What HI-FI? Thailand

Test Report: Luxman L-550AX

Test Report: Luxman L-550AX (อินทีเกรทแอมป์คลาสเอ)

สืบสานตำนานไฮเอนด์จากญี่ปุ่น

“bluebird u11”

 

เครื่องเสียงไฮเอนด์ดั้งเดิมจากญี่ปุ่นเข้ามาเปิดตลาดใหม่อีกครั้งหลังจากเคยสร้างตำนานให้กับนักเล่นฯ บ้านเราในอดีตที่ผ่านมา

Luxman เป็นเครื่องเสียงไฮเอนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่นที่มีอายุอานามการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 และเป็นเครื่องเสียงในอดีตที่วาดลวดลายขายคุณภาพแข่งกับเครื่องเยอรมันและเครื่องทางฟากยุโรป การถือกำเนิดและการจำหน่ายขยายผลมายังประเทศไทย หากเป็นผู้ฟังรุ่นดั้งเดิมคงรู้จักและเคยสัมผัสน้ำเสียงของ Luxman ในอดีตซึ่งจดจำได้เป็นอย่างดี ผมเองเคยสัมผัสเครื่องเสียง Luxman ในยุคนั้นเป็นปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ ซึ่งวางแสดงอยู่ในร้านขายเครื่องเสียงมือสอง ทุกครั้งที่ผ่านจะแวะเวียนเข้าไปรับฟังน้ำเสียงกับการถ่ายทอดของ Luxman เป็นประจำ แต่หาโอกาสครอบครองได้ยาก ด้วยปัจจัยรายได้กับการเล่นเครื่องเสียงยังไม่สอดคล้องกัน ทุกวันนี้น้ำเสียงของ Luxman ยังอยู่ในความทรงจำเสมอมา

ในตลาดโลก Luxman ยังดำเนินการจำหน่ายและผลิตเครื่องเสียงทั้งเครื่องเล่นซีดี, อินทีเกรทแอมป์ ฯลฯ อยู่ต่อเนื่อง ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นเอง Luxman ครองใจผู้ใช้งานชาวญี่ปุ่น เรียกว่าเดินไปร้านเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า Luxman มีวางให้เห็นอยู่มากมายหลายรุ่น ตลาดในต่างทวีป Luxman ดำเนินตลาดไปต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับบ้านเรา Luxman ห่างหายจากการนำเข้ามาจำหน่ายอยู่นานพอควร ส่วนมากรุ่นใหม่ที่พอเห็นใช้งานกันก็นำเข้ามาเองเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเวลานั้นอาจเป็นช่วงเงียบของ Luxman ในประเทศไทยก็ว่าได้

ปัจจุบัน Luxman ในประเทศไทยผงาดกลับมาอีกครั้งกับผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ที่เน้นการทำตลาดจากการโฆษณาและออกงานแสดง เป็นการหวนกลับมาของเครื่องเสียงไฮเอนด์จากแดนอาทิตย์อุทัยที่ผลิตและประกอบตัวเครื่องจากญี่ปุ่นแท้ๆ แน่นอนว่างานผลิตจากญี่ปุ่นส่วนใหญ่คุณภาพการผลิตรวมไปถึงการประกอบและทดสอบ มีมาตรฐานสูง เครื่องแต่ละตัวจะมีระดับมาตรฐานเดียวกัน การกลับมาในครั้งนี้คงแจ้งเกิดในนามเครื่องรุ่นเก๋าอีกครั้ง

ในไลน์การผลิตและจำหน่ายรุ่นใหม่ล่าสุดของ Luxman ผู้นำเข้าได้ส่งเครื่องเล่นแผ่นซูเปอร์ออดิโอซีดี, ซีดี และอินทีเกรทแอมป์เป็นตัวชูโรงในการกลับมาทำตลาดใหม่ นอกเหนือจากประเภทเครื่องดังกล่าว ในไลน์อัพใหม่ของ Luxman ที่ญี่ปุ่น มีเครื่องให้เลือกอีกมากมายหลายรุ่น ในครั้งนี้ผมได้หยิบยืมอินทีเกรทแอมป์ Luxman ตัวเขื่องๆ มาลองใช้งานเครื่องหนึ่งจากสองรุ่นเครื่องที่นำเข้ามาทำตลาดประเภทอินทีเกรทแอมป์คลาสเอ

 

รูปลักษณ์และการใช้งาน

Luxman L-550AX เป็นเจเนอเรชั่นใหม่หรือเรียกว่ายุคใหม่ของ Luxman เป็นการพัฒนาจากรุ่นเดิม ในไลน์อัพของตระกูล AX นี้ ออกแบบวงจรตัวเครื่องแบบคลาสเอ สไตล์การออกแบบยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมในแบบสัมผัสด้วยสายตาก็รู้ว่าเป็นเครื่องเสียงของ Luxman และมีกลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นชัดเจน ด้วยรูปร่างพื้นฐานของตัวเครื่องและแผงหน้าปัดยังคงไว้ซึ่งพื้นฐานเดิมแบบสมดุล แผงหน้าปัดสไตล์ดั้งเดิม การวางตำแหน่งต่างๆ ของการใช้งานยังวางตำแหน่งใกล้เคียงของเดิม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่ออกแบบไว้ดีแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นและยังคงไว้ในสัญลักษณ์ของยี่ห้อ Luxman

เริ่มจากแผงหน้าปัดอะลูมิเนียมสีเงินมิลเลนเนียมชิ้นเดียวไร้รอยต่อพร้อมลดระดับส่วนล่างของแผงให้ลดหลั่นลง วางปุ่มหมุนขนาดใหญ่ไว้ทั้งสองฝั่ง ปุ่มหมุนนี้มีขนาดใหญ่สีเงินโลหะเงาแวววาว ด้านขวาของเครื่องเป็นปุ่มหมุนเลือกแหล่งสัญญาณอินพุทที่มีทั้งหมดหกอินพุท เรียงลำดับจาก Line 1, Line 2, Line 3, Line 4, BAL-Line, Phono ตามลำดับ รอบๆ ปุ่มหมุนนี้มีไฟแสดงสถานะ ในกรณีที่เลือกใช้งานอินพุทช่องนั้นๆ ดวงไฟสีส้มจะติดสว่างในตำแหน่งใช้งานนั้น เมื่อเปิดเครื่องตำแหน่งอินพุทนี้ยังคงล๊อคไว้ตำแหน่งเดิมก่อนปิดเครื่อง ปุ่มหมุนนี้เองสามารถหมุนฟรีได้รอบตัวเอง ไม่ว่าจะหมุนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา ใต้ปุ่มหมุนนี้เป็นปุ่มกดขนาดใหญ่แบบสองจังหวะสำหรับกดเปิด-ปิดเครื่อง เมื่อกดปุ่มนี้ ไฟแสดงสถานะสีฟ้าจะกะพริบช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเครื่องพร้อมทำงานไฟแสดงสถานะสีฟ้านี้จะสว่างค้างและมีเสียงรีเลย์ตัดต่อทางไฟให้เครื่องพร้อมทำงาน เรียกง่ายๆ ว่ามีระบบรีเลย์หน่วงเวลาเปิดเครื่องกันการกระชากของกระแสไฟเข้าเครื่อง

