Test Report: MS-HD MS-E 01 UL

0

Test Report: MS-HD MS-E 01 UL

(ขาดฉันแล้วเธอรู้สึกแน่)

                                                                        ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ

19a7b4_l

                เรียนตรงๆ ว่าการทดสอบอุปกรณ์เสริมประเภทรางไฟพร้อมวงจรกรองสัญญาณ “ขยะ” จากระบบไฟบ้านเป็นอะไรที่ผมไม่พิศวาสที่จะทดสอบเลย เพราะไม่เชื่อมั่นว่าคนทำขายจะรู้จริงรู้ซึ้งอะไร ยิ่งมีวงจรกรองไฟมาในตัวด้วยยิ่งต้องขอทิ้งระยะห่าง

อย่าลืมว่าวงจรกรองไฟ 90 % จะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดัก, คั่น กระแสไฟ และบางชิ้นก็ระบาย “ขยะ” ลงสายดิน คุณภาพ, ทิศทางขา, ตัววงจรเอง ล้วนมีผลต่อ คุณภาพเสียง, มิติเสียงทั้งสิ้นจะมีผู้ผลิตกี่คนมาคำนึงถึง ยิ่งประเภทใส่ชิ้นส่วนที่เรียกว่า MOV เข้าไปเพื่อคอยตัดคลื่นสัญญาณรบกวนที่สวิงสูงโด่งแคบๆ (SPIKE) ที่มักใส่มากับพวกรางไฟราคาถูก 6-7 ร้อยบาท MOV ตัดยอดคลื่นหัวขาดหมดก่อให้เกิดความเพี้ยนในไฟ AC มหาศาล เสียง, มิติ เละเป็นโจ๊กแน่ วัสดุที่ใช้ก็ธรรมดาราคาถูกสุดๆ เต้าเสียบตัวเมียแทบไร้แรงหนีบขาหัวเสียตัวผู้เมื่อใช้ไปสักพัก สายที่ให้มาก็ของถูกๆ พื้นๆ พูดง่ายๆ อย่าได้คิดนำรางไฟพวกนี้มาใช้กับเครื่องเสียงเลย

ถ้าจะสรุปก็คือ ถ้าไม่มีปัญญาซื้อรางไฟระดับไฮเอนด์ที่น่าจะเชื่อถือได้ละก็ อย่าใช้เลยดีกว่า หาหัวเสียบแยก 1 ออก 2 ดีๆ มาต่อเพิ่มรูไฟยังดีกว่า ( เช่นของ WONPRO )

เพราะทราบว่า ยี่ห้อ MS – HD เขาเน้นและถนัดด้านรางไฟ/กรองไฟโดยเฉพาะเข้าขั้นระดับไฮเอนด์แต่ราคาไม่ทะลุโลกจนเกินไป จึงตัดสินใจนำมาทดสอบซึ่งรุ่นที่ได้มาทดสอบเป็นรุ่นท้อปสุด (ขณะนี้) ทางบริษัทมีอยู่แค่ 1 – 2 ตัวเองได้แก่รุ่นของ MS-E 01 UL ตัวอุปกรณ์เป็นกล่องยาวตรงสี่เหลี่ยมคางหมู (ด้านแคบอยู่บน) สูงประมาณ 1 คืบ ยาวประมาณ 1 ศอก มีเต้าเสียบตัวเมียอยู่ 2 ข้าง ข้างละ 3 รู (แบบ 3 ขา รูแบน, IEC ) สายไฟจากภายนอกจะมาเสียบเข้าที่หัวกล่อง ( 3 ขา แบน IEC ) มีสวิตช์กดด้านชวามือ (น่าจะเป็น AUTO RESET กรณีไฟเกิน ) ไม่ได้ให้สายไฟอะไรมา ตัวกล่องหนักประมาณเกือบ 10 กก. ใต้กล่องมีขายาง

