What HI-FI? Thailand

TEST REPORT: Moon Neo 350P Preamplifier + 400M Mono Power Amplifier

หัสคุณ เกิดบัณฑิต

แคนาดาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากจนถูกจัดอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก เมื่อพูดถึงด้านภูมิศาสตร์แคนาดามีภูมิประเทศที่ยิ่งใหญ่ มีธรรมชาติที่มีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาสูงอย่างเทือกเขาร็อกกี้ (Rocky Mountain หรือ Canadian Rockies) มีทะเลสาบสีฟ้าเขียวมรกตที่สวยงามอย่างเลกหลุยส์ (Lake Louise) หรืออุทยานแห่งชาติแบมฟ์ (Banff National Park) ที่มีป่าไม้ที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ นอกจากความสวยงามทางธรรมชาติแล้ว แคนาดายังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมก็มีการพัฒนาที่รวดเร็ว จึงไม่แปลกที่เราจะพบเจอเครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงจนโด่งดัง และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกอย่าง Bryston, Classe’ รวมทั้ง Moon ด้วย

เครื่องเสียง Moon เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัท SIMAUDIOที่มีคีย์แมนคนสำคัญอย่าง Jean Poulinซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและดำรงตำแหน่ง CEO ของ SIMAUDIO มาอย่างยาวนาน บริษัทนั้นตั้งอยู่ที่เมือง Bouchesvilleในรัฐ Quebec ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศแคนาดา SIMAUDIOไม่ใช่มือใหม่ในวงการแต่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 30 ปีมาแล้ว เดิมทีมีชื่อว่าบริษัท SIMA Electronics ซึ่งถูกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1980 โดยมิสเตอร์ Victor Simaในเมือง Montreal ประเทศแคนาดา Victor Sima ก่อตั้งบริษัทขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตเครื่องเสียงแก่ผู้ที่สนใจ ถือว่าเป็นทางเลือกที่แตกต่างออกไปจากเครื่องเสียงแบรนด์ชั้นนำที่มีวางจำหน่ายในตลาดขนาดใหญ่แบบ Mass Product ผลิตภัณฑ์ของ SIMA ประกอบไปด้วยอินทีเกรทแอมป์, ปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์เป็นหลัก โดยกลุ่มเป้าหมายของ SIMAนั้นจะเป็นกลุ่มนักเล่นที่มีความเชี่ยวชาญ ผ่านร้อน ผ่านหนาวแบบเล่นมามาก ฟังมาเยอะ และก็มีความชำนาญในการฟัง ซึ่งโดยมากก็จะเป็นกลุ่มเอ็นจิเนียร์ในวงการระดับโปรเฟสชั่นแนลเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยคุณภาพเสียงของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ SIMA เป็นที่เลื่องลือจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงโดยเหล่านักเล่นแบบออดิโอไฟล์ จนต่อมาเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นโดยทั่วไป

ต่อมาในปี ค.ศ. 1990 ทาง SIMA ก็ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายรวมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SIMA Electronics มาเป็น SIMAUDIO LTD. พร้อมกับออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อว่าตระกูล Celeste Series จุดเด่นก็คือรูปโฉมของเครื่องที่ได้รับการออกแบบให้มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยตัวเครื่องจะมีรูปทรงที่มีความโค้งมนเป็นทรง “รูปไข่” (Oval Faced) ที่ดูแปลกตา แตกต่างออกไปจากเครื่องเสียงเจ้าอื่นๆ โดยทั่วไปในขณะนั้น หลังจากนั้นอีก 3 ปีคือในปี ค.ศ. 1993 ก็เกิดการเปลี่ยนมือบริษัท SIMAUDIO LTD. ได้ถูกขายให้กับ Jean Poulin ซึ่งเป็นเอ็นจิเนียร์ผู้ผลิตออดิโอทรานสฟอร์เมอร์ให้กับทาง SIMA มาโดยตลอด

SIMAUDIO ภายใต้การนำของ Jean Poulin มีการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเองภายในแบบ In House Development ตัว Jean Poulin เองมุ่งมั่นและปรารถนาที่จะออกแบบและผลิตเครื่องเสียงที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพระดับไฮเอนด์ ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของราคารวมทั้งงบประมาณ อันเป็นที่มาของเครื่องเสียงในระดับ Reference Grade อย่าง Moon Series ในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายว่า เป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่ได้ผนวกเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ากับความสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีที่ได้รับการผสมผสานกันอย่างลงตัว

ผลงานของ SIMAUDIO ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Moon ‘TITAN’ เพาเวอร์แอมป์แบบมัลติแชนแนลสำหรับโฮมเธียเตอร์ระดับไฮเอนด์ ผลงานเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปี (25th Anniversary) แบบ Limited Edition Series ที่มีจำนวนผลิตเพียง 250 เครื่องต่อรุ่นเท่านั้น หลังจากนั้นอีก 1 ปีทาง SIMAUDIO ก็นำเสนอเครื่องในระดับ “เรือธง” ใหม่ (New Flagship) อย่าง Moon Evolution Series ถัดมาอีก 2 ปีทาง SIMAUDIO ก็นำเอาเทคโนโลยีและพัฒนาการในระดับท้อปของตน มาปรับใช้ในรุ่นระดับรองลงมาเพื่อยกระดับสมรรถนะที่สูงขึ้นในราคาที่เหมาะสมไม่เกินความสามารถของนักเล่นโดยทั่วไป ในเครื่องซีรีส์ใหม่ของ Moon ที่มีนามว่า “i” Series

ทาง SIMAUDIO ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2010 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปี (30th Anniversary) ด้วยผลงานแบบ Limited Edition  แต่ในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าเพื่อให้สมกับที่เป็นรุ่นฉลองครบรอบ 30 ปีของ SIMAUDIO ตัวถังของเครื่องจึงได้รับการทำสีพิเศษแบบ High Gloss Chassis สีแดงเพลิงสุดสวยแบบ “เฟอร์รารี่” (Ferrari Red) พร้อมกับแผงหน้าและขาที่ทำขึ้นเป็นพิเศษแบบ Polished Chrome Face Plates ตามมาด้วยการรับประกันเครื่องที่ยาวนานถึง 30 ปี

