What HI-FI? Thailand

Test Report : NAIM AUDIO The Classic 200 Series

Naim Audio : NSC 222 | NAP 250 | NPX 300 

STREAMING PREAMAMPLIFIER | POWER AMPLIFIER  |  POWER SUPPLY

หัสคุณ เกิดบัณฑิต

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือน มีนาคม พ.ศ.2567 ในหลายๆ จังหวัดอากาศในบ้านเราก็ทวีความร้อนขึ้นทะลุ 40 องศา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำเอาหลายๆ คนบ่นกันอุบว่า อะไรจะร้อนได้ปานนี้ ที่น่าห่วงก็คือ ดูท่าว่า อากาศยังสามารถทวีความร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก สาเหตุก็มาจาก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิได้เพิ่มขึ้น 3-4 องศาเซลเซียสมาอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการหลายท่านบอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ซึ่งจะมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นและรุนแรงขึ้น เพราะเมื่อ 2-3 ปีก่อน ไทยเราเจอกับปรากฏการณ์ ลานีญา ไปแล้ว คลื่นความร้อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น แต่คลื่นความร้อนยังส่งผลต่อประเทศในแถบยุโรปมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 เดือนมาแล้ว และยังคงร้อนต่อเนื่องต่อไปอีก สาเหตุหลักก็น่าจะมาจากปัญหาภาวะโลกร้อนหรือ Climate Change ที่ยังคงแปรปรวนและรุนแรงขึ้น

นอกจากปัญหาความร้อนแล้ว ในบ้านเรายังประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีการเผาตอซังข้าวและไฟป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือของไทยรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง ก่อให้เกิดควันพิษ กระจายไปยังหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย เมื่อปีที่ผ่านมามีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว ในปีนี้ตัวเลขคงมีแนวโน้มที่น่าจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็นแน่โดยเฉพาะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การปรับตัว ต้องรู้เท่าทันและหาวิธีป้องกันตนเอง อย่าดูเบาว่าฝุ่นและควันพิษนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าโรคร้ายแรงอย่าง มะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด และโรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากฝุ่นและควันพิษด้วยเช่นกัน ขอให้มิตรรักนักเล่นเครื่องเสียงและนักฟังเพลงทุกท่านโปรดใส่ใจและรักษาสุขภาพกันด้วย

ว่ากันถึงเรื่องร้อนๆกับฝุ่นแล้ว มาเข้าเรื่องเครื่องเสียงดีกว่า ครั้งนี้จะขอพูดถึง Naim Audio จากประเทศอังกฤษกัน

Naim

จุดเริ่มต้นของ Naim Audio นั้นมาจาก Mr.Julian Vereker ผู้รักการขับรถแข่ง เป็นทั้งนักลงทุนการเงินและยังเป็นเอ็นจิเนียร์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นผู้หลงใหลในเสียงดนตรีอย่างลึกซึ้ง เขาใช้เวลายามว่างในการฟังและบันทึกการแสดงดนตรีสดของเพื่อนฝูงในช่วงปี ค.ศ1960’s เมื่อนำกลับมาฟังกับชุดเครื่องเสียงที่บ้าน เขาก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะคุณภาพเสียงนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่เขาปรารถนา นี่คือเหตุผลที่จุดประกายให้เขาหันมาสนใจที่จะผลิตแอมปลิฟายเออร์และลำโพงด้วยตนเอง เขาก่อตั้ง Naim Audio Visual ขึ้นในปี ค.ศ.1969 เขาได้เริ่มผลิตกล่องภาคขยายเสียงและแสงเพื่อรับงานจากบริษัทผลิตภาพยนตร์ ในขณะนั้นเอง Julian Vereker ได้เริ่มหันมาสนใจอย่างจริงจัง เขาใช้เวลาประมาณ 12 เดือน ในการเรียนรู้เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และทรานซิสเตอร์จากการอ่านหนังสือ เขาไม่ได้รับการฝึกหรือเรียนตามระบบการศึกษา แต่อาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก กว่าที่เขาจะออกแบบเพาเวอร์แอมป์ตัวแรก คือ รุ่น NAP 200 เขาใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปี ในการเรียนรู้วิธีทำให้มันทำงานภายในกล่องและเรียนรู้ว่าอะไรที่สำคัญจริงๆ ในการออกแบบแอมปลิฟายเออร์ ต่อมาในปี ค.ศ.1972 Julian ก็ชนะสัญญาในการจัดส่งอุปกรณ์เครื่องเสียงให้กับสถานีวิทยุที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นแบบ Start-Up ในนาม Capital Radio ผลงานชิ้นแรกที่เขาทำขึ้นก็คือ NAM 502 ซึ่งเป็นกล่องที่ได้รวมเอาภาคขยายแอมปลิฟายเออร์เข้ากับลำโพงไว้ด้วยกัน 

หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับ Capital Radio แล้ว ในปีถัดมา Julian Vereker ก็ตัดสินใจร่วมกับ Shirley Clarke ก่อตั้ง Naim Audio Co.,Ltd. ขึ้นในปี ค.ศ.1973 โดยมี Shirley Clarke นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ (Director) โดยร้านของพวกเขาตั้งอยู่ที่ใจกลางของเมืองซอลส์บรี (Salisbury) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลวิลท์เชอร์ (Wiltshire) ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ

Julian Vereker ก่อตั้งบริษัทขึ้นด้วยความมุ่นมั่นและแรงบันดาลใจดังที่เขากล่าวไว้ว่า “ด้วยความหลงใหลและความสนใจในดนตรีอย่างลึกซึ้ง ได้กลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญของ Naim Audio Co.,Ltd. ในการผลักดันการออกแบบและการผลิตสิ่งที่ทาง Naim Audio เชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงที่สามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม ซึ่งมีจำหน่ายในโลกของเรา ณ วันนี้” 

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ทาง Naim Audio นำออกสู่ตลาดเพื่อการใช้งานในบ้านอย่างเป็นทางการคือ เพาเวอร์แอมป์รุ่น NAP 200 ต่อมาได้กลายมาเป็นรุ่น NAP 250 ซึ่งตัววงจรนั้นได้รับการออกแบบดั่งเดิมมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 และแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยเป็นเวลาที่ยาวนานถึง 18 ปี หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงและพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี แต่ยังคงมุ่งมั่นในจุดมุ่งหมายเดิม คือคุณภาพเสียงที่ถึงพร้อมทั้งในเรื่องของความเร็ว (Pace) จังหวะ (Rhythm)และเวลา (Timing) หรือในอักษรย่อว่า “PRaT”  เพราะ Julian Vereker  นั้น ให้คุณค่ากับความสามารถของเครื่องเสียงในการที่จะสื่อสารถึงอารมณ์ของดนตรี ( Musical Emotion ) มากกว่าความบริสุทธิ์ของเสียง (Sound Purity) เขามองเห็นถึงพื้นที่ในโลกของเครื่องเสียง Hi-Fi ที่แต่ละคนย่อมมีความพึงพอใจในคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันได้ 

ผลงานอันดับต่อมาคือ ปรีแอมป์รุ่น NAC 12 ในปี ค.ศ.1974 ในปี ค.ศ.1975 ทาง Naim Audio ก็ได้นำเสนอเพาเวอร์แอมป์รุ่น NAP 250 ในช่วงปลายทศวรรษ 70 นี้เองที่ทาง Naim Audio ได้จับมือกับทาง Linn Product ในการทำการตลาดร่วมกัน เพราะทั้ง 2 บริษัทมีแนวทางในการขายและทำการตลาดที่เหมือนกัน โดยที่ Julian Vereker จะเน้นทำการตลาด การโปรโมทรวมทั้งการโฆษณา โดยเน้นที่การเซตอัพกับลำโพงเพียงคู่เดียวในห้องฟังของตัวแทนที่เป็นร้านค้ารายย่อย ซึ่งแตกต่างออกไปจากแนวทางการจำหน่ายเครื่องเสียงส่วนใหญ่ในขณะนั้น (สำหรับในบ้านเราตัวแทนจำหน่ายในขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็น บจก.อัศวโสภณ) 

