Test Report: Klipsch RB-51 II Standmount Speakers
มงคล อ่วมเรืองศรี
…คงไม่ต้องท้าวความอะไรให้ยืดยาว “Klipsch” ก็คือ Klipsch แม้จะมีอะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามประสาโลกธุรกิจ แต่ความเป็น Klipsch ก็ยังคงไว้ซึ่งความโดดเด่นในความเป็น Horn Loading Speakers อยู่เช่นเดิม Klipsch นั้นก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปีค.ศ.1946 โดย Paul W. Klipsch ภายใต้ชื่อบริษัทว่า Klipsch and Associates ปัจจุบันถูกซื้อกิจการมาอยู่ภายใต้การบริหารงานของ Audiovox นับตั้งแต่ปีค.ศ.2011 เป็นต้น และได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อมาเป็น Klipsch Audio Technologies (ซึ่งอาจมีการใช้ชื่อเรียกขานว่า “Klipsch Speakers” หรือไม่ก็ “Klipsch Group, Inc.” ที่ทำหน้าที่เป็น Parent Company ให้แก่ Klipsch Audio Technologies)
คุณลักษณ์
RB-51 II เป็นหนึ่งรุ่นลำโพงที่อยู่ในชุด Reference Series ของ Klipsch อันประกอบไปด้วยลำโพงหลากรุ่นด้วยกัน ซึ่งมีทั้งแบบลำโพงตั้งวางพื้นโดยตรง (floorstanding), แบบวางหิ้ง (Bookshelf) หรือแบบวางขาตั้ง (Standmount) รวมไปถึงลำโพงเซนเตอร์ แชนแนลด้วย ….ใช่แล้วครับ Reference Series ของ Klipsch นี้มุ่งมั่น “เอาดี” ได้ทั้งการใช้งานเพื่อดูหนังและฟังเพลง
จุดเด่นสำคัญในความเป็น ‘Reference Series’ ของ Klipsch ก็คือการใช้ทวีตเตอร์แบบ Tractrix® Horn ควบคู่กับตัวขับเสียงสูงที่เป็น Titanium Dome Tweeter ขนาด 1 นิ้ว รวมทั้งตัวขับเสียงต่ำที่เรียกว่า Cerametallic Woofers (ออกสี Pink Gold สะดุดตา) ซึ่งใช้วัสดุประเภทอะลูมินั่ม (Aluminum) ในการขึ้นรูปตัวกรวยลำโพง ด้วยคุณสมบัติอันครบถ้วนทั้งในแง่มวลเบาแต่ให้ค่าความแกร่งสูง สำหรับรุ่น “RB-51 II” นั้น เป็นรุ่นพี่ที่ถัดขึ้นมาจาก RB-41 II ที่เป็นรุ่นเล็กสุดของซี่รี่ส์
“RB-51 II” เป็นระบบลำโพงแบบ แบบวางหิ้ง (หรือแบบวางขาตั้ง) ขนาดเล็กกะทัดรัด ระบบ 2-ทางตู้เปิดด้านหลัง ภายใต้มิติตัวตู้ 6.5 x11.4 x10.75 นิ้ว (กว้าง x สูงx ลึก) ติดตั้งตัวขับเสียงต่ำแบบ Cerametallic Woofers ขนาด 5.25 นิ้ว และตัวขับเสียงสูงแบบ Linear Travel Suspension Horn-Loaded Tweeter ที่เป็น Titanium Dome Tweeter ขนาด 1 นิ้ว ซึ่งมี Tractrix® Horn สวมอยู่ด้านหน้า โดยจะทำให้ “RB-51 II” มีมุมกระจายเสียง (Dispersion) ที่ครอบคลุมพื้นที่นั่งฟังได้กว้างขวางมากเป็นพิเศษถึง 90 องศาในแนวนอน และ 60 องศาในแนวตั้ง
