What HI-FI? Thailand

Test Report: Netgear : R 7000

Test Report: Netgear : R 7000

การุณชาติ พุกกะเวส

 

            ปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตไปแล้ว…

ตื่นมาเช็คข่าว, เช็คอีเมล์, อัพสถานะ facebook / Line / Instagram หรือฟังเพลงผ่าน You Tube, อินเทอร์เน็ตเรดิโอ ฯลฯ หรือบางคนนิยมการสตรีมมิ่งเพลง, เล่นเกมส์ออนไลน์หรือโหลดหนังต่างๆ ยิ่งต้องอาศัย “อินเทอร์เน็ต” เป็นสำคัญ

อินเทอร์เน็ตแรงๆ จะทำให้การอัพโหลด และดาวน์โหลดต่างๆ รวดเร็วที่สุด ไม่ติดขัดหรือสะดุดใดๆ แต่สิ่งที่ทำหน้าที่รับเชื่อมสัญญาณ และปล่อยออกมารอบๆ บ้าน หรือที่ออฟฟิศเพื่อจ่ายไปยังคอมพ์ฯ / มือถือแต่ละตัวเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ นั่นคือ “เราเตอร์”

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีได้ให้คำจำกัดความดังนี้

“ เราเตอร์ (อังกฤษ : Router) เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่หาเส้นทาง และส่ง (Forward) แพ็กเกตข้อมูลระหว่างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ไปยังเครือข่ายปลายทางที่ต้องการ เราเตอร์ทำงานบนเลเยอร์ที่ 3 ตามมาตรฐานของ OSI Model เราเตอร์มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับสวิตช์ (Switch) ที่มีความสามารถแจกไอพีได้ เราเตอร์เชื่อมต่อเข้ากับสองเส้นทางหรือมากกว่าจากเครือข่ายที่แตกต่างกัน เมื่อแพ็กเก็ตข้อมูลเข้ามาจากเส้นทางหนึ่ง เราเตอร์จะอ่านข้อมูล Address ที่อยู่ในแพ็คเก็ตเพื่อค้นหาปลายทางสุดท้าย จากนั้น ด้วยข้อมูลในตารางเส้นทางหรือนโยบายการส่ง, จะส่งแพ็กเก็ตไปยังเครือข่ายข้างหน้าตามเส้นทางนั้น เราเตอร์จะดำเนินการ “กำกับการจราจร” บนเส้นทางนั้นด้วย แพ็กเก็ตข้อมูลโดยทั่วไปจะถูกส่งจากเราเตอร์หนึ่งไปยังอีกเราเตอร์หนึ่งผ่านเครือข่ายที่เป็น Internetwork จนกว่าจะถึงโหนดปลายทาง เราเตอร์ประเภทที่คุ้นเคยมากที่สุดคือ เราเตอร์ที่บ้าน และสำนักงานขนาดเล็กที่เพียงส่งผ่านข้อมูลเช่นหน้าเว็บ, อีเมล์ ฯลฯ และวิดีโอระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านและอินเทอร์เน็ต เช่น เราเตอร์ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อาจมีความพิเศษยิ่งขึ้น เช่น มีความเร็วสูงสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วเป็นพิเศษ ”

บางคนบ้านหลังใหญ่ มี 3-5 ชั้น มีพื้นที่มากหลายร้อยตารางวา จุดที่ติดตั้งเราเตอร์กับจุดที่ใช้คอมพ์ฯ อาจไกลมากเกินไป เช่น ติดตั้งเราเตอร์ชั้น 1 ใช้งานที่ชั้น 5 แม้ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะแรงสุด ๆ ระดับ 24 Mbps แต่เราเตอร์ไม่แรงพอ อาจปล่อยสัญญาณมาไม่ถึงจุดที่คุณใช้งานหรือสัญญาณมาแบบขาดๆ หายๆ ก็ไม่มีประโยชน์

ระบบอินเทอร์เน็ตที่แต่ละบ้านใช้หลักๆ มี 2-3 ค่าย ใครจะใช้ค่ายไหนก็ว่ากันตามสะดวก คือ บางคนไม่ชอบใช้อีกค่ายจึงต้องไปใช้อีกค่าย…เรียกว่า เอาที่สบายใจเลยครับ 55