ในปี ค.ศ.1983 ทาง Naim Audio ก็ได้นำเสนออินทิเกรตแอมป์ตัวแรกคือ รุ่น Naim Nait ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึง จนกลายมาเป็น “สัญลักษณ์” (Iconic) ของทาง Naim ด้วยขนาดที่เล็ก แต่คุณภาพเสียงนั้นไม่ธรรมดา และแตกต่างไปจากอินทิเกรตแอมป์ตัวอื่นๆ ในยุคนั้น จนหลายคนขนานนามว่าเป็น “ซุปเปอร์อินทิเกรตแอมป์” ส่งผลให้ Naim Nait กลายมาเป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก และถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเครื่องเสียง Hi-Fi อย่างภาคภูมิ 

ความร่วมมือระหว่าง Naim Audio กับ Linn Product มาสิ้นสุดในปี ค.ศ.1985 อันเนื่องมาจากปัญหาในการทำการตลาดร่วมกันเพราะทาง Naim Audio นั้นมีตัวแทนจำหน่ายที่น้อยกว่าทำให้เกิดความลำบากกับตัวแทนของ Linn ในการจำหน่ายลำโพงของ Linn เอง ประกอบกับทั้งสองฝ่ายเองก็เริ่มหันมาขยายไลน์การผลิตที่ทับซ้อนกัน (ทาง Linn เริ่มทำแอมป์ ทาง Naim ก็เริ่มทำลำโพง ) ในปีนั้นทาง Naim Audio ก็ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Queen’s Award

ในปี ค.ศ.1991 ทาง Naim Audio ก็นำเสนอเครื่องเล่นซีดีตัวแรก คือรุ่น CDS ซึ่งเป็นเครื่องเล่นซีดีแบบ 2 ชิ้น ที่ไม่ได้แยกภาคทรานสปอร์ตกับภาค D/A Conversion เหมือนกับเจ้าอื่นๆ แต่ทาง Naim ได้ให้ความสำคัญกับภาคจ่ายไฟและแยกภาคซัพพลายออกมาต่างหาก อีกทั้งยังได้ออกแบบตัวจับกดทับแผ่น แบบ Disc Clamp ที่เป็นระบบแม่เหล็กแบบมวลต่ำ แต่สามารถยึดจับแผ่นได้อย่างมั่นคงปราศจากแรงสั่นสะเทือนได้อย่างชาญฉลาด

ต่อมาในปี ค.ศ.1993 Julian Vereker ก็หันมาสร้าง Naim Records ที่สามารถรวบรวมเอาความรักในดนตรีผสานเข้ากับความมุ่งมั่นในการนำเสนอคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด จากสตูดิโอบันทึกเสียงไปสู่ห้องฟังเพลง

Naim Audio ยังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเติบโตของบริษัทที่ก้าวย่างไปข้างหน้า แต่แล้ว Julian Vereker ก็มาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.2000 Julian Vereker ผู้ถือหุ้นครึ่งหนึ่งของบริษัท (อีกครึ่งหนึ่งนั้นถือหุ้นโดยพนักงานทั้งหมดในบริษัท)ได้ทำพินัยกรรมมอบให้ Paul Stephenson ซึ่งถือหุ้นของบริษัทอยู่ 20% เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์แทน Paul Stephenson เดิมดำรงตำแหน่ง Sales Director ก็ขยับมาดำรงตำแหน่ง Managing Director แทน ส่วน Roy George ที่ได้เข้ามาร่วมงานกับทาง Naim Audio ตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 ก็ขยับมาเป็น Technical Director ผลงานการออกแบบต่อจากนี้จึงเป็นผลงานของ Roy George เป็นหลัก

ในปี ค.ศ.2011 ช่วงเดือน สิงหาคม มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการควบรวมกิจการระหว่าง Naim Audio และ Focal JM LAB โดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า Focal & Co. ถึงแม้จะควบรวมกันแต่ทั้ง Naim และ Focal ยังคงทำงานเป็นอิสระ แต่ยังทำงานร่วมกันทางด้าน R&D

ในปี ค.ศ.2014 บริษัททุนจากฝรั่งเศส อันได้แก่ Naxicap Partners และ Aquasorca ได้ประกาศการเข้ามาถือหุ้นส่วนใหญ่ ของ บริษัท Focal & Co. พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น Vervent Audio Group

  ในปี ค.ศ.2019 Private Equity Co.,Ltd. ก็ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของ Vervent Audio Group สำหรับ Naim Audio Limited ยังคงดำเนินกิจการในฐานะบริษัทของอังกฤษ และเป็นบริษัทย่อยของ Vervent Audio Group มาจนถึงปัจจุบัน

Naim Auduo : NSC 222 Streaming Preamamplifier

Steve Sells ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design Director) ซึ่งได้เข้ามาร่วมงานกับ Naim ในช่วงประมาณปี ค.ศ.2002 เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชุดระดับซุปเปอร์ไฮ-เอนด์ของ Naim คือ  The Statement ได้ออกมากล่าวถึงผลงานซีรีส์ New Classic Series ใหม่นี้ว่า “ด้วยการออกแบบที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา    (Best-ever) ในระดับนี้ เราได้เพิ่มคุณสมบัติและความคล่องตัวในการใช้งาน พร้อมทั้งคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ในตระกูล Classic Series นี้ใช้พลังงานน้อยกว่า 0.5W ในโหมดสแตนด์บาย และเราได้รวบรวมเอาประสบการณ์ที่ยาวนานถึง 50 ปีของเราผสานเข้ากับเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อกำหนดนิยามใหม่ของระบบเครื่องเสียงระดับไฮไฟภายในบ้าน”

Naim NSC 222 เป็นสตรีมมิ่งปรีแอมป์ที่สามารถจะเชื่อมต่อกับระบบสตรีมมิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็น Tidal( รวมทั้ง Tidal Connect ), Spotify Connect/Spotify Hi-Fi , Apple Music, Internet Radio, AirPlay 2, Chromecast, UPnP Servers และ Qobuz  ไม่เพียงเท่านั้น NSC 222 ยังสามารถรองรับ USB Attached Storage และ Roon Ready ด้วยบิทเรทที่สูงถึง 32-bit/384kHz, DSD128Fs สามารถรองรับระบบ Bluetooth (aptX) รวมทั้งรองรับระบบ Multi-Room กับผลิตภัณฑ์สตรีมมิ่งของ Naim อื่นๆ ได้ ใน NSC 222 ยังมีภาคโฟโนสเตจสำหรับหัวเข็มแบบ MM มาเพื่อรองรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้อย่างสะดวก ไม่เพียงเท่านั้นใน NSC 222 ยังได้บรรจุภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังชั้นเยี่ยมแบบเดียวกับที่ใช้ใน Uniti Atom Headphone Edition เพื่อตอบสนองกลุ่มนักเล่น Head-Fi ได้อีกด้วย

ทาง Naim เองนั้นได้มีการปรับปรุงรูปโฉมผลิตภัณฑ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังใช้แนวคิดของ Julian Vereker ที่ยึดการใช้ตัวถังที่เป็นอะลูมิเนียมเป็นพิมพ์นิยมมาโดยตลอด สาเหตุก็เพราะว่าตัวถังอะลูมิเนียมนั้นสามารถทำหน้าที่ในการช่วยระบายความร้อนได้ดีกว่าเหล็กมากถึง 3 เท่า!  สำหรับสตรีมมิ่งปรีแอมป์ NSC 222 ใหม่นี้มีการปรับโฉมให้มีความสวยงาม ดูหรูและมีระดับกว่าเดิมมาก แผงหน้ารวมทั้งตัวถังนั้นมาในมาดเข้ม ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียมหนาแบบ Black Satin โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน โดยที่ส่วนตรงกลางจะเป็น อะคริลิกเคลือบเงา (Polished Acrylic )