ส่วนปุ่มหมุนขนาดใหญ่ปุ่มที่สองอยู่ด้านซ้ายของแผงหน้าปัด เป็นปุ่มโวลลุ่มเร่ง – ลดระดับเสียง ปุ่มนี้มีตัวเลขล้อมรอบตั้งแต่อักษรอินฟินีตี้ไปจนสุดการหมุนโวลลุ่มด้วยตัวเลข 1 ในแต่ช่วงมีตัวเลขบอกระดับเดซิเบลอยู่เป็นระยะๆ ตัวปุ่มหมุนเซาะร่องไว้เป็นตำแหน่งชี้สเกล ไม่มีไฟแสดงตำแหน่งบอกระดับการเพิ่มหรือลดเสียง ใช้เพียงขีดบอกระดับที่ปุ่มหมุนเท่านั้น ทิศทางการหมุนของปุ่มหมุนได้เพียงทิศทางเดียว ระหว่างสองปุ่มนี้ออกแบบจอแสดงผลไว้ให้สมดุลกับแผงหน้าปัด จอแสดงผลดังกล่าวเป็นวัสดุชิ้นเดียวยาวตลอดแนว และใช้สีดำช่วยที่ขอบทั้งหมดของจอพร้อมตกแต่งให้เป็นกรอบสองกรอบล้อมรอบเข็มแสดงระดับความดัง สีดำสกรีนทับไว้ที่ตัวแผ่นกระจกนี้คล้ายกับการติดฟิล์มลงไปที่จอแสดงผล ด้านบนของจอสกรีนอักษรยี่ห้อ Luxman พร้อมบอกประเภท Integrated amplifier และรุ่น L-550AX

เมื่อมองแผงหน้าปัดเข้าไปตรงๆ มีเข็มวัดระดับความดังและกำลังขับ ซึ่งเข็มดังกล่าวทำงานพร้อมกับการสวิงเสียง โดยด้านหลังหรือฉากหลังของเข็มมีสเกลสีดำและสเกลเส้นแนวนอนติดตั้งอยู่ ซึ่งตัวเลขสเกลด้านบนบ่งบอกระดับกำลังเอาท์พุท สเกลด้านล่างบ่งบอกระดับกำลังขับแต่ละช่วงในรูปแบบเดซิเบล เข็มวัดระดับทั้งสองข้างนี้มีไฟแสดงสถานะสีส้มสว่างขณะใช้งานตลอดเวลา สามารถปิดไฟแสดงผลหน้าจอนี้ได้ ระหว่างเข็มทั้งสองนี้ติดตั้งตัวรับสัญญาณของรีโมทคอนโทรลไร้สายไว้ ด้านล่างสุดของจอแสดงผล ฝังดวงไฟแสดงตำแหน่งการทำงานของเครื่องไว้ทั้งหมดเจ็ดฟังก์ชั่น เริ่มจาก Monitor, Subsonic, Mono, Stand by, Loudness, Line Straight, Separate เมื่อสั่งงานฟังก์ชั่นใดก็ตาม ไฟแสดงสถานะสีส้มจะติดสว่างขึ้น การสั่งงานในหลายฟังก์ชั่นต้องสั่งงานจากรีโมทคอนโทรลไร้สายเท่านั้น

ถัดลงมาจากจอแสดงผลชิ้นใหญ่นี้ วางปุ่มหมุนกลมลักษณะลูกบิดทั้งหมดหกปุ่มแบบสมดุลสวยงาม แต่ละปุ่มมีรายละเอียดสกรีนไว้ชัดเจนทุกปุ่ม เริ่มจากทางด้านขวาปุ่มแรกเป็นปุ่มเลือกประเภทของโฟโนที่ใช้ร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง สามารถเลือกได้ทั้ง MM, MC ปุ่มถัดมาเป็นสัญญาณ Record Out ให้เปิดหรือปิด ปุ่มถัดมาเป็นปุ่มเปิดสัญญาณกำลังขับออกไปลำโพงชุดเอหรือชุดบีหรือใช้งานทั้งสองชุดคือเอและบี พร้อมตำแหน่งสั่งปิด ปุ่มที่เหลืออีกสามปุ่มหมุนปรับแต่งเสียงทุ้มและเสียงแหลมตามลำดับยกเร่งระดับเสียงได้ +-8 เดซิเบล @ 100 Hz และ 10 kHz ตามลำดับ สุดท้ายเป็นการเลือกแชนแนลระหว่างข้างขวาและข้างซ้าย ใกล้ๆ กันเป็นปุ่มกระดุมเล็กสองปุ่มคือปุ่มสั่งงาน Line Straight, Separate และช่องเสียบหูฟัง ส่วนด้านขวามีปุ่มกระดุมเล็กสั่งงานตำแหน่ง Monitor เมื่อกดสั่งงานไฟแสดงสถานะทั้งหมดจะสว่างขึ้นชัดเจน

ด้านบนและด้านข้างของเครื่องใช้โลหะชิ้นเดียวกัน ออกแบบด้วยการพับปีกทั้งสองข้างลง และยึดไว้ด้วยสกรูหัวสี่แฉกด้านข้างๆ ละสองตัว ส่วนขอบตัวถังด้านท้ายถูกพับปีกลงเช่นกันเพื่อเป็นขอบปิดด้านท้ายเครื่องช่วงบน แผงด้านบนตัวเครื่องนี้เจาะร่องระบายความร้อนในแนวลึกไว้ทั้งหมดข้างละสามแถวในตำแหน่งของครีบระบายความร้อนของแผงเพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ทั้งสองข้าง จึงมองทะลุเข้าไปเห็นแผ่นวงจรดังกล่าว หม้อแปลงภายในตัวเครื่องวางไว้กึ่งกลางของตัวเครื่องคล้อยมาทางด้านหน้าเครื่องเล็กน้อย ด้านหลังวางตัวเก็บประจุขนาดกลางไว้ทั้งหมด 4 ตัว ภายในเครื่องพิถีพิถันการออกแบบและแยกส่วนในแต่ละภาคไม่ให้รบกวนกันและกัน ทั้งโวลลุ่มและซีเล็กซ์เตอร์ออกแบบป้องกันไว้อย่างดี

ด้านล่างของเครื่องให้ขารองรับเครื่องมาทั้งหมดสี่ตัว ด้านล่างสุดที่สัมผัสกับชั้นวางเป็นชิ้นสักหลาดติดตั้งไว้ แผงด้านล่างเจาะรูระบายความร้อนเกือบเต็มแผงตามสไตล์แอมป์คลาสเอ มองทะลุเห็นแผงวงจรและการเชื่อมต่อเส้นสายภายในตัวเครื่อง แม้จะเน้นการเปิดช่องระบายความร้อนให้มาก ตัวถังทั้งหมดยังคงไว้ด้วยความแข็งแรงและมีน้ำหนักเครื่องที่เรียกได้ว่าหนักทีเดียว ที่สำคัญความหนาของโลหะที่นำมาใช้มีความและแข็งแรงกว่าอินทีเกรทแอมป์ทั่วไป