คราวนี้เมื่อตัดสินใจคบค่ายไหนแล้ว โดยมาตรฐานจะมีการแถมเราเตอร์มาให้ 1 ตัว เป็นตัวธรรมดา มีเสาอากาศสั้นๆ 1 เสา

แน่นอนว่า เราเตอร์แบบคุณภาพสูงขึ้นจะต้องซื้อแยกต่างหาก แล้วแต่ความจำเป็นในการใช้งานของแต่ละคน บางคนนิยมดาวน์โหลดบ่อยๆ เข้าหน้าเว็บไซต์ที่มีป๊อปอัพซับซ้อนตลอด ชอบประมูลออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ น่าจะพิจารณาเราเตอร์ที่ดีๆ ไว้ด้วย

         วันนี้มีผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งส่งเข้ามาให้ทดลองใช้งาน นั่นคือ Netgear : R 7000 AC1900

Nighthawk Smart WiFi Router (น่าจะหมายถึงไนท์ฮอว์ก เอฟ-117 เครื่องบินล่องหน) ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า Netgear : R 7000 ลองมาพิจารณากันดูครับว่าจะตอบสนองได้มากน้อยเพียงใด?

คุณสมบัติพิเศษ Netgear : R 7000

– มีชิปประมวลผล Dual-Core ความเร็ว 1 GHz, 128 MB Flash และ 256 MB RAM
– มีเสากระจายสัญญาณ 3 เสา ปรับมุมได้อิสระ

– รองรับ Wi-Fi Tri-Band ความเร็ว 600 Mbps บน 2.4GHz, 1300 Mbps บน 5GHz รวม 1900 Mbps

– มี Gigabit WAN 1 ช่อง และ Giagabit LAN 3 ช่อง ความเร็ว 10/100/1000 Mbps

– มี USB จำนวน 2 ช่อง USB 3.0 จำนวน 1 ช่อง และ USB 2.0 จำนวน 1 ช่อง สำหรับ USB Storage เพื่อแชร์ไฟล์และ Media Streaming

– รองรับเทคโนโลยี Beamforming+ ทำให้ส่งสัญญาณได้ไกลและเร็วมากขึ้น
– รองรับการตั้งค่าผ่าน Netgear Genie App (ตั้งค่า และตรวจสอบสถานะได้ทุกที่)

ลักษณะทั่วไป Netgear : R 7000

           Netgear : R 7000 ใช้แพ็คเกตกล่องกระดาษพิมพ์สีดำ / ฟ้า / ม่วง เมื่อเปิดออก ตัวเราเตอร์จะห่อในซองพลาสติก ข้างๆ กันมีเสาอากาศ 3 เสาแยกมาในซองพลาสติกอีกอัน, ปลั๊กแปลงไฟ คู่มือ ฯลฯ

Netgear : R 7000 ออกแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แบนๆ คล้ายเราเตอร์ทั่วไป มุมเครื่องตัดเป็นเหลี่ยมให้ดูดุดัน ด้านหลังยกสูงกว่าด้านหน้า ใช้สีดำด้าน ตามคอนเซปท์ชื่อ Nighthawk นั่นเอง

ด้านหน้ามุมขวา มีช่องเสียบ USB 1 ช่อง ด้านซ้ายและขวาทำเป็นช่องระบายอากาศ

ด้านบนฝาหลังใกล้แผงหน้า มีดวงไฟ LED เรียงเป็นตับ (ดวงไฟมีสีขาว / ส้ม) ทำหน้าที่แสดงสถานะการทำงานของเครื่อง เช่น การเปิดเครื่อง, ความถี่ที่ใช้งาน, ช่องสัญญาณที่ใช้งาน ฯลฯ

ด้านหลังมุมซ้ายเป็นช่องเสียบสายไฟอะแดปเตอร์ (จ่ายออก 12V@ 3.5 A) ใกล้กันเป็นสวิตช์เปิด / ปิด, ช่องต่อ USB 2.0, ช่อง WAN 1 ช่อง, ช่องจ่ายสัญญาณออก 4 ช่อง ใกล้กันเป็นปุ่ม Reset โดยมุมซ้าย / กลาง / ขวาจะเป็นเกลียวสำหรับเสียบเสาอากาศ 3 เสาเข้ามา

