What HI-FI? Thailand

Test Report: Odyssey Audio : Stratos Stereo Extreme

Test Report: Odyssey Audio : Stratos Stereo Extreme

การุณชาติ พุกกะเวส

ผมเคยทดสอบเพาเวอร์แอมป์ยี่ห้อนี้ไปแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน นั่นคือ Odyssey Audio : Khartago และเป็นตัวสูงสุดของตัวสเตอริโอที่มีคำว่า Extreme ต่อท้าย เครื่องแบรนด์นี้ถือว่ามีน้ำเสียงที่ดี น่าฟัง คราวนี้ห่างไปนาน มีโอกาสได้ลองรุ่นใหญ่ขึ้น คือ Stratos (ถ้ารุ่นใหญ่สุดคือ Kismet)

โดยที่ทาง Odyssey Audio ได้แบ่งไลน์อัพของรุ่น Stratos ออกเป็น 3 แบบ คือ รุ่น Stratos HT-3 (มีภาคขยาย 3 ชุดสำหรับการใช้ในโฮมเธียเตอร์ มี 2 รุ่นย่อย Stratos HT-3 / Stratos HT-3 Plus), Stratos Stereo (มีภาคขยาย 2 ชุด มี 3 รุ่นย่อย Stratos Stereo / Stratos Stereo Plus / Stratos Stereo Extreme), Stratos Mono (มีภาคขยาย 1 ชุด แยกเป็น 2 ตัวถัง มี 3 รุ่นย่อย Stratos Mono / Stratos Mono Plus / Stratos Mono Extreme)

ซึ่งรุ่นย่อยลงท้ายว่า Plus และ Extreme เป็นการบ่งบอกว่ามีความพิเศษจากรุ่นปกติ เช่น เพิ่มจำนวนคาปาซิเตอร์สำรองไฟเพิ่ม, มีหม้อแปลงเพิ่มอีก 1 ลูก เป็นต้น ทั้งหมดเพื่อให้คุณภาพเสียงมีความนิ่ง มีโฟกัส มีพละกำลังที่ดีขึ้น โดยเป็นการจัดทำมาจากโรงงานโดยตรง มั่นใจได้ว่าทุกอย่างถูกคิดค้น พัฒนามาอย่างเหมาะสมที่สุดแล้ว เราไม่ต้องมาโมดิฟายเองหรือลองผิดลองถูกเองแต่ประการใด ซึ่งความแตกต่างผมจะลงไว้ในตารางด้านท้าย เพื่อให้สะดวกในการเปรียบเทียบนะครับ

 

นอกจากนี้ยังมีไลน์อัพของเครื่องเล่นซีดี / ปรีแอมป์ / อินทิเกรตแอมป์ / ลำโพง อีกด้วย
ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ชื่อ www.odysseyaudio.com
Odyssey Audio มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 6731 West 79th Street Indianapolis, IN 46278, U.S.A.
ครั้งนี้ได้รับมาเป็น Odyssey Audio : Stratos Stereo Extreme ซึ่งจะขอเรียกว่าจากนี้ว่า Odyssey Audio : Stratos SE ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดของระบบสเตอริโอ ลองมาดูกันครับว่าจะสามารถสร้างความประทับใจให้ผมได้มากน้อยเพียงใด

 

ประวัติของ Odyssey Audio   

ผลิตภัณฑ์ของ Odyssey Audio (สหรัฐอเมริกา) เจ้าของคือ MR. Klaus Bunge ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Symphonic Lines ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากเยอรมัน ซึ่งถือกำเนิดในปี ค.ศ.1979 โดยมร. Rolf Gemein ด้วยเหตุนี้จึงใช้ดีไซน์ร่วมกัน โดย Odyssey Audio นำมาเฉพาะวงจรเมนหลัก ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ก็คัดสรรสิ่งที่ดีบรรจุลงไปเช่นกัน เพื่อให้คุณภาพของแบรนด์มีความเป็นเลิศ จากนั้นผลิตภัณฑ์ของ Odyssey Audio จะถูก QC 3 ขั้นตอน คือตรวจสอบมาตรฐานเบื้องต้น ตามด้วยเบิร์นอิน 48 ชั่วโมง แล้วมาไฟน์จูนอีกครั้ง ถ้าเครื่องไม่มีปัญหาจะตีซีรีส์นัมเบอร์ลงไปเพื่อจำหน่ายต่อไป