Jean Poulinดำรงตำแหน่ง CEO ของ SIMAUDIO มาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 20 ปี นำ SIMAUDIO ก้าวหน้าและเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคง ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่บนยอดของภูเขาของการบริหารมาเป็นระยะเวลานาน แต่ Jean Poulinเองก็ยังเปิดกว้างทางความคิดและมีมุมมองที่กว้างไกล เขาจึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและจัดการที่แตกต่างออกไปจากบริบทเดิมๆ ด้วยการเปิดโอกาสให้ทีมงานที่ได้ร่วมงานกับทาง SIMAUDIO มาอย่างยาวนาน ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการ (Management) รวมทั้งมีส่วนในความเป็นเจ้าของ (Ownership) เพราะทุกคนมีส่วนในการนำพา SIMAUDIO จนมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2013 ทาง SIMAUDIO ก็ได้มีการประกาศถึงความเปลี่ยนแปลงในความเป็นเจ้าของของบริษัท SIMAUDIO สำหรับกลุ่มเจ้าของใหม่นั้นประกอบไปด้วยคนแรกคือ Costa Koulisakis ที่มีประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมถึง 24 ปี ได้ร่วมงานกับทาง SIMAUDIO เป็นเวลา 13 ปี ในหน้าที่ที่สำคัญคือ การสร้างยอดขาย รวมทั้งการสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ของ SIMAUDIO ซึ่งก็คือ Customer Loyalty คนที่สองคือ Thierry Dufour ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเอ็นจิเนียร์ของ SIMAUDIO มาเกือบ 20 ปี เขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมในการออกแบบที่สำคัญๆ ที่นำมาซึ่งรางวัลต่างๆ มากมายให้กับ SIMAUDIO และคนสุดท้ายได้แก่ Louis Lemire ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ที่สุดในทีมงาน เขาเป็นเอ็นจิเนียร์ผู้มีความสามารถพร้อมกับมีความเฉียบแหลมทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

Jean Poulin รู้สึกโชคดีที่ได้บุคคลเหล่านี้มาร่วมงานและนำพามาซึ่งความสำเร็จต่อ SIMAUDIO ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และ Jean Poulinได้ส่งไม้ต่อให้คนเหล่านี้เพื่อนำพา SIMAUDIO และแบรนด์ของ Moon ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต แน่นอนว่าทิศทางของ SIMAUDIO ยังคงก้าวไปตามวิสัยทัศน์ของ Jean Poulin อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นก็คือ การรังสรรค์ดนตรีที่มีความถูกต้อง ซื่อตรงรวมทั้งถ่ายทอดอารมณ์ตามที่นักดนตรีได้ประพันธ์ไว้ รวมทั้งต้องรักษาคุณภาพที่นำความสำเร็จมาสู่ Moon จนถึงทุกวันนี้  Jean Poulin ยังคงอยู่กับ SIMAUDIO มิได้หายหน้าไปไหน เขายังเฝ้าติดตามความเบ่งบานและการเจริญเติบโตของ SIMAUDIO อย่างมั่งคั่งต่อไปในฐานะที่ปรึกษาและ Brand Ambassador ของ Moon อย่างภาคภูมิใจ

Moon Neo Series

ถึงแม้ว่า SIMAUDIO จะมี Moon Evolution Series ที่เป็นเครื่องในระดับท้อปออฟเดอะไลน์(Top-Of-The-Line) ที่ทั้งสวยและดูหรูหรา สมกับที่เป็นเครื่องในระดับ Flagship ในนามของ Moon ก็ตาม แต่กับเครื่องในระดับเริ่มต้น (Entry Level) ของ Moon เองกลับมีรูปโฉมที่เรียบง่ายจนหลายคนบ่นว่า หน้าตานั้นดูจืดชืดถึงขั้นไร้ซึ่งรสนิยมก็มี ทาง SIMAUDIO เองก็คงจะได้รับทราบคำติชมดังกล่าว ดังนั้นในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ทาง SIMAUDIO จึงได้ประกาศในงานแสดงเครื่องเสียง Munich High-End Expo ว่าจะมีการปรับปรุงไลน์การผลิตของ Moon ใหม่ โดยเฉพาะกับการออกเครื่องเสียงของ Moon ตระกูล Neo Series ซึ่งเป็นเครื่องในระดับเริ่มต้น (Entry Level) ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงรูปโฉมให้ดูสวยงามขึ้น และมีระดับขึ้นกว่าซีรีส์ก่อนหน้านี้ ทาง SIMAUDIO ได้นำเอารูปแบบของเครื่องในตระกูล Evolution Series ที่ได้รับความชื่นชมทั้งในเรื่องของความงดงาม ความหรูหรามีระดับ มาประยุกต์ขึ้นใหม่ให้มีความเหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงเท่านั้นทาง SIMAUDIO ยังได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาภายในขึ้นมาจากรุ่นก่อนหน้านี้แบบ Re-work สำหรับปรีแอมป์รุ่น Neo 350P และเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่น Neo 400M ก็ถูกนับรวมอยู่ด้วยเช่นกัน

