What HI-FI? Thailand

Test Report : Magnet Technologies IRG-1200

Test Report : Magnet Technologies IRG-1200

Balanced ISO-Regulation & Line Conditioner

มงคล อ่วมเรืองศรี

            ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางด้านเครื่องกรองและควบคุมสภาพกระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน เพื่อช่วยให้ชุดเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ที่เสียบต่อใช้งานผ่านอุปกรณ์เหล่านี้สามารถสำแดงสมรรถนะการทำงานและคุณภาพเสียงออกมาได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นนั้น ดูท่าว่าจะเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นกว่าแต่เก่าก่อน เพราะว่าโลกเราทุกวันนี้มีความเจริญทางเทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้นๆ ทุกที ซึ่งไอ้เจ้าผลพวงของเทคโนโลยีดิจิตอลนี่แหละครับ ที่นำไปสู่สารพัดอุปกรณ์ใช้งานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการสื่อสารและสื่อบันเทิงรอบด้านที่ล้วนก่อให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงแผ่ออกมารบกวนจนกลายเป็น “มลพิษ” หรือ “ขยะ” ที่แทรกซ้อนปะปนมากับระบบไฟฟ้ากระแสสลับ

อีกทั้งเมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งความจำเป็นในเรื่องของการใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ตามมา เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้งานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าแรงสูง มากขึ้นๆ ทุกที ทำให้บางทีกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาก็ต้องมีการ “เผื่อ” เอาไว้เวลาไฟตก (เพราะแย่งใช้พร้อมๆ กัน) ด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุให้แรงดันไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันดูท่าว่าจะมิได้อยู่ที่ 220 โวลต์อย่างที่ทางการกำหนดมาตรฐานไว้ บ้านพักอาศัยบางที่ซึ่งอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากจะมีปัญญาเรื่อง “ขยะ” ทางฟ้าแล้ว เรื่องของ –ความไม่นิ่ง– ของแรงดันไฟฟ้า ..วูบๆ ..วาบๆ …ปรู๊ดๆ …ปร๊าด ….กรรโชก ….กระชากจนบางครั้งส่งผลบั่นทอนต่ออายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เสื่อมถอยลง และยังลดระดับสมรรถนะการใช้งานให้ด้อยลงไปอีกด้วย

แต่ก่อนแต่ไรมาผมไม่เคยคิดที่จะใช้อุปกรณ์เสริมประเภทกรองและควบคุมสภาพกระแสไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในชุดเครื่องเสียงที่ผมใช้อยู่ ไม่ใช่ว่าจะดูถูกดูแคลนหรือไม่เห็นถึงสมรรถนะที่ได้รับจากอุปกรณ์ประเภทนี้ ทว่าพอเพ่งเล็งไปในด้านคุณภาพเสียงที่ได้รับออกมาจากชุดเครื่องเสียงซึ่งใช้อุปกรณ์เสริมประเภทกรองและควบคุมสภาพกระแสไฟฟ้าร่วมด้วยแล้วไซร้ ทำไมมันจึงขาดๆ หายๆ อะไรบางอย่างไป เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้ใช้ จนกระทั่งได้มีโอกาสทดสอบทดลองใช้ IRG-1200 ของ Magnet บอกตรงๆ เลยว่า …ผมกลับขาดมันไม่ได้เสียแล้วครับ 555

 