Picture 3

ผลการทดสอบ

ปกติระบบไฟ AC ของชุดเครื่องเสียงผมจะมีเต้าเสียบตัวเมียมีกำแพงเป็นของ Monitor Acoustics รุ่นสีเทา (สูงสุด) พร้อมแผงปิดของเขา (ชุดนี้ประมาณ 14,000 บาท มีรูเสียบ 2 รู) มีสายไฟ Furukawa CB – 10 3 เส้น (ทิศทางถูกต้องทั้ง 3 เส้น) หัว Wattgate (ตัวผู้, ตัวเมีย) เสียบเชื่อมจากเต้าเสียบ Monitor Acoustics ที่กำแพง ไปยังตัวกรองไฟ PHD Power Station ( 18.000 บาท ) แล้วออกสายไฟ Chord ไปอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 ( 300.000 บาท) (100 WRMS/ Ch ที่ 8 โอห์ม, 200 WRMS /Ch ที่ 4 โอห์ม) เป็นบาลานซ์แอมป์ตลอดจาก IN ถึง OUT ออกสายลำโพง Futukawa S-2 (ตามทิศ) หัว WBT หางปลาเงินด้านแอมป์ WBT บานาน่าล็อคได้ (ด้านลำโพง) ไปเข้าลำโพง Dynaudio Focus 160 (วางหิ้ง 2 ทาง, ราคา 95,000/คู่) วางอยู่บนขาตั้ง Target 24 HJ ( 30,000 บาท/คู่) เอาหน้าลำโพงออก

จากเครื่องเล่น Blu-ray Oppo BDP-105 ( 42,000 บาท ) (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย Perfect Powerออกสายเสียง Madrigal CZ-GEL 2 (บาลานซ์) (24,000 บาท) เข้าช่วง B1 ของอินทีเกรทแอมป์ No.383

สายไฟ Monster HD 2000 ( HDMI / 14,000 บาท) จาก Oppo 105 ไปจอภาพ Toshiba Full HD แท้ 24 นิ้ว (มีตัวลดการสั่น Footer – 01 ของ Tombo วางอยู่ใต้ฐาน 4 ตัว มีผลึกควอตซ์แท่ง 1 คืบ แปะหลังจอ 3 แท่ง แท่งอะมิทิส 1 แท่ง ก้อนทัวมารีนวางใกล้สายไฟ 1 ก้อน ) (พลิกบน – ล่าง เลือกทิศแล้ว)

ด้านบนของเครื่องเล่น Oppo 105 มีแผ่นอาเกตเกือบกลม ขนาดคืบกว่า x คืบกว่า มีแท่งควอตซ์สูง 1 คืบ 3 แท่ง วางรอบอาเกต บนอาเกตมีแท่งออบซีเดียนสูง 1 คืบ 1 แท่ง ก้อนออบซีเดียนกลมขนาด 3 นิ้ว 1 ก้อน ทั้งหมดนี้มีโครงโปร่ง รูปพิระมิดทำมาจากควอตซ์หล่อสูง 1 ศอก วางคร่อมทั้งหมดอีกที มีผลึกอะมิทิสขนาด 1 ฝ่ามือ วางด้านขวาหลัง บน Oppo ด้วย ทั้งหมดฟังจูนตำแหน่งการวางด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพ, เสียงดีขึ้น (ชุดผลึกพวกนี้ประมาณ 14,000บาท)

ใต้ Oppo 105 มีแท่นรองลดการสั่นสะเทือนของ Tombo รุ่น PSS – 01 R (ตัวเล็ก) ใต้แท่นรองมีขากันสะเทือน Tombo รุ่น MAG-1C SPIKE วางอยู่ (ทำให้ภาพดีขึ้นเอาเรื่องเลย, เสียงก็ดีขึ้นด้วย) (ชุด Tombo แท่น + Magic Spike ประมาณ 12,000 บาท)

Img0178

                ที่กล่องกรองไฟ PHD Power Stations มีการทำระบบระบาย EDDY Current (กระแสไฟวิ่งวนในตัวถังเหล็กของกล่อง) ลงตัวรับ(ใช้กระทะเหล็ก หล่อของฝรั่งเศส) สายพ่วง CB – 10 ทิศถูกต้อง

มีก้อนแร่ทัวมาลีน (ฟังทิศทาง, กลับ / ไม่กลับหัว ) วางบนเต้าเสียบตัวเมีย Monitor Acoustics ที่กำแพง 1 ก้อน, ขาเข้ากล่องกรองไฟ PHD 1 ก้อน ขาออก 1 ก้อน ขาเข้า LCD Toshiba 1 ก้อน ขาเข้า Oppo 1 ก้อน ขาเข้า No.383 1 ก้อน ที่พื้นด่านหน้าจุดนั่งฟัง 1 ก้อน มีพุ่มอะมิทิส ขนาด 5 ฝ่ามือ วางด้านขวาห่าง Oppo ไปเกือบครึ่งเมตรขนาด 1 ฝ่ามือกว่าอีก 1 ก้อน ด้านขวาที่พื้นใกล้ที่นั่งฟัง