ทางฝั่งซ้ายมือจะเป็นโวลุ่มมีแสง ( Illuminated Volume Knob/Encoder) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดเสียงรบกวนให้น้อยที่สุด สามารถทำงานได้อย่างนุ่มนวลและเงียบสนิท ตัวโวลุ่มสามารถจะปรับเร่งได้ถึง 100 dB โดยจะเพิ่มเป็นสเต็ปละ 1 dB ไปจนถึง 58 dB จากนั้นสเต็ปจะแคบลงกว่าเดิม นี่คือการออกแบบที่ใช้  Precision Discrete Resistor Ladder Circuit ซึ่งนำมาจากการออกแบบของเครื่องระดับ “เรือธง” อย่าง Naim The Statement 

ถัดจากโวลุ่มจะเป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 6.35 mm (1/4”) และช่องต่อ USB Type-A จากนั้นจะเป็นส่วนตรงกลางที่เป็นอะคริลิก จะมีโลโก้ของ Naim เมื่อเปิดใช้งานจะมีไฟสว่างเป็นสีขาว ไม่ใช่สีเขียวเหมือนในอดีต ดูแล้วให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล มองแล้วสบายตา ความสว่างสามารถจะปรับได้ผ่าน App คอนโทรล  ทางขวามือจะเป็นจอแสดงผลการเลือกแหล่งโปรแกรม,ระดับโวลุ่ม รวมทั้งแสดงอัลบั้มเพลงเมื่อเล่นเพลงในระบบดิจิทัล

        ด้านขวามือสุดจะเป็นปุ่มควบคุมจำนวน 4 ปุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย ปุ่ม Power/ Standby, ปุ่ม Play/Pause , ปุ่ม Input และปุ่ม Presets

                 ด้านหลังเริ่มจากทางฝั่งซ้ายมือจะเป็นปลั๊กไฟเอซีแบบ 3 ขามีฟิวส์ในตัว มีขั้วต่อ Wired Network (สาย LAN RJ45) มีช่องต่อ USB Type-A (Audio Data) ขั้วต่อ Remote Out ด้วยสาย 3.5 mm. Jack electrical and Mini-Toslink Optical เพื่อเชื่อมต่อและควบคุมเพาเวอร์แอมป์  NAP 250 ขั้วต่อ Service Connection ( Factory Use Only) ต่ำลงมาจะเป็นขั้วต่อ Digital Input  จำนวน 4 ชุด เริ่มจากขั้วต่อแบบ BNC, S/PDIF Coaxial และแบบ S/PDIF Optical Toslink อีก 2 ชุด ขยับไปทางด้านขวามือจะเป็นขั้วต่อแบบ RCA สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง (MM) และขั้วต่อสายกราวนด์ (Earth) ด้านบนจะเป็นชุดอะนาลอกอินพุตที่มีขั้วต่อแบบ DIN และ RCA มาให้อย่างละ 1 ชุด ด้านล่างจะเป็นขั้วต่อ Power Supply Upgrade ซึ่งเป็นขั้วต่อแบบ Type 4 และ Type 3 เพื่อต่อใช้งานกับ NPX 300  มีสวิตช์โยกสัญญาณกราวนด์ (Signal Ground Switch) เพื่อจัดการปัญหาเรื่องของ Hum Loops ทาง Naim แนะนำให้เซ็ทไว้ที่ “Default” เมื่อแหล่งโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกัน ไม่ได้มีการเชื่อมลงกราวนด์ สุดท้ายจะเป็นขั้วต่อเอาต์พุต ที่มีทั้งขั้วต่อแบบ XLR Balanced และ แบบ RCA Unbalanced อย่างละ 1 ชุด

หัวใจสำคัญใน NSC 222 ก็คือวงจร DSP ที่ทาง Naim ได้ออกแบบขึ้นมาเองแบบ In-House ซึ่งใช้ชิป 4th Generation 40-BIT Sharc DSP ทำงานร่วมกับชิพ Burr-Brown PCM 1791 A DAC ในการรับมือกับสัญญาณดิจิทัลสตรีมมิ่งทั้งหมด สำหรับภาคอะนาลอกเอาต์พุตหลัง DAC นั้น จะเป็นวงจร Low-Pass Filter โดยทรานซิสเตอร์แบบแยกชิ้น (Discrete) ทำงานแบบ Class-A จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของวงจร Active Filter ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษทำงานร่วมกับ คาปาซิเตอร์ ชนิด Polystyrene  วงจรดังกล่าวได้ผ่านการใช้งานจริงแบบ Try and Test มาแล้วนับตั้งแต่ Naim รุ่น NAC-N272, Naim Audio Uniti Nova, Naim Audio NDX 2  รวมทั้ง Naim Audio Uniti Atom Headphone Edition 

NSC 222 มาพร้อมกับรีโมตคอนโทรล แต่ในการใช้งานจริงเพื่อความสะดวกแล้ว ทาง Naim แนะนำให้เข้าไปที่ App Store แล้วทำการดาวน์โหลดแอป Focal & Naim Application มาไว้ในมือถือและทำการจับคู่กับปรีแอมป์ NSC 222 จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานและสั่งงาน NSC 222 ได้เป็นอย่างดี อย่างฟังค์ชั่นการปรับแต่งความสว่างของไฟหน้าจอของ NSC 222 นั้น จะทำได้ผ่านแอป Focal & Naim ที่ดาวน์โหลดมาเท่านั้น 

Naim Audio : NAP 250 Power Amplifier 

ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า Julian Vereker ได้ออกแบบเพาเวอร์แอมป์ NAP250 เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 ตัววงจรยังถูกใช้งานมาอย่างยาวนานถึง 18 ปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับ NAP 250 ใหม่นี้ได้รับการพัฒนามาถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าเป็นรุ่นที่ 6 หรือ  Sixth Generation แล้ว โดย NAP 250 ใหม่นี้ได้รับการปรับปรุงขึ้นมีนัยะที่สำคัญก็เพื่อมาเป็นคู่ตุนาหงันของปรีแอมป์ NSC 222 อย่างเหมาะสมและลงตัวนั่นเอง

แผงหน้าของ NAP 250 ก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเช่นเดียวกับปรีแอมป์ แผงหน้าทั้งด้านซ้ายและขวารวมทั้งตัวถังจะเป็นอะลูมิเนียมหนาแบบ Black Satin ส่วนตรงกลางของแผงหน้าจะเป็นอะคริลิกเคลือบเงา (Polished Acrylic) มีโลโก้ของ Naim เมื่อเปิดใช้งานจะมีไฟสว่างเป็นสีขาว สอดรับกับปรีแอมป์อย่างสวยงาม ที่ด้านขวามือสุด จะเป็นปุ่ม Power/Standby 

ด้านหลัง เริ่มจากทางด้านซ้ายมือจะเป็นปลั๊กไฟเอซีแบบ 3 ขามีฟิวส์ในตัว ถัดมาจะเป็นกรอบของกลุ่มปุ่มในการควบคุมต่างๆ เริ่มจากช่องต่อ Remote In มีปุ่ม Brightness/Reset Button เพื่อปรับระดับความสว่างของไฟโลโก้ที่อยู่ด้านหน้า จากนั้นจะเป็นสวิตช์ Instant On/Auto Standby Switch ในโหมด “Auto Standby” เครื่องจะเข้าสู่สถานะ Standby เมื่อไม่มีสัญญาณเกิน 19 นาที แต่ทาง Naim แนะนำให้โยกสวิตช์ไปที่โหมด “Instant On” เพื่อให้วงจรที่อ่อนไหวภายใน NAP 250 นั้นทำงานตลอดเวลา เพื่อคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด (Optimum Sound Quality) ต่ำลงมาจะเป็นช่องต่อ USB สำหรับทาง Naim ใช้เพื่อการเซอร์วิสและอัปเกรดเท่านั้น จากนั้นจึงเป็นช่องต่อ Remote Out จำนวน 2 ชุดด้วยกัน

