What HI-FI? Thailand

Test Report: LUXMAN DA-200

Test Report: LUXMAN DA-200

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 

ปัจจุบันมีความเชื่อว่าการใช้ตัวแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาลอก (DAC) เป็นเครื่องแยกออกมาต่างหากจากเครื่องเล่น CD น่าจะได้คุณภาพเสียงดีกว่าการใช้ DAC ที่มากับเครื่องเล่น ความเชื่อนี้กำลังมาแรงในหมู่นักเล่น

เหตุผลที่แยก DAC ควรจะได้คุณภาพเสียงดีกว่า

  1. ไฟเลี้ยงที่จ่ายให้แก่ชิป DAC ไม่ถูกรบกวน หรือถูกดึงไฟจากการเล่นแผ่น วงจรขับเคลื่อนแผ่น, วงจรควบคุมการอ่านสัญญาณ (SERVO)
  2. ปกติไฟที่จ่ายให้แก่ระบบเล่นแผ่นมักใช้ภาคจ่ายไฟแบบ Switching เพื่อความฉับพลันสูงสุดในการจ่ายไฟ แต่ภาคจ่ายไฟแบบนี้จะแผ่นคลื่นความถี่สูงไปรบกวนภาค DAC และภาคเสียงทั้งทางอากาศและทางระบบไฟ (รวมทั้งกราวด์ของตัวถังเครื่อง) แยกเครื่อง DAC ตัดปัญหานี้หมด
  3. การสั่นสะเทือน (แม้จะน้อยนิดแค่ไหน) จากระบบเล่นแผ่น จะเขย่าสั่นทั้งเครื่องทำให้เสียงแย่ลง (ขาดความควบแน่น เนื้อใน แหลมจัด มิติเบลอ) แยกเครื่องก็ไม่สั่นกวนอีก

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมด้วยว่าขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาค DAC เองด้วย ถ้าแยกกล่อง DAC แต่ใช้วงจรและอะไหล่อุปกรณ์ไม่ดีจริง ก็อาจเลวกว่าการใช้ DAC ในตัวเครื่องเล่นที่ทำมาอย่างดีมากๆ รู้ปัญหา แก้ และป้องกันปัญหาเอาไว้หมด แถมใช้ DAC คุณภาพสูงด้วย (ชิป DAC มีหลายเกรดมาก)

DA-200 มีคุณสมบัติเด่นคือ

  1. ตัวเครื่องขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่โตเกะกะหาที่วางยาก
  2. ช่องรับสัญญาณจาก USB (TYPE-B) ที่ต่อพ่วงกับตัวเล่น (ถอดรหัสสัญญาณ) ภายนอก เช่น PC/MAC รองรับได้ถึง 96 kHz/24 Bit (ไม่ใช่ USB TYPE-A จากเครื่องเล่นพกพา หรือ Thumb Drive พวกนี้ใช้ไม่ได้)
  3. วงจรคุณภาพสูง เทียบเท่ากับเครื่องเล่น CD/SACD ระดับตระกูล D (ไฮเอนด์) ของ LUXMAN รุ่น D-05 (ราคาแสนกว่าบาท) (ทั้งวงจรบริวารของภาค DAC และวงจรเสียงอะนาลอกขาออก)
  4. สัญญาณดิจิตอลที่เข้ามา (รวมทั้งจากช่อง USB TYPE B) จะถูกแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลออกทางช่อง S/PDIF เพื่อไปบันทึก หรืออะไรก็ได้ แต่สัญญาณเสียง (อะนาลอก) ที่นำมาเสียบด้านหลังไม่ว่าช่อง LINE 1, LINE 2 จะไม่ถูกแปลงเป็นดิจิตอล ออกทางช่อง DIGITAL OUT, พูดง่ายๆ ว่า มันไม่มีวงจร ADC (อะนาลอกเป็นดิจิตอล) ให้มาด้วย
  5. มีภาคขยายหูฟังคุณภาพสูงให้มาด้วย (แบบ Phase Plug)
  6. ใช้เป็นปรีแอมป์ได้ เลือกให้สัญญาณออกคงที่ (FIXED) หรือปรับได้ (VARIABLE) โดยปรับที่โวลลุ่มหมุนขนาดใหญ่ด้านขวามือ เหมือนปรับปรีแอมป์ปกติ (มีดวงไฟติดบอก ถ้าเราเลือกแบบคงที่)
  7. ช่องสัญญาณเสียง (อะนาลอก) ออกทั้งแบบบาลานท์ (XLR) และแบบ RCA (ถ้าสัญญาณขาเข้าเป็นดิจิตอลจะปรับโวลลุ่มได้เมื่อต่อออก RCA OUT เท่านั้น ช่องบาลานท์ XLR จะคงที่ ปล่อยดิจิตอลออกได้)