 

คุณสมบัติพิเศษ Odyssey Audio : Stratos SE

– Made in USA 100%

– รับประกัน 20 ปี

– วงจรใช้ดีไซน์ร่วมกับ Symphonic Lines RG-1 ราคา 6,000 ยูโร

– แผงหน้าอลูมิเนียมหนา 10 มิลลิเมตร

– ขารองออกแบบพิเศษ ให้ปราศจากแรงสั่น Anti vibration

– ให้กำลังขับต่อเนื่อง 150 วัตต์ x 2 แชนแนลโหลด 8 โอห์ม

– จ่ายกระแสได้สูงถึง >60 แอมป์

– ใช้คาปาซิเตอร์ 180,000 µF

– Damping Factor > 500

– หม้อแปลงกลม Plitron Transformer 400 VA จำนวน 2 ตัว

– สายไวริ่งภายในเป็น Groneberg Quattro Reference

– ทรานซิสเตอร์ภาคขยายเป็น Sanken 2SA1216 & 2SC2922

– วัดค่าจับคู่ทรานซิสเตอร์ ให้ค่าต่างกันไม่เกิน 1%.

– มีขั้วต่อขาเข้าแบบ RCA / XLR (Neutrik)

– ชิ้นส่วนภายในคุณภาพสูง เช่น WIMA / รีซิสเตอร์ Dale-Vishay / ALPS

– สายไฟเอซีแบบถอดได้ ชนิด IEC

– ตัวอักษรยิงเลเซอร์ ไม่ใช่การสกรีน

– หน้าปัดใช้ไฟ LED ยิงมาเข้ากระจกให้เป็นชื่อยี่ห้อ

 

ลักษณะทั่วไป Odyssey Audio : Stratos SE

เพาเวอร์แอมป์ Odyssey Audio : Stratos SE ออกแบบมาด้วยความเรียบง่าย ผนังแต่ละด้านยึดเข้ากันด้วยเหล็กฉากแต่ให้ความแข็งแรงดีมาก ตัวถังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวถังเครื่องนี้ (แผงหน้า และฝาหลัง) พ่นสีบรอนซ์มาซึ่งเป็นอ็อปชั่นพิเศษ ต้องเพิ่มเงินนะครับ ถ้าเป็นเครื่องเดิม ๆ จะเป็นสีดำล้วน แลดูสวยหรูขึ้น

แผงหน้าเป็นอลูมิเนียมกัดเสี้ยนเกรด Aircraft หนา 10 มิลลิเมตร ด้านข้างมีความยาวเลยเกินตัวเครื่องออกไป กลายเป็นปีก (แต่ไม่มีมือจับที่แผงหน้า) ตรงกึ่งกลางกระจก เปิดเปิดเครื่องดวงไฟ LED จะติดเป็นชื่อ Odyssey สีฟ้า (มีความสว่างมาก) แสดงสถานการณ์ทำงาน ถัดลงล่างเป็นชื่อรุ่น Stratos จัดเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีแผงหน้าเครื่องเรียบง่ายที่สุดที่เคยทดสอบมา

ฝาหลังอลูมิเนียมกัดเสี้ยนสีบรอนซ์ เจาะรูเป็นทรงกลมขนาดเล็กที่ขอบซ้าย / ขวาของฝาหลัง (ขอบนอกสุดทั้ง 2 ข้างเป็นครีบระบายความร้อน)

ด้านข้างซ้าย และขวา เป็นครีบระบายความร้อนแนวนอน (ตื้นลึกต่างกัน) เต็มพื้นที่ เพื่อระบายความร้อนจากจุดที่มีความร้อนสูงออกจากเครื่อง