มีกล่องตัวอย่างผลึกของ Judy Halls 5 กล่องในห้อง (กลางห้อง1, ด้านหลังที่นั่งฟังอีก 4 กล่อง ทุกกล่องหมุนหาทิศด้วยการฟังทดสอบ) มีหัวปลั๊กกรองไฟ PHD ( 28,000 บาท/หัว ) เสียบเคียงคู่กับเต้าเสียบตัวเมีย Monitor Acoustics 1 หัว (รูที่ไม่ได้ใช้) ที่กล่อง PHD 1 หัว, ในห้องเสียงอีก 2 หัว นอกห้องเสียงอีก 3 หัว ยกสายลำโพงสูงจากพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (ใหม่) สูง 1 คืบ และอีก1คืบวางทับบนสายลำโพงให้นิ่งที่สุด

ภายในห้องไม่มี WiFi / LAN (นอกจากที่รั่วเข้ามาจากภายนอก อีก 6 จุด) ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, PC/โน้ตบุ้ก, เกมส์, นาฬิกาไฟฟ้า, นาฬิกาข้อมือ, รีโมท (นอกจากของ Oppo), ไม่มีรีโมทแอร์ (ตัวแสบเลย) ปัดลมแอร์ลงหลังลำโพง ( 25 องศา C, Low) ห้องฟังเพลงขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร กำแพงมีฟองน้ำเก็บเสียง Sonex พื้นปูพรมไม่ก้องแน่ ลำโพงซ้าย ขวา ห่างกัน 2 เมตร ปรับเอียงเข้ามา (TOE IN) ให้ได้สุ้มเสียง มิติที่ดีที่สุด ขณะทดสอบไม่มี IPad ฯลฯ กล้องดิจิตอล หรือการ์ดแม่เหล็กในกระเป๋าเสื้อ

L1000449

หมายเหตุ

ที่ต้องบรรยายละเอียดพร้อมบอกสนนราคาแต่ละตัวก็เพื่อให้เห็นว่าผมจูนทุกอย่างโคตรสุดๆ แล้วของก็ดีเอามากๆ แล้ว จนเป็นการยากที่จะหาอะไรมาปรับปรุงเสียง มิติ ชุดนี้ได้อีกนอกจากต้องลงทุนอีกเป็นแสนๆ บาท จึงอาจดีขึ้นได้มิใช่ระบุราคาเพื่ออวดมั้งมีอะไร ชุดนี้ก็แค่ 6 – 7 แสนบาท (รวมค่า Sonex )

ผมทดสอบด้วยวิธีโหดมาก โดยเอาตัวรางไฟ/กรองไฟ MS-HD มาคั่นระหว่างปลั๊กไฟทีกำแพงกับกล่องกรองไฟ PHD Power Station โดยเอาสายไฟ Furukawa CB-10 นั้นมาเสียบเข้า MS-HD (ตรวจเฟสไฟแล้ว ตรงกันในขาออกของ MS-HD แล้วเพิ่มสายไฟ AC ของ Monitor Acoustios รุ่นสีน้ำเงินดำ) (OFC 4 N ที่ได้จากการทำ PCOCC ) พร้อมหัว (สายไฟชุดนี้/พร้อมหัว ผมทดสอบแล้วดีมากๆ น้องๆ ชุด Furukawa ของผมเลยแต่ราคาแค่ 4 – 5 พันบาท) (ชุดFurukawa ต้องมีเกือบ 2 หมื่นบาท) ระวังมิให้สายไฟต่างๆ แตะต้องกล่อง แตะต้องกัน

จะเห็นว่าชุดเครื่องเสียงเดิมของผม (ลำโพงยืมมาทดสอบ)ก็มีการกรองไฟกันอย่างมโหฬารไม่เบาแล้ว (มูลค่าการกรองไฟเกือบ 4 หมื่นบาท) ดั้งนั้นถ้าหาก MS-HD ไม่แน่จริงมันไม่ควรทำให้อะไรๆ (ทั้งภาพและเสียง) ดีขึ้นได้อีกแล้ว เผลอๆ แย่ลงด้วย