ถัดมาจะเป็น ขั้วต่อลำโพงที่มีมาให้ชุดเดียวเป็นแบบบานาน่าปลั๊กขนาด 4 มม. ในแบบมาตรฐานของ Naim ที่ใช้มาโดยตลอด แต่ใน NAP 250 นี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษโดยใช้หลักการ Eddy-Current Suppression ตรงขั้วลำโพง เหมือนกับที่ใช้ในแอมป์รุ่น The Statement Poweramp เพื่อลดกระแสไหลเวียนที่เกิดขึ้นภายในตัวแท่นเครื่อง (Circulating Current) ระหว่างขั้วบวกกับขั้วลบ จากนั้นจะเป็นช่องระบายอากาศของพัดลมภายใน ทางด้านขวามือจะเป็นขั้วต่ออินพุตแบบ Balanced XLR เพียงชุดเดียว

ภายในจะเป็นหม้อแปลงแบบเทอรอยด์ขนาดใหญ่ 1 KVA ภาคเพาเวอร์ซัพพลายใช้วงจรเรกูเลท DR PSUs แบบ แยกชิ้น (Discrete Regulator Sound Processing Units) ไม่ใช่ IC ส่งผลให้มี Noise Floor ที่ต่ำเป็นพิเศษ สำหรับเพาเวอร์แอมป์รวมทั้งภาคอินพุตแบบ XLR ด้วย

ภาคอินพุตแบบ Fully Balanced จะประกอบไปด้วย ชุด Naim เกนสเตจจำนวน 2 ชุด ต่อแชนแนล ใช้วงจร ที่ได้รับการออกแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า A new triple transistor constant current source (CCS)  ที่ทาง Naim ยืนยันว่า มีส่วนทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว แผ่นวงจรได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้สัญญาณเดินทางได้สะดวกขึ้น สำหรับภาคเอาต์พุตนั้น ยังคงใช้วงจรที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ซึ่งก็คือ วงจร Quasi-Complementary เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ทั้งหมดจะเป็น NPN เบอร์ NA009 Naim  (ที่ถูกออกแบบขึ้นในตอนที่ออกแบบแอมป์รุ่น “เรือธง” อย่าง The Statement) จำนวน 8 ตัว (4 ตัวใช้ในวงจร PSUs และอีก 4 ตัว ใช้ในภาคเอาต์พุต) ทรานซิสเตอร์ทั้งหมดจะถูกยึดบนแผ่นอะลูมิเนียมคุณภาพเยี่ยม มีค่าคาปาซิแตนซ์ที่ต่ำเป็นพิเศษแบบ Thermally Conductive Aluminum-Nitride Heatsink Insulators สำหรับภาคเอาท์พุทจะเป็นวงจรแบบ “บริดจ์” (Bridge) เพื่อให้ได้พละกำลังที่มากขึ้น เป็นแนวทางการออกแบบของ Naim มาอย่างยาวนาน

สำหรับพละกำลังนั้น ได้ขยับขึ้นมาเป็น 100 วัตต์ ต่อแชนแนลที่ 8 โอห์ม หรือ 190 วัตต์ที่ 4 โอห์ม @1% THD+N และสามารถขับแบบ Peak Current ที่ 2 โอห์ม ได้ 300 วัตต์ @1% THD+N สามารถจ่ายกระแสได้ถึง 28 Amps Peak (780 W Peak Power) NAP 250 ใหม่นี้ต้องนับว่ามีกำลังสำรองที่สูงเป็นพิเศษ ส่งผลให้การทำงานมีความเสถียร ราบเรียบ และมีความเที่ยงตรงเป็นเยี่ยมนั่นเอง 

เมื่อ NAP250 ถูกขับจนเกินกำลัง ระบบพัดลมระบายความร้อนแบบ 7-Speed (Low-Noise Cooling Fan) จะเริ่มทำงาน หลังจากที่ระบบตรวจจับอุณหภูมิทำงานและตัดการทำงานแบบชั่วคราว (Temporary Thermal Shutdown) ระบบแอมป์จะทำการรีเซตโดยอัตโนมัติ ทาง Naim ได้สำทับเพิ่มเติมว่า NAP 250 จะทำงานได้ราบเรียบ ไม่ร้อน อย่างมากก็จะรู้สึกเพียงอุ่นๆ เล็กน้อยเท่านั้น เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี (Better  For The Environment)

Steve Sells ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า NAP 250 ใหม่นี้จะมีแบนวิดธ์การตอบสนองความถี่ที่กว้างถึง 1.4 Hz ไปถึง 100 KHz ที่ -3 dB ในขณะที่ NAP 250 DR เดิมนั้น จะมีแบนวิดท์เพียงแค่ 20 Hz-20KHz ที่ -0.5 dB เท่านั้น ! 

Naim Audio : NPX 300 Power Supply

สตรีมมิ่งปรีแอมป์ NSC 222 แม้จะได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ทางวิศวกรของ Naim ก็ได้หาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของ NSC 222 ให้ก้าวล้ำไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการออกแบบภาคเพาเวอร์ซัพพลาย NPX 300 ขึ้นมาเพื่อเป็นการอัปเกรดอย่างสะดวกและรวดเร็ว การเชื่อมต่อ NPX 300 เข้ากับ NSC 222 ด้วยสายแบบ Type 4 และ Type 3 พร้อมกับปลดสายไฟเอซีของ NSC 222 ออก ย้ายไปเชื่อมสายเอซีที่ NPX 300 แทนจะเป็นการตัดการทำงานและ By-Pass ภาคจ่ายไฟภายในของ NSC 222  จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ NPX 300 ในการจ่ายกระแสให้กับ NSC 222 โดยตรง การทำงานของ NPX 300 จะช่วยให้ สัญญาณ Noisefloor  ยิ่งต่ำลง พร้อมกับจ่ายกระแสไฟที่สะอาดเป็นเยี่ยมให้กับ NSC 222 

ภายใน NPX 300 จะเป็นภาคจ่ายไฟแบบ Linear Type ระดับ Audiophile ซึ่งมีหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดใหญ่ จะมีการแยกชุดจ่ายไฟออกเป็นจำนวน 2 ชุดด้วยกัน โดยที่แต่ละชุดจะ มีวงจร DR (Discrete Reguration) จำนวน 4 ชุดด้วยกัน (รวมทั้งหมดเป็น 8 ชุด) วงจร DR นี้ถูกออกแบบและคิดค้นโดยทีมงานของ Naim เอง โดยมี Steve Sells เป็นหัวจักรสำคัญ วงจร DR นั้นถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 2012 ใน Naim’s HiCap, XPS and Supercap External Power Supplies ในวงจร DR จะมีภาค Regurator Drive Circuit ที่จะรับกระแสไฟจากหม้อแปลงเทอรอยด์ ผ่านคาปาซิเตอร์ฟิลเตอร์ วงจร DR จะทำหน้าที่กรองกระแสไฟเพื่อให้ได้แรงดันไฟ (Voltage) ที่เงียบที่สุด จากนั้นจะทำการกรองสัญญาณไฟอีกชั้นหนึ่ง ผลที่ได้คือ แรงดันไฟที่เงียบและมีค่าอิมพีแดนซ์ที่ต่ำเป็นพิเศษ เป็นวงจรเรกูเลทที่ Steve Sells เรียกว่าเป็นระดับ “Statement Discrete Regurator” กันเลยทีเดียว

NPX 300 จะสามารถยกระดับคุณภาพเสียงของ Naim 200 & 300 Series ทั้งแหล่งโปรแกรมและปรีแอมป์ ให้เหนือขึ้นไปอีกระดับจนคุณจะรู้สึกแปลกใจ

NSC 222 Specifications

Audio Inputs

      • 1 × Moving Magnet Phono

      • 1 × 8-Pin DIN (Compatible with 5-Pin DIN Cables)

      • 1 × RCA Stereo Pair

       • Line Level Inputs (RCA/DIN) : Impedance 47k, 2.2V Typical, 7.5Vrms Max

       • 8 Pin DIN has +/-18V for Compatible External Phono Stages Such as

       • Solstice NVC-TT. Compatible with 5 Pin DIN

       • MM Phono : 47k/470pF, 5mV, 23dB Overload (75mV Max)