Moon Neo 350P Preamplifier

Neo 350P ได้รับการปรับปรุงแผงหน้าใหม่สอดรับและเหมือนกับเครื่องเล่นซีดีรุ่น Neo 260D ที่เคยผ่านเข้ามาเมื่อหลายปีก่อน Neo 350P โฉมใหม่จึงดูสวยงามโฉบเฉี่ยวอย่างมีสไตล์ แผงหน้าส่วนกลางจะขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมหนา 8 มม. สำหรับด้านซ้ายและขวาที่ขึ้นรูปนูนออกมาเหมือนกับปีกที่โค้งมนทำมุมลาดลงไปทางด้านข้างแบบ Curvaceous Protrusions รูปแบบนั้นจะดูเหมือนกับที่เห็นในตระกูล Evolution Series จะแตกต่างกันก็ตรงใน Evolution Series นั้นจะขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมทั้งชิ้น แต่ใน Neo Series จะเป็นพลาสติกที่ทำสีซึ่งดูใกล้เคียงกันมาก บนแผงหน้าตรงกลางจะมีโลโก้ของ Moon ติดอยู่ ต่ำลงมาจะเป็นไฟ LED สีฟ้าที่จะสว่างเมื่อ Neo 350P อยู่ในโหมดเปิดการใช้งาน เช่นเดียวกันกับไฟ LED สีแดงของโวลลุ่มทางด้านขวาที่จะสว่างขึ้นด้วยเช่นกัน ใต้ไฟ LED สีฟ้าจะเป็นจอดิสเพลย์แสดงผลด้วย LED สีแดงขนาดใหญ่ เพื่อแสดงให้ทราบถึงแหล่งอินพุทที่เลือกใช้งาน ทางด้านซ้ายของจอดิสเพลย์จะมีปุ่มควบคุมด้วยกัน 5 ปุ่ม ประกอบด้วยปุ่ม Standby, MP (Media Player), Display On/Off และปุ่มเลือกแหล่ง Input Select ทางด้านขวามือจะมีปุ่มควบคุม 2 ปุ่มด้วยกัน ประกอบด้วยปุ่ม Tape Monitor เพื่อฟังเสียงจากเครื่องที่ทำการบันทึก และปุ่ม Mute เพื่อลดระดับเสียงในทันที ต่ำลงไปจะเป็นขั้วต่อ MP In (Media Player Input) ซึ่งจะเป็นขั้วต่อขนาด 1/8 นิ้ว กับช่องต่อหูฟังขนาด ¼ นิ้ว

ฝาครอบด้านบนจะเป็นอะลูมิเนียมที่มีความหนาเป็นพิเศษเพื่อเสริมความแข็งแรง ในขณะที่ด้านข้างจะเป็นอะลูมิเนียมหนาที่ขึ้นรูปและมีแนวเส้นเหมือนกับเป็นแผงระบายความร้อน (Heat Sink) ยาวตลอดแนวจากด้านหน้าไปด้านหลัง ทางทีมงานของ SIMAUDIO ให้เหตุผลถึงการออกแบบดังกล่าวว่า การออกแบบให้ด้านข้างเป็นแผงระบายความร้อนนั้น จะสามารถช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นแบบสะสมจากภายในได้ดี รักษาอุณหภูมิภายในให้ต่ำ ช่วยทำให้เครื่องสามารถทำงานได้อย่างมั่นคงตลอดการใช้งานที่ยาวนานได้อย่างมั่นใจ

ด้านหลังของ Neo 350P จะมีอินพุทแบบอะนาลอกมาให้รวม 6 ชุดด้วยกัน ประกอบด้วยขั้วต่อแบบ RCA (Single-Ended) 4 ชุด (CD, A1, A2/HT, A3/PH) และขั้วต่อแบบ Balanced XLR 2 ชุด (B1, B2) มีช่องต่อ Monitor Input กับ Output Loop เป็นขั้วต่อแบบ RCA มาให้อย่างละ 1 ชุด เพื่อต่อใช้งานกับเครื่อง Signal Processor อย่าง เครื่อง Equalizer เป็นต้น มีเอาท์พุทมาให้ด้วยกัน 3 ชุด เป็นแบบ RCA 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นแบบ ‘FIX’ (Fixed)เพื่อต่อใช้งานกับเครื่องบันทึกเสียง เช่น CD-Recorder เป็นต้น  และอีกชุดหนึ่งเป็นแบบ ‘VAR’ (Variable) กับ Variable Balanced XLR เพื่อต่อใช้งานกับเพาเวอร์แอมป์ตามปกติ  มีขั้วต่อ SIMLINK ทั้ง In และ Out ที่เป็นขั้วแบบ 1/8 นิ้ว Mini Jack เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเสียงของ Moon เครื่องอื่นๆ และสามารถควบคุมการสั่งงานได้ในคราวเดียวกัน มีขั้วต่อ IR In เพื่อต่อใช้งานร่วมกับตัวรับสัญญาณแบบ Infrared Remote Control Receivers มีช่องต่อ 12V Trigger ที่จะเชื่อมต่อเพื่อการเปิด/ปิดการใช้งานร่วมกันกับ Neo 350P มีช่องต่อ RS-232 Port ซึ่งเป็นพอร์ตแบบ Full-Function Bi-Directional เพื่อการปรับ-ตั้งค่าแบบ Custom Integration หรือ Automation เพื่อการอัพเดท Firmware ในอนาคต จากนั้นจึงเป็นขั้วต่อสายไฟ AC แบบ IEC 3 ขา มีกราวด์พร้อมกับเมนสวิตช์ เปิด/ปิด ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก สัดส่วนของ Neo 350P อยู่ที่ 16.88 นิ้ว x 3.5 นิ้ว x 13.1 นิ้ว (ก x ส x ล) มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 7.5 กก. พร้อมกับรีโมทคอนโทรลเพื่อการควบคุมระยะไกล

ทาง SIMAUDIO ได้ออกแบบ Neo 350P ให้เป็นปรีแอมป์ที่มีคุณภาพสูงในระดับไฮเอนด์ ภายในงบประมาณที่เหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้นแต่ทาง SIMAUDIO ยังได้เพิ่มเติมคุณสมบัติของ Neo 350P ให้ก้าวไกลไปกว่านั้น ด้วยการออกแบบชุดวงจรเพิ่มเติมแบบ Option ที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้ Neo 350P ทำงานครอบคลุมต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น วงจรเพิ่มเติมดังกล่าวประกอบไปด้วย Option แรกได้แก่ ชุดแผงวงจรแบบ Integrated Digital-To-Analog Converter (DAC) Circuit เพื่อใช้งานร่วมกับ PC Digital Music Server หรือชุด Transport แบบแยกชิ้น แผงวงจรดังกล่าวจะมีดิจิตอลอินพุทมาให้ 4 ชุดด้วยกัน ประกอบด้วย ขั้วต่อแบบ Optical 1 ชุด แบบ S/PDIF Coaxial 2 ชุด และแบบ USB อีก 1 ชุด ตัว DAC เป็นของ Burr Brown (Texas Instruments) PCM 1793 เป็นชิปแบบ 24 Bit ทำงานแบบ Monolithic CMOS Integrated Circuit สามารถรองรับสัญญาณแบบ 24 Bit / 192 kHz ให้ค่าไดนามิกเรนจ์ได้ 113 dB