คุณลักษณ์

ทั้งนี้ทาง Magnet Technologies ได้ระบุไว้ว่า IRG-1200 คือ อุปกรณ์ไลน์ ไอโซ-เรกูเลชัน (Line Iso-Regulation) มีหน้าที่ในการแบ่งแยกระบบไฟฟ้ากระแสสลับของชุดเครื่องเสียงหรืออุปกรณ์ระบบภาพของท่านออกจากระบบไฟฟ้ากระแสสลับอื่นๆ ที่ใช้ไฟร่วมกัน ช่วยลดทอนสัญญาณรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลให้คุณภาพเสียงที่ได้จากชุดเครื่องเสียงหรือโฮมเธียเตอร์อยู่ในระดับยอดเยี่ยม และภาพที่ได้จาก TV LCD, TV Plasma, Projector ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้น “IRG-1200” ยังทำหน้าที่ควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับให้คงที่ ด้วยวงจรโปรเซสเซอร์ ไร้ปัญหาไฟวูบวาบอันเนื่องมาจากไฟตก-ไฟเกินที่มักจะส่งผลเสียหลายประการต่ออุปกรณ์ของท่าน

หัวใจของ “IRG-1200” อยู่ที่อุปกรณ์ไอโซเลชันทรานสฟอร์เมอร์แบบเทอร์รอยดัล ค่าอิมพีแดนซ์ต่ำที่สามารถจ่ายกำลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีระบบป้องกันไฟกรรโชก-กระชาก แยกชุดเอาท์พุทสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้กำลังไฟสูงทำให้ไม่เกิดการอั้นในการจ่ายพลังงาน มีระบบแสดงผลค่าแรงดันไฟฟ้าทั้งขาเข้าและขาออกด้วยจอแสดงผลแบบดิจิตอล พร้อมทั้งระบบเตือนเมื่อแรงดันไฟฟ้า-ขาเข้ามีความผิดปกติ รวมถึงระบบตัดการทำงานอัตโนมัติในกรณีที่เกิดไฟตก – ไฟเกิน มากจนเกินกว่าช่วงที่ปลอดภัย

ดังนั้นเท่ากับว่า IRG-1200 มีหน้าที่ในการ-แยก-ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของชุดเครื่องเสียง หรือชุดโฮมเธียเตอร์ที่เสียบต่อผ่าน IRG-1200 อยู่นั้นให้ออกจากระบบไฟฟ้ากระแสสลับอื่นๆ ที่ใช้กระแสไฟฟ้าร่วมกันอยู่ในระบบไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่ออยู่กับ IRG-1200 ก็ตามที โดยที่ ระบบการกรอง (filtered) ที่อยู่ในตัว IRG-1200 จะช่วยลดทอนสัญญาณรบกวนให้น้อยลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้จากชุดเครื่องเสียงหรือโฮมเธียเตอร์อยู่ในระดับที่ดีกว่ามิได้ใช้ IRG-1200 ว่างั้นเถอะ

นอกจากนี้ IRG-1200 ยังทำหน้าที่ควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับให้คงที่ (เบี่ยงเบนไม่เกินกว่า +1%) ด้วยระบบควบคุมที่มีความแม่นยำสูง จากการใช้วงจรโปรเซสเซอร์ ทำให้ไร้ปัญหาไฟวูบวาบอันเนื่องมาจากไฟตก,ไฟเกินที่มักจะส่งผลเสียหลายประการต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเรือนอีกด้วย เรียกได้ว่าในขณะใช้งาน IRG-1200 จะทำหน้าที่ถึง 3 อย่างไปพร้อมกัน เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ใช้งานที่เสียบต่อผ่านตัวมันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ IRG-1200 ได้ถูกออกแบบให้สามารถต่อใช้งานกับเครื่องเสียงหรืออุปกรณ์ระบบภาพใดๆ ที่มีอัตราการบริโภคกำลังไฟฟ้าไม่เกินกว่า 1,200 วัตต์