ถ้าสัญญาณขาเข้าเป็นอะนาลอก เสียงจะออกเฉพาะ RCA OUT (เลือกคงที่/ปรับได้ แต่จะไม่ออกช่อง XLR OUT และดิจิตอลออก) DIGITAL ออกได้ทั้งแสง (OPTICAL) และ COAXIAL

  1. วงจร DAC ใช้ชิปของ Burr-Brown รุ่น PCM 1792 (ใช้กับเครื่องเล่น CD/SACD ตระกูลไฮเอนด์ D ของ LUXMAN ทุกรุ่น)
  2. ช่องดิจิตอลเข้ารองรับสัญญาณดิจิตอล 32 kHz ถึง 192 kHz (32 kHz ถึง 96 kHz ช่อง USB IN) โดยความละเอียด 16 บิท, 20 บิท, 24 บิท (16 บิท, 24 บิท สำหรับช่อง USB) DIGITAL IN ได้ทั้งแสง OPT และ COAXIAL
  3. มีการเขยิบเพิ่มความถี่ของการสุ่มให้สูงขึ้นจากสัญญาณดิจิตอลที่เข้ามา (ก่อนเข้า DAC)
  4. วงจรลดสัญญาณเงาเหลื่อม (Jitter) โดยใช้สัญญาณนาฬิกา (Clock) แบบไม่เข้าจังหวะกัน (Unsynchronized) เพื่อลด Jitter
  5. ดวงไฟ LED แบบ 7 เส้นต่อแสดงการใช้งานที่หน้าปัด
  6. ขั้วสัญญาณเข้า-ออก RCA คุณภาพสูงชุบทอง ขั้ว XLR ของ Neutrik
  7. แผงวงจรแบบวนรอบ สายภายในหุ้มด้วยกันกวน อะไหล่หลายๆ ชิ้น LUXMAN สั่งทำโดยเฉพาะ
  8. สายไฟ AC ถอดได้
  9. ทำในญี่ปุ่น (Made In Japan)

 

สเปคจากโรงงาน

ความไว LINE IN                               290 mV/ 24 กิโลโอห์ม

ความไว LINE OUT                          (RCA) 2.5 V.rms/ 400 โอห์ม

(บาลานท์) 2.5 V.rms/ 600 โอห์ม

สัญญาณออกสูงสุด                             10 V.rms (RCA)

ความถี่เสียง                                         4 Hz – 20 kHz (-0.4 dB) DIGITAL IN

2 Hz – 60 kHz (-3 dB) DIGITAL IN

10 Hz – 20 kHz (-0.1 dB) ANALOG IN

3 Hz – 130 kHz (-3 dB) ANALOG IN

ความเพี้ยนคู่ควบ THD                        0.0009% (RCA) DIGITAL IN

0.0006% (BALANCE) DIGITAL IN

                                                             0.003% 1 kHz (ANALOG IN)

อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน           119 dB (DIGITAL IN)

103 dB (ANALOG IN)

สวิงสัญญาณได้                                  120 dB (DIGITAL IN)

การแยกสเตอริโอ                                 119 dB (DIGITAL IN)

ขนาดเครื่อง (มม.)                                364 (กว้าง) x 81 (สูง) x 257 (ลึก)

 