ด้านหลังจัดวางอย่างสมมาตร ขอบทั้ง 2 ด้าน บนสุดเป็นขั้วต่อสัญญาณเสียงเข้าชนิด RCA ถัดลงล่างจะเป็นขั้ว XLR (Neutrix) และขั้วต่อลำโพงไบน์ดิ่งโพสท์อย่างดี 1 คู่ กึ่งกลางด้านบนเป็นเมนสวิตช์เปิดปิดเครื่อง (ลำบากเหมือนกันเวลาที่ต้องเอื้อมไปเปิด / ปิดเครื่อง ยิ่งใครใส่ไว้ในตู้ แทบไม่อยากคิดเลย) ลงมาเป็นเบ้าเสียบสายไฟแบบ IEC พร้อมช่องใส่ฟิวส์ขวามือจะเป็นป้ายโลหะบอกซีรีส์นัมเบอร์ของเครื่อง

แอบดูภายในจากรูปตามเว็บไซต์ ติดตั้งหม้อแปลง toroidal 2 ตัวอยู่บริเวณด้านท้ายกึ่งกลาง (เมื่อหันหน้าเข้าเครื่อง) มีแผ่นโลหะครอบ เพื่อลดการเหนี่ยวนำกับฝาหลังเครื่อง ขณะที่แผงวงจรอยู่ด้านหน้ากึ่งกลาง ครีบระบายความร้อนมี 2 ด้าน ตัวเก็บประจุอยู่ 3 จุด (กลางแผงวงจร 4 ตัว และใกล้กับหม้อแปลงอีกข้างละ 4 ตัว) เดินสายสัญญาณ / สายลำโพงแบบฮาร์ดไวร์ ใช้สายอย่างดีของ Groneberg Quattro Reference เยอรมัน (นัยว่าคู่ละ 3หมื่นถ้าประกอบสำเร็จ ยาว 1 เมตร) จึงไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรนใด ๆ

อ็อปชั่นเสริม Odyssey Audio : Stratos SE

นอกจากรุ่นที่เลือกได้แล้ว ผู้ผลิตยังมีอ็อปชั่นเสริมไว้พอสมควร เช่น แผงหน้าทำสีอโนไดซ์ หรือทำตัวถังอโนไดซ์ด้วย / แผงหน้าเคลือบทอง 24K หรือเงิน 99.9% / หน้ายังไม่หนำใจ เลือกชุบ Platinum ไปเลย / ขั้วไบน์ดิ่งโพสท์เป็น WBT เป็นต้น คุณจะได้เครื่องที่ไม่เหมือนใคร..

 สเปค Odyssey Audio : Stratos SE

– จ่ายกระแสที่โหลดต่ำสุด 2 โอห์ม

– ตอบสนองย่านความถี่ 2 – 400,000 Hz

– วงจรคลาสส์ A / AB

– กินไฟตอนเดินเบา 35 วัตต์

– น้ำหนักเครื่อง 32 กิโลกรัม

– ตัวถังกว้าง 19 ลึก 18 สูง 7 นิ้ว

 

อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง Odyssey Audio : Stratos SE

แหล่งโปรแกรม ; Panasonic : DMP-BDT330 (โมดิฟาย), Pioneer DV-400 (โมดิฟาย), โน๊ตบุ๊ค HP G42, CPU Core i3@2.53 GHz, RAM 2 GB

DAC ; Audiolab : M-DAC

เอ/วี รีซีฟเวอร์ ; Pioneer : VSX-LX70

ปรีแอมป์ ; Aesthetix : Calypso, Cary Audio : SLP-98, Peachtree Audio : Nova Pre, Odyssey Audio : Tempest

เพาเวอร์แอมป์ ; Odyssey Audio : Stratos SE

ลำโพง ; Focus Audio : FP70 SE / FPC SE Center / FS6 SE, Sonus Faber : Concerto Home / Solo Home / Concertino Home

โปรเจ็คเตอร์ ; JVC : DLA-RS10

จอรับภาพ ; Stewart : Grayhawk RS (Reference Screen) 92 นิ้ว

แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ; Velodyne : CT-150

สาย USB ; B.M.C : Pure USB I (Active)

สายดิจิตอล ; Supra : EFF-I (WBT)