รูปลักษณ์ภายนอกของ IRG-1200 มี 2 แบบให้เลือก คือแบบ-หน้าขาว-ซึ่งแผงหน้าจะเป็นอะลูมิเนียมกัดเสี้ยน ให้ความสะอาดตา กับแบบ-หน้าดำ-โดยที่แผงหน้าซึ่งก็เป็นอะลูมิเนียมกัดเสี้ยนเช่นกันจะถูกนำไปผ่านกระบวนการอะโนไนซ์ หรือรมดำ ให้ความรู้สึกเคร่งขรึม ดุดัน …เมื่อเสียบสายไฟเข้าเครื่องของ IRG-1200 (เป็นแบบ IEC 3-ขา) เข้ากับเต้าเสียบสายไฟบนผนังห้อง (ซึ่งขอแนะนำว่า เต้าเสียบนั้นน่าที่จะต่อสายดินลงกราวด์อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เกิดสภาพการอ้างอิงกระแสไฟที่ถูกต้องและส่งผลต่อสภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้นยิ่งกว่าการมิได้ต่อสายดินลงกราวด์) จากนั้นจอแสดงผลบนแผงหน้าเครื่องจะปรากฏตัวอักษร “Stb” (ซึ่งย่อมาจาก Standby นั่นเอง) เป็นสีฟ้าสดสว่างขึ้นมา โดยที่ ณ เวลานี้ IRG-1200 จะยังมิได้เข้าสู่สภาวะใช้งานนะครับ เพียงแค่-เตรียมพร้อมใช้งาน-เท่านั้น ต่อเมื่อกดปุ่ม POWER บนแผงหน้าเครื่องนั่นแหละครับ IRG-1200 จึงจะเข้าสู่สภาวะ – ON – อย่างสมบูรณ์และจะทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าขาออกไปยังเต้าเสียบเอาท์พุท ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านหลังตัวเครื่องจำนวน 3 ชุด หรือ 6 เต้าเสียบ นั่นเท่ากับว่า ผู้ใช้สามารถเสียบต่ออุปกรณ์ใช้งานผ่าน IRG-1200 ได้รวมทั้งสิ้น 12 เครื่องด้วยกัน

ซึ่งขณะที่อยู่ในสภาวะ – ON – นั้น จอแสดงผลของ ก็จะปรากฏตัวเลขแสดงค่าแรงดันไฟฟ้าทั้งขาเข้า-ทางด้านซ้าย (เพื่อบ่งบอกให้เราทราบถึงค่าแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายมาสู่บ้านเรือนของเรา ณ ขณะนั้น) และขาออก-ทางด้านขวา (เพื่อบ่งบอกถึงค่าแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่ IRG-1200 จ่ายออกมา ณ ขณะนั้น) อย่างเช่นตัวเลข 236 – 220 ก็แสดงว่า แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายมาสู่บ้านเรือนของเรา ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 236 โวลต์ ส่วนค่าแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่ IRG-1200 จ่ายออกมา ณ ขณะนั้นก็จะเท่ากับ 220 โวลต์ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ใช้จะสามารถ “เลือก” ค่าแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่ IRG-1200 จ่ายออกมาได้ 2 ค่าด้วยกัน ผ่านทางสวิตช์ OUTPUT ด้านหลังเครื่อง ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่า จะให้ IRG-1200 จ่ายแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับขาออก-คงที่-ไว้ที่ค่า 220 หรือ 230 โวลต์ก็ได้ตามที่ต้องการ หรือตามความจำเป็นในการใช้งาน

อ้อ…ทันทีที่ IRG-1200 อยู่ในสภาวะ – ON – นั้น ดวงไฟ LED ต่างๆ ที่เรียงรายอยู่บนแผงหน้าเครื่องก็จะติดสว่างขึ้นมา เพื่อบ่งบอกสถานะการใช้งานของ ณ ขณะนั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น CLEAN POWER, BALANCED MODE, PHASE CONNECTED, GROUND CONNECTED, OVER VOLTAGE, NORMAL VOLTAGE และ UNDER VOLTAGE ซึ่งแทบทั้งหมดจะติดสว่างเป็นสีฟ้าสด ยกเว้นเฉพาะ OVER VOLTAGE กับ UNDER VOLTAGE เท่านั้นที่หากติดสว่างขึ้นมาก็จะเป็นสีแดง เพื่อแสดงถึงความผิดปกติอย่างมากของไฟฟ้ากระแสสลับที่ส่งเข้ามา ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงสวิตช์พิเศษด้านหลังตัวเครื่อง SHUT DOWN FUNCTION ที่จะทำหน้าที่ในการเลือกโหมดทำงานของ IRG-1200 ว่าจะให้ทำหน้าที่อย่างไร เมื่อแรงดันไฟฟ้าตกมากๆ จนดวงไฟ UNDER VOLTAGE ติดสว่างขึ้น หรือเมื่อแรงดันไฟฟ้าสูงมากๆ จนดวงไฟ OVER VOLTAGE ติดสว่างขึ้น

