Test Report: LUXMAN D-06
“เสียงมีวิญญาณ”
ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
D-06 เป็นเครื่องเล่น CD/SACD รุ่นรองใหญ่ล่าสุดของ LUXMAN จากประเทศญี่ปุ่น (ทำในญี่ปุ่น) เล่นได้ทั้งแผ่น CD และ SACD รุ่นนี้พัฒนาเพื่อคู่กับแอมป์รุ่นเรือธงจากตระกูล 1000
คุณสมบัติเด่น
- กลไกเล่นแผ่น LxDTM ของ LUXMAN เอง โดยกลไกทั้งหมดบรรจุอยู่ในกล่องปิดทึบ แผ่นกล่องหนาถึง 9 มม.! บึกบึนพอที่จะป้องกันแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก ลิ้นชักเป็นแผ่นอะลูมิเนียมหล่อทั้งชิ้น โดยตัวลิ้นชักนี้จะมีประตูปิดกันฝุ่นในตัวมาด้วยเลย (แผงปิดหน้าลิ้นชัก)
- ตัว DAC ใช้ของ TI (Texus Instrument) รุ่นล่าสุด PCM 1792A ที่ให้การสวิงของสัญญาณสูงแบบหายบ้าเลยคือ 132 dB (ทางทฤษฎี) โดยใช้ 2 ตัวต่อซีกซ้าย, 2 ตัวต่อซีกขวา
- ภาคเสียงอะนาลอกขาออกใช้อะไหล่เป็นตัวๆ (discrete) ไม่ใช้ IC ง่ายๆ โดยเป็นระบบบาลานท์ ODNF (Only Distortion Negative Feedback) ใช้การป้อนกลับแบบลบเฉพาะ ส่วนที่เป็นความเพี้ยนเท่านั้นที่เป็นสัญญาลักษณ์ของ LUXMAN เพื่อให้ได้เสียงที่บริสุทธิ (นับเป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการนี้ของ LUXMAN เอง)
- ใช้หม้อแปลงไฟขนาดใหญ่ ภาคจ่ายไฟแบบ LINEAR กับภาคเสียงแยกอิสระจากภาคจ่ายไฟของวงจรดิจิตอลและควบคุม
- ช่องรับสัญญาณดิจิตอลจากภายนอก (OPTICAL 2 ช่อง, COAXIAL 1 ช่อง)
- ช่องปล่อยสัญญาณดิจิตอล 2 ช่อง (OPTICAL 1, COAXIAL 1)
- ช่องเสียงอะนาลอกออก (RCA และบาลานท์)
- สายไฟ AC ถอดได้
- รีโมทไร้สายเป็นโลหะ (หรี่ไฟหน้าปัดได้จนถึงดับ, เลือกขาเข้า/ขาออก, ไม่มีโวลลุ่ม)
สเปคจากโรงงาน
ใช้กับแผ่น 2 CH SACD/CD
กินไฟ 24 W (STANDBY 1 W.)