ส่วนสุดท้ายเป็นส่วนเชื่อมต่อเครื่องด้านหลังของเครื่อง โดยเลือกการวางขั้วเชื่อมต่อไว้แถวด้านบนทั้งหมดตามแนวนอน ส่วนขั้วเชื่อมต่อสายลำโพงวางตามแนวนอนแถวล่างตลอดแนวเช่นกัน พร้อมแยกขั้วต่อไฟเข้าเครื่องไว้มุมสุดของด้านหลังเครื่องข้างขวาของเครื่อง ขั้วต่อสายไฟเอซีนี้ถอดสายไฟเอซีออกจากตัวเครื่องได้แต่ออกแบบตัวนำไว้เฉพาะขาไลน์และขานิวตรอนเท่านั้น ตัวขั้วเชื่อมต่อนี้สกรีนตัวอักษร MADE IN JAPAN ไว้ชัดเจน ส่วนขั้วเชื่อมต่ออินพุททั้งหมดแบบ RCA วางไว้ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ขั้วแรกเป็นอินพุทโฟโนซึ่งมีขั้วกราวด์แบบขันเกลียวอยู่ข้างๆ กัน ที่เหลืออินพุทของ Line 1 – 4 วางเรียงกันตามลำดับ ถัดมาจึงเป็นขั้วชุด Record Out และ Monitor ชุดถัดมาจึงเป็นขั้ว Pre Out และ Main in ซึ่งทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ได้ ชุดสุดท้ายเป็นอินพุทแบบบาลานซ์ที่ให้มาหนึ่งชุด เฟสสัญญาณปกติแบบ Euro Type และเพิ่มเติมเพื่อความสะดวกต่อการใช้งานแบบ American Type โดยติดตั้งปุ่มกดสองจังหวะเป็นเฟสสัญญาณจากขั้ว 2 และ 3 เป็น Hot หรือ Cool หากใช้งานแบบ Euro Type เป็นเฟสปกติไม่ต้องกดปุ่มเลือกเฟสอยู่ในตำแหน่ง Normal Phase

ส่วนชุดเชื่อมต่อสายลำโพงออกแบบมาทั้งหมดสองชุด กำหนดเป็นชุดเอและชุดบี ซึ่งการใช้งานระหว่างขั้วเชื่อมต่อทั้งสองชุดนี้มีข้อควรระวังในการใช้งานครบทั้งสองชุด จำเป็นต้องดูค่าความต้านทานของลำโพงที่ร่วมใช้งานด้วย เพื่อป้องกันการเสียหายของภาคขยายในตัวเครื่อง ทั้งขั้วต่อสายลำโพงและขั้วเชื่อมต่อสัญญาณอินพุท แข็งแรงแน่นหนาและชุบทองเงาแวววาว เสียบเชื่อมต่อสะดวกต่อการใช้งาน ขั้วเชื่อมต่อสัญญาณอินพุททั้งหมด ให้จุกยางผสมสีเทาปิดไว้ทั้งหมด หากใช้งานชุดใดจึงถอดออกเท่านั้น ชุดที่เหลืออุดปิดไว้เช่นเดิม ด้านซ้ายสุดของเครื่องสกรีนยี่ห้อ, รุ่น, การใช้พลังงานและข้อควรระวังไว้ครบถ้วนเช่นกัน

การออกแบบวงจรใช้ทรานซิสเตอร์ชนิดไบโพลาร์และอุปกรณ์ออดิโอเกรดชั้นดี วงจรเป็นแบบคลาสเอทำงานร่วมกับหม้อแปลงคุณภาพสูงแบบ EI-Core ที่จ่ายกระแสได้สูง ผนวกกับคาปาซิสเตอร์คุณภาพสูงความจุ 10,000 ไมโครฟารัด มีให้มาทั้งหมดสี่ตัว โวลลุ่ม Lecua 1000 คุณภาพสูง ส่งผลให้การส่งถ่ายสัญญาณทุกระดับความดังละเอียดอ่อนและแม่นยำ ออกแบบป้องกันคลื่นรบกวนประเภท EMI และ RFI ตัวเครื่องบรรจุภาคขยายเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั้งแบบ MM และ MC มาครบครัน สามารถใช้งานได้ทั้งโหมดปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ อีกทั้งมีฟังก์ชั่นการชดเชยเสียงไว้ทั้งย่านเสียงทุ้มและเสียงแหลม ทั้งหมดของการออกแบบวงจรแต่ละส่วนระบุไว้ในคู่มือของ Luxman L-550AX ด้วยความชัดเจน

Luxman L-550AX บรรจุมาในกล่องกระดาษอย่างดีสองชั้น กล่องด้านนอกและกล่องด้านในสกรีนยี่ห้อและรุ่นไว้เด่นชัด ภายในกล่องให้รีโมทคอนโทรลไร้สายทำจากอะลูมิเนียมอย่างดีรุ่น RA-17 มาหนึ่งอัน สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นซีดีได้ด้วย ตัวเครื่องห่อหุ้มไว้ด้วยผ้ากันรอยสีขาวนุ่มนวล นอกเหนือจากนั้นอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง มีคู่มือหนึ่งเล่มบอกรายละเอียดและค่าระบุที่สำคัญมาหนึ่งชุด สายไฟเอซีสำหรับเสียบเข้าเครื่องหนึ่งเส้น ตัวรีโมทบรรจุมาในกล่องกระดาษเล็กๆ ภายในอีกกล่อง เป็นการบรรจุภัณฑ์ทีดีมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับเครื่องฝรั่งไฮเอนด์ทั้งหลาย

Luxman L-550AX มีขนาดและสัดส่วน กว้าง 440 สูง 178 ลึก 454 มิลลิเมตร น้ำหนัก 24.3 กิโลกรัม (ไม่รวมแพ็คเกจ) นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร 0-288-08240-6, ราคาโดยประมาณ     บาท (พฤษภาคม 2556)

ข้อมูลจำเพาะอินทีเกรทแอมป์ Luxman L-550AX

ช่องสัญญาณขาเข้า 7 ช่อง                           Line 1-4, BAL-Line, Phono, Power in

ช่องสัญญาณขาออก 3 ช่อง                         1Pre out, 1 Rec Out, 1 Headphone

สัญญาณเสียงต่อสัญญาณรบกวน                 105 เดซิเบล

ความเพี้ยนโดยรวม @ 20-20 kHz                0.007 %

กำลังขับต่อเนื่องที่ 8 โอห์ม                            power output into 8 ohms 20 วัตต์/ข้าง

กำลังขับต่อเนื่องที่ 4 โอห์ม                            power output into 4 ohms 40 วัตต์/ข้าง

ตอบสนองความถี่                                           Frequence Response(-3dB)       20 เฮิรตซ์ – 100 กิโลเฮิรตซ์

ความต้านทานขาเข้า (Line)                          42 กิโลโอห์ม

ความไวขาเข้า Sensitivity (Line)                 180 มิลลิโวลต์

ความต้านทานขาเข้า (Balance)                     79 กิโลโอห์ม

ความไวขาเข้า Sensitivity (Balance)            180 มิลลิโวลต์

หยุดการสั่งค้างกรวยลำโพง                            Damping factor   160

อัตราการการใช้พลังงาน                                  230 วัตต์

แรงเคลื่อนไฟฟ้า Power Source                    AC 230 โวลต์ / 50 เฮิรตซ์

ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง

Luxman L-550AX เครื่องที่ได้รับมานี้ใหม่เอี่ยมแกะกล่อง เรียกว่าต้องบรรจงเปิดด้วยความระมัดระวังเช่นที่ผ่านมา ไม่มีแม้กระทั่งร่องรอยการเสียบใช้งานใดๆ คงได้รับเครื่องมาจากญี่ปุ่นและเปิดออกดูเพียงเท่านั้น เมื่อลองใช้งานในครั้งแรกก็ยืนยันได้ทันทีว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้เป็นเครื่องใหม่ตามที่เห็น ชุดเครื่องเสียงที่ใช้งานจริงมีอยู่สองชุดหลักๆ ดังนี้

ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่นซีดี ARCAM : FMJ CD23 dCS Ring DAC plus HDCD, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Luxman : L-550AX, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : The one 20 year Special Limited Edition, สลับกับลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edittion จัดวางบนขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว, สลับกับขาตั้ง Partington Super Dreadnought สูง 24 นิ้ว สีแกรไฟต์ ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross Bi-wire สีเขียวท่อหดเทายาว 2 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีของเครื่องเล่นซีดี JPS Labs : Aluminata Reference Power Cord ยาว 2 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate 381 ช่องไม่มีดาว อีกช่องมีดาวเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3

ชุดที่สองประกอบด้วย เครื่องเล่นซีดี Ayre Acoustic : CX7e, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Luxman : L-550AX, ลำโพงวางขาตั้ง ProAc : Response D Two, สลับกับลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : The one 20 year Special Limited Edition, ลำโพง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edittion, ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott prototype (Tweeter TDL) วางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Audio CLEAR CG (XLR) รุ่นใหม่ล่าสุดขั้วโรเดียมผสมทองไม่มีท่อหดรัดขั้วยาว 1.5 เมตร สลับกับสาย X-Wire Rhythm ยาว 1 เมตร (XLR) เข้าอินทีเกรทแอมป์, สายลำโพง Cardas Audio Golden Reference ยาว 2.5 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีของเครื่องเล่นซีดี JPS Labs : Aluminata Reference Power Cord ยาว 2 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate 381 ช่องไม่มีดาว อีกช่องมีดาวเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวด์ Acoustic Revive RGC-24 ไว้ที่อินทีเกรทแอมป์

เครื่องเล่นซีดีจัดวางบนชั้นวางของ Target Audio : B1, อินทีเกรทแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ Solid Tech แท้, ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานสฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน พยายามแยกสายต่างๆ ให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณด้วยก้อนอิทธิเจ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com) สายลำโพงรองไว้ด้วยตัวรองสาย Cable Insulater Acoustic Revive RCI-3H ข้างละสองตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วยบล็อคไม้ Cardas ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทีเกรทแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic REVIVE : QR8 ทั้งหมดแปดจุดแปดตัว

ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมดสี่แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมดสี่คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพงสองคู่ ด้านข้างลำโพงสองคู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HIFI Club หนึ่งคู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่(สีเทา) รูมจูน Michel Green อีกหนึ่งคู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ. จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้งสามตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย,ขวาและกึ่งกลางอย่างละหนึ่งตัวเอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนท์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง HIFI HOUSE) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1 ลูก

ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8 ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่ โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20 องศา โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซต์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน

ผลการลองฟัง

Luxman L-550AX เครื่องนี้ใหม่เอี่ยมแกะกล่องส่งจากญี่ปุ่นเข้ามายังผู้จำหน่ายในประเทศ พร้อมถูกส่งต่อมายังห้องฟังของผมด้วยสภาพใหม่เอี่ยมอ่องเช่นกัน เมื่อเริ่มบรรจงใช้งานในเบื้องต้น แน่นอนว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายยังคงไม่อิ่มกับกระแสไฟหรือยังไม่เข้าสู่ภาวะการทำงานปกติที่สามารถส่งถ่ายกระแสและแรงเคลื่อนด้วยความคงที่ การใช้งานเริ่มแรกจึงไม่คาดหวังอะไรกับแอมป์โซลิดสเตทคลาสเอเครื่องนี้ เท่าที่ผ่านเครื่องเสียงไฮเอนด์ของญี่ปุ่นมาหลายเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเภทอินทีเกรทแอมป์, เครื่องเล่นซีดี ฯลฯ ล้วนต้องการเวลาในการเบิร์นอินอยู่นานเกินหลักสองร้อยชั่วโมงเศษไม่น้อย อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้คงอยู่ในจำพวกเดียวกันกับเครื่องเสียงไฮเอนด์ของญี่ปุ่นที่ผ่านมา

ด้านกายภาพหลังจากเครื่องอยู่ในโหมดอุ่นเครื่องแล้ว ตัวเครื่องให้อุณภูมิอุ่นมือเล็กน้อย แต่หากเดินเครื่องให้กระแสทำการไบอัสทรานซิสเตอร์แล้ว ตัวเครื่องจะส่งผ่านความร้อนออกมายังตัวถังเครื่องพอประมาณ แต่ไม่ถึงขนาดร้อนเช่นกับเตาปิ้งขนมปัง การใช้งานสะดวกด้วยรีโมทคอนโทรลไร้สายสั่งงานได้ครอบคลุมหลายฟังก์ชั่น ในการใช้งานจริงครั้งนี้ เน้นให้เครื่องทำงานในตำแหน่ง Line Straight ที่ไม่สามารถปรับแต่งเสียงได้และไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่นชดเชยและยกระดับเสียงย่านใดย่านหนึ่งได้ เน้นการฟังแบบบริสุทธิ์นิยมของเครื่องเป็นหลัก น้ำเสียงเริ่มแรกของ Luxman L-550AX นี้ เด่นไปทางโทนเสียงสูงที่ให้รายละเอียดออกมาในแนวสดและใสในปริมาณมาก เสียงฟุ้งกระจาย ขาดการจัดระเบียบของเสียงและการแบ่งช่องว่างของเสียง หางเสียงสะบัดตัว ฟังครั้งแรกแล้วไม่เกิดความประทับใจใดๆ เลย

นอกเหนือจากน้ำเสียงในแนวทางสดใสโปร่ง เนื้อเสียงด้านกลางลงมาทุ้มกลับบอบบางและไม่มีปริมาณให้สัมผัสเท่าใดนัก เสมือนมีแต่ย่านเสียงกลางสูงเท่านั้น อีกทั้งพยายามผลักดันให้วงทั้งหมดเดินหน้าเข้ามาหาจุดนั่งฟัง เสมือนเกิดความอึดอัดในการฟังอยู่ไม่น้อย ชิ้นสเกลและชิ้นดนตรีทั้งหมดมีขนาดใหญ่โต ไม่เน้นช่องว่างช่องไฟให้จำแนกแยกแยะออกจากกัน หากชี้ชัดประเด็นเหล่านี้ในการเลือกซื้อเลือกหาอินทีเกรทแอมป์สักเครื่อง Luxman L-550AX คงถูกคัดออกตั้งแต่แรกของการใช้งานกันเลยเชียว อย่างเพิ่งด่วนสรุปและตัดสินบุคลิกของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ รอให้ผ่านพ้นระยะเบิร์นอินไปก่อน จึงชี้ชัดบุคลิกกันอีกรอบ