Analog Audio Outputs

       • 1 × XLR Pair (Stereo XLR Balanced Impedance 7Vrms Max)

       • 1 × RCA Pair (Stereo RCA 7Vrms Max)

       • 1 × 6.35mm Headphone Jack (Headphone 1.5W Into 16)

USB : 2 × USB Type A Socket (Front and Rear-1.6A Charge)

Digital Inputs (S/PDIF)

        • 2 × Optical Toslink (Up to 24bit/96kHz)

        • 1 × Coaxial RCA (Up to 24bit/192kHz, DoP 64Fs)

        • 1 × Coaxial BNC (Up to 24bit 192kHz, DoP 64Fs)

Audio formats

        • WAV-Up to 32bit/384kHz

        • FLAC and AIFF-Up to 24bit/384Hz

      • ALAC (Apple Lossless)-Up to 24bit/384Hz • MP3-up to 48kHz, 320kbit (16 bit

      • AAC-Up to 48kHz, 320kbit (16 bit)

      • OGG and WMA-Up to 48kHz (16 bit)

      • DSD-64 and 128Fs

      • M4A-Up to 48kHz, 320kbit (16 bit)

      • Gapless Playback Supported on all Formats

Analog Gain

Advertisement. Scroll To Continue Reading

      • Pre-Amplifier at Max Volume 15.5dB (With Max Vol and Max Volume Limit at 100%)

      • Phono Stage MM 40dB

Digital Level : 2.1V at 0dBFS Volume at 0dB

Frequency Response

      • MM : -3dB at 10Hz, RIAA +/-0.1dB

      • Line : 3Hz to 40kHz -3dB

      • Digital : 3Hz to 27kHz -3dB

Signal to Noise Ratio

      • MM 80dB ref 5mV A-wtd Volume at 0dB

      • Line 104dB ref 2.2V A-wtd Volume at 0dB

      • Digital 102dB ref 0dBFS A-wtd Volume at 0dB

Distortion

      • MM : < Noise Floor

      • Line : 0.0025% @2.2V Input Volume at 0dB, 1kHz

      • (Line : 0.015% @2.2V Input Volume at 0dB, 20kHz)

      • Digital : 0.0035% @0dBFS Volume at 0dB, 1kHz

Cross Talk

      • MM : 90dB at 1kHz, Volume at 0dB

      • Line : 90dB at 1kHz, Volume at 0dB

      • (Line : 70dB at 20kHz, Volume at 0dB)

      • Digital : 90dB at 1kHz, Volume at 0dB

Control

      • App Control (iOS and Android), Bi-directional ZigBee Remote and Front Panel

      • Optical 3.5mm Output for Synchronised Control of Compatible Products e.g. NAP 250/350

Power & Size

      • Network : Ethernet (10/100Mbps), Wi-Fi (802.11 b/g/n/ac)

      • Typical use Consumption : 25W

      • Network Standby Mode Consumption : <2W


Standby Mode Consumption : <0.5W

      • Mains Supply : 115V or 230V, 50/60Hz 

      • Dimensions : 35/8 × 17 × 121/2” (9.15 × 43.2 × 31.75cm)

      • Weight : 24.25lbs (11kg)

NAP 250 Specifications

      • Type : Amplifier

      • Power Output : 100 Watts 8 @0.1% THD+N (100W @0.1%), 190 Watts 4 @1% THD+N 

      • Gain : +29dB 

      • Inputs : 2 × True Balanced Via XLR, 47k, 34k Singled Ended Via Legacy Adaptor Lead 

      • Frequency Response : -3dB @ 1.4Hz to 100kHz 

      • Passive Consumption : 26W (Idle) 

      • Standby Consumption : <0.5W 

      • Mains Supply : 115V or 230V, 50/60Hz

      • Peak Current Into 1 (1kHz 1mS) : 300 Watts 2 @1% THD+N

      • THD+N at 2/3rds Full Power 8 @1kHz : +/-28 Amps Peak (780W Peak Power) 0.013%

      • Input Signal for Clipping : 1V RMS

 • Signal to Noise Ratio Ref 100W 8 A-Weighted : 91dB

      • Signal to Noise Ratio Ref 1W 8 A-Weighted : 111dB

 • Cross Talk : 60dB

 • Damping Factor Into 8 : 36

       • Dimensions (H×W×D) : 35/8 × 17 × 121/2” (9.15 × 43.2 × 31.75cm) 

       • Weight : 37.04lbs (16.8kg) 

NPX 300 Specifications

       • Type : Power Supply

         Standby Power Consumption : <0.5W

        • Power Supply Output : Type 3, Type 4

        • Other Connectors : Micro USB (Update Only)

        • Naim Logo : White Illuminated

        • Mains Supply : 115V or 230V, 50/60Hz

        Dimensions (H×W×D) : 35/8 × 17 × 121/2” (9.15 × 43.2 × 31.75cm)

        • Weight : 31.75lbs (14.4kg) 

ผลการทดลองฟัง

ซิสเต็มที่ใช้ประกอบในการฟังมีดังนี้ :

        • เครื่องเล่นซีดี :  Marantz CD 16 (Clock II)

        • เครื่องเล่นแผ่นเสียง : Pioneer PL12 E, หัวเข็ม Denon DL-65

        • ปรีแอมป์ที่ใช้ร่วมในการฟัง  :  Adcom GFP 750 

        • เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ร่วมในการฟัง : Krell KSA-50 s

        • ภาค Phono ที่ใช้ในร่วมในการฟัง : Musical Fidelity X-LPS

        • ลำโพง : B&W 805 s

        • หูฟัง : AKG K701, Sennheiser HD800

        • ขาตั้งลำโพง : Stand Design Z-20

        • สายนำสัญญาณ : Vampire AI-II RCA-XLR, The Second XLR, Acrolink Stressfree 6N-2110 XLR, Naim XLR

        • สายลำโพง : Vampire ST-II

        • สายไฟ : XAV XAC # 5, Music Muse “Jormunganr” AC Cable

        • ห้องฟังขนาด : 4 × 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี

หลังจากที่เซตอัพซิสเต็มเสร็จ ได้พยายามเชื่อมต่อรีโมตคอนโทรลกับปรีแอมป์ NSC 222 อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ สาเหตุอาจจะมาจากที่ห้องฟังนั้นอับสัญญาณก็เป็นได้ จึงได้ใช้โทรศัพท์ดาวน์โหลดแอป Focal & Naim จาก Play Store จากนั้นทำการเชื่อมต่อกับปรีแอมป์ NSC 222 ได้สำเร็จ การใช้งานควบคุมและสั่งงาน NSC 222 ผ่านแอปที่ดาวน์โหลดมาบนมือถือนั้น อำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี เมื่อใช้งานเพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง คุณแทบจะรู้สึกว่าไม่อยากกลับไปใช้งานผ่านรีโมตที่มีมาให้กับตัวเครื่องแบบเดิมๆ อีกเลย

ความโดดเด่นของ Naim

เมื่อพูดถึง Naim คุณจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก?  หลายคนอาจจะนึกถึงหน้าตาที่มีเอกลักษณ์ ออกแนวอนุรักษ์นิยมตามสไตล์แบบอังกฤษ บางคนอาจจะนึกถึงแสงไฟสีเขียว ที่ดูเย็นตาของโลโก้ Naim ที่จะส่องสว่างยามเมื่อใช้งาน บางคนอาจจะนึกถึงขั้วต่อแบบ DIN ที่เข้ามาเพิ่มความยุ่งยากในการใช้งาน อีกทั้งมีข้อจำกัดในการใช้งานกับเครื่องอื่นๆได้ แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้ว เมื่อพูดถึง Naim แล้ว สิ่งที่นึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ “เสียง”!