ซึ่งหากเลือกสวิตช์นี้ไว้ที่ตำแหน่ง AUTO ระบบการทำงานจะทำการ “ตัด” และ “ต่อ” การจ่ายกระแสไฟฟ้าขาออกให้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไฟตกหรือไฟเกินก็ตาม แต่ถ้าหากเลือกไว้ที่ตำแหน่ง NONE ระบบการทำงานก็จะทำเพียงแค่ส่งเสียงเตือน เพื่อให้ผู้ใช้รีบทำการปิดการทำงานเครื่องทันที โดยจะไม่มีการ “ตัด-ต่อ” ให้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ด้านหลังตัวเครื่องยังมีสวิตช์ ALARM ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กับสภาวะไฟตก-ไฟเกินนี่แหละ โดยผู้ใช้สามารถเลือกให้ IRG-1200 ส่งเสียงเตือนหรือไม่ ในขณะที่มีสภาวะไฟตก-ต่ำกว่า 190 โวลต์ หรือว่าสภาวะไฟเกิน-สูงกว่า 245 โวลต์

บนแผงหลังตัวเครื่องยังมีอีก 1 สวิตช์ติดตั้งอยู่ นั่นคือ GROUND ซึ่งนับว่ามีความสำคัญพอตัวทีเดียว เนื่องเพราะจะเกี่ยวโยงกับการเลือกกราวด์ของระบบไฟฟ้าว่า จะให้เป็นแบบสมดุล (Balanced)  ที่เหมาะสำหรับระบบไฟฟ้าที่มีสายดินต่อลงกราวด์ หรือว่าจะให้เป็นแบบไม่สมดุล (Unbalanced)  ที่เหมาะสำหรับระบบไฟฟ้าที่ไม่มีสายดิน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของอุปกรณ์ใช้งานที่เสียบต่อผ่าน IRG-1200 ทั้งนี้บนแผงหน้าตัวเครื่องยังมีปุ่มกดอยู่อีก 1 ปุ่มนั่นคือ DISPLAY ซึ่งจะหน้าที่เป็น dimmer ปรับระดับความสว่างของจอแสดงผลได้ 5 ระดับด้วยกัน …อันนี้ก็สุดแท้แต่ความชอบส่วนบุคคลละครับ ว่าจะให้สว่างมาก-น้อยขนาดไหน

ในส่วนของเต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังเครื่องนั้น ได้รับการจัดแบ่งไว้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน อันได้แก่ High Power Non-Filtered, High Power Filter และ Iso-Regulated Output ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีเต้าเสียบให้ 2 ชุด – เต้าเสียบ 1 ชุด สามารถเสียบได้ 2 อุปกรณ์ เท่ากับว่า IRG-1200 รองรับการเสียบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าได้ถึง 12 อุปกรณ์พร้อมกัน !!