เห็นรูปลักษณ์เล็กๆ อย่างนี้ “RB-51 II” สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 50 เฮิรตซ์ขึ้นไปจนถึง 24,000 เฮิรตซ์ (-/+ 3 ดีบี) ที่ค่าความต้านทาน 8 โอห์ม ด้วยค่าความไวเสียง 92 ดีบี รองรับกำลังขับได้สูงถึง 75 วัตต์ (RMS) ตัวตู้ด้านหลังนอกจากจะมีขั้วเสียบต่อสายลำโพงแบบ Binding Posts ติดตั้งอยู่ 1 คู่แล้ว ยังมี Keyhole Slots ติดตั้งอยู่ด้วย เอื้ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน “RB-51 II” แบบแขวนผนัง (Wall-Mounting)
ผลการรับฟัง
…ฟังได้ “มันส์” จริงๆ ครับสำหรับเจ้าตัวน้อย “RB-51 II” คุณจะอึ้งกับ “ความกว้างใหญ่” ของเวทีเสียงที่ “RB-51 II” ส่งมอบออกมา โดยในเวทีเสียงอันโอฬารนั้นจะให้สภาพความเป็น 3 มิติ ทั้งแผ่กว้าง สูงใหญ่ และมีระยะถอยลึกแยกแยะเป็นแถวเป็นชั้นชัดเจน เว้นช่วงว่างระยะห่าง ของแต่ละชิ้นดนตรีอย่างแจ่มชัด เป็นลักษณะเสียงแบบที่เรียกได้ว่า “หลุดตู้” จนนับเป็นจุดโดดเด่นอันสำคัญ ด้วยสภาพเสียงที่มีอาณาบริเวณแผ่เลยออกมาทางด้านหน้าตำแหน่งตั้งวางลำโพงเจ้า “RB-51 II” ก็จะสามารถบ่งบอกให้เรารับรู้ได้ว่าเป็นเช่นนั้น สภาพเสียงที่มีการแผ่โอบมาทางด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง “RB-51 II” ก็จะทำให้เรารู้สึกได้ถึงการโอบล้อมรอบตัวเรา
อาจจะพูดได้ว่า เจ้า “RB-51 II” นี้ให้ลักษณะเสียงที่ Forward น้อยๆ ทำให้เรา-ท่านรับรู้ได้ถึงเสียงชิ้นดนตรีที่ กระโดด-กระเด็น ออกมา เสมือนหนึ่งว่า กำลังนั่งรับฟังอยู่ชิดใกล้กับชิ้นดนตรีนั้นๆ การรับฟังจึงให้ความสนุก คึกคัก รุกเร้าใจ (ซึ่งในความเห็นของผม นี่เป็นผลมาจากการออกแบบ “RB-51 II” ไว้ให้เหมาะกับการนำไปใช้งานในด้านโฮมเธียเตอร์ด้วยนั่นเองครับ )
สำหรับบุคลิกเสียงของ “RB-51 II” นั้น นับว่ามีความกลมกล่อม สะอาด สดใส เต็มเปี่ยมในความมีชีวิตชีวา ให้ความเริงร่า ทว่าปราศจากความโฉ่งฉ่าง คมกร้าน ทั้งยังให้ความลอยตัวของเสียงที่ดีเยี่ยม สุ้มเสียงของ “RB-51 II” ให้เรี่ยวแรงปะทะ และน้ำหนักเสียงได้อย่างครบเครื่อง โดยมิได้จงใจให้เน้นเสียงเบสที่หนักหน่วง ดุดัน (อย่างเกินจริง เมื่อเทียบกับขนาด) ทว่าในขณะรับฟังกลับไม่รู้สึกว่า ขาดแคลนแรงกระทบ-ปะทะ (transient) หรืออ่อนด้อยในพลังกระแทกกระทั้น (Impact) ขอยืนยันว่า “RB-51 II” ได้รับการออกแบบมาอย่างดี สามารถควบคุมโทนัล บาลานซ์ไว้อย่างดียิ่ง ไม่มีการ “ล้ำเส้น” หรือโดดเด่นจนรู้สึกเกินจริงในทุกย่านความถี่เสียง เป็นลักษณะเสียงที่มีความแฟลต (flat) อย่างสมบูรณ์ ฟังสบายให้ความชื่นมื่นระรื่นหูได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
