บ้านทวาทศิน ณ ปัจจุบันกับ 48 ปี บนถนนสายดนตรี
…จากบริเวณศูนย์การค้าอินทราละแวกประตูน้ำ บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น ณ ที่นั้น (พ.ศ.2519) ผันผ่านทศวรรษแรกของการดำเนินธุรกิจ ก็ได้มีการขยับขยายที่ตั้งอีกครั้ง เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์นำเข้า/จัดจำหน่าย ตลอดจนจำนวนผู้ร่วมงาน โดยได้ย้ายที่ทำการบริษัทมาอยู่ ณ “บ้านทวาทศิน” ซอยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในลักษณะของอาคารบ้านหลังที่จัดทำโชว์รูมไว้รองรับผู้ฟังในลักษณะของห้องต่างๆ ในบ้านอาศัยจริง ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากใครๆ ในขณะนั้น ด้วยผลิตภัณฑ์ลำโพง AR-Acoustic Research กับเครื่องเสียง NAD-New Acoustic Dimension ที่บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายในช่วงแรกๆ ของการดำเนินกิจการ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
แม้ว่า NAD จะก่อตั้งขึ้นในอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ในชื่อย่อของ New Acoustic Dimension แต่แบรนด์นี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันประจักษ์อย่างจริงจังกับผลิตภัณฑ์สเตริโอ อินทิเกรตแอมป์รุ่น NAD 3020 ที่ได้ชื่อลือเลื่องไปทั่วโลกด้วยคุณภาพระดับ ‘แจ็คล้มยักษ์’ ในปี ค.ศ.1979-80 ที่บางคนอาจจะยังจำได้ว่า เจ้าแอมป์เล็กพริกขี้หนูรุ่นนี้สามารถขับขานลำโพง Acoustic Research รุ่น AR9 ได้อย่างน่าทึ่ง! ซึ่ง NAD 3020 นั้นเป็นผลงานการออกแบบในอังกฤษโดย Bjørn-Erik Edvardsen และส่งไปทำการผลิตในไต้หวัน ถือเป็นเครื่องขยายเสียงราคาไม่แพงอย่างน่าเหลือเชื่อ (ซึ่งมีราคาเพียงแค่ 135 เหรียญสหรัฐในยุคสมัยนั้น) ซึ่งนั่นได้บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เครื่องขยายเสียงที่ดีไม่จำเป็นต้องมีแผงหน้าแบบฉูดฉาด แผงระบายความร้อนบิ๊กบึ๊มให้ดูทมึน หรือส่วนประกอบที่เสมือนเป็นเครื่องประดับประดาให้ดูหรูหรา ทว่ามุ่งเน้น-ทุ่มเทอย่างแท้จริงให้กับประเด็นทางเทคนิค เพื่อขับขานลำโพงที่ใช้งานได้จริง กระทั่งในปี ค.ศ.2002 “NAD 3020” ได้รับการเสนอชื่อจากนักเขียนและบรรณาธิการของ Stereophile ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่สำคัญที่สุด 100 รายการ (The 100 Most Significant Audio Products) ในช่วง 40 ปีแรกของนิตยสาร Stereophile
“NAD 3020” ได้สร้างปรากฏการณ์ยอดขยายระดับมโหฬาร หลังจากที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ โดยสามารถจำหน่ายได้สูงถึง 1.1 ล้านเครื่อง ตลอดอายุการใช้งาน ต่อมา NAD ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของในปี ค.ศ.1999 โดย Lenbrook Group ของแคนาดา (ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายของแบรนด์นี้ในแคนาดามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1978) ได้เข้ามาซื้อกิจการไว้ในครอบครอง
NAD 3020 เครื่องขยายเสียงสเตริโอระดับตำนานที่ทำให้ NAD ติดตลาดกลายเป็นหนึ่งในเครื่องเล่น Hi-Fi ชั้นนำของโลก
ทั้งนี้ NAD 3020 ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ทั้งยังได้รับการจัดอันดับสูงในรายการของหลายนักวิจารณ์ของหลายสำนักทั่วโลก แสดงได้ถึงความมีประสิทธิภาพและคุณภาพระดับสูงภายใต้ปัจจัยราคาที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง และได้สร้างชื่อให้บริษัทในฐานะแบรนด์ที่ให้ความคุ้มค่าเงินเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดเครื่องขยายเสียงประสิทธิภาพสูงราคาประหยัดอีกด้วย ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วว่า NAD มีความไม่ธรรมดาเพียงไรในยุทธจักรเครื่องเสียง
พูดได้ว่า NAD 3020 มีเคล็ดลับการออกแบบภาคจ่ายไฟที่ชาญฉลาด ซึ่งทำให้ได้มาซึ่งเสียงที่ทรงพลังกว่ากำลังขับ 20 วัตต์ ต่อแชนแนลที่ระบุไว้มาก ทั้งยังได้รับการออกแบบมาให้ทำงานได้ดีกับลำโพงที่ใช้งานจริงและซับซ้อน (Complex) แทนที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีในห้องแลป (Lab) เท่านั้น “NAD 3020” ไม่ได้มีค่าการวัดผล (Measured) ที่โดดเด่นนัก แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะในความเป็นจริง ไม่มีอินทิเกรตแอมป์ตัวไหนในระดับราคาเดียวกันที่เทียบเคียงได้ในด้านคุณภาพเสียง ทั้งยังให้ฟังก์ชันใช้งานมาอย่างครบครันในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคที่การเล่นแผ่นเสียงไวนิลกำลังมาแรง โดยรุ่นแรกสุดมาพร้อมกับโฟโนสเตจแบบ MM และเพิ่มเติมมาเป็นแบบ MM/MC ในรุ่นหลังๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า โฟโนสเตจของ NAD 3020 นั้นได้รับการยกย่องอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีอินพุตแบบ Line-Level จำนวน 2 ชุด และ Tape Loop แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ ส่วนภาคปรีและเพาเวอร์แอมป์เชื่อมต่อกันด้วย U-link ภายนอก ที่สามารถถอดออกได้ง่าย ดังนั้นจึงสามารถใช้แยกกันได้ในกรณีที่อยากอัปเกรดการใช้งาน