ในคู่มือใช้งานของ IRG-1200 ได้ระบุไว้ว่า เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดของ High Power Non-Filtered จะเหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่มีอัตราการกินไฟมาก อย่างเช่น เพาเวอร์แอมป์ หรืออินทีเกรทแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ โดยที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดนี้ จะไม่ผ่านชุดควบคุมแรงดันไฟฟ้า หรือชุดฟิลเตอร์แต่อย่างใด เนื่องจากต้องการให้ส่งผ่านกระแสไฟฟ้าได้สูงมากอย่างรวดเร็ว ทว่ายังคงผ่านวงจรป้องกันเพื่อช่วยปกป้องให้อุปกรณ์ที่เสียบต่ออยู่นั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีค่าที่กำหนดไว้สำหรับอัตราบริโภคพลังงานรวมสูงสุดที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดนี้สามารถจ่ายได้อยู่ที่ 1,200 VA

ในขณะที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดของ High Power Filtered จะเหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่มีอัตราการกินไฟมาก อย่างเช่น เพาเวอร์แอมป์ หรืออินทีเกรทแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ โดยที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดนี้ จะยังคงไม่ผ่านชุดควบคุมแรงดันไฟฟ้า แต่จะผ่านชุดฟิลเตอร์ และวงจรป้องกันเพื่อให้อุปกรณ์ที่เสียบต่ออยู่นั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีค่าที่กำหนดไว้สำหรับอัตราบริโภคพลังงานรวมสูงสุดที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดนี้สามารถจ่ายได้อยู่ที่ 1,200 VA

ส่วน Iso-Regulated Output จะเป็นชุดเต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกที่ผ่านทั้งชุดควบคุมแรงดันไฟฟ้า และชุดฟิลเตอร์ รวมทั้งวงจรป้องกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานสำหรับอุปกรณ์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพไฟตก-ไฟเกิน หรือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องการลดทอนสัญญาณรบกวน โดยมีค่าที่กำหนดไว้สำหรับอัตราบริโภคพลังงานรวมสูงสุดที่เต้าเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกในชุดนี้สามารถจ่ายได้อยู่ที่ 1,200 VA

ซึ่งนี่เท่ากับว่า IRG-1200 ทำหน้าที่เป็นทั้งอุปกรณ์ควบคุมแรงดันไฟฟ้า หรือ regulator และยังทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ปรับสภาพกระแสไฟฟ้า หรือ line-conditioner ด้วยในเครื่องเดียวกัน ทำให้สามารถลดทอนสัญญาณรบกวน (Noise) ต่างๆ ที่ปะปนเข้ามากับระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งมอบเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าได้ตรงกับค่าแรงดันไฟฟ้าใช้งานที่อุปกรณ์นั้นๆ ต้องการอย่างแท้จริง ไร้ซึ่งสภาวะแรงดันไฟฟ้าแปรปรวน-วูบๆ วาบๆ ที่อาจส่งผลลดทอนต่อสมรรถนะใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องอาศัยความเที่ยงตรงทางด้านค่าแรงดันไฟฟ้าจึงจะทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบมอเตอร์ในการขับหมุนทั้งหลาย ซึ่งต้องการ ความนิ่ง ของค่าแรงดันไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือว่า เครื่องเล่นแผ่นซีดี, ดีวีดี รวมทั้งบลู-เรย์ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

จริงอยู่ว่า โดยทั่วไปนั้นมาตรฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ตามปกติก็จะออกแบบให้อุปกรณ์นั้นๆ สามารถรองรับระดับแรงดันไฟฟ้าใช้งานได้สูงกว่า หรือต่ำกว่า ค่าแรงดันไฟฟ้าใช้งานที่กำหนดไว้ได้ราว +/- 5% โดยไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้าหากเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าแรงดันไฟฟ้าอย่างฉับพลันไม่ว่าจะสูงกว่า หรือต่ำกว่าอย่างกะทันหัน-เกินกว่า-ค่าแรงดันไฟฟ้าที่รองรับได้ ผลเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังงนั้นการป้องกันปัญหาต่อตัวอุปกรณ์โดยตรงจึงเป็นหนทางที่ดี และสมควรกระทำ

