Test Report: QUAD II Classic Integrated amp หลอด

0
QUAD II Classic Integrated amp หลอด

QUAD II Classic Integrated amp หลอด

(จิตวิญญาณแห่งเพลงในอดีต)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 

QUAD II Classic Integrated amp หลอด
QUAD II Classic Integrated amp หลอด

 

สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงแล้ว มักเลือกเครื่องเสียงสไตล์เสียงที่ตัวเองชอบ โดยคาดหวังว่า เครื่องเสียงนั้นๆ (ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่น, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, ลำโพง, สาย, อุปกรณ์เสริมสารพัด) จะช่วยขัดเกลาให้ได้เสียงในสไตล์ที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะฟังจากจานเสียงแผ่นไหน, CD อัลบั้มไหน

ในอีกแนวทางหนึ่งของนักเล่น จะเป็นกลุ่มที่อิงกับเสียงที่ถูกต้องเป็นธรรมชาติ, เป็นกลาง ดีมาดีออก เลวมาเลวออก ไม่ชอบแต่งเติมบุคลิกใดๆ เข้าไป

2 แนวทางนี้ เราควรยึดแนวไหนดี

แนวแรก แต้มสีสัน อาจฟังเตะหูดีในตอนแรก แต่สักพักก็จะเบื่อจากความจำเจ ฟังเพลงอะไรๆ แนวไหนก็ออกมาแนวเดิมตลอด

แนวหลัง ให้เสียงหลากหลาย อย่างไม่รู้เบื่อ จะมีทั้งเข้าหูและแยงหู บางแผ่นออกมาดีเลิศ บางแผ่น (เพลง) แทบฟังไม่ได้เลย

แต่ไม่ว่าจะยืดแนวไหน มีสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ นั่นคือ ยุคใครยุคมัน

เราต้องไม่ลืมว่า ในการบันทึกเพลงแต่ละยุค แน่นอนว่า ช่างเสียงก็จะตกแต่งมาสเตอร์ให้เหมาะลงตัวกับเครื่องเสียงในยุคนั้นๆ

เครื่องเสียงได้ผ่านมาหลายยุค ไล่ตั้งแต่ยุคเครื่องเล่นจานเสียง (จานเสียง), ยุคเทปม้วนเปิด, ยุคเทปคาสเซท, ยุคแผ่น CD, ยุคดาวน์โหลด

เครื่องขยายผ่านมาตั้งแต่ยุคเครื่องหลอดกำลังขับต่ำมาก 3-5 วัตต์ต่อข้าง ยุคโมโน ยุคสเตอริโอ ยุคเซอราวด์ จนถึงเครื่องหลอดกำลังขับ 15-40 วัตต์/ข้าง (เมื่อย้อนหลังไป 40-50 ปี) ไล่มาถึงยุคทรานซิสเตอร์ต้นๆ        ยุคกลาง ยุคปลาย

ยังไม่นับสไตล์เพลง แน่นอนว่า แนวเพลง, การร้อง, การบรรเลง เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว กับยุคกลางและยุคปัจจุบัน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยุครุ่นพ่อ, ปู่ของเรา เพลงจะไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่เร่งเร้ามากนัก ดนตรีไม่ซับซ้อนหรือออกหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นแค่เสริม, คลอ, ฉากหลัง สไตล์จะออกช้าๆ ประเล้าประโลม เน้นเสียงร้อง, คำร้อง, อากัปกิริยา, ลีลา การสอดใส่อารมณ์ของนักร้องล้วนๆ ไม่ขายเอฟเฟกต์หรือจังหวะเต้นซ้ำๆ ซากๆ อย่างปัจจุบัน เน้นน้ำเสียง ทั้งเสียงร้องและดนตรีมากกว่าระบบบันทึกหรือเล่นกับมิติเสียง (เอฟเฟกต์ต่างๆ)

เครื่องเสียงในยุคนั้นจึงต้องจูนทำมาอย่างสอดคล้องรับกับการทำงานที่ง่ายๆ ไม่โหด แต่เข้าถึงจิตวิญญาณได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องสวิงเสียงได้กว้างๆ ความถี่เสียงแค่ครบก็พอไม่ต้องกว้างสุดๆ ไม่ต้องเน้นการแยกมิติสเตอริโอ หรือมิติโฟกัส ขอแต่ได้บรรยากาศก็พอ