การใช้งานจึงดำเนินไปด้วยความต่อเนื่อง ทั้งต่อผ่านระบบกล่องรับสัญญาณดาวเทียม และฟังเพลงสลับไปพร้อมกับการเบิร์นอินด้วยแผ่นเบิร์นอินระดับโลกของ Purist Audio Design Rev-B ทุกครั้งหลังจากการฟังปกติ เวลาล่วงเลยมาเกินห้าสิบชั่วโมงเศษ ทุกอย่างยังคงกร้าวแข็งและขาดระเบียบเช่นเดิม การใช้งานจึงดำเนินต่อไปจวบจนชั่วโมงการใช้งานเกินหนึ่งร้อยชั่วโมงเศษ ทิศทางเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย การจัดระเบียบของตัวเสียงแต่ละตัวแยกแยะออกจากกันได้ดีขึ้น เกรนเสียงละเอียดมากขึ้น ชิ้นดนตรีที่เคยฟังว่าเป็นเส้นและสากเสี้ยนลดน้อยถอยลงไปมา เนื้อเสียงและมวลเสียงด้านเสียงทุ้มให้ปริมาณพร้อมย้ำเน้นได้ดีขึ้นจากเดิมไปมาก แต่ก็ยังไม่ถึงระยะเวลาในการใช้งานจริง เพราะทุกครั้งที่เปิดเครื่องมาใหม่ อาการเริ่มแรกของการฟังยังมีให้สัมผัสอยู่เสมอ

หลังจากใช้งานไปเบิร์นอินไปเกินสองร้อยห้าสิบชั่วโมงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสมผัสได้ง่ายดายยิ่งนักและคงเป็นช่วงเวลาที่พร้อมสุดของเครื่อง เนื่องจากทุกครั้งที่เปิดเครื่องใหม่ ทุกอย่างเข้าที่คงเส้นคงวาเช่นเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้จะใช้งานอย่างต่อเนื่องไปยาวนาน เป็นเวลาที่เครื่องพร้อมใช้งานถึงที่สุด เริ่มจากรูปวงให้สัดส่วนความสูงต่ำในรูปวงได้สมเหตุผล พร้อมทั้งตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีทั้งหมดไว้ตามจุดกำหนด ในช่วงที่ใช้กระแสสูงเข็มแสดงกำลังขับตีไปเพียงกึ่งกลางของสเกลเท่านั้น แต่รูปวงและชิ้นดนตรีภายในวงยังกำหนดไว้แน่นสนิทเช่นเดิม ด้านความสูงของเครื่องเป่าจำพวกแซกโซโฟนม้วนเสียงลงพอประมาณแล้วล่องลอยไปเกือบจรดเพดาน เน้นให้เสียงเด่นชัด พอมีบรรยากาศรอบตัวเสียงอยู่บ้าง พื้นเสียงเข้าข่ายสะอาด [Arne Domnerus : Antiphone Blues / proprius PRCD 7744] แรงปะทะในจังหวะแรกของการกระแทกลมหายใจเป่าเข้าไปย้ำเน้นรุนแรงและต่อเนื่องไปจนจางหาย

เมื่อพิจารณาด้านกว้างของรูปวง ขยายตัวออกพอประมาณ เรียกว่าเลยด้านข้างลำโพงออกไปกึ่งกลางระหว่างผนังด้านข้างกับผนังของลำโพง สัดส่วนด้านลึกไม่ทะลุทะลวงกำแพงมากนัก ให้สัดส่วนสมดุลสำหรับด้านกว้างและด้านลึกนี้ โดยด้านลึกนี้จะเริ่มจากด้านหน้าของแนวระนาบลำโพงประมาณหนึ่งแถวเข้าหาจุดนั่งฟัง จากนั้นแถวที่สองและสามจึงลดระดับลงในด้านหน้าของผนังลำโพง แถวต่อไปจึงไม่เน้นให้ลึกเข้าไปจนสุดโถง ทั้งหมดจัดวางแถวไว้ตามระยะตามช่องไฟ ช่องไฟในแต่ละแถวแต่ละชั้นดนตรีใกล้ชิดกันพอควร เป็นการแยกแยะชิ้นดนตรีตามลักษณะชิ้นดนตรีที่ใหญ่พอควรแต่คงไว้กับสมดุลของรูปวงทั้งสองด้าน อัลบั้ม [POSTCARDS : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] ชี้ชัดประเด็นนี้ได้เด่นชัด รูปวงที่ได้จึงไม่ลึกในทรงครึ่งวงกลมมากนัก เน้นให้คล้อยหลังเพียงเล็กน้อย

กับอัลบั้มร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวด [Now the Green Blade Riseth / proprius PRCD 9093] น้ำเสียงสดใส นำเสนอออกมาด้วยความกระจ่างชัดใสเป็นหลักไม่เน้นความอบอุ่นมากนัก มีสีสันในแนวเชิงสดใสและเด่นชัดของเสียงขับร้องพร้อมเสียงร้องประสานเสียง พร้อมส่งบรรยากาศเข้าร่วมในความชัดใสของน้ำเสียง พร้อมทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดทั้งหมดเช่นเสียงขับร้องของนักร้องชายนักร้องหญิงและเด็กแยกออกจากกัน สเกลใหญ่โตในแนวทางความสดใส ในความชัดใสนี้เป็นความชัดเจนที่ให้เกรนเสียงเข้าข่ายละเอียด ทำให้ฟังได้เพลิดเพลินสดใสตามแนวทางการนำเสนอ

เมื่อพิจารณาเสียงจากเปียโนและเครื่องเคาะโลหะต่างๆ ให้ความกังวานและจำแนกรายละเอียดในตัวเสียงที่เด่นชัด บรรยากาศรายรอบตัวเสียงเด่นชัดในแนวทางชัดใส นำเสนอออกมาให้ฟังได้เพลิดเพลินตามแนวทางของความชัดเจน ตัวเสียงเข้าข่ายสะอาดเกลี้ยงเกลาพอประมาณ บ่งบอกได้ด้วยอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสริมเติมกับจังหวะแรกของเครื่องดนตรีที่ปะทะออกมา ให้แรงปะทะชัดเจนเหมาะสมมากกว่าผ่อนปรนย้ำเน้นจังหวะแรกให้กระแทกกระทั้นเสมอ หลังจากจังหวะแรกกระทบแล้ว มวลเสียงทั้งหมดคงความใหญ่โตเช่นเดิม และควบแน่นต่อเนื่องกลมกลึงพร้อมทอดหางเสียงไว้ตามจังหวะเวลาจึงจางหายไปด้วยความราบรื่น

เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องสายและเครื่องสีต่างๆ อัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] นำเสนอออกมาด้วยความสดใส หางเสียงทอดตัวได้ไกลในแนวทางราบรื่นและตามจังหวะดนตรีพร้อมให้ความฉ่ำหวานในแนวสดใสโดยที่ฐานเสียงมีความอิ่มเอิบเสมอสมานกันไปต่อเนื่อง ในความชัดใสนี้ยังกำหนดและควบคุมลีลาตามท่วงทำนอง เสียงไวโอลินมีน้ำหนักย้ำเน้นชัดใสพร้อมปล่อยหางเสียงให้เป็นอิสระต่อกัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นำเสนอออกมาเด่นชัดมาก จำแนกออกมาด้วยปริมาณมาก เรียกว่าบันทึกอะไรเข้ามาก็พร้อมส่งผ่านถอดออกมาได้มากเช่นกัน เป็นการนำเสนอด้วยความโดดเด่น เครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเครื่องสายอื่นๆ นำเสนอออกมาดังที่กล่าวไว้ครบถ้วน เน้นให้ชัดใสเป็นหลักด้านเสียงแหลมและเสียงกลางแหลมทั้งหมดจึงสดใส โปร่ง กระจ่าง พร้อมจำแนกรายละเอียดในการบันทึกแบบดิบๆ จากอัลบั้ม [The Fi / Analogue Production SAMPLER] ทุกรายละเอียดเด่นชัดมากทีเดียว