Option ที่สองได้แก่ ชุดแผงวงจรสำหรับภาค Phono Preamp ที่สามารถจะรองรับหัวเข็มทั้งแบบ MM และ MC ได้ และสามารถปรับตั้งค่า Gain, Capacitance และ Resistance Loading ได้ เมื่อติดตั้งแผงวงจรนี้ลงบน Neo 350P ช่องต่ออินพุทของ Phono จะเป็นช่อง Input ชุดที่ 4 คือ A3/PH สำหรับ Neo 350P ที่ได้รับมาทดสอบนั้นจะติดตั้งเฉพาะแผงวงจร DAC มาให้เรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ภายในของ Neo 350P จัดวางวงจรไว้อย่างเรียบร้อย ดูสวยงาม มีแผงวงจรแผ่นใหญ่ที่กินพื้นที่เกือบจะ 3 ใน 4 ส่วนของตัวเครื่องทั้งหมด ทาง SIMAUDIO ได้ใช้วงจร Symmetrical Circuit Design ซึ่งทำให้ได้ค่าเกนเพิ่มขึ้นถึง 6 dB เริ่มจากการใช้หม้อแปลงเทอรอยด์แบบ Ultra Low Noise ที่ได้รับการชีลด์มาอย่างดี จำนวน 2 ตัว เข้าใจว่าน่าจะแยกแชนแนลซ้ายและขวาเป็นอิสระออกจากกันตั้งแต่ต้นทางเลยทีเดียว ทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ Nichicon 2200uF จำนวน 6 ตัว/ข้าง มีการแยกเร็กกูเลตไฟ DC ออกเป็น 3 ระดับ หรือ 3 Stage ด้วยกัน มีการปรับปรุงทั้งในส่วนของวงจรภาครับ (Gain Circuit) การจัดวางวงจรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ( More Efficient )  พร้อมกับการคัดสรรอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าใน 350P รุ่นก่อน ภาคปรีแอมป์ถูกออกแบบมาเป็นวงจรแบบ Fully Balanced Circuitry แท้ตั้งแต่อินพุทจนถึงเอาท์พุท มีวงจรขยาย 2 ชุดต่อข้าง ทาง SIMAUDIO เลือกใช้ชิปออปแอมป์N 5532 จำนวน 2 ตัว/ข้าง

สำหรับช่องหูฟังนั้นทาง SIMAUDIO ก็ได้ออกแบบภาคขยายเฉพาะสำหรับหูฟังเป็นวงจรแบบ Discrete Amplifier ใช้ชิปของ Burr Brown OPA 2604 ซึ่งทำงานแบบ Dual, FET Input Operational Amplifier มีความเพี้ยนที่ต่ำ และสามารถตอบสนองความถี่ได้กว้างเป็นพิเศษ

Neo 350P ถูกผลิตออกมาด้วยกัน 3 สี คือ สีดำ (Black and Dark Gray), สีเงิน (Silver) และแบบ Two Tone คือ สีดำ/เงิน

สเปคของ Neo 350P มีดังนี้ :

Nēo 350P Detailed Specifications

Optional Digital-to-Analogue Converter:

Optional Phono Section:

Moon Neo 400M Mono Amplifier

สำหรับเพาเวอร์แอมป์ Neo 400M ถือว่าเป็นเพาเวอร์แอมป์แบบโมโนที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด แบบ Slim Fit ด้วยขนาดเครื่องเพียง 16.9 นิ้ว x 3.5 นิ้ว x 14 นิ้ว (ก x ส x ล) ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของ Neo 350P มาก มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 15 กก. แผงหน้านั้นก็เหมือนกันกับ Neo 350P โดยส่วนตรงกลางจะเป็นอะลูมิเนียมหนา สำหรับด้านซ้ายและขวาจะเป็นพลาสติกทำสีเงินขึ้นรูปนูนออกมาเหมือนกับปีกที่โค้งมนทำมุมลาดลงไปทางด้านข้าง บนแผงหน้าตรงกลางจะมีโลโก้ของ Moon ติดอยู่ ต่ำลงมาจะเป็นไฟ LED สีฟ้าที่จะสว่างเมื่อ Neo 400M อยู่ในโหมดเปิดการใช้งาน ด้านล่างของไฟ LED จะเป็นปุ่ม Standby เพื่อเปิด/ปิด การใช้งาน ฝาครอบด้านบนจะมีความหนาเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สำหรับด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะเป็นแผงระบายความร้อน (Heat Sink) ยาวตลอดแนวจากด้านหน้าไปทางด้านหลังเครื่อง

แผงหลังจะมีขั้วต่ออินพุททั้งแบบ RCA และ Balanced XLR วางตัวอยู่ในแนวตั้งเรียงระดับลงมาอยู่ทางด้านซ้ายของขั้วต่อลำโพงที่วางอยู่ตรงกลางของเครื่อง  Neo 400M จะไม่มีสวิตช์คันโยกเพื่อเลือกการเชื่อมต่อสายสัญญาณอินพุทระหว่างแบบ RCA และ Balanced XLR มาให้ ดังนั้นถ้าต้องการเชื่อมต่อ Input ด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA คุณจะต้องติดตั้ง ‘DUMMY’ XLR Jumpers ที่ช่อง PIN ที่ 1 กับ 3 ตามที่ระบุในคู่มือเท่านั้น และเมื่อต้องการเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR คุณจะต้องถอด ‘DUMMY’ XLR Jumpers ออกและเก็บรักษาเอาไว้ให้ดี เพราะอาจจะตกหล่นและหายได้ สำหรับขั้วต่อสายลำโพงนั้น ใน Neo 400M จะมีมาให้เพียงชุดเดียว เป็นขั้วต่อขันล็อคชุบทอง แบบ 5-Way Binding Posts ที่มีพลาสติกใสหุ้มเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง

ทางด้านซ้ายจะมีช่องต่อ 12V Trigger In และ Out เพื่อเชื่อมต่อเพื่อใช้งานในการเปิด/ปิดร่วมกัน มีช่องต่อ RS-232 Port ซึ่งเป็นพอร์ตในการปรับตั้งค่าแบบ Custom Integration หรือ Automation เพื่อการอัพเดท Firmware ในอนาคต สำหรับขั้วต่อสายไฟ AC แบบ IEC 3 ขา พร้อมกับเมนสวิตช์ เปิด/ปิด จะอยู่ทางด้านขวา

ภายในของ Neo 400M จัดวางวงจรไว้อย่างเป็นระเบียบดูสวยงาม  มีการออกแบบและจัดวางอุปกรณ์ต่างๆให้มีทางเดินสัญญาณที่สั้น (Short Signal Path) เพื่อให้สัญญาณเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองต่อสัญญาณได้อย่างฉับพลัน ทันที (Faster Transient Response) จึงแทบจะไม่มีการเดินสายไฟให้เห็นเลย เริ่มจากการจัดวางหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาด 400 VA ของ Avel-Lindberg พร้อมกับฝาครอบเหล็กไว้ตรงกึ่งกลาง ชิดขอบกับแผงหน้า ทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์Nippon Chemi-Con 10000uF จำนวน 8 ตัว (ค่าความจุโดยรวมทั้งหมด 85,000uF) ออกแบบวงจรแบบ Balanced Differential Circuitry ใช้เทคโนโลยีที่ทาง SIMAUDIO พัฒนาขึ้นมาเองและมีชื่อเรียกว่า ‘Advanced Rennaisance’ เพื่อกำจัดการป้อนกลับ Global Feedback ผลที่ได้ก็คือ การทำงานของภาคขยายจะเป็นแบบ Real-Time ที่สามารถให้ความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดความเป็นดนตรี อีกทั้งยังสามารถกำจัดความเพี้ยนแบบ Transient Intermodulation Distortion อย่างได้ผล ภาคอินพุทสเตจจะเป็น J-FETs สำหรับภาคเอาท์พุทสเตจจะเป็นทรานซิสเตอร์แบบ Bipolar ที่ทาง SIMAUDIO สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษแบบ Proprietary Moon Bipolar Output Transistor ซึ่งเป็นทรานซิสเตอร์แบบเดียวกันกับที่ใช้ในแอมป์ตระกูล Evolution Series ด้วยเช่นกัน ใน Neo 400M จะใช้ทรานซิสเตอร์ทั้งหมด 8 ตัว (4 ตัวต่อเฟสบวก และ 4 ตัวต่อเฟสลบ) ถึงแม้ Neo 400M จะมีขนาดเครื่องที่ค่อนข้างเล็กกะทัดรัดก็ตาม แต่ Neo 400M สามารถให้พละกำลังที่มากถึง 400 วัตต์ ที่โหลด 8 โอห์ม และ 650 วัตต์ ที่โหลด 4 โอห์ม ในโหมด Class-AB เลยทีเดียว ทาง SIMAUDIO ยังได้ออกแบบให้ Neo 400M ทำงานในโหมด Class-A ในช่วง 10 วัตต์แรกอีกด้วย ทาง SIMAUDIO ได้ออกแบบให้ Neo 400M สามารถเปิดใช้งานได้ตลอดเวลา (โดยไม่ต้องปิดเครื่อง) เพื่อคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์ หมดห่วงเรื่องความร้อนสะสม เพราะทาง SIMAUDIO ได้ออกแบบวงจรให้มีความร้อนที่ต่ำเป็นพิเศษ (Low Operating Temperature) เพื่อการใช้งานที่ยาวนานแบบ Ultra-Long Lifeกันเลยทีเดียว!

เช่นเดียวกันกับปรีแอมป์Neo 350P ที่ Neo 400M ถูกผลิตออกมาให้มี 3 เฉดสีให้เลือก คือ สีดำ (Black and Dark Gray), สีเงิน (Silver), สี Two Tone คือ สีดำ/เงิน (Black/Silver)

                สเปคของ Neo 400M มีดังนี้ :

Nēo 400M Detailed Specifications  
Type : Solid State
Configuration : Mono – Differential
Power Supply Transformers : 400VA
Power Supply Capacitance : 85,000µF
Class Of Operation : A/AB
Balanced Inputs : XLR – 1
Single-ended Inputs : RCA – 1
Input Device Type : J-FETs
Input Impedance : 47.5KΩ
Input Sensitivity : 800mV RMS
Output Device Type : Bipolars – 8
Output Binding Posts : 1 pair – 5-way, Gold-plated, Shielded
Output Power @ 8Ω : 400 Watts
Output Power @ 4Ω : 650 Watts
Frequency Response : 10Hz – 125kHz   (+0/-3dB)
Output Impedance : < 0.01Ω
Damping Factor   (static) : > 800
Gain : 36dB
Signal-to-noise Ratio : 106dB @ full power
Maximum Output Voltage : 60 Volts
Slew Rate : 60 V/µs
Maximum Current – Peak : 56 amperes
Maximum Current – Continuous : 26 amperes
IMD : Unmeasureable
THD   (20Hz – 20kHz @ 1 watt) : 0.02%
THD   (20Hz – 20kHz @ 400 watts) : 0.05%
12 Volt Trigger Output Operation                                                                              : Direct Logic  using a 3.5mm
RS-232 Port : 9-pin female DB connector
   
Power Consumption @ idle : 36 Watts
AC Power Requirements : 120V / 60Hz   220-240V / 50Hz
Fuse Replacement   120V   /   220-240V : 8.0A long fast blow   /   4.0 long fast blow
Shipping weight : 34 lbs / 15 kgs
Dimensions   (W x H x D) : 16.9 x 3.5 x 14.0 in.   (42.9 x 8.9 x 35.6 cm.)