 ตามที่ Julian Vereker ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ว่า เขานั้นให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับเครื่องเสียงที่สามารถถ่ายทอดหรือสื่อถึงอารมณ์ของดนตรีมากกว่าความบริสุทธิ์ของเสียง เขาจึงให้ความใส่ใจในเรื่องของความเร็ว (Pace) จังหวะ (Rhythm)และเวลา (Timing) และคุณภาพเสียงของ Naim ก็เป็นไปตามนั้น โดยเฉพาะกับเรื่องของความเร็วของดนตรี (Pace) นั้น ขอบอกเลยว่า Naim นั้นยืนอยู่ในอันดับที่ “หนึ่ง” ไม่เป็นสองรองใครในยุทธจักรแห่งเสียงที่ไม่เกี่ยงทั้งในเรื่องของราคาหรือระดับชั้นว่าจะเป็นระดับ “ไฮ-เอนด์”  หรือ “ซุปเปอร์ไฮ-เอนด์” หรือไม่ก็ตาม ขอยืนยันว่า Naim ไม่เป็นที่สองรองใครอย่างแน่นอน!  

Naim นั้นสามารถถ่ายทอดการก้าวย่างของดนตรีออกมาได้อย่างกระชับ กระฉับกระเฉง และรวดเร็ว เป็นน้ำเสียงที่มีความสดใส ฟังคึกคัก มีชีวิตชีวา ถึงพร้อมทั้งจังหวะ (Rhythm) ที่แม่นยำ หนักแน่น และเวลา (Timing) ที่เด็ดขาดและเฉียบคม พร้อมกับอัพเปอร์เบสที่ถ่ายทอดความ “แน่น ” ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ เมื่อมาถึงยุคของ Roy George เขาก็ยังคงเดินตามรอยของ Julian Vereker ที่ได้สร้างบรรทัดฐานเอาไว้ และแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงยุคของ Steve Sells ในปัจจุบันละ…น้ำเสียงเป็นเช่นไร  ต้องเรียนตามตรงว่า…น้ำเสียงตามแบบฉบับของ Julian Vereker นั้นดูจะถูกตีความใหม่ ส่งผลให้น้ำเสียงที่สัมผัสฟังได้นั้น ดูจะแตกต่างออกไปจากเดิม

แน่นอนว่า Steve Sells ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของความเร็ว (Pace), จังหวะ(Rhythm) และเวลา (Timing) เฉกเช่นเดิมตามที่ Julian Vereker ได้บัญญัติไว้ เพียงแต่การวางน้ำหนักก่อนหรือหลังนั้น น่าจะถูกตีความใหม่ ส่งผลให้องค์ประกอบของเสียงที่ได้ยินนั้น มีความแตกต่างออกไป  กล่าวคือ NSC 222 กับ NAP 250 นำเสนอจังหวะก้าวย่างของดนตรีดูจะผ่อนความรวดเร็วและความกระฉับกระเฉงลง แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยเสียงเบสต่ำที่ลงได้ลึกขึ้น ถึงพร้อมทั้งความหนัก ความแน่น และทรงพลังอย่างเกินตัว เกินกว่ากำลังขับที่ระบุไว้เพียง 100 วัตต์ ได้อย่างน่าชื่นชม?เสียงในย่านกลางถึงกลางสูงนั้นมีความต่อเนื่อง เนื้อเสียงนั้นแยกแยะรายละเอียดได้ดี มีความเรียบ เนียน ต่อเนื่อง ที่ซ่อนแฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลชวนฟังอยู่ในที เสียงแหลมแจกแจงรายละเอียดได้ดี ปลายเสียงไม่ทอดตัวออกไปไกลนักและเก็บตัวเร็ว

กับเสียงร้องของ Amanda Mcbroom นั้น น้ำเสียงไม่หวานอย่างที่คุ้นเคย เป็นเสียงร้องที่มีความแน่วแน่ จริงจัง และมั่นคง ฟังเหมือนเธอจะตั้งอก ตั้งใจร้องมากขึ้นกว่าเดิม รายละเอียดถูกแจกแจงออกมาได้ดี แต่ก็ย่อหย่อนความใสที่จะแสดงถึงรายละเอียดลึกๆรวมทั้งบรรยากาศของอะคูสติกที่บันทึกแบบ Live to two-track ออกมาให้ได้ยิน (Amanda Mcbroom : Growing Up in Hollywood Town : Sheffield Lab CD-13 : USA) ตอกย้ำกับอีกครั้งกับเสียงร้องของ Mary Black ในเพลง Columbus เสียงร้องของเธอนั้นมีความนิ่ง พื้นเสียงเงียบและสงัดดีเป็นพิเศษ น้ำเสียงมีอาการติดแห้งอยู่บ้าง ไม่ฉ่ำหวานอย่างที่คุ้นเคยเช่นกัน อีกทั้งยังมีการควบคุมดุลเสียงโดยรวมเอาไว้ ทำให้มีความรู้สึกถึงอาการอั้นๆ อยู่บ้าง ไม่เป็นอิสระ เสียงเบสนั้นแน่น มีน้ำหนัก การย้ำเน้นนำเสนอได้อย่างโดดเด่น จะแจ้ง มีอิมแพ็ค มีแรงปะทะที่ดี มวลเสียงมีตัวตนที่เด่นชัด

(Mary Black : The Collection : Telstar Records : England)

กับเสียงของไวโอลินจากการบรรเลงของ Isaac Stern น้ำเสียงจะวางน้ำหนักไปที่ย่านกลางต่ำ เสียงไวโอลินจึงมีมวลที่อิ่มขึ้น การลงน้ำหนักมือในการสีมีความโดดเด่น ชัดเจน ( Isaac Stern : “Humoresque” Violin Encores )เช่นเดียวกับเสียงเปียโนที่บรรเลงโดย Vladimir Horowitz ที่ไม่เน้นความพริ้วและความรวดเร็ว แต่กลับให้ความสำคัญกับน้ำหนักในการพรมนิ้วบนคีย์เปียโน โดยเฉพาะกับหัวโน้ตหลักที่จะถูกขับเน้นเป็นพิเศษ ความสงัด เงียบทำได้ดี แต่ก็ย่อหย่อนบรรยากาศ ส่งผลให้ขนาดของ Great Hall Of The Tchaikovsky Conservatory ใน  Moscow ที่ใช้ในการแสดงนั้น ฟังดูมีขนาดที่เล็กลงไปกว่าที่คุ้นเคย (Horowitz In Moscow : DG /Germany)

การจัดวางซาวด์สเตจนั้น จะไม่วางซาวด์สเตจให้ขยายกว้างเลยลำโพงทั้งซ้ายและขวาออกไป จะวางวงในลักษณะเป็นกลุ่ม เป็นวง ที่มีความกลมกลืน โดยจะวางวงอยู่ในแนวถอยลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพงเล็กน้อย และวางวงเป็นรูปวงรี ความกระจ่างภายในซาวด์สเตจทำได้ไม่ดีนัก แต่การแสดงระดับชั้นของดนตรีที่ถอยลึกลงไปนั้นสามารถนำเสนอออกมาได้ดี

การเล่นไฟล์แบบ Hi-Res

สำหรับการเล่นไฟล์เพลงแบบ Hi-Res ในเพลง St.Thomas ( Flac 96 kHz/24 Bit ) ที่เปิดตัวด้วยจังหวะกลองที่เร่งเร้า คึกคัก น่าติดตาม ฝีมือของ Max Roach ตามมาด้วยเสียง Tenor Saxophone ฝีมือของ Sonny Rollins ที่มีความกระจ่างและชัดเจนอย่างโดดเด่น นี่คือผลงานในระดับ Master Piece จากอัลบั้ม Saxophone Colossus  อันโด่งดังของ Sonny Rollins

ในเพลง Arcason ( Flac 96 kHz/ 24 Bit ) ที่เริ่มด้วยจังหวะของกลอง Timbales ฝีมือของ  Willie Martinez และเสียงกีตาร์ของ David  Oquendo เป็นการปูพื้นของจังหวะ จากนั้นจึง เป็นเสียงกลอง Congas จากฝีมือการตีของ Cándido Camero Guerra หรือที่รู้จักกันในนามว่า Cándido เป็นเพลงในสไตล์ Afro-Cuban Jazz ที่มีจังหวะดนตรีที่จะแจ้ง มีความชัดเจนที่โดดเด่น การแยกแยะเสียงทำออกมาได้ดี เรียกร้องความตื่นตา ตื่นใจได้ในทันที 