ขนาดเครื่อง (เป็น มม.) 440 (กว้าง) x 133 (สูง) x 410 (ลึก)
น้ำหนักเครื่อง 15.5 กิโลกรัม
เท่าที่ผมดูสเปคการฟัง CD สุดยอดมาก เช่น การสวิงเสียง 124 dB (ดีกว่า SACD ที่ได้ 104 dB), ความเพี้ยนต่ำจนไม่ต้องพูดถึง ความถี่ตอบสนอง 5 Hz – 20 kHz (-3 dB) (CD), 20 Hz – 50 kHz (SACD) (-3 dB)
สัญญาณเสียงออกช่อง RCA กับบาลานท์เท่ากันคือ 2.5 – 2.35 V (ทั่วไปช่องบาลานท์ประมาณ 2 เท่า) (300 โอห์ม RCA, 600 โอห์ม บาลานซ์)
การทดสอบ
จาก D-06 ต่อออกสายสัญญาณเสียงอะนาลอก MADRIGAL CZ-Gel 2 (บาลานท์) เข้า INPUT B1 (บาลานท์) ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) เป็นบาลานท์แอมป์แท้ๆ จาก INPUT ถึง OUTPUT ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) 2 ชุด แยกอิสระไม่แตะกัน หัว WBT (หางปลาเงิน) ด้านแอมป์, WBT แบบล็อคได้ (ด้านลำโพง) เข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น) เอาหน้ากากลำโพงออก เอียงลำโพงเข้ามา (TOE IN) ปรับให้ได้ทั้งทรวดทรง มิติ เสียง และสุ้มเสียงดีที่สุด ลำโพงซ้าย-ขวา ห่างกันประมาณ 2.2 เมตร นั่งฟังห่างลำโพงประมาณ 3.6 เมตร ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.2 เมตร ผนังบุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว จากเยอรมัน) พื้นปูพรม
สายไฟ AC ของ No.383 ใช้สายไฟ CHORD สีม่วง (8,000 บาท) สายไฟ AC เข้า D-06 ใช้ของ No.383 ที่ผมใช้ประจำเพื่อไม่ต้องเสียเวลาเบิร์นอินสายไฟ (และเพื่อเทียบกับเครื่องเล่น CD อื่นๆ ที่เคยนำมาทดสอบและใช้สายไฟ AC เส้นเดียวกันนี้ มีตัวกรองไฟ PHD 2 เป็นหัวเสียบ) เสียบเคียงคู่เต้าเสียบตัวเมียของสายไฟ AC CHORD ของ No.383 ที่กำแพง (เต้าเสียงบตัวเมีย ฮับเบลสีส้ม) และ PHD 2 อีกตัวเคียงคู่ที่สายไฟ AC ของ D-06
ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ ไม่มีรีโมทในห้อง ไม่มี PC, โทรศัพท์มือถือ, จอ LCD/PLASMA, นาฬิกาไฟฟ้า, นาฬิกาข้อมือควอทซ์, กล้องดิจิตอล
ห้องฟังของเยอะ ไม่ก้อง ระวังมิให้สายต่างๆ แตะต้องกัน หรือพันทับตัวเอง ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง และแยกสายเข้าแหลมกับเข้าทุ้มด้วย ตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (2 รีมจากพื้น, 1 รีมแยกสาย 2 ชุด อีก 3 รีมทับบนสายเอากระดาษห่อออก (สีแดง/มีตะกั่วในสี)
เบิร์นอิน D-06 ครั้งแรก 3 ชั่วโมง อีกวันต่อมาอีก 10 กว่าชั่วโมงต่อเนื่อง แล้วฟังเลย (เบิร์นอินด้วยเสียงเพลง ไม่เบิร์นด้วยสัญญาณทดสอบแช่)
ขณะทดสอบ ดับไฟหน้าปัด เร่งโวลลุ่มที No.383 ประมาณ 43.1 – 44.1 เสียงก็กระหึ่มเต็มห้องแล้ว
หมายเหตุ
ในการทดสอบ ผมขอสงวนสิทธิ์ไม่ทดสอบ SACD เนื่องจากปัจจุบันอัลบั้มเพลง SACD มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับ CD (หลักร้อยกับหลักล้านกว่าอัลบั้ม) อีกทั้งแผ่นที่ชินหูเกือบ 100% เป็น CD และเท่าที่ฟัง เสียงจาก CD ก็เหลือรับประทานสุดๆ แล้ว!