ผลลัพธ์การใช้งาน

สำหรับบางสถานที่เรื่องของไฟตก-ไฟเกินอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นแถบชานเมือง หรือละแวกที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมสภาวการณ์วูบๆ วาบๆ ของค่าแรงดันไฟฟ้าก็คงเป็นเรื่องที่ต้องพบเจอกันอยู่ประจำ แต่เรื่องของการรบกวนแทรกซ้อนทางระบบไฟฟ้าที่มีขยะ หรือมลพิษปะปนเข้ามาด้วยนั้น มักจะหนีไม่พ้นกันโดยถ้วนหน้าไม่ว่าจะอยู่ละแวกไหนก็ตามที

ในคู่มือใช้งานของ IRG-1200 มิได้มีคำแนะนำใดๆ ระบุไว้เกี่ยวกับช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าออกแต่ละชุดว่า อุปกรณ์ประเภทใดควรเสียบกับช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าชุดใด เพียงแต่ระบุไว้ในส่วนของ High Power Non-Filtered กับ High Power Filtered ว่าเหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ที่มีอัตราการกินไฟมาก อย่างเช่น เพาเวอร์แอมป์ หรืออินทีเกรทแอมป์ ก็แล้วถ้าเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาพ หรือดิจิตอลล่ะ …สมควรจะให้เสียบต่อเข้าที่ช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าชุดใดจึงจะเหมาะสม ?

ในความคิดเห็นของผมนั้นเห็นสมควรว่า เราน่าจะแยกอุปกรณ์ใช้งานที่จะเสียบต่อผ่าน IRG-1200 ให้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้ กลุ่มแรกอุปกรณ์ทางด้านภาพ และดิจิตอล กลุ่มที่สองอุปกรณ์ปรีแอมป์ หรืออุปกรณ์อะนาลอกทั้งหลาย และกลุ่มที่สามก็คืออุปกรณ์เพาเวอร์แอมป์ ซึ่งต้องใช้อัตราบริโภคพลังงานมากที่สุด ดังนั้นจึงสมควรที่จะนำไปเสียบต่อเข้ากับช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกของ IRG-1200 ที่ชุด High Power Non-Filtered ครับ สำหรับผู้ที่กริ่งเกรงเรื่องการอัดอั้นทางพลังเสียง

ส่วนอุปกรณ์ทางด้านภาพ และดิจิตอล ก็นำไปเสียบต่อเข้ากับช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกชุด High Power Filtered เพื่อให้ผ่านการกรองทิ้งของขยะและมลพิษทางไฟฟ้า รวมทั้งยังช่วยขวางกั้นการรบกวนแทรกซ้อนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงด้วยในตัว สำหรับอุปกรณ์ปรีแอมป์ หรืออุปกรณ์อะนาลอกทั้งหลายที่มักจะออ่อนไหวต่อทั้งความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้า และยังถูกรบกวนได้ง่ายจากสภาะแวดล้อมภายนอก จึงสมควรที่จะต้องปกป้องไว้มากหน่อยก็ให้เอาไปเสียบต่อเข้ากับช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกชุด Iso-Regulated Output

แต่สำหรับละแวกบ้านผมซึ่งอยู่แถวลำลูกกา คลอง 8 เชื่อไหมครับว่า ตอนกลางวันที่มิใช่วันหยุด และตอนดึกสงัดของทุกๆ วัน อันเป็นช่วงเวลาที่บรรดาบ้านเรือนใช้ไฟกันน้อยนั้น ค่าแรงดันไฟฟ้าจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 238 โวลต์เลยทีเดียว – บางทีก็ไปแตะ 240 โวลต์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็มีเหมือนกันนะครับ (ที่ทราบนี่ก็เพราะดูจากค่าตัวเลขแรงดันไฟฟ้าขาเข้าของเจ้า IRG-1200 นะครับ ก่อนหน้านี้ไม่เคยคาดคิดเลยว่า ค่าแรงดันไฟฟ้าที่บ้านผมจะสูงมากขนาดนี้ !!!)