ในทางตรงข้าม เครื่องเสียงในยุคใหม่ปัจจุบัน ต้องถูกออกแบบมาให้ตอบสนองได้ฉับไว เข้มข้น ถึงลูกถึงคน สวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดได้กว้างมากๆ (มากกว่าในอดีตเกือบ 30 dB ก็มี) ต้องหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพงได้กระชับที่สุด เร็วที่สุด เพื่อรองรับกับเพลงที่กระแทกกระทั้น เข้มข้น ฉับไว ตั้งแต่เสียงความถี่ต่ำสุดๆ ถึงสูงสุดๆ ต้องให้มิติสเตอริโอที่โฟกัสแบบจับวางเพื่อโชว์เอฟเฟกต์ได้ถนัดมือ

จะเห็นว่า การสอดรับ คล้องจองกัน แบ่งหยาบๆ ได้เป็น 2 ยุค คือ ยุค 45-60 ปีที่แล้ว และยุค 30 ปีมานี้ เพื่อให้ผลสุดท้ายของการฟัง เป็นไปตามที่ผู้ประพันธ์เพลงอยากให้เป็น (สมจริง)

จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำเครื่องเสียงสักชุด สักชิ้นให้รองรับได้ ทั้ง 2 ยุค (ทั้งสไตล์เพลงและการบันทึก (มาสเตอร์) พูดง่ายๆ ว่า ONE NEVER FIT FOR ALL

ถ้าคุณเป็นนักฟังที่เลือกฟังเพลงยุคช่วงใดช่วงหนึ่งโดยเฉพาะ ก็เป็นไปได้ที่จะหาเครื่องเสียงที่เข้ากับเพลงยุคนั้นๆ และเล่นแค่ชุดเดียว

แต่ถ้าคุณเป็นนักฟังเพลงที่หลากหลาย มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสฟังเพลงผ่านหลายยุค และชอบทุกสไตล์ ก็ต้องเลือกว่า จะเน้นเพลงเก่า เครื่องเสียงยุคเก่า หรือเครื่องเสียงที่ยุคใหม่กับเพลงสมัยใหม่ ให้น้ำหนักยุคไหนมากกว่า ก็เลือกเครื่องเสียงที่เอนไปยุคนั้น โดยยอมลดทอนคุณภาพเสียงจากเพลงอีกยุค

หรือถ้าคุณมีงบพอ ทางออกที่ดีที่สุดคือ เล่นเครื่องเสียง 2 ชุด อาจไม่ต่างกันทั้งชุด ต่างกันที่ภาคขยาย หรือลำโพง หรือทั้ง 2 อย่าง (แต่แหล่งรายการ อยากให้ยืนที่เครื่องเล่น CD เนื่องจากหาอัลบั้มได้มากกว่า เมื่อเทียบกับจานเสียง (นับล้านอัลบั้ม CD ต่อจานเสียง อย่างเก่งก็สักพันอัลบั้ม)

ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่ปัญหา หรือความแตกต่างที่จะแก้ชดเชยได้ง่ายๆ ด้วย เครื่องแต่งเสียง EQUALIZER (อีควอไลเซอร์) มันยังมีปัจจัย, สาเหตุอื่นๆ อีก นอกจากระดับความดังเสียงแต่ละความถี่

ดูเหมือนว่า นาย Tim De Paravicini นักออกแบบเครื่องเสียงดัง ผู้ออกแบบอินทีเกรทแอมป์ QUAD II Classic Integrated amplifier ก็คงคิดทำเช่นนี้ จึงตั้งใจที่จะทำ Classic II มาเพื่อรองรับกับแผ่นเสียง, แผ่น CD ที่ทำจากมาสเตอร์เก่าๆ ในยุค 45 ปีขึ้นไป มากกว่าจะเข้ากันได้กับเพลงยุคใหม่ๆ