พิจารณาเสียงแหลมทั้งหมดของอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD II] อีกครั้ง การขับดันให้นำเสนอออกมาชัดใสไม่รุกเร้าเกินพอดี ให้ความกังวานของเสียงรายล้อมตัวโน้ตต่างๆ ในแนวทางโปร่งใส กับแทร็คที่มีจังหวะเวลารุกเร้ารวดเร็ว (แทร็คที่ห้าอัลบั้มเดียวกัน) จัดระเบียบนำเสนอออกมาให้ฟังโดยจำแนกรายละเอียดของดนตรีต่างขนาดและต่างประเภทออกมาอิสระพร้อมความต่อเนื่องของการไล่ลำดับใหญ่เล็กของขนาดสเกล หางเสียงแต่ละตัวเป็นอิสระต่อกัน พื้นเสียงทั้งหมดมีความสงัดพอเหมาะ เป็นแอมป์คลาสเอที่ให้ความสดใสและให้รายละเอียดย่านเสียงแหลมทั้งหมดได้สดใสพร้อมปริมาณจำนวนมาก นับว่าเป็นแนวทางการนำเสนอให้ตอบสนองกับยุคสมัยใหม่แตกต่างจาก Luxman ดั้งเดิมไปพอประมาณ

เมื่อนำเอาอัลบั้มชั้นครูสำหรับการบันทึกที่ยอดเยี่ยม [CANTATE DOMINO / proprius Glod CD PRCD 7762] แฝงดนตรีคลาสสิกอยู่ครบถ้วน ปลดปล่อยเสียงขับร้องให้ชัดใสพร้อมเผยรายละเอียดในแนวทางความถี่สูงๆ และเสียงที่แผ่วเบาของเสียงกลางผสมเสียงแหลมในปริมาณมาก ช่วงขับร้องในจังหวะโหมขึ้นไปตอบสนองได้รวดเร็วต่อเนื่อง แยกแยะทิศทางและรายละเอียดได้ดีสม่ำเสมอ บรรยากาศรอบตัวเสียงในแนวโปร่งใสมีปริมาณไม่มากเท่ากับความสดใสของตัวเสียงหลัก เน้นเสียงหลักให้ชัดใสเป็นที่ตั้ง ย่านเสียงแหลมตอนกลางไปยันเสียงแหลมสูงสุดของอัลบั้ม [Carol Kidd : ALL MY TOMORROWS/ALOI Record] สดใสเด่นชัดขึ้นมา เน้นสมดุลเสียงให้กลมกลืมมากที่สุดทุกช่วงความดัง กับเแนวเพลงขับร้องดนตรีน้อยชิ้นในแนวขับร้องนี้ เสียขับร้องทั้งหมดชัดเจนสดใสในทุกอักขระ ตามแนวทางของน้ำเสียงชัดใสอมหวานตลอด โดยที่ฉากหลังก็เด่นชัดเทียบเคียงกันไป

แนวเพลงขับร้องของนักร้องหญิงอัลบั้ม [SNOW ROSE Ax-SN04.01] ขับร้องด้วยเสียงสดใส ชัดเจน ไม่แหบแห้ง ให้ความจริงจังในการร้องเพลงเสมือนใส่ชีวิตจิตใจในการขับร้องเข้าไป มีความต่อเนื่องของเสียงขับร้อง หางเสียงจากการบันทึกมีปลายๆ เสียงคมแข็งเล็กน้อย แต่พยายามจัดระเบียบของปลายเสียงซิบๆ ให้ราบรื่นได้บ้างเพื่อให้ฟังได้สดใสและไม่ห้วนสั้นเกินไป ตัวเสียงขับร้องนอกจากชัดใสโดดเด่นแล้ว ยังแฝงความหวานอยู่เสมอตามแนวทางเครื่องคลาสเอรุ่นใหญ่แต่ความหวานของเสียงขับร้องนี้ยังมีขนาดของดนตรีชิ้นอื่นๆ เสนอออกมาใหญ่โตใกล้เคียงกัน เสมือนเน้นจูนให้เสียงชัดเจนสดใสและขนาดปริมาณใหญ่โตตามกันไปด้วย ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานความหวานใสกับความสมดุลระหว่างเสียงในแต่ละย่าน จึงฟังได้เพลิดเพลินมากกว่าราบเรียบแบบไร้สีสรร

เสียงขับร้องอีกอัลบั้มของ [CLAIR MARLO : LET IT GO Sheffield Lab CD29] ให้สเกลใหญ่โต บรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องสัมผัสได้ต่อเนื่องเป็นบรรยากาศในแนวโปร่งแสงโปร่งใส พร้อมการขับร้องในแนวทางที่มีชีวิตชีวา ตอบสนองจังหวะดนตรีขับร้องออกมาทันท่วงทีเสมอและเน้นความสดใสของเนื้อเสียง ควบคุมน้ำหนักเสียงในแต่ละย่านได้ต่อเนื่อง ตอบสนองสัญญาณฉับพลันด้วยความรวดเร็ว ไล่เรียงลำดับเสียงตั้งแต่หัวเสียงตัวเสียงและหางเสียงสอดคล้องตามเวลาต่อเนื่องกัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ละแถวจำแนกออกมาได้มากแบบจับต้องได้ ใกล้ชิดกันบ้างในแต่ละรายละเอียด

ตอกย้ำความชัดใสอีกครั้งจากอัลบั้มขับร้องของ [FAMOUS BLUE RAINCOAT / JENNIFER WARNES Private Music] เสียงขับร้องสดใสและอมหวานเสมอ ให้บรรยากาศรายล้อมตัวเสียงอยู่ประปรายบนพื้นฐานเสียงขับร้องในแนวสดใสสม่ำเสมอ โดยสัดส่วนระหว่างความชัดใสโดดเด่นกว่าบรรยากาศอยู่เล็กน้อย รายละเอียดชิ้นดนตรีกับเสียงขับร้องเด่นชัด เสียงขับร้องผ่อนหนักผ่อนเบารวมไปถึงเสียงลมหายใจไล่ลำดับเสียงทั้งช่วงหายใจเข้าและหายใจออกได้ชัดเจน นอกจากนั้นเสียงขับร้องของ [AMANDA McBROOM : DREMING/Gecko Record] ให้บรรยากาศรอบๆ ตัวเสียงของแนวทางชัดใสพร้อมปล่อยหางเสียงจางหายไปด้วยความราบรื่น มวลเสียงให้ขนาดใหญ่และรักษาความสมดุลให้พอเหมาะสมดุลกัน จังหวะแรกของเครื่องดนตรีประเภทนี้เปล่งเสียงออกมาให้แรงปะทะแรกย้ำเน้นชัดเจน จากนั้นจึงทอดตัวเสียงและปล่อยหางเสียงออกไปต่อเนื่อง