นอกจากนี้ ยังมีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ในบางสิ่งที่อาจดูธรรมดา ถ้าไม่ทราบถึงความจริงที่จงใจออกแบบไว้ ซึ่งบนแผงหลังเครื่อง จะพบแผงเสียบต่อต่างๆ ที่หันขึ้นด้านบน จึงดูไม่ธรรมดา และจะเห็นช่องเสียบต่อ Power Amp Inputs ที่ให้เลือกได้ โดยมีอินพุตที่ทำเครื่องหมายว่า “Normal In” ซึ่งมีแบนด์วิดท์ที่จำกัดไว้ ด้วยวัตถุประสงค์ขจัดเสียงรบกวนที่ไม่ต้องการ ทั้งที่อยู่ต่ำกว่าและสูงกว่าช่วงความถี่ที่ได้ยิน (Audible Frequency Range) แนวคิดคือ เพื่อป้องกันไม่ให้วงจรเพาเวอร์แอมป์ต้องทำงานโดยไม่จำเป็นในการขยายสัญญาณที่ไม่ต้องการเหล่านี้ ทว่ายังมี Power Amp Input อีกชุดที่ระบุไว้ว่า ‘Lab In’ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อโดยตรงที่ไม่ได้ผ่านการกรอง (Unfiltered Connection) เมื่อฟังเปรียบเทียบทั้งสองช่องแล้ว ‘Lab-In’ จะให้เสียงที่สะอาดและชัดเจนกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีความคมแข็งกว่าเล็กน้อยที่ช่วงเสียงแหลมด้วยเช่นกัน
คุณสมบัติอื่นที่น่าสนใจ มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Soft Clipping’ แนวคิดของวงจรที่สลับเลือกการใช้งานได้นี้คือ การจำกัดเอาต์พุตของ NAD 3020 อย่างนุ่มนวล เมื่อถูกใช้งานในการรับฟังที่ระดับความดังเสียงมากๆ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงความหยาบ-สากกร้าน (Harshness) และการผิดเพี้ยน-บิดเบือน (Distortion) ลงได้มาก (ทว่าหลังจากเปรียบเทียบการรับฟัง สวิตช์นี้ควรปล่อยไว้ที่ตำแหน่ง Switch Off เนื่องจากเสียงจะนุ่มและบีบอัดเกินไปเล็กน้อย) ทั้งนี้ทั้งนั้นในช่วงแรกๆ ของ NAD 3020 ไม่ได้มีชื่อเสียงที่ดีนัก ในด้านคุณภาพการประกอบและความน่าเชื่อถือ ทว่าก็ถือว่า เพียงพอในระดับนี้ อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ร้ายแรงพอที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของ NAD 3020 เมื่อในรุ่นต่อๆ มา ได้รับการประกอบที่ดีขึ้น ขั้วต่อลำโพงแบบสปริงหนีบ (Spring Clip) ที่ไม่น่าไว้ใจนัก ก็ถูกแทนที่ด้วยขั้วต่อสายลำโพงแบบ Binding Posts ที่ดูเหมาะสม
NAD 3020 ให้ลักษณะเสียงที่มอบความเพลิดเพลินในการรับฟังได้ไม่น้อย ด้วยการนำเสนอที่นุ่มนวล แต่เข้มข้นและทรงพลัง ดึงดูดผู้ฟังตั้งแต่โน้ตแรกของเพลงจนถึงโน้ตสุดท้าย เสียงที่รับฟังดูจะทรงพลังกว่าตัวเลขเอาต์พุตกำลังขับที่ระบุไว้ 20 วัตต์ ต่อแชนเนลมาก…ทั้งยังเป็นเสียงที่ส่งมอบเนื้อหาสาระอย่างแท้จริง แม้ว่ารายละเอียดโดยรวมจะไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก แต่เจ้า 3020 นี้ก็ถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างยอดเยี่ยม ในรูปแบบที่สอดประสานและให้ความเป็นดนตรี NAD ยังคงพัฒนาการออกแบบ 3020 อย่างต่อเนื่อง ด้วยเวอร์ชันที่ให้เสียงดีขึ้นและบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ซึ่งมีเส้นทางสัญญาณที่สะอาดขึ้น โดยการตัดการควบคุมโทนและสวิตช์อื่นๆ ที่ถือว่าไม่จำเป็นออกไป วงจรของ 3020 ยังถูกแยกออกต่างหาก เพื่อสร้างเวอร์ชันที่เป็นปรีแอมป์เท่านั้นที่เรียกว่ารุ่น 1020 อีกด้วย
พูดได้ว่า NAD 3020 นั้น คือเครื่องหมายแห่งความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง แต่กระนั้นก็อย่าเข้าใจผิดว่า NAD 3020 อยู่ในระดับเดียวกับสิ่งที่ดีที่สุดที่อุตสาหกรรมเคยสรรค์สร้างขึ้นมา ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘Stereophile’ ได้วิจารณ์แอมปลิฟายเออร์ของ NAD ในเชิงบวก ซึ่งหนึ่งในเครื่องขยายเสียงรุ่นล่าสุดคือ Master Series รุ่น “M10” Class-D Streaming Integrated Amplifier ซึ่งมี Dirac Live ที่เป็นการปรับสมดุลความถี่ต่ำในห้องฟัง (Low-Frequency Room Equalization) มาให้ด้วย โดยมีประโยชน์ใช้งานสำหรับลำโพงตั้งวางขาตั้งค่อนข้างมาก (ซึ่งทาง NAD ก็ได้นำมาพร้อมยกระดับไว้ให้กับรุ่นครบรอบ 50 ปี นั่นคือ C 3050 ด้วยเช่นกัน)
คุณลักษณ์
สเตริโอ แอมปลิไฟเออร์รุ่น C 3050 จัดอยู่ในกลุ่ม Classic Series ที่นับเป็นอีกหนึ่งในประวัติศาสตร์นวัตกรรมครบรอบ 50 ปีของ NAD ซึ่งมาพร้อมด้วยมิเตอร์ VU คู่ ปุ่มเลือกอินพุตแบบปุ่มกด ตัวถังหุ้มด้วยไวนิลลายไม้วอลนัท และ ตัวโลโก้แบรนด์ New Acoustic Dimension ดั้งเดิม ตัวอักษรคอร์ซีฟแบบ วินเทจสไตล์ยุค1970 ทั้งนี้ “C 3050” ช่วยให้ผู้รักเสียงเพลงได้ระลึกถึงความเป็นมาของ NAD และค้นพบความสุขจากเสียงเพลงอันยอดเยี่ยม ด้วยแอมปลิฟายเออร์แบบ HybridDigital UcD และ Differential DAC ความละเอียดสูง 32 บิต/384kHz ของ Texas Instruments ส่งผลให้ “C 3050” ส่งมอบเสียงพลังเสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจในระดับออดิโอไฟล์ (แม้ว่า ในการรับฟังจะถูกจำกัดไว้ที่ 192kHz) และด้วยเทคโนโลยีโมดูล ‘MDC2’ (Modular Design Construction) ที่รองรับอนาคตของ NAD ผู้ใช้งาน “C 3050” จะสามารถเพิ่มความสามารถได้หลากหลาย เช่น การสตรีมหลายห้องความละเอียดสูงของ BluOS MDC และการแก้ไขอะคูสติกห้องฟังจาก Dirac Live ซึ่งผู้ใช้สามารถขยับขยายการใช้งานได้ต่อไป ด้วยการเลือกซื้อโมดูลมาเสียบต่อในภายหลัง