ผลการทดสอบ

ผมอยากทราบว่าการใช้ DAC ภายนอกระดับไฮเอนด์อย่างนี้จะช่วยให้การดูหนัง หรือคอนเสิร์ตดีขึ้นได้อย่างไร (พูดตรงๆ นี่คือเหตุผลหลักที่ผมยืม DA-200 มาทดสอบ)

จากเครื่องเล่น Blu-ray OPPO BDP-105 ต่อออกสายเสียงดิจิตอล (COAXIAL) เข้า DA-200 (ผมใช้สายไฟ AC เดิมที่เข้า DAC ของ NPE ย้ายมาเข้า DA-200 เป็นสายไฟอง WYWIZARD) จาก DA-200 ออกสายเสียงอะนาลอก (RCA) ใช้สาย FURUKAWA มิว P-1 (เดินย้อนทิศ) เข้าชุดขยายเสียง SOKEN ST-12 สเตอริโอ (2.1 CH แอมป์ในตัว) มีปลั๊กกรองไฟ PHD เสียบเคียงคู่ปลั๊กสายไฟ AC ของ ST-12 ทั้งหมด (DA-200 และ ST-12) ผ่านรางไฟ WONPRO ที่ต่อจากตัวกรอง/รักษาแรงดันไฟ QUASAR 1 KW สายไฟ QUASAR มีปลั๊กกรองไฟ PHD อีก 1 ตัวต่ออยู่ ที่โปรเจ็คเตอร์ SAMSUNG A-600 ก็มี PHD อีก 1 ตัว, ที่สายไฟ AC ของ BDP 105 ก็มี PHD อีก 1 ตัว สายไฟ AC เข้าโปรเจ็คเตอร์เป็น MONSTER 800, สายไฟ AC เข้า BDP-103 เป็น FURUKAWA CB-10 (ทั้ง 3 เส้น/หัว WATTGATE) ในห้องดู (ห้องนอน) นี้ มีกระโจมผลึกอะมิทิสสูง 1 ศอก 2 กระโจม วางหัวเตียงให้โประเจ็คเตอร์ (ชิดศรีษะเราเลยเวลาดู) 1 กระโจม ระหว่างลำโพงซ้าย, ขวา ด้านหน้า 1 กระโจม และผลึกอะมิทิสลูกกลมขนาด 4 นิ้ว วางบนลำโพงซ้าย 1 ลูก, ขวา 1 ลูก ที่ตู้ซับของ ST-12 เอาตั้งหนังสือสูง 1 ศอก ของทับอยู่

สายเสียง FURUKAWA CB-10 ร้อยผ่านกระบอกเซรามิกกรองน้ำ (ละเอียด 0.3 มม.) กระบอกขนาดยาว 1 ศอก x 3 นิ้ว ใช้ซ้าย 2 กระบอก, ขวา 2 กระบอก (ช่วยโฟกัสเสียงดีขึ้น) อย่าให้กระบอกทั้ง 4 แตะกัน หรือถูกสายไฟ สายไฟ, สายต่างๆ ไม่มีการแตะต้องกัน ยกสายไฟ AC สูงหนีพื้นห้องและไม่แตะโลหะใดๆ ไม่แตะตู้ซับลำโพงกลาง/แหลม ST-12 หันเอียง (TOE IN) วางนอน จอรับโปรเจ็คเตอร์ใช้จอทำจากกระดาษผ้าปูโต๊ะจากญี่ปุ่น (จอเส้นทแยง 78 นิ้ว) นั่งดูห่าง 3 เมตร ภายในห้องไม่ต้อง (ของเยอะ, หนังสือเยอะมาก)

ได้ฟังทดสอบทิศทางเส้นฟิวส์ทั้ง 7 ตัวภายในเครื่องได้ผลดังรูป ได้พยายามแยกสายจากหม้แปลงไม่ให้แตะกัน (แต่ไม่ได้แยกแต่ละเส้นใดๆ สภาพยังเดิมๆ) ขณะทดสอบเอาฝาครอบบนออก (มิติโฟกัส, เป็นตัวตนกว่า ไขนอตที่อยู่ระหว่างช่อง RCA OUT ซ้าย, ขวาออก (เสียงหนัก-เบาดีขึ้นอีก โฟกัสขึ้น เสียงเปิดคมขึ้นอีกนิด จากภาพยนตร์เรื่อง PROMETEUS (แผ่นบูล-เรย์ 2D ฟังพากษ์ไทย) แผ่นนี้ผมดู (ฟัง) มานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งฟังแบบ 2 CH และ 5.1 CH รอบทิศ (ที่ผมจูนเสียงเองด้วย)