สายสัญญาณ ; Kimber Kable : Hero (XLR-Swisscraft, RCA WBT-0144)

สายลำโพง ; Kimber Kable : 8TC, Supra : PLY 3.4

สายภาพ HDMI ; Monster Cable : isf2000HD / MC1000

สายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ ; Monster Cable : M1000SW

สายไฟเอซี ; Isotek : EVO 3 Syncro, Shunyata Research : Python CX, Sine : Cassio PC, JPS : In Wall (Wattgate Economy), Kimber Kable : PK10 (Wattgate : 330i / 350i), Monster Cable : Power Line 300, Supra : LoRad เบิ้ล 2 เส้น (Wattgate Economy), Acoustic Zen : CL-3 (Wattgate), Hovland : Mainline (Marinco / Furutech)

ระบบไฟ ; ฟิวส์ Furutech : TF-15A, Marsh Sound Design 10A, SB (Sound Box) 6.3A / 5A, ปลั๊ก Wattgate : 381, Monitor Acoustics AG-I, ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1, ตัวคุมไฟ Silicon : VR-100ie, ตัวกรองไฟ Isotek : Aquarius, Isotek : Mini Mira, Monitor Acoustics : Glory A+ / Glory VGR

อุปกรณ์เสริม ; ชั้นวาง Brightstar Audio : Big Rock I, XAV #111, Audio Arts : Trisolators, Audio Arts : Classic II, Master Stand Base : 2217, ขาตั้ง Totem : T4, Target Audio : ST50, JM Labs : Utopia, ที่รองสาย Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Shunyata : Dark Field Mini, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks, ที่รองเครื่อง / ทิปโท Symposium : Rollerblock Series 2, Michael Tender Feet, JJ : Screw Cone, Hi-Fi Block ที่ทับเครื่อง Brightstar Audio : Little Rock, ก้อนอิทธิเจ, VPI : HW dB-5, XAV : EMX-9, อื่นๆ Cardas : RCA Cap, Cardas : S-Video Cap, Omni Mount : PMD2

อุปกรณ์ควบคุมสภาพอะคูสติก ; แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune

 

การติดตั้ง และการเซ็ทอัพ Odyssey Audio : Stratos SE

เพาเวอร์แอมป์ Odyssey Audio : Stratos SE มีความลึกค่อนข้างมาก ชั้นวางต้องใหญ่พอสมควร และรองรับน้ำหนัก 30 กิโลกรัมได้ในระยะยาว โดยไม่ตกท้องช้าง ความสูงมีมาก อาจจะทำให้การใส่เข้าตู้หรือชั้นวางทรงคอนโดทำได้ลำบาก ส่วนตำแหน่งสายไฟ / สายลำโพง / สายสัญญาณ RCA จัดอย่างสมดุลย์กัน ทำให้การต่อสายสะดวกมาก เพียงแต่สวิตช์เปิดปิดเครื่องเท่านั้นที่อยู่ด้านหลัง!! อาจจะเปิดลำบากพอสมควร ยกเว้นว่าจะหันด้านหลังเครื่องออกมา…
ส่วนการเซ็ทอัพ อาจปรับตำแหน่งลำโพงเล็กน้อยให้แมชชิ่งกัน

 

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่าง

  Stratos Stereo Stratos Stereo Plus Stratos Stereo Extreme
ขนาดคาปาซิเตอร์ 60,000 µF 120,000 µF 180,000 µF
ขนาดหม้อแปลง 400 VA 400 VA 400 VAx2 = 800 VA
การจ่ายกระแส 45A 45A >60A
กินไฟตอนเดินเบา 30 วัตต์ 30 วัตต์ 35 วัตต์
น้ำหนักเครื่อง 24.5 กิโลกรัม 25 กิโลกรัม 32 กิโลกรัม

                จะเห็นว่าจุดที่ต่างกันของ Odyssey Audio : Stratos SE คือ คาปาซิเตอร์ที่มีรวมกันถึง 180,000 µF กับจำนวนหม้อแปลงที่เพิ่มเข้ามาอีก 1 ลูก ทำให้รุ่นนี้จ่ายกระแสได้เหลือเฟือ และยาวนานกว่าอีก 2 รุ่นชัดเจน