ซึ่งในความเป็นจริงบ้านเรานั้นมีมาตรฐานค่าแรงดันไฟฟ้าใช้งาน หรือ Voltage Supply กำหนดเอาไว้ที่ 220 โวลต์ ดังนั้นค่าแรงดันไฟฟ้าที่มาถึงบ้านเรือนก็ย่อมไม่น่าจะเกิน 230 โวลต์ด้วยซ้ำ – แต่นี้ปาเข้าไปตั้งเกือบๆ จะ 240 โวลต์จึงถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ …ทำให้ผมจำต้องมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการเสียบต่อ โดยการนำเอาเพาเวอร์แอมป์มาเสียบต่อเข้าที่ช่องเสียบจ่ายไฟฟ้าขาออกชุด Iso-Regulated Output ด้วย เพื่อมิให้เพาเวอร์แอมป์ต้องเผชิญกับสภาวะไฟสูงเกินคาดขนาดนี้ ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และยังไม่รู้ว่าวันใดสภาวะทางกระแสไฟฟ้าเยี่ยงนี้จะมีโอกาสทำให้เพาเวอร์แอมป์แสนรักของผมต้องถึงกับควันขึ้นคาตา …จึงต้องป้องกันไว้ก่อนดีกว่า 555

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมตัดสินใจว่า จำเป็นต้องมีเจ้า IRG-1200 เข้าประจำการร่วมอยู่ในซิสเต็มใช้งานของผมอย่างถาวร ด้วยการใช้ประโยชน์จากความเป็น Isolated + Regulation + Conditioner ในตัวของมัน เพื่อปกป้องอุปกรณ์ใช้งานของผมให้ปลอดภัย และได้มาซึ่งสมรรถนะการใช้งานอย่างที่ควรจะเป็นนั่นละครับ ซึ่งต้องยอมรับครับว่า เพาเวอร์แอมป์ Pure Class A กำลังขับข้างละ 100 วัตต์ของผมไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงอาการ อัดอั้น ทางเสียงอย่างที่กริ่งเกรงไว้ในตอนแรก ซึ่งนั่นก็น่าจะมาจากประสิทธิภาพในการจ่ายพลังงานขาออกของ IRG-1200 ที่สูงถึง 1,200 วัตต์ !!

ยิ่งกว่านั้นการกลับเป็นว่า ได้ความฉับพลัน แม่นยำในจังหวะจะโคน-ดีขึ้น-อย่างชนิดฟังได้ถนัดหู หยิบจับแนวเพลงอะไรก็ให้ความชื่นมื่นรื่นรมย์ในอารมณ์เพลงลื่นหูว่างั้นเถอะ เรี่ยวแรงกระทบ-ปะทะก็เด็ดขาด สะใจขึ้น ความสดสว่าง-กระจ่างในรายละเอียดก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในแง่ของสภาพเวทีเสียงและอิมเมจก็เพิ่มการรับรู้ด้านความลึกได้จะแจ้งขึ้นด้วยนะครับ นี่เป็นเรื่องจริง มิได้มโนนึกเอา… หรือว่าพูดเข้าข้างใคร

สำหรับบางท่านอาจติดประเด็น หรือยังทำใจไม่ได้กับคำว่า เสียงอั้น ที่ยังคงฝังใจจำตามๆ กัน ซึ่งอันนี้โดยความจริงก็อาจจะมีส่วน “ใช่” อย่างที่พูดกันอยู่บ้าง แต่ถ้าหากท่านเลือก “ศักยภาพ” (capacity) หรือจำนวนวัตต์ของเครื่องคุมไฟ (Regulator) ใช้มากพอ หรือว่า เผื่อๆ ไว้บ้าง มิใช่จำกัดจำเขี่ยในงบประมาณเกินไป จนทำให้ได้เครื่องคุมไฟที่มีกำลังวัตต์ไม่มากพอสำหรับการใช้งานในซิสเต็มอย่างแท้จริง ทำให้อุปกรณ์แต่ละชิ้น โดยเฉพาะจำพวกแอมป์ทั้งหลายที่กินกำลังไฟ (วัตต์) มากกว่า ก็จะต้องไปแย่งชิง (ดึง) พลังงานไฟฟ้ามาให้พอกับความต้องการในการใช้งานของมัน ณ ขณะนั้นๆ ทำนองว่า กินไม่อิ่มแล้วจะทำงานออกมาดีได้อย่างไง 555