การใช้ทวีตเตอร์แบบ Horn-Loading ซึ่งเปรียบเสมือนการเอามือป้องปากในขณะพูด จึงทำให้ได้มาซึ่งเสียงที่ดังขึ้น อันเนื่องมาจากการมี “มือ” มาควบคุมทิศทางเสียงพูดให้พุ่งไปข้างหน้า โดยไม่กระจายออกไปอย่างสูญเปล่า การใช้ “Horn-Loading” เข้ามาช่วยเสริมสมรรถนะให้กับทวีตเตอร์ จึงเป็นการเพิ่มพลังงาน ให้กับช่วงความถี่สูงๆ ไม่จางหายไปง่ายๆ (แม้ตำแหน่งนั่งฟังจะอยู่นอกแนวแกนก็ตาม) ทำให้ฟังเสียงอะไรก็ครบชัด ในขณะที่ภาระการทำงานของทวีตเตอร์นั้น-ลดลง เพราะตัวโดมของทวีตเตอร์นั้นไม่ต้องสั่นไหวรุนแรง (เกินความจำเป็น) เพื่อให้เกิดเสียงดังๆในขณะใช้งาน ซึ่งส่งผลเป็นการช่วยลดค่าความผิดเพี้ยนในช่วงความถี่สูงๆ ไปโดยปริยาย
บวกกับการใช้วูฟเฟอร์แบบ Cerametallic ซึ่งมีมวลที่เบามาก เมื่อเทียบกับขนาดไดรเวอร์ ในขณะที่ในด้านความแข็งแกร่งต่อมวลนั้นก็ไม่เป็นสองรองใคร ช่วงย่านความถี่เสียงต่ำที่ RB-51 II ปลดปล่อยออกมานั้นจึงกระชับ-ฉับไวในจังหวะจะโคนที่ปลดปล่อยออกมา ทั้งยังทิ้งทอดตัว-ยืดขยายลงไปได้ลึกมากอย่างเกินตัว RB-51 II จึงสามารถส่งมอบการผุดโผล่ของรายละเอียดเสียง รวมทั้งสัญญาณเสียงฉับพลันได้อย่างทันทีทันใด ให้ทั้งความจะแจ้ง-แจ่มชัด-สดใส พร้อมการเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ไร้สภาพ “หมอกควัน” ปกคลุม
สรรพเสียงที่ “RB-51 II” ถ่ายทอดออกมานั้นจึงเปี่ยมด้วยรายละเอียด ให้การจำแนกแยกแยะลักษณะเสียงจำเพาะ-เฉพาะตัวของแต่ละเสียง (Timbre) ได้ดีทีเดียว มีฮาร์โมนิกเสียงที่เยี่ยมยอด ลักษณะเสียงโดยรวมมีมวลมีน้ำหนักให้ความมีตัวตนของสรรพเสียง ส่วนทางด้านการตอบสนองช่วงย่านความถี่เสียงกลางนั้นก็มีความอวบอิ่ม-ฉ่ำชุ่มไม่แหบแห้ง ให้ความเป็นตัวตนของเสียงที่ดีมาก รับฟังเสียงหมู่เครื่องสาย (ไวโอลิน-วิโอลา-เชลโล) ได้น้ำหนัก-เนื้อหนังของเสียงอย่างสมจริง ในขณะที่ความถี่เสียงกลาง-สูงนั้นเป็นเสียงที่มีความกลมกลืนต่อเนื่องนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน สดใส สะอาด มีมวลมีน้ำหนัก (แรงกระทบ) ให้ความมีตัวตน มีลมหายใจ พร้อมด้วยความคึกคัก กระฉับกระเฉง ไม่โฉ่งฉ่าง ฟังแล้วสดชื่น-เร้าใจ