ผลการทดลองฟัง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังประกอบด้วย :

ทาง SIMAUDIO แนะนำว่า ประสิทธิภาพและคุณภาพเสียงของ Moon ทั้ง Neo 350P และ Neo 400M จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 300 ชั่วโมงแรกของการฟัง พูดสั้นๆ ก็คือ ต้องรันอินให้ครบ 300 ชั่วโมง คุณภาพเสียงของทั้งสองจึงจะอยู่ในระดับท้อปฟอร์มอย่างแท้จริง ในช่วงที่เบิร์นอิน Moon Neo 350 P+ 400 M นั้น ก็รู้สึกได้ว่า Moon ต้องใช้เวลาในการเบิร์นอินที่นานมากกว่าเครื่องแบรนด์อื่นๆ ที่เคยแวะเวียนผ่านเข้ามา จากครั้งแรกที่แกะกล่องออก จัดวางและทดลองฟัง จนมาถึง 50 ชั่วโมง น้ำเสียงของ Moon จะออกอาการเน้นๆและพุ่ง จัด จนฟังแทบไม่ได้ เมื่อเบิร์นจนทะลุ 100  ชั่วโมงแล้ว คุณภาพเสียงโดยรวมแม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความคาดหวัง จนรู้สึกหวั่นใจว่า Moon จะยังไม่พร้อมเต็มที่ถ้าต้องส่งคืนในระยะเวลาที่จำกัด โชคดีที่ยังไม่มีเสียงมาตามสายเพื่อรับเครื่องคืน เลยต้องให้เวลากับ Moon นานมากขึ้น  มากขึ้น  เข้าใจว่าน่าจะประมาณที่ 200 ชั่วโมงแล้ว Moon จึงเริ่มจะฉายแววความสามารถที่แท้จริงออกมา ซึ่งก็ตรงกับที่ทาง SIMAUDIO แนะนำเอาไว้ในคู่มือ ดังนั้นถ้าต้องการสัมผัสฟังตัวตนที่แท้จริงของ Moon ทรีโอทั้ง 3 แล้วละก็ ต้องให้เวลากับ Moon อย่างใจเย็นๆเท่านั้น  ไม่มีทางลัดครับ

ตลอดการใช้งาน Neo 400M จะมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับพละกำลังของ Neo 400 M ที่มากถึง 400 วัตต์ เมื่อพวกเราได้ลองทดสอบใช้งาน Neo 400M อย่างหนัก อุณหภูมิของเครื่องก็จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่อุ่นมือ แม้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าการใช้งานตามปกติอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นความร้อนที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งน้อยกว่าอินทีเกรทแอมป์บางเครื่องที่มีกำลังขับน้อยกว่า Neo 400M อยู่หลายเท่าตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงเป็นไปตามที่ทาง SIMAUDIO ได้ให้ข้อมูลมาอย่างถูกต้อง หมดความกังวลในเรื่องของความร้อนสะสมที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ควรจัดวาง Neo 400M ไว้ในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ควรจัดวางเครื่องซ้อนกันอย่างเด็ดขาด

สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างปรีแอมป์ Neo 350P กับ Neo 400M ซึ่งมีทางเลือกมาให้ 2 ทาง คือการเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA และแบบ Balanced XLR จึงได้ลองฟังเปรียบเทียบทั้ง 2 แบบ เริ่มต้นกันด้วยการต่อสายนำสัญญาณแบบ RCA (อย่าลืมที่จะต้องติดตั้งตัว ‘DUMMY’ XLR Jumper ที่ Pin 1 และ 3 ตรงขั้วต่ออินพุท Balanced XLR ที่ Neo 400M ด้วยนะครับ)

น้ำเสียงของ Moon จะฟังคึกคัก กระชับ กระฉับกระเฉง ให้จังหวะดนตรีที่รวดเร็ว เนื้อเสียงจะค่อนข้างมาทางบางอยู่บ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยพละกำลังและแรงอัดฉีดที่เร่งเร้า มีความจะแจ้งที่มาพร้อมกับการย้ำเน้นที่ดี เบสแน่น ใหญ่ มีแรงปะทะของหัวโน้ตที่โดดเด่น แต่กลับอ่อนพลังและเก็บตัวเร็ว ทำให้การคงอยู่ของ “พลัง” ที่จะตรึงการขึ้นรูปของดนตรีนั้น บางเบากว่าที่ควร แต่ Moon ก็สามารถนำเสนอภาพรวมของดนตรีที่มีความต่อเนื่อง มีความลื่นไหลที่ดี ช่วยส่งเสริมให้การรับฟังนั้นเป็นไปอย่างเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี กับซาวด์สเตจนั้น การจัดวางรูปวงจะวางตัวในแนวเดินหน้า (Forward) อิมเมจจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ สัดส่วนความกว้างนั้นนำเสนอออกมาได้อย่างโดดเด่นกว่าทางด้านลึก

เมื่อลองสลับสับเปลี่ยนมาเป็นสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR ดูบ้าง คราวนี้ Moon กลับนำเสนอน้ำเสียงโดยรวมที่นุ่มนวลขึ้น ลดความเร่งเร้าลง จังหวะดนตรีฟังเหมือนกับว่าจะถูกดึงให้ช้าลงเล็กน้อย แต่เมื่อจับสังเกตให้ดีจะพบว่า Moon ยังคงนำเสนอจังหวะดนตรีที่กระชับและรวดเร็วเหมือนเดิม แต่การเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR จะสามารถให้ความเงียบ และพื้นเสียงที่มีความสงัดมากขึ้นกว่าสายแบบ RCA ทำให้สามารถสัมผัสฟังถึงรายละเอียดต่างๆ ที่มีอยู่ในดนตรีได้มากขึ้น ซาวด์สเตจจะวางตัวถอยลึกลงไปกว่าแนวระนาบของลำโพง อิมเมจและสัดส่วนของซาวด์สเตจจะกระชับและเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น มีความสมจริงและฟังเป็นธรรมชาติกว่าเมื่อเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA พวกเราจึงเลือกการเชื่อมต่อระหว่างปรีแอมป์Neo 350P กับเพาเวอร์แอมป์Neo 400M ด้วยสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR ตลอดการฟังทดสอบทั้งหมด