ในส่วนดิจิทัลนั้นใช้ Differential DAC ความละเอียดสูง ‘PCM5242’ ของ Texas Instruments ซึ่งเป็นการออกแบบที่ขึ้นชื่อในด้านประสิทธิภาพไดนามิกที่ยอดเยี่ยม และการป้องกันความคลาดเคลื่อนของสัญญาณนาฬิกา (Clock Jitter) ซึ่งทำให้ “C 3050” สามารถถ่ายทอดเสียงดนตรีอันน่าทึ่ง ความสดใส แจ่มชัดที่น่าประทับใจ และการจัดวางตำแหน่งเสียงที่แม่นยำจากแหล่งดิจิทัลทั้งหมด “C 3050” พร้อมสำหรับเทคโนโลยี MDC2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรองรับอนาคตรุ่นล่าสุดของ NAD ที่ให้ผู้ใช้เพิ่มฟังก์ชั่น และคุณสมบัติใหม่ๆ ได้ด้วยการใส่โมดูลเสริมเข้าไปในช่องเสียบ MDC2 บนแผงด้านหลังของ C 3050
โดยในส่วนของ MDC2 ก็คือ การออกแบบใหม่ทั้งหมดที่ช่วยให้สามารถสื่อสารสองทางระหว่างโมดูลเสริม และส่วนประกอบโฮสต์ได้ ทั้งนี้ BluOS-D Module ของ MDC2 เป็นทางเลือกที่ส่งมอบความสามารถอันเป็นที่ต้องการอย่างมาก 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การสตรีมเพลงความละเอียดสูงของ BluOS และการแก้ไขห้องฟัง Dirac Live โดยที่ MDC2 ‘BluOS-D’ นี้ มาพร้อม Wi-Fi แบบดูอัลแบนด์ และ Gigabit Ethernet ช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับเพลงเกือบทั้งหมดที่เคยบันทึกไว้ผ่าน BluOS ซึ่งเป็นระบบจัดการเพลงแบบไร้สายที่ได้รับรางวัลมาแล้ว โดยใช้แอป BluOS Controller ที่ใช้งานง่าย ผู้ฟังสามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่งยอดนิยมกว่า 20 บริการ รวมถึงบริการหลาย ๆ บริการที่ให้เสียงคุณภาพสูง และไร้การสูญเสีย เช่น Amazon Music Ultra HD, Deezer, Qobuz และ Tidal โดยที่ BluOS รองรับเสียงความละเอียดสูงถึง 24 บิต/192kHz และมีความสามารถในการถอดรหัสและเรนเดอร์ MQA เพื่อการสตรีมคุณภาพระดับสตูดิโอ นอกจากนี้ MDC2 ‘BluOS-D’ ยังให้ผู้ฟังเล่นเพลงจากห้องสมุดส่วนตัว และสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตหลายพันสถานีผ่านภาคขยายเสียงระบบสเตริโอของ “C 3050”
โมดูล MCD2 BluOS-D (จำหน่ายแยกต่างหาก) ที่ผู้ใช้สามารถซื้อเพิ่มเติมได้ สำหรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อการสตรีมไฟล์ที่จัดเก็บในเครื่อง หรือ รับฟังบริการเพลงบนอินเทอร์เน็ต
MDC2 ‘BluOS-D’ รองรับ Spotify Connect และ Tidal Connect ดังนั้นผู้ใช้จึงสามารถเล่นเพลงในแอปสำหรับบริการนั้นๆ จากนั้นจึงถ่ายโอนการเล่นไปยัง “C 3050LE” ได้ นอกจากนี้ยังรองรับ Apple AirPlay 2 อีกด้วย ดังนั้นผู้ใช้จึงสามารถสตรีมเสียงไปยัง MDC2 ‘BluOS-D’ จากแอปใดก็ได้บนคอมพิวเตอร์ iPhone, iPad หรือ Macintosh นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถควบคุมการเล่นด้วยเสียงโดยใช้ Amazon Alexa, Google Assistant หรือ Apple Siri ได้อีกด้วย
เมื่อได้ติดตั้ง MDC2 ‘BluOS-D’ แล้ว “C 3050” ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบเพลงภายในบ้านที่มีโซนมากถึง 64 โซน ให้ผู้ใช้สามารถเล่นเพลงต่างๆ ในห้องต่างๆ ได้ โดยแต่ละห้องมีการควบคุมระดับเสียงที่เป็นอิสระ หรือเล่นเพลงเดียวกันในห้องต่างๆ ได้พร้อมกัน ด้วยสถาปัตยกรรมแบบสองทิศทางของ MDC2 จึงสามารถสตรีมเพลงจากแหล่งใดก็ตามที่เชื่อมต่อกับ “C 3050LE” ไปยังส่วนประกอบที่รองรับ BluOS ในห้องอื่นๆ ได้
MDC2 ‘BluOS-D’ ช่วยให้ผู้ใช้งาน “C 3050” สามารถจัดการกับจุดอ่อนที่สุดในระบบเพลงส่วนใหญ่ได้ นั่นคือ สภาพแวดล้อมในการฟัง เพียงทำการเชื่อมต่อไมโครโฟนที่ให้มากับพอร์ต USB ของ MDC2 ‘BluOS-D’ จากนั้นทำตามคำแนะนำในแอป Dirac Live ที่ใช้งานง่าย ‘Dirac Live’ จะเล่นเสียงทดสอบผ่านลำโพงที่ใช้ฟัง ทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ จากนั้นจึงสร้างตัวกรองการแก้ไข (Correction Filters) ที่แก้ไขปัญหาด้านเสียงทั่วไป เช่น Standing Waves และ การสะท้อนที่ไม่พึงประสงค์ (Unwanted Reflections) ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟังอย่างสิ้นเชิง ***เมื่อเปิดใช้งาน Dirac Live ผู้ฟังจะได้สัมผัสกับความคมชัดของเสียงเบสที่ดีขึ้นอย่างมาก ความแม่นยำของโทนเสียงที่สูงขึ้น และการสร้างจินตภาพเสียงที่แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ใช้จะสามารถสร้างการตั้งค่า Dirac Live ได้สูงสุด 5 รูปแบบการปรับตั้ง สำหรับตำแหน่งผู้ฟัง หรือ สภาพห้องที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้แรงบันดาลใจในการออกแบบ “C 3050” มาจาก NAD 3030 Stereophonic Amplifier ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงคลาสสิกในยุค 1970 ด้วยขนาดกำลังขับ 100 วัตต์ต่อแชนเนล และ 135 วัตต์ต่อแชนเนลแบบ ฉับพลัน (Instantaneous) เพื่อการสร้างเสียงดนตรีฉับพลันทันใดได้อย่างรวดเร็ว เสียงรบกวน และการบิดเบือนแทบจะวัดไม่ได้ตลอดย่านเสียงทั้งหมด จากการใช้ภาคขยายกำลังขับแบบ HybridDigital UcD Class-D Modules ผลลัพธ์ที่ได้คือ เสียงที่เป็นกลางและชวนฟังผ่านลำโพงทุกตัว “C 3050” จะสร้างเสียงเพลงที่ถูกใจ พร้อมด้วยรายละเอียดที่ยอดเยี่ยม ส่งมอบความเป็นสามมิติที่ดื่มด่ำ และไดนามิกอันน่าตื่นเต้นประทับใจ