นับว่าแนวทางเสียงขับร้องของนักร้องหญิงไปในทางเดียวกันกับน้ำเสียงของเครื่อง ข้ามมากับเสียงขับร้องของนักร้องชายในแนวทางย้ำเน้นความถี่ย่านกลางต่ำจากอัลบั้ม [Livinton Tyler : ink / Chesky Record JD162] ตัวเสียงขับร้องสดใสและใหญ่โต สเกลเสียงเครื่องดนตรีสมดุลกลมกลืนกันเสียงขับร้อง ตัวเสียงหลักเด่นชัดและทอดหางเสียงไปอิสระจึงค่อยๆ เก็บตัวตามจังหวะเวลา ตัวเสียงขับร้องให้บรรยากาศห้อมล้อมอยู่ต่อเนื่องในแนวทางโปร่งใส กำหนดลมหายใจเข้าออกชัดเจนพร้อมชีวิตชีวาและให้รายละเอียดปลีกย่อยจำแนกมามาก เสียงขับร้องแบ่งแยกคอนทราสต์ได้ดี เทียบเคียงกับไดนามิกเร้จน์สำหรับเสียงแผ่วเบาและเสียงสวิงดังขึ้นต่อเนื่องและเด่นชัด ในหลายแทร็คของอัลบั้มนี้บ่งบอกทั้งไดนามิก และคอนทราสต์ของจังหวะเสียงขับร้องได้ดี เป็นการนำเสนอในแนวทางออดิโอไฟล์ผสมผสานกับแนวทางไฮไฟ

เสียงขับร้องของนักร้องชายอีกอัลบั้มในแทร็คที่หก [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ให้น้ำหนักเสียงหนักแน่นย้ำเน้น หัวเสียงมีพลังพอเหมาะ สเกลของปากนักร้องใหญ่โตเล็กน้อย การร้องประสานเสียงแยกแยะกันอิสระและไม่ล้ำหน้าเกินเสียงหลักแต่มีขนาดใหญ่โตตามไปกับเสียงหลัก ระดับเสียงของนักร้องทั้งหมดตรึงไว้ตามตำแหน่ง หางเสียงนักร้องจางหายไปด้วยความราบรื่นรวดเร็ว การสไลด์สายกีตาร์และการรูดสายกีต้าร์เด่นชัด น้ำหนักความอ่อนแก่หนักเบาของการเล่นกีตาร์เด่นชัด ให้ความเพลิดเพลินและไม่มีอาการเร่งรีบใดๆ รายละเอียดของแต่ละเสียงในแถวถัดไปพอจำแนกและไล่ลำดับและความชัดใสตามสมควร ส่วนที่ลึกเข้าไปจนสุดโถงไม่โดดเด่นมากนัก เน้นความสดใสในแถวแรกไปถึงสองสามแถวเป็นหลัก

กับการลองพละกำลังของแอมป์คลาสเอ 20 วัตต์ ด้วยอัลบั้ม [Rain Forest Dream / SAYDISC CD-SDL384] เสียงแรกกระทบทุกจังหวะของการหวดกลองลงไปให้น้ำหนักที่เหมาะสมกระชับควบแน่น ควบคุมกรวยลำโพงให้เคลื่อนที่ได้ตามจังหวะของเพลงในระดับความดังปกติโวลลุ่มราวสิบนาฬิกา ทุกครั้งของการหวดไม้กลองลงไปเสียงอื่นยังคงรักษาสเกลและสัดส่วนไว้พร้อมรูปวงคงที ยังรับมือในเรื่องการอัดฉีดกระแสได้พอไหว เสียงกลองมีขนาดใหญ่โต ไม่มีการบวมเบลอใดๆ ออกมา การหวดไม้กลองในจังหวะแรกเฉียบขาด ไม่ยั้งมือในการหวด เสียงทุ้มย้ำเน้นหัวโน้ตชัดเจน เมื่อสิ้นสุดการหวดไม้กลองลงไปตัวเสียงยังควบแน่นกลมกลึงแบ่งแยกตัวเสียงเริ่มแรก ตัวเสียงหลัก และหางเสียงผ่อนปรนลงจนจางหายไป ในทุกจังหวะที่หวดกลองลงไปแอมป์ยังอัดฉีดกระแสป้อนได้ดีอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากจอแสดงผลที่เข็มชี้สเกลอยู่ในระดับเกือบสูงสุดแต่ยังส่งพลังได้อยู่

ลองอีกครั้งกับเสียงกลองใบใหญ่ของอัลบั้ม [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] เสียงหนังกลองตึงเด่นชัดเช่นเดิม ให้เสียงสะท้อนพร้อมเสียงแรกกระทบออกมาให้ได้ยินด้วยน้ำหนัก เสียงทุ้มไม่โด่งล้ำหน้าย่านเสียงใด ยังคงให้ความสมดุลของย่านเสียงทุ้มนี้กับเสียงย่านอื่นๆ ได้ดี ขนาดของตัวเสียงทุ้มเน้นให้มีสเกลใหญ่โต แผ่ตัวเสียงออกไปครอบคลุมโถงของวงได้เต็มตำแหน่งของวงที่กำหนดไว้ ฟังได้เพลิดเพลินพร้อมจังหวะจะโคน ด้วยกำลังขับและกำลังสำรองในรูปแบบคลาสเอ การขับดันลำโพงวางขาตั้งกินวัตต์ยังร่วมใช้งานได้แต่ไม่ถึงกับชำแหละหรือจำแนกจนหมดเปลือก การถ่ายทอดเสียงทุ้มจากเหล่าเครื่องดนตรีไม้ มีทั้งเสียงแรกกระทบและเสียงสะท้อน ชำแหละออกมาจนครบถ้วน ทั้งหัวโน้ต ตำแหน่ง น้ำหนัก อัลบั้ม [TakeDake With Neptune : ASIAN ROOTS/Denon LC8723] เป็นอัลบั้มที่ชี้บ่งประเด็นนี้ได้ดี นับว่าเป็นการกลับมาทวงความโด่งดังในอดีตของอินทีเกรทแอมป์ไฮเอนด์จากญี่ปุ่นอีกครั้ง

เมื่อใช้งานร่วมกับอัลบั้ม [THE RAVEN / Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] เสียงดับเบิ้ลเบสให้มวลเสียงสมดุลกับย่านเสียงอื่น มีขนาดและปริมาณสมดุลไม่ขยายสเกลให้ใหญ่โตเกินพอดี การเล่นดับเบิ้ลเบสสอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลืนกัน ทรวดทรงเสียงเหมาะสมยังคงความกลมกลึงของตัวเสียงกับเสียงย่านอื่น เสียงเดินเบสในแต่ละเส้นให้จังหวะสอดคล้องกับเปียโนและเครื่องเคาะ หางเสียงแต่ละตัวยังจำแนกออกจากกันได้ดี ช่องว่างช่องไฟใกล้กันบ้างแต่ไม่มีอาการซ้อนทับกัน ในจังหวะตัวโน้ตเงียบก็เงียบสนิทเข้าที พื้นเสียงทั้งหมดเข้าข่ายสะอาด

ทั้งแนวเพลงขับร้องรวมไปถึงการอัดฉีดกระแสเพื่อตอบรับเสียงด้านทุ้มยังรับมือได้ดี กับจังหวะเวลาของเครื่องดนตรีประเภทไม้อัลบั้ม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] นำเสนอออกมาได้ดีไม่น้อย การเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่ามีจังหวะรวดเร็ว พร้อมจำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาด้วยความโดดเด่น ให้เสียงสะท้อนจากการเคาะ การเป่า เสียงหนังกลองสะท้อนกลับมาชัดเจนและรวดเร็ว สปีดพอดิบพอดี กับแทร็คที่ 1, 11, 12, 13 และ 15 [Musik wie von einem anderen Stern/MANGER] ตัวเสียงและหางเสียงในแต่ละเสียงไม่ปะปนกัน แยกแยะมิติตำแหน่งของแต่ละเสียงให้เป็นอิสระต่อกันและจางหายไปด้วยความราบรื่น ฟังได้สนุกสนานยาวนานด้วยความคึกคักและมีจังหวะจะโคน เน้นความเพลิดเพลินกับแนวชัดใส ไม่ใช่แนวทางประเภทร้อยเนื้อหนึ่งทำนอง เป็นอินทีเกรทแอมป์ตอบสนองการใช้งานของยุคใหม่ที่เน้นจังหวะและการจำแนกรายละเอียดออกมามาก