การได้ฟังเสียงแบบ 2.1 CH จาก DA-200 (ที่จูนแล้วดังกล่าว) เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากๆ พลังความกระหึ่ม ความหนักแน่นมหึมาของเสียงต่ำลึก แทบไม่ได้ต่างจากฟังชุดเซอราวด์ 5.1 CH รีซีฟเวอร์เซอราวด์ 5 หมื่นกว่าบาท ชุดลำโพง 5.1 อีกเกือบ 2 แสนบาท แน่นอน…ผมไม่คาดหวังว่าคุณจะเชื่อ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ (ห้องนอนผม 3.85 x 6 เมตร) ไม่ใช่เฉพาะพลังเสียง แต่หมายรวมถึง “คุณภาพ” ของสุ้มเสียงด้วย ออกมาทุกเม็ด เก็บทุกรายละเอียด (ของถูกๆ แหล่งกำเนิดเสียงที่ปรากฏบนจอ ซึ่งฟ้องได้ดีกว่าฟัง แต่เสียงจาก CD) แถมให้บรรยากาศ 80% ของระบบเซอราวด์จริงๆ เลย อย่างฉากที่ไฟร์ฟิลด์ โยนเครื่องวัดสำรวจภายในโดม (ที่เรียกว่า “ลูกหมา”) เสียงหึ่งหวีดของเครื่องลอยข้ามหัวเราไปจากหน้าจอไปหลังเราได้! ฉากเริ่มต้นเรื่องที่ “ผู้สร้าง” กินตัวหนอนจากภาชนะกลมแล้วกระแสเลือดดำพุ่งจากหลังเราไปหน้าจอ หรือฉากต่อมาที่ “ผู้สร้าง” แตกกระเด็นดิ่งลงไปในน้ำ เสียงน้ำก็ห่อหุ้มรอบตัวเรา เสียงโครงสร้าง DNA ขาดกระจุยกระจายลอยอยู่หน้าจอ ฯลฯ พูดง่ายๆ ผมไม่รู้สึกว่ามันจะต่าง หรือด้อยไปกว่าตอนฟังเซอราวด์ 5.1 จริงๆ ดังกล่าวแล้วเลย (ขนาดชุด 5.1 ผมจูนระดับเทพเลย) หรือแผ่น Blu-ray เรื่อง 3 ทหารเรือ, เรื่อง AVATA (ชุด 4 แผ่น), และเรื่องอื่นๆ ก็ให้บรรยากาศและสุ้มเสียงที่ “เหลือกิน”

การทดสอบนี้น่าจะตอกย้ำความเชื่อของผมที่ว่า ถ้าห้อง หรือที่ทางไม่พร้อม ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ชุดแยกชิ้นเซอราวด์จริงๆ แท้ๆ โดยเอางบค่ารีซีฟเวอร์เซอราวด์กับชุดลำโพงมาทุ่มกับ DA-200 บวกชุดเครื่องเสียง 2.1 CH ง่ายๆ ถูกๆ อย่าง SOKEN ST-22 (2,290 บาท หรือ ST-29 4 พันกว่าบาท) ก็น่าจะพอเติมเต็มความจุใจในการชมภาพยนตร์/ฟังเพลงได้อย่างเหลือเฟือแล้ว (แน่ละถ้าห้องใหญ่และต้องการอัดกันแบบสนั่นห้องสะเทือนก็คงต้องเล่นชุดเซอราวด์แยกชิ้นอยู่ดี)