ซึ่งด้วยอินพุตดิจิทัลและอะนาลอกแบบครบชุด “C 3050” จึงสามารถรองรับส่วนประกอบแหล่งสัญญาณได้ทั้งหมด แฟนเพลงแผ่นเสียงจะต้องชื่นชอบโฟโนสเตจแบบ MM ที่มีสัญญาณรบกวนต่ำเป็นพิเศษของ “C 3050” โดยที่สำหรับการชมภาพยนตร์และทีวี “C 3050LE” มีพอร์ต HDMI eARC สำหรับเชื่อมต่อ HDTV ทำให้ “C 3050” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุดโฮมเธียเตอร์ประสิทธิภาพสูง 2 หรือ 2.1 แชนแนล นอกจากนี้ “C 3050” ยังมีอินพุตอะนาลอกแบบ Line-Level และอินพุตดิจิทัลทั้งแบบ Coaxial และ Optical
ที่แผงหลังเครื่องจะมีสวิตช์เลื่อนขึ้น-ลงเล็กๆ ให้ผู้ใช้เลือกว่า มิเตอร์ VU บนแผงด้านหน้าของ C 3050 LE จะแสดงระดับสัญญาณอินพุต (Signal In) หรือ ระดับสัญญาณเอาต์พุต (Speaker Out) ส่วนการจะดูว่า ค่าการปรับเร่ง/ลดระดับเสียงของ C 3050 LE จะบ่งบอกด้วยแถว LED ที่ด้านขวาของแผงด้านหน้า ใต้ปุ่มปรับระดับความดังเสียง (Volume Control) โดยที่ LED ด้านซ้ายสุดเป็นสีส้ม และ LED สีเขียวทางด้านขวาจะสว่างขึ้นตามลำดับเมื่อเร่งระดับความดังเสียงเพิ่มขึ้น โดยดวงไฟ LED นี้มีสีส้ม 1 ดวงและสีเขียวจำนวน 6 ดวง ทำหน้าที่บ่งบอก “ระดับ” ของการเร่ง/ลดความดังเสียงอย่างคร่าวๆ
C 3050 LE จะมีสวิตช์หลัก สำหรับเปิด/ปิดการทำงานเครื่อง (Power) อยู่ที่แผงหลังเครื่อง และจะมีปุ่มกด “Power” เล็กๆ อยู่บนแผงหน้า ซึ่งทำหน้าที่เสมือน Standby…ทันทีที่กดปุ่ม “Power” บนแผงหน้าเครื่องมิเตอร์ VU จะติดสว่างเป็นสีแดง เพื่อเข้าสู่สถานะกำลังอุ่นเครื่อง (Warm Up) กระทั่งสักพักก็จะติดสว่างเป็นสีขาวนวล บ่งบอกสถานะพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ มิเตอร์ VU จะยังคงเปิดอยู่เสมอ เพราะไม่มีสวิตช์ปิดการใช้งาน “C 3050 LE” มีปุ่มหมุนปรับเร่ง/ลดระดับความดังเสียง (Volume) ติดตั้งอยู่ด้านขวาบนสุดของแผงหน้า เนื่องจาก C 3050 LE นั้นถอดแบบมาจาก C 3030 ดังนั้นจึงได้รับการติดตั้งปุ่มปรับทุ้ม/แหลม (Tone Control) และปุ่มปรับบาลานซ์ ซ้าย/ขวา (Balance) รวมถึงปุ่มเลือกลำโพง (Speaker) มาไว้ให้ได้เลือกใช้งาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการย้อนยุคในแบบของวินเทจสไตล์
ที่สำคัญ บนแผงหลังเครื่องยังติดตั้งช่องจ่ายสัญญาณขาออก “Pre Out” มาให้ด้วย ช่วยให้สามารถใช้งาน C 3050 LE เป็นปรีแอมป์ เพื่อต่อพ่วงการใช้งานไปยังเพาเวอร์แอมป์ภายนอก ที่มีกำลังขับสูงกว่าภาคขยายในตัวของ C 3050 LE หรือว่า อาจจะต่อตรงช่องสัญญาณนี้ไปยังลำโพงแอ็กทีฟก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น C 3050 LE ยังมีเอาต์พุตซับวูฟเฟอร์ (SUBW) และช่องเสียบต่อสำหรับหูฟังโดยเฉพาะ (Phones) ให้มาด้วย ซึ่งจะทำงานสอดสัมพันธ์กับปุ่มเลือกลำโพง (Speaker) ที่ตำแหน่ง off
ผู้ฟังสามารถเชื่อมต่อลำโพง 2 คู่ ด้วยการสลับลำโพง A/B หรือใช้งานพร้อมกัน (A+B) จากการเลือกบนปุ่มหมุน Speakers (รวมถึงซับวูฟเฟอร์ที่มีช่องเสียบเอาต์พุต) การเชื่อมต่อ Bluetooth แบบ aptX HD-2 ทิศทางช่วยให้คุณสตรีมเสียงจากอุปกรณ์ Smart Device ไปยัง C 3050 LE และสตรีมเสียงจาก C 3050 ไปยังหูฟังไร้สายได้ด้วย “C 3050” ยังมีเครื่องขยายเสียงสำหรับหูฟังโดยเฉพาะ (Phones) ซึ่งจะทำงานเมื่อปรับหมุนปุ่มเลือกลำโพงไปที่ตำแหน่ง Off และช่องเสียบ Pre Out/Main In ที่ให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อเครื่องขยายเสียงภายนอกที่มีกำลังขับมากขึ้นได้ แล้วใช้ C 3050 ทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ “C 3050” มีรีโมตคอนโทรล IR รวมทั้งช่องเสียบ 12V Trigger และ IR Input
ปุ่มกดบนรีโมตคอนโทรลช่วยให้สั่งการใช้งานได้อย่างสะดวกจากระยะไกล ได้ทั้งการเลือกแหล่งสัญญาณขาเข้า (Source) การปรับเร่งลดระดับความดังเสียง (Vol) และการเลือกลำโพงที่รับฟัง (SPKA-SPKB) รวมถึงเปิด/ปิดการทำงานเครื่อง (On/Off) และ Menu เพื่อเข้าถึงหน้าเมนูสั่งการใช้งานต่างๆ กระทั่งการสั่งการหรี่ความสว่างของดวงไฟ LED ก็ทำได้เช่นกัน
เนื่องจาก C 3050 LE ที่ได้รับมาเข้ารีวิว มิได้มีการติดตั้งโมดูล MDC2 ‘BluOS-D’ มาให้ เราจึงรับฟังเสียงจากการใช้งานพื้นฐานในแง่ของความเป็นสเตริโอ อินติเกรตแอมป์ (มิได้ใช้งานในส่วนของการสตรีมเพลงแบบหลายห้อง BluOS 24 บิต/192kHz และการแก้ไข
Product Highlights :
Features :
• 100 Watts × 2 Channels Into 8 or 4 Ohms (20-20,000 Hz) at 0.03% THD
• 4-Ohm Stable for use with a wide Range of Speakers
