Test Report: QUAD 12L Classic

0

Test Report: QUAD 12L Classic

(ฟังนานๆ คุณจะรัก)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

1

12L Classic เป็นลำโพงวางหิ้ง 2 ทาง รุ่นใหม่จาก QUAD เป็นระบบตู้เปิด มีรูระบายอากาศแบบกลม 2 รู ด้านหลัง (ขนาดประมาณนิ้วกว่า) โดยจะมีแผ่นเจาะรูเล็กๆ เป็นรูพรุนปิดที่รูอีกที เพื่อซอยรูใหญ่ๆ เป็น 2 รูเล็กลง และแต่ละรูก็เป็นรูย่อยๆ นับสิบ เพื่อให้เสียงกลางที่สะอาด ทุ้มที่เที่ยงตรง
ดอกลำโพงเสียงแหลมโดมสานขนาด 25 มม. มีปากแตรบานออกอยู่ด้านหน้า ทำตัวเป็นเหมือน WAVE GUIDE ช่วงกระจายเสียงแหลม, ดอกลำโพงเสียงกลาง-ทุ้ม กรวย Kevlar สานขนาด 165 มม. ขอบยาง
ที่ชอบใจมากคือ ดอกลำโพงทั้งสองไม่มีการปิดผนึกก้นแม่เหล็กเพื่อป้องกันเส้นแรงแม่เหล็กไปกวนจอภาพ (การปิดตูดแม่เหล็กจะลดทอนการสวิงเสียง ไม่อิสระ)
ตัวตู้เป็นแบบผนังตู้ซ้อนหลายชั้น ผนังแต่ละด้านมีความหนา-บางต่างกันไป พูดง่ายๆ ว่า เน้นให้ตู้นิ่ง ขั้วต่อลำโพงด้านหลังอย่างดีมาก (Binding Post) แบบไบ-ไวร์ ตัวตู้เป็นไม้แท้ขัดเงาดุจเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง และหนักพอควรทีเดียว

10

สเปคจากโรงงาน
ความถี่ตอบสนอง 48 – 23,000 Hz (±3 dB)
จุดตัดแบ่งความถี่ที่ 2.4 kHz
ความไว 87 dB/2.83 V/1 เมตร
แนะนำใช้กับภาคขยาย 50 – 150 W
ความต้านทาน 6 โอห์ม (ไม่ต่ำกว่า 3.8 โอห์ม)
ขนาดตู้ (สูง x กว้าง x ลึก) 340 x 205 x 279 มม.
น้ำหนักสุทธิ 7.12 กิโลกรัม/ข้าง

 