สำหรับการเชื่อมต่อเครื่องเล่นซีดีนั้น ถ้าเครื่องเล่นซีดีของคุณมีเอาท์พุททั้งแบบ RCA และแบบ Balanced XLR คุณก็จะมีสองทางเลือกในการเชื่อมต่อไปยังปรีแอมป์ Neo 350P พวกเราเริ่มด้วยการต่อเชื่อมสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR เป็นอันดับแรก สิ่งแรกที่รู้สึกและฟังออกอย่างชัดเจนก็คือ น้ำเสียงโดยรวมที่มีความกระจ่าง และชัดเจนดีเป็นพิเศษ รายละเอียดต่างๆ ถูกนำเสนอและแยกแยะออกมาได้อย่างน่าฟัง เสียงร้องมีความชัดเจนแต่เนื้อเสียงจะค่อนมาทางบางอยู่บ้าง ในย่านอัพเปอร์เบสจะให้มวลเสียงที่กระชับมีการย้ำเน้นที่ฟังนุ่มนวล เบสต่ำแน่นและลงได้ลึก การจัดวางรูปวงจะวางตัวในแนวเดินหน้า (Forward)

ต่อมาได้ลองสลับสับเปลี่ยนมาเป็นสายนำสัญญาณแบบ RCA เพื่อฟังเปรียบเทียบดู ผลปรากฏว่า มวลเสียงโดยรวมมีความเข้นข้นที่สูงกว่าโดยเฉพาะกับเสียงร้อง ที่สำคัญการต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA กลับสามารถถ่ายทอดบรรยากาศรวมทั้งฮาร์โมนิคที่มาพร้อมกับรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้ดีกว่าสายนำสัญญาณแบบ Balanced XLR ถึงแม้ว่าความกระจ่าง และความสามารถในการแยกแยะชิ้นดนตรีต่างๆ จะเป็นรองอยู่บ้างก็ตามที ผลจากการฟังทำให้พวกเราเลือกที่จะเชื่อมต่อระหว่างเครื่องเล่นซีดีไปยังปรีแอมป์Neo 350P ด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA ตลอดการฟังทดสอบทั้งหมด  (อนึ่งผลที่ได้จากการฟังดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นข้อสรุปที่ตายตัว  เพราะมีปัจจัยที่สำคัญก็คือเครื่องเล่นซีดี ที่อาจจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันออกไปได้ )

Moon Neo 350P + 400M เปิดตัวด้วยน้ำเสียงที่มีความกลมกลืนที่ดี แรกที่สัมผัสฟังจะรู้สึกเหมือนกับว่า จะให้จังหวะที่เร่งเร้า คึกคัก แต่เมื่อฟังไปได้สักพักใหญ่ความรู้สึกดังกล่าวจะค่อยๆ จางหายไป และแทนที่ด้วยความกลมกล่อมพร้อมกับการจัดวางสมดุลของเสียงออกมาได้ดี จุดเด่นของ Moon อยู่ที่การถ่ายทอดเสียงกลางที่มีมวลเสียงที่พอเหมาะ ไม่หนา และไม่หวานจนเกินไป แต่มีตัวตน มีความมั่นคงที่เด่นชัด เป็นเสียงกลางที่มีความเปิดเผย มีความกระจ่างที่โดดเด่น ที่สำคัญก็คือ Moon สามารถจะถ่ายทอดฮาร์โมนิคในย่านเสียงกลางออกมาได้อย่างดีเยี่ยม นำเสนอรายละเอียด และหางเสียงที่ทอดตัวออกไปได้อย่างสมจริง มีความเป็นธรรมชาติอย่างเหนือชั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องของ Rebecca Pidgeon ในเพลง Auld Lang Syne / Bring It On Home To Me ที่น้ำเสียงของเธอนั้นสดใส มีความกระจ่าง แยกแยะรายละเอียด และความกังวานของหางเสียงที่ฟังมีชีวิตชีวาอย่างเป็นธรรมชาติ (ALR Jordan : The Music – Voices /iNAK 79010) หรือจะเป็นเสียงร้องของ Alison Krauss ที่มีพลังเสียงของความเป็นผู้หญิง และเด็กสาวผสมผสานกันอย่างลงตัวในสไตล์คันทรี่-โฟล์ค  Moon ถ่ายทอดน้ำเสียงของเธอออกมาได้อย่างหวานใส ไร้ที่ติดั่งแก้วเจียระไนที่มีความงดงามยิ่ง (Alison Krauss : Now That I’ Ve Found You : A Collection / Rounder CD 0325)

ตอกย้ำกันอีกครั้งกับเสียงร้องของ Tracy Chapman ที่เสน่ห์เสียงของเธอนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เสียงของเธอนั้นเข้มข้นถ่ายทอดความฝัน อารมณ์ และความรู้สึกเศร้าที่ลึกซึ้งอย่างได้อารมณ์ Moon Neo ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างไพเราะ น่าฟังอย่างโดดเด่นแบบหาตัวจับยากจริงๆ (Tracy Chapman : Tracy Chapman / Elektra 60774)

เสียงแหลมยังรักษาสมดุลเสียงโดยรวมให้มีความกลมกลืน สอดรับกับย่านเสียงกลางอย่างลงตัว เป็นเสียงแหลมที่มีมวลที่พอเหมาะ ลงตัว มีการย้ำเน้นที่ดี รายละเอียดอาจจะน้อยไปบ้าง แต่ก็ไม่มีอาการกระด้างหรือหยาบกร้านแม้แต่น้อย ปลายเสียงแหลมไม่ทอดตัวออกไปไกลนัก (Lars Erstrand and Four Brothers : Opus 3 CD 8402)