ข้อดีของการเล่น 2.1 CH อีกอย่างคือ จูนชุดง่าย ไม่สลับซับซ้อนอย่างชุด 5.1 แท้ๆ คุณเชื่อไหม ภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็ให้การขยับของกรวยลำโพงแต่ละ CH เปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่เหมือนกัน ต้องสลับใหม่ทีละ CH เมื่อเปลี่ยนเรื่อง เปลี่ยนระบบเสียง (Dollby Digital หรือ DTS หรือ STEREO)

มีเรื่องน่าคิดอีกข้อคือ การใช้ DAC ภายนอกจากตัวเครื่องเล่น ทำให้ “ภาพ” ดีขึ้นได้ ยิ่ง DAC ดีแค่ไหน ภาพยิ่งดีขึ้นแค่นั้น และ DA-200 ก็ให้ภาพที่คมชัด, มีพลัง, มีประกายดีขึ้นจริง หลังจากผมเจาะแจะกับชุดดูหนังของผมบวกกับการทดสอบ DA-200 ทำให้ผมหมดความอยากที่จะเปลี่ยนจอจากจอกระดาษปูโต๊ะ รวมมูลค่าประมาณ 1,000 บาท เป็นจอ 9 หมื่นบาท เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น แค่ 10% (ต้นน้ำสำคัญที่สุดเช่นกัน ถ้าแย่ ต่อให้จอดีพิสดารแค่ไหนก็อั้นไปหมด)

หมายเหตุ 1 ผมไม่ได้ดูแค่ 2 – 3 เรื่องขณะใช้ DA-200 ยังดูเรื่องอื่นๆ อีกทั้งแผ่น VCD, DVD, Blu-ray นับสิบเรื่อง (รวมทั้งสารคดี, คอนเสิร์ต)

หมายเหตุ 2 นี่ขนาดผมยังไม่ได้แยกสายต่างๆ ภายในเครื่องที่มัดติดกันอยู่ เชื่อว่าถ้าแยกดีๆ จะต้องดีขึ้นอีก 20 – 30% แน่ๆ! (ผมอยากทำ แต่คนให้ยืมเค้าจะว่าเอา มันคง โอ้…พระเจ้า!)

การฟังเพลงในห้องเสียง

          ผมยก DA-200 จากห้องนอน (สภาพเปิดฝานั่นแหละ) ลงมาห้องเสียงโดยคราวนี้ใช้เครื่องเล่น CD ของ T+A รุ่น 1265 R ต่อออกสายดิจิตอล COAXIAL (ใช้สายเสียงรุ่น DREAM CATCHER ของ WYWIZARD) เข้า DA-200 ออกสายเสียง Madrigal CZ-Gel 2 (ชุดบาลานท์) เข้าช่อง B-1 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (สายไฟ CHORD รุ่นสีม่วง) (No. 383 กำลังขับ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานท์แท้จากเข้าถึงออกลำโพง) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) 2 ชุด แยกไบ-ไวร์เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น) เอาหน้ากากออก, เอียงจูนให้ได้ทั้งสุ้มเสียง และทรวดทรงมิติเสียงดีที่สุด) หัวแจ๊คสายลำโพงเป็น WBT หางปลา (ทำด้วยเงิน) ด้านแอมป์, หัว WBT บานาน่าด้านลำโพง, สายไฟ AC ของ T+A ใช้สายไฟ AC ของ No.383 ที่เต้าเสียบตัวเมียเคียงคู่สายไฟ AC ของ No.383 มีหัวปลั๊กตัวผู้กรองไฟของ PHD เสียบเคียงคู่อยู่ (ที่เต้าเสียบตัวเมียของ T+A ก็มี PHD อีก 1 ตัว) สายไฟ AC ของ DA-200 ใช้ CHORD สีส้ม

ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม) ด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 ตั้ง และอีก 1 ตั้ง สอดแยกสายลำโพงทุ้ม, แหลมไม่ให้แตะกัน, อีก 4 ตั้ง ทับบนสาย ซ้าย, ขวา ทำทุกอย่างเหมือนกัน (ตั้งกระดาษพิมพ์ดีดีเอากระดาษห่อที่พิมพ์สีแดงออก เพราะสีมีตะกั่วจะรบกวนเส้นแรงแม่เหล็กจากสายลำโพงได้) ในห้องฟังมีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือ อยู่ชิดขวา T+A CD และอีกก้อน 1 ฝ่ามือ ที่พื้นข้างๆ ขวาที่นั่งฟัง