สเปค Netgear : R 7000

– ตัวถัง (H x W x D) 50 x 285 x 184 mm)

– หนัก 750 กรัม

อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง Netgear : R 7000

แหล่งโปรแกรม ; สมาร์ทโฟน Samsung : Mega 6.3, โน้ตบุ๊ก HP G42, CPU Core i3@2.53 GHz, RAM 2 GB,

ระบบไฟ ; ตัวกรองไฟ Perfect Power, Monitor Acoustic ปลั๊ก ; Cruze First Audio : Maestro

การติดตั้งและการเซ็ตอัพ Netgear : R 7000

Netgear : R 7000 ติดตั้งไม่ยาก หาที่วางให้สะดวก กรณีนี้ใช้ต่อกับเราเตอร์ตัวเดิม (ตั้งในห้องนอนชั้น 2 ด้านหน้าของบ้าน) เพื่อความสะดวกในการเดินสาย Lan

นอกจากนี้ยังต้องเผื่อระยะทางในการเสียบสายไฟไปยังเครื่องด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ตัวเสาทั้ง 3 สามารถปรับมุมได้อิสระ ลองหันไปตามจุดที่ต้องการใช้งานดูครับ ในตำแหน่งบ้านที่ผมนั่งใช้งาน ไม่ค่อยเจอปัญหาสัญญาณความแรงอินเทอร์เน็ต จึงตั้งเสาแบบตรง (จะมีบ้างในส่วนของลูกสาวที่เขาชอบนั่งในห้องอาหาร ชั้น 1 หลังบ้าน เขาบอกสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่แรงนัก)

ผลการลองใช้งาน Netgear : R 7000

ก่อนจะใช้งาน Netgear : R 7000 ได้จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการ ต้องเซ็ตอัพเล็กน้อยดังนี้

– เมื่อเปิดอินเทอร์เน็ตขึ้นมา หน้าเพจจะมาเข้าหน้านี้ ให้เรากด Continue ต่อไป จากนั้นระบบจะทำการเชื่อมเข้าหากันอัตโนมัติ

– เมื่อเชื่อมต่อกันแล้ว หน้าเพจจะเปลี่ยนเป็นหน้านี้ โชว์ข้อมูลต่างๆ โชว์ว่า ค่าสัญญาณแต่ละชุด มีชื่อ Password ว่าอะไรให้ทราบ ให้กดปุ่มขวามือเพื่อให้เราเชื่อมเข้าระบบอินเทอร์เน็ตต่อไป

– พอคลิกแล้วจะมีข้อความยืนยัน พร้อมกับข้อมูลต่างๆ สำหรับคนที่มียังไม่เข้าใจให้ศึกษาเพิ่มเติม

กดเข้าดูหน้า Home ของ Netgear

ได้เวลาลองใช้งานดูแล้ว ปกติความเร็วสปีดที่บ้านผม 18 Mbps ใช้กัน 3-4 คน แน่นอนว่าทำให้ต้องแย่งโหลดกัน ความเร็วในการใช้งานย่อมลดลงแน่นอน

คราวนี้ผมตัดช่องน้อย ลองมาใช้ Wi-Fi ของ Netgear : R 7000 ในชื่อ Netgear 68 ซึ่งทำหน้าที่ขยายความแรงให้มากขึ้น และมีผมใช้คนเดียว น่าจะทำให้แรงดีไม่มีตกก็ว่าได้ 55

เริ่มต้นลองใช้โน้ตบุ๊ก (เล่นชั้นล่าง-ตัวเราเตอร์อยู่ชั้น 2) สัญญาณอินเทอร์เน็ตขึ้นเต็มเกจ์เกือบตลอด ก่อนหน้า ผมเข้าดู และโหลดข้อมูล Buyer’s Guide ของ The Absolute Sound มาเก็บไว้ ซึ่งจะต้องทำทีละอัน จะดาวน์โหลดพร้อมกัน 2 ไฟล์ไม่ได้เนื่องจากไฟล์ใหญ่เกิน 20 MB ขึ้นไป คราวนี้ลองโหลดทีละอันเช่นเคย ไม่ได้จับเวลาว่าจะเร็วขึ้นหรือไม่ เอาเท่าที่รู้สึกนะครับ ถือว่าน่าจะเร็วพอรู้สึกได้ เสร็จเร็วอย่างน้อยสัก 20-30 วินาทีก็น่าพอใจแล้ว

