองฉับไว ทำให้แหลมที่สวิงแรงๆ มาถึงหูก่อนเสียงอื่นๆ (เป็นเรื่องของ Transient Response ไม่ใช่ Frequency Response ที่ไม่ Flat) อย่างไรก็ตาม มันก็มิได้ก่อความรำคาญน่าเบื่อหากแต่ทำให้ทุกอย่างยิ่งเปิดกระจ่างชัดดีขึ้น
ในการฟังเพลง K3 ให้พลังเสียงได้อย่างโอ่อ่า เต็มสูบไม่รู้สึกว่าฟังแล้วต้องช่วยลุ้นทำให้มันโยนกระจายเวทีเสียงแผ่หลุดลอยออกมาได้อย่าง อลังการงานสร้างเหมือนดูหนังจอซีเนราม่ากันเลย ด้านลึกไปไกลหลังเวทีก็ทำได้ไม่เลว สูง-ต่ำทำได้ค่อนข้างน่าประทับใจ ลำโพงล่องหนหายไปเลย ดูเหมือนว่าการนำ K3 มาจับคู่กับ BS 73 ช่างลงตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ เสียงทั้งหมด อิ่ม ใหญ่ มหึมา ทุ้มอิ่มแน่น เสียงตีกลองใหญ่ (แผ่นเบอร์ 3 เพลงอารีรังเพลง 2 กลองทั้งใหญ่, อิ่มแน่นเอามากๆ )แม้แต่แผ่นเพลงไทย (อย่าง เบอร์ 5 น้ำตาแสงไต้) ก็น่าฟังเอามากๆ แผ่น Wood เพลง 1 ฟังสด, หวาน, โรแมนติก ดุจคุณไปนั่งฟังการแสดงสดๆ กันเลย เพลินมาก
สรุป จากคำวิจารณ์ของผมต่อ K3 ดูเหมือนว่ามันจะเป็นอินทีเกรทแอมป์ที่ “สุดยอด” มันก็มีส่วนจริงและไม่จริง
จริงคือ Roksan จูนเสียง K3 มาได้อย่าง “หูถึง เป็นงาน” มันให้ความน่าฟังอย่างยิ่ง ใครที่คิดจะเล่นเครื่องหลอด อยากให้มาฟัง K3 (ภายใต้เงื่อนไขดีๆ ถูกต้องอย่างที่ผมทำ) ผมเชื่อว่า คุณเปลี่ยนใจแน่ๆ มันคือเครื่องทรานซิสเตอร์ที่สวมวิญญาณหลอดชั้นสูงดีๆ นี่เอง ถามว่ามันเป็นแอมป์ที่เที่ยงตรง (Accuracy) สุดยอดไหม คำตอบคือ ยังไม่ถึงขนาดนั้น (อย่าง GamuT อินทีเกรทแอมป์ที่สุดจะ Accuracy เลย) แต่จะสนใจไปทำไม ถ้าคนออกแบบเขา “ปรุง” จนเสียง “อร่อย” ชวนหลงใหลได้ระดับพระกาฬขนาดนี้!
หมายเหตุ ต้องเข้าใจก่อนว่า K3 ถูกปรุงมาเพื่อการฟังเพลง เป็นหลักใหญ่คุณจะเอาไปดูคอนเสิร์ต, Music Video, คาราโอเกะ ยังโอเค แต่น่าจะไม่เหมาะกับการดูหนัง Action (ผมลองดูแล้ว 3-4 เรื่อง) โอเคดูได้เพลิน แต่จะเอาเสียงโครมคราม ตูมตามคงไม่ขนาดนั้น ต้องเข้าใจกันตามนี้ก่อน
ขอขอบคุณบริษัทไฮไฟ ทาวเวอร์ จำกัด ที่ได้กรุณาให้ยืมเครื่องมาทดสอบในครั้งนี้ โทร 0-2881-7273-7 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้