 

ผลการลองฟัง Odyssey Audio : Stratos SE

Odyssey Audio : Stratos SE มีสเปค 2-3 จุดที่ดี คือ ให้ค่าการตอบสนองความถี่ 2 Hz to 400,000 kHz (เครื่องทั่วไปแค่ 100,000 KHz) มั่นใจว่าช่วงปลายแหลมจะสะอาด ไม่ถูกบีบอัดสัญญาณ, ใช้คาปาซิเตอร์ 180,000 µF (เครื่องทั่วไปแค่ 30,000-70,000 µF) มั่นใจว่าการจ่ายสัญญาณฉับพลันดีแน่นอน ไม่มีปัญหาหมดแรง และค่า Damping Factor > 500 (เครื่องทั่วไปแค่ 60-300) เบสจะหยุดได้เร็ว ไม่สั่นคราง แต่จุดที่ผมไม่ชอบคือ ค่า Input Impedance ที่ 22 กิโลโอห์ม อาจไม่แมชชิ่งกับปรีที่มีค่า Output Impedance สูง เช่น พวกปรีหลอด

เมื่อเปิดแล้วชื่อโลโก้เป็นไฟสีน้ำเงินติดขึ้นมาแสดงการพร้อมใช้งาน ซึ่งตอนเปิดใช้งาน ไม่มีเสียงตุ๊บตั๊บใด ๆ ให้ได้ยิน ขณะที่ตัวเครื่องเปิดใช้งาน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจร, หม้อแปลง ฯลฯ จะไม่มีเสียงฮัมใด ๆ เกิดขึ้นเลย

เมื่อฟังเสียงช่วงต้น เสียงดูราบเรียบ ไม่มีลีลา ไม่มีสิ่งใดน่าสนใจ ในคู่มือระบุว่าควรเบิร์นอิน 400 ชั่วโมงจึงจะได้ความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่ มาถึงวันนี้ผมน่าจะนวดได้ราว 300 ชั่วโมงแล้ว เรียกว่าบิลค่าไฟมาน้ำตาพี่แทบคลอเบ้า..แต่ก็คุ้มค่าในการรอคอยเพราะทุกอย่างดีขึ้นจริง

โดยรวมถ่ายทอดปลายแหลมสะอาด ชัดเจน มีความกังวาน ไม่มีความจัดจ้านของเสียง เสียงกลางลื่นไหล เป็นธรรมชาติ ย้ำหนักเบาได้ดี เบสมีน้ำหนัก มีบอดี ไดนามิคดี ไม่ตื้ออั้น มิติดีทั้งด้านกว้าง และด้านลึก

ตัวเครื่อง Odyssey Audio : Stratos SE ตลอดเวลาใช้งานไม่แผ่ความร้อนออกมาจนน่ากลัว แค่อุ่น ๆ เท่านั้น ต้องขอบคุณครีบระบายความร้อนที่มีเต็มพื้นที่ด้านข้างตัวเครื่อง ก่อนฟังควรอุ่นเครื่องราว 20 นาทีเพราะใช้ตัวเก็บประจุค่ามากถึง 180,000 µF

ตอนนี้ผมจะใช้ในการเพิ่มมาขับลำโพงคู่หน้า เพื่อใช้ “ดูหนัง” ก่อน (ส่วนการใช้ฟังเพลงจะอยู่ช่วงท้ายนะครับ)

Initial D (Blu-ray แผ่นฮ่องกง, LPCM 5.1) สุ้มเสียงทั้งหมดลื่นไหล น่าฟัง มีความออดอ้อนที่ดี แต่ไม่ทำให้ความสะใจ ความกระแทนกระทั้นลดน้อยลง เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่ม เวทีเสียงกว้างขวางดีมาก

Frozen (Blu-ray แผ่นไทย, dts MSTR 5.1) เสียงแหลมสะอาด ไม่แข็งกร้าว เสียงสนทนาสะอาด มีรายละเอียดดี เพลงประกอบนุ่มหวานน่าฟัง ความถี่ต่ำอิ่มแน่นเด้งตัวดี เวทีเสียงกว้างขวางดี