ห้องขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.25 เมตร ผนังมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาวจากเยอรมัน) ปิดโดยรอบ (สามสิบกว่าแผ่น) มีของเยอะพอควรในห้อง ไม่ก้องแน่ นั่งฟังห่างจากลำโพงประมาณ 3.6 เมตร ลำโพงซ้าย, ขวาห่างกันประมาณ 2 เมตร ไม่มีรีโมท, โทรศัพท์มือถือ, จอ LCD/PLASMA, นาฬิกาไฟฟ้า (แม้แต่ที่ข้อมือก็ถอด), iPad, PC, Notebook

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดแยกเป็นโน้ตๆ ดี (แต่ด้านกลางถึงสูงยังไม่เป็น “เม็ดๆ” นัก) เสียงตีฉิ่ง “อร่อย” ที่สุดเท่าที่เคยฟัง แผ่นนี้มา เสียงฉิ่งเห็นภาพพจน์ว่ามาจาก “ฝาฉิ่ง” ไม่ใช่อะไรที่เล็กๆ มากระทบกัน เสียงฉับก็มีรายละเอียดดีมาก เสียงตีฉิ่งฟังออกว่าบางครั้งเป็น 2 จังหวะ (กิริยา) ฟังไปๆ เสียงระนาดเป็นเม็ดขึ้นๆ ตอนแรกยังไม่เป็นเม็ดน่าจะมาจากการบันทึก เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดดีมาก ตามด้วยเสียงตีระนาดที่เป็นเม็ดดีมาก คมชัด เข้มแข็งแต่อ่อนโยน เสียงฉิ่งพลิ้วระริกๆ และยาวนานกว่าทุกครั้ง น่าฟังเอามากๆ เสียงโดยรวมมีน้ำหนักดี ราบรื่น ไม่มีเสียงไหนตกหรือโดดล้ำเส้น มิติเสียงดี นิ่งไม่วอกแวก เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดดีมากเช่นกัน ตามด้วยเสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ตัวๆ ดี อ่อนแก่ดี โทน, น้ำเสียงดีมาก ตอบสนองฉับไวอย่างธรรมชาติ แยกแยะแต่ละชิ้นดนตรีได้ชัดเจน ไม่มีอาการตีรวนกัน ทุกชิ้นเป็นพระเอกตลอดเวลา ปกติเพลง 4, 5 มีบางช่วงเสียงจะแปร๋นไปหน่อย แต่กับ DA-200 ไม่ส่ออาการเลย เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที ให้น้ำเสียง, รายละเอียด, ทรวดทรงดีมาก แต่ยังกระจายตัวไปบ้าง (ไม่โฟกัสเปะสุด) (เชื่อว่าถ้าได้แยกสายต่างๆ ไม่แตะกันได้ใน DA-200 จะยิ่งดีขึ้นได้อีกพอควรเลย) ชอบใจเสียงระนาดที่ฟังในบางโน้ตว่าเกิดจากไม้ซี่ที่เอามาทำรางระนาดเป็นแผ่นๆ ไม่ใช่เป็นท่อนๆ เพลง 7 เสียงขึงขังพอๆ กับเพลงก่อนหน้านี้ไม่ต่างกันมาก (ไม่ขึงขังขึ้นเหมือนอย่างทุกที) น่าจะเพราะเพลงก่อนหน้านี้ก็ขึงขังดีกว่าปกติอยู่แล้ว เชื่อไหมว่าผมฟังออกว่า บางครั้งเสียงเหมือนจะเบลอขึ้นสัก 5% คือวูบเป็นพักๆ เนื่องจากถูกรบกวนจากคลื่น WiFi (เกือบ 6 SPOT รอบบ้านผม!) เพลง 8 ขึ้นต้นกลองตะโพนใหญ่อิ่มลึกแต่ไม่เกินจริง เสียงตบหน้ากลองไล่จากขวาไปซ้ายฟังออกว่าเป็นนิ้วกับฝ่ามือตบหน้ากลอง เวทีเสียงกว้างมาก และหลุดลอยออกมาได้ดีกว่าปกติพอควร เพลง 9 เสียงตีรัวระนาดไล่จากซ้ายไปขวา ตอนท้ายๆ เสียงรัวระนาดสูงขึ้นนิด ซึ่งไม่เคยจับได้มาก่อนเลย เพลง 10 เสียงตีระนาดไล่คีย์สูงต่ำเป็นเม็ดๆ ดีมาก เสียงกังวานบางครั้งกระจายไปปรากฏด้านซ้าย (ตีอยู่ด้านขวา) ปกติไม่เคยจับประเด็นนี้ได้