ซึ่งช่วงที่เกิดสภาพดึงกระแสไฟฟ้าระหว่างกันในขณะใช้งานนี่แหละครับ ที่จะทำให้เกิดอาการ-เสียงตื้อ-ขึ้นได้ เพราะไฟฟ้ามาไม่พอใช้ว่างั้นเถอะ ดังนั้นถ้าจะให้ดีก็ต้องคิดคำนวณกำลังวัตต์ให้เผื่อไว้สำหรับการใช้งานของทุกๆ อุปกรณ์ โดยน่าที่จะหาเครื่องคุมไฟที่มีศักยภาพมากกว่าจำนวนวัตต์รวมทั้งหมดที่ต้องใช้นั้นเผื่อไว้สักประมาณ 1.5 – 2 เท่า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาพการดึงกำลังไฟกันระหว่างอุปกรณ์อย่างไงล่ะครับ อาการ “เสียงตื้อ” ก็จะไม่เกิด …และที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของแต่ละอุปกรณ์ให้ยืนยาวขึ้น เนื่องเพราะไม่ต้องผจญกับสภาวะแปรปรวนของกระแสไฟบ้านอีกด้วยนะครับ

สรุปส่งท้าย

ขอยืนยันว่า การมี IRG-1200 ใช้งานอยู่ในระบบ จะช่วยให้ท่านอุ่นใจได้ว่า อุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์ที่เสียบต่อผ่าน IRG-1200 จะได้รับการปกป้องอย่างดีต่อทั้งสภาวะไฟตก-ไฟเกิน ด้วยระบบ Automatic Voltage Regulator ของ IRG-1200 ที่จะช่วยรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ได้ตลอดเวลาขณะใช้งาน จึงส่งผลให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เสียบผ่านอยู่นั้น สามารถสำแดงศักยภาพการทำงานออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยไม่ถูกสภาพความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้า และการถูกรบกวนแทรกซ้อนของขยะและมลพิษทางไฟฟ้ามาครอบงำ …แต่หากซิสเต็มของท่านไม่ได้ใหญ่โตโอฬารนัก MAGNET TECHNOLOGIES เขายังมีรุ่น IRG-600 ที่น่าจะลงตัวกับซิสเต็มขนาดกลางๆ โดยจะยังคงได้รับประโยชน์ในระดับที่ไม่น่าจะต่างจาก IRG-1200 ครับ

 

อุปกรณ์ร่วมใช้งาน : เครื่องเล่นแผ่นเสียง Technics SL-1200 mk III + หัวเข็ม DENON DL-103M; SUT “หม้อเขียว” ของ Peerless 4722; เครื่องเล่นซีดี Marantz CD/DA-12; ปรีแอมป์ LUXMAN C-5000a; เพาเวอร์แอมป์ LUXMAN M-07; ลำโพง Diatone DS-2000ZX; สายสัญญาณและสายลำโพงของ Van Damme

อุปกรณ์เสริม : XAV : EMX -9 (วางทับบน LUXMAN C-5000a); Entreq : Ground Box รุ่น MinimUs Silver + Earth Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1

 

ขอขอบคุณ บริษัท แม็กเนท เทคโนโลยีส์ จำกัด โทร.0-2907-7923-5 ที่เอื้อเฟื้อ IRG-1200 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้

 

Exit mobile version