หรือจะเป็นเสียงร้องอันโดดเด่นของ Lise Granden Berg  ด้วยน้ำเสียงที่สดใส กระจ่างชัด และทรงพลังในเพลง Et Misericordia (Arnesen : Magnificat : Flac 96 kHz/ 24 Bit) ที่ทำการบันทึกภายในโบสถ์ Nidaros Cathedral ที่อยู่ในประเทศนอร์เวย์ บรรเลงโดยวง Nidarosdomens Jentekor & Trondheim Solistene ซึ่งบันทึกในระบบ DXD (Digital Extreme Definition) ที่ 352.8 kHz/24 Bit ทั้ง NSC 222 และ NAP 250 ถ่ายทอดเสียงเพลงแบบ Hi-Res ออกมาได้อย่างโดดเด่น 

Hi-Res vs. CD 

ได้ลองฟังเปรียบเทียบการเล่นไฟล์แบบ Hi-Res กับการฟังแผ่น CD ด้วยเพลงๆ เดียวกัน จากเครื่องเล่นซีดี เพื่อหาความแตกต่างทางเสียง ผลที่ได้นั้นอาจจะทำให้หลายท่านรู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อยเพราะคุณภาพเสียงจากแผ่น CD จากเครื่องเล่นซีดีที่มีอายุ อานามร่วม 30 ปี นั้นกลับให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายละเอียด ฮาร์โมนิก อิมเมจและซาวด์สเตจที่มีทั้งความกว้างและความลึก ที่สำคัญยิ่งคือ “ความเป็นดนตรี” ที่แสดงความเหนือชั้นออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน อย่างเพลง St. Thomas ที่เปิดตัวด้วยเสียงกลองจากการตีของ Max Roach เพียงแค่จังหวะและเสียงกลองที่เริ่มบรรเลงก็ฟังและสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของตำแหน่ง รวมทั้งระยะห่างระหว่างดนตรีที่แตกต่างออกไป ยิ่งเสียงของ Tenor Saxophone จากฝีมือการเป่าของ Sonny Rollins ที่มีความนุ่มนวล มีมวลเสียงที่มีความหนาอย่างพอเหมาะ มีความสมจริง ถึงพร้อมทั้งรายละเอียดและบรรยากาศ คุณจะสัมผัสได้ถึงฝีมือและลีลาในการเป่าของเขา ที่มีทั้งความหนัก เบา ยาว สั้น ซึ่งให้ความแตกต่างในความเป็นดนตรีที่แตกต่างไปจากการเล่นไฟล์เพลงแบบ Hi-Res อย่างยากจะปฏิเสธ (Saxophone Colossus : Sonny Rollins : Prestige PRCD-8105-2 : USA)

ตอกย้ำกันอีกครั้งกับแผ่น Candido (Candido : The Master : Chesky Records Binaural Series JD 365 USA) เสียงกลอง Congas จากฝีมือการตีของ Cándido Camero Guerra เมื่อเสียงกลอง Timbales เริ่มให้จังหวะและตามมาด้วยเสียงกีตาร์ บรรยากาศการเล่นดนตรีที่มีความเป็นกลุ่ม เป็นวงที่สามารถดึงความสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในดนตรีก็แสดงความแตกต่างออกมาจนคุณสามารถสัมผัสฟังได้ เมื่อเสียงกลอง Congas จากฝีมือการตีของ Cándido Camero Guerra ดังขึ้น ทั้งจังหวะ ความต่อเนื่อง ความลื่นไหลของดนตรีจะชักนำให้คุณเพลิดเพลินไปกับดนตรีได้อย่างกลมกลืน โดยไม่เรียกร้องความสนใจแต่อย่างใด

ความแตกต่างทางเสียงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับชุดของ Naim เท่านั้น แต่เท่าที่ได้ฟังในโอกาสแบบต่างกรรม ต่างวาระ ผลการฟังที่ได้ก็ตอกย้ำถึงคุณภาพเสียงที่เป็นไปในแนวทางนี้เช่นกัน นักเล่น นักฟังท่านใดที่หันไปหลงใหลได้ปลื้มกับคุณภาพเสียงของระบบสตรีมมิ่งเพลงแบบ Hi-Res ที่ดูจะมีความทันสมัย ดู ไฮ-เทค โดยเฉพาะกับเกมการตลาดในเรื่องของคุณภาพเสียงจากผู้ให้บริการต่างๆ รวมทั้งตัวเลขการอัปแซมปลิ้งในฟอร์แมตต่างๆ ที่มักจะเข้าใจกันว่ายิ่งใหม่ ยิ่งมาก ก็จะยิ่งดี แล้วละเลยการเล่นแผ่นซีดี พร้อมกับโละแผ่นเพลงออกจากห้องฟัง ควรจะหันกลับมาใคร่ครวญและพิจารณาให้ดี อาจบางที…คุณอาจจะยังไม่เคยได้สัมผัสฟังเสียงของซีดีที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงเลยซักครั้งก็เป็นได้ 

ภาค Phono

กับภาค Phono ของ NSC 222 นั้น ต้องนับว่า ทาง Naim มีความใส่ใจในคุณภาพของภาค Phono อยู่ไม่น้อย ไม่ใช่เป็นการมีไว้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่ของบางอย่างนั้น “ต้องมี” แค่นั้น ที่สำคัญเมื่อจะมีแล้วก็ต้อง “ดี” ด้วย  ซึ่งภาค Phono ใน NSC 222 นั้นสามารถที่จะก้าวมายืนในจุดที่ดีได้อย่างภาคภูมิโดยให้เสียงที่มีความสงัด เงียบ ที่โดดเด่น มีมวลเสียงที่ดี  เบสต่ำมีน้ำหนักพร้อมกับอิมแพ็คหรือให้แรงปะทะที่ดี ถ่ายทอดอิมเมจที่มีตัวตนได้ชัดเจน จัดวางซาวด์สเตจเป็นกลุ่ม เป็นวงได้ดี การจัดวางนั้นจะวางวงแบบถอยหลังลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพง สัดส่วนความกว้างนั้นเป็นรองกว่าสัดส่วนความลึกที่สามารถแสดงระยะห่างและระดับชั้นที่ถอยลึกลงไปออกมาได้ชัดเจน

ภาคหูฟัง

ตามที่ทาง Naim ได้กล่าวไว้ว่า ได้บรรจุภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังชั้นเยี่ยมไว้ใน NSC 222  วงจรเป็นแบบแยกชิ้น (Discrete) ที่ได้รับการออกแบบเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่การใช้ IC ภาคหูฟังนี้มีกำลังขยาย 1.5 W/pc ที่โหลด 16 โอห์ม ซึ่งเพียงพอต่อการขับหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์สูงๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา ได้นำหูฟัง AKG K701 ที่มีอิมพีแดนซ์ 62 โอห์ม และ Sennheiser HD800 ที่มีอิมพีแดนซ์  300 โอห์ม มาลองฟังเปรียบเทียบกัน 

NSC 222 ให้เสียงที่สะอาด เปิดเผย ชัดเจน น้ำเสียงมีความหนักแน่น มีตัวตน การแจกแจงรายละเอียดทำได้ดี อาจจะขาดบรรยากาศของอคูสติคส์อยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่า ทำออกมาได้ดี จากการใช้งาน ภาคหูฟังของ NSC 222 จะไปได้ดีกับ Sennheiser HD800 มากกว่า AKG K 701 สาเหตุอาจจะมาจากตัวหูฟังเอง ที่ไม่เข้ากันหรืออาจจะเป็นเรื่องของอิมพีแดนซ์ที่แตกต่างกันก็เป็นได้ แต่ไม่ใช่เรื่องของกำลังขับแน่นอน ดังนั้นขอแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะใช้งานภาคหูฟังของ NSC 222 อย่างจริงจังว่า ควรเลือกหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์สูง 250 โอห์มขึ้นไปไว้ก่อนเป็นอันดับแรก หรือถ้ามีหูฟังอยู่แล้วก็สามารถทดลองฟังเพื่อเพิ่มความมั่นใจด้วยตนเองดูอีกครั้ง

ต่อเชื่อม NPX 300 Power Supply

ได้ทำการต่อเชื่อม NPX 300 Power Supply เพิ่มเข้าไปในซิสเต็ม แล้วเริ่มฟังกันอีกครั้ง  ผลปรากฏว่าคุณภาพเสียงของ NSC 222 ดีขึ้นไม่เฉพาะแค่ในบางแง่ บางมุมเท่านั้น แต่คุณภาพเสียงของ NSC 222 ได้รับการยกระดับขึ้นไปทั้งองคาพยพ ! เรียกได้ว่า เปลี่ยนไปเป็นคนละเครื่องเลยก็ว่าได้ !