Cars (Blu-ray แผ่นญี่ปุ่น, Dolby True HD 6.1) ถ่ายทอดรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาได้ดี เป็นธรรมชาติมาก ได้ยินระดับเสียงที่แผ่วเบาโดยง่าย โทนัลบาลาน์ดีไม่เน้นเสียงหนึ่งเสียงใดเป็นพิเศษ ไดนามิคดี ความสด / ความกระแทกกระทั้นของหัวโน้ตมีออกมาอย่างเหมาะสม

เรียกว่าเปลี่ยนแผ่นเสียงก็เปลี่ยนตามคุณภาพของแผ่น…

Thor : The Dark World (Blu-ray แผ่นไทย, Dolby True HD 7.1) การแพนทิศทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสนามเสียงด้านหน้าทำได้ดี มีความถูกต้อง แม่นยำ นิ่งสนิทไม่มีการวูบวาบ ปลายแหลมชัดเจนดี ไม่แห้ง ถ่ายทอดเสียงพูดของตัวละครต่าง ๆ ได้สะอาด ย้ำหนักเบาดี ความถี่ต่ำอิ่มแน่น เด้งตัวดีมาก

ลองแผ่นดีวีดี Pompeii (ดีวีดี โซน 3 Dolby Digital 5.1) ให้เสียงเบสที่หนักแน่น ไดนามิครุนแรง เสียงสนทนาสะอาด โฟกัสชัดเจนแต่ไม่ขึ้นขอบ ปลายแหลมถ่ายทอดลงตัว ไม่อับทึบจนอึดอัดหรือแผดจ้าจนระคายหู ฟังได้ยาวนาน

Ender’s Game (ดีวีดี โซน 3 Dolby Digital 5.1) ถ่ายทอดไดนามิครวดเร็ว รุนแรง การแพนทิศทางยอดเยี่ยม ชัดเจน บรรยากาศโอบล้อมพรั่งพรูดี สวิงเสียงกว้าง ช่วยแบ่งเบาภาระของเอ / วี รีซีฟเวอร์ได้เป็นอย่างดี

ถือว่าในส่วนการใช้ดูหนัง ไม่ผิดหวัง ไว้ใจได้ น้ำเสียงเป็นกลางดี ลงตัว ไม่แข็งกร้าวหรือไม่ทึมเกินไป ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ โทนัลบาลานซ์ที่ดี กำลังขับดี พละกำลังสำรองดี ไทมิ่งดี มีลีลา ไม่เร่งรีบจนขาดความเป็นดนตรีหรือช้าจนผิดปกติ

ช่วงท้ายเป็นการ “ฟังเพลง” ล้วน ๆ เพื่อดูว่าจะให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

เริ่มจากไฟล์ Hi Res หลาย ๆ แนวจากศิลปิน Holly Cole Trio : Don’t Smoke in Bed, Chie Ayado : Good Life, Jennifer Warnes : Famous Blue Raincoat ฯลฯ เสียงโดยรวมถ่ายทอดปลายแหลมที่กระจ่าง เปิดโปร่งกำลังดี ไม่มีความชัดเจนที่มากจนเกิดความจัดจ้านใด ๆ ให้วิตกกังวล มีความกังวานที่ดี เสียงกลางสะอาดชัดเจน ไม่พร่ามัว แม้เร่งดัง ๆ ก็ไม่อ่อนแรงหรือพร่าเพี้ยน รายละเอียดแผ่วเบารับรู้โดยง่าย มีโฟกัสดี ความถี่ต่ำอิ่ม มีน้ำหนักเสียงที่ดี ไม่เน้นเสียงต่ำมากเกินไป ไดนามิคดีไม่ตื้ออั้น

ฟังเพลงจากซีดีกันในคาบสุดท้าย โดยร่วมกับปรีแอมป์ เช่น Aesthetix : Calypso, Peachtree Audio : Nova Pre, Cary Audio : SLP-98 และที่ขาดไม่ได้ Odyssey : Tempest