แผ่น RYTHM BASKET, A Tisket, A Tasket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลง 2 เสียงตีกลองท่อไล่จากซ้ายไปกลางไม่อวบอ้วน ไม่ผอมแบน ผมว่านี่ถูกต้องที่สุด เสียงตีไล่ไปๆ ปกติจะดังพอๆ กันไปหมด แต่นี่ดังค่อยดังแรงต่างกัน (ไปถึงกลางเวทีจะดังกว่า) ในเพลงนี้ฟังออกว่า DA-200 เก็บทุกเสียงไม่ว่าค่อยแค่ไหน, ดังอย่างไร, ออกมาตีแผ่หมด ไม่ว่าดนตรีจะสลับซับซ้อนอย่างไร เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงพายวักน้ำ ได้ยินเสียงคลื่นใหญ่น้อยไล่ขนาดลำดับกันครบ (ไม่ใช่มีแต่คลื่นใหญ่ หรือคลื่นขนาดกลาง) เรียกว่ามากันทุกขนาด ทุกรายละเอียดเป็นเสียงคลื่นที่เก็บทุกเม็ดมากที่สุด เสียงปลายแหลมสุดออกจะเป็นเส้นเล็กไปนิด อยากได้ความอวบ (ฮาร์โมนิก) มากกว่านี้หน่อย เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาจากไกล มีหวูด 2 – 3 ทีนำขึ้นต้นปกติจะเสมอๆ กันหมด เสียงตีระฆังรัวได้ยินครบตลอด เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไหลังเวทียังไม่โฟกัสนัก เสียงโดยรวมอยากให้แสดงลำดับเสียงค่อย-ดังมากกว่านี้อีกหน่อย (DYNAMIC CONTRAST) ยังพื้นๆ ไม่เต็มที่ (เนื้อเสียงยังน้อยไปบ้าง) นาทีที่ 4 ขึ้นไปของเพลงนี้ เสียงสารพัดสัตว์แผ่ออกมาหาเราได้พอควร แต่ยังไม่ขนาด “รอบทิศทาง” อย่างที่ควรจะเป็นแต่สัตว์ก็มากันเยอะไปหมด เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบแฮกๆ มาแต่ไกล เสียงหอบครบ 6 ครั้ง เสียงตีกลองท่อวนรอบๆ ลำโพงยังเคลื่อนสูงขึ้นๆ ไม่ได้ถึงเกือบเพดานห้อง ได้แค่สูงปกติ เพลง 10 สารพัดเสียงตอนเช้าในฟาร์มให้ได้ครบถ้วนแยกแยะได้ดี ปกติเพลงนี้ฟังไปๆ เสียงจะลอยตัวสูงขึ้นๆ เกือบถึงเพดานห้องได้เลย แต่ DA-200 ทำได้ในระดับลำโพงปกติทั่วๆ ไป

แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE VOL.1 (Top Music) เสียงสุภาพสตรีร้องเพลงจีนเย็นๆ เพลง 1 เสียงร้องที่จีบปากจีบคอ มีรายละเอียดโดยรวมๆ อยากให้เสียงอวบมีเนื้ออีกนิด เพลง 2 (อารีรัง) เสียงร้องหมู่ชายหญิงขึ้นต้นแยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่คมชัด หน้ากลองตึงแต่ไม่เกินไป เสียงตีกระทบมีรายละเอียดดี เสียงกระทบรู้ว่าเป็นหน้ากลองหนังไม่ใช่พลาสติกแน่ๆ เสียงกลองอิ่มควบแน่นดีมาก แม้ไม่เป็นลูกมหึมาอย่างทุกที แต่ก็ฟังออกว่ากลองใหญ่เวทีเสียงกว้างมากกว่าที่เคย เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงดีดกีตาร์เป็นเส้นสายดี ตามด้วยเสียงร้องที่สั่นเครือ (ฟังออก) ถ่ายทอดอากัปกิริยาได้ครบครัน เครื่องสายดีดที่ชัดเจน เพลง 4 เสียงร้องจะรื่นเริงกว่าเพลงอื่นก่อนหน้านี้ เสียงเขย่าลูกกระพรวนอยากให้เม็ดกระพรวนใหญ่กว่าอีกนิด แต่ก็เป็นเม็ดๆ ใช้ได้ เสียงเดินเบสหนักลึกใช้ได้เลย เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ๊งกริ๊งอาจผมไปนิด ยังไม่ระยิบระยับและ AIRY สุดๆ แต่เสียงดีดเครื่องสายก็มีเนื้อหนังเป็นเส้นสายดี ช่วงสีก็หวานดี

แผ่นอื่นๆ อีก 2 – 3 แผ่น พอสรุปได้ว่า DA-200 เน้นการสอดใส่อารมณ์ให้แก่เสียงร้อง, เสียงดนตรี เสียงจึงมีวิญญาณดี โดยรวมน้ำเสียงจะออกสงบๆ ไม่ถึงกับสดเป็นประกาย เสียงไปทางผู้ดีอังกฤษ คนที่ชอบเสียงโปร่งทะลุแบบทุกเส้นขนอาจบ่นว่าเสียงออกทึบไปนิด แต่ก็ฟังพักผ่อนดี ให้เสียงได้สะอาดเกลี้ยงเกลาไร้เสี้ยนสาก ปลายแหลมอาจผมไปนิด ความถี่สูงๆ น่าจะจำกัดที่ 25 kHz คงไม่เลยถึง 30 kHz ขึ้นไปทำให้ขาดลมหายใจของตัวโน้ตไปบ้าง (AIRY) ทุ้มหนักแน่นแบบเอาเรื่องเลย โดยไม่เน้นการอวบอ้วนเกินจริง รายละเอียดดี ช่วงเสียงดนตรีซับซ้อนไม่มีมั่วไม่บดบังกันเอง เสียงอาจไม่โฟกัสนักโดยเฉพาะช่วงกลางๆ วง (ในช่วงความถี่กลางต่ำลงมา) แต่ตำแหน่งก็นิ่งไม่วอกแวก เวทีเสียงกว้างโอ่อ่ามากทีเดียว ความกังงานใช้ได้แม้จะไม่เปิดโปร่งทะลุ (TRANSPARENT) พลังอัดฉีดดี ไม่มีอั้น โดยส่วนตัวชอบตอนเอาไปดูหนังที่สุดเลย ด้วยสนนราคา 6 หมื่นกว่าบาท (อย่าลืมว่า MADE IN JAPAN …ทำในญี่ปุ่น) ก็ถือว่าไม่โหดสุดๆ พอรับได้ แถมเอาเป็นปรีได้ พ่วงกับเพาเวอร์แอมป์ได้โดยตรง โวลลุ่มปรับได้ มี INPUT อะนาลอกอีก 2 ยิ่งเพิ่มความคุ้มค่าไปอีกโข แหม…ใจจริงอยากแยกสายภายในที่เขามัดผูกติดกันเป็นกลุ่ม (ดูรูป) เชื่อว่าทุกอย่างจะยิ่งดีขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20% ได้เลย!

 

        ขอขอบคุณ บริษัท ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร. 0-2880-8240-6 ที่เอื้อเฟื้อให้เครื่องมาทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version