ปรากฏว่า ผมเริ่มด้วยการใส่ MS-HD เข้าไปเลยแล้วฟัง CD ที่โคตรขี้ฟ้องอย่างอัลบั้ม Rhythm Basket, A taket, A Tisket, A child’s ของ Brent Lewis เช็ค Absolute Phase ถูกต้อง (ที่ Oppo กดเลือกได้ถ้าเป็นสายบาลานซ์ออก)

ปรากฏว่าพอเอา MS-HD ออกเวทีเสียงถอยจมเข้าหาลำโพง ไม่แผ่โอบล้อมรอบตัวเราเหมือนเดิม นอกจากนั้นน้ำหนักเสียงก็ลดลง ทั้งด้านความอิ่ม, เสียงต่ำที่จางลง เสียงดนตรีต่างๆ ในวงฟังมั่ว, สับสนไปหมด ไม่จำแนกแยกแยะเหมือนตอนมี MS-HD อยู่

L1000443

                ลองอีกแผ่นคือ CD บรรเลงเพลงไทยสไตล์แจ๊สเย็นๆ อัลบั้ม “แต้มสีที่อารมณ์” Beauty of Emotion (น่าจะแปลว่า ความงดงามแห่งอารมณ์) ของ IMPRESSION ซึ่งเป็นแผ่น “บันทึกพิเศษ” ใช้ Write เอาไม่ใช้ปั้ม (แผ่นหนึ่งพันกว่าบาท เทียบกับแผ่นปั้มโรงงานประมาณ 389 บาท ซึ่งทุกอย่างด้อยกว่าแผ่น Write แบบหนังคนละม้วนเลย (อย่างว่าราคาต่างกันร่วม 4 เท่า) ตอนใช้ MS-HD กับไม่ใช้ต่างกันถึง 60 % เลยน่าคิดอย่างมากๆ พูดง่ายๆ ว่ายิ่งแหล่งรายการดีแค่ไหน MS-HD ยิ่งฉายแววของการปรับปรุงสูงสุดขนาดนั้น ตอนเอาออกนี่แทบหมดอารมณ์ ไม่อยากฟังเลย โอเค การผ่าน MS-HD เสียงจะทึบลงสัก 4 – 5 % ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่มันปรับปรุงขึ้น 50 – 60 % ขึ้นไป

ในด้าน ภาพ ก็เช่นกันมันช่วยให้ภาพน่าดูมีพลัง อิ่ม แน่น มีมิติ และเสน่ห์ดุจดูภาพจากฟิลม์มากกว่าดูจากภาพดิจิตอล จอ LCD ภาพคมชัดขึ้นเม็ดภาพนิ่งขึ้น ความแวววาวดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่มันช่วยให้ดีขึ้นด้านเสียง(แยกแยะ, ทรวดทรง, มิติ) มันก็ส่งผลทางภาพในทำนองเดียวกัน ขนาดดูจาก DVD หลายๆ เรื่องภาพที่ได้แทบไม่ต่างจาก Blu-ray เลย ชอบมากๆ ครับ

Picture 4

สรุป

ราคาของ MS-HD MS-D 01 UL อาจไม่ถูกนัก (ประมาณ 67,000บาท)แต่ถ้าชุดของคุณมูลค่าหลายๆ แสนบาทมันก็เกินคุ้มครับ ยิ่งถ้าหารด้วยจำนวนรูตัวเมีย 6 รู ก็ตกรูละ หมื่นกว่าบาทต่อการเสียบใช้งานเครื่องเสียง 1 เครื่องก็โอเคนะครับ

ผมยังกลุ้มอยู่นี่ว่า ถ้าต้องยกไปคืนบริษัท ผมจะทำใจได้ขนาดไหนเมื่อปราศจากมัน

ขอขอบคุณ บริษัท การ์ป ออดิโอ จำกัด โทร. 0-2716-7852, 080-080-4858 ที่เอื้อเฟื้อให้ MS-HD MS-E01 UL มาให้ทดลองฟังในครั้งนี้