กับเสียงร้องของ Amanda Mcbroom ที่ก่อนหน้านี้ติงว่าน้ำเสียงไม่หวาน หรือเสียงร้องของ Mary Black ที่มีอาการติดแห้ง ไม่ฉ่ำหวานอย่างที่คุ้นเคย ครานี้น้ำเสียงกลับเปิดเผย มีความกระจ่างพร้อมกับแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้ดีขึ้น น้ำเสียงมีความสดใส ไม่แห้ง ฟังมีชีวิตชีวาดีขึ้นไม่น้อยเลย สมดุลเสียงจากที่วางตัวและให้น้ำหนักมาทางย่านกลางต่ำเป็นหลัก เมื่อได้ NPX 300 เข้ามาเสริม สามารถช่วยปรับสมดุลเสียงโดยรวมให้มีความกลมกลืน ราบเรียบ ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งน้ำหนัก และแรงปะทะของอัพเปอร์เบสก็ไม่ได้ลดน้อย ถอยลงแต่อย่างใด เสียงในย่านกลางต่ำลงไปถึงเบสต่ำยังมีความกระชับที่ดีขึ้น สามารถจะแจกแจงรายละเอียดที่ซับซ้อนออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิมไม่น้อยเลย 

น้ำเสียงที่กระจ่างขึ้น รวมทั้งความสามารถในการแจกแจงรายละเอียดที่ดีขึ้นนี้ ยังส่งผลให้ซาวด์สเตจขยายตัวกว้างขึ้นทั้งทางด้านกว้างและด้านลึก รวมทั้งระยะห่างระหว่างดนตรีที่ทำได้ดีขึ้น สัดส่วนของเวทีมีความเหมาะสม ลงตัว มีความสมจริงยิ่งขึ้น 

สำหรับผู้ที่สนใจ NSC 222 อยู่ ขอแนะนำว่า แทนที่จะกันงบประมาณไว้ให้กับสายนำสัญญาณที่มีราคาสูง ที่คุณเองก็ยังไม่รู้ว่า ผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไร นอกจากความคาดหวังเท่านั้น ทางที่ดี…ควรจะเพิ่มงบประมาณพร้อมกับเทงบในส่วนของสายสัญญาณนั้นให้กับ NPX 300 แล้วยกทั้ง NSC 222 มากับ NPX 300 พร้อมกันในคราเดียวกันเลย ไหนๆ ก็ตั้งใจจะล้มวัวแล้ว อย่าเสียดายเกลือเลย ด้วยทางเลือกนี้จึงจะช่วยให้คุณได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง แต่ถ้ามีงบจำกัดก็ค่อยจัดหา NPX 300 มาเพิ่มเติมได้ในภายหลังโดยใช้สายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR ที่ทาง Naim มีมาให้แล้วในชุด โดยไม่ต้องเปลืองงบประมาณแต่อย่างใด ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีด้วยเช่นกัน

สุดท้ายได้ลองสลับสับเปลี่ยนนำเอา Naim ไปใช้กับปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ในห้องฟัง ผลที่ได้นั้น สำหรับปรีแอมป์ NSC 222 เหมาะที่จะจับคู่กับ NAP 250 ตามที่ทาง Naim ได้ตั้งใจออกแบบมาให้เป็นคู่สร้าง คู่สม ที่ช่วยส่งเสริมกันและกันได้อย่างเหมาะสม ลงตัว  สำหรับเพาเวอร์แอมป์ NAP 250 นั้นดูจะได้เปรียบกว่าเล็กน้อย สามารถนำไปจับคู่กับปรีแอมป์คุณภาพสูงอื่นๆได้เป็นอย่างดี ด้วยน้ำเสียงที่หนักและแน่น ให้แรงปะทะที่เกินตัว เกินกว่ากำลังขับที่ระบุไว้ 100 วัตต์ ได้อย่างน่าชื่นชม นี่ต้องยกประโยชน์ให้กับการออกแบบและพัฒนาวงจรแบบบริดจ์ (Bridge) ของทาง Naim เองที่ทำออกมาได้อย่างโดดเด่นและมีศักยภาพ

สรุป

ถึงแม้ทาง Naim จะออกสตรีมมิ่งปรีแอมป์มาแล้วด้วยกันหลายรุ่น แต่ NSC 222  ถือเป็นสตรีมมิ่งปรีแอมป์ที่ทาง Naim ได้ตั้งใจออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ถึงพร้อมทั้งการออกแบบ, วิศวกรรมและงานหัตถกรรมที่สวยงามชั้นเยี่ยม ใช้งานง่าย มีความคล่องตัวสูง สะดวก ซึ่งได้ยกระดับผลิตภัณฑ์ของ NAIM ให้ก้าวไปอีกระดับได้อย่างภาคภูมิ สำหรับเพาเวอร์แอมป์ NAP 250 ก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ก้าวมาอยู่ในระดับชั้น”แนวหน้า”ในระดับไฮ-เอนด์ ได้อย่างไม่น้อยหน้ากว่าคู่แข่งเจ้าใดๆ ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นและกำลังขับแบบเจียมเนื้อ เจียมตัว เพียงแค่ 100 วัตต์ แต่อย่าให้ตัวเลขดังกล่าวหลอกคุณได้เชียวละ…เพราะคุณภาพเสียงนั้นได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่า Naim ในอดีตอย่างเหนือชั้น ถึงพร้อมทั้งพละกำลังสำรอง น้ำเสียงที่หนัก และแน่น เกินตัว จนกว่าคุณจะมีโอกาสได้สัมผัสฟังและเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงได้เท่านั้น… 

สำหรับภาคจ่ายไฟ NPX 300 นั้น ใครที่ไม่ให้ความสำคัญหรือมองเป็นเพียงออฟชั่นเสริมที่ร้องเพลง…รอ…ได้นั้น ต้องบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะ NPX 300 ถือได้ว่าเป็นหมัดเด็ด! และถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญและสามารถจะยกระดับคุณภาพเสียงของ NSC 222 ขึ้นไปอีกขั้นได้อย่างแท้จริง ถือเป็นคู่หู คู่แท้ ที่จะขาดกันไม่ได้เลย เราบอก ย้ำ และเตือนคุณแล้วนะ…

NSC 222, NAP 250 และ NPX 300 ใน New Classic Series คือก้าวแห่งความสำเร็จของ Naim ที่จะนำพาให้คุณเข้าใกล้ความเป็นดนตรีไปอีกขั้นหนึ่งได้อย่างน่าชื่นชม…

  แล้วคุณละ…จะไม่ลองหาโอกาสไปสัมผัสฟัง เพื่อหาคำตอบเหล่านั้นด้วยตัวคุณเองดูสักครั้ง…?

ขอขอบคุณ : บริษัท ซี เอช โฮม มีเดีย จำกัด | โทร.085-55 -9225, 02-610-9564, 02-121-4106

ที่อนุเคราะห์ผลิตภัณฑ์ในการทดสอบครั้งนี้

Exit mobile version