Tim De Paravicini ตั้งใจทำอินทีเกรทแอมป์ QUAD 2 Classic ให้เป็นยิ่งกว่าผลิตภัณฑ์ย้อนยุคที่ใช้เครื่องใน (ไส้ใน) เทคโนโลยีโบราณ เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว แล้วทำตัวถัง หน้าตาให้ดูเก่าย้อนยุค นั่นไม่ใช่สไตล์ของเขา

Tim ยึดพื้นฐานวงจรในสไตล์ดั้งเดิมของ QUAD ปรี+Quad Classic โมโนเพาเวอร์แอมป์ โดยนำ 2 ผลิตภัณฑ์มารวมใน 1 ตัวถัง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ QUAD ฝันที่จะได้เห็น จากนั้นใช้ภาคขยายหัวเข็มแบบทรานซิสเตอร์ เพื่อให้สัญญาณรบกวนต่ำสุด (ถ้าใช้หลอดล้วน ราคาของอินทีเกรทแอมป์จะพุ่งลิบเลย) แต่นั่นก็เป็นภาคเดียวที่เป็น Solid State ภาคอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดเป็นหลอดล้วน โดยใช้หลอด 12AX7 (4 หลอด) และขาออกเป็นหลอด KT66 อีก 4 หลอด Tim เลือกที่จะทำให้ได้กำลังขับสูงๆ อย่าง 25W.RMS/CH (8 โอหม์) โดยจัดการที่การจุดไส้หลอด (HT) มากกว่าการเพิ่มแรงดันไฟเลี้ยงที่ Plate ขั้วบวกสูงๆ ซึ่งจะทำให้เครื่องพังง่าย Tim ต้องการให้ Classic 2 นี้ นอกจากเสียงดีแล้วต้องทนด้วย (เพื่อไม่ให้เสียชื่อ QUAD) (มันทำงานที่ PURE Class A)

ขณะเดียวกัน รูปโฉมก็เน้นที่เรียบง่าย แต่ต้องมีเอกลักษณ์ ดูปุ๊บก็พอรู้ว่า เป็นเครื่องยุคเก่า QUAD อาจไม่ดูหรูหราตระการตา เตะตา เพราะเขาไม่อยากให้ผู้ซื้อต้องมาจ่ายค่า “หรูหรา” Tim ต้องการให้ราคาของ Classic 2 ไม่เกินเอื้อมจนเกินไป

รูปโฉม

QUAD Classic 2 Integrated Amplifier มีขนาดเครื่องไม่มโหฬารจนต้องยกกัน 2 คน ด้วยขนาดตัวถัง สูง 200, หน้ากว้าง 310 และลึก 380 มม.ก็ถือว่ากำลังดีน้ำหนักก็น่าจะประมาณ 20 กก. จะเห็นหม้อแปลงทั้งหลายอยู่ตอนกลางของเครื่อง ซ้าย, ขวาจะเป็นกรงหลอดทั้งส่วนหน้าและหลัง ที่ชอบมากคือ คันโยก โยกเลื่อนแหล่งรายการขาเข้า โดยมีแขนชี้บอกว่า เลือกอะไรอยู่ (INPUT เลือกได้ จานเสียง (MM/MC เลือกโดยกดปุ่มหลังเครื่อง), CD, AUX, TUNER และปุ่มกดฟัง TAPE ด้านหน้า)

ปุ่มปิดเปิดเล็กๆ แบบกดอยู่ขวาหน้าด้านหลัง ปุ่มดัง-ค่อยแบบหมุนอยู่กลางเครื่อง สายไฟ AC ถอดได้ ไม่มีรีโมทใดๆ (ฝรั่งนักวิจารณ์บ่นว่า น่าจะมีรีโมทด้วย ช่างปัญญาอ่อนจริงๆ! ไม่รู้เลยหรือว่า รีโมททำให้เสียงแย่ลง อยากเล่นอะไรๆ แบบ “ชี้นิ้ว” ก็ไปเล่นรีซีฟเวอร์เซอราวด์โน่น)

 

สเปคจากโรงงาน

ความไวขาเข้า                          27 mV RMS (LINE LEVELและเทป)