• high-performance HybridDigital Universal Class D (UcD) Amplifier Design
• Low-Jitter Texas Instruments TI PCM5242 DAC for High-Performance Playback of Digitally Connected Sources Such as a CD Player
• MDC2 Slot for Expanded Functionality -BluOS Compatibility with Optional NAD MDC2 BluOS-D Module (Sold Separately) -Slot Only Accepts MDC2 Modules ; will not Work with Previous MDC Modules
• Bluetooth 5.0 with aptX® HD
• Front-Panel Illuminated VU Meters
• Independent Built-In High-Output Headphone Amplifier
• Bass And Treble Control Knobs
• Push-Button Source Selection
• Speaker Knob Lets You Select A, B, A+B, or off
• Remote Control
• Dimensions 17.25″ × 4.4″ × 14″
• Weight 22 lbs.
Connections :
• HDMI eARC Port For Playing TV Sound
• 2 Digital Audio Inputs (1 Toslink Optical/1 Coaxial)
• 2 Stereo RCA Audio Inputs, Including A Phono Input (For Use With A Moving Magnet Cartridge)
• Stereo RCA Preamp Output For Connecting A Separate Amplifier
• Stereo RCA “Main In” Input For Connecting A Separate Preamplifier And Using The C 3050’s Amplifier Section Only
• Mono RCA Subwoofer Output
• IR Input And 12-Volt Trigger Output
• ¼” Front-Panel Headphone Jack
• 2 Pairs Of Binding Post Speaker Connectors for A and B Speaker
• Detachable Power Cord
ผลการรับฟัง
เนื่องจาก C 3050 LE ที่ได้รับมาเข้ารีวิว มิได้มีการติดตั้งโมดูล MDC2 ‘BluOS-D’ มาให้ เราจึงรับฟังเสียงจากการใช้งานพื้นฐานในแง่ของความเป็นสเตริโอ อินทิกรตแอมป์ (มิได้ใช้งานในส่วนของการสตรีมเพลงแบบหลายห้อง BluOS 24 บิต/192kHz และการแก้ไขห้องฟัง Dirac Live) ซึ่งต้องขอบอกว่า C 3050 LE ทำได้ดีมากๆ ระดับหนึ่งเลยทีเดียวในแง่ของคุณภาพเสียงที่รับฟัง ขึ้นอยู่กับว่า ลำโพงที่นำมาใช้งานร่วมกันนั้น “แมตช์กัน” หรือไม่/ขนาดไหน ภาคขยายกำลังของ C 3050 LE ระบุว่า เป็นแบบ HybridDigital UcD Class-D Modules ที่ก็ต้องนับว่า NAD มีความเชี่ยวชาญอยู่พอตัว และผลิตภัณฑ์ประเภทแอมปลิฟายเออร์ของ NAD ก็จะยึดในแนวทางนี้เป็นหลัก
จากการลองจับคู่ลำโพงใช้งาน กระทั่งได้ผลลัพธ์ที่ลงตัว ผลการรับฟังซึ่งทำให้ได้ทึ่งกันเลยทีเดียวครับ ทว่ามิใช่ในแง่ของความหนักแน่น ตูมๆ ตามๆ อัดดันตับไตไส้พุง หากแต่จะโดดเด่นในด้านของความลื่นไหล ต่อเนื่อง ชนิดที่ว่า หาแอมป์และลำโพงระดับราคาแสนนิดๆ ที่จะได้ความกลมกลืน-กลมกล่อมมาเทียบเคียงได้ยาก (อย่างเช่น C 3050 LE จับคู่กับ Davis Acoustics : Krypton 6 ที่เราใช้ในการรีวิวตลอดรายการ จึงขอนำมาระบุไว้ เพื่อเป็นแนวทาง)
C 3030 ที่เป็นแนวต้นทางของ C 3050 LE นั้น น่าเสียดายที่ไม่เคยได้ฟัง แต่ความที่เคยมี 3020 อยู่ในครอบครอง จึงบอกได้ว่า C 3050 LE มีแนวทางเสียงของ 3020 อยู่ในดีเอ็นเอ แต่ว่า C 3050 LE ถือเป็นแอมป์ที่ก้าวล้ำหน้าในด้านประสิทธิภาพของเสียงและความเป็นดนตรีขึ้นไปอีกระดับ โทนเสียงของมันเต็มไปด้วยเนื้อสัมผัส ความคมชัดของการจำแนกแยกแยะ และความละเอียดอ่อน ละเมียดละไมที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยความเป็น มาก 3020 อยู่มากจริงๆ โดยที่บอกได้เลยว่า C 3050 LE สามารถสร้างเสียงเพลงได้ครอบคลุมเกณฑ์เสียงที่หลากหลายขึ้น ทั้งเนื้อเสียงราวสัมผัสได้ รวมทั้งไดนามิก พร้อมความสมดุลของโทนเสียงที่สมจริงยิ่งขึ้น…ใช่ครับ “C 3050 LE” ยังคงมีความอบอุ่นในแบบดั้งเดิม และความเข้าถึงได้ในความมีเนื้อหนัง อย่างเช่นแบบฉบับของ NAD แต่มีสเปกตรัมเสียงที่กว้างขวางขึ้นมาก การแต่งแต้ม-เจือสีสันมีน้อยลง แบนด์วิธของย่านเสียงก็ดีขึ้นมาก ให้ความสด สะอาด กระฉับ และบีบอัดน้อยลง…ความดีเด่นจนเป็นที่ติดปากของ 3020 ได้ถูกแอมป์ตัวนี้ล้มแชมป์อย่างราบคาบ
เอกลักษณ์ของ NAD ที่ทำไว้ได้ดีมาโดยตลอด ก็คือ เรื่องของกำลังขับที่ระบุไว้นั้น ผลลัพธ์ทางเสียงที่ออกมา ให้ความรู้สึกมากกว่าที่เป็นจริง ตามที่ระบุไว้ 100 วัตต์ต่อแชนแนล สามารถส่งมอบลักษณะเสียงที่มีความอบอุ่น ให้น้ำหนัก และมุ่งเน้นความดีเด่นอยู่ในย่านเสียงกลางและความถี่ต่ำ ซึ่งทำให้เสียงเบสและเชลโลสามารถแสดงออกถึงความก้องกังวานได้อย่างเต็มที่ แม้แต่ออร์แกนท่อที่อยู่ต่ำก็ยังถ่ายทอดได้ดี มีการควบคุมได้ดี และมีเสถียรภาพในทุกระดับความดังเสียง ให้การคงอยู่ของรายละเอียดแม้การรับฟังจะเร่งเสียงไว้ในระดับต่ำก็ตาม ส่วนเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองที่เล่นด้วยกำลังขับสูงนั้น ไม่พบเลยว่า ให้เสียงที่เครียดเค้น บีบอัด หรือ ขาดซึ่งไดนามิก และไม่แหลมคมจนกัดหูเกินไปนัก สิ่งสำคัญคือการที่ C 3050 LE ยังคงยึดถือค่านิยมดั้งเดิมของ NAD โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความถูกต้องในช่วงย่านเสียงกลาง ทั้งในด้านโทนเสียงและไดนามิก