(แผ่น SACD ผมมีอยู่เกือบ 20 แผ่น น้อยมากๆ ที่จะบันทึกมาได้อย่างน่าฟัง เป็นธรรมชาติ มีแต่เกินจริงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ SACD ก็แทบสูญพันธ์แล้ว) ก่อนอื่นต้องขอชมว่า ถาดใส่แผ่นสุดยอดจริงๆ วิ่งราบรื่นสุดๆ เงียบสนิท
จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ดีมาก อิ่มมีน้ำหนักควบแน่นดีมาก เสียงหัวโน้ตกลืนเป็นก้อนเดียวกับตัวของโน้ตได้ดีมาก ที่น่าตกใจคือ เสียงตีฉิ่งปกติจะดังจังหวะเดียว (โน้ตเดียว) แต่กลับดัง 1 ที แล้วมีลูกตามเขย่าตีแทรกอีกทีรับกับเสียงฉับ (ที่แยกอิสระไม่เหมือนมาจากฉิ่งฉับเดียวกัน!) เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดดีมาก เสียงฉิ่งเป็นตัวๆ เม็ดๆ กลมๆ ชัดดีมาก เสียงฉิ่งเคาะแล้วเขย่าสั่นได้ชัดกว่าทุกคราว ที่น่าทึ่งคือ มีบางครั้งเสียงตีระนาดรับกลืนสนิทกับเสียงตีกลองแขกด้านหลัง อย่างไม่เคยสังเกตมาก่อน รายละเอียดดี (อย่างธรรมชาติ) เสียงตื่นตัว ฉับไว ของใครของมัน (กลองฉับไว, ระนาดฉับไว) ขณะที่ฉิ่งอ้อยสร้อยกว่า เพลง 5 ยิ่งสงัดดีขึ้นอีก เสียงตีระนาดแฝงสุ้มเสียงพิเศษที่ถ้าเครื่อเงสียงไม่แน่จริงจะไม่ค่อยสังเกตออก จังหวะจะโคนลูกล้อลูกเล่นระหว่างดนตรีทำได้อย่างมีชีวิตชีวา พูดง่ายๆ ว่า ให้ “ทุกอย่าง” ดีที่สุดเท่าที่เคยฟัง แผ่นนี้มากับชุดนี้ (ต่างเครื่องเล่น CD) เพลง 6 ขึ้นต้นเสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวที แต่เสียงกระเด็นเป็นเม็ดๆ ลอยออกมาได้! เสียงฉิ่งสมจริงกว่าทุกครั้ง น้ำเสียง, สุ้มเสียงของทุกๆ เสียง “ครบเครื่อง” และแสดงความ “หลากหลาย” มากกว่าทุกครั้ง เช่น เสียงตีระนาดจะแตกต่างในน้ำเสียงในแต่ละโน้ตแต่ละขณะตี ไม่ใช่ต่างแค่คีย์เสียง เพลง 7 เสียงจะเข้มแข็งขึ้น มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ให้จังหวะจะโคนได้อย่าง “เด็ดขาด” ในทุกๆ เพลง ทุกเสียงเป็นพระเอกไม่มีใครแย่งบทใครอีกทั้งนิ่งสนิทดังตรึงเอาไว้ โฟกัสนิ่งไม่มีคำว่าวอกแวก, ฟุ้งฝอย บ่อยๆ หลุดลอยออกมากว่าทุกครั้ง เพลง 8 ขึ้นต้นสงัดมากอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน เสียงตีกลองตะโพนเป็นลุกอิ่มควบแน่น หลุดลอยออกมาเกือบกลางห้องได้ เสียงฝ่ามือตบหน้ากลองชัดมีรายละเอียดดีอย่างไม่เคยได้ยินมาก่อน บางครั้งตบ 2 ทีช้อนก็มี! พูดโดยรวม ไม่เคยได้ฟังแผ่นนี้อย่างชวนติดตามเป็นธรรมชาติ สมจริงเท่านี้มาก่อนเลย
แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis
เพลง 2 เสียงตีกลองท่อให้ทรวดทรงพองามไม่แบนไม่อ้วนอวบเกินจริง ตีฉับไวมาก แม้แต่เสียงก้องจากการตีแต่ละครั้งก็เป็นกลุ่มก้อนวิ่งลับไปหลังเวทีไม่ฟุ้งสะเปะสะปะ เสียงทั้งหมดเล่นกันเร็วมาก เหมือนความเร็วจะมากไปนิด (มาจากแผ่นเอง) ขณะที่หลายๆ เสียงถาโถมกันมา ทุกๆ เสียงไม่ว่าดัง หรือค่อย แค่ไหนก็เป็นพระเอกหมด
เพลง 3 เสียงตีกลองท่อซ้ายที ขวาที สมมาตรดีมาก
เพลง 4 เสียงพายวักน้ำ แสดงอาการได้ตลอดว่าพายกำลังกวาดไปบนผิวน้ำตลอดเวลา ไม่ใช่ฟังออกแค่ครั้งเดียว แล้วที่เหลือเหมือนเสียงคลื่นสะเปะสะปะไปหมดอย่างทุกคราว อีกทั้งเสียงคลื่นกระฉอกบนผิวน้ำก็สมจริง เป็นลูกๆ ใหญ่น้อยชัดเจนดีมาก บางครั้งขณะตีกลองมีเสียงอู้ก้องของกลองสอดแทรกแซมอยู่ด้วย ซึ่งไม่เคยสังเกตว่ามีมาก่อนเลย
เพลง 5 เสียงรถจักไอน้ำเปิดหวูดวิ่งมาแต่ไกล เสียงหวูดมีพลังกว่าทุกครั้ง (รวมทั้งเสียงตีรัวระฆังด้วย) ตามด้วยเสียงตีกลองท่อเป็นลูกชัด อยู่เลยลำโพงออกไปซ้าย, ขวาไกล (กระเด็นลอยออกมา)
เพลง 6 เสียงไก่ขันขึ้นต้น อยู่ลึกไปหลังเวที โฟกัสชัด, นิ่ง แต่การส่งเสียงร้องอ่อนแก่ค่อยดังยังไม่เต็มที่ (MICRO DYNAMIC CONTRAST ยังธรรมดาๆ เสียงสัตว์ตัวอื่นๆ ก็เช่นกัน) แต่ก็จีบปากจีบคอร้องกันดีเหลือเกิน เสียงโดยรวมหลุดลอยออกมาหาเราอย่างอิสระได้ดี ด้านลึกไปหลังเวทีก็ดีเช่นกัน นาทีที่ 4 ของเพลงนี้ เสียง “ฝูงสัตว์” แผ่ลอยออกมาหาเราได้อย่างล้นหลามชนิด (แต่ยังไม่ขนาดโอบล้อมมาด้านหลัง) แต่สัตว์เยอะที่สุดพเท่าที่เคยฟังแผ่นนี้
เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล เสียงหอบครบ 6 ทีน่าทึ่งคือหอบแต่ละทีเสียงดังต่างๆ กันไปได้มากกว่าทุกครั้ง เสียงหอบที่ดังที่สุดก็มีรายละเอียดดีกว่าทุกครั้ง ตามด้วยเสียงตีกลองท่อลอยอยู่เหนือลำโพง ซ้าย, ขวาได้ดี แต่ยังไม่ขนาดสูงเกือบถึงเพดานห้อง
เพลง 9 เสียงตีกลองท่อซ้ายที ขวาที ให้เสียงก้องซับซ้อนได้ดี
เพลง 10 เสียงสารพัดในฟาร์มตอนเช้าได้ครบครันดี แต่ยังไม่เก่งขนาดบอกชัดๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ดูเหมือนว่าตั้งแต่แหลมขึ้นไปถึงแหลมสุด D-06 จะให้เสียงกลืนๆ คล้ายๆ กันไปหมด (ปลายแหลมสุดจะออกผอมไปหน่อย แต่ไม่แบน ไม่ฟุ้งแน่นอน) พูดง่ายๆ ว่า ฮาร์โมนิกส์ของปลายแหลมยังขาดไปบ้างแม้จะให้ปลายแหลมที่ละเอียดยิบ และกินความถี่ได้สูงมาก (AIRY) ปกติเพลงนี้ ฟังๆ ไป เสียงจะลอยขึ้นไปอยู่ถึงเพดานห้องได้ แต่ D-06 ยังได้แค่สูงปกติระดับเหนือลำโพงปกติ (ดูเหตุผลท้ายบททดสอบ)
แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนเย็นๆ หวานๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องของเธออ้อยอิ่งผ่อนคลายดีแม้จะไม่ขนาดหวานแบบซึ้งๆ (โรแมนติก) ดูว่าตั้งใจร้องไปนิด
เพลง 2 (อารีรัง) ขึ้นต้นเสียงร้องหมู่ชาย, หญิงแยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ใหญ่โตคมชัด ยังไม่มีขอบเขตชัดน้ำหนักดีมากๆ กระชับใช้ได้ คือตัวฮาร์โมนิกส์ยังจางๆ ไปหน่อย เสียงร้องจะชัดถ้อยชัดคำกว่าเพลง 1 เสียงเครื่องสาย (ดีด) เป็นเส้นสายดีมาก
เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงดีดกีตาร์เป็นเส้นสายดี ควบคุมตัวได้ดี เสียงร้องยิ่งดีขึ้น (ช่วงจังหวะหายใจฟังออกชัดกว่าที่เคยฟัง) อากัปกิริยาดีมากๆ อยากให้เครื่องสายหวานกว่านี้อีกนิด (ที่คีย์สูง แต่คีย์ต่ำลงมาดีมาก)
เพลง 4 เสียงร้องลอยออกมามากขึ้น รายละเอียดดีขึ้น เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ (แต่เม็ดเล็กไปนิด) ปลายแหลมโดยรวมจากทุกๆ เสียงจะเหมือนเข้มงวดหรือกร้าวไปนิด ไม่ถึงกับจัด สะบัด แต่ก็เอาตัวรอดได้ตรงที่แหลมกลางลงมาโอเค
เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงปลายแหลมกรุ้งกริ้ง ลมหายใจตัวโน้ตดี แต่ยังฟังว่าขนาดเดียวกันไปหมด ไม่ใหญ่, เล็กแตกต่างกันอย่างทุกที (ปัญหาฮาร์โมนิกส์?) เสียงเดินดับเบิ้ลเบส เป็นลูกอิ่มแน่น, หนักดีมาก เสียงเครื่องสายจีน (ดีด, สี) ก็โอเค แต่อยากให้หวานซึ้งๆ กว่านี้อีกนิดอย่างไรก็ตามรายละเอียดก็ดีมาก เสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นสอดรับจังหวะจะโคนกันได้เป็นหนึ่งเดียวดีทีเดียว
ความจริงที่คาดไม่ถึง
หลังจากทดสอบเสร็จ ผมรู้สึกว่า ความมีชีวิตสอดใส่วิญญาณมันด้อยกว่าเมื่อคืนที่ฟัง (ลุกขึ้นมาปิดเครื่องตอนสี่ทุ่มหลังจากเปิดเพลงเบิร์นอินออกลำโพงไป 3 ชั่วโมง) ทำให้เอะใจ
จึงจัดการปิด D-06 ก่อนประมาณ 20 นาที แล้วเปิดฟังใหม่ (แอมป์ No.383 ยังเปิดทิ้งไว้) ปรากฏว่า เสียงเข้ารูปเข้ารอยขึ้นพอควร จากนั้นปิดทั้ง CD และแอมป์ (ไปอาบน้ำ) สัก 40 นาที ลงมาฟังใหม่ โป๊ะเชะ เสียงแบบเมื่อคืนกลับมาแล้ว
พูดง่ายๆ ว่า ข้อติทั้งหลายไม่ว่ายังขาดความหวานโรแมนติกปลายแหลมกร้าวไปนิด ทั้งหมดหายเกลี้ยง กลับเป็นเสียงที่ทำผมอึ้งตั้งแต่ฟังเมื่อคืนอยู่ 15 นาที (ตอนนั้นฟังแล้วรู้ว่าต้องเอาจุกพลาสติก 2 อันที่อุดรู Digital In กับ Digital Out ออก เสียงมีวิญญาณขึ้นจม)