2 mV RMS (หัว MM)

200 ไมโคร V.RMS (หัว MC)

กำลังขับ                       25 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม

ความเพี้ยน (THD)         0.06% (15 W./ 700 Hz)

เสียงฮัมและซ่ากวน                 -98 dBA (ที่ 25 W./ 8โอห์ม)

ความถี่ตอบสนอง             20 Hz-20 kHz (-1 dB)

การแยกสเตอริโอ (Cross Talk)         มากกว่า 75 dB

Voltage Gain          34 dB

กินไฟ                                       195 W.(MAX)

 

1111quadผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R (ทรานซิสเตอร์) (เลือก OVS หรือ OVER SAMPLING ที่ 3 ตามปกติ) ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-Gel 2 (RCA) เข้า INPUT CD ของ Classic 2 (เสียงคม, โฟกัสกว่า INPUT อื่น รวมทั้ง TAPE IN ด้วย) เร่งโวลลุ่มที่ Classic 2 ประมาณขีด 3 (ประมาณแค่ 9:30 นาฬิกา) ออกสายลำโพง FURUKAW S-2 (ตามทิศ) เดินไบ-ไวร์ หัวบานาน่า WBT ทั้งด้านแอมป์และลำโพง เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทาง วางพื้น) เอาหน้ากากออก เอียงลำโพง (TOE IN) จูนให้ได้ทั้งสุ้มเสียงครบ และมีทรวดทรง 3 มิติ ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (พรม+ปูน) ทับบนสายลำโพง/และยกสูง/ยกแยกสาย ด้วยตั้งกระดาษ 6 รีมต่อข้าง (ซ้าย, ขวาเหมือนกัน ระวังมิให้สายลำโพงชุดแหลมกับสายชุดทุ้มแตะต้องกัน สายสัญญาณเสียงซ้าย, ขวาก็ไม่แตะต้องกัน สายไฟ AC ของ Classic 2 เสียบไปไม่ถึงเต้าเสียบตัวเมีย (ฮับเบลสีส้ม) ที่กำแพง จึงใช้สายไฟ CHORD (สีม่วง) ที่ใช้ประจำอยู่แทน ที่เต้าเสียบคู่กันมีหัวเสียบกรองไฟ PHD 2 เสียบเคียงคู่อยู่ ทั้งของสายไฟ AC Classic 2 และสายไฟ AC ของ T+A ลำโพงซ้าย, ขวา ห่ากันประมาณ 2.2 เมตร ห้องฟังขนาด 3.58 x 9 x 2.2 เมตร บุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว, เยอรมัน ทั้ง 4ด้าน) นั่งฟังห่างประมาณ 3.6 เมตร มีของในห้องพอควร ไม่ก้องแน่ ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ, ในห้องไม่มีรีโมทอื่น, ไม่มี Tab Let, โทรศัพท์มือถือ, กล้องถ่ายดิจิตอล, นาฬิกาควอตซ์, คอมพ์ PC, จอ LCD/PLASMA, ไม่มีระบบ WiFi หรือ LAN (นอกจากคลื่นรั่วมาจาก HOT SPOT นอกบ้าน) มีผลึกอะมิสทิสขนาด 3 ฝ่ามือ 1 ก้อน ระหว่าง T+A กับ Classic 2 อีก 1 ก้อน (1 พุ่มฝ่ามือ) อยู่ที่พื้นข้างๆ ที่นั่ง

เปิดเบิร์นอิน Classic 2 ด้วย เพลงดนตรี (10 ชั่งโมง และก่อนฟังอีก 2 ชั่วโมง วันที่ 2 เบิร์นอินอีก 2 ชั่งโมง แล้วฟังอีก 3 ชั่วโมง

 