C 3050 LE ให้เสียงทรานเชียนต์อันคมชัด และสะอาด เสียงร้องมีความเข้มข้น และแสดงออกมาอย่างราบรื่น ด้วยน้ำเสียงร้องที่ดูมีชีวิตชีวาอย่างเหมาะสม พร้อมด้วยช่วงย่านเสียงสูงที่นุ่มนวล ละมุนละไม และหากจะว่าไป C 3050 LE ได้ทำให้รับรู้ถึงสภาพเวทีเสียงที่ถอยลึกอย่างน่าทึ่ง จินตภาพเสียงมีเสถียรภาพ แจ่มชัด และนิ่งสนิท ไม่แออัด สเกลสมส่วนและเป็นธรรมชาติ แม้แต่ในวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ เครื่องดนตรีบรรเลงเดี่ยวก็ยังคงรักษาความรู้สึกเฉพาะตัวไว้ได้ แทบจะไม่มีอาการเลอะเลือนเลย แม้แต่ในส่วนที่ซับซ้อนของรายละเอียดเสียง ซึ่งใช้เครื่องสายหลายชั้น หลายกลุ่ม รวมถึงนักร้องประสานเสียงจำนวนมาก การจัดวางตำแหน่งเสียงก็ทำได้ค่อนข้างดี ไม่สับสนปนเปกัน ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีโฟกัสได้แจ่มชัด ถึงความลึกและความกว้างในวงเวทีเสียง
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า C 3050 LE ส่งมอบลักษณะเสียงที่มีความอบอุ่น ให้น้ำหนัก และมุ่งเน้นความดีเด่นอยู่ในย่านเสียงกลางและความถี่ต่ำ การนำเสนอช่วงเสียงอัพเปอร์เบสจึงทำได้ยอดเยี่ยม ให้การผสมผสานกับย่านความถี่เสียงกลางที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ ควบคู่ช่วงเสียงสูงที่สะอาด และให้การทอดยาวไกล…รับรู้ได้ในอาการค่อยๆ จางหายไปของเสียง อย่างที่เรียกว่า Decay Time ได้ชัดเจน ซึ่งไม่ว่า จะเป็นการรับฟังจากแหล่งสัญญาณเครื่องเล่นซีดี หรือว่า เทิร์นเทเบิล ว่า C 3050 LE ก็ให้แนวทางเสียงในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนั่นสะท้อนได้ถึงว่า ภาคขยายหัวเข็ม MM ของ C 3050 LE ให้การปรับ RIAA Equalization ที่แม่นยำ เสียงรบกวนและการบิดเบือนต่ำ และอัตราโอเวอร์โหลดได้สูง…ไม่ใช่ใส่มาเป็นแค่เล่นๆ ให้เห็นว่ามีตามสมัยนิยม หากแต่ใช้งานได้จริง อย่างดีซะด้วยซิครับ
สรุปส่งท้าย
สุนทรียศาสตร์แบบย้อนยุค Retro ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะชอบ ทว่า NAD กำลังเชิดชูประวัติศาสตร์ของแบรนด์ด้วยผลงานชิ้นนี้ “C 3050 LE” เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่สามารถทำได้มากมาย ทั้งที่มีอยู่ในตัวและเพิ่มเติมเข้าไปในภายหลังด้วยโมดูล MDC2 ‘BluOS-D’ เมื่อคุณพร้อม จึงทำให้ “C 3050 LE” เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก “C 3050 LE” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของเครื่องขยายเสียงโซลิดสเตทที่ทันสมัย และมีคุณสมบัติครบครัน (สามารถผสานการทำงานกับ Dirac Low-Frequency Room Equalization ระบบปรับความถี่ต่ำในห้องฟัง) ซึ่งช่วยให้สามารถมอบทุกสิ่งที่นักเล่นเครื่องเสียง และคนรักเสียงเพลงและดนตรีต้องการ “C 3050 LE” C 3050 มีอินพุตดิจิทัลแบบออปติคัลและโคแอ็กเซียลเพื่อใช้ประโยชน์จาก DAC ในตัวที่ยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ “C 3050 LE” ไม่มีระบบ Network Streaming ผนวกอยู่ในตัว แต่ผู้ใช้สามารถเพิ่มระบบนี้ด้วยโมดูล MDC2 ‘BluOS-D’ (จำหน่ายแยกต่างหาก) เสริมเข้าไป ซึ่งช่วยให้สามารถเล่นเพลงความละเอียดสูง 24 บิตจากแหล่งต่างๆ บนเครือข่าย หรือ จากเว็บได้ “C 3050 LE” ยังได้รับการติดตั้งแจ็คเสียบหูฟังขนาด ¼ นิ้ว บนแผงหน้าเครื่อง ให้ผู้ฟังเชื่อมต่อหูฟัง (Phones) กับภาคขยายเสียงหูฟังในตัว สมรรถนะสูงที่สามารถขับเสียงที่ต้องการความต้านทานสูงของหูฟังได้อย่างไร้กังวล
…อยากบอกทิ้งท้ายไว้นิด แต่มิใช่ติติง ถ้าหากว่า NAD “ยกระดับ” พลังเสียงให้มากขึ้น คิดว่า น่าจะเป็นอีกเพียงสิ่งเดียวที่นักเล่นเครื่องเสียง น่าจะเป็นที่ปรารถนากันถ้วนหน้า ในกรณีที่ว่า จำเป็นต้องใช้ขับขานลำโพง 3 ทาง ขนาดใหญ่ในพื้นที่ห้องกว้างสักหน่อย อาจจำเป็นต้องใช้พละกำลังในการขับขานที่มากขึ้น แม้ว่า “C 3050 LE” จะสามารถปรับการทำงานไว้เป็นปรีแอมป์หลัก แล้วจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ที่ทรงพลังกว่าในวันข้างหน้าก็ตาม
NAD History
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.2018 Bjørn-Erik Edvardsen (“Erik”) หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ก่อตั้ง NAD Electronics ได้เสียชีวิตลง หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว/กระดูกอย่างกล้าหาญ ครอบครัว NAD ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการและพนักงาน, ผู้จัดจำหน่าย, ตัวแทนจำหน่าย รวมถึงแฟนเพลงและผู้ที่ชื่นชอบดนตรีนับล้านคนทั่วโลกที่ชีวิตและประสบการณ์ทางดนตรีของพวกเขาได้รับการยกระดับขึ้นจากการทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศด้านเสียงของ Erik ขอร่วมแสดงความอาลัยกับครอบครัวของเขาในการจากไปของ Erik และรำลึกถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาที่มีต่ออุตสาหกรรมเสียง