9

ผลการทดสอบ
(12L Classic เป็นคู่เปิดลองอยู่หน้าโชว์รูมมาพอควร) จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อออกสายสัญญาณเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (หัว RCA) เข้าช่อง INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (บาลานท์แอมป์แท้จากเข้าถึงออก) (กำลังขับ 100 W RMS/CH ที่ 8 โอห์ม และ 200 W RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) แยก 2 ชุด (หัวด้าน WBT หางปลาเงินด้านแอมป์, WBT บานาน่าล็อคได้ ด้านลำโพง) ใช้สาย S-2 (สองชุด) แยกอิสระไม่ให้แตะกัน เข้า 12L Classic แบบไบ-ไวร์ ยกสายลำโพงหนีพื้นห้อง (พรม/ปูน) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 รีม (สูง 1 คืบ) และอีก 2 รีม กันสายชุด S-2 แหลมกับ S-2 ทุ้ม ไม่ให้แตะกัน มีอีก 4 ตั้งทับบนสาย (บนสุด) 12L วางอยู่บนขาตั้งลำโพง TARGET 24 HJ
ลำโพงซ้าย, ขวาเอียงเข้ามา (TOE IN) จูนให้ได้ทั้งมิติเสียง (ทรวดทรง) และสุ้มเสียงดีที่สุด เอาหน้ากากลำโพงออก ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร ฝามีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (รุ่นเยอรมัน, สีขาว), มีของอื่นๆ พอควรในห้อง ไม่ก้อง เช็คทิศทางสายทุกเส้น (สายไฟ AC, สายเสียง, สายลำโพง) ไม่ให้สายต่างๆ แตะต้องกัน ทับตัวเอง ยกสายสูงหนีพื้น สายไฟ AC ของ No.383 (ใช้ของ CHORD สีม่วง) ต่อผ่านตัวกรองไฟ POWER STATION ของ PHD ไปเข้ากำแพง (เต้าเสียบตัวเมียฮับเบลสีส้ม) มีปลั๊กกรองไฟ PHD 2 อีก 3 ตัว เสียบชุดไฟ AC ก่อนเข้าห้องเสียง ที่เครื่องเล่น CD T+A มีการทำระบบระบายกระแส EDDY ไว้ด้วย
มีกล่องตัวอย่างผลึก 12 แบบของ JUDY HALL (CRYSTAL HEALING PACK) วางอยู่กลางห้อง 1, รอบที่นั่งฟังอีก 3 (ช่วยดูดคลื่น RF ที่จะมากวนสมอง), มีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือวางอยู่ด้านขวาของ T+A อีก 1 ก้อน 1 ฝ่ามือ อยู่ด้านขวาตรงพื้นที่นั่งฟัง
ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ (เอาออกนอกห้อง) ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, iPad, Notebook/PC, จอ LCD/PLASMA, นาฬิกาไฟฟ้า (แขวน, ข้อมือ), กล้องดิจิตอล WiFi, LAN (มีแต่ WiFi รั่วจากภายนอก 4 – 6 สปอร์ต) เปิดเพลงเบิร์นอิน 4 ชม. ก่อนฟังทดสอบ
แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ได้ค่อนข้างดีมากทีเดียว หัวโน้ตกับตัวโน้ตกลมกลืนเป็นก้อนเดียวกันได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เสียงฉิ่งจะอ่อนโยน ว่าไปแล้วเสียงโดยรวมออกไปทางรอมชอมไม่สดมาก อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการเร่งโวลลุ่มที่ 40.1 ซึ่งอาจไม่ดังเต็มที่นัก จึงเร่งโวลลุ่มตามปกติที่ 42.1 ปรากฏว่าเสียงโดยรวมตื่นตัว, สด, เข้มข้นขึ้น ปลายแหลมสดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นเม็ดๆ ของเสียงระนาดก็ลดลง หัวโน้ตเริ่มวิ่งนำหน้าตัวโน้ตบ้าง ผมขอเลือกฟังที่ความดัง 42.1 ก็แล้วกันเพราะน่าจะเหมาะกับอัลบั้มแผ่นอื่นๆ ที่จะฟังมากกว่า น่าแปลกที่กับเพลงนี้เหมือนมีเสียงกังวานกระจายออกไปทั้งเวทีเสริมขึ้นมาเป็นความกังวานแบบไร้รูปลักษณ์ ซึ่งปกติไม่รู้สึก (หรือเป็น NOISE FLOOR ที่เขาบันทึกติดมา) เพลง 4 ขึ้นต้นเงียบไม่ถึงกับสงัดอย่างที่เคย เสียงระนาดที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่ยังไม่มีทรวดทรง 3D อย่างไรก็ตาม น้ำเสียงของระนาดดีทีเดียว ออกกลางๆ รายละเอียดดีแยกแยะดี เพลง 5 ขึ้นต้นเงียบเกือบสงัด เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ พองาม การตอบสนองตลอดเพลงนี้ถือว่า ทำได้ฉับไวใช้ได้ เพลง 6 ขึ้นต้นด้วยเสียงระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที ความกังวานดี เสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ดีใช้ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ 12L จะให้ทุกเสียงที่คุณติดตาม สังเกตที่ทางได้ แต่ก็ต้องไม่คาดหวังว่าแต่ละเสียงจะมีรูปลักษณ์มิติเสียงที่โฟกัสชัดเป็นทรวดทรงแบบเปะๆ เพลง 8 เสียงกลองตะโพนใหญ่ขึ้นต้นให้ทุ้มไม่อวบอิ่มเป็นลูกนัก แต่หน้ากลองมีรายละเอียดดี เสียงตบหน้ากลองแขกไล่จากขวาไปว้ายติดตามได้ตลอด
แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อมีทรวดทรงไม่เลว แม้จะไม่อวบใหญ่อย่างที่เคย เสียงตีไล่จากซ้ายไปกลางเวทีจะแจ้งเป็นที่ทางดี ความกังวานดี (ความกังวาน หรือ Ambiance ดูจะเป็นเสน่ห์ของ 12L) ตอบสนองได้ฉับไว ไม่มีอาการอ้อยอิ่งใดๆ ทุกเสียงว่องไว ฉับไวหมด ฟังสนุกดีมาก เพลง 4 เสียงพายวักน้ำไม่เข้มข้นมากนัก แต่เสียงคลื่นน้อยใหญ่ก็ชัดเจนดีตลอด (ค่อนข้างดีมาก) สังเกตว่า 12L ให้เวทีเสียงในระนาบของตู้ลำโพงไม่ลอยสูงเหนือลำโพงอย่างปกติ (กับเพลงนี้) 12L ให้ปลายแหลมที่มีเนื้อไม่เลว รายละเอียดค่อนข้างโอเค เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดมาแต่ไกล เสียงหวูดยังไม่โปร่งนัก เสียงตีรัวระฆังเร่งรีบ แต่จะมาดังตอนใกล้เข้ามามากกว่าตอนไกล ตามด้วยเสียงตีกลองท่อซ้าย, ขวาที่น่าสนใจ เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่กลางเวทีลึกออกไปยังออกฟุ้งไปหน่อยไม่โฟกัสนัก อย่างไรก็ตาม เสียงสัตว์ต่างๆ ก็จีบปากจีบคอร้องอย่างสอดใส่อารมณ์เต็มที่ แม้รายละเอียดหัวเสียงจะคลุมเครือ (TRANSIENT DETAIL ยังธรรมดาๆ) แต่ก็ตื่นตัว นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียงสารพัดสัตว์แห่แหนกันออกมาอยู่ต่อหน้า เยอะดีมาก แยกแยะได้ดีกว่าอะไรเป็นอะไร แม้จะไม่แห่มาโอบล้อมรอบตัวเราอย่างที่เคย เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกลนับเสียงหอบได้ 5 (จากทุกที 6) ช่วงที่ม้าวิ่งมาถึงและเบรกตัวเอง ไม่ได้ยินเสียงเม็ดทรายฟุ้งกระจาย ตามด้วยเสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ตู้ลำโพงซ้าย, ขวาลอยสูงจากตัวตู้พอควร แต่ไม่ขนาดเกือบถึงเพดานห้องได้ เพลง 10 เสียงต่างๆ ในฟาร์มตอนเช้าให้ได้ครบใช้ได้ กับเพลงนี้ฟังๆ ไปเสียงจะลอยไปอยู่ที่เพดานห้องได้ และถึงขนาดวิ่งวนไปมาบนเพดานได้ ซึ่ง 12L ก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม เพลงนี้ยังบอกว่า 12L ให้เสียงแหลมที่เป็นตัวตนดี เป็นเรื่องราว ไม่ฟุ้งฝอยแบบหาสาระไม่ได้ ปลายแหลมน่าจะไปได้ไกลเกินระดับ 25 kHz จนได้ยินเสียงลมหายใจตัวโน้ต (AIRY) เพลง 12 ยิ่งฟังเวทีเสียงยิ่งแผ่ลอยออกมาหาเราได้น่าสนุก
แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นเสียงร้องหมู่ชายหญิงแยกแยะได้ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่อาจไม่อวบอ้วนใหญ่มหึมาแต่ก้ลงได้ลึกถึงพื้นห้อง และไม่รู้สึกว่ามันเป็นกลองเล็ก หน้ากลองตึงเปะ (ดูเหมือน 12L เน้นทุ้มที่ราบรื่นลงลึกมากกว่ามหึมา) เสียงร้องที่จีบปากจีบคอใช้ได้ เพลง 3 เสียงกีตาร์โปร่งขึ้นต้นดีมาก (น้ำเสียง, รายละเอียด) เสียงเปียโนไม่เลวแต่ขาดฮาร์โมนิกด้านต่ำไปนิด เช่นเดียวกับเสียงร้องที่สอดใส่อารมณ์ได้ดี แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าให้เสียงลงท้องได้มากกว่านี้ (ฮาร์โมนิกด้านต่ำ) คือจะซึ้งและโรแมนติกขึ้น เพลง 4 เสียงร้องโปร่งชัดขึ้น เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ พองาม เสียงเดินดับเบิ้ลเบสพองามไม่ขนาดอิ่มแน่นทิ้งตัวลงพื้นห้อง เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงปลายแหลมยังออก SOFT (นุ่ม) ไปหน่อย ไม่เข้มข้นเปล่งประกายมากนัก เสียงเครื่องสายออกหวาน (ทั้งดีด และสี) เสียงดับเบิ้ลเบสยังไม่อิ่มหนักทิ้งตัวลงพื้นห้อง เสียงร้องหวาน อ้อยสร้อยดี
นอกจากแผ่นข้างต้น ยังได้ฟังทดสอบอีกร่วม 10 แผ่น พอสรุปได้ว่า