THIS AMP IS NOT FOR EVERY ONE

แผ่น Music of the Night บรรเลงเปียโนเดี่ยวโดย David Osborne (NS 0078) North Star Records แผ่นนี้ผมเอาไว้ทดสอบการสอดใส่อารมณ์, วิญญาณ การเล่นเปียโนของ เดวิด ซึ่ง Classic II ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย เสียงเดี่ยวเปียโนช่างพลิ้วระริกหวานแต่ตื่นตัว ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเดวิดได้ครบทุกเม็ด เสียงเปียโนที่เป็นเม็ดๆ ไม่เลวแม้ในคีย์ต่ำอาจเม็ดเล็กไปนิด รวมทั้งความกระหึ่มที่ความถี่ต่ำยังไม่อิ่มสุด (จะเอาอะไรกับกำลังแค่ 35 W./CH ของ Classic II) แต่ยืนยันว่าไม่ขนาดรู้สึกขาดแคลนอะไร ให้การแยกแยะแต่ละคีย์โน้ตที่ดี การสวิงเสียงดัง-ค่อยโอเคเลย นอกช่วงโหมกระหน่ำดังๆ จะรู้สึกว่าเริ่มอั้นบ้าง โดยเฉพาะที่เสียงต่ำๆ อย่างไรก็ตาม มันก็ให้รายละเอียดที่ดี ความเป็นเส้นสายของเปียโนที่พลิ้วไหวให้กิริยาที่เรียกว่า มองทะลุเข้าไปดู (look through) ที่ดี บรรยากาศที่ดี ความสงัดที่ดี ความเป็นดนตรีสูง พูดง่ายๆ ฟังเพลิน เหมือนมีใครมาเล่นเปียโนในห้อง

ในเมื่อคำว่า “เครื่องหลอด” คนทั่วไปมักนึกถึงอะไรที่โบราณๆ หรือเมื่อวานซืน ผมเลยลองหาแผ่น CD ที่บันทึกด้วยมาสเตอร์ที่เก่ามากๆ อย่างชุด The Best of Vic Damone (The Mercury Years) KA506 LC5064 เป็นเพลงสมัยรุ่นพ่อโน่นคือ 50 ปีที่แล้วขึ้นไป (ยุคจานเสียง) ปรากฏว่า เสียงที่ออกมา มันให้อารมณ์ของการฟังจากจานเสียงยุคโน้น รับรู้ได้ถึงบรรยากาศ เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว สไตล์ทั้งเพลงและ “เสียง” ที่ไร้มายา ตีแผ่ความสามารถของนักร้อง, นักดนตรี, การประพันธ์เพลงที่ไร้จริตก้าน ไร้ตัวช่วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ Class II สะท้อนออกมาได้อย่างที่คุณต้องอึ้ง มันไม่ใช่เสียงหลอดที่เอาแต่ขายความหวานลูกเดียวแต่ขุ่น, มั่ว ไร้สาระและคลุมเครืออย่างเครื่องหลอดถูกๆ ทั่วไป หากแต่ว่า มันเก็บเกี่ยวทุกรายละเอียด, ความจริงจังตื่นตัว ดุจเครื่องทรานซิสเตอร์ชั้นสูง ขณะที่หล่อหลอมด้วยจิตวิญญาณของเครื่องหลอดไม่ว่าการตอกย้ำเสียง, การทอดถอดการสอดใส่ลีลา อารมณ์ ครบถ้วนเสน่ห์แห่งหลอด มันแทบไม่เปิดจุดโหว่เลย เพื่อตอกย้ำกันให้แน่ใจ ผมเปิดแผ่น CD ที่เพื่อนอตส่าห์บันทึกจากจานเสียงเพลงไทยลูกทุ่ง, ลูกกรุงเก่าๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้วขึ้นไป (ดูเหมือนจะใช้คอมพ์) แต่คงใช้ชุดจานเสียงอย่างดีมาก (เพราะเพื่อนคนนี้เป็นนักเล่น, นักฟัง และมีเงินเยอะ)