กับเสียงในย่านกลางต่ำ Moon Neo ทรีโอทั้งสาม ก็สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมวลเสียง รายละเอียด และพละกำลังที่เปี่ยมล้น แสดงถึงพละกำลังอันมหาศาลที่มีอยู่ใน 400M ในการควบคุมย่านเสียงนี้อย่างมั่นคง และหนักแน่นดีเป็นพิเศษ ความสามารถอันเอกอุของ 400M ดังกล่าว ยังส่งผลลงมาถึงย่านอัพเปอร์เบสที่หนักแน่น  มั่นคงดีเป็นพิเศษ  ควบคุมจังหวะของดนตรีได้อย่างแม่นยำ มีการย้ำเน้นที่โดดเด่น ทรงพลัง มีความลงตัว ให้ความรู้สึกถึงความเป็นดนตรีที่มีเสน่ห์อย่างน่าฟัง นี่คือความพิเศษของ Neo 400M ที่มีพละกำลังถึง 400 วัตต์ ที่สามารถสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี สำหรับเบสต่ำๆ นั้น นักเล่น นักฟังที่ถวิลหาความดุดันของเบสที่มีความหนักหน่วง และลำหักลำโค่นที่จะแจ้งแล้วละก็ คงจะไม่ใช่แนวถนัดของ Neo 400M สักเท่าไหร่ด้วยเบสต่ำของ Neo 400M นั้นจะเป็นเบสที่กระชับ รวดเร็ว ไม่ทอดตัวลงไปต่ำและเก็บตัวเร็ว ( TUTTI ! Orchestral Sampler RR-906 CD)

สำหรับสมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น Moon Neo ทรีโอ สามารถจะตรึงตำแหน่งต่างๆ ได้มั่นคง จัดวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ได้ดี สัดส่วนของซาวด์สเตจทางด้านกว้างนำเสนอได้โดดเด่นกว่าทางด้านลึก ความสามารถในการแสดงระยะห่างระหว่างดนตรีมีให้สัมผัสฟัง แม้จะไม่ถึงขั้นโดดเด่น แต่กับเพลงที่ได้รับการบันทึกบรรยากาศอะคูสติกอย่างแผ่นการแสดงสดของ Peter, Paul and Mary In Concert นั้น Moon Neo ทรีโอทั้ง 3 ก็สามารถถ่ายทอดบรรยากาศของการแสดงสดออกมาได้อย่างกลมกลืน มีความสมจริง และเป็นธรรมชาติอย่างน่าฟัง และควรค่าแก่การชื่นชม (Peter, Paul and Mary In Concert : Warner Bros. 1555-2)

สำหรับการฟังภาค DAC ที่อยู่ในปรีแอมป์ Moon Neo 350P นั้น ได้ลองใช้เครื่องเล่น Blu-Ray Panasonic DMP-BD 85 ตั้งค่า PCM Down Conversionไปที่ Off เพื่อส่งผ่านสัญญาณแบบ ‘Native’ 24 Bit Sampling Frequency ที่ 96 kHz ผ่านสายสัญญาณดิจิตอล Coaxial ของ Vampire รุ่น D-1 ไปเข้าที่ช่อง D2 ซึ่งเป็นขั้วต่อแบบ Coaxial S/PDIF แต่ Neo 350P กลับแสดงผลการ Sampling Rate ออกมาได้แค่ 48.0 kHz แทนที่จะเป็นที่ 96 kHz อย่างที่เคยลองกับเครื่องเล่นซีดีของ Moon รุ่น Neo 260D ซึ่งนับว่าแปลก พวกเราจึงยุติการฟังภาค DAC ไว้เพียงเท่านั้น

ได้ลองใช้งานช่องต่อหูฟังของ Neo 350P โดยใช้หูฟัง Audio-technica ATH-AD700 และ AKG K701 ดุลเสียงโดยรวมดี น้ำเสียงจะแจ้ง ชัดเจน แยกแยะรายละเอียดได้ดี เสียงกลางมีมวล มีตัวตนที่ดี ไม่บาง เบสมีน้ำหนัก มีพลัง กระชับ รวดเร็ว การจัดวางอิมเมจและซาวด์สเตจจะวางตัวมาทางด้านหน้า และวางวงอยู่ภายในศีรษะของเราเป็นหลัก โดยรวมแล้วให้คุณภาพเสียงที่ดีใกล้เคียงกับแอมป์หูฟังระดับต้นๆและดีกว่าช่องต่อหูฟังที่มีกับเครื่องหรือเครื่องเล่นซีดีโดยทั่วไปอยู่พอสมควร

สุดท้ายได้ลองสลับสับเปลี่ยนนำเอา Moon Neo ไปใช้กับปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่นๆ ที่อยู่ในห้องฟัง ผลที่ได้ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจเข้ากันได้ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด  ถ้าจะให้คะแนนเปรียบเทียบระหว่างปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ จะอยู่ที่ 45:55 โดยที่เพาเวอร์แอมป์ Neo 400M จะมีคะแนนมากกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วทาง SIMAUDIO ได้ออกแบบทั้งสองมาให้เป็น “คู่สร้างคู่สม” ที่มีความเหมาะสม และลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบดีแล้วครับ

สรุป

ในปัจจุบันมีเครื่องเสียงมากหน้าหลายตาวางจำหน่ายกันอย่างหลากหลาย มีทั้งเจ้าเก่า เจ้าใหม่ รวมทั้งแบรนด์อย่าง Moon ด้วยเช่นกัน  การปรับปรุงไลน์การผลิตระดับเริ่มต้นหรือ Entry Level อย่างใส่ใจ ส่งผลให้ Moon Neo มีรูปโฉมที่สวยงามมากขึ้นกว่าเดิมอยู่ไม่น้อย  ปรีแอมป์ Neo 350 P ยังมี Option เพิ่มเติมที่สามารถครอบคลุมการใช้งานได้เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบันอย่างลงตัว  นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อคำนึงถึงคุณภาพเสียงด้วยแล้ว Moon Neo ก็สามารถที่จะวางบรรทัดฐานโดยเฉพาะกับย่านเสียงกลางออกมาได้อย่างโดดเด่น เปรียบได้กับแสงเดือนที่ส่องแสงอย่างแจ่มจรัสท่ามกลางหมู่แสงดาวในยามค่ำคืน  Moon Neo 350P และ 400 Mจึงเป็นปรีแอมป์-เพาเวอร์แอมป์คู่หู ที่มีคุณค่าในตัวของตนเองและควรค่าในการหาโอกาสไปสัมผัสฟังอย่างตั้งใจดูสักครั้ง  น่าสนใจครับ !

Exit mobile version