สาเหตุน่าจะมาจากการที่ผมเปิดเล่นแช่ไว้นานมาก ติดต่อกันถึงเกือบ 11 ชั่วโมง (เช้า 6.30 น. ถึงเกือบ 17.00 น. เย็น) จริงอยู่ทั้งแอมป์ และ D-06(น่าจะรวมลำโพงด้วย) ไม่ร้อนหรอกเพราะเปิดแอร์ทิ้งไว้ที่ 25 องศาตลอด แต่ที่มันแย่ลงเพราะการตกตะกอนของสนามแม่เหล็กต่อเส้นลวดและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับตัวถังโลหะของเครื่องทำให้มันออกจืด เรียบ เสมอกัน มีแต่ปลายแหลมที่ยังทะลุพุ่งออกมาจากตะกอนสนามแม่เหล็กได้ พวกฮาร์โมนิกส์ หรือความถี่คู่ควบเบลออยู่ในตะกอนหมด
นี่นับเป็นบทเรียนอย่างดี ใครที่คิดจะเบิร์นอินข้ามวันข้ามคืนแล้วฟังทันทีจะพบกับปัญหานี้แน่ๆ ยิ่งเครื่องเสียงดี ขี้ฟ้องแค่ไหนยิ่งออกมาทะแม่งแค่นั้น
สรุป
ถึงจุดนี้ (ทุกอย่างถูกต้อง) ฟันธงได้เลยว่า D-06 คือ เครื่องเล่น CD ที่ให้เสียงมีวิญญาณสมจริงมากที่สุด เท่าที่ผมเคยฟังมา มันให้ความมีชีวิตชีวาที่ออกมาแบบธรรมชาติ ใสซื่อ ไร้มารยา เสแสร้งเหมือนรอยยิ้มของสาวที่ไร้เดียงสา ยิ้มจากใจ ยิ้มทั้งสีหน้า, แววตา, ไม่ใช่ยิ้มของนางสาวจักรวาลที่ปั้นยิ้มแต่ภายนอกเอาใจกรรมการ คนดู มิใช่จากก้นบึ้งของจิตใจ มีเครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์จนถึงชุปเปอร์ไฮเอนด์มากหลายในชีวิตที่ผมเคยฟังมา และทดสอบมันต่างให้จิตวิญญาณที่มากน้อยต่างกันไป รายละเอียดอากัปกิริยาที่หลากหลาย และน่าทึ่ง พอที่จะเรียกร้องความสนใจนักฟังได้อย่างง่ายดาย เครื่องเหล่านี้มักคุยโอ้อวดถึงเทคโนโลยีที่ล้ำยุคทันสมัยล่าสุดอย่างน่าสรรเสริญในความไฮเทค
ตรงข้ามกับ D-06 ผมพยายามค้นจากคู่มือเครื่อง และในเว็บไซต์ของ LUXMAN เอง แทบไม่พูดโอ้อวดถึงเทคโนโลยีด้านดิจิตอลอะไรเลย ดูพื้นๆ ไปหมด แต่กลับให้เสียงที่เป็นธรรมชาติอย่างสูงสุดเท่าที่ผมเคยฟังมา พูดได้ว่า ใครที่ติดใจว่าจานเสียงให้เสียงที่มีจิตวิยญาณกว่า CD ขอให้หาโอกาสฟัง D-06 ภายใต้เงื่อนไขถูกต้องอย่างผม แล้วจะลืมจานเสียงไปเลย!
ราคาของ D-06 สูงแน่ๆ (235,000 บาท) แต่ถ้าคุณกำลังมองหาเครื่องเล่น CD สักเครื่องที่จะอยู่กับคุณไปจนตายละก็ นี่ใช่เลย
มันจะทำให้แผ่นอัลบั้ม CD นับร้อย นับพันทั้งหมดของคุณที่คุณสู้ลงทุนไปนับแสนๆ บาท กลายเป็นอัลบั้มใหม่ที่เหมือนกับคุณไม่เคยฟังมาก่อน ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน เท่ากับว่าคุณจ่าค่าอัลบั้มเสมือนใหม่แค่อัลบั้มละไม่กี่บาท! แม้แต่อัลบั้มที่คุณฟังแล้วอยากขว้างทิ้ง ก็จะกลับมาฟังได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขอขอบคุณ บริษัท ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร. 0-2880-8240-6 ที่เอื้อเฟื้อให้เครื่องมาทดสอบในครั้งนี้