ปรากฏว่า ได้อารมณ์การฟังจานเสียงอย่างน่าทึ่ง (นี่ถ้าใช้เครื่องบันทึก CD-R ดีๆ จะขนาดไหน?) Classic II ถ่ายทอดกิริยา อาการจีบปากจีบคอของคุณสุเทพ วงศ์คำแหง, คุณชรินทร์ นันทนาคร, คุณสมยศ ทัศนพันธ์, คุณไพวัลย์ ลูกเพชร ฯลฯ ได้แบบเห็นภาพเลย (สมัยท่านเหล่านั้นยังหนุ่มฟ้อ) อย่างเพลงแผลเก่า (จากภาพยนตร์ไทย “แผลเก่า”) ฟังแล้ว จินตนาการเห็นท้องทุ่งไร่นา สายลมแสงแดด กลิ่นดินกันเลย ให้อารมณ์กว่าที่เคยฟังแผ่นนี้กับเครื่องทรานซิสเตอร์ระดับหลายแสนบาทเยอะ

ไหนๆ ก็ไหนๆ ลอง CD เพลงไทยอีกสักแผ่น เป็นแผ่นรวมเพลงดัง ละครทีวี ช่อง 4 ของตรามงกุฎ ซึ่งมาสเตอร์มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งนั้น เช่น เสียงร้องของคุณ นันทวัน เมฆใหญ่, คุณกำธร สุวรรณปิยะ, คุณฉลอง สิมะเสถียร, คุณสวลี ผกาพันธ์, คุณจินตนา สุขสถิต ฯลฯ

จากแผ่นนี้ บอกเราว่า แม้ Classic II จะเป็นเครื่องหลอดแต่แปลกมาก มันให้เสียงเป็นกลางดีเอามากๆ ไม่มีบุคลิกตายตัวอย่างเครื่องหลอด 90% ในตลาดที่มีบุคลิกส่วนตัว

ฟังเพลงเก่าๆ เหล่านี้ (เช่น ขวัญเรียม, เคียงเรียม, น้ำตาแสงใต้, กุหลาบในมือเธอ, บ้านทรายทอง, ขุนพลแก้ว ฯลฯ) Classic II ถ่ายทอดทุกอากัปกิริยา จีบปากจีบคอ ทุกเอื้อนเอ่ยของนักร้องขึ้นหิ้งเหล่านี้ได้แบบ “ทุกเม็ด” ทุกจิตวิญญาณเทียบกับนักร้อง เพลงป๊อปวัยรุ่นรุ่นใหม่ เรียกว่า นรกกับสวรรค์เลย ไม่เคยฟังแผ่นนี้แล้วได้อารมณ์ที่เข้าถึงแบบสุดๆ ทั้งเสียงร้อง, เสียงดนตรี อย่างนี้มาก่อนเลย

ใครที่ชอบฟังดนตรีแบบ “เข้าถึง” ทั้งเสียงดนตรี, เสียงนักร้อง โดยเฉพาะเพลงเก่าๆ (เพราะเพลงสมัยใหม่มักขายดนตรีตูมตาม, จังหวะ, การบันทึกเอฟเฟกต์ ไม่ได้โชว์ ความสามารถดิบๆ ของนักดนตรี, นักร้อง) ตัดสินใจได้เลยกับ Classic II

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดแยกโน้ตได้ดีแต่ มิติยังไม่โฟกัสนัก ไม่เป็นเม็ดๆ กระเด็นหลุดลอยออกมา เสียงฉิ่งแสดงจังหวะจะโคนได้ดี (ลูกหยอดดี) เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงระนาดเป็นโน้ตๆ ดี แต่มิติยังไม่โฟกัสนัก เหมือนภาพแกะสลักนูน แต่ไม่หลุดแยกออกมาจากฉากหลัง พูดง่ายๆ ว่า ฟังรู้ว่าเป็นสเตอริโอแต่อย่ามานั่งจับผิดว่า อะไรอยู่ตรงไหนแบบชัดๆ กันเลย เอาว่าสุ้มเสียงโอเค ฟังเพลิน สนุก ไม่ระคายหู การแยกแยะที่ทางพอได้ (เครื่องหลอด 99.9% จะออกกิริยาทำนองนี้ ต้องทำใจเรื่องมิติเสียง) เพลง 6 เสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที ยังไม่โฟกัสนักแต่ก็ชัดใช้ได้ (อยู่ให้อวบอีกนิด) หัวโน้ตชัดอาจไม่คมเปะๆ นัก แต่ก็ไม่อวบบวมคลุมเครือ เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงกลองตะโพนใหญ่ ดังอิ่มพอควรแต่จะกระจายไปทั้งห้องไม่โฟกัส ให้เวทีเสียงกว้าง เสียงตบหน้ากลองด้วยฝ่ามือไล่จากขวาไปซ้ายบอกอากัปกิริยาได้ดี