ช่วงย่านความถี่เสียงสูงให้ความพละพลิ้ว เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา และยืดขยายปลายหางเสียงออกไปได้ไกลมาก ไม่มีการอัดอั้น หรือโรยตัว (Roll-Off) อย่างรวดเร็วจนหดห้วน หางเสียงสูงๆ อย่างฉิ่ง-ฉาบ-เหล็กสามเหลี่ยมให้ความกังวาน-ทอดตัวได้ยาวไกล มีความพละพลิ้วลอยตัว การถ่ายทอดสภาพบรรยากาศเสียงของ RB-51 II นั้นทำได้อย่างสมจริง เหมาะสมตามขนาดสถานที่ที่ทำการบันทึกเสียงนั้น โดยมีมวลอากาศทอดตัวเป็นอณูเสียงแผ่ขยายเป็นความกังวาน ไร้ซึ่งความจัดจ้านใดๆ มีแต่ความพละพลิ้ว นวลเนียน ละมุนละไม ไม่ว่าจะเป็นเสียงนักร้องหรือเครื่องดนตรีชิ้นใดก็ตามจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยิ่งฟังจากแผ่นที่บันทึกมาดีๆ (อย่างเช่น OPUS 3, Reference Recording, Proprius, BIS, Sheffield, เป็นต้น) จะยิ่งรู้สึกว่า RB-51 II กลายสภาพเป็น “ลำโพงล่องหน” ไปได้เลยเชียวแหละท่าน…นี่คือความจริงที่พิสูจน์ได้
สรุปส่งท้าย
ต้องขอบอกว่า “RB-51 II” นั้นดูจะ “ชอบ” ที่จะถูกตั้งวางในลักษณะ หนีห่างจากผนังทุกด้าน เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงสะท้อนจากบริเวณรอบข้าง …..จึงจะสำแดงสมรรถนะทางเสียงออกมาอย่างดียิ่ง แต่หากจำเป็นต้องตั้งวาง RB-51 II ในลักษณะเข้าใกล้ชิด หรือ ติดผนัง ก็จะได้ “เนื้อ” เบสหนา-แน่นมากขึ้น …ซึ่งแน่นอน… จะทำให้คุณรู้สึกว่า ฟังได้มันส์ขึ้น หนักหน่วงยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปพร้อมๆ กันก็คือ “ความปลอดโปร่งของช่วงย่านเสียงกลาง” และอาการพละพลิ้ว ของปลายเสียงสูงๆ เช่นเดียวกับลักษณะเวทีเสียงที่จะถดถอยการแผ่กว้างและความลึกลงไป ทั้งยังขาดสภาพการโอบล้อมไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการสมรรถนะทางเสียงออกมาอย่างเต็มที่ ขอให้ตั้งวาง RB-51 II ไว้ “ห่างจากผนัง” ทุกด้าน (เท่าที่จะทำได้) แล้วเจ้า RB-51 II จะทำให้คุณ “ทึ่งและอึ้ง” ในคุณภาพเสียง รวมทั้งอิมเมจ (image) และเวทีเสียง (soundstage) ในระดับน่าประทับใจ เมื่อเทียบกับระดับราคา
ขอขอบคุณ บริษัท โฮมไฮไฟ จำกัด โทร. 0-2448-5489 ที่เอื้อเฟื้อ Klipsch RB-51 II มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้
-รูปลักษณ์ 3 ดาว
–สมรรถนะ 4 ดาว
-คุณภาพเสียง 4 ดาว
-ความคุ้มค่า 3 ดาว
-โดยรวม 4 ดาว
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………