Bjørn-Erik Edvardsen (“Erik”) เกิดที่เมืองเบอร์เกน (Bergen) ประเทศนอร์เวย์ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบุตรชายของกัปตันในกองทัพเรือพาณิชย์ เขาขึ้นเรือข้ามทะเลเหนือเพื่อศึกษาต่อด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเฮริออต-วัตต์ (Heriot-Watt University) ในเมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ประเทศสกอตแลนด์
อาชีพของ “Erik”) ในสหราชอาณาจักรเริ่มต้นที่ ITT KB ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รู้จักในด้านวิทยุทรานซิสเตอร์ จากนั้นเขาจึงย้ายไปที่ Dolby Labs และได้มีส่วนร่วมในการสาธิตการลดเสียงรบกวนของ Dolby ในช่วงแรกๆ ในโรงภาพยนตร์ของนิวยอร์กและลอนดอน โดยเริ่มแรกเขาบันทึกภาพยนตร์เรื่อง “Speed Merchants” ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของนักแข่งรถสูตรหนึ่ง และต่อมาก็ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกกับ Dolby เรื่อง A Clockwork Orange ของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)
Erik ออกจาก Dolby Labs เพื่อเข้าร่วม Acoustic Research (AR) ซึ่งเริ่มต้นที่อังกฤษ ก่อนจะย้ายไปบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดย Erik ทำการวิจัยในด้านอะคูสติก ดีเลย์เสียงดิจิทัล (Digital Audio Delay), รีเวิร์บ (Reverb) และ Speaker/Room Equalization กับทั้งยังพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง, เครื่องขยายเสียง และเครื่องรับสัญญาณ รัฐแมสซาชูเซตส์นั้นเป็นแหล่งรวมของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องเสียงไฮไฟ โดยมี MIT ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำในเคมบริดจ์ และยังเป็นที่ตั้งของ Boston Audio Society ซึ่งเป็นฟอรัมที่มีอิทธิพลที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาและนักเล่นเครื่องเสียง
นับเป็นการเริ่มต้นอาชีพที่ยาวนานร่วมกับ Marty Borish ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานบริษัทผลิตลำโพง Acoustic Research (AR)-Borish ซึ่งมองเห็นและส่งเสริมพรสวรรค์ด้านความคิดสร้างสรรค์ของ Erik และที่ต่อเนื่องสืบมาก็เป็น “ประวัติศาสตร์ของ NAD! เมื่อ AR ตัดสินใจยกเลิกแผนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮไฟ และกลุ่มผู้จัดจำหน่าย AR ทั่วโลกก็เริ่มร่วมมือกันพัฒนาแบรนด์ของตนเอง (New Acoustic Dimension-“NAD”) ในปี 1972 จึงถึงเวลาที่ Borish และ Edvardsen จะต้องย้ายไปลอนดอน และกลายมาเป็นพนักงานเต็มเวลาสองคนแรกของ NAD ในตำแหน่งประธาน-Borish ทำงานจากห้องใต้หลังคา ส่วน Erik ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ออกแบบ/หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โดยใช้ห้องนอนว่างเล็กๆ เป็นห้องทดลองการออกแบบ
แจ๊สเป็นหนึ่งในความหลงใหลอันยิ่งใหญ่ของ Erik หลังจากที่ลุงของเขาซึ่งเป็นนักเปียโนแจ๊ส ได้แนะนำให้รู้จักดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากเขาเติบโตมาในยุคที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเสียงคุณภาพสูง หรือ เครื่องเสียงดีๆ อยู่ไกลเกินเอื้อมถึง Erik จึงมุ่งมั่นที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์และความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของเขา เพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงดังกล่าวสำหรับคนรุ่นต่อไป
Erik ขับเคลื่อนด้วยอุดมคติอันแรงกล้าที่ว่า ทุกคนควรสามารถซื้อเสียงคุณภาพเยี่ยมได้ เขาและทีมงานด้านเทคนิคขนาดเล็กที่ทำงานร่วมกันได้ทดลองและปรับแต่งการออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหมกมุ่น ในปี 1977 พวกเขาได้ออกแบบเครื่องขยายเสียงไฮไฟรุ่น NAD 3020 ซึ่งผู้ติดตามอุตสาหกรรมเครื่องเสียงส่วนใหญ่ยกย่องว่า เป็นรุ่นที่มียอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นเครื่องที่แสดงถึงความปรารถนาดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเปิดตัวในงาน CES ในปี 1978
NAD 3020 กลายเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักวิจารณ์เสียงและคนรักเสียงเพลงทั่วโลก โดยในที่สุดมียอดขายมากกว่าหนึ่งล้านเครื่องที่เกิดจากการออกแบบเริ่มต้นนี้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นตัวเร่งให้แบรนด์ NAD พัฒนาและเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์หลายร้อยรายการ และเป็นผลิตภัณฑ์แรกๆ ของอุตสาหกรรมที่ Erik และทีมพัฒนา NAD เป็นผู้ริเริ่มในธุรกิจ HiFi ทั่วโลก ในปี 2012, Erik ได้ร่วมงานกับทีมพัฒนาเพื่อออกแบบ NAD D3020 เพื่อเป็นเกียรติแก่การเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของ NAD ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ ถือกำเนิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ NAD 3020 โดยนำเสนอโซลูชันทันสมัยใหม่ที่เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบเสียงแบบ “ดิจิทัล เนทีฟ“ (Digitally Native) รุ่นต่อไปที่มีงบประมาณจำกัด