โดยรวมๆ กับแผ่นนี้ กูจะไม่โดดเด่นอะไร เอาเป็นว่าฟังได้ ฟังเพลินแน่นอน

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อไล่จากซ้ายไปขวาได้ทรวดทรงอยู่บ้าง ไม่ถึงกับแบน ความกังวาน โอเคอาจไม่โปร่งนัก การตอบสนองฉับไว ความคมชัดของหัวโน้ตน่าจะมากกว่านี้ เพื่อให้การแยกแยะดีขึ้น การแยกแยะความดัง-ค่อยของดนตรีชิ้นเดียวกันยังไม่เต็มที่ (DYNAMIC CONTRAST ยังไม่โดดเด่นอะไร) คล้ายๆ กับว่า transient response ยังไม่เต็มที่ เพลง 4 ก็อาการคล้ายกัน

ได้ลองกับแผ่นบรรเลงสมัยใหม่อีก 2-3 แผ่น ก็ออกอาการเคียงกับ 2 แผ่นนี้ ทำให้พอสรุปได้ว่า Classic 2 อาจไม่ลงตังกับเพลงสมัยใหม่นัก ฟังนะฟังได้ แต่จะเอาชัด, เอามิติ, เอาความเกลี้ยงสะอาดของเวทีเสียงระหว่างชิ้นดนตรี ยังไม่ได้จริงจังนัก แต่ก็ไม่อุบาทว์หูแน่นอน

IIClassicIntegrated03สรุป

อย่างที่เกริ่นแต่ต้น Classic 2 ไม่ใช่อินทีเกรทแอมป์ประเภท FOR ALL SEASONA (เอาตัวรอดได้ทุกงาน) หากแต่มันถูกทำมาเพื่อการฟังกับเพลงสไตล์เก่าๆ เมื่อ 40 ปีถอยหลังไป กับมาสเตอร์สมัยโน้น เพื่อถ่ายทอดอารมณ์, บรรยากาศ, เวทีเสียงที่กว้างมาก สมัยโน้นออกมาได้อย่างถึงกึ๋นส์ที่สุด (ไม่ใช่เป็นเครื่องหลอดแล้วทำได้หมด โดยอัตโนมัติมันขึ้นอยู่กับการจูนเสียงเป็นงานหรือไม่ด้วย) ถ้าคิดในแง่นี้ นี่คือ อินทีเกรทแอมป์ที่ถ่ายทอดอารมณ์นี้ได้อย่างมีวิญญาณที่สุดเท่าที่เคยฟังมา เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้มันเคียงคู่กับอินทีเกรทแอมป์ทรานสซิสเตอร์ดีๆ สักเครื่อง แล้วคุณจะเก็บเกี่ยว เข้าถึง ทุกสไตล์เพลง, ทุกบรรยากาศ, ทุกอารมณ์เพลงได้ทุกรูปแบบทีคุณต้องการ ดีกว่าฟังเครื่องเดียวโดดๆ แล้วก็ตกเป็นเหยื่อให้คนขายหลอกเปลี่ยนไปเปลี่ยนไป ซื้อเข้า, ขายออก ขาดทุนไปเรื่อยๆ วนในอ่างจนไม่รู้จบสิ้น

(หมายเหตุ ขอบ่นว่า ราคาของ Classic 2 ออกจะสูงไปหน่อย คือลดแล้วเหลืออยู่แถวๆ 150,000 บาท ถ้าได้สัก 8-9 หมื่นบาท ก็น่าจะขายกระฉูด (อย่างไรก็ตาม ของดี, ของถูกใจ ยิ่งใช้ยิ่งติด, คิดถึงมัน ราคาจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป)

 

ขอขอบคุณ หจก. เคเอสเวิล์ด โทร. 0-2256-9919 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้