นี่น่าจะเป็นเรื่องดี คราวนี้ลองของวัดประสิทธิภาพกันชัดๆ ไปเลย ด้วยการโหลดพร้อมกัน 3 ไฟล์ในคราวเดียวกัน ผมนั่งดูแถบสัญญาณไฟล์ที่วิ่งขณะดาวน์โหลดพบว่า จะแทบจะใช้เวลาเท่าเทียมกับการดาวน์โหลดทีละอันเลย!! แสดงถึงชิปแประมวลผลที่ใช้ (Dual Core 1 GHz) มีความแรงที่ดี ทำให้ความเร็วไม่ตก รวมทั้งตอบโจทย์การมี 3 เสาทำให้ขยายสัญญาณให้ครอบคลุมมากขึ้น สัญญาณจึงมาเต็ม ๆ ทำให้ดาวน์โหลดเสร็จในไม่กี่อึดใจ

เทียบกับเราเตอร์เดิม ถ้าโหลดเยอะๆ แบบนี้ ถ้าไม่ค้างก็รอกันนาน ไม่มีอันไหนเสร็จเลยสักอัน สุดท้ายก็ต้องกดยกเลิกการดาวน์โหลดบางอันเพื่อให้อันที่ดาวน์โหลดอยู่ดำเนินต่อไปได้จนเสร็จ

เพื่อให้หายคาใจ ผมลองเช็คสปีดอินเทอร์เน็ตดู ณ เวลา 23.00 น. ทำ 3 ครั้งติดกัน เท่าที่ดูพบว่าบางช่วงที่วัดเข็มวิ่งไปถึง 30 Mbps เลยทีเดียว พอวัดจบค่าเฉลี่ย = 22.5 / 25.12 / 24.94 Mbps ถือว่าแรงเกินมาตรฐาน 18 Mbps นั่นน่าจะหมายถึง Netgear : R 7000 มีส่วนช่วยทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความแรงเพิ่มขึ้นจากสเปคที่กำหนด

ส่วนใครใช้อินเทอร์เน็ตในการดูหนัง ฟังเพลง เล่น facebook, Line โหลดข้อมูลต่างๆ มาเก็บเสมอ ใครที่คิดว่าเราเตอร์บ้านๆ ก็พอใช้งานได้ คุณอาจจะคิดผิด การได้เราเตอร์ดีๆ จะทำให้การจับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความเร็วเพิ่มขึ้น เสถียรขึ้น คุณทำงานได้รวดเร็วขึ้น เรียกว่าสไลด์ผ่านหน้าจอได้อย่างราบรื่น ไม่ค้าง ไม่เอ๋อแน่นอน อาการภาพไม่ปรากฏนี่ถ้ามีก็รอเพียงอึดใจจริงๆ ก็จะปรากฏ และให้คุณเลื่อนต่อไปได้อย่างสบายๆ ไม่เสียอารมณ์แน่นอน

และความเร็ว ความเสถียรนี้จะมีประโยชน์มากขึ้น เมื่อคุณใช้ในกิจกรรมที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น ประมูลสิ่งของ แน่นอนว่าบางทีกลุ่มผู้ประมูลมักจะ Bid กันในช่วง 30 วินาทีสุดท้าย!! ลองคิดดูถ้าของสิ่งนั้นคุณค้นหามานาน อยากได้สุดๆ แล้วอินเทอร์เน็ตคุณช้าหรือไม่เสถียร คุณกดส่งตัวเลขอะไรไปกว่าข้อความของคุณจะทะลุทะลวงฝ่าฝันผ่านตัวเลขของกลุ่มผู้ประมูลไปปรากฏขึ้นบนหน้าจอแทบเป็นไปไม่ได้เลย…แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ คุณคิดว่าคุณจะชนะการประมูลไหม? ผมว่าไม่มีทางเลย

ขณะที่คู่แข่งคุณใช้เน็ตความเร็วสูงพอๆ กันแต่มีเราเตอร์แรงๆ คอยสนับสนุน กดโพสต์เมื่อไหร่ ข้อความนั้นพร้อมจะทะลุทะลวงแซงทุกคนจนเข้าไปแปะอยู่ในกระทู้นั้นจนกลายเป็นผู้ชนะได้อย่างสบายๆ

แล้วใครละที่จะเสียใจ?