3
1. 12L Classic ไม่ใช่ลำโพงที่จะเน้นเสียงตูมตาม กระแทกกระทั้นแน่นอนว่าหู Dance หรือ Rap เดินผ่านได้เลย เพราะไม่เน้นทุ้มแม้จะลงได้ลึก
2. ช่วงแหลมกลางถึงสูงสุดมีการลาดลง (Roll Off) ทำให้เสียงฟังเกลี้ยงสะอาดไม่โฉ่งฉ่างซี๊ดซ๊าด ออกกันเอง, สงบๆ แต่ก็อาจลดทอนความเปิดโปร่งทะลุ (TRANSPARENT) ความคม, ชันของหัวโน้ต, หัวเสียงร้องไปบ้าง ซึ่งปกติควรจะให้เสียงหุบ, คลุมเครือ, เบลอๆ เสมอกันไปหมด แต่โชคดีที่ 12L ใช้ดอกลำโพงกลางทุ้มที่กระชับดีมาก ผนวกกับตัวตู้ที่ “ต้น” แกร่ง, แข็งแรง, หนัก (ไม่น้อย) อีกทั้งการไม่ “เป่า” เสียงทุ้มให้อวบอ้วนใหญ่มหึมา ทำให้การสั่นทั้งหมดลดน้อยลงมาก จึงจำแนกเสียงอ่อนแก่, ดัง-ค่อย (DYNAMIC CONTRAST) ได้ดีเกินตัว อันช่วยให้เสียงไม่อม, จม, คลุมเครือ เบลอ แม้ความสด, เปิดโปร่งจะลาดลดลงก็ตาม (กับเพลงสมัยใหม่ที่มักบันทึกแบบใส่แหลมเต็มที่ (ไม่ใช่เกินไป) จะพบว่าแหลมของ 12L ก็โอเคเลย)
3. จากข้อ 2 DYNAMIC CONTRAST (การแจกแจงไล่เสียงค่อยสุดไปดังสุด) ของ 12L จึงดีเกินตัว ทำให้เสียงฟังมีวิญญาณดี สอดใส่อารมณ์ได้ดี ถ่ายทอดอากัปกิริยาของนักดนตรี, นักร้องได้ค่อนข้างดี
4. ให้โทนเสียง (TONAL BALANCE) ดีแม้จะยังอยู่ในกรอบอันหนึ่ง (จากทุ้มที่ขาดมวลไปบ้าง กับการลาดลงเล็กน้อยของแหลม) ทำให้แยกแยะชิ้นดนตรีต่างๆ ได้ดี แต่มันก็ให้ทุ้มได้ลึกคล้ายใส่ซับวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้วเลย ส่วนแหลมฟังนานๆ จะเปิดโปร่งขึ้น (ตัว C แบบน้ำมันหรือเปล่า?)
5. ให้ความกังวาน (AMBIANCE) หรือ SPACIOUS ที่ดี ช่วยเพิ่มบรรยากาศได้ดีมาก หูคลาสสิกน่าจะถูกใจแน่
6. 12L ไม่เน้นมิติเสียงที่จะต้องเป็นตัวๆ มีทรวดทรง 3 มิติ (3D) เปะๆ หรือมิติคมชัด กระเด็น หลุดลอยออกมาแทบจับต้องได้ เอาแค่ว่าพอจะระบุได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนกันบ้างก็พอ ที่น่าแปลกมันก็ยังให้ตำแหน่งชิ้นดนตรีที่ค่อนข้างนิ่งดี วอกแวกน้อยมาก มันให้เวทีเสียงที่โอ่อ่าอลังการได้อย่างนึกไม่ถึงกับอัลบั้มที่บันทึกมาดีๆ
7. เป็นลำโพงที่ต้องฟังนานๆ จากหลายๆ อัลบั้มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าลืมกลับ Absolute Phase ดูด้วย (สลับขั้วสายลำโพงบวก, ลบ ด้านหลังแอมป์ ให้เสียงหลุดลอยออกมาหาเรา ซึ่งต่างอัลบั้มก้อาจต่างกัน ต้องสลับหลังแอมป์ เพื่อให้สายลำโพงยังถูกทิศ (DIRECTION) ต่อทิศทางกระแสตลอด) ฟังนานๆ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งติอะไร แล้วคุณจะเริ่มจับประเด็นได้ว่า มีอะไรหลายๆ อย่างที่คุณไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยสังเกตจากลำโพงหลายๆ คู่ที่คุณคุ้นเคย 12L Classic ไม่ใช่ลำโพงประเภทรักแรกพบแน่ๆ แต่ยิ่งฟังจะยิ่งเพลิน คุณจะเริ่มไม่สนใจตัวมัน แต่จะพุ่งความสนใจไปที่เพลงอย่างจดจ่อ และไม่รู้เบื่อ เป็นลำโพงที่น่าทึ่งที่สุดคู่หนึ่ง!

ขอขอบคุณ หจก.เคเอสเวิลด์ โทร. 0-2204-2255 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้