สุดท้ายกับแนวเพลงคลาสสิกวงใหญ่หลายท่วงทำนอง แทร็คเจ็ดอัลบั้ม [ART FOR THE / EAR Burmester CD III] ตอบสนองทั้งจังหวะได้รวดเร็ว ตำแหน่งมั่นคง ขนาดของเสียงแต่ละตำแหน่งให้ความสมดุล ช่วงโหมโรงขึ้นไปควบคุมตำแหน่งให้แน่นสนิท ทุกช่วงในการกำหนดลมหายใจเข้าออกนำเสนอออกมาให้ได้ยินด้วยความสดใส แนวเพลงดนตรีมากชิ้นสลับซับซ้อนยังพอจำแนกแยกแยะออกมาได้บ้าง เกรนเสียงเข้าข่ายละเอียดทำให้ฟังได้เพลิดเพลินตามแนวทางเครื่องเสียงไฮไฟที่เล่นได้หลากหลายแนวมากขึ้นกว่าการจำกัดเพียงเสียงขับร้อง จำแนกแยกแยะแต่ละแถวดนตรีได้ กำหนดชิ้นดนตรีให้มีตำแหน่งและตรึงไว้แน่นสนิท

บทเพลงคุณภาพในการรวบรวมเพลงอัลบั้มพิเศษครบรอบ 12 ปี บจก.โมนาร์ชครีเอชั่น เป็นการรวมเพลงไพเราะจากค่ายแกรมมี่ เสียงขับร้องของคุณเจนนิเฟอร์คิ้ม, ซุปเปอร์สตาร์เบิร์ด ธงชัย, และอีกหลากหลายนักร้อง ขับร้องออกมาในแนวทางชัดใส ให้คอนทราสต์โดดเด่น จำแนกรายละเอียดเสียงการเอื้อนจังหวะแรกและการเรียกลมหายใจเข้าออกผสมกับการขับร้องด้วยแนวทางหวานใส หางเสียงรวมไปถึงรายละเอียดการบันทึกจำแนกออกมาได้มาก เสียงลมลอดไรฟันและบรรยากาศของแซกโซโฟนในการร่วมบรรเลงกับการขับร้องของเจนนิเฟอร์ คิ้ม ให้บรรยากาศโปร่งใสอยู่ล้อมรอบตัวเสียง รับฟังด้วยความเพลิดเพลินบนพื้นฐานของความสดใส

บทสรุป

Luxman ได้ส่งถอดประสบการณ์ลงสู่อินทีเกรทแอมป์คลาสเอในเวอร์ชั่นใหม่นี้ L-550AX เป็นรุ่นน้องในอนุกรมคลาสเอ กำลังขับเป็นรองรุ่นพี่อยู่สิบวัตต์ต่อข้าง แน่นอนว่าการเลือกจับคู่กับลำโพงที่ร่วมใช้งานอาจน้อยกว่ารุ่นใหญ่ที่มีกำลังขับสูงกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่า L-550AX จะขับลำโพงไม่ได้เลยเสียทีเดียว กับลำโพงวางขาตั้งรุ่นน้อยใหญ่ก็สามารถขับขานออกมาได้ดีเหมาะสม รวมไปถึงลำโพงตั้งพื้นในระดับไม่ใหญ่โตเกินไป ยังสามารถร่วมใช้งานได้เหมาะสมไม่น้อย จึงไม่ต้องกังวลกับลำโพงวางขาตั้งที่มีจำหน่ายทั้งหมดในตลาด ว่าจะขับขานกันไม่ออกอะไรทำนองนั้น

Luxman L-550AX ให้น้ำเสียงโดยรวมหวานใส เด่นมากกับเสียงกลางขับร้องที่มีมวลเสียงกำลังเหมาะผสมผสานกับแก้วเสียงกระจ่างเด่นชัด พร้อมรอบๆ เสียงขับร้องนี้ยังได้ความชัดใสเช่นเดียวกับเสียงขับร้อง หากใช้งานในแนวทางเพลงขับร้องเน้นความหวานใสมากกว่าแนวอิ่มเอิบอบอุ่น L-550AX นี่แหละใช่เลย นอกเหนือจากความเป็นแอมป์คลาสเอในเรื่องความหวานและเสียงขับร้องแล้ว จังหวะจะโคนในเชิงความคึกคักเพลิดเพลิน เป็นแนวทางของอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้พกติดตัวมาให้ใช้งานร่วมด้วย โดยรวมจึงเป็นแอมป์ในแนวทางสดใสและมีความเป็นไฮไฟในน้ำเสียงสัดส่วนสูงมากเช่นกัน หากเน้นความหวานและเพลงขับร้องดนตรีน้อยชิ้นจะสอดคล้องกันมากทีเดียวเชียว

แน่นอนว่าบุคลิกอันโดดเด่นของแอมป์คลาสเอที่กล่าวมานั้น อาจมีจุดเด่นในบางเรื่องเป็นรองเสียงขับร้องและรายละเอียด แต่สำหรับ Luxman L-550AX เครื่องนี้ตอบสนองเสียงแรกกระทบได้ดี ทั้งย่านเสียงสูงและย่านเสียงต่ำ อีกทั้งยังกำหนดให้สเกลเสียงทั้งหมดใหญ่โตในแนวทางชัดใส ช่องว่างช่องไฟจึงพอมีพื้นที่สัมผัสได้บ้าง อีกทั้งแนวทางดนตรีมากชิ้นประเภทออร์เคสตร้าเต็มวง ถ่ายทอดต่ำแหน่งและชิ้นดนตรีออกมาครบถ้วน มีเพียงการแยกระหว่างแถวชั้นดนตรีที่อาจยืนชิดกันบ้าง ด้านลึกและด้านกว้างจึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แต่แลกมากับแนวทางสดใสและรายละเอียดที่นำเสนอออกมามากทีเดียว

Luxman L-550AX เวอร์ชั่นใหม่พอศอนี้ ปรับเปลี่ยนบุคลิกจากเดิมตามยุคตามสมัย ให้ความละเอียดและโปร่งสดใส เน้นน้ำหนักและจังหวะจะโคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ความเป็นไฮไฟในแนวทางการถ่ายทอด ใช้งานง่าย สะดวกด้วยการสั่งงานจากรีโมท ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเครื่องเสียง Luxman ในด้านกายภาพภายนอกไว้ครบถ้วน งานประกอบตามมาตรฐานจากญี่ปุ่น ด้วยประสบการณ์ยาวนานของ Luxman หากท่านเป็นลูกค้าเดิมหรือจะเป็นนักเล่นฯ รุ่นใหม่ที่นิยมแนวทางเสียงขับร้องหวานสดใส ไพเราะจับใจ Luxman L-550AX เป็นอินทีเกรทแอมป์เวอร์ชั่นคลาสเอที่ออกมานำเสนอให้ท่านเลือกหาอีกครั้ง

———————————————————————————————–

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร 0-288-08240-6 ที่เอื้อเฟื้ออินทีเกรทแอมป์ Luxman L-550AX สำหรับการใช้งานในครั้งนี้    

Exit mobile version