ในการใช้ดูหนัง สตรีมมิ่งต่างๆ ก็ลองคร่าวๆ ไม่เต็มรูปแบบเพราะผมไม่ได้เน้นทางนี้ แต่เชื่อว่าถ้าใครใช้ทำกิจกรรมดังกล่าวจะต้องพึงพอใจแน่นอน..ลองดูคลิปวิดิโอต่างๆ เอาที่เป็นแบบ 4K ไม่แอบโหลดเองนะครับ ดูอย่างเร็วไม่สะดุด ลื่นไหลดี ละติจูดที่ 6 ภาพสวยงาม มิติลอยออกมา ความคมชัดดีครับ

ลองดูภาพความละเอียด 4k จาก Youtube ต้องบอกว่าให้ความรู้สึกที่ดี ภาพคมชัด สวยงาม มีความลื่นไหล ไม่มีการสะดุด การค้างใดๆ ซึ่งบางครั้งดูแค่คลิปปกติแต่สัญญาณก็ยังมีการค้างในไฟล์ที่มีความยาวมากๆ เล่นเอาเสียอารมณ์เหมือนกันเพราะภาพมันหยุดเป็นช่วงๆ แต่คราวนี้ต้องขอบคุณ Netgear : R 7000 ที่ทำให้การดูภาพ 4K เป็นไปได้อย่างราบรื่น

ทริคในการเล่น Netgear : R 7000

Netgear : R 7000 ใช้การเสียบสายไฟแบบมีอะแดปเตอร์ลดแรงดันไฟ การเพิ่มกล่องภาคจ่ายไฟของ Clef เข้าไปเพื่อให้การจ่ายไฟมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ลดสัญญาณรบกวนได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถใช้สายไฟเอซีคุณภาพสูง หน้าตัดขนาด 10 AWG มาใส่เพื่อดึงกระแสไฟมาป้อนให้เราเตอร์อย่างเต็มที่

สเตปถัดไป ควรใช้เครื่องกรองไฟดีๆ มาหรือปลั๊กที่จะเสียบเราเตอร์มีคุณภาพดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกันแบบสุดๆ ยิ่งขึ้นถ้าทำได้

บทสรุป Netgear : R 7000

การใช้เราเตอร์คุณภาพดี สามารถจ่ายสัญญาณได้แรง และครอบคลุมพื้นที่ยิ่งขึ้นแน่นอน ทำให้เราต้องทำให้การออนไลน์ของคุณสะดุดลงด้วยเงินไม่กี่สตางค์หรือต้องเล่นในพื้นที่ใกล้เราเตอร์ จะไปเล่นในจุดที่เราต้องการไม่ได้เลยหรือ? เกิดสมมุติคุณมีมุมสงบที่ชอบไปนั่งเล่นแต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไปไม่ถึงก็ต้องกลับมาทนนั่งในจุดที่มีสัญญาณต่อไป…อย่ากระนั้นเลย ลองพิจารณา Netgear : R 7000 ดูเถิด แล้วคุณอาจจะพบว่า รู้แบบนี้ใช้มาตั้งนานแล้ว…

ยิ่งถ้าใช้กัน 3-4 คน แต่ละคนใช้ในกิจกรรมโหลดหนัง, ประมูลของ หรืออื่นๆ ที่ต้องการความรวดเร็ว ความเสถียร ความคุ้มค่าของ Netgear : R 7000 จะยิ่งทวีคูณขึ้นแน่นอนครับ

 

– รูปลักษณ์ 4.5 ดาว

– สมรรถนะ 4.5 ดาว

– ความคุ้มค่า 4 ดาว
– คะแนนโดยรวม 4.5 ดาว

 

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท คิงส์ อินเทลลิเจ้นท์ เทคโนโลยี จำกัด โทร. 0-2412-2480 ที่ได้อนุเคราะห์ให้ยืมเครื่องมาทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version