เมื่อได้ปรีแอมป์คุณภาพสูง จะให้เวทีเสียงที่กว้างขึ้นไปอีก รวมทั้งด้านลึกด้วย แสดงถึง Odyssey : Stratos มีความเป็นมอนิเตอร์ที่ดี สามารถบ่งบอกบุคลิกของอุปกรณ์ร่วมทดสอบได้

ไซ่ฉิน Golden Voice Vol.1 (BM-206003) ปลายแหลมสะอาด ฉ่ำ กังวานดี เสียงร้องออดอ้อน ยิ่งเมื่อฟังผ่านปรีหลอดด้วย…โห ฟังกันเพลินเลย ไทมิ่งดี เบสอิ่ม มีบอดี้ มีความนุ่มนวลที่ดี ไม่แข็งกระด้าง

เสียงผิวปากให้ความรู้สึกสมจริง เสียงร้องสะอาด มิติด้านลึกดีมาก ไล่โน้ตเบสชัดเจน Harry Belafonte Live In Concert At The Carnegie Hall (BMG / RCA 74321 15713 2 (2))

Toys (GEFD 24505) เวทีเสียงกว้างขวางโอ่อ่า มิตินิ่งสนิท ชิ้นดนตรีชัดเจนดี มีรายละเอียดแผ่วเบาดี ย้ำหนักเบาชัดเจน ไดนามิครุนแรง ไม่ตื้ออั้น

The Wonderful Sound of Three Blind Mice ซึ่งเป็นการรวมเพลง โดยรวมปลายแหลมสะอาด ไร้สากเสี้ยน พลิ้วหวาน เสียงกลางชัดเจน ลื่นไหล พื้นเสียงสะอาด ไม่มีความกระด้าง เบสมีน้ำหนักที่ดี

Usher No.25 / 30 /31 เสียงตีกลองมีน้ำหนัก ไม่บาง เสียงกลางชัดเจน เปิดโปร่ง อักขระดีมาก ได้ยินเสียงลูกคอแบบต่าง ๆ แหลมสะอาด มีความชัดเจน ทอดตัวได้ไกล มิติด้านลึกเลยกำแพงห้องไปได้

ทริคในการเล่น Odyssey Audio : Stratos SE

ทางผู้แทนฯ ได้รับปรับปรุง เช่น ปิดสติ๊กเกอร์ Symphonic Line ที่หม้อแปลง, ทาน้ำยาแดมป์พิเศษบนบอร์ดเพื่อลดแรงสะเทือนของแผงวงจร / อุปกรณ์, เปลี่ยนฟิวส์ภายใน+ภายนอก 5 ตัวเป็น SB Fuse (ผมลองทดสอบแล้ว ให้คุณแพงคุ้มค่าคุ้มราคาครับ) ซึ่งจะไม่มีการถอดแผงวงจรใด ๆ และถือว่าให้ผลลัพธ์ที่ดี

 

บทสรุป Odyssey Audio : Stratos SE

แน่นอนครับ Odyssey Audio : Stratos SE ถือว่าให้น้ำเสียงที่น้ำประทับใจ ในแง่ความเป็นธรรมชาติ มีเสียงทุกย่านที่สมดุลกัน ไม่มีการเน้นให้ย่านความถี่ใดล้ำหน้าออกมา ไทมิ่งดี ความเป็นมอนิเตอร์ งานสร้างชั้นเยี่ยม ส่วนหนึ่งเพราะได้แผงวงจรจากเครื่องที่ดี ผสานกับอุปกรณ์ประกอบแต่ละจุดที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้มาตรฐานของเสียงดีอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีชิ้นส่วนจากประเทศกำลังพัฒนาเลย ทุกอย่าง Made in USA 100%

ใครสนใจควรสอบถามผู้แทนอีกที เพราะเครื่องนำเข้ามาจำนวนจำกัดมาก ๆ ครับ

 

<<<<<What Audio-Video?>>>>
– รูปลักษณ์ 5 ดาว

– สมรรถนะ 4.5 ดาว
– คุณภาพเสียง 4.5 ดาว
– ความคุ้มค่า 4.5 ดาว
– คะแนนโดยรวม 4.5 ดาว

Exit mobile version