หลังจากที่ NAD ถูกขายในปี 1999 ให้กับ The Lenbrook Group of Pickering ในออนแทรีโอ (Ontario) ประเทศแคนาดา Erik ยังคงทำงานร่วมกับ NAD อย่างต่อเนื่องในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยขั้นสูง Erik ให้คำแนะนำ โซลูชัน และการปรับปรุงแพลตฟอร์มแก่ทีมวิศวกรรมผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมผู้บริหารระดับสูงของ Lenbrook และ NAD เพื่อมองไปสู่อนาคต Erik มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากโลกแอนาล็อกไปสู่โลกดิจิทัล และเป็นส่วนหนึ่งของทีมออกแบบ NAD ที่ช่วยปรับแต่งแพลตฟอร์มขยายเสียงดิจิทัลที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรม ทีมงาน NAD ได้รับกำลังใจจากการที่ Erik อนุมัติแผนและกลยุทธ์ขยายเสียงในอนาคตของพวกเขาจนถึงวันสุดท้ายของเขา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและจนกระทั่งเสียชีวิต Erik ประสบความสำเร็จในการเป็นที่ปรึกษาให้กับวิศวกรรุ่นต่อไปของ NAD ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำการพัฒนาแบรนด์ไปทั่วโลก และเป็นผู้จัดหาทรัพยากรด้านการออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ในเครือของ NAD ได้แก่ ลำโพง PSB และโซลูชันระบบเสียงมัลติรูมความละเอียดสูงของ Bluesound ; NAD เองก็เติบโตขึ้นจนกลายเป็นแบรนด์เครื่องเสียงเฉพาะทางที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยจำหน่ายในกว่า 80 ประเทศ
ครอบครัว NAD ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองและให้เกียรติแก่ชีวิตและอาชีพของ Bjørn-Erik Edvardsen ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของอุตสาหกรรมเสียง โดยอาชีพการงานอันโดดเด่นของเขาตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษช่วยกำหนดและขยายขอบเขตของเสียงคุณภาพสูงที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงและผู้ที่ชื่นชอบดนตรีรุ่นต่อๆ ไป “Erik เราจะคิดถึงคุณอย่างยิ่ง! “
เดิมที NAD มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทีมวิศวกรที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นำโดย Erik ได้ทดลองและปรับปรุงการออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหมกมุ่น โดยพยายามค้นหาช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ เมื่อรู้ว่า ทีมงานมีการออกแบบที่ชนะเลิศ ซึ่งส่งผลให้ NAD ได้รับรางวัลสูงสุดสำหรับวิศวกรและแบรนด์ ในการสรรค์สร้างเครื่องขยายเสียงไฮไฟที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ NAD 3020 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับ NAD ในการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์นับแต่นั้น
ความสำเร็จของรุ่น 3020 ตามมาด้วยความสำเร็จอื่นๆ และเป็นครั้งแรกของแวดวง เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตรุ่น 6100 เป็นเครื่องเล่น Dolby C เครื่องแรกของโลก ซึ่งยังคงรักษาคำขวัญของแบรนด์ในด้านประสิทธิภาพและคุณค่าเอาไว้อย่างคุ้มค่าต่อราคา ; NAD 5200 กลายเป็นเครื่องเล่นซีดีระดับพรีเมียมรุ่นแรกๆ ของโลก ; รุ่น M2 ได้กำหนดนิยามใหม่ให้กับหมวดหมู่อุปกรณ์ขยายเสียงแบบดิจิทัล ทำลายล้างอคติของนักเล่นเครื่องเสียงหลายคนที่ว่าการขยายเสียงแบบดิจิทัลไม่สามารถให้เสียงคุณภาพสูงได้ โดยที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีอันโดดเด่นที่พัฒนาโดยห้องแล็บของ NAD ซึ่งบางครั้งร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีจากภายนอก การออกแบบแบบแยกส่วน (Modular Design Construction), ไฮบริดดิจิทัล (HybridDigital), ไดเรกต์ดิจิทัล (DirectDigital), Enhanced Ambience Recover System (EARS), รวมถึงวงจร SoftClipping และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของ NAD
ปัจจุบัน ทีมพัฒนาของ NAD มีฐานอยู่ที่แคนาดา โดยทีมนี้ได้รับการนำโดยหนึ่งในผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดที่สุดของ Erik รวมทั้งลูกศิษย์ที่สืบสานมรดกที่ Borish และ Erik เริ่มต้นไว้ แม้ว่าทั้ง Borish และ Erik จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากได้พูดคุยกับสมาชิกในทีมที่ทุ่มเทของ NAD ไม่ว่าใครก็ตาม คุณจะรู้ว่าเช่นเดียวกับพวกเขาว่า NAD ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เสียงที่แท้จริงควรเข้าถึงได้สำหรับทุกคน แนวทางที่พิถีพิถันและมุ่งมั่นที่ NAD ใช้มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ NAD รู้สึกสบายใจได้ เมื่อรู้ว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ NAD สร้างสรรค์ขึ้นนั้นให้เสียงที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ก่อนหน้านี้มากในความเป็นจริง
ขอขอบคุณ : บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด โทร. 02 276 9644, 02 277 9997
ที่ได้อนุเคราะห์ผลิตภัณฑ์ให้ได้มาทดสอบกันในครั้งนี้